ชีวประวัติพระยาพิชัยดาบหัก

                        

พระยาพิชัยดาบหัก
          
        พระยาพิชัยดาบหักเป็นเจ้าเมืองพิชัย  ในสมัยกรุงธนบุรี  ได้สร้างวีรกรรมที่ลือเลื่องในปี พ.ศ.๒๓๑๖ เมื่อพม่ายกกองทัพมาตีเมืองพิชัย  ซึ่งปรากฎข้อความในพระราชพงศาวดาร  ฉบับพระราชหัตถเลขา  ตอนหนึ่งว่า  "....ครั้นถึง  ณ  เดือนอ้ายข้างขึ้น  โปสุพลายกกองทัพมาตีเมืองพิชัยอีก  พระยาพิชัยก็ยกพลทหารออกไปต่อรบแต่กลางทางยังไม่ถึงเมือง  เจ้าพระยาสุรสีห์ก็ยกกองทัพเมืองพิษณุโลกขึ้นไปช่วย  ได้รบกับพม่าเป็นสามารถและพระยาพิชัยถือดาบสองมือคุมพลทหารออกไล่ฟันพม่าจนดาบหัก  จึงเลื่องชื่อปรากฎเรียกกว่า  พระยาพิชัยดาบหัก แต่นั้นมา..."
    
      จะเห็นได้ว่าชื่อ พระยาพิชัยดาบหัก ก็เรียกขานกันมานานถึง ๒๐๐ กว่าปีแล้ว จนกระทั่ง
ทางจังหวัดอุตรดิตถ์ได้สร้างอนุสาวรีย์ขึ้นที่หน้าศาลากลางจังหวัดและทางอำเภอพิชัยก็ได้ปั้นรูปพระยาพิชัยดาบหัก ประดิษฐานอยู่ในศาลเจ้าพ่อพระยาพิชัยดาหักอีกด้วย
       สำหรับประวัติพระยาพิชัยดาบหักนี้  พระยาศรีสัชนาลัยบดี (เลี้ยง  ศิริปาละกะ)  ซึ่งเป็นชาวพิชัยโดยกำเนิด  ได้รวบรวมเรียบเรียงขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖  และได้นำเผยแพร่ในหนังสือเสนาศึกษา และเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๖๗  นำมาเรียบเรียงใหม่ดังนี้
       พระยาพิชัยดาบหักเดิมชื่อ "จ้อย" เกิดที่บ้านห้วยคา  หลังเมืองพิชัยไปทางตะวันออกประมาณ ๑๐๐  เส้นเศษ  บิดามารดาตั้งบ้านเรือนไถนาหาเลี้ยงชีพมีบุตรด้วยกัน ๔ คน แต่เป็นไข้ทรพิษตายความเดียวกัน ๓ คน เหลือจ้อยคนเดียว เมื่อจ้อยออายุได้ ๘ ขวบ บิดาให้เลี้ยงควายและชอบชกมวยมาก บิดาจึงนำไปฝากท่านพระครูวัดมหาธาตุเมืองพิชัย เพื่อเรียนหนังสือจนอายุย่างเข้า ๑๔ ขวบ ก็อ่านออกเขียนได้ ในขณะที่อยู่ที่วัดมหาธาตุนั้น จ้อยชอบดูการชกมวยมากและเมื่อมีเรื่องชกต่อยกับเด็กวัดด้วยกัน จ้อยก็สามารถเอาชนะได้ทุกคน ต่อมาเจ้าเมืองพิชัยได้นำบุตรชายชื่อ "เจิด" กับเด็กคนใช้อีก ๓ คนมาฝากท่านพระครูเรียนหนังสือ ต่อมาเกิดวิวาทชกต่อยกัน จ้อยเกรงว่าจะไม่ได้รีบความเป็นธรรม เพราะเจิดเป็นบูตรชายเจ้าเมืองพิชัย  จึงหนีไปบ้านท่าเสาเพื่อไปหัดมวยที่นั่น ระหว่างที่เดินทางมาถึงวัดบ้านแก่งเห็นครูเที่ยงกำลังสอนมวยอยู่จึงสมัครเป็นศิษย์ เนื่องจากเกรงจะมีคนจำชื่อได้ จึงเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า "ทองดี" เมื่อหัดมวยจนฝีมือเป็นเลิศกว่าทุกคนแล้ว ครูเที่ยงจึงตั้งชื่อให่ใหม่ว่า "ทองดีฟันขาว"  ต่อมาศิษย์ครูเที่ยงอีก ๔ คนเกิดอิจฉาจนเกิดเรื่องชกต่อยกัน นายทองดีเห็นว่าอยู่ไปก็ไม่มีความสุขจึงขอลาครูเที่ยง เดินทางติดตามพระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งจะไปนมัสการพระแแท่นศิลาอาสน์ โดยไปพักอยู่ที่วัดบางเตาหม้อ (วัดท่าถนนปัจจุบัน) กับพระภิกษุรูปนั้น เมื่อพระภิกษุรูปนั้นกลับจึงฝากนายทองดีอยู่กับพระภิกษุที่วัดบางเตาหม้อ ไม่นานนักก็ลาพระภิกษุไปหาครูที่ท่าเสาชื่อครูเมฆ เพื่อขอเป็นศิษย์ฝึกมวยจนสำเร็จการมวย ในระหว่างนั้นนายทองดีอายุได้ ๑๘ ปี  ได้แสดงความสามารถติดตามผู้ร้ายที่เข้ามาลักควายครูเมฆ โดยฆ่าคนร้ายตาย ๑ คน และจับคนร้ายที่ยังไม่ตายไดอีก ๒ คน โดยนำมามอบให้กรมการตำบล บางโพท่าอิฐ นายทองดีได้รับการชมเชย และได้บำเหน็จรางวัลจากกรมตำบลท่าอิฐ ถึง ๕ ตำลึง

