เล่าเรื่องเมืองอุตรดิษฐ์..ตอน..คิดถึงสนามบิน


ภาพถ่า่ยทางอากาศมองเห็นรันเวย์ของสนามบินแห่งที่ 3 ของอุตรดิตถ์

ในอดีตอุตรดิษฐ์ (ท่าเหนือ)  เคยเป็นเมืองท่าทางบกและทางน้ำที่สำคัญทางเหนือของไทย  หัวเมืองทางเหนือตั้งแต่เชียงใหม่ลงมา รวมทั้งหัวเมืองของลาว(บางส่วนเคยเป็นของไทยมาก่อน)  จะมีการติดต่อแลกเปลี่ยนค้าขายสินค้าที่มาจากทางใต้  โดยอาศัยการขนส่งทางน้ำ (แม่น้ำน่าน) ได้สะดวกถึงแค่อุตรดิษฐ์เท่านั้น  แม่น้ำน่านที่อยู่เหนือขึ้นไปภูมิประเทศไม่เอื้ออำนวยต่อการเดินเรือ  เพราะมีโขดแก่งหินเป็นอุปสรรค  อุตรดิษฐ์จึงได้ชื่อว่าเป็นศูนย์การรับและกระจายสินค้าระหว่างหัวเมืองเหนือกับทางภาคกลาง และเมืองหลวง

กลับเข้ามาถึงเรื่องสนามบิน  หากจะบอกท่านว่า “ อุตรดิษฐ์เคยมีสนามบินถึง 3 แห่ง ”  หลายคนอาจไม่เชื่อ  ดังนั้นเล่าเรื่องเมืองอุตรดิตถ์ครั้งนี้  จึงตั้งชื่อตอนให้ดูน่าสนใจว่า “ คิดถึงสนามบิน ”  ปัจจุบันอาจเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึงว่าสถานที่แห่งนั้นแห่งนี้  ในอดีตเคยเป็นสนามบินมาก่อน  ทั้งนี้ก็เพราะการขาดโอกาสในการเรียนรู้เรื่องที่อยู่ใกล้ตัวเอง บวกกับการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ  ทำให้บางเรื่องหากขาดการบันทึก และการเล่าสู่กันฟัง...ก็อาจลืมได้..ครับ

สนามบินแห่งที่ 1   

ในปีพ.ศ. 2466  อุตรดิษฐ์ได้จัดสร้างสนามบินขึ้น ณ บริเวณแนวที่ตั้งโรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ  ที่ว่าการอำเภอเมืองอุตรดิตถ์  วิทยาลัยอาชีวศึกษา  ขึ้นไปทางเหนือจนจรดถนนอินใจมี  ทิศตะวันออกจรดแนวถนนแปดวา  ทิศตะวันตกจรดคลองโพในปัจจุบัน  โดยใช้แรงงานคนประมาณวันละ 200-300 คน  ทุกวันผู้ที่มาทำงานจะทำกันอย่างเต็มที่เพราะทุกคนอยากจะเห็นเครื่องบิน การสร้างสนามบินครั้งนั้น  มีการตัดต้นไม้ที่เป็นป่ารกทึบ  ปรับพื้นที่ถมหนองน้ำ ตรงไหนสูงและมีจอมปลวกก็ขุดออกปรับหน้าดินให้เสมอกัน  ยิ่งได้ยินว่าทางราชการได้กำหนดจัดงานวันเครื่องบินลงในสนาม ก็มีการสร้างร้านค้า  โรงเล่นการพนัน 44  แห่ง  โรงพักเครื่องบิน  โรงพิธีทำขวัญเครื่องบิน  โดยกำหนดให้มีงาน 7 วัน 7 คืน  จัดเป็นงานใหญ่ของเมือง  เก็บเงินค่าเข้าชมเพื่อบำรุงการบินของกองทัพบก  ซึ่งทางราชการเมืองอุตรดิษฐ์ได้ออกหนังสือประกาศไปทั่วทุกอำเภอและเมืองต่าง ๆ ที่ใกล้เคียงบอกกำหนดวันจะมีงาน “รับเครื่องบินและเปิดสนามบินอุตรดิษฐ์”


