โครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์



                                                         ภาพจำลองเขื่อนทดน้ำผาจก


ความเป็นมา

พ.ศ.2510 โดยกรมชลประทานได้วางแผนพัฒนาลุ่มน้ำน่าน ประกอบด้วยโครงการชลประทานขนาดใหญ่ ได้แก่ การก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นเขื่อนอเนกประสงค์ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ และเพื่อสนับสนุนน้ำให้แก่พื้นที่เกษตรกรรม  โครงการพัฒนาชลประทานอุตรดิตถ์ (เขื่อนทดน้ำผาจุก) โครงการชลประทานพิษณุโลกฝั่งซ้าย และโครงการชลประทานพิษณุโลกฝั่งขวา (เขื่อนทดน้ำนเรศวร)

ต่อมา กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี และเขื่อนแควน้อยดำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2542 และปี พ.ศ.2552 ตามลำดับ  ทำให้สามารถส่งน้ำให้พื้นที่โครงการเจ้าพระยาใหญ่ในฤดูแล้งได้ 580,000 ไร่   ซึ่งเป็นการลดภาระการส่งน้ำเพื่อการชลประทานจากเขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนภูมิพล ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของโครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ กล่าวคือ

เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี  สามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกของโครงการชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง เนื้อที่ประมาณ 330,000 ไร่  มีปริมาณน้ำในแม่น้ำป่าสักเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยมีปีละ 246.48 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 523.24 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเพิ่มขึ้น 276.76 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งสามารถลดปริมาณการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ ในฤดูแล้งเฉลี่ยปีละ 237 ล้านลูกบาศก์เมตร
 
เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก  สามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานในโครงการเจ้าพระยาใหญ่ในฤดูแล้งประมาณ 250,000 ไร่ มีปริมาณน้ำในแม่น้ำแควน้อยเพิ่มขึ้นจาก 215.35 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 469.46 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเพิ่มขึ้น 254.11 ล้านลูกบาศก์เมตร  ซึ่งสามารถลดปริมาณการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ เพื่อการเพาะปลูกพืชในฤดูแล้งในโครงการเจ้าพระยาใหญ่ได้ เฉลี่ยปีละ 269 ล้านลูกบาศก์เมตร
 
จากการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ จะทำให้มีปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นในฤดูแล้ง 506 ล้านลูกบาศก์เมตร   ซึ่งจะเพียงพอที่จะสามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ  นอกจากนั้น ในปัจจุบันการใช้น้ำในพื้นที่เพาะปลูกของจังหวัดอุตรดิตถ์ต้องอาศัยโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำเป็นจำนวนมาก จึงมีราษฎรเรียกร้องให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างโครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยเร็ว
 
กรมชลประทาน จึงได้ทบทวนการศึกษาโครงการพัฒนาลุ่มน้ำน่านในขั้นการศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study) โดยเริ่มการศึกษาโครงการเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2546 และดำเนินการแล้วเสร็จ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2548
 
จากผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ พบว่า การแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำน่านจะต้องทำให้ลุ่มน้ำน่านมีน้ำอย่างเพียงพอและมีคุณภาพ เพื่อประโยชน์ในการผลิตและการอุปโภคบริโภค สนับสนุนการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ควบคู่ไปกับการบรรเทาอุทกภัยได้อย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติดื่น ๆ และเพื่อให้เกิดการพัฒนาลุ่มน้ำน่านอย่างเป็นรูปธรรม จึงได้คัดเลือกโครงการนำร่องที่มีลำดับความเหมาะสมในการพัฒนาสูง คือ  โครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์ เสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการชลประทานพิจารณา  ซึ่งต่อมา คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการชลประทาน ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมชลประทาน เร่งเตรียมความพร้อมโครงการชลประทานขนาดใหญ่ จำนวน 16 โครงการ ในการประชุมครั้งที่ 1/2551 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2551  โดยมติที่ประชุมดังกล่าว ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่  10 มิถุนายน  พ.ศ. 2551
 
สำหรับด้านการ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการฯ แล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2548 และส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาในปี พ.ศ.2549 ซึ่งคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (คชก.) มีข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมบางส่วน  กรมชลประทานจึงดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม แล้วเสร็จในเดือนมกราคม พ.ศ.2552 และเสนอรายงานดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2552 แจ้งตามหนังสือคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่ ทส(กกวล)1008/ว 4655 ลงวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2552
 
 
สภาพปัญหาและเหตุผลความจำเป็น
 
เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกในบริเวณลุ่มน้ำน่านตอนล่าง ตั้งแต่เขตจังหวัดอุตรดิตถ์และบางส่วนของจังหวัดพิษณุโลก ประสบปัญหาความแห้งแล้งและการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง  ประกอบกับในปัจจุบัน การใช้น้ำในพื้นที่เพาะปลูกของจังหวัดอุตดิตถ์ต้องอาศัยโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ซึ่งทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อการสูบน้ำเป็นจำนวนมาก  ราษฎรจึงได้เรียกร้องให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างโครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยเร็ว
 
 
วัตถุประสงค์โครงการ 

(1)  เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำน่านตอนล่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ครอบคลุม พื้นที่อำเภอเมือง อำเภอลับแล อำเภอตรอน อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ และอำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก
(2) เพื่อพัฒนาระบบชล ประทาน  ประมาณ  481,400 ไร่   (พัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝนที่มีศักยภาพให้เป็นพื้นที่ชลประทาน ประมาณ 304,000 ไร่ และส่งน้ำสนับสนุนและปรับเปลี่ยนระบบส่งน้ำ จากเดิมโดยการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า เป็นระบบส่งน้ำด้วยแรงโน้มถ่วง ประมาณ 134,800 ไร่ และพื้นที่โครงการชลประทานน้ำริด จังหวัดอุตรดิตถ์ ประมาณ 42,600 ไร่)

ที่ตั้งโครงการ

ที่ตั้งเขื่อนทดน้ำผาจุก ตั้งอยู่ในแม่น้ำน่านบ้านคลองนาพง หมู่ 7 ตำบลผาจุก อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ประมาณพิกัดที่ 47 QPV 347517 ระวาง 5044II      


ลักษณะของโครงการ

ลักษณะของรูปตัดลำน้ำบริเวณที่ตั้งหัวงาน มีความกว้างระหว่างตลิ่ง ประมาณ  100 เมตร ระดับของตลิ่งฝั่งซ้ายต่ำกว่าตลิ่งฝั่งขวา มีลาดด้านข้างชันถึงประมาณ 1:1 โดยมีความกว้างของผิวน้ำในเดือนมิถุนายน 2547 ประมาณ 60 – 70 เมตร ระดับน้ำอยู่ต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 10 เมตร ความลึกจากตลิ่งถึงท้องน้ำ  ประมาณ  15 เมตร  บริเวณที่ตั้งหัวงานสองฝั่งลำน้ำไม่มีบ้านเรือนราษฎร ถัดเลยจากบริเวณ ที่ตั้งหัวงานออกไปทางด้านเหนือน้ำและด้านท้ายน้ำมีบ้านเรือนราษฎรหนา แน่น โดยเฉพาะด้านในบริเวณฝั่งขวาของแม่น้ำน่าน ส่วนบริเวณฝั่งซ้ายมีบ้าน เรือนราษฎรอยู่บ้าง ที่ตั้งหัวงานมีแนวสายสางไฟฟ้าแรงสูง มีเส้นทางคมนาคม เข้าถึงสะดวกเป็นถนนผิวทางจราจรลาดยางกว้างประมาณ 8 เมตร ขนานไปตามแนวลำน้ำในด้านฝั่งขวา ส่วนด้านฝั่งซ้ายไกลออกทางหลวงหมาย เลข 1213 แต่ยังไม่มีทางเชื่อมเข้าที่ตั้งหัวงาน บริเวณที่ตั้งหัวงานไม่เคยมีปัญหาน้ำท่วมเพราะตลิ่งค่อนข้างสูง 