        นายทองดีได้มีโอกาสแสดงฝีมืออีกครั้งหนึ่งด้วยการชกมวยในงานมหรสพฉลองพระแท่นศิลาอาสน์ โดยชกชนะนายถึก (ศิษย์ครูนิล) และยังชนะครูนิลอีกด้วย ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่มีนักมวยคนใดแขวงเมืองพิชัย เมืองทุ่งยั้ง เมืองลับแล และเมืองฝาง มาขันสู้กับนายทองดีเลย  ต่อมาอีก ๓ เดือนพระสงฆ์สวรรคโลกชวนนายทองดีไปเมืองสวรรคโลกและได้ฝากนายทองดีกับครูฟันดาบผู้ฝึกบุตรเจ้าเมืองสวรรคโลก ได้ฝึกหัดอยู่ประมาณ ๓ เดือน  ก็ทำได้คล่องแคล่วทุกท่าทุกท่างจนจบหลักสูตร ทั้งยังได้ซ้อมฟันดาบกับบุตรชายเจ้าเมืองสวรรคโลกด้วย นายทองดีได้ลาครูฟันดาบเดินทางไปยังสุโขทัย ขอสมัครเป็นศิษย์กับครูจีนแต้จิ๋วคนหนึ่งเพื่อฝึกมวยจีน  และฝึกอยู่จนสำเร็จทั้งยังมีลูกศิษย์คนหนึ่งช่ือ  บุญเกิดด้วย ตอนนี้นายทองดีและบุญเกิดอาศัยอยู่ที่วัดธานี อยู่วัดนี้ได้ประมาณ ๖ เดือน ก็มีชาวจีนคนหนึ่งมาจากเมืองตากเห็นฝีมือของนายทองดีจึงชวนไปเมืองตากโดยเล่าว่า พระยาตากเจ้าเมืองมีความสนใจและชอบคนมีฝีมือ แต่ความจริงต้องการชวนนายทองดีไปเป็นเพื่อนเพราะกลางทางมีเสือดุ นายทองดีตกลงไปเมืองตาก โดยชวนบุญเกิดไปด้วยระหว่างทางตอนกลางคืนเสือได้เข้ามาคาบบุญเกิดไป นายทองดีเข้าช่วยต่อสู้กับเสือจนบาดเจ็บหนีไป และได้บุญเกิดคืนมาแต่บาดเจ็บมาก ต้องไปรักษาที่วัดใหญ่เมืองตาก อยู่ถึง ๒ เดือนจึงหาย

        วันหนึ่งพระเจ้าตากมาถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาที่วัดใหญ่ และมีมวยฉลองด้วย นายทองดีได้ชกกับครูมวยชื่อห้าว และสามารถเอาชนะได้ พระเจ้าตากอยากดูฝีมือนายทองดีอีก และให้ชกกับครูมวยชื่อหมึก นายทองดีก็สามารถชนะได้อีก พระเจ้าตากชอบใจฝีมือนายทองดีมาก ได้มอบรางวัลให้ ๕ ตำลึง และรับตัวเข้าทำงานด้วย พระเจ้าตากโปรดปรานนายทองดีมาก

