เชียงดา : ผักที่ทรงคุณค่าทางยาอีกชนิดหนึ่งที่ต้องรู้จัก


ผักเชียงดา
ชื่อวิทยาศาสตร์   Gymnema inodorum Decne. หรือ Gymnema inodorum (Lour.) Decne.
จัดอยู่ในวงศ์        ASCLEPIADACEAE
ผักเชียงดา    มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า เชียงดา, เจียงดา, ผักเจียงดา, ผักเซียงดา, ผักกูด, ผักจินดา, ผักเซ่งดา, ผักม้วนไก่, ผักเซ็ง, ผักว้น, ผักฮ่อนไก่, ผักอีฮ่วน, เครือจันปา เป็นต้น



ผักเชียงดา

ลักษณะของผักเชียงดา
ผักเชียงดา จัดเป็นไม้เถาเลื้อย มีอายุข้ามปี  ความยาวของเถาขึ้นอยู่กับอายุ ลำต้นเป็นสีเขียว มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-5 เซนติเมตร  ทุกส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นจะมีน้ำยางสีขาวคล้ายน้ำนม  ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการปักชำ เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ระบายน้ำดี  เป็นผักพื้นบ้านที่ชาวเหนือในแถบจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน และพะเยา นิยมปลูกเป็นพืชผักสวนครัว  เพราะดอกและยอดอ่อนสามารถทำเป็น อาหารได้ โดยชนิดที่ในป่าจะมีรสขมกว่าใบใหญ่กว่า และสีของใบจะเข้มน้อยกว่า พันธุ์ที่ปลูกตามบ้าน  แต่มีชาวบ้านบางคนกินผักเชียงดาที่เกิดตามป่า  หากลองเด็ดใบแก่มาเคี้ยวกินแล้วกินน้ำตาลทรายจะรู้สึกว่าน้ำตาลไม่มีรสหวาน  และรสของมัน จะติดลิ้นค่อนข้างนานทำให้คนที่เคี้ยวไม่อยากทานอาหาร  แต่ถ้าเอามาผัดหรือเอามาแกงรวมกับผักอื่น ๆ โดยคุณสมบัติของผักเชียงดาจะทำให้รสชาติของผักอื่น ๆ อร่อยขึ้น  ส่วนในต่างประเทศพบได้ที่ประเทศอินเดีย ศรีลังกา เวียดนาม มาเลเซีย ญี่ปุ่น จีน และแอฟริกา



ใบผักเชียงดา

ใบผักเชียงดา 
ใบเป็นใบเดี่ยว ออกจากข้อเรียงเป็นคู่ตรงข้ามกัน  ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปกลมรี  ปลายใบแหลม โคนใบแหลม  ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 9-11 เซนติเมตร  และยาวประมาณ 14.5-18.5 เซนติเมตร  แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม ท้องใบมีสีอ่อนกว่า  ผิวใบเรียบไม่มีขน  ก้านใบยาวประมาณ 3.5-6 เซนติเมตร


ดอกผักเชียงดา

ดอกผักเชียงดา 
ออกดอกเป็นช่อแน่นสีขาวอมเขียวอ่อน ดอกย่อยมีขนาดเล็กกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-6 มิลลิเมตร


ผลผักเชียงดา

ผลผักเชียงดา    ผักเชียงจะออกผลเป็นฝัก


สำหรับชาวต่างชาตินั้นรู้จักผักเชียงดาเป็นอย่างดีในชื่อ Gymnema หรือ Gurma ในภาษาฮินดิที่เป็นว่านักฆ่าเบาหวาน(diabetes killer) จัดเป็นสมุนไพรท้องถิ่นในป่าเขตร้อนของประเทศอินเดียตอนกลางและตอนใต้ รวมถึงประเทศศรีลังกา ใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคเบาหวานและโรคอ้วนมานานกว่าสองพันปี ด้วยเหตุนี้เองผักเชียงดาจึงมีงานวิจัยมากมายในต่างประเทศ แม้กระทั่งญี่ปุ่นเองที่ได้นำผักเชียงดาไปจดสิทธิบัตรชาเบาหวาน

ในวงการหมอยาพื้นบ้านของเชียงใหม่ ใช้ลดไข้ แก้ท้องผูก แก้แพ้ ช่วยให้ผ่อนคลายจากความเมื่อยล้า ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนดี หรือใช้เป็นยาบำรุงกำลัง ขณะที่กลุ่มหมอกลางบ้านไทยใหญ่มีตำราระบุถึงผักเชียงดาว่าเป็น ยาแก้หลวง ใช้เป็นยาแก้ได้หลายอาการมีสรรพคุณคล้ายฟ้าทะลายโจร คือแก้ไข้ แก้แพ้ แก้เบาหวาน หน้าแล้งจะขุดรากมาทายา หน้าฝนจะใช้เถาและใบ โดยสับตากแห้งบดชงเป็นชาดื่ม ใช้แก้แพ้  กินของผิด ฉีดยาผิด เวียนศีรษะ แก้ไขสันนิบาต หรือเมื่อเกิดอาการคิดมาก มีอาการจิตฟั่นเฟือน

