บทเรียนจาก "บราซิลโมเดล" สู่ทางออก "ปฏิรูปการศึกษาไทย"
หลายครั้งหลายหน เรามักจะได้ยินเสียงพร่ำบ่นกันเสมอว่า “การศึกษาไทยไร้คุณภาพ” เช่นล่าสุดกับกรณีการจัดอันดับต่างๆ ใน 148 ประเทศ ของ World Economic Forum (WEF) ที่ระบุว่าคุณภาพการศึกษาไทยอยู่อันดับ 8 ของอาเซียน และแม้ว่าภายหลังจะมีนักวิชาการออกมาเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง ว่าจริงๆ แล้วไทยนั้นอยู่ในอันดับ 4 ของอาเซียน (อันดับ 37 ของโลก จาก 148 ประเทศ) แต่ก็ถือว่าไม่น่าพอใจนัก ในฐานะที่ไทยนั้นเคยเป็นประเทศชั้นนำที่ใครๆ ก็มาดูงาน แต่ ณ วันนี้ ประเทศเหล่านั้นกลับแซงเราไปอย่างไม่เห็นฝุ่น
ที่ผ่านมา นักการศึกษาของไทยพยายามนำรูปแบบของประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งฟากตะวันตกและฝั่งตะวันออกมาปรับปรุงระบบการศึกษาของไทย แต่กลับกลายเป็นว่ายิ่งทำก็ยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ ซึ่งสาเหตุอย่างหนึ่งที่มีผู้วิเคราะห์ไว้คือตัวอย่างจากประเทศเหล่านั้นไม่สามารถใช้กับประเทศไทยได้ เนื่องด้วยบุคลิกภาพ นิสัยใจคอคนไทย ตลอดจนบริบททางเศรษฐกิจและสังคมของเราไม่สอดรับกับระบบของเขา ดังนั้นจึงได้ข้อสรุปว่า..เราอาจจะต้องมองหาประเทศอื่นๆ ที่มีรูปแบบคล้ายกับบ้านเรา และประสบความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษาเพื่อนำมาเป็นบทเรียน
ที่งานเสวนา “เวทีปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 22 : การปฏิรูปการศึกษา กรณีตัวอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ”จัดโดยกลุ่มเพื่อนปฏิรูป ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) มีการยกตัวอย่าง 1 เมืองกับอีก 1 ประเทศ ที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการศึกษา คือนครเซี่ยงไฮ้ ของสาธารณรัฐประชาชนจีน กับประเทศบราซิล
อย่างไรก็ตาม มีผู้มองว่าวัฒนธรรม ค่านิยมของไทยกับจีนค่อนข้างจะต่างกันพอสมควร ดังนั้นเราจึงขอเน้นไปที่ “บราซิลโมเดล” ที่น่าจะใกล้เคียงกับเรามากกว่า เนื่องจากผู้ที่เคยพบปะพูดคุย เดินทางไปอยู่อาศัย หรือมีเพื่อนฝูงเป็นคนบราซิล มักจะกล่าวว่า ชาวบราซิลเป็นคนสนุกสนาน ชอบงานสังสรรค์รื่นเริง ร้องรำทำเพลง และมีอัธยาศัยดี ซึ่งก็ไม่ต่างจากชาวไทยสักเท่าไรนัก
รายงานฉบับเต็มของ WEF ระบุว่า ในปี 2012 บราซิลมีประชากร 196.7 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทยมีประชากร 69.6 ล้านคน เมื่อดูตัวชี้วัดว่าด้วยสวัสดิภาพชีวิตพื้นฐานอย่างการศึกษาภาคบังคับและสาธารณสุข หรือ Health and Primary Education ไทยอยู่ในอันดับ 81 ขณะที่บราซิลอยู่ในอันดับที่ 89 ส่วนตัวชี้วัดด้านการเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรมในชั้นสูง (มหาวิทยาลัย) หรือ Higher Education and Training ไทยอยู่อันดับที่ 66 ขณะที่บราซิลอยู่ในอันดับที่ 72