ภาพถ่ายทางอากาศแสดงบริเวณที่เคยเป็นสนามบิน แห่งที่ 1

เมื่อถึงเวลาใกล้วันงานประชาชนทั้งในตัวเมืองอุตรดิษฐ์ และจากอำเภอต่าง ๆ ก็พากันเดินทางเข้ามาเพื่อดูเครื่องบินและดูงาน  คนแก่คนเฒ่าเด็กเล็กก็อยากเห็นเครื่องบินกันทั้งนั้น มากันมากมายแทบทุกอำเภอทั้งเมืองใกล้เคียงก็พากันมาไม่น้อย มาหาที่พักกันตามบ้านญาติพี่น้อง  บางพวกก็สร้างเพิงเป็นที่พักกันชั่วคราวเพียงอาศัยหุงหาอาหารกินกัน  บ้างก็พักตามศาลาวัดหรือบริเวณสนามศาลากลาง
วันเครื่องบินมาลงสนาม  บรรดาโรงร้านที่ปลูกสร้างไว้ในสนามได้ประดับธงทิวปลิวไสวอย่างสวยงาม  ในสนามก็มีทั้งตำรวจ ทหาร คอยรักษาความสงบเรียบร้อย ประชาชนชายหญิงต่างพากันแหงนหน้าจับตาดูบนท้องฟ้าตั้งใจดูเครื่องบิน นักเรียนประจำจังหวัดชายแต่งเครื่องแบบลูกเสือเป็นยามรักษาประตูทางเข้าสนามบิน  ผู้คนหลั่งไหลอย่างเนืองแน่น

เสียงเครื่องบินดังกระหึ่มมาบนท้องฟ้าดังใกล้เข้ามาทุกระยะ  จนมองเห็นได้ว่าบินมาด้วยกัน 3 เครื่อง มองเห็นในระยะสูงบางคนจึงพูดว่า “ตัวมันเล็กว่านกแร้ง”  เมื่อเครื่องบินบินใกล้เข้ามาจนมองเห็นได้ถนัด ประชาชนต่างร้องตะโกนขึ้นพร้อมกัน “มาแล้ว มาแล้ว มันใหญ่โตอะไรอย่างนี้ ไม่น่าจะบินขึ้นไปได้เลย”  พร้อมกับเสียง “ไชโย  ไชโย  ไชโย”  ดังลั่นสนาม 

เจ้าหน้าที่กองบินฝ่ายพื้นสนามได้ใช้ผ้าขาวสี่เหลี่ยมปูกลางสนาม  พร้อมกับก่อไฟให้เป็นควันพุ่งขึ้นเป็นสัญญาณให้เครื่องบินลง เครื่องบินบินเป็นวงรอบสนาม และโปรยขนมช็อกโกแลตลงมายังหมู่คน  เมื่อเครื่องบินทั้ง 3  เครื่อง ได้ลงสู่สนามเรียบร้อยแล้ว และขณะที่กำลังบินอยู่กลางอากาศ เสียงคนแก่คนเฒ่าพูดกันว่า “น่าแปลกใจจริง ๆ ทำไมจึงบินได้ นี่กระมังที่เขาว่าเหาะได้ พ่อคุณเอ๋ย พ่อมหาจำเริญ ช่างเก่งจริง ๆ ไม่กลัวตาย”

เครื่องบินพักอยู่ 7 วัน 7 คืน  ตลอดงานเวลาเช้าและเวลาเย็นทุกวัน  จะนำคนขึ้นบินชมทิวทัศน์ของเมืองทั้งใกล้และไกลตามระยะอัตราค่าโดยสาร  ส่วนกลางคืนจะมีการเวียนเทียนทำขวัญเครื่องบินและนักบิน  พอเสร็จงานแล้วเครื่องบินก็บินกลับ มีบางคนร้องไห้คิดถึงเครื่องบิน บางคนก็ให้พรตามหลังไปว่า “ไปให้ดีนะพ่อคุณนะ  เมื่อไรจะกลับมาหาพวกเราอีก”



พ.ศ. 2466 เครื่องบินโชว์ตัวที่อุตรดิตถ์ คนอุตรดิตถ์อยากดูจึงร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสนามบินให้เครื่องบินลง


พ.ศ.2477 รัฐบาลคณะราษฎร์ให้เครื่องบิน 3 ลำ เชิญรัฐธรรมนูญจำลองมาแสดงแก่ชาวอุตรดิตถ์  ขณะที่เครื่องบินร่อนลงสู่สนามบินที่ทางวิ่งเป็นดินที่ปรับเกลี่ยจนเรียบนั้น  ก่อนหน้า 2 วันเกิดฝนหลงฤดูมาตกใส่  แต่คาดกันว่าน่าจะแห้งทันแน่เพราะแดดออกจัด เมื่อเครื่องบินลงล้อแตะสนามบิน โอ้...สนามบินที่ถมไปบนปลักควายนั้น ยุบลงข้างหนึ่ง ชาวอุตรดิตถ์และชาวอำเภอใกล้เคียงที่แห่กันมาต้อนรับมืดฟ้ามัวดิน  หวีดร้องกันสุดเสียง เครื่องบินเซเข้าหาฝูงชนอย่างบ้าครั้ง ฝุ่นตลบไปหมดได้ยินแต่เสียงคนร้องเข่งกันอย่างสุดเสียง  เมื่อฝุ่นจางลง คุณพระช่วย......ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ นอนกันกลาดเกลื่อน  มีผู้เสียชีวิต 8 รายบาดเจ็บอีกนับร้อย  ในเดือนเมษายน ปี 2478 กองทัพอากาศรับเป็นเจ้าภาพในพิธีฌาปนกิจ  นำเครื่องบินลงสนามในวันงานรวม 9 เครื่องมีการแสดงโชว์ทางอากาศ เป็นที่ชื่นชมของผู้คนชาวอุตรดิตถ์เป็นอย่างมาก



