เล่าเรื่องเมืองอุตรดิษฐ์..ตอน..รถไฟสายเหนือ


เส้นทางรถไฟสายเหนือเริ่มจากแยกสถานีชุมทางบ้านภาชี แล้วขึ้นไปทางทิศเหนือผ่านสถานีท่าเรือ ลพบุรี บ้านหมี่ บ้านตาคลี นครสวรรค์ ชุมแสง  บางมูลนาก ตะพานหิน พิจิตร พิษณุโลก ชุมทางบ้านดารา อุตรดิตถ์ เด่นชัย แม่เมาะ นครลำปาง ขุนตาน ลำพูน แล้วสุดปลายทางที่สถานีเชียงใหม่ รวมระยะทางตลอดสาย 751 กิโลเมตร ลอดอุโมงค์ทั้งสิ้น 4 อุโมงค์คือ อุโมงค์ปางตูมขอบ อุโมงค์เขาพลึง อุโมงค์ห้วยแม่ลาน และอุโมงค์ขุนตาน ซึ่งเป็นอุโมงค์รถไฟยาวที่สุดในประเทศไทยและในระหว่างเส้นทางที่สถานีชุมทางบ้านดารา  จะมีทางแยกไปสุดสายที่สถานีสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัยอีกด้วย


แผนที่แสดงเส้นทางรถไฟจากกรุงเทพฯ - เชียงใหม่


รถไฟเตรียมทำทางมาอุตรดิษฐ์ 

ปี พ.ศ.2448 – 2449  กรมรถไฟได้ทำทางรถไฟมาทางสายเหนือ มีการตัดต้นไม้ปรับพื้นที่สูงให้ต่ำลง และที่ต่ำให้สูงขึ้น จัดระดับแนวทางตรงมายัง วัดวังเตาหม้อ ( วัดท่าถนน ) ผ่านป่าช้าซึ่งเป็นป่าไผ่ ป่าไม้สักและไม้อื่นๆ ร่มครึ้มน่ากลัว ป่าไม้ดังกล่าวมีตลอดไปถึงทางลับแล ถนนอินใจมีทุกวันนี้ และผ่านไปถึงที่ตั้งสถานีรถไฟท่าเสาเดี๋ยวนี้ ตัดทางรถไฟผ่านหน้า วัดท่าเสา( วัดใหญ่ท่าเสา ) ไปหน้า วัดดอยท่าเสา ระยะทางดังกล่าวนี้เป็นป่าไม้ยางและต้นไม้ใหญ่ๆ หลายชนิดตลอดทาง 

รถไฟมาถึงอุตรดิษฐ์ เมื่อทางรถไฟทำทางเข้ามาถึงอุตรดิษฐ์แล้ว ต่อมา ในปี พ.ศ.2450 – 2451 ได้วางรางสำหรับรถวิ่งมาตามเส้นทางที่วางไว้ แต่สะพานข้ามแม่น้ำน่าน“สะพานปรมินทร์” ที่บ้านดารา ยังทำไม่เสร็จเรียบร้อย  ทางกองช่างทำการสร้างทางรถไฟ มีความจำเป็นต้องนำหัวรถจักรรถไฟและรถตู้พ่วง ข้ามไปใช้ในการสร้างทางต่อไปจนถึงอุตรดิษฐ์ 

เมื่อได้มาเห็นรถไฟแล้ว ต่างพากันพูดว่า “ รถไฟเป็นอย่างนี้เองหนอ " บางคนก็พูดกันเซ็งแซ่ว่า “ เสียดายพ่อแม่เราตายไปเสียก่อนเลยไม่ได้เห็นรถไฟ พวกเรามีบุญที่ได้เห็น " ที่เขาพูดว่ารถไฟมีแรงมากกว่าช้าง เป็นความจริงแท้ๆ มันลากของหนักๆ มาได้เป็นแถวยาวมาก พ่วงกันลากมาได้ตั้งหลายสิบคัน บางคนก็คุยว่า “ ถ้าเขาทำสะพานข้ามแม่น้ำที่บ้านดาราเสร็จแล้ว รถไฟวิ่งข้ามได้ จะต้องลองนั่งไปบางกอกให้ได้ ได้ยินเขาพูดกันว่ารถจะต้องพักค้างคืนที่ปากน้ำโพ 1 คืน รุ่งขึ้นก็วิ่งต่อไปถึงบางกอก" 

