ไหว้พระธาตุศักดิ์สิทธิ์ 3 จังหวัด ตอนที่ 1

สวัสดีครับ  ตามที่เคยสัญญาไว้ว่าจะนำภาพและเรื่องราวดี ๆ จากการได้ไปท่องเที่ยวที่ต่าง ๆ มาฝาก และเรียนรู้บางอย่างที่หลายท่านอาจไม่รู้มาก่อนไปพร้อม ๆกัน  ซึ่งทริปนี้ให้ชื่อว่า "ไหว้พระธาตุศักดิ์สิทธิ์ 3 จังหวัด"  แบ่งออกเป็น 3  ตอนด้วยกัน   เริ่มกันที่ตอนที่ 1  กันเลยนะครับ

วันที่ 5 กันยายน 2558  ออกเดินทางจากอุตรดิตถ์ เวลา 05.30 น.  ด้วยพาหนะคู่ใจ ฮอนด้า ซีวิค  ขึ้นเหนือไปตามทางหลวงหมายเลข 11 (AH13) ผ่าน อ.เด่นชัย จ.แพร่  ถึงแยก 5 เชียง  เลี้ยวซ้ายไปทางหลวงหมายเลข 1 (AH2)  ถึง เดอะโคโค่ฟาร์ม อ.เกาะคา  หยุดพักคน และรถ เติมพลังอาหารเช้ากันเรียบร้อย  ออกเดินทางต่อด้วยการย้อนกลับเพื่อเข้าตัว อ.เกาะคา และผ่านไปยังวัดพระธาตุลำปางหลวง ตามทางหลวงหมายเลข 1034 ประมาณ 3  กิโลเมตร  


ถึงวัดพระธาตุลำปางหลวง เวลา 08.40 น. อากาศยามเช้ายังไม่ร้อนเท่าใดนัก  วันนี้เป็นวันเสาร์ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่ต้องการแสวงบุญเริ่มหนาตาตั้งแต่เช้า  ขวามือของภาพจะเป็นลานจอดรถ


เดินขึ้นบันไดนาคทางด้านหน้าที่มีชื่อเฉพาะว่า "มกรคายนาค"   จะพบกับซุ้มประตูโขงวัดพระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่บนเนิน มีความสูงประมาณ 13 เมตร โดยมีบันไดนาคทอดยาวเชื่อมพื้นที่ระหว่างวัดกับภายนอก ลักษณะเป็นอาคารทรงมณฑปมียอดแหลมซ้อนหลายชั้น โครงสร้างก่ออิฐถือปูน ภายนอกฉาบด้วยปูนสีขาวแต่งลายปูนปั้นเกือบตลอด ทำเป็นช่องทางเดินด้านทิศตะวันออก-ตะวันตก ปากช่องทางเดินประดับซุ้มโค้งซ้อน 2 ชั้น (ข้อมูลเพิ่มเติมจาก http://www.lampang.go.th)



ผ่านซุ้มประตูโขงเข้าไปจะพบกับ "วิหารหลวง" วิหารขนาดใหญ่ที่สร้างเมื่อ พ.ศ. 2019 โดยเจ้าหมื่นคำเป๊ก ภายในมีซุ้มปราสาททองเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าล้านทอง ด้านหลังเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าทันใจ บนแผงไม้คอสองมีภาพจิตรกรรมเก่าแก่งดงามเรื่องทศชาติและพรหมจักร  (ข้อมูลเพิ่มเติมจาก http://travel.kapook.com)



ขวามือด้านหน้าของวิหารหลวง  ได้นำธรรมาสไม้เก่าแก่แปลกตามาวางไว้ให้ผู้คนได้ชื่นชมกัน



พระธาตุลำปางหลวง เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนปีฉลู ด้วยเริ่มสร้างในปีฉลูและเสร็จในปีฉลูเช่นกัน ฐานเป็นบัวลูกแก้ว ส่วนองค์เป็นทรงกลมแบบล้านนาภายนอกบุด้วยทองจังโก ยอดฉัตรทำด้วยทองคำ มีลายสลักดุนเป็นลวดลายประจำยามแบบต่าง ๆ ลักษณะเจดีย์แบบนี้ได้ส่งอิทธิพลต่อพระธาตุหริภุญไชย และพระบรมธาตุจอมทอง ภายในองค์พระเจดีย์บรรจุพระเกศา และพระอัฐิธาตุจากพระนลาฎข้างขวา พระศอด้านหน้าและด้านหลัง (ข้อมูลจาก http://travel.kapook.com)


