ข้าวไทยใครควรรู้


สวัสดีครับ....พบกันอีกวาระหนึ่งในวาระนี้ผมมีเรื่องที่คนไทยทุกคนสมควรที่จะต้องรับรู้  และให้ความสำคัญอยู่เสมอ   ถึงแม้เมื่อมองดูผิวเผินคล้ายกับเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยสำคัญในความคิดของหลาย ๆ คนก็ตาม   แต่ในความคิดของผู้เขียนกลับมองว่าเป็นเรื่องพื้นฐานที่คนไทยต้องตระหนัก และร่วมมือกันสร้างค่านิยม + ความรู้ความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับกลุ่มเยาวชนไทย  เพื่อให้เกิดการสืบทอดเรื่องราวหรือวิวัฒนาการของ "ข้าวไทย"  ที่มีอยู่ในทุกภูมิภาคอย่างไม่มีวันจบสิ้น   แต่หากเป็นเพียงแนวความคิดที่ไร้การปฏิบัติจริง   ข้าวไทยก็จะเป็นเพียงแค่การรับรู้ทั่วไปเท่านั้น   มาถึงตรงนี้ผู้เขียนให้ความสำคัญกับโรงเรียนหรือสถานศึกษาทุกระดับ      ที่จะจัดให้มีสาระการเรียนรู้ (เนื้อหา) หรือรายวิชาที่เกี่ยวกับ       ข้าวไทยให้นักเรียนได้ศึกษาเรียนรู้ในแต่ละระดับชั้น  และเพื่อเป็นการเริ่มต้นที่ดีผู้เขียนได้สืบค้นข้อมูลบางส่วนที่อาจเป็นแนวทางการเเรียนรู้ "ข้าวไทย"  ใน  4   เรื่อง คือ  ประวัติข้าวไทย   ความเชื่อที่เกี่ยวกับข้าวในประเทศไทย   ข้าวกับนิทานพื้นบ้าน   และสรีรวิทยาของข้าว


(1) ประวัติข้าวไทย
    ข้าวของไทยเป็นพืชอาหารประจำชาติที่มีตำนานประวัติศาสตร์มายาวนาน ปรากฏเป็นร่องรอยพร้อมกับอารยธรรมไทยมาไม่น้อยกว่า 5,500 ปี ซึ่งมีหลักฐานจากแกลบข้าวที่เป็นส่วนผสมของดินใช้เครื่องปั้นดินเผาที่บ้านเชียง อำเภอโนนนกทา ตำบลบ้านโคก อำเภอภูเวียงอัน สันนิษฐานได้ว่าเป็นเมล็ดข้าวที่เก่าแก่ที่สุดของไทยรวมทั้งยังพบหลักฐานเมล็ดข้าวที่ขุดพบที่ถ้ำปุงฮุง จังหวัดแม่ฮ่องสอนโดยแกลบข้าวที่พบนี้มีลักษณะของข้าวเหนียวเมล็ดใหญ่ที่เจริญงอกงามในที่สูง
     นอกจากนี้ยังมีการคันพบเมล็ดข้าว เถ้าถ่านในดินและรอยแกลบข้าวบนเครื่องปั้นดินเผาที่โคกพนมดี อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี แสดงให้เห็นถึงชุมชนปลูกข้าวสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในแถบชายฝั่งทะเล รวมทั้งยังมีหลักฐานคล้ายดอกข้าวป่าที่ถ้ำเขาทะลุ จังหวัดกาญจนบุรี อายุประมาณ 2,800 ปี ซึ่งอยู่ในช่วงรอยต่อของยุคหินใหม่ตอนปลายกับยุคโลหะตอนต้น
     ภาพเขียนบนผนังถ้ำหรือผนังหินอายุประมาณ 6,000 ปี ที่ผาหมอนน้อย บ้านตากุ่ม ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มีลักษณะคล้ายบันทึกการปลูกธัญพืชอย่างหนึ่งที่มีลักษณะเหมือนข้าว ภาพควาย แปลงพืชคล้ายข้าว แสดงให้เห็นว่า มนุษย์ได้รู้จักการเพาะปลูกข้าวเป็นอย่างดีแล้ว
     นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น 3 คน คือ Tayada Natabe, Tomoya Akihama และ Osamu Kinosgita แห่งมหาวิทยาลัย Tottri และกระทรวงเกษตรและกรมป่าไม้ ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องข้าวไทย ดูแกลบจากแผ่นอิฐโบราณจากโบราณสถาน 108 แห่งใน 39 จังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศไทย ทำให้สันนิษฐานได้ว่า การปลูกข้าวในไทยมีมานานนับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 6 โดยข้าวที่ปลูกจะเป็นข้าวเหนียวนาสวนเมล็ดป้อม และข้าวเหนียวไร่เมล็ดใหญ่ ต่อมาการปลูกข้าวเหนียวไร่น้อยลง แล้วเริ่มมีการปลูกข้าวนาสวนเมล็ดเรียวเพิ่มขึ้น
      การศึกษาวิจัยนี้ทำให้ทราบว่า ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-20 มีข้าวชนิดต่างๆ จำนวน 3 ขนาด คือ ข้าวเมล็ดใหญ่ ได้แก่ ข้าวเหนียวที่งอกงามในที่สูง ข้าวเมล็ดป้อม ได้แก่ ข้าวเหนียวที่งอกงามในที่ลุ่ม (ทั้งสองชนิดมีการเพาะปลูกก่อนสมัยทวาราวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16) และเมล็ดข้าวเรียว ได้แก่ ข้าวเจ้า พบในสมัยศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ 13-18) ซึ่งข้าวแต่ละชนิดพบมากหรือน้อยแตกต่างกันไปตามระยะเวลาประมาณ พ.ศ. 540-570 ไทยได้รับอิทธิพลด้านกสิกรรมและการค้าจากจีน ซึ่งคาดว่ามาตามลำน้ำโขงสู่ดินแดนอีสานตอนล่าง ที่นิยมปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อม และเมล็ดใหญ่กันอย่างแพร่หลาย เช่นเดียวกับภาคกลางในยุคทวาราวดี  ในช่วงเวลานั้นเริ่มมีการเพาะปลูกข้าวเจ้าเมล็ดยาวเรียวขึ้นแล้ว สันนิษฐานว่านำมาจากอาณาจักรขอม ซึ่งในยุคนั้นถือว่า เป็นชนชั้นปกครอง การหุงต้มข้าวเมล็ดยาวนี้แตกต่างจากข้าวของชาวพื้นเมือง จึงเชื่อว่าเป็นสาเหตุให้ข้าวชนิดนี้ถูกเรียกว่า “ข้าวเจ้า” และเรียกข้าวเหนียวว่า “ข้าวไพร่” บ้างก็เรียกว่า “ข้าวบ่าว” หรือ “ข้าวนึ่ง” ซึ่งข้าวในสมัยนั้นเรียกกันเป็นสิ่งบ่งบอกชนชั้นได้อีกด้วย


     ในสมัยกรุงสุโขทัย (พ.ศ. 1740-2040) ข้าวที่ปลูกในสมัยนี้ยังเป็นข้าวเหนียวเมล็ดป้อมและเมล็ดยาวเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็เริ่มปลูกข้าวเจ้าเมล็ดยาวเรียวเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ในยุคนี้พระมหากษัตริย์ทรงทำนุบำรุงการกสิกรรมได้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์ดังปรากฏในศิลาจารึกว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” มีการหักล้างถางพงและถือครองเป็นที่ทำกิน และที่ดินนั้นจะสืบทอดเป็นมรดกตกทอดแก่ลูกหลาน การสร้างหลักปักฐานเพื่อประกอบอาชีพกสิกรรมเช่นนี้ ก่อให้เกิดระบบการปกครอง เศรษฐกิจและสังคมขึ้น ดังนั้นระบบศักดินาซึ่งเป็นการแบ่งระดับชนชั้นตามจำนวนของพื้นที่นาจึงน่าจะเริ่มในยุคนี้
