ทิศทาง..ข้าวหอมมะลิไทย

             

ได้อ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 2  มกราคม  2557  ที่นำเสนอบทความโดยทีมข่าวเกษตร  เรื่อง วันเวลาที่ผันผ่าน “ข้าวมะลิไทย..ไฉนอ่อนหอม”  ทำให้ผมเองเกิดความรู้สึกลึก ๆ จากภายในด้วยความห่วงใยข้าวหอมมะลิของไทยในภาพรวม  และตัดสินใจที่จะสืบค้นรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับข้าวหอมมะลิไทย  แล้วนำเสนอแก่ผู้อ่านเพื่อให้มีความรู้ และต้องการปลุกกระแสนิยมไทยร่วมกัน..ครับ


ที่มาข้าวหอมมะลิไทย

ข้าวหอมมะลิ (Thai jasmine rice) (Official name "Thai Hom Mali") เป็นสายพันธุ์ข้าวที่มีถิ่นกำเนิดในไทย มีลักษณะกลิ่นหอมคล้ายใบเตย เป็นพันธุ์ข้าวที่ปลูกที่ไหนในโลกไม่ได้คุณภาพดีเท่ากับปลูกในไทยและเป็นพันธุ์ข้าวที่ทำให้ข้าวไทยเป็นสินค้าส่งออกที่รู้จักไปทั่วโลก

เมื่อปี พ.ศ. 2497  นายสุนทร  สีหเนิน พนักงานข้าว จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รวบรวมพันธุ์ข้าวหอมในเขตอำเภอบางคล้า ได้จำนวน  199  รวง  แล้ว ดร.ครุย บุณยสิงห์ (ผู้อำนวยการกองบำรุงพันธุ์ข้าวในขณะนั้น) ได้ส่งไปปลูกคัดพันธุ์บริสุทธิ์และเปรียบเทียบพันธุ์ที่สถานีทดลองข้าวโคกสำโรง (ขณะนี้เป็นสถานีข้าวลพบุรี) ดำเนินการคัดพันธุ์โดยนักวิชาการเกษตรชื่อ นายมังกร จูมทอง ภายใต้การดูแลของนายโอภาส พลศิลป์ หัวหน้าสถานีทดลองข้าวโคกสำโรง  จนกระทั่งปี พ.ศ. 2502  ได้พันธุ์บริสุทธิ์ข้าวขาวดอกมะลิ 4-2-105  และคณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ข้าวได้อนุมัติให้เป็นพันธุ์ส่งเสริมแก่เกษตรกร  เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502 โดยเกษตรกรทั่วไปเรียกว่า [ขาวดอกมะลิ 105] ต่อมาได้มีการปรับปรุงพันธุ์ข้าว [ขาวดอกมะลิ 105] จนได้ข้าวพันธุ์ [กข 15] ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ประกาศให้ ข้าวทั้ง 2 พันธุ์เป็นข้าวหอมมะลิไทย

ข้าวหอมมะลิในปัจจุบัน  ที่นิยมปลูกและบริโภคกันอย่างแพร่หลายคือพันธุ์ ขาวดอกมะลิ 105 และ พันธุ์ กข.15 ซึ่งปัจจุบันราคาข้าวหอมมะลิราคาตกต่ำลงมาเรื่อยๆ เนื่องจาก ข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 ให้ผลผลิตสูงกว่าข้าวหอมมะลิ 105 โดยผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 80-100 ถัง/ไร่ ปลูกได้หลายครั้งต่อปี และสามารถปลูกได้ดีในที่ลุ่มบริเวณที่ราบภาคกลาง ขณะที่ข้าวหอมมะลิ 105 นั้นจะให้ผลผลิตต่อไร่เพียง 30-40 ถัง/ไร่ และปลูกได้ดีในบางพื้นที่เท่านั้น ทางรัฐบาลจึงส่งเสริมให้ชาวนาเน้นการปลูกข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 มากกว่า 

พันธุ์ปทุมธานี 1 แม้ว่าจะมีความหอมคล้ายข้าวหอมมะลิ แต่ไม่ใช่ข้าวหอมมะลิ

 

       

 







แหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่สำคัญของไทย

ประเทศไทยถือเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่ง โดยมีแหล่งเพาะปลูกสำคัญอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (เขตทุ่งกุลาร้องไห้) และมีพื้นที่เพาะปลูกครอบคลุมกว่า 19 ล้านไร่ทั่วประเทศ โดยมีแหล่งผลิตสำคัญ คือ จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ นครราชสีมา อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด รองลงมาคือภาคเหนือ เนื่องจากสภาพดินฟ้า-อากาศและพื้นที่เพาะปลูกของทั้งสองภาคคล้ายคลึงกัน เหมาะแก่การเจริญเติบโตของข้าวหอมมะลิ กล่าวคือ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ดอน ฝนจะเริ่มตกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ชาวนาจะเริ่มหว่านไถ ในเดือนมิถุนายน และเพาะปลูกอยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม เมื่อฝนเริ่มหมด ปลายเดือนตุลาคมจนถึงต้นเดือนพฤศจิกายน จึงเริ่มเก็บเกี่ยวช่วงเดือนพฤศจิกายนความชื้นจะน้อยเพราะเป็นช่วงที่ลมหนาวจากเมืองจีนเริ่มพัดเข้ามาในสองภาคนี้ ทำให้อากาศแห้งเหมาะในการเก็บเกี่ยว การตาก การนวด ก็ทำได้ง่าย เพราะน้ำแห้งนาหมดแล้ว ไม่มีฝน จึงทำให้ได้เมล็ดข้าวที่มีคุณภาพ สำหรับการปลูกข้าวหอมจะทำกันได้ดีเฉพาะที่ที่เป็นนาดอนเสียเป็นส่วนใหญ่


   


วิธีการปลูกข้าวหอมมะลิไทย

การปลูกข้าวหอมมะลิในปัจจุบัน เกษตรกรสามารถทำการปลูกได้เพียงปีละ 1ครั้ง เนื่องจากเป็นข้าวนาปี ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่ไวต่อช่วงแสง อายุการเก็บเกี่ยวข้าวไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับช่วงแสงที่ได้รับในช่วงของการออกดอก โดยช่วงแสงที่เหมาะสมในระหว่างที่ข้าวออกดอกคือ ช่วงกลางวันสั้น กลางคืนยาว ซึ่งจะอยู่ในช่วงเข้าสู่ฤดูหนาว และจะทำการเก็บเกี่ยวในช่วงปลายเดือนตุลาคมไปจนถึงกลางเดือนธันวาคมของทุกปี และอาศัยน้ำฝนเป็นหลักในการเพาะปลูก

      3.1 นาหว่าน เป็นวิธีการปลูกแบบดั้งเดิม ซึ่งปลูกด้วยเมล็ดโดยตรง โดยหว่านเมล็ดข้าวแห้งโดยตรง หรือเพาะให้ข้าวงอกเล็กน้อยแล้วนำเมล็ดพันธุ์ข้าวหว่านในพื้นที่นาที่มีการเตรียมดินสำหรับการเพาะปลูก โดยปัจจุบันการปลูกข้าวนาหว่านสามารถทำได้ 2 แบบ คือ นาหว่านข้าวแห้ง และนาหว่านน้ำตม (นำเมล็ดพันธุ์แช่น้ำให้ข้าวงอกก่อนทำการหว่าน) การปลูกด้วยวิธีนี้มีระบบรากลึกและแข็งแรง ทนต่อสภาพแล้ง

    3.2 นาดำ เป็นวิธีการการปลูกข้าวที่นิยมทำกันโดยทั่วไป เหมาะกับพื้นที่นาชลประทานที่สามารถควบคุมน้ำได้ โดยเกษตรกรต้องเตรียมต้นกล้าของข้าวก่อนที่จะย้ายมาปักดำในแปลงนาที่มีคันนา ซึ่งเป็นวิธีปลูกข้าวที่ปราณีต เพราะต้องคัดเลือกต้นกล้าที่แข็งแรงไม่เป็นโรคไปปักดำ ปัจจุบันการปลูกข้าวแบบวิธีนี้ มี 2 วิธี คือ ปักดำโดยใช้แรงงานคน เริ่มต้นจากการนำข้าวมาหว่านเพาะในแปลงนา และเมื่อข้าวได้อายุประมาณ 25-30 วัน เกษตรกรจะทำการถอนและนำต้นกล้ามาปักดำในนาข้าว และปักดำโดยใช้เครื่องจักร  จะมีการเพาะข้าวในถาดปลูกข้าว และเมื่อได้อายุการปักดำ จะนำถาดมาใสกับรถปักดำและปักดำข้าวในแปลงนา

