ใกล้ถึงเวลา'เดดล็อก'แล้ว
8 จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ กำลังสร้างปัญหาใหญ่ให้แก่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และไม่มีทีท่าว่า ผู้ที่คัดค้านการเลือกตั้งนั้นจะเลิกรา
ภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต.ก็ยอมรับว่า การย้ายสถานที่สมัครรับเลือกตั้งไม่ใช่หนทางในการแก้ปัญหาที่ดี เพราะไม่สามารถป้องกันการเดินทางไปปิดกั้นสถานที่รับสมัครของผู้ชุมนุมได้
สุราษฎร์ธานี สงขลา ชุมพร นครศรีธรรมราช กระบี่ พัทลุง ตรัง และภูเก็ต
แน่นอนว่า 8 จังหวัดภาคใต้นั้น คือฐานเสียงใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งประกาศไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ตามแนวทางของ กปปส. ซึ่งจะนัดชุมนุมไล่รัฐบาล และเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมืองก่อนการเลือกตั้ง
ยิ่งใกล้วันสิ้นสุดการรับสมัคร แนวโน้มที่จะเกิดความรุนแรงก็ยิ่งมากขึ้น เพราะหากสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ นั่นก็จะทำให้สถานการณ์ไปสู่จุดที่เดินหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ได้
เพราะไม่มีกฎหมายข้อใดระบุให้เป็นแนวทางปฏิบัติแก่ กกต.
แม้ว่า เมื่อถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 จะมีการเลือกตั้งกันจริง แต่จำนวน ส.ส.ก็จะไม่ถึง 95% ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ถ้าไม่ถึงก็เปิดประชุมสภาไม่ได้ นั่นก็หมายความว่า การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ก็ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน เพราะการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้นจะต้องอาศัยเสียงในที่ประชุมสภา
เดดล็อก !
ถึงแม้ สดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการ กกต.จะบอกว่า ให้ กกต.เตรียมทำเรื่องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอเรื่องต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยโดยเร็วว่า กฎหมายมีปัญหาและชี้แนวทางเพื่อแก้ไขปัญหา
ก็ต้องใช้เวลาในการพิจารณาอยู่ดี ทำไปทำมามันจะเหมือนกับภาษิตที่ว่า "กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้"
ในขณะที่สถานการณ์การเมืองทั้งที่หน้าสถานที่สมัครรับเลือกตั้ง และที่ถนนราชดำเนิน ที่นับวันความรุนแรงจะเกิดขึ้น เพียงแต่เวลานี้ผู้ชุมนุมยังไม่ใช้อาวุธตอบโต้การกระทำรุนแรงที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง แต่ทุกคนต่างก็มองเห็น "ความเป็นไปได้" ที่การตอบโต้ของกลุ่มผู้ชุมนุมจะเกิดขึ้น
ถึงแม้ สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ฝ่ายกิจการบริหารงานเลือกตั้ง จะลงทุนลงแรงบากหน้าไปคุยกับแกนนำพรรคเพื่อไทย เพื่อให้ช่วยหาทางออก ก่อนที่ปัญหามันจะบานปลายไปกว่านี้ แต่ก็ยังคงมีโอกาสที่จะสำเร็จน้อย
เพราะการพูดคุยกันนั้น กกต.เหมือนกับจะไปรับฟังข้อเสนอ ไปทำหน้าที่เป็นนายไปรษณีย์ เพื่อนำสารไปบอกกล่าวกับ กปปส. แล้วก็คงจะถามว่า "อย่างนี้รับได้หรือไม่"
ฟังดูแล้วมันก็ขัดๆ กับความรู้สึกพอควร เพราะก่อนหน้านี้ ข้างฝ่าย กปปส.ต่างหากที่เป็นฝ่ายยื่นเงื่อนไขให้รัฐบาล จนกระทั่ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตัดสินใจยุบสภา เพราะเชื่อว่า นี่จะเป็นทางออก
แต่ทางออกของรัฐบาลกลับเป็นทางที่ กปปส.มองเห็นปลายทางอยู่แล้วว่า ฝ่ายรัฐบาลได้ประโยชน์และน่าจะหวนกลับมาครองอำนาจอีกครั้ง โดยที่ผู้มาชุมนุมเรียกร้องปฏิรูปการเมืองคว้าได้แต่ลม
เงื่อนไขของผู้ชุมนุมจึงยังคงพุ่งเป้าไปที่ตัวยิ่งลักษณ์ ให้ลาออกจากตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี จากนั้นจะตั้งสภาประชาชนเพื่อปฏิรูปการเมืองกันใหม่ จะแก้ไขกฎหมาย แก้รัฐธรรมนูญ หรืออะไรก็ว่าไป
ส่วนการเลือกตั้งนั้นจะมีขึ้นเมื่อใดเป็นเรื่องที่ค่อยไปว่ากันภายหลังการปฏิรูปการเมืองเสร็จสิ้นลงไปแล้ว
แต่ความหวังดีของ กกต.ที่รับหน้าเสื่อเป็นหนังหน้าไปในครั้งนี้ ก็คงไม่มีใครตำหนิติเตียน เพราะทุกฝ่ายต่างก็มองหน้ากันเลิ่กลั่กทุกครั้งที่ถามหา "คนกลาง" ในบ้านนี้เมืองนี้มาไกล่เกลี่ยปัญหาความขัดแย้ง
แต่ดูเหมือนว่า กกต.เองก็รู้ตัวเหมือนกันว่า "โอกาส" ที่จะสำเร็จนั้น เป็นไปได้ยากมาก จึงตระเตรียมตัดสินใจกันเอาไว้แล้ว ซึ่งก็คงจะไม่หนีไปกว่าที่ทุกคนคาดเดากันเอาไว้แล้ว ก็คือ "ลาออก" ปล่อยปัญหาให้เปลี่ยนไปอยู่ในมือคนอื่น
แน่นอน คงจะยากที่จะหาใครมารับมอบปัญหาบ้านเมืองที่กำลังวิกฤติ ยกเว้นว่า คนผู้นั้นถูกกำหนดชะตากรรมเอาไว้ตั้งแต่แรกที่ขึ้นรับตำแหน่งแล้ว
ขอบคุณ : http://www.komchadluek.net
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น