    ต่อมาเข้าสู่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น บ้านเมืองมีความมั่งคั่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญ อีกทั้งมีหัวเมืองในอาณาจักรจำนวนมาก เริ่มระบบการปกครองแบบจตุสดมภ์มี “กรมนา” ดูแลและส่งเสริมและสนับสนุนการทำนาอย่างจริงจัง เพราะข้าวเป็นอาหารหลักของประชากรและเป็นเสบียงสำรองในยามเกิดศึกสงคราม โดยข้าวที่ปลูกส่วนใหญ่ยังคงเป็นข้าวเหนียวเมล็ดป้อม และเมล็ดยาว แต่การปลูกข้าวเจ้าเมล็ดยาวเรียวมากขึ้นด้วย
       สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย-กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นในต้นรัชสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีการเก็บอากรข้าวในภาคกลาง ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ข้าวที่ทางราชการแนะนำ หรือพันธุ์พื้นเมืองที่มีคุณภาพ ส่วนภาคเหนือตอนบนนิยมปลูกข้าวเหนียว แต่ในภาคเหนือตอนล่างและภาคใต้เน้นปลูกข้าวเจ้าเป็นหลัก ในช่วงนี้เองที่ประเทศตะวันตกได้ออกล่าอาณานิคม และเมืองไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมาย แต่ด้วยพระปรีชาญาณ และวิเทโศบายอันชาญฉลาดของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ไทยจึงรอดพ้นเงื้อมมือของต่างชาติ และดำรงเอกราชอยู่ได้ ซึ่งส่วนหนึ่งคือ การเปิดเสรีการค้ากับต่างประเทศมากขึ้น ส่งผลให้ข้าวกลายเป็นสินค้าออกที่สำคัญของไทย รัฐบาลต้องขยายพื้นที่เพาะปลูก เพิ่มปริมาณผลผลิตข้าวในเขตพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุด
      ปัจจุบันการปลูกข้าวในประเทศไทย คงมีเพียงข้าวเมล็ดป้อมที่พบมากในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะที่ข้าวเมล็ดยาวพบมากในภาคกลางและภาคใต้ที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ปลูกข้าวคิดเป็น 45 % ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศ ส่วนใหญ่ปลูกข้าวหอมมะลิ 105 ซึ่งเป็นข้าวคุณภาพดีที่สุดของโลก ข้าวที่ปลูกในพื้นที่แถบนี้จึงมักปลูกไว้เพื่อขาย รองลงมาคือ ภาคกลาง และภาคเหนือ ที่พื้นที่เพาะปลูกเท่ากันประมาณ 25%   ทุกวันนี้ไทยเป็นแหล่งปลูกข้าวที่ผลิตออกสู่ตลาดโลกมากที่สุด และเป็นศูนย์กลางของการศึกษาวิจัยพันธุ์ข้าว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงบทบาทของผู้สร้างตำนานแห่งอารยธรรมธัญญาหารของมนุษยชาติ
(2) ความเชื่อที่เกี่ยวกับข้าวในประเทศไทย  
 ความเชื่อของคนไทยที่มีความเกี่ยวข้องกับข้าวนั้น สามารถแบ่งออกได้ 
 2  ลักษณะ คือ 

1. ความเชื่อเรื่องผี
นอกจากคนไทย จะมีความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ ผีประจำหมู่บ้าน และผีประจำเมือง ซึ่งเป็นผีของคนตายแล้ว ยังเชื่อว่าทุกสิ่งในธรรมชาติ ได้แก่ น้ำ ดิน ที่นา ภูเขา ต้นไม้ เป็นต้น ล้วนมีผีประจำ ผีเหล่านี้ในภายหลังถือว่าเป็นเทพ คนไทยแต่โบราณ เห็นว่าธรรมชาติ มีอำนาจลึกลับแฝงอยู่ และ ตระหนักว่ามนุษย์ต้องพึ่งพิงธรรมชาติ จึงมีความอ่อนน้อมต่อธรรมชาติ มีการเซ่นไหว้ เพื่อให้พอใจ และ ขอขมาเมื่อคิดว่าล่วงละเมิดอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เมื่อจะต้องใช้น้ำ หรือ ดินก็เซ่นสรวง และ ขออนุญาตผีที่ประจำน้ำ หรือ ดิน ข้าวก็มีผี หรือ เทพประจำอยู่ ส่วนใหญ่เชื่อว่า ผี หรือ เทพประจำต้นข้าวเป็นเพศหญิง คือ แม่ขวัญข้าว หรือ แม่โพสพ
