เล่าเรื่องเมืองอุตรดิษฐ์..ตอน..สงครามโลกครั้งที่ 2 (2)


โฉมหน้าของเครื่องบิน B - 24


สถานีรถไฟอุตตรดิตถ์ถูกบอมบ์อีก 

วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2487 เวลาย่ำรุ่งยังไม่ทันสว่างดี เครื่องบิน บี – 24 ของอเมริกาชนิด 4 เครื่องยนต์ จำนวน 2 เครื่อง ได้มาบินร่อนอยู่เหนือตลาดท่าเสา และตลาดบางโพ ได้ยิงปืนกลกราดมายังบริเวณสถานีรถไฟอุตตรดิตถ์ เป็นประกายแดงพราวเสียงดัง ครืน ! ครืน ! ลูกระเบิดขนาดเล็กตกลงยังที่หุงข้าวของทหารญี่ปุ่นและที่พักของทหารญี่ปุ่นพัง อีกลูกหนึ่งตกลงในท้องร่องมุมตลาด ร้านค้าพังไปบ้างบางแห่ง อีกเครื่องหนึ่งบินไปทางสะพานบ้านดาราเพื่อจะยิงกราดและทิ้งระเบิดสะพานซ้ำอีก ระเบิดบางลูกที่ทิ้งสถานีรถไฟอุตตรดิตถ์ บ้างก็ตกลงเหนือสถานีบ้าง ใต้สถานีบ้าง เครื่องบินลำที่บินไปจะระเบิดซ้ำสะพานบ้านดารานั้น เคราะห์ร้ายไปถูกปืนทหารญี่ปุ่นซึ่งเฝ้ารักษาสะพานอยู่นั้น กระสุนโดนเข้าที่หางเสือทำให้เสียการทรงตัว บินพุ่งไปตกลงที่หมู่บ้านหม้อ อำเภอพิชัย ตกในป่าอ้อยเกิดไฟลุกไหม้ นักบินเสียชีวิตไป 4 คน อีก 4 คนรอดตาย แต่ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยจับได้ ปรากฏว่าเป็นชาติอังกฤษ อเมริกา และเนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่นจะเข้าแย่งตัวเชลยเหล่านั้น แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยได้พาไปหลบซ่อนหนีญี่ปุ่นเสียก่อน เกรงว่าถ้าญี่ปุ่นแย่งเอาไปได้ คงจะต้องทำทารุณแก่พวกเซลยเหล่านั้นอย่างสาหัส หรือบางทีอาจแกล้งทรมานให้ตายก็เป็นได้ นับว่าเป็นโชคดีของพวกเชลยที่ได้มาตกมาอยู๋ในมือของฝ่ายไทย จึงได้รับความสุขความสบายในการกินการนอน งานการก็ไม่ให้ทำอะไร ถึงเวลาก็จัดอาหารมาให้กินเป็นพิเศษ 

ส่วนเครื่องที่เหลือนั้นไม่เป็นอันตรายอย่างไรเลย คงบินกลับไปฐานทัพของเขา ในวันนี้ ขณะที่เครื่องบิน บี - 24 ของฝ่ายอังกฤษ อเมริกา กำลังบินโจมตีสถานีรถไฟอุตตรดิตถ์อยู่นั้น เป็นเวลาที่พวกแม่ค้ากำลังนำของขายเข้าสู่ตลาดกันชุลมุนวุ่นวายอยู่นั้น และได้ประสบกับเหตุการณ์อันน่าตกใจกลัวเช่นนั้น ต่างก็ขวัญหนีดีฝ่อไปตามๆ กัน บางคนกำลังเดินหาบของจะเข้าไปขายในตลาด ได้เห็นเครื่องบินกำลังแผลงฤทธิ์ก็ตกใจกลัวมาก ถึงกับพูดกับพวกเดียวกันว่า “ ฉันไม่ไปขายของแล้ว เห็นไหมเครื่องบินมันร่อนต่ำลงมา เห็นที่ปีกมีไฟแดงๆ ด้วย ” บางคนเมื่อได้ยินเสียงดัง ครืน ! ครืน ! ก็ทิ้งหาบวิ่งเข้ามุดใต้ถุนร้านขายของ บ้างก็วิ่งไปหมอบในท่อระบายน้ำข้างถนน บ่นภาวนาตัวสั่นเหมือนลูกนก เครื่องบินโจมตีจนหนำใจแล้วก็บินกลับ และไปตกที่พิชัยหนึ่งเครื่องดังกล่าว เช้าวันนั้น เป็นอันว่าตลาดว่างเปล่าไม่มีทั้งคนขายและคนซื้อ เพราะต่างก็พากันหลบหนีเครื่องบินกันไปหมด ไปกันคนละทิศละทาง 

