ใช้ถ่านแกลบปรับปรุงดิน ในยุคปุ๋ยแพงช่วยลดโลกร้อน...เทคโนโลยีจากญี่ปุ่น


ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณ http://www.banrainarao.com ที่ได้นำเสนอเรื่องของการปรับปรุงดินให้มีคุณภาพ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของเกษตรกรไทยทุกคน  เพราะผลผลิตที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ต้องอาศัยแหล่งดินที่ดีมีคุณภาพด้วยกันทั้งสิ้น การใช้ประโยชน์จากดินโดยไม่บำรุงรักษานับเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น เราจึงอยากเชิญชวนให้เกษตรกรทุกท่านได้เรียนรู้และทดลองใช้  "ถ่านแกลบ" วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ที่วันนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ถ่านแกลบธรรมดาๆ แต่กลายเป็นวัสดุปลูกชั้นเยี่ยม แถมยังช่วยลดภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.K.Kyuma แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น  ได้แนะนำและสาธิตกระบวนการผลิต พร้อมทั้งวิธีการใช้ให้กลุ่มเกษตรกรไทยด้วยตัวเอง เป็นวิธีการง่ายๆ ที่ชาวนาและเกษตรกรทุกคนสามารถทำได้ 
 
ดินแหล่งกักคาร์บอนชั้นเยี่ยม

ความสำคัญของดินที่เป็นแหล่งสะสมคาร์บอน ได้มีผู้คาดคะเนว่าในดินลึก 1 เมตร มีคาร์บอนในรูปของอินทรียวัตถุ ประมาณ 1.5 ล้านล้านตัน ซึ่งเท่ากับ 2 เท่า ของคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ หรือ 3 เท่าขององค์ประกอบของพืช 
และมากกว่าปริมาณที่ละลายในผิวน้ำมหาสมุทร ถ้าคำนวณให้ลึกถึงดินชั้นล่างและรวมถึงสารประกอบคาร์บอเนตจะมีมากกว่า3 ล้านล้านตัน เนื่องจากมีการใช้เครื่องจักรทางการเกษตรในศตวรรษที่ 19 ทำให้อินทรียวัตถุในดินชั้นไถพรวนลดลงอย่างรวดเร็วประมาณ 20-40% จากการเพาะปลูก การสูญเสียอินทรียวัตถุในดินช่วงปี 1860-1960  ได้คาดกันว่ามีประมาณ 36,000 ล้านตัน ในรูปคาร์บอน อัตราการสูญเสียคาร์บอนในปัจจุบันประมาณ 800 ล้านตันต่อปี เนื่องจากการพัฒนาการเกษตรในเขตร้อนชื้น



ถ่านแกลบช่วยปรับปรุงดินและเพิ่มคาร์บอนในดิน

ถ่านแกลบ เป็นวัสดุที่หาได้ง่าย ราคาถูก น้ำหนักเบา ขนส่งง่าย ไม่มีปัญหาน้ำท่วมขัง เมื่อผสมกับดิน ทำให้ดินเบา
ปรับปรุงสภาพทางกายภาพดิน เช่น การระบายอากาศ การซาบซึมน้ำ การอุ้มน้ำ ทำให้ดินเหนียวเมื่อแห้งไม่แตกระแหงลดความเป็นกรดของดิน เพิ่มอุณหภูมิดิน กระตุ้นการทำงานของจุลินทรีย์ดิน ไม่มีเชื้อโรค นอกจากนั้น ในการผสมถ่านแกลบลงไปในดิน ท่านยังได้มีบทบาทในการช่วยลดภาวะโลกร้อน เนื่องจากถ่านแกลบเป็นคาร์บอน  มีความทนทานต่อการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์และสูญหายไปจากดินได้ยาก ดังนั้นจึงสะสมอยู่ในดิน เป็นการเพิ่มคาร์บอนให้แก่ดินแทนที่จะเผากลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์สู่บรรยากาศอันเป็นตัวการหนึ่งของภาวะโลกร้อน
 
- การเตรียมถ่านแกลบ : ใช้ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร เสียบท่อสังกะสี ยาวประมาณ 1.5-2.0 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 3 นิ้ว ทำเป็นปล่องไฟใกล้ๆ กับส่วนบนของถัง และเจาะรูด้านล่างของถังเพื่อให้อากาศเข้า-ออก ขนาดช่องว่างเท่ากับ 3 นิ้ว เช่นกัน มีข้อต่อสามทางสำหรับเสียบปล่องไฟ เสียบถังน้ำมันและบีบท่อให้เล็กลงข้างล่าง เพื่อให้น้ำส้มควันแกลบไหลลงภาชนะที่แขวนไว้ที่ก้นถังมีแผ่นโลหะที่เป็นรูวางไว้ จุดไฟทางตอนบนของกองแกลบ ปิดถัง อากาศเข้าได้เฉพาะส่วนล่างทางรูด้านล่างของถัง สีของควันไฟจะเปลี่ยนจากเทาขาวเป็นสีฟ้า แสดงว่าการเผาแกลบเป็นถ่านเสร็จแล้ว ปิดรูด้านล่างของถัง  เพื่อไม่ให้มีการเผาไหม้ต่อไป ทิ้งถังไว้ค้างคืน เพื่อทำให้เย็นก่อนจะนำเอาถ่านแกลบออกมาใช้
 
- สมบัติทางกายภาพ : เมื่อเริ่มต้นด้วยแกลบ 100 ลิตร หรือ 13 กก. ปริมาณจะลดลงเหลือ 70% หรือ 70 ลิตร น้ำหนักจะลดลงเหลือประมาณ 50% หรือประมาณ 7 กก. ความหนาแน่น 0.1 กรัม/ซีซี ซึ่งเบากว่าดิน 10 เท่า โครงสร้างของถ่านแกลบจะมีลักษณะพรุนหรือมีช่องว่าง 80% และอุ้มน้ำได้ 40%
 
