รักษ์ป่า..รักษ์เห็ด 2
3 เห็ดที่ผู้เขียนต้องการเรียนรู้
ในช่วงที่การทดลองและเรียนรู้การเพาะเห็ดโคนต้องพักไว้ก่อน สืบเนื่องจากสภาพอากาศทางภาคเหนือตอนล่างในช่วงนี้ยังมีอากาศค่อนข้างหนาวเย็นอยู่อย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นจึงอยากเชิญชวนผู้ที่สนใจได้ร่วมกันเรียนรู้เกี่ยวกับเห็ดเผาะ และเห็ดตับเต่า ซึ่งจะมีความน่าสนใจอย่างไรนั้น..ตามไปดูกันครับ
รู้จักเห็ดเผาะ & เห็ดตับเต่า..พอสังเขป
ชื่อ : เห็ดเผาะ
ชื่อสามัญ : Barometer Earthstars
ชื่อวิทยาศาตร์ : Astraeus hygrometricus(Pers.) Morgan
ชื่ออื่น : เห็ดถอบ เห็ดเหียง เห็ดหนัง เห็ดดอกดิน
เห็ดเผาะหรือเห็ดถอบ (Astraeus hygrometricus(Pers.) Morgan) เป็นเห็ดเศรษฐกิจพื้นเมืองของไทยที่มีผู้นิยมบริโภคกันมากเนื่องจากมีเนื้อสัมผัสที่ดี ดอกเห็ดมีลักษณะกลม ขนาด1.5-4 ซม.ไม่มีก้านดอก ดอกอ่อนมีสีขาวหม่น(ราชบัณฑิตยสถาน, 2539) และกลายเป็นสีน้ำตาลเมื่อแก่ มักพบเห็ดชนิดนี้ในช่วงต้นฤดูฝนในป่าไม้วงศ์ไม้ยาง เช่น ยางนา เต็ง รัง และเหียง เป็นต้น โดยเป็นเห็ดเอคโตไมคอร์ไรซ่าของพืชเหล่านี้ เส้นใยส่วนใหญ่ของเห็ดเผาะเจริญบริเวณรอบปลายรากพืช ช่วยย่อยสลายอินทรีย์วัตถุให้อยู่ในสภาพที่ดูดซึมไปใช้ง่ายทําให้พืชมีอัตราการเจริญสูงขึ้น ทนแล้งและต้านทานโรคมากขึ้น ส่วนเห็ดได้รับวิตามิน กรดอะมิโนและฮอร์โมนจากรากพืช
ไมคอร์ไรซ่า : เป็นเชื้อราซึ่งอยู่ใต้ดินโดยอาศัยอยู่ตามรากพืชของต้นไม้ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่อาศัยอยู่กับเซลล์ผิวของรากต้นไม้ เรียกว่า เอคโตไมคอร์ไรซา (Ectomycorrhiza) และกลุ่มที่อาศัยอยู่ภายในเซลล์ผิวของรากต้นไม้ เรียกว่า เอ็นโดไมคอร์ไรซา (Endomycorrhiza) โดยทั้งสองมีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้ คือ เพิ่มประสิทธิภาพในการดูดธาตุอาหารของราก ช่วยให้ลำต้นพืชเหี่ยวช้าในสภาวะขาดน้ำ และที่สำคัญมีหลายชนิดที่พบในเขตร้อนสามารถนำมาบริโภคได้
เห็ดเผาะหรือเห็ดถอบ เป็นเห็ดพื้นบ้านที่ขี้นบางท้องที่โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณที่เป็นป่าโปร่ง เช่น ป่าสน ป่าแพะ เห็ดเผาะชอบขึ้นตามพื้นดินที่อยู่ใต้โคนไม้เต็ง ไม้พะยอม หรือต้นไม้อื่นๆ ที่เป็นดินร่วนปนทราย ในช่วงฤดูฝน เฉพาะระยะที่อากาศร้อนอบอ้าวมากก่อนฝนตก เส้นใยของราชนิดนี้จะดันผิวดินให้แตกออก เมื่อฝนตกมีความชื้นที่เหมาะสม เห็ดเผาะจะโผล่ขึ้นมาพ้นผิวดิน
ชื่อ : เห็ดตับเต่า
ชื่อสามัญ : Bolete
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Thaeogyroporus porentosus (berk. ET. Broome) อยู่ในวงศ์ Boletaceae
ชื่ออื่น : เห็ดห้า เห็ดน้ำผึ้ง
