ไหว้พระธาตุศักดิ์สิทธิ์ 3 จังหวัด ตอนที่ 2



วันที่ 6 กันยายน 2558  วันนี้เป็นวันอาทิตย์พวกเราตื่นแต่เช้าเพื่อมุ่งหน้าไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง  ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่มากนัก  ชาวเชียงใหม่ให้ความนิยมกันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงวันหยุด หรือเทศกาล  อากาศดีท้องฟ้าแจ่มใส จะมีคนไปกันมากเป็นพิเศษ

อ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า หมู่ที่ ๓ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ จากตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่  เริ่มต้นกันที่จากแยกโรงแรมเชียงใหม่ภูคำ-สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ ๗๐๐ ปี เลียบคลองชลประทาน ผ่านโรงเรียนนวมินทร์ฯ-มูลนิธิขาเทียม-กรมทางหลวง-ททบ.๕-สถานีพัฒนาที่ดินเชียงใหม่ และเลี้ยวซ้ายข้ามสะพานคลองชลประทาน เข้าสู่โครงการฯ ห้วยตึงเฒ่า รวมระยะทางประมาณ ๙ กิโลเมตร  (แผนที่และข้อมูลเพิ่มเติมจาก http://www.fca16.com)


ภูมิทัศน์รอบอ่างเก็บน้ำที่สวยงาม  ประกอบด้วยพื้นที่ส่วนใหญ่ของป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ (เต็ง รัง เหียง) และไผ่ชนิดต่างๆ   มีร้านค้าขายอาหาร  มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่อนักท่องเที่ยวมากมาย ได้แก่สถานที่เล่นน้ำ  สถานที่ออกกำลังกาย  พื้นที่กางเต้นท์  กิจกรรมพายเรือ  จักรยานน้ำ  ตกปลา และกิจกรรมทางศาสนา เป็นต้น เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 18.00 น. และเก็บค่าบริการนักท่องเที่ยว คนละ 20 บาท

เราไปถึงประมาณ 08.00 น.เศษ  มีฝนตกเล็กน้อย จำนวนนักท่องเที่ยวยังไม่เท่าใดนัก (ยกเว้นนักปั่นจักรยาน)  อากาศสดชื่นมาก ๆ ถนนก็ใช้ได้สะดวสบาย  ขับรถไปรอบ ๆ อ่างเก็บน้ำ และหยุดเพื่อเก็บภาพบรรยากาศที่สดใสยามเช้ามาแชร์กัน  ในภาพบนจะเห็นซุ้มที่นั้งรับประทานอาหาร และเครื่องเล่นทางน้ำส่วนภาพล่างจะเป็นนักปั่นจักรยานที่มาออกกำลังและฝึกซ้อมปั่นรอบอ่างเก็บน้ำครั้งละหลาย ๆ รอบ


ฟอกปอดด้วยอ็อกซิเจนบริสุทธิ์เรียบร้อยแล้ว  ประมาณ 09.00 น.เศษ  พวกเราเดินทางออกจากห้วยตึงเฒ่า โดยย้อนกลับเส้นทางเดิม (เรียบคองชลประทาน)  อ่านป้ายประชาสัมพันธ์ข้างทางเกี่ยวกับงาน RANNA  EXPO 2015   วันที่ 4 - 13  กันยายน  2558   ณ อาคาร SME  ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่   ตัดสินใจขับรถแวะเข้าไปยังบริเวณงานทันที
เสาธงชาติ และ สัญลักษณ์ด้านหน้าของอาคารที่จัดงาน  RANNA  EXPO 2015




สินค้าประเภทผลิตภันฑ์พื้นบ้าน เช่น ไม้แกะสลัก  สมุนไพรไทย  และแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น