      3.3 การเก็บเกี่ยว  
การเก็บเกี่ยวข้าวของเกษตรกรมี 2 วิธี คือ การเก็บเกี่ยวโดยใช้แรงงานคน  โดยใช้เคียวในการเก็บเกี่ยว และการเก็บเกี่ยวโดยใช้เครื่องจักร แต่เนื่องจากในปัจจุบันมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตร และเพื่อความสะดวก และรวดเร็วทำให้เกษตรกรนิยมใช้เครื่องจักรในการเก็บเกี่ยวเป็นหลัก


            

สถานการณ์ข้าวหอมมะลิไทย 2556

** จากการประชุมประจำปีผู้ค้าข้าวโลกครั้งที่ 5 (The rice trader world rice conference 2013)ที่ฮ่องกงเมื่อพฤศจิกายนที่ผ่านมา “ข้าวพันธุ์ผกามะลิ จากกัมพูชา และข้าว California Rose”  จากสหรัฐอเมริก  ร่วมกันครองแชมป์ข้าวดีที่สุด  สร้างความมึนงงสงสัยให้กับคนไทยทั่วไป  แต่อาจจะหายสงสัยถ้าทราบว่าในเวทีโลกเรายังเสียแชมป์ให้กับชาติอื่นถึง 3 ปีซ้อนมาแล้ว  ซึ่งบทความดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นถึงสาเหตุหลักที่มาจากการมุ่งผลิตข้าวเชิงปริมาณมากกว่าเชิงคุณภาพ  ในฐานะของคนไทยคนหนึ่ง รู้สึกกังวลใจในความตกต่ำของข้าวหอมมะลิไทยเป็นอย่างยิ่ง 

** ข้าวหอมมะลิเปรียบเสมือนจิตวิญญาณของบรรพบุรุษไทย  ที่มอบไว้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมาแต่อดีต-ปัจจุบัน  การตื่นรู้และตระหนักคิด เรื่อง “คุณภาพข้าวไทย”  จึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน  โดยเฉพาะหน่วยงานราชการด้าน “ข้าว” และกลุ่มเกษตรกร  ที่จะช่วยกันผลักดันและพัฒนา “ข้าวไทย”  ให้กลับมาสร้างมูลค่า...สร้างคุณค่า และสร้างความภาคภูมิใจแก่ประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้...

           

ความหอมของข้าว 

**  ข้าวหอมมะลิจะหอมมากหอมน้อย  ขึ้นอยู่กับลักษณะพันธุกรรมของข้าวว่า  มีสารหอมระเหยกลิ่นใบเตยที่เรียกว่า 2AP (2-acetyl-1-pyroline)  ปนอยู่ในเนื้อแป้งข้าวมากแค่ไหน   ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของข้าวหอมมะลิที่ไม่เหมือนข้าวพันธุ์อื่น   การรักษาความหอมของข้าวหอมมะลิให้คงอยู่นานนั้นจึงควรเก็บข้าวไว้ในที่เย็น อุณหภูมิประมาณ 15 องศาเซลเซียส เก็บข้าวเปลือกที่มีความชื้นต่ำ 14-15% ลดความชื้นข้าวเปลือกที่อุณหภูมิไม่สูงเกินไป และจากการศึกษาของกรมการข้าวมาตั้งแต่ปี 2550โดยอาศัยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มาช่วยวัดค่าความหอม  พบว่าพันธุ์ข้าวหอมมะลิแท้  ยังคงความหอมเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง...แต่สิ่งที่ทำให้ความหอมลดลง   มาจากสภาพแวดล้อมในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเดิม 

**  นายไพฑูรย์  อุไรรงค์  รองอธิบดีกรมการข้าวบอกว่ามาจากหลายปัจจัยด้วยกัน  อาทิ  ภาวะโลกร้อน อุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลให้น้ำมันหอมที่อยู่ในแป้งข้าว ระเหยหายไปได้เร็วกว่าเมื่อก่อน ยิ่งการรีบเอาข้าวเปลือกมาสีเป็นข้าวสาร  น้ำมันหอมจะระเหยเร็วกว่าอยู่ในสภาพเป็นข้าวเปลือก....โครงการรับจำนำข้าว ที่กำหนดกฎเกณฑ์ให้รีบแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสารโดยเร็ว และเก็บรักษาไม่ดีไม่เก็บในอุณหภูมิต่ำ  เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ข้าวหอมมะลิมีกลิ่นเจือจางลง