ภาพถ่ายทางอากาศแสดงบริเวณที่เคยใช้เป็นสนามบิน แห่งที่ 2

สนามบินแห่งที่ 2 
  
ทางทหารค่าย ป.พัน 20 (ค่ายพระศรีพนมมาศปัจจุบัน)   ได้จัดสร้างสนามบินดินลูกรังบริเวณบ้านน้ำใส หมู่ที่ 1 ต.ชัยจุมพล  อ.ลับแล (บริเวณสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุตรดิตถ์ปัจจุบัน)  ชาวบ้านเรียกกันว่า  “หัวสนาม” "สนามบินเก่า" หรือ "หัวหาด" เป็นต้น  สนามบินดังกล่าวมีขึ้นใช้เพื่อประโยชน์ในฝึกบิน และบินสังเกตการณ์ + ถ่ายภาพทางอากาศ  ซึ่งหลายท่านคงคุ้นเคยกับเครื่องบินทบ.ปีกชั้นเดียวกันดี

  

นอกจากนั้น  อาจใช้เพื่อการขึ้นลงของเฮลิคอปเตอร์ของทางทหาร และราชการต่าง ๆ อีกด้วย ปัจจุบันถูกใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตร และสิ่งก่อสร้างที่อยู่อาศัย/สถานที่ราชการ ไม่หลงเหลือร่อยรอยสนามบินให้เห็นอีกแล้ว



ภาพถ่ายทางอากาศแสดงรันเวย์สนามบิน แห่งที่ 3

สนามบินแห่งที่ 3  

สนามบินแห่งที่ 3 ห่างจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ขึ้นไปตามทางหลวงหมายเลข 1045 (อุตรดิตถ์ – เขื่อนสิริกิติ์) ประมาณ 15  กิโลเมตร  สนามบิน จ.อุตรดิตถ์ ตั้งอยู่ที่หมู่ 2 ต.ผาจุก อ.เมืองอุตรดิตถ์  มีพื้นที่ทั้งหมดราว 1,000 ไร่เศษ รันเวย์กว้าง 30 เมตร ยาว 1,600 เมตร  ปัจจุบันยังคงมีร่องรอยของสนามบินให้เห็นอยู่ทางทิศตะวันออกของที่ตั้งสำนักงานเทศบาลตำบลผาจุก 

สนามบินอุตรดิตถ์ ก่อสร้างโดยกรมการบินพาณิชย์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคณะวิศวกรในการเดินทางมาควบคุมตรวจงาน และขนส่งวัสดุอุปกรณ์ ในการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ ขณะเดียวกันทางบริษัทเดินอากาศไทย  ปัจจุบันได้ยุบไปรวมกับบริษัทการบินไทย เป็นผู้เข้ามาเปิดดำเนินการบริการด้านพาณิชย์ ให้บริการประชาชนทั่วไป นักธุรกิจใช้บริการ แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดีนักขณะนั้น ทำให้นักธุรกิจและประชาชนไม่ใช้บริการ บริษัทจึงไม่คุ้มกับการบิน จึงหยุดบินพร้อมกับการปิดตัวลงของท่าอากาศยานอุตรดิตถ์ ในปี 2518




ต่อมาในปี 2538 หอการค้าจังหวัดอุตรดิตถ์ เรียกร้องให้กระทรวงคมนาคมปรับปรุงสนามบินอุตรดิตถ์ ให้เปิดใช้บริการอีกครั้ง แต่กระทรวงคมนาคมแจ้งว่า จ.อุตรดิตถ์ อยู่ใกล้กับ จ.แพร่ จ.สุโขทัย และ จ.พิษณุโลก มีสนามบินพาณิชย์อยู่แล้ว ไม่คุ้มค่าที่จะปรับปรุงเปิดให้บริการอีกครั้ง  