เมื่อรถไฟหยุดจอดอยู่ ก็มีคนมายืนดูใกล้ๆ กันมากมาย ต่างก็สงสัยว่ามันวิ่งไปได้อย่างไร บางคนก็ว่ามันวิ่งด้วยไฟ เขาจึงเรียกว่ารถไฟ เขาเอาไม้ท่อนสั้นๆ ใส่ให้ลุกเป็นไฟ มีควันพุ่งออกทางปล่องยาวๆ  บางคนบางพวกต่างก็พูดว่ามันวิ่งด้วยของอย่างนั้นอย่างนี้แล้วแต่ใครจะมีความเห็นอย่างไรก็พูดไปอย่างนั้น  เวลารถไฟจะเคลื่อนที่ออกวิ่ง ก็พ่นเปลวลูกไฟออกทางปล่องคล้ายไฟพะเนียง และเปิดแตรดัง หวูด ! หวูด ! เสียงลั่น พวกที่เข้าไปดูต่างตกใจวิ่งหนีกันชุลมุน กลัวมันจะดูดเข้าไปทับตายตามที่เคยได้ฟังเขาพูดกันมาก่อนเพราะบางคนก็ว่ารถไฟมันมีผีด้วย 


ภาพในอดีต รถไฟเครื่องจักรไอน้ำจอดที่บริเวณสถานีรถไฟอุตรดิตถ์


 แสดงเส้นทางรถไฟ และย่านการค้าขายบริเวณโค้งน้ำน่านหาดท่าอิฐ


วางรางรถไฟไปหาดท่าอิด ปี พ.ศ.2450 รถไฟได้วางรางผ่านบางโพไปถึงท่าเซา ( ท่าเสา ) ผ่านป่าไปเท่านั้น สองข้างทางรถไฟยังเป็นป่าอยู่ตลอด ที่บางโพเวลานั้นมีบ้านเรือนราษฎรทางด้านใต้วัดวังเตาหม้อ ( วัดท่าถนน ) ด้านใต้และด้านเหนือกรมทหาร ( โรงเรียนอนุบาลปัจจุบัน ) ก็มีบ้านราษฎรอยู่บ้าง ทางด้านเหนือวัดวังเตาหม้อขึ้นไป ถึงตอนบริเวณที่ตั้งศาลากลาง ศาล และสถานีตำรวจ มีบ้านอยู่ห่างๆ กัน ริมถนนสายริมน้ำ ส่วนที่ท่าเซาก็มีแต่ป่าไผ่ ป่าไม้ยางเป็นจำนวนมาก มีราษฎรปลูกบ้านอยู่กันบ้าง ห่างๆ กัน แต่ไม่มากนัก ที่บางโพและท่าเสาเวลานั้นไม่มีตลาดค้าขายอะไรเลย คงมีแต่บ้านราษฎรปลูกอยู่ห่างกันเป็นหย่อมๆ เท่านั้น 

ส่วนตลาดค้าขายที่เจริญคึกคักคงอยู่ที่หาดท่าอิด มีตลาดและร้านค้าสองฟากถนนตั้งแต่สะพานข้ามคลองบุ่งท่าอิด ( สะพานนี้ลงตรงโรงเรียน โรงต้มกลั่นสุราปัจจุบัน ) ตลอดไปจนถึงหัวหาด ลงหาดทราย มีบ้านเรือปลูกกันอยู่มาก และมีห้างร้านที่ทำการค้า คือ ห้างกิมเซ่งหลีค้าไม้ ห้างบอมเบทำไม้ ห้องบอเนียวค้าไม้ ห้างแม่งาวค้าไม้ ที่ตลาดหาดท่าอิดมีโรงบ่อนดังกล่าวมาแล้วตอนต้น 

ในแม่น้ำน่านหน้าตลาดหาดท่าอิด มีเรือสินค้าจอดเรียงซ้อนกันเป็นตับ เรือกลไฟก็วิ่งโยงลากเรือมาส่งแทบไม่ขาดระยะ เสียงหวูดจากเรือกลไฟดังอยู่เสมอ ตั้งแต่ต้นฤดูน้ำมากจนถึงปลายฤดู เมื่อสิ้นฤดูฝนเข้าฤดูแล้ง ก็มีพ่อค้าจากทางเหนือลงมารับซื้อสินค้าจากตลาดหาดท่าอิดแห่งนี้ แล้วบรรทุกต่าง นำกลับขึ้นเหนือดังได้กล่าวมาแล้วตอนต้นเช่นกัน 