        พอนายทองดีอายุ ๒๑ ปี พระเจ้าตากก็จัดการบวชให้เป็นพระภิกษุสงฆ์บวชอยู่ ๑ พรรษาก็สึกออกมาอยู่กับพระเจ้าตากต่อไป พระเจ้าตากตั้งให้เป็นหลวงพิชัยอาสา และยังได้นางสาวรำยงสาวใช้ของคุณหญิงเป็นภริยาด้วย เมื่อพระเจ้าตากจะไปไหนก็ให้หลวงพิชัยอาสาติดตามไปด้วยทุกครั้ง ต่อมาพระเจ้าตากได้รับท้องตรากระแสร์พระบรมราชโองกการโปรดเกล้าให้พระเจ้าตากไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงศรีอยุธยาจะโปรดเกล้าให้เป็นพระยาวชิรปราการครองเมืองกำแพงเพชร หลวงพิชัยอาสาตามพระเจ้าตากไปด้วยก็มีพม่าข้าศึกษายกกองทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา พระยาวชิรปราการและหลวงพิชัยอาสาเข้าช่วยรบพม่าภายในกรุงศรีอยุธยา แต่เนื่องด้วยมิได้รับความยุติธรรมและขาดความอิสระในการรบพุ่ง พระยาวชิรปราการพร้อมด้วยหลวงพิชัยอาสาและพรรคพวก ซึ่งมีพระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนาหลวงราชเสน่หา ขุนอภัยภักดี หมื่นราชเสน่หาและพลทหาร  ตีฝ่ายพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยาเดินทางผ่านเมืองปราจีนบุรี ระยอง จนถึงเมืองจันทบุรี รวบรวมผู้คนเสบียงอาหารและอาวุธยุธภัณฑ์ไว้พร้อมแล้ว จึงยกทัพเรือลงมาตีเมืองธนบุรี ได้รบกับนายทองอินซึ่งพม่าตั้งให้รักษาเมือง จับนายทองอินประหารชีวิตเสีย  สุกี้พระนายกองพม่าผู้รักษากรุงศรีอยุธยาซึ่งตั้งค่ายอยู่ที่โพธิ์สามต้นได้ทราบข่าวจึงให้มองหย่าเป็นนายทัพคุมทหารมอญและทหารไทยมาตั้งรับอยู่ที่บ้านพะเนียด  พระเจ้าตากจึงสั่งให้หลวงพิชัยอาสาเป็นนายทัพหน้ายกเข้าตีมองหย่า มีความเกรงกลัวฝีมือของหลวงพิชัยอาสาจึงถอยทัพหนีไปมิได้ต่อสู้  พระเจ้าตากจึงสั่งให้หลวงพิชัยอาสาบุกเลยไปเข้าตีค่ายโพธิ์สามต้น ล้อมค่ายสุกี้พระนายกองและรบกันอยู่ถึง ๒ วันก็ตีค่ายโพธิ์สามต้นแตก ตัวสุกี้พระนายกองตายในที่รบ  เมื่อพระเจ้าตากได้รับชัยชนะแล้วได้เข้าไปตั้งพลับพลาประทับอยู่ในพระนคร และได้เห็นปราสาทรวมทั้งตำหนักถูกเพลิงไหม้เสียมากต่อมาก จะซ่อมแซมใหม่ก็ยากจึงชวนกันไปสร้างเมืองธนบุรีเป็นราชธานี และทำพิธีปราบดาพิเษก เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๑ ทรงพระนามว่า "พระบรมราชาธิราชที่ ๔" 
แต่มักเรียกกันว่า "สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี" บ้าง "พระเจ้าตากสิน" บ้าง และโปรดให้หลวงพิชัยอาสาเป็นเจ้าหมื่นไวยวรนาถ มีตำแหน่งเป็นนายทหารเอกองครักษ์ในพระองค์ 

          เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีสร้างเมืองธนบุรีเป็นราชธานีแล้ว จึงทรงดำเนินการปราบก๊กต่าง ๆ ที่ตั้งตัวเป็นใหญ่ ทางภาคตะวันออกปราบได้ก๊กของกรมหมื่นเทพพิพิธซึ่งตั้งตัวใหญ่ที่เมืองพิมาย และโปรด ฯ แต่งตั้งเจ้าหมื่นไวยวรนาถเป็นพระยาสีหราชเดโช แล้วเสด็จยกทัพไปปราบก๊กฝ่ายเหนือปราบได้ก๊กเจ้าพระฝางเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๓ แล้วโปรด ฯ แต่งตั้งให้พระยาสีหราชเดโชเป็นพระยาพิชัย ให้ครองเมืองพิชัยต่างพระเนตรพระกรรณให้มีไพร่พล ๙,๐๐๐ คน  ทั้งทรงกรุณาโปรด ฯ พระราชทานเครื่องยศให้เสมอด้วยเจ้าพระยาสุรสีห์ และทรงแต่งตั้งนายบุญเกิดคนสนิทของพระยาพิชัยเป็นหมื่นหาญณรงค์ เป็นนายทหารคนสนิทของพระยาพิชัยอีกด้วย  เมื่อพระยาพิชัยครองเมืองนั้นได้ทราบว่าบิดาถึงแก่กรรมเสียแล้วยังอยู่แต่มาดา  จึงใช้ให้ทหารไปตามตัวมาหา  พอมารดามาถึงก็หมอบกราบไม่เงยหน้าดูเพราะความกลัวด้วยยังไม่ทราบว่าเป็นบุตรของตัว  พระยาพิชัยรีบลุกไปจับมือมารดาไว้ห้ามไม่ให้กราบไหว้ พลางกราบลงกับเท้ามารดาแล้วเล่าเหตุการณ์ที่ได้ซัดเซพเนจรให้มารดาฟังแต่ต้นจนได้มาครองเมืองพิชัย  เมื่อมารดาทราบว่าท่านเป็นบุตรก็ร้องไห้ด้วยความดีใจอย่างสุดปลื้ม  แต่ก่อนชาวบ้านเรียกมารดาท่านว่านางนั่นยายนี่  ต้องกลับเรียนว่าคุณแม่ใหญ่ในจวนไปตามกัน  ส่วนครูเที่ยงที่บ้านแก่งและครูเมฆที่บ้านท่าเสา  พระยาพิชัยก็ตั้งให้เป็นกำนันทั้งสองคนเพื่อสนองพระคุณคนทั้งสองนั่นเอง 
         
          ในปลายปี พ.ศ. ๒๓๑๓ นี้เอง โปมะยุง่วนซึ่งพม่าตั้งให้รักษาเมืองเชียงใหม่ได้ยกทัพชาวพม่าและชาวลานนาลงมาตีเมืองสวรรคโลก พระยาพิชัยก็ยกทัพเมืองพิชัยไปช่วยรบร่วมกับกองทัพเมืองพิษณุโลก  ตีทัพพม่าพ่ายหนีไป  ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๑๕  โปสุพลาซึ่งมาอยู่ช่วยราชการรักษาเมืองเชียงใหม่นั้น ยกกองทัพตีเมืองลับแลแตกแล้วยกลงมาตีเมืองพิชัย ตั้งค่ายอยู่ ณ วัดเอกา(วัดขวางชัยภูมิปัจจุบัน) พระยาพิชัยก็จัดแจงการป้องกันเมืองเป็นสามารถ เจ้าพระยาสุรสีห์ก็ยกกองทัพเมืองพิษณุโลกขึ้นไปช่วยเมืองพิชัย และเจ้าพระยาสุรสีห์ กับพระยาพิชัยยกพลทหารเข้าตีค่ายพม่า พม่าออกต่อรบ ๆ กันถึงอาวุธสั้น พลทัพไทยไล่ตะลุมบอนฟันแทงพลพม่าล้มตายเป็นอันมาก พม่าต้านทานมิได้ก็แตกพ่ายหนีเลิกทัพกลับไปเมืองเชียงใหม่  รุ่งขึ้นอีกปีหนึ่งโปสุพลายกกองทัพมาตีพิชัยอีก พระยาพิชัยก็ยกพลทหารออกไปรบแต่กลางทางยังไม่ถึงเมือง  เจ้าพระยาสุรสีห์ก็ยกกองทัพเมืองพิษณุโลกขึ้นไปช่วยได้รบกับพม่าเป็นสามารถ และพระยาพิชัยถือดาบสองมือคุมทหารออกไล่ฟันพม่าจนดาบหัก จึงลือชื่อปรากฎเรียกว่า "พระยาพิชัยดาบหัก" แต่นั้นมา  ตอนที่พระยาพิชัยคุมพลทหารออกไล่ฟันแทงพม่านั้น เนื่องจากกำลังชุลมุนฟันแทงกันอยู่เท้าของพระยาพิชัยเหยียบดินลื่นเซจะล้มจึงเอาดาบยันดินไว้เพื่อมิให้ล้ม ดาบจึงหักไป   ๑ เล่ม พม่าเห็นพระยาพิชัยเสียเชิงเช่นนั้นจึงกลับหน้าปราดเข้ามาจะฟัน หมื่นหาญณรงค์นายทหารคู่ชีพของพระยาพิชัยก็ทลึ่งเข้ารับพม่าผู้นั้น  มิทันทำร้ายพระยาพิชัยได้ พม่าผู้นั้นเสียท่าหม่ืนหาญณรงค์ฟันตาย  แต่แล้วกระสุนปืนพม่ายิงมาถูกหมื่นหาญณรงค์ตรงอกทะลุหลัง ล้มพับลงขาดใจตาย ในขณะนั้นพระยาพิชัยเห็นหมื่นหาญรณงค์ถูกกระสุนปปืนข้าศึกตาย ก็เสียใจอาลัยหมื่นหาญณรงค์ผู้เพื่อนยากยิ่งนัก  เลยบันดาลโทษะเข้าไล่ตลุมบอนฟันแทงพม่ามิได้คิดแก่ชีวิต  พม่าต้านทานไม่ไหวก็แตกพ่ายไป

