เล่าเรื่องเมืองอุตรดิษฐ์..ตอน..สงครามโลกครั้งที่ 2 (1)


แผนผังแสดงจุดที่ถูกฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีทางอากาศและทิ้งระเบิดอย่างหนัก
(สถานีรถไฟอุตรดิตถ์+สะพานปรมินทร์)



สงครามโลกครั้งที่ 2 

สงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ.2482   เยอรมันยกพลบุกประเทศโปแลนด์ เมื่อเยอรมันบุกโปแลนด์  จึงทำให้ประเทศอื่นๆ ในยุโรปกระทบกระเทือนไหวตัวไปตามกัน ประเทศใกล้เคียงกับเยอรมันก็ถูกเยอรมันบุก เช่น ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ และประเทศต่างๆ อีกหลายประเทศ ฯลฯ

ญี่ปุ่นยกพลบุกประเทศไทย 

ไฟจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ลุกลามติดตามเข้ามาในภาคเอเชียตะวันออก โดยญี่ปุ่นได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา เมื่อวันที่ 8  ธันวาคม  พ.ศ. 2484  เหตุที่ญี่ปุ่นต้องประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกานั้น มีความจำเป็นและความสำคัญของญี่ปุ่น 5 ประการ คือ

1. ญี่ปุ่นถือว่าภาคเอเชีย เป็นถิ่นที่อยู่ของชนชาติผิวเหลือง ส่วนอังกฤษและอเมริกาเป็นพวกผิวขาว ไม่ควรยอมให้มาเป็นใหญ่ในภาคพื้นเอเชียนี้ 

2. ญี่ปุ่นถือว่าอังกฤษและอเมริกาเป็นตัวสำคัญทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นไม่สามารถขยายตัวได้ ถูกประเทศทั้งสองนั้นสกัดกั้นเสียหมด ตลอดจนการทหารด้วย 

3. อังกฤษและอเมริกา เข้าแทรกแซงในปัญหาความยุ่งยากในอินโดจีน อันเป็นเหตุให้ญี่ปุ่นไม่พอใจ 

4. ญี่ปุ่นโกรธทั้งอังกฤษ - อเมริกา ในเรื่องการช่วยเหลือจีนนานกิงทั้งทางตรงและทางอ้อม 

5. ญี่ปุ่นถือว่า อังกฤษและอเมริกา พยายามล้อมญี่ปุ่นทุกด้านทุกทาง เพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นมีโอกาสขยายตัวให้กว้างขวางออกไปได้ 

ด้วยเหตุผลทั้ง 5 ข้อนี้ เป็นเหตุทำให้ญี่ปุ่นต้องประกาศสงครามกับอังกฤษ – อเมริกา ก่อสงครามทางภาคเอเชียตะวันออก

เมื่อญี่ปุ่นประกาศสงครามแล้ว ก็ยกพลเข้าโจมตีหมู่เกาะฮาวายของอเมริกาและยกพลขึ้นประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484  ในเวลาใกล้รุ่ง โดยญี่ปุ่นยกพลมาทางเรือ มาขึ้นที่หัวเมืองชายทะเล เช่น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และอีกหลายแห่ง ฝ่ายไทยได้มีการต่อสู้ต้านทานอย่างเต็มกำลัง แต่ไม่อาจหยุดยั้งการบุกของญี่ปุ่นได้ ในที่สุด จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในครั้งนั้นต้องฝืนใจจำยอม เข้าร่วมกับญี่ปุ่นในมหาสงครามเอเชียบูรพา ซึ่งเรียกกันว่า สงครามโลกครั้งที่ 2


