ไม้ป่า 4 พี่น้อง : เป็นพี่น้องกันได้จริงหรือ....


ไม้ป่า 4 พี่น้อง

จากความสนใจในเรื่องราวของไม้ป่าต่าง ๆ ของไทย  พบว่า มีบางสายพันธุ์ที่ธรรมชาติได้สร้างสรรค์  จนเกิดเป็นความน่าทึ่ง..ที่ทำให้ไม้ป่าบางชนิดมีผล (ลูก)ต่างไปจากผลของไม้ทั่ว ๆ ไป กล่าวคือ ผลของมันมีปีกเพื่อช่วยในการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ  ซึ่งไม้ป่า 4 พี่น้องจากหัวเรื่องข้างต้น..ก็เป็น 4 ไม้ป่าที่ผลมีปีกเช่นเดียวกัน ได้แก่ เต็ง  รัง  พะยอม และ สาละ(อินเดีย)  แล้วอะไรที่ 4 ไม้ป่านี้มีความใกล้เคียงกันเสมือนเป็นเช่นพี่น้องกัน...เราได้ค้นคว้าและรวบรวมมาให้ได้เรียนรู้กันแล้วครั้งนี้


*ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

เต็ง >  ชื่อสามัญ    Siamese Sal, Burma Sal,Thitya   ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Shorea obtusa Wall. ex Blume   ชื่อวงศ์   DIPTEROCAPACEAE

รัง >  ชื่อสามัญ  Burmese sal, Ingyin   ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Shorea siamensis Miq.   ชื่อวงศ์ DIPTEROCARPACEAE

พะยอม > ชื่อสามัญ Shorea, White Meranti   ชื่อวิทยาศาสตร์ Shorea roxburghii G. Don.  ชื่อวงศ์  DIPTEROCARPACEAE 

สาละ (อินเดีย) ชื่อสามัญ Shal, Sakhuwa, Sal Tree, Sal of India  ชื่อวิทยาศาสตร์  Shorea robusta C.F. Gaertn.   ชื่อวงศ์  DIPTEROCARPACEAE




1. ลักษณะทั่วไป




สภาพป่าเต็งรังบริเวณสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช  อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา

เต็ง :  เต็งเป็นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่  สูง 10 – 20 ม. ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มกว้าง ๆ เปลือกสีน้ำตาลปนเทา   แตกเป็นร่องและเป็นสะเก็ดหนา  มันตกจันสีเหลืองขุ่น  กะพี้สีน้ำตาลอ่อน แก่นสีเข้ม


ใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ ขนาด 4 - 7 x 10 - 16 ซม. โคนและปลายมน เนื้อใบหนา เป็นมันใบอ่อน มีขนประปราย เนื้อใบอ่อนสีน้ำตาลแดง ใบแก่ เกลี้ยงเป็นมัน ก่อนหลุดร่วงเปลี่ยนสีเป็นสีเหลืองเส้นแขนงใน มี 12 - 15 คู่ ปลายเส้นส่วนมากจรดขอบใบ เส้นใบย่อยแบบขั้นบันไดเห็นชัดทางด้านท้องใบ  ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย  


ดอก เล็ก ออกรวมกันเป็นช่อตามปลายกิ่ง ก้านช่อดอกมีขนนุ่ม ขอบโคนกลีบรองกลีบดอกเกยซ้อนกันแต่ไม่ติดเป็นเนื้อเดียวกัน กลีบดอกและกลีบรองกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ เวียนกันตามเข้มนาฬิกาเป็นรูปกังหัน ก้านดอกสั้นมาก ดอก สีขาว เกสรผู้ มี 20 - 25 อัน รังไข่ รูปรี ๆ ภายในแบ่งเป็น 3 ช่อง แต่ละช่องมีไข่อ่อน 2 หน่วย

ผล รูปไข่เล็ก ๆ ซ่อนตัวอยู่ในกระพุ้งโคนปีกผล ซึ่งมีปีกยาว 3 ปีก ปีกสั้น 2 ปีก ปีกยาวรูปขอบขนานแกมไข่กลับ ยาวประมาณ 6 ซม. มีเส้นตามยาวปีก 9 เส้น ผลอ่อน สีเขียว ผลแก่ สีน้ำตาลแดง


สภาพป่าเต็งรังบริเวณสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช  อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา

รัง เป็นต้นไม้ขนาดกลางถึงใหญ่ สูงระหว่าง ๑๐-๒๐ เมตร รูปทรงต้นเป็นทรงกลมหรือพุ่มทรงเจดีย์ ลำต้นไม่เปลาตรงนัก (เมื่อเทียบกับต้นไม้บางชนิด เช่น ยางนา หรือยมหอม) เปลือกหุ้มลำต้น สีเทา เปลือกหนา มักแตกเป็นร่องและเป็นสะเก็ดล่อน ใบเป็นชนิดเดี่ยว เรียงสลับบนกิ่งก้าน ใบรูปไข่ โคนใบหยักเว้าเป็นรูปหัวใจ ปลายใบค่อน ข้างมน ใบอ่อนเมื่อแตกออกใหม่ๆ มี สีแดงและเมื่อเข้าหน้าแล้งจะเปลี่ยน เป็นสีเหลืองก่อนร่วงหล่นจนหมดต้น


ดอกรังจะออกหลังจากทิ้งใบหมดแล้ว โดยออกตามปลายกิ่งเป็นช่อขนาดใหญ่ ประกอบด้วยดอกย่อย มีกลีบสีเหลืองอ่อน ๕ กลีบ เรียงซ้อน กันเป็นรูปกังหัน ปลายกลีบม้วนซ้อน เข้า ดอกร่วงหลุดออกจากช่อได้ง่าย มีกลิ่นหอมอ่อนๆ

เมื่อดอกรังหลุดร่วงไปแล้ว จะติดผลรูปกระสวยขนาดเล็ก มีปีกสั้นผลละ ๒ ปีก ปีกยาวรูปใบพายอีก ๓ ปีก ยาวราว ๑๐ เซนติเมตร โคนปีกหุ้มต้นผลไว้โดยรอบ ตัวปีกมีเส้นบนตามความยาวของตัวปีกหลายเส้น ทำให้ปีกแข็งแรงขึ้น เมื่อผลแก่ร่วงหล่นจากขั้ว ผลจะอาศัยปีกทำให้หมุน และลอยไปได้ไกลจากต้นแม่ เป็นการขยายอาณาเขตของต้นรังรุ่นใหม่ให้กว้างขวางออกไปเรื่อยๆ

พยอม

ต้นพะยอมกำลังออกดอก


พะยอม ต้นพะยอม เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ มีความสูงประมาณ 15-20 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นอาจยาวถึง 300 เซนติเมตร เปลือกต้นมีสีน้ำตาลหรือสีเทาเข้ม แตกเป็นร่องตามยาวและเป็นสะเก็ดหนา ส่วนเนื้อไม้มีสีเหลืองถึงสีน้ำตาล ลักษณะของต้นเป็นทรงพุ่มกลมสวยงามมาก แตกกิ่งก้านจำนวนมาก 

ใบพะยอม ลักษณะของใบเป็นรูปมนรี ผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน โคนใบสอบมน ปลายใบแหลม ขอบเรียบเป็นคลื่น ด้านหลังใบจะมีเส้นใบมองเห็นชัดเจน ใบมีความยาวประมาณ 12-18 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 6-8 เซนติเมตร

ดอกพะยอม (ดอกพยอม) ออกดอกเป็นช่อใหญ่ ออกดอกตามส่วนยอดของต้น ดอกมีสีเหลืองอ่อนและมีกลิ่นหอม ดอกมีกลีบ 3 กลีบ กลีบดอกเรียบโค้งเล็กน้อย ยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร โคนกลีบดอกติดกับก้านดอกมีลักษณะกลม ออกดอกพร้อมกันเกือบทั้งต้น ออกดอกในช่วยเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์

ผลพะยอม ผลแห้งมีปีกแบบ Samara ลักษณะเป็นทรงไข่และกระสวย ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ซ่อนตัวอยู่ในกระพุ้ง โคนปีกมีปีก 5 ปีก ประกอบด้วยปีกยาวรูปขอบขนาน 3 ปีก ยาวประมาณ 8 เซนติเมตร มีเส้นตามยาวของปีกประมาณ 10 เส้น และปีกสั้นมี 2 ปีก มีความยาวไม่เกิน 3 เซนติเมตร ในผลมีเมล็ดหนึ่งเมล็ด ออกผลในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม


ต้นสาละ(อินเดีย) ที่ปลูกไว้ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

สาละ(อินเดีย) : ถิ่นกำเนิด พบในประเทศเนปาล และพื้นที่ทางเหนือของประเทศอินเดีย มักขึ้นเป็น กลุ่ม ในบริเวณที่ค่อนข้างจะชุ่มชื้น เป็นไม้ที่อยู่ในวงศ์ยาง พบมากในลุ่มน้ำยมุนา แถบแคว้นเบงกอลตะวันตก และแคว้นอัสสัม 