เมื่อรถไฟมาถึงบางโพท่าอุตรดิษฐ์แล้ว กรมรถไฟได้เห็นว่าตลาดการค้าที่หาดท่าอิดอยู่ไม่ไกลจากบางโพมากนัก จึงได้มีการวางรางรถไฟไปถึงตลาดหาดท่าอิด เพื่อนำตู้บรรทุกสินค้าไปส่งให้พวกพ่อค้าที่ตลาดท่าอิดได้สะดวกและเร็วกว่าทางเรือ 

ทางรถไฟที่ลงไปตลาดหาดท่าอิดนั้น ไปเชื่อมต่อแยกที่ด้านเหนือของที่ว่าการอำเภอบางโพ ( อยู่บริเวณที่ตั้งห้างสินค้าทองไพจิตรปัจจุบัน ) ไปแยกเข้าสวนและบ้านราษฎร ( ตรงที่ตั้งโรงเลื่อย พ.วานิช และโรงน้ำแข็งสุวัฒน์ เดี๋ยวนี้โรงเลื่อยเลิกกิจการไปแล้ว ) ตรงไปลงหาดท่าอิด ผ่านหน้าวัดไผ่ล้อม ( ล่าง ) ผ่านหน้าโรงบ่อนไปถึงหัวหาด 

ระหว่างในช่วงเวลาที่กำลังวางรางรถไฟลงไปยังตลาดหาดท่าอิดอยู่นั้น เป็นเวลาที่สมเด็จกรมขุนเทพทวาราวดี (นาม ร.6 ก่อนที่จะได้รับการสถาปนาเป็นมกุฏราชกุมาร ... ชาวบ้านเมืองพิชัย ยังไม่เรียกว่าสยามมกุฏราชกุมาร) พระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จมาประพาสอุตรดิษฐ์ พระองค์ได้ทรงทอดพระเนตรทางรถไฟที่จะแยกลงไปยังตลาดหาดท่าอิด ทรงเห็นว่าเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง ดังนั้น พระองค์จึงทรงมีพระดำรัสชี้แจงแก่บรรดาเจ้าของที่ดินซึ่งทางรถไฟจะต้องตัดทำทางผ่านไป เวลานั้นพวกเจ้าของที่ดินหวงแหนที่ดินของตนโดยไม่ยอมให้ตัดทางรถไฟผ่าน ต่อเมื่อได้ฟังพระดำรัสชี้แจงถึงประโยชน์ที่จะได้รับทั้งของประชาชนและของบ้านเมืองดังนั้นแล้ว ทุกคนก็เห็นด้วยและเชื่อตามพระดำรัสนั้น จึงยอมให้ทำทางรถไฟผ่านในที่ดินของพวกตนได้ เวลานั้น เจ้าเมืองอุตรดิษฐ์ คือ พระยาสุจริตรักษา ( เชื้อ ) 



ภาพถ่ายแสดงการเปลี่ยนแปลงของสายน้ำน่าน  บริเวณตลาดหาดท่าอิด


ตลาดหาดท่าอิดเริ่มอพยพ 

ตลาดหาดท่าอิด เป็นตลาดการค้าและเป็นท่าเรือสินค้าของอุตรดิษฐ์ มาตั้งแต่สมัยขอมปกครองถิ่นไทย และได้มีทั้งเจริญและทั้งเสื่อม ตามวาระของเหตุการณ์บ้านเมืองตามยุคตามสมัย ถ้าหากยุคใดบ้านเมืองเกิดศึกสงคราม การค้าที่ตลาดหาดท่าอิดก็เสื่อมลง ถ้ายุคใดบ้านเมืองอยู่ในภาวะปกติ การค้าก็เจริญขึ้น 

ตลาดการค้าท่าอิดแห่งนี้ ได้เริ่มเจริญขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 บ้านเมืองสงบไม่มีทัพศึก พม่าก็ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ นับแต่ปี พ.ศ.2428 เป็นต้นมา ครั้นมาถึงปี พ.ศ.2454 ได้มีขบวนรถไฟวิ่งมาทางภาคเหนือโดยสร้างสถานีที่บางโพ และที่ท่าเซา ( ท่าเสา ) ด้านใต้ของวัดใหญ่ท่าเสา  บรรดาพ่อค้าแม่ขายที่ตั้งร้านอยู่ที่ตลาดหาดท่าอิดแต่เดิม ต่างก็มีความเห็นว่าควรย้ายไปอยู่ใกล้สถานีอุตรดิษฐ์และสถานีท่าเสา เพื่อสะดวกและรวดเร็วจากการรับสินค้าซึ่งบรรทุกมาทางรถไฟ โดยมีเหตุผลประกอบอีกหลายอย่าง คือ 