เมื่อเครื่องบินกลับไปแล้ว ต่างก็มาจับกลุ่มสนทนากันถึงเรื่องการวิ่งหลบหนีเครื่องบิน บางคนก็บอกว่าน่ากลัวมันจะมาโจมตีซ้ำอีก พวกเราต้องระวังกันไว้ดีกว่า   วันเดียวกันนี้ เวลาประมาณ 16.00 น.เศษ เครื่องบิน บี – 24 ได้บินเข้าถึงตัวจังหวัดอุตตรดิตถ์ จำนวน 8 เครื่อง เสียงไซเรนสัญญาณบอกภัยทางอากาศดังกังวานขึ้น พอเสียงหวอสงบลงก็ปรากฏว่าเครื่องบิน 8 เครื่องมาบินโฉบอยู่เหนือสถานีรถไฟอุตตรดิตถ์ แล้วเครื่องบินบินไปทางใต้ แล้ววนกลับมาทางเหนือพร้อมกับเสียงดังรัวจากปืนกลที่พ่นกระสุนลงมาจากเครื่องบิน ระคนกับเสียงระเบิดดัง ครืน ! ครืน ! เปรี้ยง ๆ ถล่มลงสถานีรถไฟอุตตรดิตถ์ซ้ำจากถูกถล่มเมื่อตอนเช้า ที่ตั้งกองเสบียงของญี่ปุ่นพังพินาศ ระเบิดตกถูกห้องแถวถนนราษฎร์สนาน หลังสถานีรถไฟพังไป 2 ห้อง เครื่องบินทั้ง 8 เครื่อง ได้ระดมยิงกราดและทิ้งระเบิดอย่างถี่ยิบ แล้วบินร่อนเป็นวงกลมไปๆ มาๆ 

ปืนต่อสู้อากาศยาน ปตอ. ที่ตั้งอยู่ที่สถานีรถไฟอุตรดิตถ์ก็ยิงโต้ตอบอย่างไม่ยอมหยุดเช่นเดียวกัน กระสุนปืน ปตอ. ไปโดนเครื่องบินเข้าลำหนึ่ง ไฟลุกแดง เสียงประชาชนที่อยู่หมู่บ้านป่าเซ่าทางฝั่งด้านตะวันออกของลำน้ำน่าน ร้องตะโกนกันว่า “ เครื่องบินไฟไหม้แล้วโว้ย โดนปืนเข้าบ้างแล้ว ” เครื่องบินหนึ่งในแปดเครื่องนั้น ไฟไหม้ใต้ท้องเห็นแสงไฟแดงโชติช่วง ได้บินออกจากหมู่บ้าน หัวปักต่ำลงและไปตกที่ป่าไม้ในหมู่บ้านม่อนดินแดง เสียงดังเหมือนฟ้าร้อง ไฟไหม้ลุกท่วมลำตัว ขณะที่เครื่องบินกำลังตกลงมาก่อนจะถึงแผ่นดิน นักบินได้โดดร่มชูชีพลงมา 3 คน แต่ร่มกางลงมาได้เพียง 2 คน อีก 1 คน ร่มไม่กาง เลยตกลงกระแทกกับตอไม้ตายทันที เมื่อเครื่องบินตก มีประชาชนและพวกทหารม้าที่ตั้งอยู่บ้านท่าเสา พากันวิ่งไปดู เห็นเครื่องบินชนต้นไม้หักราบเป็นแนว เครื่องบินหกคะเมนเครื่องพังกระจัดกระจายกระเด็นไปคนละทิศละทาง รอยเครื่องบินเป็นทางยาวประมาณ 20 วา กว้าง 10 วา เครื่องบินที่ตกนี้ เป็นเครื่องบิน บี – 24 สี่เครื่องยนต์ มีนักบินประจำมาด้วย 12 คน ตายคาซากเครื่องบินดำเป็นตอตะโก 9 คน 

