ชี้ช่องมองการศึกษาขั้นพื้นฐาน



ท่ามกลางของความวิตกกังวลของผู้คนเกี่ยวกับคุณภาพของเด็กไทย  โดยเน้นไปที่ผู้เรียนระดับการศึกษาภาคบังคับ  9 ปี (ป.1- ม.3) ที่เป็นส่วน “ฐานราก” ของการศึกษาไทย  ได้ถูกนำมาเผยแพร่ต่อสาธารณะชนในแง่มุมต่าง ๆ ต่อเนื่องมาในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาและปัจจุบัน  ก่อให้เกิดคำถามจากผู้ที่รับผิดชอบทางด้านการศึกษาทุกระดับ และผู้ที่อยู่นอกวงการศึกษา  “ทำไม” หรือ “เพราะเหตุใด” คุณภาพโดยรวมของผู้เรียนระดับขั้นพื้นฐานจึงมีพัฒนาการที่ด้อยลงและตกต่ำอย่างน่าใจหายเช่นนั้น  จนกระทั่งนำไปสู่วาระแห่งการปฏิรูปการศึกษาระดับประเทศอีกคำรบหนึ่ง

จากประสบการณ์ที่ได้ทำงานอยู่กับแวดวงการศึกษามาตั้งแต่ “ยุคองค์การบริหารส่วนจังหวัด” (อจ.)  “ยุคสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ” (สปช.) และ “ยุคสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน” (สพฐ.)  แม้ปัจจุบันเป็นข้าราชการเกษียณแล้วก็ตาม  แต่ด้วยจิตสำนึกที่อยากเห็นคุณภาพของผู้เรียน และคุณภาพการศึกษาโดยรวม  มีพัฒนาการที่ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน จึงขอเสนอแนวความคิดและมุมมองเพื่อชี้ช่องมองการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังนี้

ระดับคุณภาพการศึกษาไม่จำเป็นต้องเท่ากัน
การกำหนดนโยบายระดับคุณภาพการศึกษาที่เหมาะสม ควรพิจารณาจากบริบทที่เป็นจริง  ทั้งนี้เนื่องจากในสภาพปัจจุบันเราจะมองเห็นภาพที่ค่อนข้างชัดเจนว่า  สถานศึกษาที่เปิดสอนในระดับการศึกษาภาคบังคับจะประกอบด้วย 3 กลุ่มสถานศึกษา กล่าวคือ 1) กลุ่มสถานศึกษาในเมือง   2) กลุ่มสถานศึกษากึ่งเมืองกึ่งชนบท  และ 3) กลุ่มสถานศึกษาในชนบทห่างไกล   
                           
                          


* กลุ่มสถานศึกษาในเมือง  ได้แก่ สถานศึกษาของภาครัฐ และเอกชนที่ตั้งอยู่ใกล้ตัวจังหวัด และ กทม. มีจำนวนสถานศึกษา และจำนวนนักเรียนในสัดส่วนที่มากถึงประมาณ  60 % ขึ้นไป  เป็นเช่นนี้เพราะการมีถนนหนทางที่ดีกว่าในอดีต รวมทั้งความเชื่อมั่นว่าที่ว่าสถานศึกษาในเมืองมีความเจริญทันสมัยและมีความพร้อมในทุกด้านมากกว่า ปัญหาที่ติดตามมาก็คือการจราจรช่วงเช้าและเย็นในเมือง ผู้ปกครองและนักเรียนที่หลั่งไหลเข้าเมือง มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า เป็นต้น
* กลุ่มสถานศึกษากึ่งเมืองกึ่งชนบท  ได้แก่ สถานศึกษาที่กระจายตัวอยู่ไม่ไกลจากตัวจังหวัด/อำเภอมากนัก  มีจำนวนสถานศึกษาและจำนวนนักเรียนในสัดส่วนที่น้อยลงประมาณ 30 %  ในอดีตสถานศึกษาเหล่านี้ จะมีสัดส่วนจำนวนสถานศึกษาและจำนวนนักเรียนที่มากกว่านี้ (ประมาณ 50%)  สถานศึกษาหลายแห่งต้องยุบตัวไปเพราะเหลือนักเรียนไม่กี่คน  ทั้งนี้เนื่องจากจำนวนของประชากรเด็กที่ลดลง ผนวกกับการไหล่บ่าเข้าเมืองของนักเรียนส่วนหนึ่ง  ปัญหาที่ติดตามมาของสถานศึกษากลุ่มนี้ เช่น การมีงบประมาณ(ค่าหัวของนักเรียน)ที่ลดลงการบริหารจัดการยากขึ้น ต้องจัดการเรียนการสอนแบบควบชั้น ขวัญกำลังใจของผู้บริหารและครูค่อนข้างต่ำ เป็นต้น
* กลุ่มสถานศึกษาในชนบทห่างไกล  ได้แก่ สถานศึกษาของภาครัฐและตำรวจตะเวนชายแดนที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากตัวจังหวัด/อำเภอ การคมนาคมไม่สะดวก ทุรกันดาร หรือถูกเรียกว่าสถานศึกษาชายขอบ  มีจำนวนสถานศึกษา และนักเรียนในสัดส่วนที่น้อยที่สุดประมาณ 10 %  ความพร้อมในภาพรวมของการจัดการศึกษา เช่น จำนวนผู้บริหาร/ครู อาคารสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ ฯ เรียกว่า “ ขาดแคลนน่าจะเหมาะสมกว่า ”