ผ่านมาถึงต้นปี 2553  นายพีระศักดิ์ พอจิต อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุตรดิตถ์ ได้เคยให้ความเห็นถึงกรณีสนามบิน จ.อุตรดิตถ์ หรือสนามบินบ้านวังยาง ตั้งอยู่หมู่ 2 ต.ผาจุก อ.เมืองอุตรดิตถ์ ถูกทิ้งร้างมาเป็นเวลานานว่า รู้สึกเสียดายงบประมาณที่ใช้สร้างสนามบินดังกล่าว   ทางจังหวัดอุตรดิตถ์ หรือหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่  ควรเข้าไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์ เพราะเวลานี้ทราบว่ากลายเป็นจุดลักลอบซื้อขายยาเสพติดของกลุ่มวัยรุ่น

นายพีระศักดิ์กล่าวว่า ทราบว่าพื้นที่สนามบินร้างกว่า 1,000 ไร่ เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ อยู่ในการดูแลของ อ.เมืองอุตรดิตถ์ และเทศบาลตำบลผาจุก ทั้งนี้ ทาง อบจ.อุตรดิตถ์ จะหารือกับทั้งสองหน่วยงานว่ามีแผนหรือโครงการจะนำพื้นที่สนามบินไปใช้ประโยชน์อะไรหรือไม่ หากไม่มี อบจ.อุตรดิตถ์ พร้อมจะเข้าไปขอใช้พื้นที่ โดยมีแผนทำสองอย่างที่น่าจะเกิดประโยชน์ต่อชาวอุตรดิตถ์คือ การเข้าไปพัฒนาให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ นำเครื่องออกกำลังเข้าไปตั้งให้บริการกับประชาชนทั่วไป ให้เป็นปอดอีกแห่งของจังหวัด  อีกทั้งปัจจุบันโรงซ่อมเครื่องจักรกลของ อบจ.อุตรดิตถ์ มีพื้นที่ใช้งานจำกัด อบจ.อุตรดิตถ์ มีแผนขยับขยายโรงซ่อมเครื่องจักรกลหนัก หากอำเภอและเทศบาลตำบลผาจุกไม่ขัดข้องจะทำหนังสือขออนุญาตเข้าไปใช้พื้นที่ เพื่อทำเป็นโรงซ่อมศูนย์เครื่องจักรกลหนักของ อบจ.อย่างไรก็ตาม ทั้งสองแผนงานดังกล่าวจะต้องสอบถามความเห็นของประชาชนก่อน เพื่อไม่ให้เกิดแรงต่อต้านภายหลัง 



ร่องรอยของรันเวย์สนามบินที่ยังเหลืออยู่ให้เห็น

นายสมชัย  มั่นเข็มทอง นายกเทศมนตรีตำบลผาจุก ได้ให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวว่า... เดิมเทศบาลเคยหารือกับนายอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ เพื่อนำพื้นที่สนามบินเปิดให้ประชาชนเช่าปลูกหญ้าเพื่อการปศุสัตว์ เพราะใน ต.ผาจุก มีเกษตรกรเลี้ยงวัวจำนวนมาก แต่นายอำเภอไม่เห็นด้วย จึงยุติโครงการไป นอกจากนี้เทศบาลเคยร่วมผลักดันกับหอการค้าจังหวัดอุตรดิตถ์และจังหวัด เพื่อขอให้กระทรวงคมนาคมเข้ามาปรับปรุงสนามบินเปิดให้บริการอีกครั้ง แต่เป็นไปไม่ได้เนื่องจากไม่คุ้มกับการลงทุน…ทางเทศบาลไม่ขัดข้องหาก อบจ.อุตรดิตถ์ จะเข้ามาพัฒนาให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ หรือจัดทำเป็นศูนย์ซ่อมเครื่องจักรกลหนัก พร้อมทำประชาคมให้ เพราะปัจจุบันการทำโครงการอะไรสักอย่าง จำเป็นต้องสอบถามความเห็นของประชาชน หากสร้างหรือดำเนินการแล้วถูกต่อต้านจากชุมชนหรือประชาชนจะไม่เกิดประโยชน์ จะสิ้นเปลืองงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์......  
      