นักบินที่โดดร่มชูชีพรอดตายมาได้ 2 คนนั้น ได้พากันดั้นด้นไปตามป่าเพื่อหวังว่าจะได้พบหมู่บ้าน คนหนึ่งเดินไปถึงบ้านน้ำริด เป็นชาวอังกฤษรุ่นหนุ่ม ได้ความว่าเป็นช่างถ่ายรูปประจำเครื่องบิน ชาวบ้านได้นำตัวไปมอบให้ตำรวจกองเมืองอุตตรดิตถ์ ส่วนนักบินอีกคนหนึ่งนั้นเดินเดาสุ่มไปจนเวลาพลบค่ำจึงไปเห็นโรงนาของชาวบ้าน จึงแวะเข้าไปขอข้าวกิน โรงนาแห่งนี้เป็นของชาวลับแล ถามกันพอฟังได้แต่คำว่า “ อินเดีย – อินเดีย - กัลกัตตา ” คนนี้เป็นชาวอังกฤษเหมือนกัน เป็นคนยิงปืนประจำเครื่องบิน ชาวลับแลเจ้าของโรงนาผู้นั้นเห็นเป็นฝรั่งและพูดกันไม่รู้เรื่อง ก็จัดหาอาหารให้กิน แล้วพาไปมอบให้ตำรวจลับแล 

นักบินที่โดดร่มรอดตายมาได้ทั้ง 2 คนนี้ เมื่อได้ถามดูก็พอจับความได้ว่า มีความสมัครใจเป็นเชลยของไทย ไม่ยอมเป็นเชลยของญี่ปุ่น เมื่อเชลยได้อยู่ในความดูแลของตำรวจเช่นนั้น มีประชาชนไปดูกันมาก ตำรวจก็จัดอาหารให้กินอย่างดี 

เครื่องบินทั้ง 8 เครื่อง ได้ถูกกระสุนปืน ปตอ. ที่ยิงต่อสู้ที่สถานีรถไฟอุตตรดิตถ์จนไฟลุกไหม้ไปตกที่หมู่บ้าน ม่อนดินแดง ห่างจากบ้านท่าเสาค่อนไปทางเหนือประมาณ 2 กิโลเมตรเศษๆ ต่อมาได้ทราบว่า มีเครื่องบินในจำนวน 8 เครื่องดังกล่าวนั้น ได้ถูกกระสุนปืน ปตอ. ที่สถานีรถไฟอุตตรดิตถ์ ไฟลุกไหม้ที่ปีก แต่นักบินได้พยายามพาบินข้ามเขาไปทางทิศตะวันตก และทราบว่าไปตกในป่า กิ่งอำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง นักบินตายหมดทั้งลำ 

เครื่องบินที่เหลืออีก 6 เครื่อง เมื่อเห็นพวกเดียวกันถูกยิงไฟไหม้ตกไป 2 เครื่อง ต่างก็ระดมยิงปืนกลและทิ้งระเบิดลงมายังกับห่าฝน จนถึงเวลาพลบค่ำ จึงพากันบินกลับไปฐานทัพที่กัลกัตตา  


ภาพระเบิดขนาด 500 ปอนด์ ขณะเตรียมโหลดเข้าใต้ท้องเครื่อง B-24 จากฐานทัพอากาศ ซาวบานี่ในอินเดีย ในภาพระบุว่าเตรียมนำไปทิ้งที่พม่าและไทย พฤศจิกายน 1944


สถานีรถไฟและโรงฟ้าอุตตรดิตถ์ ถูกระเบิดพังราบไม่เหลือ 

วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2487
  เป็นวันมหาวิปโยคสำคัญยิ่งของจังหวัดอุตตรดิตถ์ นับเป็นวันที่สูญเสียสถานที่สำคัญและชีวิตประชาชนไม่น้อยในวันนี้ 