ส่วนยอดของพระธาตุลำปางหลวง


หลังจากการเดินเวียนรอบองค์พระธาตุลำปางหลวงเพื่อความเป็นศิริมงคลเป็นที่เรียบร้อย  ได้พบเห็นวิหารขนาดเล็กด้านหลังขององค์พระธาตุ  มีความน่าสนใจประการหนึ่งคือ เป็นที่ประดิษฐานของพระนาคปรกโบราณที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงละโว้สมัยนั้น  ครั้งเมื่อ พ.ศ. 1215  พระราชบิดาของพระนางจามเทวี มอบให้มาประดิษฐานไว้ ณ ที่นี้  


และเพื่อความปลอดภัยขององค์พระนาคปรกโบราณล้ำค่า  ทำให้ทางวัดต้องทำการป้องกันไว้ชั้นหนึ่งก่อนดังภาพ


ถัดจากวิหารพระนาคปรกโบราณไปเล็กน้อยจะเห็น "ซุ้มพระพุทธบาท"  เจ้าเมืองหาญแต่ท้องเป็นผู้สร้างซุ้มครอบรอยพระพุทธบาทไว้  ฐานก่อขึ้นเป็นชั้นคล้ายฐานเจดีย์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 1992 ภายในมองเห็นแสงหักเห ปรากฏเป็นเงาพระธาตุและพระวิหารแบบหัวกลับ แต่มีข้อห้ามไม่ให้ผู้หญิงขึ้น



ภาพถ่ายจริงที่ไม่คมชัดของเงาพระธาตุและพระวิหารแบบหัวกลับ  จากการปีนเข้าไปดูภายในซุ้มพระพุทธบาท



ทางด้านซ้ายมือของวิหารหลวงจะเป็นวิหารที่มีความสวยงามชื่อ "วิหารลายคำ" (คำ = ทองคำ) ซึ่งแต่เดิมเป็นวิหารโถงเปิดโล่ง  ศิลปะล้านนาฝีมือช่างลำปาง  มีลวดลายลงรักปิดทองสวยงามมาก ไม่ปรากฎ ผู้สร้างแต่มีอายุไม่น้อยกว่า 700 ปี  เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าองค์หลวงเมืองเขลางค์ (เมืองลำปาง) เป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนสิงห์สามปางมารวิชัย  หน้าตักกว้าง 209 นิ้ว  สูงจากฐานถึงพระเกศ 225 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นที่มีลักษณะงดงามมากที่สุดองค์หนึ่งของล้านนา


วิหารลายคำ และองค์พระธาตุลำปางหลวง  มองจากทางด้านหน้าซ้ายมือของวิหารลายคำ


ด้านหน้าของซุ้มประตูทางเข้าวิหารลายคำ  ได้ตกแต่งลวดลายต่าง ๆ ด้วยสีทองสวยงามจับตาเป็นอย่างยิ่ง


ออกจากบริเวณกำแพงใหญ่ไปทางประตูด้านซ้ายมือของวิหารหลวง  จะเป็นบริเวณของอาคารพระสงฆ์ แต่ที่สดุดตาก็คือ  การที่มีเสาไม้ที่มีความสูงไล่เลี่ยกันตั้งอยู่ใต้ต้นไม้แต่ละต้นเป็นจำนวนมาก  ซึ่งความจริงนั้นคือ มองในทางพระพุทธศาสนาจะเป็นความเชื่อในเรื่องของการได้มีโอกาสช่วยค้ำจุนให้พระพุทธศาสนายังคงอยู่สืบไป อีกทั้งยังเป็นผลบุญช่วยให้ผู้ทำมีอายุที่ยืนยาวอีกด้วย


อนุสาวรีย์พ่อเจ้าทิพย์ช้าง   ผู้นำคนสำคัญของชาวเมืองลำปางที่ได้กอบกู้อิสระภาพจากพม่าเป็นผลสำเร็จ  ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าผู้ครองนครลำปาง และเป็นต้นตระกูลของเจ้านายฝ่ายเหนือตราบจนถึงปัจจุบัน


