ทางเลือกธุรกิจหใม่ "กิจการเพื่อสังคม" ความหวังสร้างจุดเปลี่ยนให้ประเทศ!?
ปัญหาที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ ส่วนหนึ่งเกิดจากความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่นำไปสู่ความขัดแย้งในรูปแบบต่าง ๆ แต่ กิจการเพื่อสังคม หรือธุรกิจเพื่อสังคม นับเป็นกระบวนการหนึ่งที่ช่วยทำให้ความเหลื่อมล้ำของคนในชาติลดลงได้?
จากงานสัมมนาวิชาการนานาชาติเรื่อง “กำไร ความหวัง สังคม ความท้าทายใหม่ของธุรกิจเพื่อสังคม” จัดโดย คณะสังคมศาสตร์ และศูนย์บริการวิชาการแก่ชุมชน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เพื่อให้สังคมไทยหันมาให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องของกิจการเพื่อสังคม ซึ่งจะทำให้สังคมอยู่รอดและแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ด้วยวิธีการคิดที่ว่า ประชาชนต้องช่วยเหลือตัวเองมากกว่าจะรอการแก้ปัญหาจากรัฐบาล
กิจการเพื่อสังคมหรือธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) อาจเป็นคำที่ไม่คุ้นเคยกันมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับคำว่า ธุรกิจกับความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ Corporate Social Responsibility (CSR) ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่ายังมีเป้าหมาย คือ “กำไรสูงสุด”
แต่ขณะเดียวกันเจ้าของธุรกิจบางคนกลับให้ความสนใจช่วยเหลือสังคม จึงแบ่งสันปันกำไรบางส่วนไปช่วยเหลือสังคมในด้านต่าง ๆ อาทิ เงินช่วยเหลือจ้างแรงงานในพื้นที่ ที่เรียกว่า กิจการเพื่อสังคม ซึ่งก็คือ กิจการที่มีรายรับจากการขาย จากการผลิตสินค้า และการให้บริการ ที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป้าหมายอย่างชัดเจนตั้งแต่แรกเริ่ม หรือมีการกำหนดเพิ่มเติม รวมทั้ง มีการปรับเปลี่ยนเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก โดยไม่ได้มีเป้าหมายในการสร้างกำไรสูงสุดต่อผู้ถือหุ้นและเจ้าของเท่านั้น
ลักษณะพิเศษของกิจการเพื่อสังคม จะมีกระบวนการผลิต การดำเนินกิจการ ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เน้นไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อเนื่องในระยะยาวต่อสังคม สุขภาวะและสิ่งแวดล้อม มีความเป็นธรรม การเอื้อเฟื้อแบ่งปัน รวมทั้งมีการกระจายข้อมูลข่าวสาร ความรู้และวิทยาการในมวลหมู่สมาชิก รวมถึงเป็นธุรกิจที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเป็นส่วนประกอบในการลดต้นทุนการผลิตและใช้ทรัพยากรการผลิตต่าง ๆ ให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสังคมเป็นหลัก ซึ่งผลกำไรที่เพิ่มเกินขึ้นมาจะนำไปลงทุนเพื่อช่วยเหลือสังคมมากกว่าจะเป็นการทำกำไรสูงสุดขององค์การ
นอกจากนี้ยังมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีภายใต้หลักจริยธรรม และมีแนวทางการหารายได้ด้วยตนเองเพื่อหล่อเลี้ยงการดำเนินงานอย่างยั่งยืน โดยที่มาของรายได้สามารถอยู่ในรูปแบบการขายผลิตภัณฑ์หรือบริการ การระดมทุนโดยให้ผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุน จนถึงการขอรับบริจาคหรือการสนับสนุนทางการเงินแบบให้เปล่าเหมือนองค์การสาธารณประโยชน์ รวมทั้งมีการดำเนินงานโดยอาศัยความร่วมมืออย่างกว้างขวาง เพื่อใช้ศักยภาพเฉพาะทางของหน่วยงานต่าง ๆ ในเครือข่ายเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน โดยเน้นการใช้นวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหา นั่นคือ การคิดค้นวิธีการใหม่ ๆ ที่สามารถแก้ปัญหาที่เป็นเป้าหมายของการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผล ยั่งยืน และสามารถต่อยอดผลลัพธ์ได้ ซึ่งมีหลายแห่งทำสำเร็จมาแล้ว เช่น ที่ มหาวิทยาลัยนอร์ทแธมป์ตัน สหราชอาณาจักร จัดทำเป็นโลจิสติกส์ ทำแพ็กเกจเกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์ โดยให้คนกลุ่มที่เคยติดคุกมาทำเฟอร์นิเจอร์ ทำให้จากสถิติคนที่ 1 ปี ออกมาจากคุกแล้วกลับเข้าไปอีกมีเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ เปลี่ยนเป็นคนกลับเข้าไปในเรือนจำเหลือเพียง 5 เปอร์เซ็นต์
ในขณะที่ มูลนิธิฉื้อจี้ในประเทศไต้หวัน ใช้ศาสนาเข้ามาขับเคลื่อนให้เกิดอาสาสมัครและขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคม ส่วนในบังกลาเทศมีกิจการเพื่อสังคมโดยให้เงินกู้ขนาดย่อมสำหรับแม่บ้านเพื่อลงทุนสร้างกิจการของตนเอง จัดทำโดยธนาคารกรามีนของมูฮัมหมัด ยูนูส
ในส่วนภูมิภาคเอเชีย ประเทศสิงคโปร์ มีการจัดตั้งกองทุน Social Enterprise ซึ่งเป็นผู้ให้เงินทุนสนับสนุนเริ่มต้นสำหรับกิจการเพื่อสังคม และยังมีการจัดตั้งคณะกรรมการ Social Enterprise Committee (SEC) โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นความรับผิดชอบทางสังคมของธุรกิจ สร้างกิจการเพื่อสังคมที่มีความชำนาญด้านสิ่งแวดล้อม และสร้างวัฒนธรรมของการเป็นผู้ประกอบการด้านสังคม สำหรับประเทศไทย รัฐบาลมีการตั้งคณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม และกำลังเร่งจัดทำแผนแม่บทสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมอยู่
กิจการเพื่อสังคมในประเทศไทยนั้น มีมานานแล้ว แต่ส่วนมากจะอยู่ในรูปแบบของสหกรณ์ หรืออยู่ในรูปของการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาค โดยแต่ละองค์กรต่างมีเป้าหมายในการทำงานเพื่อตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นตามบริบทในท้องถิ่นของตนเอง รวมทั้ง เพื่อการบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมร่วมกัน ดังนั้น กิจการเพื่อสังคมจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เข้าใจได้ยากสำหรับคนไทย หากแต่เป็นการเรียกลักษณะการประกอบการให้มีเนื้อหาที่กว้างขึ้นจากเดิม โดยครอบคลุมการประกอบการจากบุคคลทั่วไปที่มีจุดมุ่งหมายในการทำธุรกิจที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อสร้างความรู้สึกถึงการมีความรับผิดชอบต่อสังคมที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการทำให้สังคมโดยรวมดีขึ้นได้
การทำธุรกิจเพื่อสังคมในระดับภูมิภาคจะเน้นไปตามพื้นที่อยู่อาศัยและในเชิงวัฒนธรรม โดยใน ภาคเหนือ จะเป็นการรวมกลุ่มเพื่อทำธุรกิจชุมชนส่วนมากจะเน้นที่การรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางสังคมและชนกลุ่มน้อย ซึ่งจะถ่ายทอดผ่านงานหัตถกรรม ส่วนใน ภาคใต้ จะเน้นทางด้านสิ่งแวดล้อม เห็นได้จากการอนุรักษ์ธรรมชาติทั้งชายทะเลและปะการัง เนื่องจากธรรมชาติของภาคใต้ส่วนใหญ่จะเป็นทะเล
ด้าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากปัญหาพื้นที่แห้งแล้ง และการขาดความรู้ด้านการเกษตรที่ดีพอ จึงมีการทำธุรกิจที่เกี่ยวกับเกษตรกรรม เช่น เกษตรพอเพียง เกษตรชีวภาพ โดยมุ่งเน้นแก้ปัญหาทางด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก และมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาความยากจนของเกษตกร และเพื่อเพิ่มผลผลิตและความหลากหลายของพืชผลทางการเกษตร