วันรุ่งขึ้นแต่เช้าตรู่ บรรดาพวกพ่อค้าแม่ขายทั้งหลายต่างรีบจัดสินค้าใส่หาบนำไปขายที่ตลาด ซึ่งทางเทศบาลจัดเป็นตลาดชั่วคราวเพื่อหลบภัยทางอากาศ ที่สี่แยกวัดธรรมาธิปไตย ที่ตลาดบางโพนั้น เวลานั้นเป็นห้องว่างเปล่าใส่กุญแจทิ้งไว้ เจ้าของร้านบางรายได้อพยพไปอยู่ในที่ห่างไกลที่คาดว่าพ้นรัศมีการโจมตีของข้าศึก ส่วนด้านการรถไฟได้จัดตั้งโรงงานซ่อมเครื่องจักรกลขึ้นไว้ใกล้ถังน้ำที่เป็นหอสูง ในบริเวณที่ตั้งโรงงานของรถไฟในเวลานี้ 

เมื่อเครื่องบินไปทิ้งระเบิดเพื่อทำลายสะพานบ้านดารา คือ สะพานปรมินทร์ ข้ามแม่น้ำน่านหลายครั้งหลายหน หัวรถจักรถูกระเบิด บ้างก็ถูกกระสุนจากเครื่องบิน บ้างเสียหายจนไม่อาจจะซ่อมได้ จึงสร้างโรงเก็บรถจักรเพื่อเก็บซ่อนให้พ้นสายตาของเครื่องบินข้าศึก ถ้าเขาได้เห็นรถจักรเป็นต้องระดมยิง และทิ้งระเบิดลงใส่ทันที เมื่อรถไฟข้ามไปมาไม่ได้ เพราะสะพานชำรุดเนื่องจากถูกโจมตีหลายครั้งหลายคราวดังกล่าว การลำเลียงพลและการลำเลียงสัมภาระของญี่ปุ่น ตลอดจนการติดต่อสื่อสารกันก็เป็นไปโดยยากลำบาก ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงระดมกำลังกันสร้างสะพานข้ามแม่น้ำน่านคู่ขนานไปกับสะพานปรมินทร์ เรียกว่า สะพานเบี่ยง เพื่อรถไฟวิ่งข้ามไปมาได้อย่างสะดวก ส่วนที่อาคารสถานีนั้น ได้ขนย้ายบัญชีและพัสดุสิ่งของต่างๆ ออกไปตั้งที่ทำการชั่วคราวอยู่ที่อื่น เพราะเกรงจะถูกทำลาย 

นับจากวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2487 เป็นต้นมา หลังจากที่สถานีรถไฟอุตตรดิตถ์ได้ถูกโจมตีทั้งเช้าและเย็น และเครื่องบินถูกยิงไปตกที่พิชัย เครื่องหนึ่ง ไปตกที่ลำปางอีกเครื่องหนึ่งในวันเดียวกันนับตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคมดังกล่าวนั้นเป็นต้นมา ไม่มีเครื่องบินมาโจมตีที่สถานีรถไฟอุตรดิตถ์และบางโพอีกเลย ทำให้คิดว่า คงไม่มีเครื่องบินมาก่อกวนอีกแล้ว เพราะเป็นเวลาห่างมาตั้งเดือนกว่า ทำให้ชาวบางโพเกิดชล่าใจ 

แต่แล้ว เมื่อมาถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2487 นั้น เวลาเช้า อากาศกำลังร่มเย็นสบาย บริเวณหลังสถานีอุตตรดิตถ์ มีประชาชนเดินดูรอยกระสุนและหลุมระเบิด ประกอบทั้งเวลานั้น เป็นเทศกาลงานนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ มีประชาชนจากหลายจังหวัดมางานนั้นด้วย พากันเดินอยู่ที่สถานีรถไฟอุตรดิตถ์กันเป็นหมู่ๆ ทั้งเวลาเช้าและบ่าย บางพวกก็ไปรับประทานอาหารและดื่มสุรากันในร้านขายอาหาร พวกโรงงานของโรงซ่อมเครื่องจักรกล โรงกลึงของรถไฟบางพวกก็นั่งจับกลุ่มคุยกันโดยไม่มีใครนึกถึงเลยว่า พระยามัจจุราชอันเหี้ยมโหดจะมาถึง 