ลักษณะพืช เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ ลำต้น เปลาตรง เปลือกสีเทาแตกเป็นร่อง เป็นสะเก็ดทั่วไป เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ ปลายกิ่งมักจะลู่ลง กิ่งอ่อนเกลี้ยง 

ใบ เดี่ยว ดกหนาทึบ รูปไข่กว้าง โคนใบเว้าเข้า ปลายใบเป็นติ่งแหลมสั้นๆ ผิวใบเป็นมันขอบใบเป็นคลื่น 

ดอก ออกเป็นช่อสั้นๆ ตามปลายกิ่งและง่ามใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ กลีบดอกสีขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอม ผล เป็นผลชนิดแห้ง แข็ง มีปีก 5 ปีก ปีกยาว 3 ปีก ปีกสั้น 2 ปีก บนแต่ละปีกมีเส้นตามความยาวของปีก 10-15 เส้น




2. ลักษณะของใบ



     
  
เต็ง : ใบเต็งจะเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน แผ่นใบรูปรีแกมรูปขอบขนาน ถึงรูปไข่ กว้าง 5–7 ซม. ยาว 10–16 ซม. ปลายใบแหลมหรือมน ฐานใบมน ขอบใบบิดเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบหนา ผิวใบค่อนข้างเกลี้ยง


    

รัง : ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ แผ่นใบรูปไข่ ปลายใบมน โคนใบหยักเว้า รูปทรงใบโค้งเกือบกลมรี  
ใบต้นรัง สังเกตจากลักษณะทางกายภาพจะมีใบอยู่ 2 สี คือสีน้ำตาลแดง กับ สีเขียว  ต้นที่มีใบอ่อนสีน้ำตาลแดง ก้านดอกจะเป็นสีแดง  ส่วนต้นที่มีใบอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน ๆ ก้านดอกจะมีสีเหลือง


      

พะยอม ใบพะยอม เป็นใบเดี่ยวรูปขอบขนานแคบ ๆ  ลักษณะของใบเป็นรูปมนรี ผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน โคนใบสอบมน ปลายใบแหลมหรือหยักเป็นติ่งสั้น ๆ เนื้อใบเกลี้ยงเป็นมัน  ขอบเรียบเป็นคลื่น ด้านหลังใบจะมีเส้นใบมองเห็นชัดเจน ใบมีความยาวประมาณ 12-18 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 6-8 เซนติเมตร 


      

สาละ(อินเดีย)  ใบสาละ(อินเดีย) ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ เส้นใบเห็นชัดเจน และเส้นแขนงใบเรียงคล้ายขั้นบันได  ฐานใบเว้ารูปหัวใจเหมือนใบต้นรัง 



3.  ลักษณะของดอก


   

เต็ง : ดอกของเต็งจะเป็น ดอกสีขาว ออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ช่อดอกมีขนนุ่ม กลีบดอกและกลีบรองดอกมี 5 กลีบ ก้านดอกสั้น มาก เกสรเพศผู้มี 20-25 อัน ปลายอับเรณูมีขนสั้นๆ



    


รัง :  ดอกรังจะออกหลังจากทิ้งใบหมดแล้ว โดยออกตามปลายกิ่งเป็นช่อขนาดใหญ่ ประกอบด้วยดอกย่อย มีกลีบสีเหลืองอ่อน ๕ กลีบ เรียงซ้อน กันเป็นรูปกังหัน ปลายกลีบม้วนซ้อน เข้า ดอกสีเหลืองออกเป็นช่อ กลิ่นหอมอ่อน ดอกร่วงหลุดออกจากช่อได้ง่าย มีกลิ่นหอมอ่อนๆ  ออกดอกเดือนมีนาคม-เมษายน 


                

พะยอม ดอกพยอม ออกดอกเป็นช่อใหญ่ ออกดอกตามส่วนยอดของต้น ดอกมีสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอมจัด  มีดอกย่อยจำนวนมาก กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบโคนเชื่อมติดกัน  เมื่อดอกย่อยบานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-2 ซม. กลีบดอก 5 กลีบ เรียงเวียนกันแบบกังหัน เกสรตัวผู้ 15 อัน ออกดอกพร้อมกันเกือบทั้งต้น ออกดอกในช่วยเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์



  
สาละ(อินเดีย)  ดอกสาละ(อินเดีย) ออกเป็นช่อสั้นๆ ตามปลายกิ่งและง่ามใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ ๕ กลีบ กลีบดอกสีขาวอมเหลืองมีกลิ่นหอม


