เตาเผาถ่านแกลบมหัศจรรย์ สำหรับใช้ผลิต กุนตัง (Kuntan) ในระดับครัวเรือน



ตอนที่แล้ว  เราได้แนะนำเกี่ยวกับ "ถ่านแกลบ" เพื่อช่วยปรับปรุงดินไปแล้ว ซึ่งยังไม่สมบูรณ์พอ มาครั้งนี้จึงขอนำเสนอต่อเป็นภาค 2 หรือภาคปฏิบัติก็แล้วกัน
 
"กุนตัง" (Kuntan) เป็นภาษาญี่ปุ่น ใช้เรียก "ถ่านแกลบ" ที่ได้จากการเผาแกลบที่อุณหภูมิสูง (ประมาณ 400 องศาเซลเซียส) คาร์บอนในแกลบจึงยังอยู่ใน "กุนตัง" แตกต่างจาก "แกลบดำ" (ขี้เถ้าแกลบ) ตามโรงสีข้าว เพราะแกลบถูกเผาที่อุณหภูมิสูงกว่ามาก (ประมาณ 800-900 องศาเซลเซียส) ทำให้คาร์บอนเปลี่ยนสภาพไปเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศ สร้างปัญหาภาวะโลกร้อนตามมา
 
เกษตรกรในประเทศญี่ปุ่นใช้ "กุนตัง" เป็นวัสดุปรับปรุงดินมานานกว่า 300 ปี "กุนตัง" มีรูพรุนจำนวนมาก ทนทานต่อการย่อยสลาย ถ้าใส่ลงดินในอัตราร้อยละ 20 โดยปริมาตร หรือร้อยละ 2 โดยน้ำหนัก ดินเหนียวจะโปร่ง ร่วนซุย ระบายน้ำและถ่ายเทอากาศได้ดี ขณะที่ดินทรายจะอุ้มน้ำได้ดีขึ้น นอกจากนี้ "กุนตัง" ยังให้ธาตุอาหารพืช โดยเฉพาะ "พี" "เค" และ "ซิลิก้า" เป็นที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์ดิน และใช้เพาะกล้าไม้ได้ดีอีกด้วย
 
ในแต่ละปีการผลิตข้าวของประเทศไทยได้แกลบออกมามากกว่า 4 ล้านตัน จึงหาแกลบได้ง่าย ราคาถูก น้ำหนักก็เบา สะดวกในการขนย้าย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คาซูทะเคะ คิวม่า ผู้เชี่ยวชาญดินนาชาวญี่ปุ่น ได้เล็งเห็นประโยชน์ของแกลบในการปรับปรุงดิน จึงพัฒนาเตาเผาถ่านแกลบต้นแบบสำหรับใช้ผลิต "กุนตัง" ในระดับครัวเรือนขึ้นแล้วมอบให้มูลนิธิพลังนิเวศและชุมชนร่วมกับศูนย์ฝึกอบรมวิศวกรรมเกษตร สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา  ดำเนินการพัฒนาและเผยแพร่ให้เกษตรกรต่อไป
 
แบบแปลนและส่วนประกอบ

"เตาเผาถ่านแกลบมหัศจรรย์" ในแบบแปลนนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นอีกระดับหนึ่งคือ มีฝาปิดช่องอากาศเข้าด้านล่างอัตโนมัติเมื่อไฟไหม้แกลบหมด (ไฟไหม้ลงมาถึงตะแกรงเหล็ก) เกษตรกรจึงไม่ต้องเสียเวลาในการปิด และปล่องส่วนหนึ่ง
มี 2 ชั้นสำหรับใช้หล่อน้ำ เพื่อให้ได้น้ำส้มควันแกลบมากขึ้น อย่างไรก็ตามเกษตรกรอาจดัดแปลงแบบแปลนนี้ให้เหมาะสม
กับความต้องการใช้งาน และเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ในท้องถิ่น เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ส่วนประกอบหลักๆ มีดังต่อไปนี้
         1. ถังน้ำมันใช้แล้วขนาด 200 ลิตร พร้อมฝาปิด มีขายทั่วไปในท้องตลาด

         2. ท่อเหล็กเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 3 นิ้ว (ปล่องควันยาว 2 เมตร)