เห็ดตับเต่า มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์คือ หมวกเห็ดทรงกระทะคว่ำ เมื่อบานเต็มที่หมวกเว้าเล็กน้อย ผิวเป็นสีน้ำตาลเข้มอมเหลือง ดูคล้ายเป็นสีดำ ด้านล่างหมวกจะมีรูกลมเล็ก ๆ สีเหลืองปากรูเชื่อมติดเป็นเนื้อเดียวกัน ในเห็ดเมื่อผ่าถูกอากาศจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินอมเขียว ก้านหมวกอวบใหญ่ ยาว 4-8 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-4 ซม. โคนก้านหมวกโป่งเป็นกระเปาะสปอร์ ค่อนข้างกลม ขยายพันธุ์ด้วยสปอร์ เป็นเห็ดเอคโตไมคอร์ไรซ่าเช่นเดียวกันกับเห็ดเผาะ
ทางภาคเหนือจะเรียกเห็ดตับเต่ากันว่า เห็ดห้า เพราะจะขึ้นบริเวณใต้ต้นหว้า ซึ่งชาวเหนือเรียกต้นหว้าว่า ต้นห้า ส่วนในภาคอีสานเรียกว่า เห็ดน้ำผึ้ง ถิ่นกำเนิดของเห็ดตับเต่าจะพบในแถบประเทศทีมีอากาศชื้น พบได้ในป่าทั่วไปตามภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ หรือจะพบในช่วงต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน
การเตรียมงาน
สืบเนื่องจากผู้เขียนเองมีแนวคิดที่จะปรับสวนสักเดิมที่มีอยู่แล้ว ให้เป็นสวนป่าแบบผสมผสานโดยให้ความสำคัญในชั้นต้นที่พันธุ์ไม้ป่าที่ในอดีตเรารู้จักกันดีและมีปริมาณมากในป่าของบ้านเรา แต่ปัจจุบันไม้ป่าเหล่านั้นกำลังลดน้อยถอยลงไปเหลือจำนวนในป่าไม่มากนัก อีกทั้งเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ๆ ส่วนใหญ่ก็ไม่รู้จักคุ้นเคยเช่นกัน ดังนั้นหากเราจะมีส่วนช่วยกันอนุรักษ์พันธุ์ไม้ป่า..ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวและเพิ่มอ็อกซิเจนแก่ธรรมชาติแวดล้อม จึงเป็นเรื่องที่ควรกระทำอย่างยิ่ง
จากแนวคิดการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ป่าหายากผนวกกับความรู้เชื้อเห็ดชนิด “ไมคอร์ไรซ่า” จึงถูกใช้เป็นสะพานที่จะเชื่อมไปสู่การสร้างสวนป่าแบบผสมผสานที่มีเชื้อราไมคอร์ไรซ่าเป็นกำลังเสริมให้พันธุ์ไม้ป่าในสวนแห่งนี้มีความแข็งแรง สู้ภัยแล้งได้อย่างสบาย ๆ อีกทั้งมีเห็ดป่าเป็นผลพลอยได้อีกทางหนึ่งด้วย โดยตอบสนองและสอดรับกับคำกล่าวของhttp://anonbiotec.gratis-foros.com ที่กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “...เพราะอย่าลืมว่า ต้นไม้ทุกชนิดในโลกนี้ ยกเว้นไม้น้ำ มันไม่สามารถที่จะย่อยสารอาหารบางอย่างได้ด้วยตัวมันเองได้ เช่น ธาตุฟอสฟอรัส ที่พืชจำเป็นจะต้องเอาไปใช้ในขบวนการแบ่งและสร้างเซล มันจำเป็นต้องอาศัยเชื้อจุลินทรีย์ เช่น เห็ดที่อาศัยอยู่ที่ปลายรากของพืช ทำการย่อยอาหารพวกนี้ให้แก่พืช ขณะเดียวกัน จุลินทรีย์หรือเห็ดพวกนี้ ก็จะได้พลังงานจากต้นไม้ เพราะมันไม่สามารถสร้างพลังงานได้ มันจึงเป็นสิ่งมีชีวิตที่ชีวิตที่อาศัยซึ่งกันและกัน(Obligate symbiosis) ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นพืชอะไรในโลกนี้ ยกเว้นพืชที่เจริญในน้ำ จะต้องอาศัยจุลินทรีย์หรือเห็ดครับ เห็ดที่ว่าได้แก่ เห็ดตับเต่า เห็ดระโงก เห็ดเผาะ เห็ดไคล เห็ดตีนแรด เห็ดทรัฟเฟิล เห็ดมันปู เป็นต้น...” ซึ่งผู้เขียนได้เตรียมงานแล้ว ดังนี้