ประเทศไทยประกาศสงครามกับอังกฤษ และ อเมริกา 

ด้วยความจำใจและจำเป็นของไทย จึงจำต้องประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2485  ประเทศไทยเป็นประเทศที่รักความสงบ ไม่ต้องการรุกรานที่จะรุกรานใครให้ได้รับความเดือดร้อน และเมื่อวันที่ญี่ปุ่นยกพลบุกประเทศไทย ไทยก็ได้พยายามต่อต้านขัดขวางอย่างเต็มความสามารถ แต่ก็ไม่อาจหยุดการบุกของญี่ปุ่นได้ เพราะญี่ปุ่นมีอาวุธยุทโธปกรณ์เหนือกว่าไทยมาก จึงต้องจำใจจำเป็นร่วมกับญี่ปุ่นด้วยความฝืนใจ และต้องประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา ญี่ปุ่นได้เดินทัพผ่านประเทศไทยเพื่อไปเข้ายึดพม่าโดยทางแม่สอด เครื่องบินของญี่ปุ่นซึ่งเข้ามาประจำอยู่ในประเทศไทย ได้บินไปทำการรบร่วมกับกองทัพบกญี่ปุ่น ญี่ปุ่นได้อาศัยทางรถไฟของไทยลำเลียงพลขึ้นไปทางเชียงใหม่และออกไปทางพม่าด้านแม่ฮ่องสอน การประกาศสงครามของไทยนั้น ในที่สุด เมื่อสงครามสงบก็เป็นโมฆะไป 

ทหารญี่ปุ่นพักที่อุตตรดิตถ์ 

สถานีรถไฟอุตตรดิตถ์ เป็นสถานีที่ทำการสับเปลี่ยนรถไฟที่จะเดินทางขึ้นไปทางเหนือ ทางรถไฟสายนี้จะต้องวิ่งขึ้นเนินสูงและภูเขา ทั้งทางก็คดโค้ง ต้องหลบหลีกวิ่งไปตามด้านข้างของภูเขาบ้าง วิ่งเลียบลำห้วยบ้าง ขณะที่รถไฟวิ่งขึ้นมาจากกรุงเทพฯ พอมาถึงอุตตรดิตถ์ จะตัดออกเป็นสองขบวนหรือสามขบวน เพื่อให้วิ่งขึ้นเขาได้ หากให้วิ่งขึ้นไปทั้งขบวนเท่าจำนวนที่ลากจูงมาจากกรุงเทพฯ หัวรถจักรจะลากขึ้นไปไม่ไหว จึงจำเป็นต้องตัดแบ่งออกเป็นขบวนเล็กๆ ดังกล่าว 
สถานีรถไฟอุตตรดิตถ์ เป็นสถานีต้นทางที่จะไปทางเหนือ และต้องวิ่งขึ้นเขาบางตอน รถไฟจึงต้องจอดเติมน้ำและเติมฟืนนานกว่าสถานีแห่งอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ ทหารญี่ปุ่นจึงต้องจัดตั้งหน่วยเสบียงหุงข้าวและจัดทำอาหารเตรียมไว้เพื่อทหารญี่ปุ่นที่จะขึ้นไปทางเหนือได้แวะรับเอาอาหารนอกจากหน่วยเสบียงที่ทหารญี่ปุ่นได้จัดตั้งขึ้นนั้นแล้ว ญี่ปุ่นยังได้จัดตั้งหน่วยสื่อสารเพื่อติดต่อกับพวกของตนอีกด้วย หน่วยเสบียงของญี่ปุ่นดังกล่าวนั้น  ตั้งอยู่เยื้องกับสถานีรถไฟอุตรดิตถ์เก่า (ตรงร้านงุ่ยไคจั๊วเดิม เหนือโรงเรียนอนุบาลอุตรดิตถ์ปัจจุบันเล็กน้อย)

ในปี พ.ศ.2485  ทหารญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นเหนือโดยขบวนรถไฟเป็นหลัก และที่อุตตรดิตถ์ก็มีทหารญี่ปุ่นประจำอยู่จำนวนหนึ่ง มีทั้งหน่วยรบหน่วยสื่อสาร หน่วยเสบียงอาหารและหน่วยซ่อมเครื่องจักรกล ตลาดบางโพเวลานั้นจะมีทหารญี่ปุ่นเดินกันขวักไขว่ไปทั่วคล้ายกับเป็นเจ้าของบ้าน  และทำให้ชาวอุตตรดิตถ์ได้รู้จักและได้เห็นพวกญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด 