ร้านอาหารพื้นเมือง

ร้านผ้าพื้นเมือง


เดินชมงานประมาณ 2 ชั่วโมงกว่า ๆ ไม่ครบทุกอาคารหรอกครับ  เนื่องจากแข้งขาไม่ค่อยจะเป็นใจกับเราเท่าใดนัก  ซื้ออาหารพื้นเมืองมานั่งรับประทานรองท้องก่อนมื้อเที่ยง และดูผู้คนที่ผ่านไปมา   นั่งพักสักครู่ออกเดินทางกลัวตัวเมืองเชียงใหม่  ได้เวลาอาหารกลางวันพอดีพลาดไม่ได้หาร้างอาหารอร่อย ๆ ทานกันดีกกว่า

จุดที่เราแวะรับประทานอาหารกลางวันกันนั้น  จะอยู่ไม่ไกลจากวัดเก่าแก่ของเชียงใหม่วัดหนึ่ง  ซึ่งมีจุดเด่นและน่าสนใจไปอีกรูปแบบหนึ่ง  พวกเราจึงไม่พลาดที่จะเข้าไปศึกษาเรียนรู้กันในช่วงบ่าย ๆ  วัดดังกล่าว คือ วัดอุโมงค์(สวนพุทธธรรม)



หากไม่ใช่คนในพื้นที่เชียงใหม่อาจเดินทางไปวัดแห่งนี้ไม่สะดวกนัก  www.watumong.org  : จึงได้จัดทำแผนที่ขึ้นสำหรับท่านที่สนใจ  กล่าวคือ จากแผนที่สามารถไปวัดได้ 2 เส้นทาง คือ สะดวกที่สุดจะเป็นด้านหลัง ม.เชียงใหม่  ถนนสุเทพ  ปากซอยทางเข้าจะเป็นร้านเซพเว่นฯ เข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร
อีกเส้นทางหนึ่ง คือ ใช้ถนนเรียบคลองชลประทาน ตรงเข้าไประยะทางไม่ต่างกันครับ


ป้ายด้านหน้าวัดอุโมงค์(สวนพุทธธรรม) จ.เชียงใหม่ จาก 2g.pantip.com




























คำสอนของหลวงพ่อปัญญานันทะ  ณ ศูนย์หนังสือพระพุทธศาสนาวัดอุโมงค์

ผ่านประตูทางเข้าวัดหลายคนอาจเข้าใจผิด..วัดหรือป่าชุมชนกันแน่ ?  แต่สำหรับผู้เขียนนับว่าถูกใจ และอยากเห็นป่าในเมืองอย่างเช่นวัดแห่งนี้มีมากขึ้นให้มากที่สุด 


เพราะความสงบเงียบและความร่มรื่นของพรรณไม้  จะช่วยให้เราผ่อนคลายทางด้านจิตใจ เกิดสมาธิและเกิดความปัญญาติดตามมา

 

ถนนเส้นทางเดินเล็ก ๆ นี้  ใช้ประโยชน์หลายอย่าง อาทิ  การเดินทำสมาธิ  การเดินสำรวจพรรณไม้สมุนไพร  การสำรวจนก หรือสัตว์ป่าต่าง ๆ  เป็นต้น





เดินขึ้นบันไดไปซ้ายมือจะพบ อนุสาวรีย์พระเจ้าเม็งรายมหาราช (The  Great  King  Mangrai)  พญาเม็งราย (เม็ง)  ประสูตรเมื่อปีกุน พ.ศ.1782  ครองเมืองเงินยางเชียงแสน แทนพญาลาวเม็ง พระราชบิดาเมื่อ พ.ศ. 1802  ทรงพระปรีชาสามารถรวบรวมแคว้นและเมืองต่าง ๆ เข้าเป็นอาณาจักรล้านนาไทย ทรงตรากฎหมาย "มังรายศาสตร์"  ใช้ปกครองบ้านเมืองเป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์มีงราย  สืบเชื้อสายครองเมืองเชียงใหม่อาณาจักรล้านนาไทยต่อมาอีก 17 พระองค์  สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.1854  รวมพระชนม์มายุได้ 72 พรรษา