1.จัดเตรียมกล้าไม้
ได้แก่ เต็ง รัง แดง ชิงชัน พะยอม ยางนา สน มะฮอกกานี มะตูม มะขวิด มะรุม พิลังกาสา แคบ้าน และทดลองเติมเชื้อเห็ดเผาะ & เห็ดตับเต่า เพื่อให้เป็นกล้าไม้ที่มีเชื้อราไมคอร์ไรซ่าอยู่ร่วมด้วยช่วยกันที่รากอย่างมีพลัง และพร้อมต่อการนำไปปลูกตามที่ระยะเวลาที่เหมาะสมต่อไป
ส่วนหนึ่งของกล้าไม้ยางนา ความสูงประมาณ 3 ฟุต
บางส่วนของกล้าไม้ชิงชัน ความสูงประมาณ 1 เมตร
กล้าไม้รัง ความสูงเฉลี่ย 2 ฟุต
กล้าไม้เต็ง พะยอม และมะฮอกกานี ความสูง 1 เมตรเศษ
กล้าไม้แดงที่ต้องเลี้ยงดูอย่างน้อยอีกปีเศษ ความสูง 1 ฟุต
กล้าไม้สน ความสูงเมตรเศษ
กล้าไม้แคบ้าน ความสูงฟุตเศษ
สำหรับวิธีการเติมเชื้อเห็ดให้กับกล้าไม้นั้น ผู้เขียนใช้ 2 วิธีควบคู่กันไป คือ
1) ใช้ไม้ปลายแหลมค่อย ๆ เปิดหน้าดินบริเวณโคนต้นกล้าจนมองเห็นกลุ่มรากเล็ก ๆ แล้วเติมเชื้อเห็ดลงไปรอบโคนต้นกล้ากลบดินโคนต้นกล้า รดน้ำให้ชุ่มสม่ำเสมอ (กรณีนี้ใช้กับกล้าไม้ที่มีขนาดใหญ่)
2) กรณีที่เป็นกล้าไม้ไม่ใหญ่นัก จะใช้วิธีเปลี่ยนขนาดถุงดำให้ใหญ่ขึ้นแล้วเติมเชื้อเห็ดที่ก้นถุงก่อนนำกล้าไม้วางลงไปพร้อมเติมดินใหม่ รดน้ำให้ชุ่มสม่ำเสมอ
เบ็ดเสร็จแล้ว ณ วันที่ 13 มกราคม 2559 ได้จัดเตรียมกล้าไม้ที่เติมเชื้อเห็ดเผาะ จำนวน 50 ต้น และเติมเชื้อเห็ดตับเต่า จำนวน 76 ต้น รวมทั้งสิ้น 126 ต้น
ชื่อต้นไม้ เติมเชื้อเห็ดเผาะ เติมเชื้อเห็ดตับเต่า
1. เต็ง 10 -
2. รัง 20 -
3. แดง 5 5
4. ชิงชัน 5 -
5. พะยอม 5 5
6. ยางนา - 8
7. มะฮอกกานี 5 -
8. สน - 5
9. มะตูม - 2
10. มะขวิด - 4
11. มะรุม - 4
12. พิลังกาสา - 2
13. แคบ้าน - 41
รวม 50 76
2.ทดลองเติมเชื้อเห็ดตับเต่าให้กับต้นไม้ภายในสวน
ได้แก่ ยางนา มะม่วง พะยอม กระท้อน หางนกยูง และแคบ้าน รวมทั้งสิ้น 21 ต้น โดยวิธีเปิดหน้าดินรอบโคนต้นอย่างระมัดระวังจนพบกลุ่มรากเติมเชื้อเห็ดตับเต่ารอบโคนต้น กลบด้วยปุ๋ยคอก (เชื่อว่าปุ๋ยคอกน่าจะช่วยกระตุ้นให้ต้นไม้สร้างรากใหม่ได้) และกลบด้วยฟางข้าว รดน้ำให้ 3 วันครั้ง
ตัวอย่างต้นยางที่ปลูกไว้ในป่าสัก อายุ 3 ปี
ตัวอย่างต้นมะม่วงที่ปลูกไว้ในป่าสัก อายุ 3 ปี
สภาพสวนป่าสักที่ยังมีพื้นที่สำหรับการปรับให้เป็นสวนป่าแบบผสมผสาน
สภาพสวนป่าสักที่ยังมีพื้นที่สำหรับการปรับให้เป็นสวนป่าแบบผสมผสาน
ต้นพะยอมขนาดใหญ่บริเณที่พบเห็ดเผาะมากที่สุด
