'จำนำข้าว'ฝืนเดินหน้าหายนะการคลังอยู่แค่เอื้อม
"รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบต่อการดำเนินโครงการจำนำข้าวที่สร้างความเสียหายต่อประเทศ ซึ่งที่สุดแล้วจะถือเป็นการฆ่าตัวตายทางการเมืองและประชาชนเองก็จะเรียนรู้ถึงความทุกข์จากนโยบายที่ฉาบฉวยนี้" นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) "ขอให้นายกรัฐมนตรีทบทวนเรื่องจำนำข้าวอย่างจริงจัง เพราะยังไม่สายเกินไปที่จะยกเลิกวิธีการรับจำนำ เพื่อจะได้ชื่อว่าทำงานสมตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ดูแลป้องกันไม่ให้งบประมาณแผ่นดินต้องสูญเสียมากเกินความจำเป็น" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง "คงถึงเวลาที่รัฐบาลต้องทบทวนโครงการรับจำนำข้าว เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถบริหารจัดการกับความเสี่ยงได้ โดยเฉพาะการทุจริตในโครงการ และการดูแลรักษาคุณภาพข้าวในสต็อก อีกทั้งการใช้งบประมาณในโครงการจำนวนมาก อาจกระทบต่อฐานะทางการคลังของรัฐบาลในอนาคต" นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง "รัฐบาลจะเผชิญกับภาวะการขาดทุนจากโครงการรับจำนำมากขึ้น หากไม่ลดราคารับจำนำ และหากนโยบายนี้ยังถูกใช้ในปีต่อๆ ไป จะต้องใช้เงินปีละประมาณ 3 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลบริหารประเทศนี้อีก 2 ปี ก็จะใช้เงินในโครงการรับจำนำข้าวมากกว่า 1 ล้านล้านบาท" นายสมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ เหล่านี้เป็นเพียงเสียงสะท้อนบางส่วน ที่มีออกมาจากเกือบทุกภาคส่วนต่อโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" นับตั้งแต่ประกาศนโยบายเมื่อครั้งหาเสียงเลือกตั้งใน 2 ปีก่อน โดยเฉพาะเงื่อนไข "รับจำนำข้าวทุกเม็ด" ในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดเกือบเท่าตัว หรือตันละ 15,000 บาท เพื่อซื้อใจชาวนา เพราะต่างมองเห็นถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โครงการรับจำนำข้าว ผ่านมา 2 ปีแล้ว ถือว่าได้สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล และขยายผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างน่าวิตก นักวิชาการ วงการสื่อและภาคประชาสังคมอีกหลายส่วนต่างแนะนำ ตักเตือนให้ทบทวนด้วยเสียงอันดังและได้ยินกันทั่ว แต่มีเพียงรัฐบาลเท่านั้นที่เมินเฉย และเลือกเดินหน้าโครงการเต็มสูบ โดยไม่สนใจถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น หรือแก้ไขในสิ่งที่เป็นปลายเหตุของปัญหา จนถึงขณะนี้มีการใช้เงินในโครงการรับจำนำข้าวไปแล้วถึง 6.8 แสนล้านบาท และความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่น่าจะน้อยกว่า 50% ของเม็ดเงินที่ลงไป ทั้งนี้ หัวใจของปัญหาในขณะนี้นอกจากรั่วไหลในกระบวนการรับจำนำแล้ว ปัญหาการระบายข้าวก็ดูจะเป็น "โจทย์ใหญ่" เพราะเมื่อรัฐบาลเลือกที่จะจำนำทุกเม็ด ปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาอยู่ในกลไกของการซื้อขาย ทำให้เหลือรัฐบาลผูกขาดรายเดียว ขณะที่ศักยภาพในการระบาย หรือขายข้าวออกไป