ศึกษาไทยงามหน้าทุจริตครูผู้ช่วย - สิ้นท่านโยบายขายฝัน “แท็บเล็ต’ 56”
กำลังจะพ้นผ่านปีเก่า 2556 ไปพร้อมกับการทอดถอนใจถึงความไม่ก้าวหน้าของกระทรวง “คุณครู” ด้วยตลอด 1 ปีมานี้ นอกจากจะได้รับผลกระทบของการบริหารทางการเมือง ที่ปรับเปลี่ยนตัวเจ้ากระทรวงมาอย่างต่อเนื่องมาเป็นระลอกแต่ช่วงปลายปี 2555 มาสู่ช่วงกลางปี 2556 ที่เปลี่ยนตัวจาก นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช มาเป็น นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา และล่าสุด คือ นายจาตุรนต์ ฉายแสง แต่ละคนทำงานได้เฉลี่ยคนละ 5-6 เดือน โดยเฉพาะ รมว.ศึกษาธิการ คนล่าสุดเคยนั่งเก้าอี้ดังกล่าวมาแล้ว ก่อนจะพ้นจากตำแหน่งด้วยพิษการเมือง ซึ่งมีการประกาศยุบสภาในปี 2549 แล้วก็เข้าสู่บ้านเลขที่ 111 เว้นวรรคการเมืองไป 5 ปี กลับออกมาหนนี้แม้จะได้หน้าได้ตามีที่ลงหลักอำนาจ แต่อยู่ได้ไม่นานก็โดนพายุเดิมซัดอีกเป็นหนที่สอง!!
แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารจะเป็นคนจากพรรคเดียวกัน แต่ทว่า...แต่ละคนก็มักจะมอบนโยบายใหม่ หรือแม้จะสานต่อนโยบายเดิมๆ ภายใต้นโยบายรัฐบาลแต่ก็ปรับรูปแบบในสไตล์ของตน ส่งผลให้งานประจำก็ไม่ก้าวหน้า งานนโยบาย อย่างปฏิรูปการศึกษารอบ 2 การพัฒนาครู พัฒนาคุณผู้เรียน หรือกระทั่งนโยบายขับเคลื่อนเตรียมพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 ก็ไม่เด่น กลายเป็นว่าเรื่องช่วงปี 2556 ที่ผ่านมามีแต่ข่าวฉาวที่สร้างชื่อเสีย...
ตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดหนีไม่พ้นกรณี “การทุจริตการสอบครูผู้ช่วย ว12 กรณีพิเศษหรือเหตุจำเป็น” ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หากใครที่ติดตามมาแต่ต้นจะพบว่าข่าวชิ้นนี้เป็นมหากาพย์การทุจริตครูที่ถูกนำเสนอบนหน้าหนังสือพิมพ์และข่าวเด่นบนจอโทรทัศน์ ยาวนานและต่อเนื่องอยู่หลายเดือน และยังคงมีการนำเสนออยู่เป็นระยะในช่วงค่อนปีหลัง เริ่มแต่มีการเปิดข่าวพบพิรุธและสงสัยว่าจะมีการกระทำทุจริตเป็นขบวนการ สุดท้ายต้องยืมมือกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ไล่ขุดหาต้นตอและวิธีการในการโกงออกมาแฉ! นำมาสู่การล้มกระดานจัดสอบและควานหาตัวคนผิด ซึ่งพบพิรุธตั้งแต่กระบวนการจัดส่งข้อสอบ รูปแบบการโกง มีการนำผู้เชี่ยวชาญทางการวัดและประเมินผลมาช่วยวิเคราะห์ จนพบว่ามีกลุ่มที่น่าสงสัยว่าทุจริตสอบเพราะได้คะแนนสูงผิดปกติ 344 ราย ซึ่งจำนวนนี้บางรายได้บรรจุเป็นครูผู้ช่วยแล้วก็ต้องให้ผู้อำนวยการโรงเรียนให้ออกจากราชการ แต่ก็ยังไม่วายเกิดปัญหาตามมาเหตุบางรายอ้างไม่ได้รับความเป็นธรรมถูกให้ออกโดยไม่มีการสอบสวน ล่าสุดคือ นายจาตุรนต์ ในฐานประธานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ให้มีการชะลอโดยขอให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ไปทำความเข้าใจกับผู้บริหารโรงเรียนและวนไปเริ่มกระบวนการสอบสวนใหม่ ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตุว่าการดำเนินการลักษณะนี้อาจจะต้องการซื้อเวลาให้เรื่องยืดยาวจนคนลืมหรือไม่