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่า “ จะอย่างไรก็ตามสถานศึกษาในกลุ่มที่ 2 และ 3 ก็ไม่อาจใช้ศักยภาพแห่งตนพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพทัดเทียมกับสถานศึกษากลุ่มที่ 1 ได้ ” ดังนั้นจึงขอสรุป เป็นข้อเสนอให้มีการกำหนดแนวปฏิบัติการพัฒนาและการประเมินคุณภาพการศึกษา ของสถานศึกษาเป็น 3 รูปแบบตามกลุ่มสถานศึกษา เพื่อให้สถานศึกษาแต่ละกลุ่มจัดการศึกษาแข่งขันกับตัวเองและแข่งขันกับสถานศึกษาในกลุ่มเดียวกันอย่างมีความสุขต่อไป



คุณภาพของครูที่เราคาดหวัง

คุณภาพผู้บริหาร คุณภาพผู้สอน คุณภาพผู้เรียน = คุณภาพการศึกษา

ผู้ที่ปฏิบัติงาน และอยู่ใกล้ชิดกับนักเรียนมากที่สุดคือ “ครูผู้สอน”  ฉะนั้นจึงทำให้ครูเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของนักเรียนมากที่สุด ทำให้สังคมมองเห็นความสำคัญและคาดหวังต่อบทบาทของครูสูงมาก  ยิ่งสถานการณ์ปัจจุบันที่คุณภาพการศึกษาถูกมองว่า “ตกต่ำ” หรือ “ไม่น่าพอใจ”  ภาระหนักจึงตกอยู่ที่ครูผู้สอนในอันที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานของตนเองให้สูงขึ้นและเป็นที่ยอมรับจากคนทั่วไป ซึ่งในประเด็นนี้ผู้เขียนให้ความสำคัญ และเห็นด้วยที่ต้องดำเนินการปฏิรูปบุคลากรครูมากที่สุด เพราะเชื่อมั่นว่าบุคลากรครู คือ ผู้ที่จะขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาได้ดีที่สุด  จึงขอเสนอแนวความคิดและมุมมองเพื่อชี้ช่องมองคุณภาพของครูที่คาดหวัง ดังนี้

* ครูต้องมีการเตรียมการสอน  ต้องบอกก่อนว่า “ ไม่ใช่การเตรียมการสอนที่เป็นตัวหนังสือหรือเอกสารที่ต้องส่งผู้บริหาร ” แต่เป็นการเตรียมการสอนเชิงพฤติกรรมมากกว่า โดยตั้งคำถามถามตัวเองใน 4 คำถามข้างล่าง แล้วคิดวางแผนพร้อมลงมือออกแบบการเรียนการสอน..บันทึกย่อ..(เก็บไว้เผื่อปรับใช้ได้ในโอกาสต่อๆไป..)          
1. เรื่อง....นี้เราจะจัดการเรียนการสอนอย่างไรบ้าง
2. มีอะไรเป็นตัวช่วยบ้าง เช่น สถานที่ สื่อวัสดุ/สื่อไอที  ผู้รู้/วิทยากร ฯ
3. กิจกรรมเสริมที่อาจมี  เช่น การบ้าน  การฝึกปฏิบัติจริง การทำรายงาน/การค้นคว้า ฯ
4. จะประเมินผลการเรียนรู้อย่างไรบ้าง  เช่น ทดสอบย่อย  ชิ้นงานต่าง ๆ ฯ

*  ครูต้องสร้างตัวช่วยในการสอน  สำหรับตัวช่วยในการสอนที่คิดว่าสามารถช่วยครูได้ดี ทำแล้วใช้ได้นานไม่ต้องทำบ่อย ๆ ก็คือ ชุดการเรียนรู้ (บางวิชาอาจทำได้มากหรือน้อยไม่เท่ากัน)          “ ชุดการเรียนรู้เป็นเพียงตัวช่วยหนึ่งที่สะท้อนต้นทุนความรู้ความสามารถของครู อาชีพครูอยู่เฉยไม่ได้ต้องใฝ่หาต้นทุนไว้ตลอดเวลา..” หน้าตาของชุดการเรียนรู้ก็จะคล้าย ๆ กับใบความรู้ หรือชุดความรู้ หรือชุดการสอนที่เราคุ้นเคยกัน เพียงแต่อยากเรียกชื่อใหม่ให้ดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น เพราะสอดคล้องกับชื่อที่ใช้สำหรับนักเรียนได้เรียนรู้ การออกแบบชุดการเรียนรู้ทำได้ทั้งแบบรายคน และแบบกลุ่ม ส่วนรูปแบบของชุดการเรียนรู้อาจเป็น เอกสาร , PowerPoint , VDO ,  Blog  เป็นต้น