              


คุณภาพการผลิตข้าวหอม 

**  การปลูกเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความหอมเปลี่ยนไป  จากการทดลองของกรมการข้าวพบว่า  1) การจะทำให้ข้าวหอมมะลิหอมมากที่สุด  ในช่วงที่ข้าวออกดอกได้  7  วัน  ต้องไขน้ำออกจากนาให้แห้ง 1-2 สัปดาห์  จากนั้นจึงค่อยสูบน้ำเข้านาอีกครั้ง  จะเป็นวิธีที่ทำให้ต้นข้าวหอมมะลิเกิดความเครียด และเร่งสารน้ำมันหอมออกมามากเป็นพิเศษ  แต่วิธีการนี้ชาวนาไทยไม่ค่อยมีใครได้ทำกัน   2)  ธาตุอาหารเสริมจำพวกแมงกานีส  กำมะถัน  และแมกนีเซียม  มีอิทธิพลต่อความหอมอย่างมีนัยสำคัญ  ดังนั้นข้าวหอมมะลิที่ปลูกในพื้นที่ที่มีธาตุอาหารเหล่านี้สูง  ข้าวจะหอมมากกว่าพื้นที่อื่น

**  ข้อมูลของกรมการข้าวยังระบุอีกหนึ่งสาเหตุ  คือ การบำรุงดินแบบเดิม ๆ รู้จักแต่ใส่ปุ๋ยหลัก N-P-K  อย่างเดียว  ไม่มีการใส่ธาตุอาหารเสริมที่ได้จากปุ๋ยพืชสด  แถมบางพื้นที่ยังใช้วิธีเผาตอซังอีก ยิ่งเป็นการทำลายธาตุอาหารเสริมหนักขึ้นไปอีก เลยส่งผลให้ข้าวหอมมะลิไม่หอมเหมือนเก่า...ที่น่าเป็นห่วงมากในปัจจุบันก็คือ การที่ชาวนาบางพื้นที่  ใช้ที่นาแบบซ้ำซาก  ปลูกข้าวติดต่อกันแบบไม่มีการพักดิน  ทำให้ปริมาณและคุณภาพของข้าวลดลงอย่างเห็นได้ชัด

**  อีกปัจจัยหนึ่งก็คือ  การใช้เมล็ดพันธุ์ที่นำมาปลูก ยังนิยมใช้ข้าวเก่ามาทำพันธุ์ต่อเนื่องโดยไม่ยอมเปลี่ยนพันธุ์ไปใช้พันธุ์แท้  ทั้งที่มีข้อมูลทางวิชาการยืนยันว่า  ข้าวไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ไหน ๆ ถ้านำไปปลูกติดต่อกันเกกินกว่า 3 ฤดู  ลักษณะเด่นประจำพันธุ์มักจะเพี้ยนเปลี่ยนไป และจะมีข้าวพันธุ์อื่นมาปนผสมอีกต่างหาก  แค่มีข้าวพันธุ์อื่นมาปนแค่ 1 เมล็ดพันธุ์ มันจะเติบโตเป็นข้าว 1 กอ ให้เมล็ดข้าวประมาณ 2,000 เมล็ด และเมื่อนำไปปลูกในฤดูที่สอง เมล็ดพันธุ์ปนจะเพิ่มเป็น 4,000,000 เมล็ดพันธุ์....ถ้าเอาไปปลูกต่อในฤดูที่ 3-4-5 จะเหลือเมล็ดพันธุ์แท้ ๆ ให้เก็บเกี่ยวจำนวนเท่าไร


บทสรุป

      จากสถานการณ์ “ข้าวหอมมะลิไทย”  ที่ตกต่ำอยู่ในปัจจุบัน  จำเป็นที่ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง  ต้องกำหนดให้เป็นวาระระดับชาติเพื่อการปรับปรุงพัฒนาข้าวหอมมะลิไทย รวมทั้งข้าวไทยอื่น ๆ ให้กลับมาทัดเทียมนานาประเทศ และเป็นกลุ่มผู้นำข้าวที่มีคุณภาพเหมือนอย่างที่เคยมา...




ขอบคุณ  :  1)  หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม 2557
              2)  www.hommali.net 
              3)  http://www.thaisiamboonphong.com
              4)  http://www.cpthairice.com
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์