พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร  (บุญใหญ่  อินทปญโญ)   วัดเจดีย์คีรีวิหาร  อ.ลับแล  จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร  (บุญใหญ่  อินทปณโญ) 
" หลวงปู่บุญใหญ่"  เป็นชื่อที่ชาวอุตรดิตถ์  เรียกพระเถระผู้ทรงคุณวุฒิรูปหนึ่งตามสมศักดิ์ของท่าน คือ พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่  อินทปญโญ)  อดีตเจ้าอาวาสวัดเจดีย์คีรีวิหาร และเจ้าคณะแขวงเอกเมืองพิชัย  มณฑลพิษณุโลก  ท่านเกิดเมื่อวันที่  7  เมษายน  พ.ศ. 2415   บิดาชื่อหม่อม  มารดาชื่อ แก้ว  มีพี่น้องจำนวน  3  คน  ได้แก่  นางแตะ  พุฒเนียม  นางคำ  สุขวุ่น  และหลวงปู่บุญใหญ่ (ชื่อเดิม บุญ   พุฒเนียม)

ในสมัยวัยเยาว์  หลวงปู่บุญใหญ่ได้มีความสนใจวิชาในทางพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก  เมื่ออายุได้ 12  ปี   โยมบิดามารดาได้นำไปฝากเป็นศิษย์ของหลวงพ่อพระอุปัชฌาย์น้อย  วัดป่ายาง (อุปัชฌาย์รูปแรกของอำเภอลับแล)  ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและอักษรล้านนาจนความรู้แตกฉาน  เมื่ออายุได้  15  ปีได้บวชเป็นสามเณร  ท่านเริ่มสนใจในวิชาไสยศาสตร์และเวทมนต์คาถาเป็นอย่างมาก หลวงพ่อพระอุปัชฌาย์น้อยก็เมตตาประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้แขนงต่าง ๆ  ให้หลวงปู่บุญใหญ่จนหมดสิ้น  เมื่ออายุครบ  20  ปี  หลวงปู่จึงได้อุปสมบทหรือเป๊ก  (เป๊ก  หมายถึง  การบวชพระที่เป็นสามเณรโดยที่ไม่สึกเป็นฆาราวาส) โดยมีหลวงพ่อน้อย  วัดป่ายางเป็นพระอุปัชฌาย์  ได้นามฉายาว่า "อินทปญโญ"  ขณะที่บวชเป็นพระ  ท่านได้อยู่ปรนนิบัติหลวงพ่อน้อย ศึกษาพระปริยัติธรรม และปฏิบัติธรรมควบคู่กันไป  ต่อมาจึงได้กราบลาพระอุปัชฌาย์ย้ายมาจำพรรษา และปฏิบัติธรรมที่วัดทุ่งเอี้ยง  เพื่อที่จะได้อยู่ใกล้โยมบิดามารดา

สมเด็จพระสังฆราช ฯ เสด็จประพาสภาคเหนือ
ขณะที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดทุ่งเอี้ยงหลายพรรษา  จนกระทั่งได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งเอี้ยง พ.ศ. 2453  สมเด็จพระสังฆราช  กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ (หม่อมเจ้าภูชงค์)  ได้เสด็จประพาสภาคเหนือมาประทับที่วัดทุ่งเอี้ยง  ซึ่งอยู่ห่างจากวัดป่าแก้วไม่มากนัก  พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นเจดีย์เก่า  จึงตรัสถามหลวงปู่ว่า "  นั่นเป็นวัดหรืออย่างไรเห็นเจดีย์เก่าแก่อยู่ " หลวงปู่จึงกราบทูลว่า       "  เป็นวัดร้างมานานแล้ว  ชาวบ้านเรียกว่าวัดป่าแก้ว "  สมเด็จพระสังฆราชจึงตรัสถามหลวงปู่ต่อว่า " วัดร้างนั้นอยู่ในทำเลที่ดีอยู่ในเนินที่สูงไม่มากนัก  พร้อมทั้งเจดีย์เก่าอยู่  ข้าพเจ้าว่าคงเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่ง  น่าจะบูรณะซ่อมแซมและไปอยู่ที่นั่น  ถ้าท่านจะไปบูรณะและไปอยู่จริงข้าพเจ้าจะตั้งชื่อให้ใหม่ว่า  วัดเจดีย์คีรีวิหาร "    
 