เครื่องบินแบบ B - 24  ของฝ่ายสัมพันธมิตร



อุตตรดิตถ์ถูกโจมตีทางเครื่องบิน 

นับตั้งแต่วันที่ญี่ปุ่นได้ประกาศสงครามกับอังกฤษ- อเมริกา และยกพลบุกขึ้นประเทศไทยแล้วนั้น  ไทยก็จำใจต้องทำสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่น โดยไทยต้องจำยอมประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา ในระหว่าง 5 เดือนแรกที่ญี่ปุ่นประกาศสงคราม ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายรุกอย่างเก่งกล้า ได้ยกทหารขึ้นที่จังหวัดสงขลา เข้ารบมลายูและยึดสิงคโปร์ได้ เปลี่ยนชื่อสิงคโปร์เป็นโชนันทันที  จากนั้นก็เข้ายึดฟิลิปปินส์ ยึดเกาะฮ่องกง ยึดบอร์เนียว ชวา สุมาตรา และเดินทัพผ่านประเทศไทยไปเข้ายึดพม่าทางแม่สอด และเดินทัพผ่านไทยไปยึดพม่าทางด้านแม่ฮ่องสอนอีกทางหนึ่ง ญี่ปุ่นเข้ายึดพม่าได้เมืองร่างกุ้งและมัณฑะเล และมีท่าทีที่จะไปตีอินเดียอีกต่อไป แต่ก็หมดกำลังเสียก่อน 

ส่วนการรบทางด้านยุโรปนั้น อังกฤษ-อเมริกา กับ เยอรมันครั้งแรกก็เป็นฝ่ายรุกเช่นเดียวกัน ครั้นมาตอนปลายปี พ.ศ.2486  เยอรมันก็อ่อนกำลังลง เมื่อเยอรมันอ่อนกำลังลงเช่นนั้น ซึ่งเป็นการแพ้แก่อังกฤษและอเมริกาโดยปริยาย อังกฤษและอเมริกาจึงจัดกำลังทัพมาเพิ่มทางเอเซียมากยิ่งขึ้นเพื่อจะปราบญี่ปุ่น 

ทางด้านประเทศไทย อังกฤษและอเมริกา พอจะทราบความฝืนใจของไทยในการยอมร่วมรบกับญี่ปุ่น จึงไม่ทำการรุนแรงอะไรกับไทยมากนัก คงมุ่งจะปราบฝ่ายญี่ปุ่นฝ่ายเดียว  ระหว่างสงครามดังกล่าวนั้น ทางราชการจังหวัดอุตตรดิตถ์ได้ประกาศให้ราษฎรทำหลุมหลบภัย กับทั้งให้อพยพย้านออกไปอยู่ในที่ห่างไกลชุมชนเพื่อป้องกันอันตรายจากการโจมตีทางอากาศของเครื่องบิน สถานที่ราชการก็อพยพย้ายออกไปอยู่ในที่ห่างไกลชุมชนเช่นเดียวกัน คือ ห่างจากทางรถไฟ ห่างจากสถานี ห่างสะพานข้ามแม่น้ำ เพราะอังกฤษ - อเมริกาประสงค์ที่จะทำลายตัดเส้นทางคมนาคมเพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นได้อาศัยใช้ลำเลียงทหารและขนส่งสัมภาระได้สะดวก 

ข่าวภัยทางอากาศในประเทศไทยมีมากขึ้น รู้ไปถึงทางกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ลำปาง ทางราชการจังหวัดอุตรดิตถ์จึงได้จัดหน่วยป้องกันภัยทางอากาศ และหน่วยบอกสัญญาณระวังภัยโดยมีเจ้าหน้าที่ประจำทั้งกลางวันและกลางคืน สถานที่ต่างๆ รวมทั้งอาคารบ้านเรือนราษฎรและร้านค้ามีการพรางไฟทั่วไป 