งบประมาณโครงการ

จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 10,500 ล้านบาท (รวมค่าที่ดืน)
     - งบบุคลากร             197.95  ล้านบาท
     - งบดำเนินงาน            28.01  ล้านบาท
     - งบลงทุน              9,769.72  ล้านบาท
(รวมค่าดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม   120.87  ล้านบาท  และค่าชดเชยที่ดินและทรัพย์สิน  1,211.36  ล้านบาท)
     - เผื่อเหลือเผื่อขาด     504.32  ล้านบาท

โดยมีแผนการใช้จ่ายงบประมาณในแต่ละปี ดังนี้
ปีงบประมาณ พ.ศ.255325542555255625572558-2561
 จำนวนเงิน : ล้านบาท-305.01845.732,187.092,680.004,482.17 
 

แผนงานก่อสร้างโครงการ

ระยะเวลาก่อสร้างโครงการ  9  ปี  (พ.ศ. 2553 – 2561)


 
                                       
                                ภาพการวางฐานเขื่อนระยะแรก ๆ 



        การปรับแนวตลิ่งท้ายเขื่อน..ภายหลังเปลี่ยนเส้นทางการไหลของแม่น้ำเป็นการชั่วคราว



                                     ภาพตัวเขื่อนในแนวทิศตะวันออก - ทิศตะวันตก


                               ภาพตัวเขื่อนในแนวทิศเหนือ - ทิศใต้ 

ปัจจุบันขณะที่เขื่อนทดน้ำผาจุกอยู่ระหว่างการเร่งดำเนินการก่อสร้างตามโครงการนั้น   ปรากฎว่ามีปัญหาที่เป็นผล กระทบด้วยกัน    2  ตำบล  ด้วยกัน คือ  ตำบลผาจุก  และตำบลท่าเสา  ปัญหาดังกล่าวอยู่ระหว่างการเจรจาตกลง และคาดว่าน่าจะหาทางออกร่วมกันได้


“ชาวผาจุก” อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ เตรียม ค้านสร้างเขื่อนทดน้ำผาจุก หลังประกาศชดเชยเวนคืนต่ำมาก


ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบล (ทต.)ผาจุก  อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ นายสมชัย มั่นเข็มทอง นายกเทศมนตรีตำบลผาจุก นายไพฑูรย์ นาคะเกศ กำนัน ต.ผาจุก นายมิตร นาวา ประธานสภา ทต.ผาจุก เชิญผู้ใหญ่บ้าน พร้อมชาวบ้าน 14 หมู่บ้านราว 100 คน เพื่อประชุมหาแนวทางคัดค้านการสร้างเขื่อนทดน้ำเขื่อนผาจุก ต.ผาจุก หลังจากมีประกาศจ่ายค่าชดเชยเวนคืนให้กับชาวบ้านที่ถูกเวนคืนที่ดินไร่ละ 10,000 - 40,000 บาท  ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้มาก หากเปรียบเทียบกับราคาที่ราชการซื้อจากชาวบ้านไร่ละ  100,000 - 200,000 บาท

นายสมชัย กล่าวว่า  ชาวบ้านซึ่งทุกรายเป็นผู้ที่ต้องเสียที่ดินทำกินที่อยู่อาศัยกับการสร้างเขื่อนทดน้ำเขื่อนผาจุก มีมติร่วมกันว่า จะไม่ยอมรับเงินที่จะจ่ายค่าชดเชยเวนคืนให้กับชาวบ้านตามที่ประกาศ แต่จะขอในราคาเวนคืนในราคาเดียวกับราคาที่ทางราชการซื้อจากประชาชนที่อยู่บริเวณเดียวกัน พร้อมจ่ายค่าเสียโอกาสจากการไม่ได้ใช้ประโยชน์ที่ดินอีกต่อไป หากไม่ยอมจ่ายตามที่ชาวบ้านพอใจ จะไม่ยอมให้เขื่อนทดน้ำเขื่อนผาจุกก่อสร้าง ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างดำเนินการไปแล้วกว่า 40 % เพราะถือว่าเอาเปรียบและชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการดำเนินโครงการนี้เลย 