วิหารสีทองที่นักท่องเที่ยวจำนวนมากมักจะพลาดโอกาสไม่ได้เข้าชม  เพราะจะหลบมุมอยู่ทางด้านขวามือของอนุสาวรีย์พ่อเจ้าทิพย์ช้าง  ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วิหารหลวงพ่อปากแดง   ความสวยสดงดงามมองได้จากทั้งภายนอก และยิ่งได้เข้าไปชมภายในยิ่งต้องยอมรับและยกนิ้วให้จริง ๆ 


ความงดงามวิจิตรของซุ้มประตูทางเข้าด้านหน้า


หลวงพ่อศรีศากยะมุนี  หรือ หลวงพ่อปากแดง  พระประธานของวิหารสีทองแห่งนี้


ตัวอย่างหนึ่งของลวดลายปูนปั้น รูปปีนักษัตรต่าง ๆ ทั้งสองด้านของผนัง


บานประตูไม้ทั้งซ้ายและขวา  แกะสลักเป็นรูปเทวดาทรงสิงห์  ช่างเป็นประตูทองที่สง่างามยิ่ง


ลวดลายปูนปั้นปิดทองบริเวณฝาผนังชั้นใน  เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ต้องขอบอกว่าสวยงามเช่นกัน


ภายนอกของวิหารหลังนี้มีความงดงาม ลวดลายปูนปั้นมีความละเอียดบรรจงแต่งด้วยสีทอง


ด้านหลังของวิหารสีทองนี้  ยังมีเจดีย์พระธาตุองค์น้อยให้คนได้กราบไหว้บูชาอีกเช่นกัน


จากวัดพระธาตุลำปางหลวง  เราออกเดินทางโดยใช้เส้นทางหมายเลข 1034 (อ.เกาะคา - อ.ห้างฉัตร) ระยะทางประมาณ  10  กิโลเมตรเศษ ถึงทางแยกเชื่อมทางหลวงมหายเลข 11  เลี้ยวซ้ายมุ่งหน้าขึ้นเหนือสู่จังหวัดลำพูนเป็นเป้าหมายต่อไป และประตูเข้าจังหวัดลำพูนที่นักเดินทางคุ้นเคยกับคำว่า     "ดอยติ"  เป็นที่ตั้งของวัดพระธาตุดอยติ และอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งที่ต้องแวะเข้าไปกราบไหว้บูชากัน     


ภาพมุมสูงจากวัดพระธาตุดอยติ  แสดงการเดินทางขึ้น-ล่องของทางหลวงมหายเลข 11 


จากทางหลวงหมายเลข 11 เราเลี้ยวซ้ายเข้าจังหวัดลำพูน และเลี้ยวซ้ายขึ้นวัดพระธาตุดอยติ  ซึ่งเป็นเนินเขาที่ไม่สูงชันนัก  รถทุกชนิดขึ้นได้หมด แต่ต้องระวังนกยูงซึ่งทางวัดเลี้ยงแบบปล่อยไว้หลายตัว
เดินชมวิวได้พักหนึ่งก็สดุดตากับอาคารสิ่งปลูกสร้างที่มีรูปร่างสวยงามแห่งนี้ และนึกอยู่ในใจว่า...น่าจะเป็นหอไตร..นะครับ


ก่อนที่จะไปกราบไหว้บูชาพระธาตุดอยติ  เราแวะเข้าไปยังอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่ของครูบาศรีวิชัยเพื่อบันทึกภาพและอ่านประวัติความเป็นมาของการก่อสร้างอนุสาวรีย์ที่มีขนาดใหญ่มากของครูบาศรีวิชัย พร้อมทั้งบูชารูปหล่อครูบาศรีวิชัยไว้เป็นที่ระลึกพร้อมความเป็นศิริมงคล


พระครูบาศรีวิชัยเป็นพระเถรเจ้า นักพัฒนาแห่งล้านนาไทย ผู้พัฒนาทั้งด้านจิตใจและด้านถาวรวัตถุให้แก่ชาวล้านนาไว้อย่างอเนกอนันต์ ท่านมีชีวิตอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2421- 2481 ถิ่นฐานบ้านเดิมของท่านอยู่ที่บ้านปาง ต.ศรีวิชัย อำเภอลี้ จึงเป็นความภูมิใจอย่างใหญ่หลวงของชาวลำพูน ที่เมืองนี้เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของนักบุญผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา (ข้อมูลเพิ่มเติมจาก http://www.tourlamphun.com)