ย่อมดำเนินการได้ยากกว่าเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญในการทำตลาดมานับร้อยปี ทำให้รัฐบาลต้องแบกภาระสต็อกมหาศาล เมื่อระบายออกยาก จึงส่งผลต่อคุณภาพของข้าว สร้างความเสียหายทั้งเม็ดเงินและภาพลักษณ์คุณภาพไทยในตลาดโลก สะท้อนได้จากการที่ประเทศไทยถูกล้มแชมป์ในการเป็นผู้ส่งออกข้าวเบอร์หนึ่งของโลกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ตามมาจากปัญหาการระบายข้าวขณะนี้คือ รัฐบาลไม่มีเงินเพียงพอที่จะจ่ายให้ชาวนาในโครงการรับจำนำฤดูการผลิตปี 2556/2557 โดยรัฐบาลได้ตั้งวงเงินที่ใช้ในโครงการรับจำนำข้าวตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดไว้ไม่ให้เกิน 5 แสนล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันรัฐบาลใช้เงินไปในโครงการนี้แล้วกว่า 6.8 แสนล้านบาท และไม่สามารถส่งคืนเงินให้กระทรวงการคลัง เพื่อให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นำมาใช้หมุนเวียนในโครงการรอบใหม่ จึงเป็นปัญหาให้การจ่ายเงินในโครงการฤดูการผลิตปี 2556/2557 แก่ชาวนาล่าช้าไปมากถึง 3 เดือน และมีชาวนาอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับเงินในการนำไปประทวนไปขึ้นเงินกับ ธ.ก.ส. จนต้องออกมาขู่ที่จะรวมตัวประท้วงหากในสิ้นปีนี้รัฐบาลยังไม่สามารถจ่ายเงินค่าข้าวได้ จากข้อมูลจากคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ระบุว่า ปัจจุบันมีใบประทวนจำนำข้าวเปลือกปี 2556/2557 ที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ออกให้เกษตรกร และยังไม่สามารถนำมาขึ้นเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ไม่ต่ำกว่า 1.15 แสนล้านบาท แบ่งเป็นใบประทวนที่ อคส. ออกไปประมาณ 1.04 แสนล้านบาท ผลผลิตข้าว 6.3 ล้านตัน และอ.ต.ก.ประมาณ 1.58 หมื่นล้านบาท ผลผลิตข้าว 0.97 ล้านตัน รวมผลผลิตที่รับจำนำไปแล้ว 7.3 ล้านตัน "เหตุผลที่ยังไม่จ่ายเงิน เพราะ ธ.ก.ส.ยังไม่ได้รับอนุมัติจาก กขช.ให้ดำเนินการ เนื่องจากหากอนุมัติตามใบประทวนจะทำให้วงเงินที่ใช้ดำเนินการในโครงการรวมทั้งหมดเกินกรอบวงเงินที่ ครม.อนุมัติไว้ไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้ก็เกินกรอบวงเงินดังกล่าวมาเกือบ 2 แสนล้านบาทแล้ว" รายงานข่าวระบุ ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องมอบหมายให้กระทรวงการคลังไปดำเนินการควบคุมการออกใบประทวนจำนำข้าวไม่ให้เกินกรอบวงเงินที่เคยอนุมัติไว้ เพราะที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์มักเสนอขอขยายกรอบวงเงินเพิ่มภายหลังตลอด ซึ่งนางเบญจา หลุยส์เจริญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้เรียกหน่วยงานเกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำมาประชุมนอกรอบที่กรมศุลกากร เพื่อกำชับไม่ให้มีการรับจำนำและออกใบประทวนเกินกว่ากรอบที่ ครม.