1. ที่ตลาดหาดท่าอิด ฤดูน้ำ น้ำมักจะท่วม ต้องขนย้ายของหนีน้ำกับบ่อยๆ เฉพาะในปีที่รถไฟขยายทางลงมายังหาดท่าอิด ปีนั้นน้ำท่วมถึง 6 – 7 ครั้ง 

2. เมื่อรถไฟมาถึงอุตรดิตถ์แล้ว เช่นนี้ สินค้าโดยมากก็บรรทุกมากับขบวนรถไฟ เร็วกว่าการบรรทุกเรือมาก 

3. เมื่อรถไฟวิ่งถึงแพร่และลำปางได้แล้ว  ก็จะเลิกใช้วัวต่าง ม้าต่าง บรรทุกของ และจะไม่ต้องลงมารับสินค้าที่ตลาดหาดท่าอิดนี้อีกต่อไป การค้ากับพ่อค้าทางเหนือก็จะต้องขาดติดต่อกัน 

4. แม้ว่าทางรถไฟจะทำทางแยกลงมา และบรรทุกสินค้าลงมาส่งให้ถึงตลาดนี้ได้ ก็เห็นว่าไม่สมควรจะอยู่อีกต่อไป เพราะน้ำท่วมทุกปี ๆ ละหลายครั้ง 

5. ตลาดหาดท่าอิดอยู่ไกลกับสถานที่ราชการของบ้านเมือง ไม่สะดวกแก่การไปมาติดต่อกัน 

เมื่อพวกพ่อค้าแม่ค้ามีความเห็นร่วมกันดังนี้แล้ว ดังนั้น พวกเขาจึงย้ายร้านขึ้นไปปลูกสร้างใหม่ที่บางโพ และบางพวกก็ย้ายไปอยู่ท่าเสา  การเริ่มอพยพย้ายจากตลาดหาดท่าอิด ขึ้นไปอยู่ที่บางโพและท่าเสาครั้งนั้น ได้เริ่มย้ายกันตั้งแต่ปี พ.ศ.2454 ซึ่งเป็นปีที่ขบวนรถไฟวิ่งขึ้นมาถึงอุตรดิษฐ์ และท่าเสา และได้สร้างสถานีที่จอดพักรถรับส่งสินค้าและผู้โดยสารขึ้นทั้งสองแห่ง  ตั้งแต่นั้นมา บริเวณบางโพรอบวัดวังเตาหม้อ ( วัดท่าถนน ) ก็เป็นตลาดหนาแน่นเพิ่มขึ้นทุกที ที่ท่าเสาก็เช่นเดียวกัน มีร้านค้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ป่ารกก็ถูกถากถางตัดฟันจนเตียน หาดท่าอิดก็เสื่อมลง รถไฟก็ต้องรื้อรางถอนกลับหมด จนที่สุด ตลาดหาดท่าอิดก็หมดสภาพลง ไม่มีการค้าเหลืออยู่อีกต่อไป.