ขณะที่ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ก็ได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงตั้งแต่ระดับผู้บริหารไปจนถึงระดับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง นำมาสู่การตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะ นายชินภัทร ภูมิรัตน อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่เวลานี้เกษียณอายุราชการแล้วโดน 2 เด้ง คดีแรกโดนคนเดียวฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย และไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของราชการอันเป็นเหตุให้ราชการเสียหายอย่างร้ายแรง มีการสอบปากคำพยานเรียบร้อยและคาดว่าจะสรุปผลในเดือนธ.ค.2556นี้ จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ปรากฎ ขณะที่คดีที่ 2 นายชินภัทร ถูกตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงร่วมกับข้าราชการอีก 7 ราย ฐานกระทำผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความลับของราชการ ซึ่งคดีนี้ยังอยู่ในกระบวนการสอบสวนและคาดว่าจะสรุปผลได้ในเดือน ม.ค.2557 เพราะฉะนั้น เวลานี้ไม่ว่าจะเป็นข้อสรุปในฐานความผิดทั้งที่ดำเนินการโดยส่วนราชการ หรือกระทั่งในทางคดีอาญาโดยดีเอสไอ เกี่ยวกับปมการทุจริตการสอบครูผู้ช่วยจึงยังไร้ข้อสรุปที่ชัดเจน!
อีกเรื่องสำคัญที่สะท้อนความล้มเหลวในการบริหารงานการศึกษา ผลาญงบประมาณแผ่นดินมูลค่ามหาศาลแต่ใช้อย่างไม่คุ้มค่า นั่นคือ โครงการ 1 คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ต่อ 1 นักเรียน ประจำปี 2556 นโยบายขายฝันเพื่อเรียกคะแนนประชานิยมต่อเนื่องในปีที่ 2 ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี จากเดิมที่ปีแรกของโครงการแจกระดับ ป.1 มาแล้วกว่า 8 แสนเครื่องในปีการศึกษา 2555 มาในปีการศึกษา 2556 ได้เพิ่มเป้าหมายแจก ป.1 และ ม.1 รวมจำนวนกว่า 1.6 ล้านเครื่อง วงเงิน 4,611 ล้านบาท โดยหากการดำเนินการโครงการดังกล่าวเป็นไปตามระบบและไม่เกิดปัญหาติดขัด แน่นอนว่าเวลานี้นักเรียน ป.1 และ ม.1 ทุกคนจะมีแท็บเล็ตใช้เรียนมาแล้วในภาคเรียนที่ 1/2556 ที่ผ่านมา แต่ความจริงที่สุด ณ เวลานี้ล่วงเลยเวลาสู่ภาคเรียนที่ 2 ในปีการศึกษาเดียวกัน กลับไม่ปรากฏเครื่องแท็บเล็ตให้เด็กใช้เรียน!