ในขณะที่ ภาคกลาง เป็นพื้นที่ของการทำเกษตรกรรมและความเจริญทางด้านอุตสาหกรรม จึงมีการทำกิจการเพื่อสังคมที่หลากหลาย เช่น การรวมกลุ่มสหกรณ์การเกษตร กลุ่มแม่บ้านในท้องถิ่น แต่ที่น่าสนใจคือ ใน ปัจจุบันเริ่มมีแนวคิดของการสร้างธุรกิจชนิดนี้ในรูปของบุคคลทั่วไปโดยใช้ความรู้ความสามารถเฉพาะทางมากขึ้นทำให้เกิดความหลากหลายของธุรกิจ โดยมีการจัดตั้งองค์กรพัฒนาชุมชนที่ภาคกลางจำนวนมากและมีการกระจายการพัฒนาไปสู่ส่วนภูมิภาค ซึ่งมีแนวคิดหลักเพื่อช่วยสังคมในภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศให้มีการเจริญเติบโตทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อม ๆ กัน
ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า ทางคณะสังคมศาสตร์กำลังจัดตั้งโรงเรียนเพื่อผู้ประกอบการทางสังคม เป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีโอกาสได้เข้าเรียนในโรงเรียนผู้ประกอบการทางสังคม โดยการสอบเข้าเรียนนั้นจะไม่ได้พิจารณาจากเกรดเฉลี่ย แต่จะพิจารณาจากการสัมภาษณ์ แรงบันดาลใจและโครงการที่ผู้เรียนอยากทำเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ทาง มศว จะเป็นคนคัดเลือกผู้เรียนเอง จัดเป็นการสอบตรงประเภทหนึ่ง นอกจากนี้ ยังจะรับผู้สนใจเข้ามาอบรมระยะสั้นในช่วงเวลา 3 เดือนหรือ 6 เดือน จากนั้นจบหลักสูตรก็มีประกาศนียบัตรมอบให้ คาดว่าหลักสูตรทั้งหมดจะสามารถดำเนินการได้ในปี พ.ศ. 2557
“นอกจากนี้ มศว ยังมี วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย ซึ่งเป็นวิทยาลัยที่ใช้แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาดำเนินการเรียนการสอน และให้โอกาสเยาวชนผู้ด้อยโอกาส เช่น ชนเผ่าต่าง ๆ และเยาวชนในชุมชนจังหวัดสระแก้ว จังหวัดตาก ซึ่งเป็นจังหวัดที่ มศว มีพื้นที่บริการชุมชน และยังเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ในเขตชายแดน การให้โอกาสเยาวชนได้เรียนถือเป็นกิจการเพื่อสังคมรูปแบบหนึ่ง ตอนนี้จะขยายผลและมีธุรกิจเพื่อสังคมภายใต้การบริหารจัดการของวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย เพื่อเลี้ยงตัวเองและสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับวิทยาลัยด้วย”
ขณะที่ สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์ทางปัญญา จะขับเคลื่อนงานกิจการเพื่อสังคมที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ตอนนี้ทางสถาบันได้ทำการวิจัยเรื่อง การควบคุมพฤติกรรม จิตใจของมนุษย์ โดยทำการศึกษาเรื่องการควบคุมอาหารของคนอ้วน เพื่อดูการควบคุมพฤติกรรม จิตใจและการหักห้ามใจของคนอ้วน ถือเป็นกิจการเพื่อสังคม เพราะปัจจุบันคนในสังคมมีคนที่หักห้ามใจตัวเองไม่ได้แล้วก็กินจนอ้วน ดังนั้น การคุมอาหารจึงเป็นแนวทางในการช่วยควบคุมพฤติกรรมการกินผลการวิจัยชิ้นนี้ยังนำไปสู่การบอกได้อีกว่าการควบคุมพฤติกรรมมนุษย์และจิตใจนั้นมีความสำคัญต่อการนำพาให้ชีวิตมีความสุข และเป็นชีวิตที่ดีมีคุณภาพได้อย่างไร ซึ่งจะมีงานวิจัยลักษณะนี้ออกมาสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง
ระบบสังคมโลกที่เคลื่อนจากระบบสังคมนิยมเพื่อทุกคนมีความเท่าเทียมกันเข้าสู่ระบบทุนนิยมซึ่งทำให้เกิดความต่างกันมากขึ้นระหว่างคนจนและคนรวย ทุกประเทศต่างค้นหาทางออกในการแก้ปัญหาความยากจนหรือปัญหาสังคมอื่น ๆ คงถึงเวลาแล้วที่ต้องมีทางเลือกใหม่ในการช่วยกันปฏิรูปประเทศ สร้างคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เอาเปรียบคนอื่น เป็นนักธุรกิจที่มีจิตสำนึกร่วมในการช่วยเหลือผู้คน และไม่ก่อให้เกิดมลพิษสิ่งแวดล้อม.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น