สร้างสถานีรถไฟอุตรดิตถ์ 

ปี พ.ศ.2452 – 2453 ทางกรมรถไฟได้สร้างสถานีสำหรับเป็นที่จอดพักรถขึ้นที่อุตรดิษฐ์ สร้างขึ้นที่บางโพหลังวัดวังเตาหม้อ ( วัดท่าถนน ) สถานที่สร้างอาคารสถานีนั้นเป็นป่าช้าเผาศพเก็บศพของวัดวังเตาหม้อ ซึ่งเป็นป่าไผ่ ป่าไม้สัก และไม้ใหญ่เล็กต่างๆ ทางรถไฟได้จ้างคนปั้นอิฐเพื่อก่อสร้างอาคารสถานี ช่างเยอรมัน (คารล ดอรริ่ง) เป็นผู้ออกแบบตัวอาคาร เป็นตึกใหญ่สูง บนหลังคาตึกสร้างป้อมไว้เป็นที่สำหรับตากอากาศด้วย สร้างไว้ตรงด้านหน้าของตึก ครั้นต่อมาป้อมดังกล่าวนี้ได้ถูกรื้อออกเสียแล้ว สถานีรถไฟอุตรดิษฐ์แห่งนี้ เป็นอาคารสถานีสูงและใหญ่สวยงามมากกว่าแห่งอื่นในภาคเหนือ สถานีอุตรดิษฐ์แห่งนี้เป็นที่จอดพักรถ มีอู่รถ รถไฟพักเติมน้ำและฟืน กับสร้างบ้านพักของพนักงานรถไฟไว้ด้วย (สถานีดังกล่าวถูกระเบิดพังเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2)  ฟากทางรถไฟไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ กรมทหารได้จัดให้เป็นสนามฝึกของเหล่าทหารม้า ชาวบ้านเรียกกันว่า สนามม้า 
 


สถานีรถไฟอุตรดิตถ์ (มองจากด้านหน้า)


สถานีรถไฟอุตรดิตถ์ (มองจากด้านข้าง)



สถานีรถไฟอุตรดิตถ์สร้างทดแทนหลังแรกที่ถูกทิ้งระเบิด 



สถานีรถไฟอุตรดิตถ์ที่ถูกปรับปรุงใหม่แต่ใช้เพื่อการอื่น   

 
 สถานีรถไฟอุตรดิตถ์ปัจจุบัน  อยู่อาคารเหนือด้านเหนือหลังเดิม


อนุสรณ์สถานรำลึก 

จากอุตรดิตถ์มุ่งสู่ลำปางขึ้นเหนือนั้น จะเป็นการเปลี่ยนภูมิประเทศของการเดินทางโดยสิ้นเชิง นับแต่เขาพลึงเป็นต้นไป  การเดินรถไฟจะต้องผ่านพื้นที่สูงและลาดชันของภูเขาโดยตลอด สำหรับรถไฟสายเหนือทุกสาย เมื่อมาถึงอุตรดิตถ์จึงจำเป็นต้องหยุดเพื่อเติมน้ำเติมฟืน หรือปลดขบวนให้มีจำนวนน้อยลง ในทางขาล่องก็เช่นเดียวกัน สถานีอุตรดิตถ์จึงเป็นสถานีใหญ่ สถานีสำคัญจนภายหลังจึงเปลี่ยนจุด ย้ายไปขยายตัวที่สถานีศิลาอาสน์  ในช่วงการบุกเบิกวางรางรถไฟสายเหนือตั้งแต่อุตรดิตถ์ขึ้นไปถือว่าเป็นช่วงที่วิบากเป็นอย่างยิ่ง ไข้ป่าคือศัตรูสำคัญ กรรมกรสร้างทางล้มตายกันเป็นจำนวนมาก ภาพหลังเส้นทางเสร็จจึงให้มีการรวบรวมอัฐิบรรจุไว้เป็นอนุสรณ์สถาน ตั้งอยู่ริมทางรถไฟที่วัดดอยท่าเสา



ภาพเขาพลึงขณะบุกเบิกเส้นทางรถไฟสายเหนือซึ่งภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง


ภาพบริเวณบ้านปางต้นผึ้งขณะบุกเบิกเส้นทางรถไฟสายเหนือ 


บริเวณสถูปบรรจุอัษฐิกรรมการผู้สร้างทางรถไฟสายเหนือ

IMG_1155.JPG

สถูปบรรจุอัษฐิกรรมการผู้สร้างทางรถไฟสายเหนือ

IMG_1160.JPG

ป้ายอนุสรณ์รำลึกผู้มีคุณต่อการรถไฟไทย

IMG_1161.JPG

รถที่ใช้ขนหินในการสร้างทางรถไฟ

IMG_1163.JPG

สถานที่สร้างสถูปบรรจุอัษฐิกรรมการผู้สร้างทางรถไฟสายเหนือที่เสียชีวิต จำนวนกว่า 5,000 คน
           บริเวณริมทางรถไฟหน้า  "วัดดอยท่าเสา"





ขอบคุณ  :  1)  http://portal.rotfaithai.com
                2)  http://www.oknation.net/blog/loongdali
                3)  http://topicstock.pantip.com/wahkor/topicstock
                4)  http://lms.thaicyberu.go.th
                5)  http://www.utdhome.com

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์