คาดว่าปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากขาดความต่อเนื่องของการบริหารงานระดับนโยบาย ที่มีการเปลี่ยนแปลงหนำซ้ำการวางแผนก็เป็นไปอย่างล่าช้า และอาจจะเป็นความผิดพลาดที่สุด ที่ปีที่ 2 นี้ให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดย สพฐ.เป็นตัวแทนของหน่วยงานที่มาสถานศึกษาในสังกัดรวม 8 หน่วยงานมาเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อแท็บเล็ตในครั้งนี้เอง โดยเฉพาะหากพิจารณาย้อนไปกระบวนการต่างๆ เตรียมพร้อมเริ่มตั้งแต่เดือน ต.ค.2555 ซึ่งเริ่มต้นปีงบประมาณ 2556 เมื่อครั้งนายสุชาติ ดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการ ศธ.ได้เริ่มเตรียมการสำหรับจัดซื้อแท็บเล็ต ป.1, ม.1 และครู ของปีการศึกษา 2556 ทั้งกำหนดสเปกของเครื่องและวิธีการจัดซื้อที่เปลี่ยนรูปแบบการจัดซื้อด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-ออกชัน ภายในประเทศออกเป็น 4 โซน
แต่กระบวนการต่างๆ ทั้งการยื่นทีโออาร์ เปิดประมูล ทดสอบคุณสมบัติการตกกระแทกของเครื่องแท็บเล็ตที่แต่ละบริษัทที่ยื่นใน 4 โซนมามาเริ่มทำภายหลังที่เปลี่ยน รมว.ศึกษาธิการ มาเป็น นายพงศ์เทพ ในครั้งแรกของการอี-ออกชัน สรุปการประมูลผ่านการเพียง 3 โซน คือ โซน 1 (ภาคกลางและภาคใต้) ป.1 จำนวน 431,105 เครื่อง และ โซน 2 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ระดับ ป.1 จำนวน 373,637 เครื่อง บริษัท เซิ่นเจิ้น อิงถัง อินเทลลิเจ้นท์ คอนโทรล จำกัดชนะการประมูลทั้ง 2 โซน และโซน 3 (ภาคกลางและภาคใต้) ม.1 จำนวน 426,683 เครื่อง บริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด ชนะการประมูล ยกเว้นในโซนที่ 4 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ม.1 และครู จำนวน 402,889 เครื่องที่มีปัญหามีผู้แข่งขันน้อยจึงได้มีการเปิดประมูลอี-ออกชันใหม่ ภายหลังจนกระทั่งได้ บริษัท จัสมิน เทเลคอมซิสเต็มส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประมูล เตรียมก้าวไปสู่ขั้นตอนการทำสัญญา แต่ก็ต้องสะดุดเพราะข้อทักท้วงจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ให้ข้อสังเกตุว่าผลการอี-ออกชันการประมูลของโซน 3 ราคาที่ประมูลได้สูงกว่าอย่างมีนัยยะสำคัญ เมื่อเทียบกับการประมูลในโซน 1, 2 และ 4 ขอให้มีการทบทวนและนำมาสู่การตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงโดย สพฐ.และมีมติเสนอบอร์ดบริหารแท็บเล็ต ในสมัย นายพงศ์เทพ เป็นประธานมีมติให้ยกเลิกการประมูลอี-ออกชัน โซน 3
จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลง รมว.ศึกษาธิการ ครั้งที่ 2 ของปีมาเป็น นายจาตุรนต์ ซึ่งได้เข้ามารับช่วงการบริหารงานต่อก็ยังคงยืนยันตามมติเดิมโดยให้ สพฐ.ประกาศยกเลิกประมูล ขณะที่ บ.สุพรีมฯ ผู้ชนะประมูลในโซน 3 ได้ยื่นอุทธรณ์คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ (กวพ.อ.) ของกรมบัญชีกลาง อย่างไรก็ตาม ราวเดือน ต.ค.-พ.ย.ที่ผ่านมา กวพ.อ.มีความเห็นว่าไม่สามารถชี้ขาดได้เพราะเป็นการใช้ดุลยพินิจของหน่วยงาน ไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุว่าด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2549