แม่โพสพก็เหมือนกับมนุษย์ที่ต้องการความเอาใจใส่เหมือนบุคคลทั่วๆ ไปมนุษย์ต้องคอยดูแลแม่โพสพเหมือนดูแลตัวเอง ต้องมีความกตัญญู ต้องเคารพนับถือ มีกิริยาที่สุภาพเรียบร้อยจะพูดจาหยาบคายหรือพูดเสียงดังไม่ได้ แม่โพสพเป็นคนขวัญอ่อนเพราะถ้าเกิดไม่พอใจจะหนีไปเลยและตามประวัติเคยหนีไปหลายครั้งด้วยความน้อยใจ เวลามีคนพูดเสียงดังพอหนีไปที ก็อดอยากกันเป็นพันปี เพราะฉะนั้นอันนี้ เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังมาก เวลาติดต่อกับแม่โพสพควรใช้ความสุภาพอ่อนโยน และความกตัญญูกตเวทีอย่างสูงที่สุด
พิธีกรรมเกี่ยวกับแม่โพสพ ก็มีขั้นตอนต่างๆ พิธีในภาคกลางจะเห็นว่าจะดำนา จะไถ อะไรก็ต้องเชิญแม่โพสพมาก่อน ตั้งแต่ข้าวเริ่มตั้งท้องก็ต้องไปเอาอกเอาใจหาอาหาร เปรี้ยวหวาน มันเค็ม ไปบูชาแม่โพสพ หรือว่าเมื่อเสร็จแล้วจะนวดจะเอาข้าวเข้ายุ้งทุกอย่างนี้จะต้องมีพิธีกรรมเข้าไปประกอบเพื่อก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์หรือ ความมั่นใจว่าปีนี้มีข้าวและปีหน้าต้องมีนะ หรือว่าพันธุ์ข้าวที่มีต้องเก็บไว้และทำอย่างไรให้เก็บได้ดี ไม่เสียไม่หาย เพื่อที่จะใช้เป็น พันธุ์ในปีต่อไป ลักษณะของพิธีกรรมเรื่องข้าวส่วนใหญ่ก็จะเกี่ยวข้องกับการที่จะพยายามเอาอกเอาใจขวัญของข้าว โดยมีแม่โพสพเป็นตัวแทน

                                                    
 2. ความเชื่อเรื่องขวัญ
คนไทยเชื่อว่า คน สัตว์ และสิ่งต่างๆ มี ขวัญ ประจำอยู่ ขวัญจะหนีไปเมื่อมีเหตุให้ตกใจ คนไทยมักประกอบพิธี ทำขวัญเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย หรือมีเหตุให้ตกใจ เช่น หกล้ม นอกจากนี้ยังมักทำขวัญในช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต เช่น โกนจุก บวช ขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน ตั้งครรภ์ เดินทาง เป็นต้น คนไทยเชื่อว่า ต้นข้าวและควายก็มีขวัญ คนไทยภาคต่างๆ อาจมีวาระทำขวัญข้าวต่างกันมากบ้างน้อยบ้าง วาระสำคัญที่สุดพบทั่วไป คือ เมื่อข้าวตั้งท้อง และเมื่อขนข้าวขึ้นยุ้งฉาง ซึ่งอาจนับเป็นวาระเปลี่ยนผ่าน ในชีวิตของข้าว เชื่อว่าข้าวน่าจะตื่นเต้นตกใจ จึงจัดพิธีทำขวัญข้าวขึ้น อย่างไรก็ดี การทำขวัญข้าวตอนขนข้าวขึ้นยุ้ง ในปัจจุบันหลายแห่งเลิกทำไป เพราะมีการซื้อขายข้าวตั้งแต่อยู่ในลาน