        พระยาพิชัยดาบหักได้ร่วมรบกับพม่าอีกหลายครั้ง  จนกระทั่งสิ้นแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จขึ้นเถลิงถวัลราชสมบัติ ณ กรุงเทพมหานคร โปรดเกล้าให้เรียกตัวพระยาพิชัยดาบหักลงไปถามว่าจะยอมอยู่ทำราชการต่อปหรือไม่  ถ้ายอมอยู่จะเลี้ยงเพราะหาความผิดมิได้  พระยาพิชัยดาบหักตรองเห็นว่าขืนอยู่ไปคงได้รับภัยมิวันใดก็วันหนึ่ง เพราะตัวท่านเป็นข้าหลวงเดิมอันสนิทของพระเจ้าตาก  ย่อมเป็นที่ระแวงท่านผู้จะเป็นประมุขแผ่นดินต่อไปทั้งประกอบด้วยความเศร้าโศกอาลัยในพระเจ้ากรุงธนบุรี เข้ากลัดกลุ้มในหทัยสิ้นความอาลัยในชีวิตของตน  จึงตอบไม่ยอมอยู่จะขอตายตามเสด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ขอฝากแต่บุตรชายให้ได้ทำราชการสนองพระเดชพระคุณสืบสกุลต่อไปภายหน้า  ฉะนั้นจึงโปรดเกล้า ฯ ให้ประหารชีวิตเสีย  เมื่อพระยาพิชัยดาบหักสิ้นอายุได้  ๔๑ ปี จึงโปรดเกล้า ฯ ให้เสนาบดีท้องตราถึงผู้ครองเมืองเชียงใหม่ ให้รับบุตรชายพระยาพิชัยดาบหักเข้ารับราชการต่อไปตามควรแก่ความสามารถ ฉะนี้บุตรหลานพระยาพิชัยดาบหักจึงเป็นข้าราชการตามลำดับมาจนถึงทุกวันนี้  และในสมัยรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ผู้สืบตระกูลได้รับพระราชทานนามสกุลว่า "วิชัยขัทคะ" นามนี้ถ้าแปลอนุโลมตามความเข้าใจก็คือ ดาบวิเศษของพระยาพิชัยดาบหัก นั่นเอง

ที่มา :  หนังสือตำนานเมืองอุตรดิตถ์  โดย...วิบูลย์  บูรณารมย์
          
ผู้นำเสนอ..ขอยกย่องบูชาความกล้าหาญของวีระบุรุษแห่งเมืองพิชัย


ป้ายทางเข้าและอนุสาวรีย์ บริเวณพิพิธภัณฑ์บ้านเกิดพระยาพิชัยดาบหัก  






       



























ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์