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายบอร์ดบริหารฯ ยังคงยึดมติเดิมยืนยันยกเลิกโซน 3 โดยอ้างคำวินิจฉัยจากคณะกรรมการกฤษฎีกาว่ามีอำนาจในการยกเลิกได้ อีกหากดึงดันเดินหน้าไม่ทำอะไรก็ติดข้อทักท้วง สตง.ถอยหลังก็ติดปัญหาความเห็นจาก กวพ.อ.จึงสั่งให้ สพฐ.ส่งข้อมูลชี้แจงเหตุผลยกเลิกโซน 3 ไปยัง กวพ.อ.อีกครั้ง หวังให้ฟันธงชัดว่าควรยกเลิกตามมติบอร์ด หรือไม่ยกเลิกและให้จัดซื้อกับ บ.สุพรีมฯ ต่อ รวมถึงถาม สตง.ด้วยว่ามีปัญหาในเรื่องใดที่พบอีกเพื่อจะได้เร่งแก้ไขให้เสร็จสิ้น ซึ่งจวบจนสิ้นปีก็ยังไร้วี่แววจะได้รับคำตอบใดกลับมา
เช่นเดียวกัน แท็บเล็ตโซน 1, 2 และ 4 ที่ทำสัญญาจัดซื้อกับบริษัทที่ชนะการประมูลไปแล้วตั้งแต่ 28 ก.ย.2556 ที่ผ่านมาซึ่งตามเงื่อนไขจะต้องส่งแท็บเล็ตงวดแรกภายใน 35 วันนับจากวันทำสัญญา โดยกำหนดจัดส่งทั้งสิ้น 5 งวดๆ สุดท้ายให้ส่งได้ไม่เกิน 90 วันนับจากวันทำสัญญาเช่นกัน หากเกินกำหนดบริษัทจะต้องเสียค่าปรับวันละ 0.2 ของราคาประมูล แต่ก็เช่นเดิมจนถึงขณะนี้ยังไม่มีบริษัทใดจัดส่งแท็บเล็ต ขณะที่ สพฐ.ก็ปิดปากเงียบไม่ออกมาชี้แจงหรือบอกความคืบหน้าแต่อย่างใด
ขณะที่ปัญหาเก่ายังคาราคาซัง แต่เวลานี้ ศธ.ก็เริ่มเตรียมการสรุปผลการดำเนินการโครงการดังกล่าวทั้ง 2 ปีที่ผ่านมาถึงข้อดี-ข้อเสีย เพื่อหวังนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้นในการจัดซื้อแท็บเล็ตให้นักเรียนในปีการศึกษา 2557 แน่นอนว่ายังไม่มีรายงานสรุปปรากฏออกมาเช่นเคย แต่ช่วงเวลาหนึ่งได้การเสนอแนวคิดแจกคูปองเงินสดให้ผู้ปกครองนำไปซื้อแท็บเล็ตภายใต้สเปกที่กำหนดให้บุตรตนเอง หากอยากได้ดีกว่าที่กำหนดก็ต้องเพิ่มเงินส่วนต่างเอง โดยเชื่อว่าจะเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยเอื้อประโยชน์ต่อราชการ แน่นอนว่ากลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กว้างขวาง และน่าจะเป็นแนวคิดที่ทำได้ยาก ส่วนข้อเสนอที่กำลังจะหยิบมาเสนอต่อบอร์ดบริหารแท็บเล็ตในศักราชใหม่เพื่อดำเนินการในปีที่ 3 มี 4 รูปแบบ ภายใต้เงื่อนไขว่าสเปกแท็บเล็ตต้องกำหนดร่วมกันด้วยคือ 1.ให้แต่ละหน่วยงานไปซื้อเอง 2.ให้แต่ละหน่วยงานไปซื้อเองแต่อาจรวมกันซื้อได้ เช่น กรมการศาสนาซื้อรวมกับ ร.ร.ตำรวจตระเวนชายแดน เป็นต้น 3.ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเททศและการสื่อสาร หรือ ไอซีทีไปจัดซื้อเหมือนในปีแรก (ปีการศึกษา 2555) และ 4. สพฐ.รับเป็นเจ้าภาพทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม สพฐ.เห็นรูปแบบที่ 1 และ 2 น่าสนใจเพราะมีข้อดีคือจัดซื้อได้เร็วในบางหน่วยงานและสามารถซ่อมบำรุงในรายย่อยๆ ได้ง่ายกว่าและไม่ติดขัด ซึ่งมองคร่าว ๆ น่าจะดีเพราะดูตัวอย่างที่เห็นในเวลานี้ หาก สพฐ.อยากจะเลือกรูปแบบสุดท้าย ก็หวั่นใจและคาดว่าอาจจะเข้าอีหรอบเดิม
ลาขาดปีนี้แล้ว ไม่ว่าจะเลือกซื้อรูปแบบใดก็เป็นเรื่องในปีหน้า ที่แน่ๆ ปีนี้เกือบจะเข้าสู่ครึ่งเทอมของภาคเรียนที่ 2/2556 เด็กนักเรียนก็ยังไม่มีแท็บเล็ตมาเรียนตามที่ประกาศไว้ และอาจจะไม่มีใช้เรียน...จนจบปีการศึกษา!
ขอบคุณ : http://www.manager.co.th
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น