*  ครูต้องวิจัยเป็น  จะให้ครูมีความรู้ความสามารถในการวิจัยทำได้อย่างไร ช่างเป็นคำถามที่หนักใจพอสมควร เพราะจำนวนครูที่ไม่กลัวการวิจัยมีค่อนข้างน้อยมาก ทางออกที่เหมาะสมของเรื่องนี้น่าจะเป็นอย่างไร จึงขอเสนอแนวความคิดและมุมมองเพื่อชี้ช่องช่วยให้ครูวิจัยเป็น ดังนี้

1) สถาบันการศึกษาที่ทำหน้าที่ผลิตครู  ควรพิจารณาให้ความสำคัญในการวิจัยการศึกษา โดยเพิ่มวิชาวิจัยการศึกษาให้นักศึกษาครูได้เรียนรู้ และฝึกปฏิบัติ (การวิจัยที่จำเป็นมาก ๆสำหรับครู คือ การวิจัยปฏิบัติการ) ซึ่งน่าจะช่วยให้นักศึกษาครูเห็นประโยชน์ของการทำวิจัยที่มุ่งแก้ไขปัญหาการเรียนรู้ของผู้เรียน และพัฒนาการศึกษาโดยรวมอีกด้วย กรณีนี้หากเป็นไปได้ก็เท่ากับว่าได้ช่วยกันสร้าง “ครูนักวิจัย” ให้มากขึ้นได้อีกทางหนึ่ง

2) หน่วยงานด้านการศึกษาที่ดูแลบุคลากรครูทุกระดับ ต้องมีแนวทางการปฏิบัติที่จะส่งเสริมให้ครูใช้การวิจัยเพื่อพัฒนาวิธีการใหม่ ๆ (นวัตกรรมทางการศึกษา) ในการแก้ปัญหาและพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การสนับสนุนทุนวิจัย  การประกวดผลงานการวิจัยระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับชาติ เป็นต้น

3) ครูต้องเป็นผู้นำการวิจัยระดับชั้นเรียน อธิบายความสำคัญและประโยชน์ของการวิจัยให้ผู้เรียนได้รู้จักและเข้าใจอย่างง่าย ๆ  (ผู้เรียนจะได้คุ้นเคยกับคำว่า “วิจัย” ตั้งแต่เด็ก ๆ ) การถ่ายทอดการวิจัยของครูควรใช้ “เทคนิคพาทำ” ในช่วงแรก ๆ ครูและผู้เรียนจะร่วมมือกันวิจัย และเรียนรู้ผลการวิจัยไปพร้อม ๆ กัน  บางเรื่องครูไม่จำเป็นต้องรู้มาก่อน...รู้พร้อมกับผู้เรียนก็ไม่เสียหายอะไร  ดีเสียอีกที่ทำให้ผู้เรียนเห็นความสำคัญเห็นคุณค่าและภาคภูมิใจในตัวเองมากยิ่งขึ้น ...แต่มีข้อแม้ประการหนึ่ง กล่าวคือ การวิจัยระดับนี้..ไม่ควรเน้นระเบียบวิธีการวิจัยด้านเอกสารมากนัก..ควรเน้นที่สาระสำคัญ ๆ และผลการวิจัยมากกว่าจะทำให้การวิจัยไม่ดูน่าเบื่อ..ครับ

หากเรามีบุคลากรครูที่วิจัยเป็น ถ่ายทอดการวิจัยให้ผู้เรียนทีละขั้นทีละตอน ไม่ใจร้อน และจัดสรรโอกาสในการฝึกฝนให้ผู้เรียน รวมทั้งให้กำลังใจ และกระตุ้นให้เป็นนักคิดวิเคราะห์บ่อย ๆ ในอนาคตเราน่าจะได้ “นักวิจัยเด็ก” ที่จะเติบโตเป็นนักวิจัยผู้ใหญ่รับใช้สังคมและบ้านเมืองมากขึ้นในที่สุด



ขอบคุณ :  1)  ภาพนักเรียนจาก http://www.vcharkarn.com

               2)  ภาพครูและนักเรียนจาก http://loadebookstogo.blogspot.com

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์