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของผักเชียงดา
สารสำคัญที่ได้ ได้แก่ สาร Vioflavonoid สารในกลุ่ม Carotenoid (ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดต้อกระจก) มี Flavonoid, คาเทชิน, โปรแอนโทไซนานิดิน (Proanthocyanidin), มีสารต้านอนุมูลอิสระ คือ Curcumin, Furmeric, เบต้าแคโรทีน, และมีวิตามินซีมากกว่าแครอท

จากการศึกษาผลของผักเชียงดาในอาสาสมัครที่มีสุขภาพดี พบว่าการดื่มชาผักเชียงดาภายใน 15 นาทีหลังจากได้รับสารละลายกลูโคส จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับตอนที่ไม่ได้ดื่มชาผักเชียงดา ส่วนฤทธิ์การลดระดับน้ำตาลในเลือดนั้นจะขึ้นอยู่กับปริมาณของผักเชียงดาด้วย และเมื่อให้อาสาสมัครดื่มชาเป็นระยะเวลา 28 วัน ก็ไม่พบว่ามีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และไม่พบการเปลี่ยนแปลงของการทำงานของตับ แต่การให้ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 12 ราย ดื่มชาผักเชียงดาหลังอาหารวันละ 3 มื้อเพิ่มเติมจากยาเบาหวานที่ได้รับ เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ พบว่า ไม่มีผลต่อระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ตลอดจนไม่กระทบต่อการทำงานของตับและไต และไม่พบผลข้างเคียงที่ร้ายแรงแต่อย่างใด แต่การศึกษานี้ยังมีข้อจำกัดคือจำนวนของผู้ป่วยและระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษาที่มีค่อนข้างน้อย จึงต้องมีควรศึกษาเพิ่มเติมและประเมินผลต่อไป


Screen Shot 2556-11-24 at 12.17.12 AM

ผักเชียงดา มี Gymnemic acid (สกัดมาจากส่วนรากและใบของผักเชียงดา) โดยสารชนิดนี้มีลักษณะโครงสร้างเหมือนน้ำตาลกลูโคส จึงเข้าไปจับกับตัวรับที่ลำไส้แทนโมเลกุลของกลูโคส และช่วยสกัดกั้นสารน้ำตาลตัวจริงที่เข้ามาสู่ร่างกายได้ และยังสามารถช่วยควบคุมสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานทั้งชนิดที่พึ่งอินซูลินและชนิดไม่พึ่งอินซูลิน โดยมีรายงานว่ามีผู้ป่วย บางรายสามารถรับประทานผักเชียงดาเพียงอย่างเดียวเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้โดยไม่ต้องพึ่งยาแผนปัจจุบัน เนื่องจากผักชนิดนี้มีฤทธิ์ฟื้นฟูเบต้าเซลล์ของตับอ่อน ที่เป็นอวัยวะช่วยสร้างอินซูลินให้อยู่ในระดับปกติ
จากการผลการทดลองกับสุนัข กระต่าย และหนูที่ทำให้เป็นเบาหวาน พบว่ามีปริมาณอินซูลินเพิ่มขึ้นเมื่อตรวจดูตับอ่อน และยังพบว่ามีปริมาณของเบต้าเซลล์เพิ่มขึ้น จึงเป็นไปได้ว่าผักเชียงดาสามารถช่วยซ่อมแซมและสร้างเนื้อเยื่อใหม่ให้ตับอ่อนได้[1] ส่วนการศึกษาในมหาวิทยาลัยมัทราส ประเทศอินเดีย ได้ทำการศึกษาผลของผักเชียงดาในหนูทดลองที่ให้สารพิษที่ทำลายเซลล์เบต้าในตับอ่อนของหนู โดยพบว่า หนูที่ได้รับผักเชียงดาทั้งในรูปของสารสกัดและผงแห้ง มีระดับน้ำตาลในเลือดกลับมาเป็นปกติภายใน 20-60 วัน ระดับอินซูลินกลับมาเป็นปกติ และจำนวนของเบต้าเซลล์ก็เพิ่มขึ้นด้วย

มีการวิจัยในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานที่ใช้อินซูลิน 27 ราย โดยให้กินสารสกัดที่ทำให้บริสุทธิ์ขึ้น 400 มิลลิกรัมต่อวัน พบว่าปริมาณความต้องการอินซูลินในผู้ป่วยเบาหวานลดลง และในผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ได้ใช้อินซูลิน 22 ราย เมื่อให้สารสกัด 400 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นระยะเวลา 18-20 เดือน ร่วมกับยารักษาเบาหวาน พบว่าปริมาณการใช้ยารักษาเบาหวานลดลง โดยมีผู้ป่วยจำนวน 5 ราย ใน 22 ราย ที่สามารถหยุดให้ยาเบาหวานโดยใช้แต่สารสกัด Gymnema เพียงอย่างเดียว