         3. ตะแกรงเหล็กขนาดเท่ากับถัง ใช้ป้องกันแกลบร่วงลงไปที่ก้นถัง

         4. ภาชนะรองรับน้ำส้มควันแกลบ ควรเป็นถังพลาสติกทรงสูง เพราะน้ำส้มควันแกลบเป็นกรด



ขั้นตอนการเผาแกลบ
 
1. ใส่ตะแกรงเหล็กลงในถัง (ใช้อิฐรองตะแกรง หรือติดขาตั้งตะแกรง) ให้ตะแกรงอยู่ในระดับเหนือท่ออากาศเข้าที่ติดอยู่ด้านล่างและแขวนภาชนะสำหรับรองรับน้ำส้มควันแกลบ

2. ใส่แกลบลงในถัง เกลี่ยให้เรียบเสมอ จนระดับผิวบนของแกลบอยู่ต่ำกว่าท่ออากาศออกด้านบน 2-3 ซม. ใช้แกลบประมาณ 130 ลิตร หรือ 17 กก.
 
3. ใส่ฟางข้าวหนาประมาณ 10 ซม. ลงไปบนแกลบ เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเผาแกลบ ให้ฟางข้าวบริเวณขอบถังหนากว่าตรงกลาง เพราะแกลบบริเวณของถังติดไฟยากกว่า
         
4. จุดไฟที่ฟางข้าว 4-5 จุด ทั้งบริเวณรอบๆ ขอบถังและตรงกลาง ขณะที่พัดเร่งให้ไฟ 2-3 นาที โรยแกลบลงไปเล็กน้อยเพื่อเป็นเชื้อไฟ เมื่อแกลบติดดีแล้วจึงปิดฝาถัง ถ้ามีควันไฟสีขาวขุ่นพุ่งออกมาจากปล่องควันอย่างต่อเนื่องแสดงว่าแกลบติดไฟได้ดี
         
5. เมื่อแกลบไหม้จนหมด หรือไฟไหม้มาถึงตะแกรงเหล็ก แสดงว่าแกลบเปลี่ยนสภาพเห็น "กุนตัง" แล้ว สังเกตได้จากควันไฟสีขาวขุ่นเริ่มเปลี่ยนเป็นสีฟ้า (ใช้เวลา 5-6 ชม. หลังจากจุดไฟ) ให้ปิดฝาท่ออากาศเข้าด้านล่างและปล่องควันอาจใช้ดินเหนียว (ในกรณีไม่มีฝาปิดอัตโนมัติ) และอีก 5-10 นาที ควันไฟสีฟ้าจะอ่อนลงเป็นควันใส (ไม่มีสี)
         
6. รอให้เตาเย็นลง (ใช้เวลา 7-8 ชม.) หรือทิ้งไว้ข้ามคืน (ถ้าปิดฝาท่อไม่สนิท อุณหภูมิของเตาจะไม่ลดลง) เปิดฝาถังและนำ "กุนตัง" ออกกองไว้ในที่โล่งแจ้งให้แน่ใจว่าไฟดับสนิทแล้ว จึงบรรจุใส่กระสอบ 








น้ำส้มควันแกลบที่เก็บได้ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ทันที ต้องทำให้บริสุทธิ์เสียก่อน โดยการปล่อยให้ตกตะกอน
ใช้เวลาประมาณ 90 วัน ชั้นบนเป็นน้ำมันใส ชั้นกลางเป็นของเหลวสีชาว (ใช้เฉพาะส่วนนี้) และชั้นล่างเป็นของเหลวขึ้นสีดำ
 
การเผาแกลบ 130 ลิตร (17 กก.) จะได้ "กุนตัง" ประมาณ 80 ลิตร (10 กก.) และได้น้ำส้มควันแกลบ 400-600 ซีซี.
 
ข้อควรระวัง "กุนตัง" คุณภาพดีต้องมีสีดำ ถ้าบางส่วนยังมีน้ำตาลอยู่ แสดงว่าแกลบยังเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ และถ้าปิดฝาท่ออากาศเข้าด้านล่างและปล่องควันไม่สนิทอากาศจะเข้าได้ ทำให้แกลบเผาไหม้ต่อไป "กุนตัง" จะเปลี่ยนสภาพเป็น  "ขี้เถาแกลบสีขาวๆ"
 
สอบถามรายละเอียดและสั่งซื้อ "เตาเผาถ่านแกลบมหัศจรรย์" ได้ที่ ผอ.ไชยศิริ  สมสกุล  ศูนย์ฝึกอบรมวิศวกรรมเกษตร ต.บางพูน อ.เมือง จ.ปทุมธานี 12000 โทรศัพท์ 02-567-0784
 
 
 
 
ขอบคุณ  :  http://www.banrainarao.com

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์