หน่วยป้องกันภัยทางอากาศที่จัดตั้ง ในปัจจุบันได้แก่ ค่ายศรีพนมมาศ หรือ ป.พัน 20 ตั้งอยู่ริมเส้นทางหลวงจังหวัดสายพระแท่นศิลาอาสน์ – อ.ลับแล ซึ่งทางการเห็นว่าเป็นช่องทางที่เครื่องบินเลือกบินผ่านเข้าตัวเมืองอุตรดิตถ์ จึงได้เลือกพื้นที่ตั้งหน่วยป้องกันภัยทางอากาศตรงบริเวณนั้น 




ภาพบริเวณสถานีรถไฟอุตรดิตถ์ในอดีต



ภาพด้านหน้าของสถานีรถไฟอุตรดิตถ์



ภาพด้านข้างของสถานีรถไฟอุตรดิตถ์



อุตตรดิตถ์ถูกบอมบ์ครั้งแรกวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2487 ตรงกับวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 6 มีเครื่องบิน บินมาจากทางทิศใต้ 2 เครื่อง มาทิ้งบอมบ์สะพานข้ามแม่น้ำน่านที่บ้านดารา ( สะพานปรมินทร์ ) เสียงระเบิดดังไปถึงในตัวจังหวัด เครื่องบินได้ทิ้งระเบิดลงสะพาน 1 ลูก แล้วบินมาที่หมู่บ้านวังกะพี้ ยิงปืนกลกราดบ้านวังกะพี้ บ้านท่าทอง และโรงงานน้ำตาลไทยวังกะพี้ ตลอดมาถึงบ้านป่าเซ่า ที่วังกะพี้ ปรากฎว่าลูกกระสุนปืนกลจากเครื่องบินถูกขาครูประชาบาล ชื่อนายมาด กลิ่นเชตุ และยิงกราดสถานีรถไฟวังกะพี้ กระสุนทะลุฝาเข้าไปถูกเด็กอ่อนที่กำลังนอนอยู่ในเปลตายคาที่ ชาวตลาดวังกะพี้พากันหนีหลบภัยเข้าไปอยู่ใต้ถุนตลาด กระสุนถูกชาวจีนคนหนึ่งที่ข้อมือ 

ชาวจีนและนายมาด ผู้เคราะห์ร้าย ทนพิษของกระสุนปืนกลไม่ไหวได้ถึงแก่กรรมไปตามกัน ชาวบ้านและชาวตลาดวังกะพี้พากันอกสั่นขวัญหายไปตามกัน บางคนก็ไปอาศัยอยู่โคนต้นไม้เพื่อหลบภัย บ้างก็หมอบแอบอยู่ข้างขอนไม้ ที่มีหลุมหลบภัยก็หนีลงไปอยู่ในหลุม เสียงสวดมนต์ภาวนากันพึมพำ บ้างก็เสียงร้องคุณพระช่วยตามแต่ใครจะนึกได้อย่างไรก็ว่ากันไป ผิดบ้างถูกบ้างเพราะความตกใจกลัว บ้างก็ยกมือไหว้คุณปู่คุณเจ้า เมื่อเครื่องบินผ่านไปแล้ว คนที่ยังไม่ได้ทำหลุมหลบภัยต่างก็รีบทำทั้งกลางวันและกลางคืน 

ในตอนบ่ายของวันที่เครื่องบินมาทิ้งระเบิดสะพานบ้านดารานั้น คนแถวบ้านท่าอิฐ บางโฑ และท่าเสา ได้ยินเสียงครืนๆ ก็สำคัญว่าฟ้าร้อง แต่ชั่วเวลาไม่นานก็ได้ยินเสียง ครืน ! ครืน ! ครืน ! และได้เห็นเครื่องบินโฉบไปๆ มาๆ อยู่ทางใต้ 