ภาพลูกระเบิดขนาด 500 ปอนด์  ที่ถูกทิ้งเข้าสู่เป้าหมาย

วันนั้นเวลาประมาณ 17.00 น. เครื่องบิน บี - 24 ชนิด 4 เครื่องยนต์ จำนวน 6 เครื่อง บินพวดพราดครางกระหึ่มเข้ามาถึงตัวจังหวัดอุตรดิตถ์โดยไม่มีใครรู้ แม้สัญญาณบอกภัยทางอากาศซึ่งเคยเปิดหวอให้รู้แทบทุกครั้ง  แต่น่าประหลาดใจที่ในครั้งนี้เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยป้องกันภัยก็ไม่รู้ ไม่ทันจะเปิดหวอ เจ้ามัจจุราชทั้ง 6  เครื่องก็เข้าถึงตัวเสียแล้ว     เมื่อเข้ามาถึง เจ้าเครื่องบินทั้ง 6 ก็จิกหัวลงต่ำ ระดมยิงด้วยปืนกลประจำเครื่องบิน พร้อมปล่อยระเบิดลงอย่างไม่นับ เสียงดัง เปรี้ยงๆๆ ครืนๆ สนั่นก้องไปทั่ว เมื่อได้กระหน่ำยิงแล้ว มันก็พากันไปเล่นงานโรงไฟฟ้า โรงซ่อมเครื่องจักรกล โรงกลึงของรถไฟ แล้วมาแสดงอิทธิฤทธิ์เล่นงานสถานีรถไฟ วนเวียนซ้ำแล้วซ้ำอีกจนนับครั้งไม่ถ้วน ระเบิดที่โยนใส่ลงมาคราวนี้เป็นระเบิดขนาดใหญ่มาก จากนั้นมันบินไปท่าเสา และยิงกราดทางรถไฟไปทางทิศเหนือ มันกระหน่ำเสียจนพอใจแล้วก็บินผ่านกลับไปเลย ไม่กลับมาซ้ำอีกเหมือนครั้งแรก ขณะที่เจ้าพระยามัจจุราชทั้ง 6 กำลังยิงกราดและทิ้งบอมบ์นั้น ประชาชนต่างพากันตกใจเพราะไม่ทันรู้ตัว จะวิ่งไปลงหลุมหลบภัยก็ไม่ทัน บางคนหมอบอยู่ในห้อง บางคนกำลังวิ่งจะไปลงหลุมหลบภัย ก็เลยสังเวยชีวิตจากกระสุนปืนกลจากเครื่องบินไปตามๆ กันหลายชีวิต หลังจากโจมตีที่อุตตรดิตถ์แล้ว เครื่องบินเลยไปยิงกราดที่หมู่บ้านทุ่งยั้งและไผ่ล้อม ขณะที่กำลังเดินต้อนวัวควายกลับเข้าบ้าน พวกสัตว์เหล่านั้นก็เลยตกเป็นเป้ากระสุนปืนของเครื่องบินตายไปหลายตัว 

เครื่องบินทั้ง 6 ได้ทำลายสถานีรถไฟอุตตรดิตถ์พังพินาศเป็นเศษอิฐเศษปูนไป โรงฟ้าของเทศบาลก็พังราบ โรงซ่อม โรงกลึงของรถไฟก็ไม่มีเหลือ รถจักรซึ่งจอดอยู่บนรางก็ล้มนอนกลิ้งตะแคง ลูกบอมบ์แต่ละลูกโตขนาดใหญ่มาก หลุมระเบิดแต่ละหลุมกว้างใหญ่และลึก ระหว่างที่ลูกบอมบ์ตกลงมาระเบิดนั้น เสียงดังสะเทือนไปไกลกว่า 2 กิโลเมตร รถจักร รถตู้หลายคันลงไปนอนกลิ้งอยู่นอกราง รางเหล็กรถไฟที่โดนระเบิด ขาดกระเด็นปลิวข้ามแม่น้ำไปตกที่บ้านหมอนไม้ ด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน ผู้ที่อยู่ในโรงกลึง โรงซ่อมของรถไฟตกเป็นเหยื่อกระสุนและระเบิดตายหลายสิบชีวิต 