4.  ลักษณะของผล


 
เต็ง : ผลของเต็ง เป็นผลกลมรี  ถึงรูปไข่เล็ก ๆ กว้างประมาณ 0.8 ซม. ยาวประมาณ 1 ซม. ซ่อนตัวอยู่ในกระพุ้งโคนปีกผล ซึ่งมีปีกยาว 3 ปีก ปีกสั้น 2 ปีก ปีกยาวรูปขอบขนานแกมไข่กลับ ยาวประมาณ 6 ซม. มีเส้นตามยาวปีก 9 เส้น ผลอ่อน สีเขียว ผลแก่ สีน้ำตาลแดง



  รัง :   ผลรูปกระสวย มีปีกยาว 3 ปีก ปีกสั้น 2 ปีก  และปีกทั้ง 5  จะเป็นอิสระไม่ชิดติดกัน


  
  
พะยอม : ผลพยอม ผลแห้งมีปีกแบบ Samara ลักษณะเป็นทรงไข่และกระสวย ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ซ่อนตัวอยู่ในกระพุ้ง โคนปีกมีปีก 5 ปีก ประกอบด้วยปีกยาวรูปขอบขนาน 3 ปีก ยาวประมาณ 8 เซนติเมตร มีเส้นตามยาวของปีกประมาณ 10 เส้น และปีกสั้นมี 2 ปีก มีความยาวไม่เกิน 3 เซนติเมตร ในผลมีเมล็ดหนึ่งเมล็ด ออกผลในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม



  

สาละ(อินเดีย)  ผล เป็นผลชนิดแห้ง แข็ง มีปีก ๕ ปีก ยาว ๓ ปีก ปีกสั้น ๒ ปีก บน แต่ละปีกมีเส้นตามความยาวของปีก ๑๐ -๑๕ เส้น  ออกดอกประมาณกลางเดือนมีนาคม


เป็นอย่างไรบ้างครับ .... สำหรับ  3 ไม้ป่าของไทย และอีก 1 ไม้ป่าของอินเดีย  ที่ได้ทำความรู้จักกันไปพอสมควรแล้ว  น่าเสียดายที่ไม้ป่าวงศ์ยางต่าง ๆ ของไทยเหลืออยู่ค่อนข้างน้อยมากในปัจจุบันทำให้เราไม่สามารถชื่นชมความสวยงามจากธรรมชาติได้สะดวกและอย่างง่ายดาย   อีกทั้งไม่อาจเชื่อมโยงความสวยงามของไม้ป่าตามธรรมชาติให้เด็ก ๆ ลูก ๆ หลาน ๆ ของพวกเรา  เพื่อปลูกฝังความรักและคุณค่าของไม้ป่าต่าง ๆ ให้พวกเขาเกิดความตระหนักและมีความคิดเชิงอนุรักษ์ตั้งแต่วัยเด็ก   กล่าวมาถึงตรงนี้ก็เกิดความคิดปิ้งขึ้นมา...แต่คงต้องฝากเป็นหน้าที่ของหน่วยงานราชการที่สามารถเพาะพันธุ์ไม้ป่า (หรือมีผลของไม้ป่า) สวยงาม+หายากแจกจ่ายให้ผู้สนใจ (ต้องลงทะเบียนผู้ปลูกไว้กับทางการก่อน)  นำไปปลูก  ผนวกกับกการปลูกต้นไม้ริมทาง  สถานศึกษา   หน่วยงานราชการ และสวนป่าในเมืองของจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ .... อย่างนี้คิดว่าทำได้ง่ายและช่วยให้ไม้ป่าที่สวยงาม+หายาก  มีอยู่และค่อย ๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้นได้แน่นอน..ครับ




ป่าเต็งรัง มีหญ้าเพชรเขียวขจีคลุม ภายในอุทยานแห่งชาติไทรทอง  จ.ชัยภูมิ



 

 ต้นพะยอมออกดอกเต็มต้น    


 

                                                            ต้นรังออกดอกเต็มต้น




ขอบคุณ :  1)  http://fieldtrip.ipst.ac.th            2)  http://www.tistr.or.th/sakaerat

               3)  http://www.oknation.net          4)  https://sites.google.com

               5)  http://home.kku.ac.th/orip2/garden/docs

               6)  http://topicstock.pantip.com/blueplanet/topicstock

               7)  http://natnicha14.blogspot.com   8) http://www.kasetporpeang.com/forums

               9)  http://www.bloggang.com          10)  http://pantip.com/topic

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

ต่อหัวเสือ...ไม่ร้ายอย่างเสือ