คนไทยสมัยก่อน ตระหนักในความสำคัญของควาย ที่ช่วยไถ ซึ่งเป็นภาระที่จำเป็น และ หนักเกินกำลังของคน ควายช่วยเตรียมดิน ทำให้สามารถปลูกข้าวได้ คนไทยจึงประกอบพิธี ทำขวัญควาย เพื่อขอขมา ที่ได้เฆี่ยนตีดุด่า และ เพื่อแสดงความปรารถนาดีต่อควาย อวยพรให้ควาย มีความสุขปลอดภัย      คนไทยสมัยก่อน มีทัศนะที่ดีต่อควายมากกว่าปัจจุบัน ควายเคยมีฐานะ เป็นผู้มีบุญคุณช่วยให้คนมีชีวิตอยู่ได้ เปรียบเสมือนพ่อแม่ คนไทยจึงไม่รับประทานเนื้อควาย และ จะฆ่าควายเฉพาะในกรณีที่จำเป็น ปัจจุบันพิธีทำขวัญควาย มีการปฏิบัติน้อยลง เหลือเพียงไม่กี่หมู่บ้าน เพราะมีการเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรไถนาแทนความเจริญด้านเทคโนโลยี และ ความสำคัญในด้านธุรกิจ ทำให้พิธีกรรมอันเนื่องด้วยข้าว ของคนไทยเหลือน้อยลง ในขณะเดียวกันก็ทำให้ความสัมพันธ์ ของคนไทยต่อธรรมชาติ และ สิ่งเหนือธรรมชาติเปลี่ยนไปด้วย แม้ว่าพิธีกรรมที่เกี่ยวกับข้าวของคนไทย เป็นพิธีธรรมที่สืบเนื่องจากระบบความเชื่อดั้งเดิม แต่เมื่อคนไทยนับถือพุทธศาสนา และ ได้รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ จึงมีการผสมผสานพิธีสงฆ์ กับพิธีพราหมณ์เข้าไปในพิธีกรรม ที่สืบเนื่องจากความเชื่อ แบบดั้งเดิมได้อย่างกลมกลืนเหมาะสม พิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์ ช่วยให้พิธีกรรมอันเนื่องด้วยข้าว มีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น พิธีพราหมณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับข้าว มักเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์และรัฐ ไม่ว่าจะเป็น พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีพรุณศาสตร์ พระราชพิธีธานยเทาะห์ พระราชพิธีไล่เรือ หรือไล่น้ำ เป็นต้น พระราชพิธีต่างๆ ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า พระมหากษัตริย์ไทยสมัยก่อน มีบทบาทสำคัญยิ่งในการเสริมสร้างขวัญ และกำลังใจแก่ประชาราษฎร์ในการปลูกข้าว ปัจจุบันพระราชพิธีอันเนื่องด้วยข้าวที่ยังเหลือปฏิบัติอยู่คือ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งรัฐบาลกำหนดขึ้นเป็นประเพณีประจำปี ในวันพืชมงคล เพื่อเป็นหลักชัยให้แก่เกษตรกร

(3) ข้าวกับนิทานพื้นบ้าน
นิทานถือว่าเป็นอุบายที่บรรพบุรุษของเรา ใช้ในการถ่ายทอดภูมิปัญญาความรู้ต่างๆ แก่ลูกหลาน นิทานพื้นบ้านนี้ ความจริง มีเนื้อหาค่อนข้างยาว หรือบางเรื่องก็ยาวมาก ขนาดหมอลำ ลำทั้งคืนยันสว่างยังไม่จบ นั่นแหละ หากเล่าให้ละเอียดได้ ก็เป็นการดีทีเดียว แต่หากละเอียดไม่ได้ ก็คงเป็นเพียงเรื่องย่อ เพื่อให้รู้ว่า นิทานเรื่องนั้นๆ เกี่ยวกับเรื่องอะไร