เมื่อเครื่องบินทั้ง 6 ผ่านพ้นไปแล้ว เห็นว่าปลอดภัย เจ้าหน้าที่จึงออกมารีบจัดการนำคนเจ็บที่ถูกสะเก็ดระเบิดและถูกกระสุนปืนจากเครื่องบินนำไปส่งที่สุขศาลาซึ่งไปตั้งทำงานอยู่ที่วัดธรรมาธิปไตย บางคนไปตายที่สุขศาลานี้ก็มี เพราะบาดแผลขนาดหนักมาก ทนพิษไม่ไหว ประชาชนที่กำลังวิ่งหนีก็ตายเพราะลูกบอมบ์และกระสุนปืนจากเครื่องบินมีไม่น้อย เป็นที่น่าอนาถใจอย่างที่สุด 

เหตุการณ์ของวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2487 ในวันนั้น นับเป็นเหตุการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดยิ่งกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา มากมายหลายเท่า 




สะพานปรมินทร์ก่อนถูกโจมตีทิ้งระเบิด


สะพานปรมินทร์ขณะถูกโจมตีด้วยระเบิดจากเครื่องบิน B - 24


สะพานปรมินทร์ บ้านดาราพังยุบ 

สะพานปรมินทร์ เป็นสะพานเหล็กข้ามแม่น้ำน่านที่บ้านดารา สำหรับรถไฟที่วิ่งผ่านข้ามไปมาของทางรถไฟ ซึ่งเป็นสะพานที่เชื่อมกันระหว่างฝั่งด้านใต้และด้านเหนือ รถไฟวิ่งผ่านข้ามไปมาได้ตลอดสายตั้งแต่กรุงเทพฯ ไปถึงเชียงใหม่ โดยช่างชาวเยอรมันเป็นผู้ทำการก่อสร้าง เป็นสะพานเหล็กแข็งแรง เริ่มสร้างเมื่อรถไฟได้ทำทางไปถึงอุตตรดิตถ์ ซึ่งเรียกกันว่า สะพานบ้านดารา 

สงครามโลกครั้งที่ 2  อังกฤษ – อเมริกา ใช้ลูกระเบิดขนาดใหญ่พิเศษเพื่อต้องการทำลาย เป็นการตัดการลำเลียงพล และสัมภาระเครื่องยุทโธปกรณ์ต่างๆ ของญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่ สะพานปรมินทร์ หรือที่เรียกกันว่า สะพานบ้านดารา ถูกโจมตีทิ้งระเบิดครั้งแรกเมื่อตอนบ่ายวันที่ 24 เมษายน พ.ศ.2487 เป็นเหตุให้หัวสะพานชำรุด รถไฟข้ามไปมาไม่ได้ ช่างของกองบำรุงทางรถไฟได้รีบซ่อมเป็นการด่วน แต่พอวันรุ่งขึ้นเดือนเดียวกัน เครื่องบินของอังกฤษ – อเมริกา ก็มาทิ้งระเบิดซ้ำอีกหลายเครื่อง แต่ลูกระเบิดคราวนี้ที่นำมาใช้ เป็นระเบิดขนาดใหญ่ ทั้งยิงกราดด้วยปืนกล และทิ้งระเบิดซ้ำอีกเป็นเวลานาน เครื่องบินที่ทำการโจมตีครั้งนี้มาด้วยกัน 6 เครื่อง เป็นเครื่องบินขนาดใหญ่ทุกเครื่อง พยายามโจมตีวันเว้นวันทั้งเพิ่มขนาดร้ายแรงขึ้นทุกเที่ยวที่มา การมาถล่มเฉพาะสะพานบ้านดาราแห่งเดียว รวมได้ประมาณถึง 29 ครั้ง คะเนว่าใช้ลูกบอมบ์ไม่น้อยกว่า 500 – 600  ลูก 