                                 

                                นายสุทธิชัย เจริญธนะจินดา นายกเทศมนตรีตำบลท่าเสา


ที่สำนักงานเทศบาลตำบลท่าเสา อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ ชาวบ้านหมู่ 5, 8 และ 10 ต.ท่าเสา รวมตัวกันพร้อมรายชื่อเข้าร้องเรียนต่อ นายสุทธิชัย เจริญธนะจินดา นายกเทศมนตรีตำบลท่าเสา เพื่อเตรียมยื่นถวายฎีกาแด่ในหลวง เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากโครงการขุดคลองส่งน้ำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเขื่อนทดน้ำเขื่อนผาจุก ต.ผาจุก อ.เมืองอุตรดิตถ์ โดยแนวคลองส่งน้ำผ่านพื้นที่ทำกินทั้ง   3 หมู่   เพื่อส่งน้ำไปยังพื้นที่ อ.ลับแล อ.ตรอน อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ และอีกหลายอำเภอของ จ.สุโขทัย และ จ.พิษณุโลก
      
ขณะที่นายกเทศมนตรีตำบลท่าเสา ซึ่งรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวระบุว่า โครงการขุดคลองส่งน้ำดังกล่าว บริษัทหรือผู้รับผิดชอบโครงการไม่เคยเข้ามาสอบถามความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่เลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่มีการกำหนดเขตแนวคลองส่งน้ำเอง พร้อมทั้งนำไปประกาศในพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินเพื่อเวนคืน ทำให้หลายครอบครัวไม่เหลือพื้นที่ทำกิน ทั้งๆ ที่พื้นที่ทำกินผืนนี้ใช้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวมานานหลายชั่วอายุคน แต่ต้องมาเสียไปโดยที่ไม่ได้อะไรกลับคืนมาเลยแม้แต่น้อย ส่วนผู้รับผิดชอบมักจะอ้างแต่เพียงว่าโครงการนี้เป็นโครงการพระราชดำริ เพื่อไม่ให้ประชาชนคัดค้าน แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่โครงการพระราชดำริแต่อย่างใด
       
“ไม่น่าเชื่อว่าระบบคอมมิวนิสต์ยังมีอยู่ในประเทศไทย ทั้งๆ ที่มันควรหมดไปจากประเทศไทยแล้วด้วยซ้ำไป การที่จะเข้ามาดำเนินการอะไรที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนก็ควรเข้ามาเจรจาพูดคุยให้รู้เรื่อง ไม่ใช่นั่งกำหนดเขตในห้องทำงานแล้วก็มาขีดเส้นว่าต้องจุดนั้นจุดนี้ มันเป็นการสะท้อนการทำงานที่แย่มาก และที่เสียหายมากที่สุดคือ เมื่อเกิดเรื่องนี้ขึ้นมาผู้บริหารท้องถิ่น และผู้นำท้องที่ถูกชาวบ้านมองว่าสมรู้ร่วมคิดด้วย เพราะหากผู้นำไม่ยอมใครจะเข้ามาดำเนินการในพื้นที่ได้ แต่ข้อเท็จจริงแล้วผู้นำก็ไม่ทราบเลยว่ามีโครงการนี้เกิดขึ้น” นายสิทธิชัยกล่าว
 
 
 
 
ขอบคุณ  :   1)  http://kromchol.rid.go.th  
                 2)  http://www.mcot.net    
                 3)  http://www.manager.co.th 
                     4)  http://pitloknews.com



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์