วิจัยในชั้นเรียน...ใครว่ายาก..?


 การวิจัยในชั้นเรียน      ถือเป็นภาระงานหนึ่งของครูผู้สอน แต่จากสภาพจริงที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แม้จะมีการส่งเสริมเชิงนโยบายให้ครูหันมาให้ความสำคัญ และทำวิจัยในชั้นเรียนกันมากขึ้นก็ตาม  ถึงกระนั้นสัดส่วนของจำนวนครูผู้สอน กับจำนวนรายงานวิจัยในชั้นเรียน ยังนับว่าห่างไกลกันมากเลยทีเดียว ในทางกลับกันผู้เขียนเคยถามครูผู้สอนว่า "การวิจัยในชั้นเรียนสำคัญและดีไหม..คำตอบที่ได้รับเหมือนๆ กัน คือ "สำคัญและดี " ถามต่อไปว่า " เมื่อรู้ว่าสำคัญและดีแล้ว..ทำไมไม่ค่อยทำกันล่ะ..? " คำตอบที่ตอบกันมากที่สุด คือ " ไม่มีเวลา " ถึงอย่างไรก็ตามผู้เขียนก็ยังอยากเป็นกำลังใจให้ครูผู้สอนที่ทำวิจัยในชั้นเรียนอยู่แล้ว...ให้ทำต่อไป ส่วนผู้ที่กำลังคิดจะทำ..ข้อมูลการวิจัย ฯ ของ ดร.รัตนา ศรีเหรัญ ข้างล่างนี้...จะช่วยให้ท่านกำหนดจุดเริ่มการทำงานได้ง่ายมากขึ้น

1) การวิจัยในชั้นเรียน คืออะไร ? การวิจัยในชั้นเรียน เป็นรูปแบบหนึ่งของการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) ซึ่งเป็นการวิจัยที่มุ่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าเป็นครั้ง ๆ ไป หรือเป็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ผลการวิจัยที่ค้นพบนี้ไม่สามารถนำไปใช้อ้างอิงกับกลุ่มอื่น ๆ ได้ เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในวงจำกัด หรือเป็นปัญหาเฉพาะที่ เช่น ปัญหาที่เกิดขึ้นในห้องเรียนบางอย่างที่ครูต้องการคำตอบมาอธิบายเฉพาะที่เกิดขึ้นในห้องที่ตนรับผิดชอบอยู่ เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับปัญหาของห้องเรียนอื่น ๆ การศึกษาปัญหาลักษณะนี้ เราเรียกว่า การวิจัยในชั้นเรียน (Classroom Action Research) ซึ่งเป็นรูปแบบของการวิจัยที่ครูกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะสามารถนำไปใช้เพื่อการศึกษา และการวิจัยในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงของห้องเรียน จึงอาจกล่าวได้ว่า การวิจัยในชั้นเรียนเป็นวิธีการวิจัยที่ออกแบบ และพัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยให้ครูสามารถค้นพบว่ามีอะไรเกิดขึ้นในห้องเรียนบ้าง และยังช่วยให้ครูทราบข้อมูลที่จะนำไปใช้เพื่อการพัฒนาการเรียนการสอนที่จะมีขึ้นต่อไปในอนาคต โดยเลือกใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ การวิจัยเชิงปริมาณ การวิจัยเชิงบรรยาย หรือการวิจัยเชิงทดลอง อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นวิธีการศึกษา

2) หลักการและแนวคิดของการวิจัยในชั้นเรียน เนื่องจากการวิจัยในชั้นเรียนเป็นรูปแบบหนึ่งของการวิจัยเชิงปฏิบัติการที่ใช้เพื่อการศึกษาสภาพที่เกิดขึ้นภายในห้องเรียนโดยมีครูเป็นผู้ดำเนินการ จึงมีหลักการและแนวคิดดังนี้
        1. เป็นการศึกษาค้นคว้าที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนในห้องเรียน
        2. เป็นการหาแนวทางในการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตร วิธีสอน การจัดกิจกรรม สื่อ แบบฝึก และวิธีการวัดและประเมินผล
        3. เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประสิทธิภาพการเรียนการสอน

3) วัตถุประสงค์ของการวิจัยในชั้นเรียน  จากหลักการและแนวคิดของการวิจัยในชั้นเรียน เราสามารถกำหนดวัตถุประสงค์ของการวิจัยในชั้นเรียน ได้ดังนี้
       1. เพื่อศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ
       2. เพื่อพัฒนา ปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอน
       3. เพื่อการพัฒนา ปรับปรุงหลักสูตร และนวัตกรรม
       4. เพื่อพัฒนา ปรับปรุงเทคนิคการวัดและประเมินผล
       5. เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการสอนของครู - อาจารย์  
       6. เพื่อพัฒนาเทคนิคการเรียนการสอน

