เรือนไม้เรือนสุขภาพที่ทุกบ้านก็ทำได้



เรื่องราวของ เรือนไม้เรือนสุขภาพที่ทุกบ้านก็ทำได้  ครั้งนี้  จะเป็นการบอกเล่าถึงการปรับสภาพแวดล้อมในบ้านของผู้เขียนเอง ให้มีความเหมาะสมร่มรื่นสวยงามสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจของคนในบ้าน  หรืออาจใช้เป็นที่รับแขก  และสุดท้ายได้พืชผักผลไม้ที่ช่วยเสริมสุขภาพ โดยใช้ต้นทุนไม่มากจนเกินไปนัก และถือเป็นเพียงไอเดียง่าย ๆ หรือตัวอย่างดี ๆ หนึ่งเท่านั้น
    
เมื่อ 3  ปีที่แล้ว  เรามีความคิดเพียงเพื่อจัดทำเรือนสำหรับต้นเสาวรส และได้ผลเสาวรสบริโภคกันเท่านั้น การจัดการต่าง ๆ เป็นไปอย่างง่าย ๆ  เช่น  การใช้สถานที่  วัสดุที่ใช้  เป็นต้น 


ปี 2555 - 2556
เราสร้างเรือนเสาวรส และปลูกเสาวรสแบบใช้ต้นตอเดิมติดต่อกัน 2 ปี  โดยเมื่อเก็บผลปีแรกเสร็จเรียบร้อยแล้วประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน  จะทำการตัดและเก็บเถาเสาวรสเฉพาะส่วนบนออกจากตัวเรือน  เพื่อพักการเจริญเติบโต บำรุงต้นตอ สะสมอาหารและแตกยอดอ่อนในโอกาสต่อไป


  

จุดแรก และจุดที่ 2  อยู่ด้านข้างเรือนเพาะชำ  ปลูกเสาวรสในถุงน้ำตาลทรายขนาดใหญ่      


เสาวรสถุงที่ 3  อยู่ด้านหน้าเรือนเพาะชำ

 

ขนาดของเถาหรือลำต้นของเสาวรสจะบอกได้ถึงความแข็งแรงและงอกงาม

 

ผลของเสาวรสซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชนิดผลสีเหลือง ที่ให้ผลผลิตดีกว่าผลสีม่วง  ผลเสาวรสที่เราเก็บได้ประมาณ 100 ผลขึ้นไปทั้ง 2 ปี

ปี 2557
ได้ทำการปรับปรุงบริเวณเรือนเสาวรส และเปลี่ยนไม่ไผ่ที่ใช้การไม่ได้ออกไปเป็นบางส่วน  รวมทั้งเพาะต้นตอใหม่  และเปลี่ยนภาชนะสำหรับปลูกเสาวรสอีกด้วย



จุดแรก  ปลูกเสาวรสโดยใช้อ่างซีเมนต์เก่า

 

จุดที่ 2  ปลูกเสาวรสโดยใช้ยางรถยนต์     และจุดที่ 3  ปลูกเสาวรสโดยใช้ตะเข่งพลาสติก

 

สภาพเรือนไม้ไผ่ที่ยังใช้งานได้ดี



ผลเสาวรสที่ทะยอยติดผลกันในแต่ละรุ่น  และติดน้อยลงช่วงปลายฤดูฝน  ผลเสาวรสค่อนข้างดกในปี 2557  

การปรับเปลี่ยน : ปี 2558
เป็นปีที่เราเปลี่ยนแปลงแนวคิดที่จากเดิมต้องการเพียงผลเสาวรสเพื่อการบริโภคเท่านั้น  เรามองภาพกว้างมากขึ้นกว่าเดิม กล่าวคือ  ประการแรก น่าจะเพิ่มการปลูกไม้ผลเพื่อสุขภาพอีกหนึ่งอย่าง  ประการที่สอง  น่าจะทำให้เรือนไม้เถามีความแข็งแรงมั่นคง และมีความร่มรื่นสวยงามใช้สำหรับพักผ่อนได้


ต้นเดือนเมษายน 2558  เริ่มจากการรื้อเรือนเสาวรสเดิม  ตัดต้นไม้ออกให้โล่ง  ปรับพื้นดินให้มีเรียบ เปลี่ยนโครงหลักเรือนไม้เถาเป็นเหล็กแป๊บ+ไม้ไผ่  


เรือนไม้เถาที่พร้อมรอรับการมาของเถาฟักข้าว + เสาวรส + พวงโกเมน 


ปูพื้นตรงกลางด้วยอิฐบล็อกแบบรื้อได้  วางม้านั่งยาว  กระถางต้นไม้


ตรงทางเข้าปูด้วยอิฐซีเมนต์แทรกช่องว่างด้วยกรวดให้สวยงาม 



ปลูกบัวเพิ่มสีสันกับพันธุ์ไม้น้ำสีเขียว


เราเปลี่ยนวิธีการปลูกโดยการขุดหลุมขนาดพอสมควร  ในภาพซ้ายสุด คือเสาวรส(ม่วง)  ตรงกลางคือเสาวรส(เหลือง)  และขวาสุดคือ ฟักข้าว   ต้นฟักข้าวเพียง 1 ต้น จะแตกกิ่งออกเป็นเถาจำนวนหลายเถา ฟักข้าวเจริญเติบโตเร็วกว่าเสาวรสมาก  ทำให้แย่งพื้นที่ด้านบนไปได้มาก  (ในภาพปลูกได้ประมาณ 2 เดือน)