เฉพาะการมาทิ้งระเบิดและกราดด้วยปืนกล ที่สะพานบ้านดาราแห่งนี้ ในวันที่ 25 ธํนวาคม พ.ศ.2488 คราวนี้มาทิ้งบอมบ์ในเวลาเย็น โดยลูกบอมบ์ขนาดใหญ่ร้อยโซ่เป็นพวงเหวี่ยงลงกลางสะพาน หวังทำลายเป็นครั้งสุดอย่างสุดฤทธิ์ และก็ได้ผลไม่ผิดหวัง ลูกบอมบ์ขนาดใหญ่ที่ร้อยโซ่เป็นพวงหย่อนลงมานั้น ลงมาโดนเสาสะพานเต็มแรง สะพานเหล็กได้ยุบฮวบลงทันที สะพานพังลงไปในแม่น้ำเป็นบางส่วน ใช้ข้ามไปมาไม่ได้เลย 

การแผลงฤทธิ์โจมตีของฝ่ายอังกฤษ – อเมริกาครั้งนั้น ทำให้อุตตรดิตถ์ต้องสูญเสียสิ่งก่อสร้างสำคัญๆ ไปหลายอย่างดังกล่าวมาแล้ว เป็นการตัดกำลังของญี่ปุ่น แต่ไทยเราก็พลอยได้รับผลเสียหายไปด้วย ทั้งสิ่งก่อสร้างและชีวิตของประชาชนไม่น้อย 

การทิ้งระเบิดที่สถานีรถไฟวันสุดท้าย ที่สถานีอุตตรดิตถ์พังพินาศนั้น วันรุ่งขึ้นเช้า มีประชาชนพากันมาดูซากปรักหักพังของสถานี ทุกคนต่างตกใจ เพราะได้เห็นระเบิดลูกหนึ่งซึ่งไม่ระเบิด นอนกลิ้งสงบอยู่หลังสถานีตรงกับบริเวณที่ตั้งหอนาฬิกาปัจจุบันนี้ ระเบิดลูกนี้ใหญ่มาก ขนาดเท่าโอ่งมังกรขนาดใหญ่ ชนิดคนเดียวถ้าจะใช้มือโอบคงไม่รอบ แต่ไม่มีใครกล้าเข้าไปใกล้ คงได้แต่พากันยืนมองอยู่ห่างๆ เกรงว่ามันอาจจะระเบิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ 


มองจากทิศใต้ > เหนือ จะเห็นเส้นทางรถไฟ 2 เส้นทาง เส้นขวามือคือทางรถไฟเส้นเดิมขณะที่สะพานปรมินทร์กำลังซ่อมแซม ส่วนเส้นซ้ายมือคือทางรถไฟชั่วคราวข้ามแม่น้ำน่านไปบรรจบกับทางรถไฟสายสวรรคโลก


สะพานปรมินทร์ปัจจุบัน 


ลูกระเบิดขนาด 500 ปอนด์


สงครามสงบ 

วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2488  ชาวเมืองอุตตรดิตถ์ที่ไม่เคยเห็นเครื่องบินของข้าศึก ไม่เคยเห็นเครื่องบินยิงกราดด้วยปืนกล ไม่เคยเห็นลูกบอมบ์หรือลูกระเบิด สงครามคราวนี้ทำให้รู้ฤทธิ์เดชและพิษสงของอำนาจแห่งสงคราม ไม่เคยเห็นมีคนตายนอนเกลี่อนกลาดเลือดแดงไปทั่ว ก็ได้เห็น เป็นที่น่าสยดสยองหวาดเสียว ไม่เคยเห็นคนญี่ปุ่นก็ได้เห็นกันคราวนี้ 

นับตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน พ.ศ.2487  เป็นต้นมา ระหว่างที่หน่วยราชการและประชาชนต่างอพยพหลบภัยไปอยู่ที่อื่นกันวุ่นวายอยู่นั้น ก็เกิดมีมิจฉาชีพพวกหนึ่งออกทำการปล้นสะดม ลักทรัพย์สินสิ่งของต่างๆ ทั้งของราชการและของชาวบ้าน รวมทั้งของวัดวาอาราม พวกสันดานชั่วเหล่านี้ก็ไม่ละเว้น  สร้างความเดือดร้อนซ้ำเติมอยู่เสมอ 