ตลอดชีวิตครูบาศรีวิชัย ผู้มีศีลา จารวัตรที่งดงาม ฉันอาหารมื้อเดียว งดฉันเนื้อสัตว์ ได้อธิษฐานบารมีไว้ว่า “ขอหื้อได้ ถึงธรรมะ ยึดเหนี่ยว เอาพระนิพพาน สิ่งเดียว” ได้สร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ วัดประมาณ 200 วัด ในจังหวัด ภาคเหนือ และเป็นผู้นำในการ สร้างถนนขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพโดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐ สร้างโดยพลังศรัทธาของประชาชนใช้เวลา 5 เดือนเศษ ครูบาเป็นผู้ที่ถือธรรมเนียมปฏิบัติตามจารีตของล้านนาอย่างเคร่งครัด มีผลทำให้ต้องอธิกรณ์ ถึง 3 ครั้ง แต่ไม่ได้ทำให้ความเป็น  “ฅนบุญ” แห่งล้านนาด้อยลง กลับส่งผลให้คนทั่วไปพิสูจน์ได้ว่า ครูบาเป็น ผู้บริสุทธิ์และสมเป็น       “ฅนบุญแห่งล้านนา” โดยแท้จริง  (ข้อมูลเพิ่มเติมจาก http://www.tourlamphun.com)



ภาพนี้ต้องการสื่อให้เห็นถึงความวิจิตรพิสดารของร่มหรือฉัตรทอง  ที่ตั้งประดับอยู่ทางด้านซ้ายและขวาของอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย


องค์พระธาตุดอยติ


วิหาร และองค์พระธาตุดอยติ


ภายในวิหารด้านหน้าองค์พระธาตุดอยติ  เป็นที่ประดิษฐานพระประธาน "พระเจ้ากิตติ" มีลักษณะแปลก ต่างไปจากพระพุทธรูปที่เราเห็นทั่วไป คือสองพระกรซ้อนทับกันบนหน้าตัก สองพระบาทห้อยลงมาจากพระแท่นแก้ว


ผู้เขียนกับรูปปั้นนักษัตรประจำปีเกิด  บริเวณด้านข้างวิหารพระเจ้ากิตติ



ไหน ๆ ก็มาถึงจังหวัดลำพูนกันแล้ว  เราควรเข้าไปสักการะบูชาอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี เพื่อความเป็นมงคลกกันดีกว่า



อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ พระนางจามเทวี ซึ่งเป็นองค์ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญไชย พระนางจามเทวีเป็นปราชญ์ที่มีคุณธรรมมีความกล้าหาญและสามารถ เป็นผู้นำพระพุทธศาสนาเข้ามานครหริภุญชัย รวมถึงศิลปะวัฒนธรรมมาเผยแพร่จนมีความ เจริญรุ่งเรืองสืบมาจนถึงปัจจุบัน อนุสาวรีย์พระนางจามเทวีสร้างเสร็จและเปิดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2525 เป็นที่สักการบูชาของชาวลำพูนและนักท่องเที่ยว   คนเฒ่าคนแก่ชาหล่ะปูน  เล่ากันว่า "พระนางจามเทวี" เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของเมืองลำพูนอีกแห่งหนึ่ง "ใครที่ไม่สมหวังเรื่องรักให้มาขอกับพระ
นางจามเทวีแล้วจะโชคดีสมหวังในรัก"  จริงหรือไม่ต้องไปพิสูจน์ด้วยตัวเอง  (ข้อมูลเพิ่มเติมจาก  http://remawadee.com)


จากลำพูน พวกเราเดินทางกันต่อโดยใช้เส้นทางสายเก่าหมายเลข 106 (ลำพูน - เชียงใหม่)  เข้าพัก ณ โรงแรมย่านประตูท่าแพ  เชียงใหม่  พรุ่งนี้วันที่ 6  กันยายน  2558  จะเป็นอย่างไรติดตามใน  ไหว้พระธาตุศักดิ์สิทธิ์ 3 จังหวัด ตอนที่ 2 "  สวัสดีครับ




ขอบคุณ :   1)  http://www.lampang.go.th               2)  http://travel.kapook.com
                  
                 3)  http://www.tourlamphun.com          4)  http://remawadee.com

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์