“ ไม่ใช่เสียงฟ้า เสียงเรือบินโจมตีโรงงานน้ำตาลโว้ย พวกเรารีบหนีลงหลุมหลบภัยเร็ว ” ไม่ว่าคนหนุ่ม คนแก่ ทั้งหญิงและชาย เด็ก ผู้ใหญ่ต่างก็วิ่งหาหลุมหลบภัยกันให้วุ่นวายโกลาหล เสียงเครื่องบินดังกระหึ่มไปทางทิศเหนือ ไปทิ้งบอมบ์ที่สะพานแม่ต้า (สะพานแก่งหลวง) ลำน้ำยม อีกต่อไป 


สะพานแม่ต้า หรือสะพานแก่งหลวง  จ.แพร่  ถูกโจมตีทางอากกาศเหมือนกัน

เมื่อเครื่องบินหายลับไปแล้ว คณะกรรมการอำเภอเมือง ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ทางจังหวัด พากันรีบไปที่วังกะพี้ทันที ได้เห็นเหตุการณ์ที่เครื่องบินกราดปืนกล สถานที่บางแห่งก็พรุนไปด้วยรอยกระสุนปืนกล ชาวบ้านพากันเก็บกระสุนปืนได้เป็นอันมาก 

พนักงานรถไฟซึ่งประจำอยู่ที่สถานีบ้านดารา เมื่อเครื่องบินกลับไปแล้ว ก็ได้โทรเลขแจ้งมายังกองบำรุงทางที่อุตตรดิตถ์ ทางเจ้าหน้าที่กองบำรุงทางรถไฟจึงไปยังที่เกิดเหตุในตอนเย็นวันเดียวกันนั้น ได้เห็นอำนาจร้ายแรงของลูกระเบิดและปืนกลเช่นนั้น จึงแนะนำให้ชาวบ้านรีบทำหลุมหลบภัย กับทั้งทางสถานีก็รีบช่วยกันขุดหลุมหลบภัยไว้ที่ห่างจากสถานีอย่างรีบเร่งเช่นกัน 

วันรุ่งขึ้นที่ 26 เมษายน พ.ศ.2487 พวกชาวบางโพ และชาวท่าเสา พร้อมกับข้าราชการบางคน ต่างก็อยากจะเห็นสะพานบ้านดาราถูกโจมตี จึงพากันไปดูมากมาย 

วันเดียวกัน 26 เมษายน เวลาประมาณ 11.00 น. มีเครื่องบินมาจากทางทิศเหนืออีก 6 เครื่อง บินตรงมาทิ้งระเบิดที่สะพานบ้านดาราซ้ำอีกเป็นรอบที่ ๒ พอบินมาเข้าเขตสะพานบ้านดารา และบินแยกขบวนเป็นวงกลมกราดกระสุนปืนกล เสียงรัวเป็นประทัดแตก บ้านที่อยู่ในรัศมีของกระสุนปืน มีบ้านเต่าไห บ้านไร่อ้อย บ้านพิชัย และอีกหลายหมู่บ้าน เครื่องบินกราดกระสุนปืนกลเสียงดังไม่ขาดระยะ และระดมการทิ้งบอมบ์ขนาดใหญ่ ลูกบอมบ์บางลูกพลาดเป้าหมาย ตกลงไปในน้ำ และบนหาดทราย บางลูกตกลงระหว่างช่องสะพาน บางลูกก็ถูกหัวสะพาน พวกที่พากันไปดู ต่างก็พากันวิ่งหนีเอาตัวรอดกันจ้าละหวั่น บางคนเคราะห์ร้ายถูกสะเก็ดระเบิด และถูกกระสุนปืนกลถึงแก่ล้มตายไปหลายคน เพราะหนีไม่ทัน 

ขณะที่เครื่องบินกำลังบินโจมตีสะพานบ้านดาราอยู่นั้น เผอิญเป็นเวลาเดียวกับที่ขบวนรถไฟจากพิษณุโลกมาทำการขนถ่ายสัมภาระอยู่พอดี ขบวนที่มาจากพิษณุโลกมาจอดอยู่ฝั่งด้านใต้ของสะพาน ขบวนที่มาจากอุตตรดิตถ์จอดขนถ่ายอยู่ทางฟากด้านเหนือของสะพาน ผู้โดยสารกำลังเดินข้ามสะพานเพื่อสับเปลี่ยนรถพอดีกับที่เครื่องบินทั้ง 6 เครื่องดังกล่าวนี้บินมาถึง จึงเป็นเวลาเคราะห์ร้ายรวมกันขนาดใหญ่ หัวรถจักรและรถตู้ก็ถูกกระสุนปืนกลเสียหายไม่น้อย 