วันสิ้นสุดของสงคราม เนื่องมาจากกองทัพเรือ ทัพอากาศ และทัพบกของอังกฤษ - อเมริกาได้โจมตีเกาะญี่ปุ่นหลายแห่ง ครั้งหลังสุดได้ทิ้งระเบิดปรมาณูบนเมืองฮิโรชิมา และนางาซากิ ของญี่ปุ่นทำให้ญี่ปุ่นต้องประกาศยอมแพ้ เพราะได้รับความเสียหายอย่างหนัก จึงขอสงบสงคราม 

เมื่อสงครามสงบ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2488  ชาวจังหวัดอุตตรดิตถ์ต่างพากันดีอกดีใจ ต่อมาในเดือนกันยายนปีเดียวกัน สถานที่ราชการ และประชาชนที่พากันอพยพไปอยู่ในที่ต่างๆ ก็พากันกลับมาอยู่ในที่เดิมเป็นปกติ 

วันสันติภาพ 

ญี่ปุ่น ได้ถูกการปิดล้อมของอังกฤษ – อเมริกา ประชาชนและทหารญี่ปุ่นต้องล้มตายเป็นจำนวนมาก ญี่ปุ่นตกอยู่ในความยากลำบากทุกวิถีทาง จึงจำต้องขอยอมสงบศึก อังกฤษ – อเมริกาก็ไม่ขัดข้อง ยอมตามคำขอสงบศึกของญี่ปุ่นโดยดี แต่ข้างฝ่ายอังกฤษ – อเมริกาต้องให้ทหารญี่ปุ่นที่อยู่ทั้งในประเทศและนอกประเทศทุกแห่งวางอาวุธให้หมด เรียกว่าเป็นการปลดอาวุธกันทีเดียว ทางญี่ปุ่นก็จำยอมปฏิบัติตามโดยไม่มีเงื่อนไขต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น ทหารญี่ปุ่นที่มาอยู่ในอุตรดิตถ์หลายหมู่หลายพวกก็จำเป็นต้องถูกปลดอาวุธทั้งหมดเช่นเดียวกัน การถูกปลดอาวุธครั้งนี้ ทหารญี่ปุ่นเสียใจมาก บางคนถึงกับร้องไห้โฮไปเลยก็มี สิ่งของต่างๆ ของทหารญี่ปุ่น เช่น ปืนเล็กสั้น กระสุนปืน และสิ่งของต่างๆ บ้างก็เอาไปโยนทิ้งลงแม่น้ำ บางคนก็เอาเผาไฟ ทุกคนรู้ตัวดีว่าจะต้องกลับไปมือเปล่า 

พวกเชลยฝรั่งชาติต่างๆ ที่ญี่ปุ่นจับมาควบคุมไว้ และใช้ให้ทำงานอย่างทารุณ ก็ต้องปล่อยตัวทุกคนและส่งกลับกรุงเทพฯ อย่างปลอดภัย  ทหารญี่ปุ่นจะถืออาวุธปืนอย่างแต่ก่อนไม่ได้อย่างเด็ดขาด เวลาอยู่เวรยามจะถือได้แต่ไม้ตะพดเท่านั้น  เมื่อญี่ปุ่นยอมสงบศึกแล้ว ก็มีทหารอังกฤษ – อเมริกา และทหารอินเดีย ได้เข้ามาในจังหวัดอุตตรดิตถ์ไม่น้อย และทหารญี่ปุ่นที่อุตตรดิตถ์ถูกส่งตัวไปรวมกันที่กรุงเทพฯ  ภายหลังสงครามสงบแล้ว ทางรัฐบาลได้จัดงานฉลองสันติภาพขึ้นที่กรุงเทพฯ 3 วัน 3 คืน มีการประดับธงชาติของชาติต่างๆ มีมวย และมหรสพในวันที่ 18 – 20  มกราคม  2489






ขอบคุณ :  1)   หนังสือ "ตำนานเมืองอุตรดิษฐ์"

               2)  http://pantip.com/topic/31885621

               3)  http://dict.rtafa.ac.th/rtafdict/index.php?letter

               4)  http://www.oknation.net/blog/print

               5)   http://portal.rotfaithai.com/modules

               6)  http://www.google.co.th/search?q=สะพานปรมินทร์
                  
                 7)  http://www.youtube.com/watch

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์