ดูผิวเผิน ประเทศไทยนำบราซิลอยู่พอสมควรในด้านการศึกษา แต่เมื่อเราเปลี่ยนมาดูการทดสอบในโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (Programme for International Student. Assessment-PISA) จะพบปัญหาอย่างชัดเจน โดยการทดสอบ PISA หนแรกเมื่อปี 2543 ด้านความเข้าใจจากการอ่าน (Reading) ไทยได้ 431 คะแนน บราซิลได้ 396 คะแนน ด้านความรู้ทางคณิตศาสตร์ (Math) ไทยได้ 432 คะแนน บราซิลได้ 356 คะแนน ส่วนด้านทักษะทางวิทยาศาสตร์ (Science) ไทยได้ 436 คะแนน บราซิลได้ 390 คะแนน
แต่ 9 ปีต่อมา ในการทดสอบ PISA เมื่อปี 2552 ด้านความเข้าใจจากการอ่าน (Reading) ไทยได้ 421 คะแนน บราซิลได้ 412 คะแนน (ไทยลดลง 10 คะแนน ส่วนบราซิลเพิ่มขึ้น 12 คะแนน) ด้านความรู้ทางคณิตศาสตร์ (Math) ไทยได้ 419 คะแนน บราซิลได้ 386 คะแนน (ไทยลดลง 13 คะแนน ส่วนบราซิลเพิ่มขึ้น 30 คะแนน) และด้านทักษะทางวิทยาศาสตร์ (Science) ไทยได้ 425 คะแนน บราซิลได้ 405 คะแนน (ไทยลดลง 11 คะแนน ส่วนบราซิลเพิ่มขึ้น 15 คะแนน)
เห็นได้ชัดว่าบราซิลมีพัฒนาการของระบบการศึกษาที่ดีขึ้น ตรงกันข้ามกับประเทศไทยที่คุณภาพการศึกษากลับตกต่ำลง คำถามคือ..อะไรเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากแห่งหนึ่งของโลก ค่อยๆ มีแนวโน้มดีขึ้นเช่นนี้?
คำตอบคือ “เงินอุดหนุน” หรืองบประมาณอัดฉีดจากภาครัฐจำนวนมหาศาลที่ใส่ลงไปในภาคส่วนต่างๆ ของการศึกษา ซึ่งก็เป็นวิธีการเดียวกับที่ประเทศไทยใช้ หากแต่สิ่งที่ทำให้ผลลัพธ์ออกมาต่างกัน คือ “วิธีคิด” อันหมายถึงรูปแบบวิธีบริหารจัดการ ที่บราซิลใช้ โดยแบ่งเป็น 3 เสาหลัก ดังนี้
1.มุ่งเน้นเฝ้าระวังเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยง สังคมของบราซิลนั้นเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ผู้ที่ไปเยือนสามารถเห็นชุมชนแออัดเกิดขึ้นได้ทั่วไป ซึ่งผู้คนในพื้นที่เหล่านี้มีฐานะยากจน ไม่สามารถส่งบุตรหลานเข้าศึกษาได้เต็มที่ แน่นอนว่าเมื่อไม่ได้รับการศึกษา โอกาสในชีวิตก็น้อยลง ผลคือมักจะกลายเป็นอาชญากร ประกอบอาชีพต่างๆ ที่ผิดกฎหมายได้
ทั้งนี้บราซิลเป็นประเทศที่มีคดีอาชญากรรมสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เนื่องจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้นทางการบราซิลจึงเฝ้าระวังเด็กกลุ่มนี้เป็นพิเศษ มีระบบติดตามเก็บข้อมูลการเข้าเรียน-ขาดเรียน ร่วมกับโรงเรียนในท้องที่ เพื่อหาทางสนับสนุนให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานจนครบหลักสูตร
2.ให้ความสำคัญกับครูในพื้นที่ยากลำบาก กล่าวคือ มีการให้เบี้ยเลี้ยง ค่าครองชีพ หรือสวัสดิการพิเศษต่างๆ แก่ครูที่ต้องทำงานในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉลี่ยแล้วรัฐบาลบราซิลจะเพิ่มรายได้ให้ครูในพื้นที่เหล่านี้ ตั้งแต่ร้อยละ 10 ถึงร้อยละ 60 ตามความยากง่ายของปัญหาในแต่ละพื้นที่ ยิ่งเป็นจุดที่มีอุปสรรคมาก ค่าตอบแทนก็จะยิ่งสูงมากไปด้วย เป็นการจูงใจให้ผู้มีความรู้ความสามารถ เลือกที่จะไปทำงานในพื้นที่เหล่านี้ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เท่าเทียมกันทั้งประเทศ
3.อุดหนุนครอบครัวของเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยง บราซิลนั้นมีปัญหาที่ไม่ต่างจากไทย คือครอบครัวระดับรากหญ้า มักจะให้บุตรหลานออกจากโรงเรียนกลางคัน เพื่อให้ไปทำงานหารายได้เลี้ยงครอบครัว เช่น ไปช่วยพ่อแม่ทำการเกษตรบ้าง หรือส่งเข้าทำงานในโรงงานบ้าง ยิ่งหากเป็นครอบครัวที่มีลูกหลายคนก็จะแทบจะหมดโอกาสที่จะได้เรียนในระดับสูงๆ เพราะต้องส่งน้องเรียน เป็นต้น ดังนั้นรัฐบาลบราซิลจึงจัดงบอุดหนุนให้ผู้ปกครองกลุ่มนี้ เพื่อให้ไม่ต้องดึงเด็กออกจากโรงเรียน ทำให้เด็กแต่ละคนสามารถศึกษาเล่าเรียน เท่าที่ศักยภาพของเขาจะเป็นไปได้
แม้โครงการนี้เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2543 ภายหลังที่ผลการสอบ PISA ชี้ว่าการศึกษาของบราซิลเข้าขั้นวิกฤติ แต่ก็พบว่ามันได้ผลอย่างน่าพอใจ โดยนอกจากเสาหลัก 3 ประการข้างต้นแล้ว ยังมีนโยบายอื่นๆ ที่สนับสนุนกระแสขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา เช่นการกำหนดให้โรงเรียนชั้นนำ มีหน้าที่ต้องเข้าไปเป็นพี่เลี้ยง ดูแลโรงเรียนที่ด้อยคุณภาพให้พัฒนาขึ้นมาทัดเทียมกัน
หรือการกระจายอำนาจให้โรงเรียนแต่ละแห่งสามารถประยุกต์หลักสูตร กลยุทธ์การสอนได้เอง ภาครัฐเพียงแต่ดูแลให้เป็นไปตามกรอบนโยบายหลักของชาติเท่านั้น แต่จะไม่เข้าไปก้าวก่ายควบคุมทุกเรื่อง เพราะเชื่อว่าแต่ละพื้นที่มีสภาพแวดล้อมและบริบทสังคมที่ต่างกันดังนั้นวิธีการแก้ไขปัญหาจึงต้องแตกต่างกันไปด้วย
เป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะทั้งบราซิลและไทย แม้จะอยู่ห่างไกลกันคนละทวีป แต่ก็มีอะไรหลายอย่างคล้ายๆ กัน ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องหากไม่รู้จะใช้ตัวแบบไหน ก็น่าจะลอง “บราซิลโมเดล” ดูบ้าง
หมายเหตุ : ผู้ที่สนใจรายงานของ World Economic Forum ฉบับ 2013 นี้ สามารถอ่านฉบับเต็มได้ที่ http://www3.weforum.org/docs/WEF_GlobalCompetitivenessReport_2013-14.pdf
ขอบคุณ : http://www.naewna.com
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น