รักษ์ป่า..รักษ์เห็ด 1


3 เห็ดที่ผู้เขียนสนใจที่จะเรียนรู้

สืบเนื่องจากการที่เคยนำเสนอเชิงเล่าสู่กันฟังไปแล้ว เรื่อง รู้สึกอย่างไรกับการพบเห็ดเผาะในสวนของเราเอง  วันที่ 15 พ.ย. 58 ที่ผ่านมา  ทำให้ผู้เขียนเริ่มให้เวลาเกี่ยวกับเห็ดต่าง ๆ มากขึ้น และยิ่งได้สืบค้นข้อมูลความรู้ที่ถือเป็นสาระดี ๆ จากผู้รู้และมีประสบการณ์  ทำให้ตัดสินใจที่จะเรียนรู้ด้วยการทดลองปฏิบัติ  ภายใต้ภาพชีวิตที่อิงธรรมชาติ คือ “ รักษ์ป่า..รักษ์เห็ด..”  มีจุดเน้นสำคัญอยู่ด้วยกัน 3 เห็ด ได้แก่  เห็ดโคน  เห็ดเผาะ และเห็ดตับเต่า  สำหรับในช่วงแรก ๆ ขอเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับเห็ดโคนนะครับ

แรงบรรดาลใจของผู้เขียนเกิดจากการศึกษาเอกสารชุดความรู้เบื้องต้นของ คุณจักรภฤต  บรรเจิดกิจ ปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดพิจิตร  ที่ได้ศึกษาค้นคว้าจนประสบผลสำเร็จในเรื่องดังกล่าว  และข้อมูลเพิ่มเติมจากการเพาะเห็ด.com. ที่ทำให้เรารู้จักธรรมชาติของเห็ดโคน กล่าวคือ  เห็ดโคน หรือ เห็ดปลวก เป็นเห็ดในสกุล Termitomyces อย่างเช่น Termitomyces Fuliginosus ซึ่งเห็ดโคนชนิดนี้ จะรสชาติดี มีคุณค่าทางอาหารสูง และนิยมนำมารับประทานกันมากที่สุด จึงมีความต้องการในท้องตลาดสูง และมีราคาแพง คนไทยทุกภูมิภาคนิยมรับประทานมาก เมื่อนำมาประกอบอาหารแล้ว จะมีกลิ่นหอมเย้ายวนชวนรับประทาน ซึ่งเป็นกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ เฉพาะตัวของเห็ดโคน อีกทั้งยังมีรสชาติที่อร่อย

ปัจจุบันยังไม่สามารถทำ การเพาะเห็ด ชนิดนี้ในวัสดุเพาะ ที่บรรจุอยู่ในถุงพลาสติกได้ เนื่องจากว่า เห็ดโคน หรือ เห็ดปลวก จะสามารถพัฒนาไปเป็นดอกเห็ดได้ ก็ต่อเมื่อเส้นใยของเห็ด ได้ผ่านกระบวนการย่อย ของตัวปลวกเสียก่อน และถ้าขุดดูรากของเห็ดโคนแล้ว ก็จะพบว่ารากของดอกเห็ดทุกดอก เกิดมาจากรังปลวก หรือหัวปลวก (คนอีสาน จะเรียกว่า “จาวปลวก”) จากข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า เห็ดโคน หรือ เห็ดปลวก เป็นเห็ดที่มีความสัมพันธ์ อย่างเหนียวแน่นกับ ตัวปลวก (Relationship) หรืออาจจะเรียกได้ว่าทั้งสอง “เจริญเติบโตร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกัน” ก็ได้

การเพาะเห็ดโคนด้วยจาวปลวก  จาวปลวก หรือ หัวปลวก คือ รังปลวกที่นางพญาปลวก ออกลูกอ่อนอาศัยอยู่ สำหรับวิธี การเพาะเห็ดโคน ทำได้โดยนำจาวปลวกมา ประมาณ 1 กำมือ (ใช้จอบขุดเบาๆ ไม่ต้องลึกมาก จะเจอจาวปลวกอยู่จำนวนมาก ให้เก็บมาเพียงเล็กน้อย ไม่ถึงขั้นต้องทำลายจอมปลวกทั้งหมด) จากนั้นนำไปผสมกับข้าวสุก 1 กิโลกรัม แล้วแช่ในถังพลาสติก เติมน้ำเปล่าลงไป 20 ลิตร จากนั้นปิดฝาถังให้มิดชิด แล้วนำไปวางไว้ในที่ร่ม หมักทิ้งไว้ประมาณ 7 – 10 วัน ซึ่งภายในถังหมักจะมีจุลินทรีย์โปรโตซัวชนิดหนึ่ง  ซึ่งจะขยายตัวเป็นฝ้าสีขาวลอยอยู่เหนือผิวน้ำหมัก เมื่อหมักจนครบ 7 วันแล้ว  ให้นำน้ำจุลินทรีย์จาวปลวกที่ได้ไปราดที่จอมปลวก  จากนั้นคลุมด้วยเศษฟางข้าว หรือเศษใบไม้  แล้วรดน้ำให้พอชื้น อีกประมาณ 10 – 15 วัน หลังจากนั้นจะเริ่มมี เห็ดโคน โผล่ขึ้นมาให้เก็บผลผลิต เห็ดโคนที่ได้นั้น จะมีลักษณะของสี ของแต่ละดอก แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของดิน และสภาพแวดล้อม ของแต่ละพื้นที่