ภัยทางอากาศโดยเครื่องบินโจมตีสะพานบ้านดาราครั้งนี้ นับเป็นการถูกโจมตีทางเครื่องบินครั้งที่ 2 ของจังหวัดอุตรดิตถ์ คราวนี้ สถานที่ทำการของทางราชการบางแห่งที่ยังไม่ย้ายหนีภัย จึงทำการย้ายด่วนทันที ศาลากลางจังหวัดย้ายไปอยู่ที่อำเภอลับแล และหน่วยงานอื่นอีกหลายแห่งพากันขนย้ายกันอย่างรีบเร่งที่สุด 


ภาพแสดงการโจมตีทิ้งระเบิดด้วยเครื่องบิน B -24


เครื่องบินกราดปืนกลที่บางโพและท่าเสา 

นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2487 เป็นต้นมา เครื่องบินได้มาทิ้งระเบิดและยิงปืนกลกราดที่สะพานบ้านดารา จากนั้นก็มีเว้นเพียงระยะ 3 - 4 วัน จะมีเครื่องบินมาโจมตีอีกเป็นระลอกๆ เช่นนี้อยู่เสมอ จากโจมตีสะพานบ้านดาราแล้ว เครื่องก็จะบินเข้าไปในเขตตัวจังหวัดอุตตรดิตถ์ กราดปืนกลยิง ก่อนที่เครื่องบินจะเข้าไปในเขตตัวจังหวัดก็จะมีเสียงกระหึ่มมาแต่ไกล เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันภัยของจังหวัดได้ยินเสียงก็จะรีบเปิดไซเรน หวอ ! หวอ ! บอกสัญญาณภัย เวลาเครื่องบินกลับไปแล้ว ก็จะเปิด หวอ ! หวอ ! หวอ ! อีก เป็นการบอกสัญญาณหมดภัย 

เรื่องการอพยพหนีภัยของสถานที่ราชการอีกครั้ง เช่น โรงเรียนประจำจังหวัดชาย อพยพไปทำการสอนอยู่ที่ศาลาวัดบรมธาตุทุ่งยั้ง โรงเรียนสตรีจังหวัด อพยพไปสอนอยู่ที่ โรงเรียนวัดไผ่ล้อม หาดท่าอิฐ และเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2487 โรงเรียนประชาบาลตำบลท่าเสา ได้ย้ายไปเรียนอยู่บนกุฏิพระวัดไผ่ล้อม หาดท่าอิฐนั่นเอง 

วันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2487 เวลาบ่าย มีเครื่องบินชนิด 2 ลำคู่แฝดติดกัน 2 เครื่อง บินมาจากทิศใต้ มาถึงก็บินโฉบลงระยะต่ำ ยิงกราดถังน้ำซึ่งเป็นหอสูงของรถไฟ และยิงกราดหัวรถจักรซึ่งจอดอยู่ในโรงพักรถที่สถานีรถไฟอุตตรดิตถ์ ปืนกลภาคพื้นดินของญี่ปุ่นได้ยิงขับไล่เครื่องบินแฝดทั้ง 2 ลำนั้น เสียงดังสนั่นหวั่นไหว เครื่องบินแฝดทั้งคู่นั้นได้บินเลยไปที่ตลาดท่าเสา ยิงกราดรถจักรและตู้รถไฟ แล้วบินวกกลับมายิงกราดที่สถานีรถไฟอุตตรดิตถ์ซ้ำอีกเป็นรอบสอง แล้วกลับไปยิงที่ท่าเสาอีก โดยการบินกลับไปกลับมายิงถล่มเป็นว่าเล่น ทางภาคพื้นดินก็ยิงขับไล่ไม่ขาดเสียง แต่ไม่อาจทำให้เครื่องบินของข้าศึกเสียหายอะไรได้ 