นิทานพื้นบ้าน หรือนิทานชาวบ้าน มีความสำคัญกับคติของชาวบ้าน เป็นที่สนใจของนักปราชญ์ นักศึกษาวิชามานุษยวิทยาและวิชาการอื่นๆ เป็นอันมาก การเล่านิทานเป็นเรื่องเก่าแก่ก่อนประวัติศาสตร์ และเป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วไปในทุกหนทุกแห่ง ในหมู่ชนทุกชั้น นับตั้งแต่พระราชาลงมาจนถึงคนยากจน (และยังมีนิทานเล่าว่า แม้เทวดาก็ชอบฟังนิทาน ถ้ามนุษย์เล่านิทานในเวลากลางวันจะถูกเทวดาแช่ง เพราะเวลากลางวันเทวดาต้องไปเฝ้า พระอิศวร ไม่มีโอกาสไปชุมนุมกันฟังนิทานที่มนุษย์เล่านั้นด้วย) ถึงแม้ว่าเรื่องในนิทานจะแตกต่างกันไปตามภาคต่างๆ ของโลก แต่จุดประสงค์ดั้งเดิมในการเล่านิทานของมนุษย์เป็นอย่างเดียวเหมือนกันหมด นั่นก็คือ มนุษย์เราทั่วไปต้องการเครื่องบันเทิงใจในยามว่างงานประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งเป็นเหตุผลเนื่องมาแต่ศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องที่มีอิทธิพลเหนือจิตใจมนุษย์ และเป็นต้นเหตุให้มีนิทานขึ้นมากมาย
ลักษณะเฉพาะของนิทานพื้นบ้าน
1. จะต้องเป็นเรื่องเล่าด้วยถ้อยคำธรรมดา ใช้ภาษาชาวบ้านทั่วไป
2. เป็นเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน กฏว่าใครเป็นคนเล่าดั้งเดิม เป็นแต่รู้ว่าเคยได้ยินได้ฟังมา หรือเขาเล่าว่าหรือบรรพบุรุษเป็นผู้เล่าให้ฟัง
ประเภทของนิทานซึ่งแบ่งได้หลายวิธี ดังนี้
1. แบ่งนิทานตามเขตพื้นที่ คือ พบนิทานที่ถิ่นใดก็เป็นของถิ่นนั้น เช่น เขตอินเดีย เขตประเทศนับถือศาสนาอิสลาม เขตชนชาติยิวในเอเซียไมเนอร์ เป็นต้น
2. แบ่งนิทานตามแบบของนิทาน แบ่งออกเป็น   - นิทานปรัมปรา  - นิทานท้องถิ่น 
คนในสมัยโบราณก็มีการเล่านิทานที่มีความเกี่ยวข้องกับข้าวและชาวนา เพื่อเป็นการถ่ายทอดให้เห็นถึงวิถีการดำรงชีวิต ความคิด ความเชื่อ เป็นต้น 

1. เรื่อง ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่     
ธาตุก่องข้าวน้อย  ยโสธร
ครั้งหนึ่งเมื่อหลายร้อยปีมาแล้วที่บ้านตาดทอง ในฤดูฝนมีการเตรียมปักดำกล้าข้าวทุกครอบครัวจะออกไปไถนาเตรียมการเพราะปลูก  ครอบครัวของชายหนุ่มคนหนึ่งกำพร้าพ่อ  ไม่ปรากฏชื่อหลักฐาน ก็ออกไปปฏิบัติภารกิจเช่นเดียวกัน   วันหนึ่งเขาไถนาอยู่นานจนสาย  ตะวันขึ้นสูงแล้วรู้สึกเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลียมากกว่าปกติ และหิวข้าวมากกว่าทุกวัน  ปกติแล้วแม่ผู้ชราจะมาส่งก่องข้าวให้ทุกวัน แต่วันนี้กลับมาช้าผิดปกติ  เขาจึงหยุดไถนาเข้าพักผ่อนอยู่ใต้ต้นไม้  ปล่อยเจ้าทุยไปกินหญ้าสายตาเหม่อมองไปทางบ้าน  รอคอยแม่ที่จะมาส่งข้าวตามเวลาที่ควรจะมา  ด้วยความรู้สึกกระวนกระวายใจยิ่งสายตะวันขึ้นสูงแดดยิ่งร้อนความหิวกระหายยิ่งทวีคูณขึ้น  ทันใดนั้นเขามองเห็นแม่เดินเลียบมาตามคันนาพร้อมก่องข้าวน้อยๆ  ห้อยต่องแต่งอยู่บนเสาแหรกคาน  เขารู้สึกไม่พอใจที่แม่เอาก่องข้าวน้อยนั้นมาช้ามาก  ด้วยความหิวกระหายจนตาลาย  อารมณ์พลุ่งพล่าน  เขาคิดว่าข้าวในก่องข้าวน้อยนั้นคงกินไม่อิ่มเป็นแน่  จึงเอ่ยต่อว่าแม่ของตนว่า  อีแก่ มึงไปทำอะไรอยู่จึงมาส่งข้าวให้กูกินช้านัก  ก่องข้าวก็เอามาแต่ก่องน้อยๆ กูจะกินอิ่มหรือ?”  