ผลการทดลอง&เรียนรู้การเพาะเห็ดโคน2558  

ครั้งที่ 1 บ่ายที่ 10 ธันวาคม 58  ผู้เขียนได้เริ่มการทดลองเพาะเห็ดโคน  ตามกระบวนการที่กล่าวแล้วข้างต้น ณ สวนป่าสักของผู้เขียนเอง  ซึ่งมีวัตถุดิบสำคัญ คือ “จาวปลวก”  พร้อมอยู่แล้ว  เมื่อได้จาวปลวกได้นำมาผสมกับข้าวสุก เทลงถัง ผสมน้ำ แล้วปิดฝาพร้อมใช้ท่อนไม้ทับไว้ 



ขุดจอมปลวกเพื่อหาจาวปลวก


 มองเห็นจาวปลวกจำนวนหนึ่ง

 

จาวปลวกที่ถูกสร้างอย่างสวยงาม


ตอนนี้เราได้จาวปลวกเท่าที่ต้องการแล้ว


ผสมจาวปลวกกับข้าวสุกให้เข้ากันดี


เทใส่ถังที่ได้เตรียมไว้


ใสน้ำสะอาด(ไม่มีคลอรีน) คนให้เข้ากัน


แล้วปิดฝาถังตั้งไว้ในที่ร่ม


บ่ายที่ 20 ธันวาคม 58  ได้ทำการเปิดฝาถังหมักจาวปลวก  พบว่า มีฝ้าขาวเล็กน้อย + กลิ่นฉุนไม่มาก  แต่ก็ได้นำน้ำหมักจุลินทรีย์จาวปลวกไปราดที่จอมปลวก 2 จุด  คลุมด้วยฟางข้าว+เศษใบไม้+รดน้ำจนชุ่ม 




จากนั้นใช้น้ำหมักที่เหลือไว้ หมักต่อด้วย ข้าวสุก+เติมน้ำ+ใช้พลาสติกคลุมแล้วมัดเชือกให้แน่น+ปิดฝาพร้อมใช้ท่อนไม้ทับไว้   23 ธันวาคม 58 ได้รดน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นแก่จอมปลวกทดลองเพาะเห็ดโคน 


27 ธันวาคม 58  มีความหวังที่อยากจะเห็นเห็ดโคน ค่อย ๆ ตรวจสอบจุดทดลองทั้ง 2 จุด ไม่พบว่ามีเห็ด  วิเคราะห์ผลการทดลองครั้งที่ 1 ได้ว่า  1) น่าจะเกิดจากความไม่เข้มข้นของน้ำจุลินทรีย์จาวปลวก  และ 2) น่าจะเกิดจากวัสดุคลุมไม่หนาพอ


ครั้งที่ 2  บ่ายที่ 29 ธันวาคม 58  เปิดฝาถังหมักน้ำจุลินทรีย์จาวปลวก  พบว่า มีฝ้าขาวหนาแน่นมาก ๆ แสดงว่ามีความเข้มข้นสูง + กลิ่นฉุนมากด้วย  ไม่รอช้า..เคลีย์จุดทดลองแล้วนำน้ำหมักไปราดจอมปลวก 2 จุดเดิม คลุมด้วยฟางข้าวหนากว่าเดิม + รดน้ำจนชุ่ม 





เสร็จแล้วใช้น้ำหมักที่เหลือไว้ หมักต่อด้วย ข้าวสุก+เติมน้ำ+ใช้พลาสติกคลุมแล้วมัดเชือกให้แน่น+ปิดฝาพร้อมใช้ท่อนไม้ทับไว้  5 มกราคม 59  รดน้ำเพิ่มความชื้นให้จุดทดลอง 2 จุด

เช้าที่ 7 มกราคม 59  ครบ 10 วันพอดีสำหรับการทดลองเพาะเห็ดโคนครั้งที่ 2  เดินทางถึงสวนรีบไปตรวจสอบดูว่าจะมีร่องรอยของเห็ดโคนให้เห็นหรือไม่  พบว่าความชื้นใต้กองฟางที่คลุมไว้ยังมีอยู่พอสมควร  แต่ไม่พบร่องรอยการเกิดเห็ดเหมือนครั้งที่ 1 (ผิดหวังเล็ก ๆ เหมือนกัน) 

จากผลการทดลองทั้ง 2 ครั้ง  อาจใช้เป็นข้อสังเกตสำหรับผู้ที่กำลังคิดจะทดลองได้ประการหนึ่งว่า “..ฤดูหนาวสภาพอากาศไม่เอื้อต่อการเพาะเห็ดโคน.. ”  ถึงกระนั้นเนินจอมปลวกจุดทดลองทั้ง 2 จะยังคงรักษาไว้เพื่อการทดลองและเรียนรู้ในครั้งต่อ ๆไป...จบการทดลองเพาะเห็ดโคน ครั้งที่ 1-2 ... แต่เราจะกลับมาเรียนรู้กันอีกในช่วงฤดูร้อน และฤดูฝนที่จะถึงนี้..นะครับ



ขอบคุณ     1)  คุณจักรภฤต  บรรเจิดกิจ   ปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดพิจิตร

               2)  การเพาะเห็ด.com 

               3)  https://saen191.wordpress.com

               4)  www.4dekdoi.com  

               5)  www.bloggang.com

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์