เมื่อครั้งพญาเม็งรายสร้างเมืองเชียงใหม่แล้ว  ประมาณ พ.ศ.1840 ได้สร้างวัดขึ้นบริเวณป่าไผ่ 11 กอ  คือ วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม)  เป็นวัดฝ่ายอรัญญวาสี  สำหรับภิกษุที่เรียนพุทธวจนะแล้วออกไปหาความสงบในป่า  เพื่อบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน


                




หลักศิลาจารึก ที่บันทึกประวัติความเป็นมาของวัดอุโมงค์


วัดอุโมงค์ ( U - Mong  Temple)  เดิมชื่อวัดเวฬุกัฎฐาราม  แปลว่า  วัดไผ่  11  กอ  ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อครั้งพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่แล้ว  ในปี พ.ศ. 1840  ได้สร้างวัดขึ้นบริเวณป่าไผ่  11  กอ  เพื่อถวายเป็นที่พำนักแด่พระภิกษุนามเถรจันทร์ และภิกษุชาวสิงหล (ลังกา)  ในอดีตถือเป็นวัดป่าหรืออรัญญวาสี  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเวียงสวนดอกนอกเวียงเชียงใหม่  ภายในเจดีย์ทรงระฆังกลม ตั้งฐานกลมเตี้ย (รูปแบบคล้ายกับเจดีย์สัปต เมืองพุกาม  ซึ่งสร้างในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 19)  

ภายในห้องกรุใต้องค์เจดีย์มีภาพเขียนรูปอดีตพระพุทธเจ้าประทับนั้งอยู่ในซุ้มเรือนแก้วเรียงกันเป็นแถว องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนเนินลานโล่ง ล้อมรอบด้วยกำแพง มีบันไดนาคทางขึ้น-ลงอยู่ทางทิศใต้  ด้านทิศตะวันออก้ป็นลานหินหลังคาของอุโมงค์ที่มีช่องประตูทางเข้าอยู่ด้านล่าง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปและตกแต่งผนังคูหาด้วยภาพวิจิตรกรรมรูปต้นไม้ ดอกไม้ และนก  สัญนิษฐานว่าวัดนี้สร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21  

ต่อมาในปี พ.ศ. 2490  เจ้าชื่นสิโรรส  ได้ปรับปรุงซ่อมแซมและสร้างสวนพุทธธรรมขึ้นในวัด แล้วนิมนต์ท่านปัญญานันทะภิกขุ (พระธรรมโกศาจารย์) มาเป็นเจ้าอาวาส  วัดอุโมงค์นับได้ว่าเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของเมืองเชียงใหม่



อนุสาวรีย์ของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ณ ลานด้านหน้าอุโมงค์  :  ภาพจาก  2g.pantip.com


เสาอโศก   เครื่องระลึกถึงพระเจ้าอโศกมหาราชพระมหากษัตริย์ของประเทศอินเดียราว พ.ศ. 270  ผู้เป็นเอกอัครศาวสนูปถัมภก และทรงเป็นนักเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่องค์แรกของโลก  เสานี้เป็นเครื่องหมายอันสำคัญซึ่งค้นพบที่อินเดีย  เมื่อเสาอโศกนี้ตั้งอยู่ที่ใดนั้น  หมายถึง สถานที่นั้นมีความสำคัญกับองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า และพุทธศาสนา  เสานี้จำลองมาสร้างเมื่อ พ.ศ. 2507