ส่วนภาพนี้ ขวาสุดคือพวงโกเมน


ช่วงแรก ๆ พื้นที่ยังว่างอยู่มาก


ประมาณ 3 เดือนเศษ ๆ พื้นที่ด้านบนได้ถูกไม้เลื้อย 3 ชนิด จับจองไปเกือบ 100 %


ทำให้ด้านล่างเกิดร่มเงาที่พอจะใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจได้


ดอกฟักข้าวจะบานวันเดียว (ตอนสาย ๆ - เย็น)  นับว่าเราโชคดีที่ซื้อต้นพันธุ์ฟักข้าวมาเป็นตัวเมีย  สังเกตุจากดอก...ถ้าเป็นดอกตัวเมียจะมีลูกฟักข้าวโชว์ให้เห็น  แต่ถ้าเป็นดอกตัวผู้ (ดังภาพล่าง) จะไม่มีลูกฟักข้าว  

 
ภาพจาก...www.bansuanporpeang.com

และก็นับว่าโชคดีอีกอย่างหนึ่ง คือ  บ้านใกล้เคียงมีฟักข้าวตัวผู้ขึ้นอยู่  จึงได้อาศัยขอดอกฟักข้าวตัวผู้มาทดลองผสมเกสรดอกตัวเมีย  ซึ่งนับว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจมาก  ทำให้ได้ลูกฟักข้าวมากกว่าการรอให้แมลงธรรมชาติเป็นผู้ผสมเกสร



ดอกฟักข้าวตัวเมียที่ผสมเกสรแล้ว  จะสังเกตุได้ชัดเจนว่าผลของฟักข้าวจะยังมีสีเขียวสด และขนาดของผลจะใหญ่ขึ้น



ในทางตรงกันข้าม  หากดอกฟักข้าวตัวเมียไม่ได้รับการผผสมเกสร หรือผสมไม่ติด  ลูกฟักข้าวจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองออกน้ำตาลและร่วงหล่นในที่สุด


ผลฟักข้าวระยะแรก ๆ จะยังเป็นสีเขียว หนามเหลืองอ่อน


ต่อ ๆ มาตัวผลจะเริ่มเปลี่ยนจากเขียวเป็นเหลืองมากขึ้น


และเป็นสีเหลืองเต็มที่


เมื่อผลแก่จะเปลี่ยนเป็นสีส้มอ่อน 


ถ้าแก่จัด ๆ จะเปลี่ยนเป็นสีแดง ควรตัดให้ลืมต้นเสียก่อนก่อนนำไปบริโภค


เราจะทำและบริโภคน้ำฟักข้าว 2 แบบ คือ ทำเป็นน้ำฟักข้าวสำหรับดื่ม  


และทำเป็นน้ำฟักข้าวสำหรับใส่ในข้าวหุง



ข้าวหุงใส่น้ำฟักข้าว  ข้าวสุกจะมีสีส้มอ่อน ๆ 


ถึงเวลาของเสาวรสกันบ้างครับ  ในภาพ คือดอกเสาวรสที่เป็นดอกตูม เตรียมที่จะบานในวันต่อไป


ดอกเสาวรสจะบานในช่วงบ่าย ๆ   เนื่องจากเป็นดอกสมบูรณ์เราจึงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเหล่าแมลงภู่ และผึ้ง ทำหน้าที่ผสมเกสร


ผลเสาวรสที่ติดใหม่ ๆ 


ผลเสาวรสจะเจริญเติบโตไปตามระยะเวลา  เมื่อใกล้แก่จะสังเกตุที่ผิวเปลี่ยนเป็นเหลือ หรือม่วงมากขึ้น 


ในรุ่นแรก ๆ เสาวรสสีเหลืองจะติดผลได้มากกว่าสีม่วง


ผลที่ได้รับ
ถือได้ว่าประสบผลสำเร็จค่อนข้างสูง  ประการแรกในด้านโภชนาการเพื่อสุขภาพ  เราได้ลงมือปลูกเองบำรุงรักษา  จนกระทั่งได้บริโภคผลไม้ที่มีคุณค่าทางอาหารสูงถึง 2 ชนิดในเวลาใกล้ ๆ กัน  ถือเป็นความภาคภูมิใจของเรา  ประการที่สอง  เราได้ประโยชน์อีกด้านหนึ่งจากเรือนไม้เลื้อยกล่าวคือ ได้ความร่มเย็น  ได้ความสดชื่นสวยงาม และกลายเป็นอีกหนึ่งมุมโปรดของบ้าน





ท้ายสุด เราได้เพิ่มข้อความและตัวหนังสือต่าง ๆ  ทำให้ดูดีมากยิ่งขึ้นครับ


สวัสดี



ขอบคุณ  :  ภาพดอกฟักข้าวตัวผู้  จาก...www.bansuanporpeang.com

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์