เคยอนุมัติไป นอกเหนือจากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ประเด็นที่น่าจับตาอย่างมากก็คือ โครงการรับจำนำข้าวที่เดินหน้ามาแล้วเป็นเวลา 2 ปี แต่ตัวเลขผลขาดทุนจากโครงการก็ยังไม่มีการเปิดเผย เนื่องจากยังไม่สามารถปิดบัญชีได้ จึงยังไม่มีข้อสรุปที่เป็นทางการว่า ในแต่ละฤดูการผลิตโครงการมีผลขาดทุนเท่าไหร่ และการประเมินเบื้องต้นของกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งนักวิชาการ ก็ยังไม่ตรงกัน ด้วยฐานการคิดบางรายการที่ยังแตกต่างกัน บ้างก็ประเมินว่าจะมีผลขาดทุนสูงถึง 4 แสนล้านบาท หรือปีละ 2 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังมีตัวเลขที่ไม่เกี่ยวกับการตีราคาและการระบายข้าวสำหรับโครงการรับจำนำคือ กระแสข่าวว่ามีข้าวหายไปจากโกดังของรัฐ เพราะขณะนี้คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวของกระทรวงการคลังก็ยังไม่สามารถปิดบัญชีได้ เนื่องจากต้องรอตัวเลขจากกระทรวงพาณิชย์ชี้แจงกรณีข้าวหาย ทำให้การปิดบัญชีต้องค้างคามานาน ทั้งๆ ที่สิ้นสุดฤดูกาลผลิตที่แล้วไปนาน การไม่ยอมแจ้งข้อมูลดังกล่าวทำให้เกิดข้อสงสัยว่ามีปัญหาบางอย่าง หากใช้สามัญสำนึกมองเรื่องการปิดบัญชีก็ยังไม่เห็นคำตอบที่น่าพอใจว่า เหตุใดการปิดบัญชีมีความล่าช้าอย่างมาก เพราะเพียงแค่มีการตรวจสอบและส่งข้อมูลทั้งหมดมาให้คณะอนุกรรมการก็น่าจะปิดบัญชีได้ การปิดบัญชีล่าช้าทำให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นว่า มีข้าวจำนวนหนึ่งที่หายไปจากโกดังจริง และอาจเป็นประเด็นที่ตอบสังคมยากยิ่งกว่าการขาดทุนจากการเสื่อมสภาพของข้าว หรือการระบายข้าวขาดทุน เพราะกรณีเสื่อมสภาพและขายขาดทุนนั้น เป็นเรื่องที่ประเมินกันได้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ว่า หากรัฐบาลเก็บสต็อกข้าวไว้จำนวนมหาศาล โดยไม่สามารถขายข้าวได้ตามราคาที่ต้องการ รัฐบาลจะต้องประสบปัญหาการขาดทุนอย่างไม่ต้องสงสัยใดๆ เพียงแต่ตัวเลขจริงที่ออกมานั้นจะขาดทุนระดับหมื่นล้านหรือแสนล้านเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากเป็นเรื่องของข้าวหายไปจากสต็อกถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มากกว่าการขาดทุนจากโครงการรับจำนำราคาสูงกว่าราคาตลาด เพราะข้าวหายไปจากโกดังก็หมายถึงว่า มีการทุจริตเกิดขึ้นกับโครงการของรัฐบาล และจนบัดนี้ก็ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลทำได้แค่สร้างภาพให้เห็นว่ามีการตรวจสอบกันอย่างรัดกุมและไม่มีการทุจริตในโครงการนี้อย่างที่กล่าวหากัน คำถามก็คือ เหตุใดรัฐบาลจึงตรวจสอบข้าวหายล่าช้ามาก ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เรื่องยากเลยหากรัฐบาลดำเนินโครงการนี้โปร่งใสอย่างที่พยายามแสดงให้ประชาชนเห็น ต้องยอมรับว่า รัฐบาลได้เดินมาถึงทางตันของนโยบายรับจำนำแล้ว แต่ปัญหาคือ จะยอมรับความจริงหรือไม่ ว่า โครงการนี้ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ด้วยระดับราคาและกลไกการทำงานแบบเดิม จึงเป็นจุดที่ต้องตัดสินใจครั้งใหญ่ระหว่างการสร้างความนิยมทางการเมืองกับภาระการเงินการคลังของประเทศที่ต้องจ่ายชดเชยให้เกษตรกรทั่วประเทศ หากรัฐบาลเลือกทางแรก หายนะทางการคลังก็อยู่แค่เอื้อม ขอบคุณ : http://www.komchadluek.net |
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น