นับเป็นครั้งแรกที่ชาวตลาดบางโพ และชาวตลาดท่าเสา ได้เห็นเครื่องบินเข้ามายิงกราดในตัวจังหวัดและได้เห็นเครื่องบินอย่างใกล้ชิด ทั้งกลัว และทั้งอยากดูอยากเห็น เสียงปืนกลดัง ครืน ! ครืน ! ทั้งที่ยิงกราดลงมาจากเครื่องบิน และทั้งที่ยิงขับไล่จากภาคพื้นดิน ดังประสานเสียงสนั่นหวั่นไหว คนเฒ่าคนแก่บางคนได้ยินเสียงถึงกับเป็นลมช็อคไปเลยก็มี บางคนไม่เคยได้พบได้เห็นเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน ก็ตกประหม่าขวัญหนี วิ่งหาที่หลบซ่อนกันชุลมุนวุ่นวาย บ้างก็วิ่งเข้าซุกในกระทอใส่ถ่านด้วยความตกตลึงกลัว บางคนคว้าได้ผ้าขี้ริ้ววิ่งลงหลุมหลบภัย ห่อเงินห่อทองของมีค่าอย่างอื่นไม่เอาไป เพราะความตกใจกลัวจนหยิบฉวยอะไรไม่ถูก ผู้ชายบางคนก็ห้อยพระเครื่องเต็มคอ บางคนก็มีตะกรุด ผ้าประเจียด เครื่องบินที่มาโจมตีนี้ มุ่งทำลายแต่สะพานและรถไฟเพื่อตัดทางคมนาคม ไม่ให้ฝ่ายญี่ปุ่นลำเลียงสัมภาระและทหารได้สะดวก ส่วนอาคารบ้านเรือนที่อยู่ในรัศมีของระเบิดและกระสุนปืนนั้น ถือเสียว่าเป็นคราวเคราะห์หามยามซวยไป 

จากการโจมตีทางเครื่องบินครั้งนี้ ทำให้ชาวจังหวัดอุตตรดิตถ์เกิดความรู้ถึงภัยทางอากาศขึ้นมาก อย่างเช่น ลูกระเบิดครั้งแรกก็เข้าใจว่าคงจะเป็นลูกกลมๆ คล้ายลูกมะพร้าวหรือลูกฟุตบอล แต่เมื่อได้เห็นลูกระเบิดที่ไม่ระเบิดนอนกลิ้งอยู่ข้างสะพานบ้านดาราในลักษณะนอนตะแคงข้าง มีสีดำทำด้วยเหล็กหล่อรูปกลมๆ และยาวคล้ายหัวปลีกล้วย ขนาดใหญ่เท่าไหซองใหญ่ๆ ยาวประมาณ 3 ศอก ตอนท้ายมีหางยาวออกมา ตอนหัวมีเหล็กขนาดใหญ่เกือบเท่าแขนเมื่อพวกทหารช่างได้มาถอดออกได้เห็นข้างใน ลูกระเบิดที่ตกลงมานอนตะแคงอยู่นั้น ทหารช่างบอกว่าเป็นระเบิดที่ทิ้งระยะต่ำ ไม่ทันตั้งตัวตรงจึงไม่ระเบิด หนักขนาดหามสี่คนยังไม่ไหว

>>>ติดตามต่อได้ใน...เล่าเรื่องเมืองอุตรดิษฐ์..ตอน..สงครามโลกครั้งที่ 2 (2)<<<





ขอบคุณ :  1)  http://pantip.com/topic/31885621

               2)  http://dict.rtafa.ac.th/rtafdict/index.php?letter

               3)  http://www.oknation.net/blog/print

               4)   http://portal.rotfaithai.com/modules

               5)  http://www.google.co.th/search?q=สะพานปรมินทร์

               6)  หนังสือ "ตำนานเมืองอุตรดิษฐ์"

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์