จนกระทั่งช่วงปลายปี 2553  นายสมชัย มั่นเข็มทอง นายกเทศมนตรีตำบลผาจุก อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ ได้เชิญกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มผู้นำและประชาชนเพื่อสอบถามความคิดเห็น กรณีการพัฒนาสนามบินอุตรดิตถ์ที่ร้างมานานกว่า 40 ปี บริเวณ หมู่ 2 ต.ผาจุก โดยทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปพัฒนาให้เปิดดำเนินการอีกต่อไป  ทั้งความเป็นไปได้ที่จะมีหน่วยงานเข้ามาพัฒนาให้เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์ก็ไม่มีความเป็นไปได้
       
ผลการประชุมหารือสรุปได้ว่า  เมื่อทุกฝ่ายไม่ต้องการ จึงพร้อมใจกันมอบพื้นที่จำนวน 700 ไร่จากทั้งหมด 1,085 ไร่  ให้จัดตั้งศูนย์อนุรักษ์พันธุ์พืชในพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ ทดลอง การวิจัย การอนุรักษ์ของนักเรียนนักศึกษาด้านพฤกษศาสตร์ นอกจากนี้จะนำมาใช้เป็นต้นแบบของชุมชนรอบข้างเพื่อการพัฒนาให้เหมาะสมกับชุมชนนำไปสู่การดำเนินชีวิตแบบพอเพียง
       
ผู้บริหารมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ได้มาประชุมหารือกับผู้บริหารเทศบาล สมาชิกสภาเทศบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ว่าจะเข้ามาดำเนินการจัดตั้งวิทยาเขตในพื้นที่ดังกล่าวด้วยซึ่งทุกฝ่ายก็ให้ความเห็นชอบ โดยจะเปิดการเรียนการสอนในปีการศึกษาถัดไป  เบื้องต้นจะใช้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้าอุตรดิตถ์เป็นสถานที่เรียนก่อน พร้อมกับการก่อสร้างวิทยาเขตไปพร้อมกันที่บริเวณสนามบินร้างดังกล่าว
       
สำหรับสาขาวิชาที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้  วิทยาเขตอุตรดิตถ์ จะเปิดสอนคือวิศวกรรมอากาศยาน/การบินเพื่อการเกษตร วิศวกรรมการชลประทานเทคโนโลยีฝนหลวง เทคโนโลยีอุตุนิยมวิทยาการบริหาร/จัดการผลิตผล/สินค้าการเกษตร เทคโนโลยีการผลิตแปรรูปอาหารการบริหารการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การบริหารการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารด้านเกษตรกรรม

แต่จากปี 2554 - ปัจจุบัน  ความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยแม่โจ้  วิทยาเขตอุตรดิตถ์  ยังไม่มีความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม....คงต้องติดตามกันต่อไปว่าท้ายที่สุด..จะเป็นอย่างไร

แง่คิด...AEC : ใกล้เข้ามามากแล้ว  การขยายตัวของอุตรดิตถ์เชิงเมืองใหม่ทางทิศเหนือมีความเป็นไปได้สูงมาก  ทั้งนี้ต้องมองที่ปัจจัยเสริมโดยพิจารณาจาก

ประการแรก  พื้นที่ทางด้านเหนือของตัวจังหวัดอุตรดิตถ์  ยังมีพื้นที่ที่สามารถพัฒนาให้เป็นเมืองใหม่รองรับการขนส่งสินค้าระหว่างไทย - สปป.ลาว ผ่านด่านถาวรภูดู่  เชื่อมต่อได้ทั้งทางถนน และทางรถไฟ (  ซึ่งบังเอิญได้เห็นการขนส่งทางรถไฟที่บรรทุกรถคอนเทนเนอร์ทั้งขบวนในต่างประเทศ  ดูแล้วคิดตามได้ว่า 1) ลดความคับคั่งของรถบรรทุกบนท้องถนนได้เป็นอย่างดี  เพราะเมื่อลงจากรถไฟก็ขับต่อไปยังปลายทางได้เร็วขึ้นกว่าเดิม  2) มีความปลอดภัยโดยภาพรวม  )

ประการถัดมา  พิจารณาถึงความคุ้มทุน  พบว่า  1)  ทำเลเมืองใหม่อยู่ใกล้กับเขตเศรษฐกิจพิเศษ อ.บ้านโคก(ในอนาคต) เป็นจุดพักภาคพื้นดินในการขนส่งสินค้าเชิงพาณิชย์ และผู้โดยสารระหว่างไทยกับ สปป.ลาว   2)  รองรับการท่องเที่ยวได้ทั้งในและต่างประเทศ




  
ขอบคุณ :  1)  http://www.bloggang.com/viewdiary

               2)  http://www.skyscrapercity.com/showthread

               3)  http://www.manager.co.th/asp-bin/mgrView

               4)  http://www.thaiflyingclub.com/linkairportuttaradit.html

               5)  www.matichon.co.th/news_detail

               6)  หนังสือ "ตำนานเมืองอุตรดิษฐ์"

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

ต่อหัวเสือ...ไม่ร้ายอย่างเสือ