หลังจากสมเด็จพระสังฆราช  กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์   เสด็จกลับไปแล้ว   ในปี พ.ศ. 2454  หลวงปู่บุญใหญ่ และชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมกัยบูรณะซ่อมแซมเจดีย์คงคืนสภาพเดิม  มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง  5  วา  สูง  13  วา   ขณะที่ซ่อมแซมเเจดีย์ได้พบเครื่องลายคราม  เงินกลม และพระพุทธรูปทองคำ  หน้าตักกว้าง  2  นิ้ว  สูง  3  นิ้ว  เป็นจำนวนมาก    หลวงปู่จึงได้นำเอาของมีค่าทั้งหมดนำมาบรรจุไว้ในองค์พระธาตุเจดีย์  และขณะที่กำลังบูรณะอุโบสถ(หลังเก่า)  นั้นได้พบแผ่นศิลาจารึก  1  แผ่น ตัวอักษรในแผ่นศิลาจารึกนั้นอ่านไม่ออก (ไม่ใช่ภาษาไทย)  ข้าหลวงอุตรดิตถ์ (ผู้ว่าราชการจังหวัด)  ได้จัดส่งไปไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  เมื่อซ่อมแซมเจดีย์และอุโบสถเสร็จแล้ว  ก็ได้สร้างกุฎิ และศาลาการเปรียญขึ้นอีกหนึ่งหลัง  เมื่อสร้างเสร็จแล้วหลวงปู่ก็ได้ย้ายมาจำพรรษา  ณ  วัดเจดีย์คีรีวิหาร   ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดและเจ้าคณะแขวงเอกเมืองพิชัย  มณฑลพิษณุโลก และได้รับพระราชทานสมศักดิ์ว่า  "  พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร "

การสร้างวัตถุมงคล
หลวงปู่บุญใหญ่ท่านมีพระที่เป็นพระสหายธรรมที่มีชื่อเสียงหลายท่าน  เช่น  หลวงพ่อคง  วัดบางกะพร้อม ,  หลวงพ่อจง  วัดหน้าต่างนอก  เป็นต้น  ซึ่งมีกไปมาหาสู่กันอยู่บ่อย ๆ จึงเป็นที่เชื่อได้ว่าวิทยาคมของท่านนั้นสูงส่งไม่ต่างจากสหายของท่าน

ท่านได้สร้างพระเครื่องอยู่ประเภทหนึ่งที่ผู้อยู่ในวงการพระเครื่องต่างก็สับสนในเรื่องของที่มา  ได้แก่ พระผงคลุกรัก  ซึ่งพระผงคลุกรักนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2470  โดยท่านได้ให้นายช่างทำโบสถ์ที่มีชื่อเสียงในขณะนั้นมาแกะแบบพิมพ์  โดยใช้ไม้แบบพิมพ์ และท่านยังได้นิมนต์พระเกจิอาจารย์ชื่อดังในยุคนั้น  มาร่วมพิธีหลายท่าน เช่น  หลวงพ่อฝ้าย  วัดสนามไชย  อ.พรหมพิราม  จ.พิษณุโลก (เจ้าตำรับกระสุนคด)  หลวงพ่อเรือง  วัดพระยาปันแดน   พระมหาธังกร  วัดน้ำคือ  จ.แพร่   หลวงพ่อนาค  วัดป่าข่อย   และหลวงพ่อฮวบ  วัดสามัคยาราม  เป็นต้น   เมื่อทำพิธีพุทธาภิเษกเสร็จ  หลวงปู่ได้มอบพระผงคลุกรักให้กับพระเกจิอาจารย์เหล่านั้นกลับไปวัดด้วย  จึงทำให้ภายหลังมีผู้ที่ได้รับพระเครื่องเหล่านี้จากมือหลวงพ่อองค์ใด ต่างก็เข้าใจว่าหลวงพ่อองค์นั้นเป็นผู้สร้างและที่พบเห็นกันมากที่สุด คือ จ.พิษณุโลกของหลวงพ่อฝ้าย  วัดสนามไชย  อ.พรหมพิราม


      พระสมาธิพิมพ์สี่เหลี่ยม พิมพ์เล็ก ฐานบัว เนื้อผงคลุกรัก พระครูธรรมฐีติวงศ์คีรีเขตร(บุญใหญ่ อินทปัญโญ)        วัดเจดีย์คีรีวิหาร(วัดป่าแก้ว) สร้างปี 2470 พระพิมพ์สมาธิเล็กฐานบัว
                                                เป็นพระพิมพ์ที่หายากที่สุด และมีค่านิยมมากที่สุด


                     พระผงคลุกรัก พิมพ์พระพุทธเข่าบ่วง พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปัญโญ)                  วัดเจดีย์คีรีวิหาร(วัดป่าแก้ว) สร้างปี 2470 


                พระผงคลุกรัก  พิมพ์รูปเหมือน   พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปัญโญ)                 
วัดเจดีย์คีรีวิหาร(วัดป่าแก้ว) สร้างปี 2470 


พระลีลา เนื้อผงคลุกรัก ก้นมีรูเสียบ พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร ( หลวงปู่บุญใหญ่ อินทปัญโญ ) 


พระลีลา เนื้อผงคลุกรัก ก้นมีรูเสียบ พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร ( หลวงปู่บุญใหญ่ อินทปัญโญ ) 



พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตรผงคลุกรัก  พระคงเล็ก


พระผงคลุกรัก   ท่านได้สร้างครั้งฉลองพระอุโบสถหลังใหม่ พ.ศ. 2470  เป็นรูปพระสงฆ์ไว้หลายแบบ มีทั้งพระที่มีรูปร่างใหญ่ และรูปร่างผอม  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเกจิอาจารย์ที่ท่านได้นิมนต์มาร่วมพิธี  ท่านตั้งใจสร้างขึ้นถวายพระเถระผู้เรืองเวทย์เหล่านั้น  ซึ่งท่านได้สร้างไว้เป็นจำนวนมาก  และถวายให้วัดต่าง ๆ จนหมด  ไม่มีการจำหน่ายแต่อย่างไร  วัตถุมงคลของท่านจึงมีความขลัง  เพราะไม่มีเงินทองมาเป็นเครื่องล่อใจให้สร้างขึ้น  เสมือนกับเป็นการเฉลิมฉลองถาวรวัตถุของท่าน และตอบแทนผู้มีจิตศรัทธาช่วยเหลือท่านนั่นเอง
                

                           เหรียญพระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร(พระอุปัชฌาย์บุญใหญ่ อินฺทปญฺโญ)
                            วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ รุ่นแรก   ปี 2480   เนื้อทองแดง


เหรียญรูปเหมือน   เป็นเหรียญเนื้อทองแดง  รุ่นแรกสร้างเมื่อคราวฉลองตราพระอุปัชฌาย์ ในปี พ.ศ. 2480

เหรียญรุ่นที่ 2    สร้างเมื่อ พ.ศ. 2489  เป็นเหรียญรูปไข่ขนาดเล็ก

เหรียญรุ่นที่ 3   เป็นเหรียญกลมคล้ายรุ่นแรก  ด้านหน้ามีตัวอักษรว่า " ฉลองอนุสาวรีย์ "  เหรียญรุ่นนี้หลังจากท่านได้มรณภาพไปแล้ว


    เหรียญหล่อ พิมพ์สมาธิข้างยันต์ (พระพุทธเจ้าห้าพระองค์ "นะ โม พุธ ธา ยะ") พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร                        (บุญใหญ่ อินทปัญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ สร้างปี 2489 เนื้อทองเหลือง 


เหรียญหล่อ  มีอยู่  3  พิมพ์  คือ  พิมพ์รูปพระพุทธ   ฐานเขียนสามชั้นมีกรอบเป็นเส้นนูนสี่เหลี่ยมล้อมรอบ  ด้านในมีอักขระ  " นะโมพุทธายะ "  อีกพิมพ์หนึ่งเป็นพิมพ์พระพุทธเช่นกัน  ไม่มีอักขระ  มีแต่ใบโพธิ์พฤกษ์เพิ่มเติมอยู่เหนือพระเศียรขององค์พระ   ส่วนพิมพ์สุดท้าย  คล้ายพระปางซ่อนหาของวัดอนงคาราม  แต่เนื้อขันลงหินมิใช่เนื้อเมฆสิทธิ์

พ.ศ. 2489  ท่านยังสร้างพระประจำวันอีกจำนวน  2  รุ่น  ด้านหลังมีอักขระเป็นเส้นนูนอ่านว่า " พุทธะสัง " หมายถึง  พระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  พระรุ่นนี้ปัจจุบันหาได้ยากมาก   อีกรุ่นหนึ่งด้านหลังเรียบ  หล่อมาจากขวานฟ้าซึ่งเป็นวัตถุโบราณ  พระรุ่นนี้สร้างครบ  7  วัน  เหมือนพระประจำวันของหลวงพ่อเพ็ชร วัดท่าถนน  (ต่างกันตรงด้านหลังไม่มียันต์)   นอกจากนี้  ยังมีตะกรุดโทน  ตะกรุดลูกประคำพิสมร  ลูกสะกด  เสื้อยันต์  และผ้ายันต์ต่าง ๆ  เครื่องรางที่มีชื่อเสียงมากที่สุด  ได้แก่  ตะกรุด  7 หลอด  7  อัน  และตะกรุดลูกประคำ  เป็นต้น

หลวงปู่เคยปรารภกับบรรดาลูกศิษย์อยู่เสมอว่า  วัตถุมงคลของท่านจะคุ้มครองรักษาเรา  เราต้องรักษาตัวเอง  คือเป็นคนดีมีศีลธรรม  นึกถึงพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  เป็นสรณะที่พึ่ง และเวลาอาราธนาวัตถุมงคลติดตัวให้ภาวนาว่า   "  ธัมมะฐิติจะ   มะหาเถโร   บุญอินทะปัญโญ  นะโมพุทธายะ  นะมะอะอุ "   หลวงปู่บุญใหญ่มรภาพเมื่อวันที่  20  เมษายน  2502  สิริอายุได้  75  ปี  พรรษาที่  67



ขอบคุณ  :  1)  http://utt.onab.go.th
              2)  http://www.prauttaradit.com
              3)  http://uauction2.uamulet.com
              4)  http://forum.uamulet.com  

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

ต่อหัวเสือ...ไม่ร้ายอย่างเสือ