ด้านหน้าอุโมงค์   :   ภาพจาก  https://th.wikipedia.org



ด้านหน้าอุโมงค์  :  ภาพจาก2g.pantip.com
















ลายภาพเขียนฝาผนังที่ยังปรากฏให้เห็นอยู่บ้าง :   ภาพจาก 2g.pantip.com


จิตรกรรมฝาผนังวัดอุโมงค์ในส่วนที่เหลือหลักฐานให้ชมในปัจจุบันอยู่บริเวณเพดานโค้งภายในอุโมงค์ ตัวอุโมงค์ตั้งอยู่บริเวณต่อเนื่องกับเจดีย์ทางทิศเหนือ โดยหันทางเข้าหลักไปยังทิศตะวันออกจำนวน 3 อุโมงค์ในด้านหน้า ซึ่งอุโมงค์กลาง (อุโมงค์ที่ 4) มีขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งสามารถเห็นได้ เพียง 3 อุโมงค์เท่านั้น คือ อุโมงค์ที่ 1, 2, และ 3 นอกเหนือจากนี้ไม่สามารถเห็นได้ อีกทั้งภาพหลักฐานจิตรกรรมฝาผนังในอุโมงค์มีสภาพลบเลือนไปมาก จำเป็นต้องใช้เทคนิคคัดลอกจิตรกรรมด้วยมือและคอมพิวเตอร์ควบคู่กัน โดยการคัดลอกลายเส้น และการคัดลอกเป็นภาพสี จึงทำให้ยังสามารถเห็นภาพจิตรกรรมฝาผนังอันเก่าแก่ของศิลปะล้านนาซึ่งมีอายุกว่า 500 ปีได้ชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิม (ข้อมูลเพิ่มเติมจาก https://th.wikipedia.org)


ภาพแห่งความเชื่อความศรัทธา


อีกภาพหนึ่งแห่งความเชื่อความศรัทธา


หลังคาโปร่งแสงเพิ่มความสว่างภายในอุโมงค์












 ช่องระบายอากาศด้านบนหลังอุโมงค์   เดินขึ้นบันไดไปจะเป็นเจดีย์โบราณอายุมากกว่า 700 ปี



เจดีย์วัดอุโมงค์ เป็นเจดีย์ทรงระฆังระยะแรกของศิลปะล้านนาที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 19 ปรับปรุงมาจากเจดีย์ทรงระฆังแบบหนึ่งในศิลปะพุกาม ครั้นล่วงมาถึงช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ต่อเนื่องกับต้นพุทธศตวรรษถัดมา เจดีย์ทรงนี้คลี่คลายไปโดยมีรูปทรงที่สูงโปร่ง และในช่วงเวลาของพุทธศตวรรษที่ 21 รูปแบบของเจดีย์ทรงระฆังจึงมีการคลี่คลายปรับเปลี่ยนค่อนข้างรวดเร็ว เพราะได้รับอิทธิพลจากเจดีย์ในศิลปะสุโขทัย อีกทั้งเป็นเจดีย์องค์สำคัญยุคต้นๆของพัฒนาการเจดีย์ทรงระฆังในศิลปะล้านนา  (ข้อมูลเพิ่มเติมจาก https://th.wikipedia.org)



หลังคาของอุโมงค์ปูด้วยอิฐก้อนใหญ่



บันไดนาคทางขึ้นหลักไปนมัสการพระเจดีย์

เราเยี่ยมชมวัดอุโมงค์นานเป็นพิเศษ แต่ก็ยังเยี่ยมชมไม่ครบ  เพราะนอกจากนี้วัดอุโมงค์ยังมีสถานที่ที่น่าสนใจอีก เช่น  เศียรพญานาค   รูปพระโพธิสัตว์  พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง  โรงภาพปริศนาธรรม  หอสมุดธรรมโฆษณ์  และพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ  เป็นต้น   คงต้องไปกันอีกสักครั้งในโอกาสต่อไป  ถึงที่พักเวลา  17.40 น.  พรุ่งนี้ยังมีเรื่องราวเด็ด ๆ รออยู่ใน ไหว้พระธาตุศักดิ์สิทธิ์ 3 จังหวัด ตอนที่ 3 ..ครับ




ขอบคุณ  :   1)  http://www.fca16.com                 2)  http://www.watumong.org

                 3)  2g.pantip.com                               4)  https://th.wikipedia.org                            

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์