- สมบัติทางเคมี : ถ่านแกลบมีแร่ธาตุ 20% เมื่อเผาเป็นถ่านส่วนใหญ่ของสารประกอบอินทรีย์ในแกลบจะเปลี่ยนเป็นคาร์บอน และให้น้ำส้มควันแกลบ (กรดอะเซติก เมทธิลแอลกอฮอล์ อะซิโตน น้ำมันดิน ฯลฯ) ดังนั้นในการเผาแกลบ 100 ลิตร หรือ 13 กก. เราจะได้ถ่านแกลบ 7 กก. มีแร่ธาตุ 2.5 กก. และคาร์บอน 4.5 กก. ในบรรดาแร่ธาตุที่ถูกเผานี้มีซิลิก้า 95%  ส่วนใหญ่อยู่ใรูปที่ละลายน้ำและเป็นประโยชน์ต่อพืช ดังนั้นถ่านแกลบจึงเป็นวัสดุที่มีประสิทธิภาพที่ให้ซิลิก้าแก่พวกธัญญพืชต่างๆ โดยเฉพาะข้าวและอ้อย มีโพแทสเซียมและฟอสเฟต 2.25% และ 0.35% ซึ่งละลายน้ำได้ เนื่องจากมีโพแทสเซียมสูง ทำให้ถ่ายแกลบมีสมบัติเป็นด่าง pH มักสูงกว่า 8




- การผสมถ่านแกลบกับดิน : การที่วัสดุนี้มีรูพรุน น้ำหนักเบา และมีแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ ราคาถูก ทำให้ถ่านแกลบเป็นสารปรับปรุงดินที่ดี โดยเฉพาะใช้ผสมกับดินเหนียวเพื่อทำให้ดินเหนียวมีความโปร่งร่วนซุยมากขึ้น ไถพรวนง่าย อัตราส่วนของการผสมควรเป็น 20% โดยปริมาตรเหมาะสมที่สุด

- การใช้ถ่ายแกลบเป็นวัสดุปลูกกล้าพืช สามารถใช้ถ่านแกลบอย่างเดียวได้โดยใช้กับแตงกวา แคนตาลูป แตงโม มะเขือเทศ มะเขือ กะหล่ำปลี ฯลฯ รวมทั้งไม้ดอก และยาสูบ ถ่านแกลบเมื่อนำมาใช้เป็นวัสดุปลูกกล้าพืชมีคุณภาพสม่ำเสมอ อุ้มน้ำได้ดี มีความโปร่ง ไม่มีปัญหาในเรื่องน้ำขังและละลายฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมออกมาให้พืชใช้ ทำให้ได้กล้าพืชที่แข็งแรง มีน้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายได้สะดวก ในกรณีที่ใช้ถ่านแกลบอย่างเดียว อาจต้องล้างน้ำเพื่อให้ความเป็นกรดเป็นด่างลดลง

ชาวสวนในอินโดนีเซีย นิยมใช้ถ่านแกลบเป็นวัสดุปลูกไม้ประดับกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีคุณสมบัติที่เหมาะสมนั่นคือ อุ้มน้ำ ระบายอากาศ น้ำหนักเบา รวมทั้งหาได้ง่าย ขนย้ายได้สะดวก

ในประเทศญี่ปุ่นได้มีการใช้ถ่านจากไม้และแกลบในการปรับปรุงดินหรือให้ธาตุอาหารเพื่อการเกษตรมาเป็นเวลาหลายร้อยปี ปัจจุบันควรมีการทบทวนกิจกรรมนี้ในแง่ของสิ่งแวดล้อม การเพิ่มคาร์บอนในดินเป็นวิธีการหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการลดภาวะโลกร้อน

การที่ส่งเสริมให้เกษตรกรเตรียมถ่านแกลบไว้ใช้เอง เนื่องจากแกลบมีปริมาณซิลิก้าสูง การปลูกข้าวได้น้ำหนักเมล็ด 1 ตัน พืชจะดูดไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และซิลิก้า ประมาณ 20, 3.9, 22.7 และ 166 กก. ตามลำดับ ปริมาณของซิลิก้าในแกลบมีถึง 32 กก. ปริมาณโพแทสเซียมส่วนใหญ่อยู่ในฟาง (ตารางที่ 1) ดังนั้นการไถกลบฟางข้าวลงไปในนาแทนการเผาเป็นสิ่งที่เกษตรกรต้องทำในภาวะปุ๋ยแพงปัจุจุบัน ซึ่งจะช่วยทำให้ลดการใช้ปุ๋ยโพแทสเซียม
 



ซิลิกอนเป็นธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับธัญพืชโดยเฉพาะข้าวและอ้อย ผู้เขียนอยากเห็นเกษตรกรมีโรงสีข้าวชุมชน สีข้าวกินเองและมีแกลบสำหรับทำถ่านใช้เป็นวัสดุปรับปรุงดินใช้ในการปลูกพืชผัก ไม้ประดับหรือต้นกล้า ในการเตรียมถ่านแกลบไว้ใช้เอง นอกจากได้สารปรับปรุงดินชั้นเยี่ยมแล้ว ยังได้น้ำส้มควันแกลบไว้ใช้ไล่แมลง และช่วยลดภาวะโลกร้อนด้วย เนื่องจากช่วยเพิ่มคาร์บอนลงไปในดิน
 
 

         
 ขอบคุณ :  http://www.banrainarao.com

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์