4) ลักษณะของการวิจัยในชั้นเรียน การวิจัยในชั้นเรียน เป็นการวิจัยที่เกิดจากการศึกษาโดยครูซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์หรือสถานการณ์ของห้องเรียนในขณะที่ทำกิจกรรมการเรียนการสอนในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งแล้วทำการเขียนรายงานผลการศึกษาออกมาในรูปแบบของงานวิจัยในชั้นเรียน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นในครั้งต่อไป ดังนั้น การวิจัยในชั้นเรียนจึงมีลักษณะดังนี้
       1. เป็นงานวิจัยที่มุ่งค้นหารูปแบบ และวิธีการที่เกี่ยวกับการเรียนการสอน
       2. เป็นงานวิจัยที่มุ่งพัฒนาคุณภาพของตัวผู้เรียนและประสิทธิภาพของครูผู้สอน
       3. เป็นงานวิจัยที่มุ่งศึกษา สำรวจสภาพที่ปรากฏตามความต้องการ ความคิดเห็น และความสนใจของบุคคลในห้องเรียน

5) รูปแบบของการวิจัยในชั้นเรียน กิจกรรมการเรียนการสอนมีองค์ประกอบมากมายที่เข้ามามีส่วนที่ทำให้การเรียนการสอนสามารถดำเนินการได้ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษา การวิจัยในชั้นเรียนจึงมีรูปแบบ หรือแนวทางในการศึกษา ดังนี้
    1. เป็นการศึกษาเกี่ยวกับวิธีการ หรือรูปแบบเพื่อการพัฒนาการเรียนการสอน การวิจัยด้านนี้มุ่งศึกษาเกี่ยวกับ
        1.1 การปรับเปลี่ยน และพัฒนาวิธีการสอน
        1.2 ทดลองสอนด้วยเทคนิค และวิธีการต่าง ๆ
        1.3 ค้นหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้เรียน
        1.4 การสร้างแบบฝึกทักษะด้านต่าง ๆ ของผู้เรียน
        1.5 เทคนิค วิธีการเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้
        1.6 หาแนวทางในการแก้ไขข้อบกพร่องของผู้เรียน
    2. เป็นการศึกษาเกี่ยวกับองค์ประกอบของการเรียนการสอน การวิจัยด้านนี้มุ่งศึกษาเกี่ยวกับ
        2.1 ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน
        2.2 ความรู้เดิมกับพัฒนาการของการเรียนรู้
        2.3 ปัจจัยที่มีผลต่อการเรียนของผู้เรียน
        2.4 คารวิเคราะห์หลักสูตร การนำหลักสูตรไปใช้
        2.5 ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการวัดประเมินผล
        2.6 บรรยากาศในห้องเรียนกับผลการเรียนรู้ของนักเรียน
    3. เป็นการศึกษาเกี่ยวกับลักษณะ และรูปแบบของหลักสูตร การวิจัยด้านนี้มุ่งศึกษาเกี่ยวกับ
        3.1 การประเมินหลักสูตร
        3.2 การติดตามการใช้หลักสูตร
        3.3 การพัฒนาหลักสูตร
        3.4 การพัฒนาเทคนิคการวัดและประเมินผล
        3.5 วิเคราะห์ความเหมาะสมของรายวิชาต่าง ๆ
    4. เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน การวิจัยด้านนี้มุ่งศึกษาเกี่ยวกับ
        4.1 การประเมิน ติดตามการใช้แผนการสอน
        4.2 การทดลองใช้วิธีการสอนหรือชุดการสอน
        4.3 การสร้างสื่อ แบบฝึก ชุดการสอน หนังสือ นวัตกรรม
        4.4 ผลการใช้สื่อ แบบฝึก ชุดการสอน หนังสือ นวัตกรรม
        4.5 การจัด หรือใช้รูปแบบของกิจกรรมการเรียนการสอน
        4.6 เจตคติของครู - อาจารย์ นักเรียนที่มีต่อรายวิชาต่าง ๆ
        4.7 บรรยากาศในห้องเรียน และโรงเรียน
        4.8 การจัดห้องเรียน และห้องปฏิบัติการต่าง ๆ
    5. เป็นการศึกษาเกี่ยวกับเทคนิค วิธีการ และรูปแบบของการวัดและประเมินผล การวิจัยด้านนี้มุ่งศึกษาเกี่ยวกับ
        5.1 การสร้างและพัฒนาแบบทดสอบแบบต่าง ๆ
        5.2 การวิเคราะห์หาคุณภาพของแบบทดสอบ
        5.3 การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
        5.4 การหาความสัมพันธ์ของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในรายวิชาต่าง ๆ
        5.5 การหาปัจจัยที่มีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
    6. เป็นการศึกษาเกี่ยวกับสื่อ เทคโนโลยี และนวัตกรรม การวิจัยด้านนี้มุ่งศึกษาเกี่ยวกับ
        6.1 การพัฒนาสื่อการสอน
        6.2 การหาประสิทธิภาพของสื่อการสอน
        6.3 การเปรียบเทียบวิธีสอนแบบต่าง ๆ
        6.4 การเปรียบเทียบประสิทธิภาพของสื่อการสอน
        6.5 ศึกษาผลการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอน
        6.6 ศึกษาผลการเรียนรู้ที่เกิดจากการใช้นวัตกรรม
        6.7 ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาต่าง ๆ ที่เกิดจากการใช้สื่อ















ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

ต่อหัวเสือ...ไม่ร้ายอย่างเสือ