สรุปได้เป็นปัจจุบันสำหรับการเติมเชื้อเห็ดตับเต่าให้ต้นไม้ในสวนไปแล้ว รวม 21 ต้น ดังนี้ ชื่อต้นไม้ เติมเชื้อเห็ดตับเต่า 1. ยางนา 5 2. มะม่วง 6 3. พะยอม 2 4. กระท้อน 1 5. หางนกยูง 1 6. แคบ้าน 6 รวม 21 (ข้อมูล ณ วันที่ 13 มกราคม 2559 ) 3.การเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดิน จากสภาพของดินภายในสวนที่มีชั้นหน้าดินที่ค่อนข้างบาง ทำให้เก็บและซึมซับความชื้นจากการรดน้ำ จากน้ำฝนได้ค่อนข้างจำกัด จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงโดยบางส่วนได้โปรยหว่านปุ๋ยคอก/ปุ๋ยหมักบริเวณรัศมีทรงพุ่มของต้นไม้ที่ปลูกเพิ่มเติมในสวนสัก ซึ่งก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง และในอนาคตได้คิดวางแผนไว้ว่าควรเสริมความสมบูรณ์ของดินด้วยน้ำหมักชีวภาพเป็นระยะ ๆ อีกด้วย 4.การให้น้ำแก่สวนป่าในช่วงฤดูแล้ง & ฤดูร้อน การให้น้ำในช่วงที่ไม่มีฝนตกนับว่าจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยรักษาระบบนิเวศภายในสวนป่าแบบผสมผสานไม่ให้เปลี่ยนแปลงมากจนเกินไปนัก โดยเฉพาะไม้ใหม่ในปีแรก ๆ ที่ยังอ่อนแอ และพืชผิวดินให้สามารถปรับตัวดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ โดยสรุป การเตรียมการทั้ง 4 ด้าน ที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น น่าจะพอเป็นแนวทางในการปฏิบัติแก่ผู้ที่สนใจและมีจิตวิญญาณแห่งการ “รักษ์ป่า..รักษ์เห็ด” ร่วมกันบ้างตามสมควร เพราะเจตนารมณ์ที่แท้จริงบางครั้งต้องอาศัยการลงมือทำจริง ทำให้เห็น และบังเกิดผล นั่นแหละจึงจะเกิดความเชื่อติดตามมาครับ ผู้เขียนขอปิดท้ายบทความนี้ด้วยคำกล่าว จาก http://anonbiotec.gratis-foros.com ที่กล่าวไว้อย่างชวนคิดว่า “...จากประสบการณ์พบว่า การใส่เชื้อเห็ดที่เป็นไมโคไรซ่าเข้าไปนั้น ที่ดีที่สุด คือ เอาดินที่บริเวณรากของต้นไม้ที่เคยเกิดเห็ด เช่น ที่ไหนมีเห็ดระโงกเกิดขึ้น ให้เอาดินตรงนั้น ไปใส่ในต้นไม้ชนิดเดียวกันที่ยังไม่มีดอกเห็ดเกิดขึ้น อีกไม่นานก็จะได้เห็ดระโงกเกิดขึ้น เช่นเดียวกับเห็ดเผาะที่เกิดขึ้นตามต้นยางนา ต้นเต็ง ต้นรัง ให้เอาดินตรงนั้น ไปใส่ในต้นไม้ชนิดเดียวกัน ก็จะได้เห็ดดังกล่าว จะเห็นว่า ไม่ต่างจากเห็ดโคนเลย เพราะเห็ดโคนก็เป็นเห็ดประเภทเดียวกับไมโคไรซ่า เพียงแต่มันอาศัยโปรโตซัวในตัวปลวก แทนที่จะเป็นต้นพืชเท่านั้น ผมว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากๆระดับชาตินะครับ เพราะหากมีการรณรงค์ให้คนไทย หันมาสนใจเรื่องนี้แล้ว เราจะได้ทั้งเห็ดทั้งป่าไปด้วย จะเป็นบุญมหาศาลอันยิ่งใหญ่ ดั่งในต่างประเทศเขาทำสำเร็จมาแล้ว และประเทศเพื่อนบ้านของเรา คือ จีน ใกล้เมืองคุนหมิง เขาทำสำเร็จด้วยวิธีดังกล่าว เลยทำให้เมืองหนานหัว ที่แต่เดิมถูกตัดไม้ทำลายป่า มีการเผาป่า แต่ตอนนี้ มีป่าหนาแน่น และกลายเป็นแหล่งผลิตเห็ดธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีผู้คนที่ได้ผลประโยชน์จากเห็ดป่าที่มนุษย์ปลูกและรักษาไว้ ปีละหลายสิบล้านคน...” ขอบคุณ : 1) http://www.monmai.com 2) http://chm-thai.onep.go.th 3) http://anonbiotec.gratis-foros.com |
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น