มีรายงานการทดลองใช้ต้น Gymnema sylvestre ซึ่งเป็นพืชในสกุลเดียวกันกับผักเชียงดาที่มีขึ้นอยู่ในประเทศอินเดีย โดยบริษัทในประเทศญี่ปุ่นได้ผลิตพืชชนิดนี้ออกขายในรูปของยาชงเพื่อรักษาโรคเบาหวาน แต่จากรายงานการทดลองทั้งในคนและสัตว์ ได้แสดงให้เห็นว่า สมุนไพรชนิดนี้สามารถช่วยสร้างและซ่อมแซมเบต้าเซลล์ ซึ่งเป็นเซลล์อินซูลิน

เมื่อปี พ.ศ.2546 นักวิทยาศาสตร์ได้รายงานถึงผลของสารสกัดผักเชียงดาในหนูทดลอง ซึ่งนอกจากจะมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดและช่วยเพิ่มปริมาณของอินซูลินแล้ว ยังช่วยลดปริมาณของอนุมูลอิสระในกระแสเลือดของหนูทดลองที่เป็นหวานได้อีกด้วย อีกทั้งยังช่วยเพิ่มปริมาณของสารกลูต้าไธโอน วิตามินซี และวิตามินอี ในกระแสเลือดของหนูได้อีกด้วย และยังพบว่าสารสกัดดังกล่าวนั้นมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่ายาแผนปัจจุบันที่ใช้รักษาเบาหวานที่มีชื่อว่า ไกลเบนคลาไมด์” (glibenclamide)

ประโยชน์ของผักเชียงดา
จากการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลองของผักพื้นบ้านจำนวน 43 ชนิด ที่บริโภคกันในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า ผักเชียงดามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดีที่สุด และยังเป็นผักที่มีวิตามินอีสูงที่สุดอีกด้วย

ยอดผักเชียงดาสดจะมีรสมัน  หากนำมาต้มให้สุกจะมีรสหอมหวาน ชาวบ้านทางภาคเหนือจึงนิยมปลูกผักเชียงดาไว้ตามริมรั้ว โดยนิยมนำใบอ่อนและยอดอ่อน มารับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก ลาบ ส้มตำ หรือนำมาทำแกง แกงส้ม แกงแค แกงเขียว แกงโฮะ แกงขนุน แกงเลียงกับปลาแห้ง หรือใส่ในต้มเลือดหมู แกงใส่ผักหวาน แกงรวมกับผักชะอม ผักกูด ผักเฮือด ฯลฯ หรือนำมาผัดน้ำมันหอย ทำผัดผักเชียงดา ผัดร่วมกับมะเขือ ฯลฯ แต่โดยปกติแล้วจะไม่ผัดผักเชียงดาล้วนๆ เพราะจะมีรสขม (ผักเชียงดาในหน้าแล้งจะอร่อยกว่าในหน้าฝน เพราะผักเชียงดาในหน้าฝนจะมีรสเฝื่อนไม่ค่อยอร่อย)

คุณค่าทางโภชนาการของผักเชียงดา 100 กรัม ประกอบไปด้วย พลังงาน 60 แคลอรี่, ความชื้น 82.9%, โปรตีน 5.4 กรัม, ไขมัน 1.5 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 6.2 กรัม, ใยอาหาร 2.5 กรัม, เถ้า 1.6 กรัม, วิตามินเอ 5,905 หน่วยสากล, วิตามินบี1 981 มิลลิกรัม, วิตามินบี2 0.32 มิลลิกรัม, วิตามินบี3 1 มิลลิกรัม, วิตามินซี 153 มิลลิกรัม, แคลเซียม 78 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 2.3 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 98 มิลลิกรัม

ในปัจจุบันมีเกษตรกรของไทยและต่างประเทศ  ปลูกผักเชียงดาในแปลงปลูกขนาดใหญ่  เพื่อเก็บยอดไว้ขายในเชิงการค้าแล้ว   เช่น ผลิตเป็นชาชงสมุนไพร หรือ ในรูปแบบแคปซูล หรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อรักษาเบาหวาน ลดระดับน้ำตาลในเลือด  ช่วยยับยั้งการดูดซึมของกลูโคส  จะอย่างไรก็ตามผู้บริโภคต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจใช้ผลิตภัณฑ์แปรรูปดังกล่าว  



ผักจินดา

หมายเหตุ : ควรเลือกรับประทานผักเชียงดาใบอ่อน ที่ไม่ผ่านความร้อน จึงจะได้ประโยชน์ด้านคุณค่าทางอาหารมากที่สุด แต่ถ้าต้องการให้ระบบขับถ่ายในร่างกายดีขึ้น ควรรับประทานผักเชียงดาใบแก่

ข้อควรระวัง : การรับประทานผักเชียงดาอาจทำให้เกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ เมื่อใช้ร่วมกับยาลดระดับน้ำตาล  ดังนั้นจึงควรแจ้งแพทย์ผู้รักษาให้ทราบเมื่อใช้ผักเชียงดาร่วมในการรักษาเบาหวาน




ขอบคุณ  :  1http://frynn.com

                 2)  http://www.chiangdatea.com

                 3)  http://gathong.com                

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

ต่อหัวเสือ...ไม่ร้ายอย่างเสือ