ผู้เป็นแม่เอ่ยปากตอบลูกว่า ถึงก่องข้าวจะน้อยก็น้อยต้อนแต้นแน่นในดอกลูกเอ๋ย  ลองกินเบิ่งก่อน  ความหิว ความเหน็ดเหนื่อย ความโมโห หูอื้อตาลาย ไม่ยอมฟังเสียงใดๆ เกิดบันดาลโทสะอย่างแรงกล้า คว้าได้ไม้แอกน้อยเข้าตีแม่ที่แก่ชราจนล้มลงแล้วก็เดินไปกินข้าว กินข้าวจนอิ่มแล้วแต่ข้าวยังไม่หมดกล่อง จึงรู้สึกผิดชอบชั่วดี  รีบวิ่งไปดูอาการของแม่และเข้าสวมกอดแม่  อนิจจา แม่สิ้นใจไปเสียแล้ว..ชายหนุ่มร้อยไห้โฮ สำนึกผิดที่ฆ่าแม่ของตนเองด้วยอารมณ์เพียงชั้ววูบ  ไม่รู้จะทำประการใดดี  จึงเข้ากราบ นมัสการสมภารวัดเล่าเรื่องให้ท่านฟังโดยละเอียด  สมภารสอนว่า การฆ่าบิดามารดาผู้บังเกิดเกล้าของตนเองนั้นเป็นบาปหนัก เป็นมาตุฆาต ต้องตกนรกอเวจีตายแล้วไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดเป็นคนอีก มีทางเดียวจะให้บาปเบาลงได้ก็ด้วยการสร้างธาตุก่อกวมกระดูกแม่ไว้ ให้สูงเท่านกเขาเหิน จะได้เป็นการไถ่บาปหนักให้เป็นเบาลงได้บ้าง   เมื่อชายหนุ่มปลงศพแม่แล้ว ขอร้องชักชวนญาติมิตรชาวบ้านช่วยกันปั้นอิฐก่อเป็นธาตุเจดีย์บรรจุอัฐิแม่ไว้ จึงให้ชื่อว่า ธาตุก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ จนตราบทุกวันนี้
ทุกวันนี้มีผู้มากราบธาตุก่องข้าวน้อยฯ ทุกวันเพื่อขอขมาลาโทษเหมือนเป็นการไถ่บาปที่ทำให้พ่อแม่เสียใจ บางคนเมื่อมีลูกแล้วถึงรู้ว่าบุญคุณแม่มากสุดเหลือคณานับ เพิ่งรู้ว่าเลี้ยงดูลูกนั้นยากหนักหนาขนาดไหน จึงมาสำนึกที่ทำให้แม่ต้องเสียใจ บ้างก็มากราบไหว้เพื่อรำลึกถึงบุญคุณแม่
คติ : ทำดีกับพ่อแม่ยามเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ดีกว่า สำนึกได้เมื่อท่านจากไป

2. เรื่อง ชาวนากับงูเห่า
เช้าวันหนึ่งในฤดูหนาว อากาศหนาวเย็นจัด ชาวนาผู้หนึ่งได้ออกจากบ้านไปทำนาตามปกติ  ในท่ามกลางสายฝนอากาศอันหนาวเย็นนั้น ชาวนาได้พบงูเห่าตัวหนึ่งนอนขดตัวแข็งอยู่เพราะความหนาว   มันไม่กระดุกกระดิกเลย ชาวนาเฝ้ามองดูมันอยู่นานด้วยความรู้สึกสงสารอย่างจับใจ ดังนั้นชาวนาจึงค่อยๆ   จับงูเห่าตัวนั้นขึ้นมาอุ้มไว้ เพื่อให้มันได้รับความอบอุ่นจากตัวของชาวนาเอง และลูบไล้ไปตามตัวของงูเห่า   เพื่อให้งูเห่าคลายความหนาวลง ไม่นานนักที่ชาวนาลูบไล้ไปมาบนตัวงูเห่าความอบอุ่นจากมือของชาวนา  ช่วยให้งูเห่าตัวนั้นค่อยๆ เคลื่อนไหวได้ ในที่สุดเมื่องูเห่าตัวนั้นเคลื่อนไหวได้ตามปกติ มันก็ฉกกัด  เข้าที่แขนของชาวนาทันที ชาวนาผู้นั้นร้องขึ้นด้วยความเจ็บปวดและล้มลงสิ้นใจตายอยู่ตรงนั้นเอง  ก่อนตายชาวนาผู้นั้นได้ร้องรำพันออกมาว่า ทำคุณแก่สัตว์ร้ายมักจะให้โทษแก่เราอย่างนี้แหละหนอ 
คติ : อย่าหวังความกตัญญูจากการช่วยเหลือคนอกตัญญู

3. เรื่อง ชาวนากับงูพิษ
ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ลูกชายชาวนาเดินไปเหยียบหางงูพิษตัวหนึ่งเข้าโดยไม่ได้ตั้งใจ ด้วยความเจ็บและตกใจงูตัวนั้นจึงแว้งกัดลูกชายชาวนาจนถึงแก่ความตาย ชาวนาผู้เป็นพ่อได้ใช้มีดฟันถูกหางของงูพิษขาด นับแต่นั้นมางูพิษก็คอยหาโอกาสแก้แค้น โดยการลอบเข้าไปกัดสัตว์เลี้ยงของชาวนาตายไปทีละตัวสองตัว ชาวนาเกรงว่าสัตว์เลี้ยงของตนจะตายหมดคอกจึงคิดว่าควรจะผูกมิตรกับงูไว้ ด้วยการนำอาหารอันมีรสเลิศพร้อมด้วยน้ำผึ้งไปให้กับงู   “ นับต่อแต่นี้ไปเราควรเลิกเป็นศัตรูกัน ชาวนากล่าวกับงูพิษ  ลูกชายของข้าเดินซุ่มซ่ามไปเหยียบเจ้า จึงสมควรแล้วที่เขาจะได้รับการลงโทษ และการที่เจ้ากัดเขาตายก็เป็นไปเพราะความตกใจมิได้มีเจตนา ฉะนั้นเราควรหันมาเป็นมิตรกัน ส่วนวัวควายของข้าต่อไปเจ้าก็อย่าได้รบกวนทำอันตรายอีกเลยอย่าเลย เราคงเป็นมิตรที่ดีต่อกันไม่ได้หรอก งูกล่าวปฏิเสธ ท่านจะลืมได้หรือว่าข้าเป็นผู้กัดลูกชายของท่านจนถึงแก่ความตาย และข้าก็ไม่อาจลืมได้ว่าท่านเป็นผู้ตัดหางจนขาดด้วนอยู่จนทุกวันนี้
คติ : แม้จะสามารถให้อภัยแก่กันได้ แต่เรื่องที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดและสูญเสียในอดีตนั้น เป็นการยากที่จะลืมเลือนได้ ฉะนั้นก่อนจะทำอะไรควรพิจารณาให้รอบคอบ

4. เรื่อง นกแขกเต้ากับชาวนา
ทุกๆ คนมีความสุข เมื่อแสวงหาทรัพย์มาได้ หลาย ๆ คน มีความสุขกับการครอบครองหวงแหน  ทรัพย์นั้นไว้ ในขณะที่อีกหลาย ๆ คนก็มีความสุขกับการใช้จ่ายทรัพย์นั้น แท้จริงแล้ว เราจะแสวงหา ความสุข   จากทรัพย์สิน ได้ด้วยวิธีการใด ทำอย่างไร? เราจึงจะได้รับความอิ่มกายอิ่มใจ จากทรัพย์ของเราให้ได้มากที่สุด

มีนกแขกเต้าฝูงหนึ่งประมาณ 500 ตัว อาศัยอยู่ในป่างิ้วบนยอดเขาแห่งหนึ่ง เมื่อถึงเวลาหากิน ฝูงนกแขกเต้าต่างพากันบินไปกินข้าวสาลีในนาของชาวมคธ  เมื่อกินข้าวสาลีอิ่มแล้ว ต่างก็บินกลับรังด้วยปากเปล่าๆ ทั้งนั้น ส่วนพญานกแขกเต้าที่เป็นหัวหน้า เมื่อกินอิ่มแล้ว ยังต้องคาบข้าวสาลีอีก 3 รวงกลับไปด้วย ชาวนาเห็นก็แปลกใจ จึงพยายามดักจับพญานกแขกเต้าให้ได้ ด้วยการสังเกตที่ยืนของพญานกนั้น แล้ววางบ่วงดักไว้วันหนึ่งพญานกถูกจับได้ ชาวนาจึงถามพญานกว่า นกเอ๋ย ท้องของท่านคงจะใหญ่กว่าท้องของนกอื่น เพราะเมื่อท่านกินอิ่มแล้ว ยังต้องคาบรวงข้าว กลับไป อีกวันละ 3 รวง เป็นเพราะท่านมียุ้งฉาง หรือเป็นเพราะเรามีเวรต่อกันมาก่อน ”  พญานกตอบว่า ข้าพเจ้าไม่ได้มียุ้งฉาง และเรา ก็ไม่มีเวรต่อกัน แต่ที่คาบไป 3 รวงนั้น รวงหนึ่งเอาไปใช้หนี้เก่า รวงหนึ่งเอาไปให้เขา และอีกรวงหนึ่งเอาไปฝังไว้  ชาวนาได้ฟังก็เกิดความสงสัย จึงถามว่า ท่านเอารวงข้าวไปใช้หนี้ใคร เอาไปให้ใคร  และเอาไปฝังไว้ที่ไหนพญานกแขกเต้าจึงตอบว่า รวงที่หนึ่งเอาไปใช้หนี้เก่า คือเอาไปเลี้ยงดูพ่อแม่ เพราะท่านแก่แล้ว และเป็นผู้มีพระคุณอย่างมาก ทั้งให้กำเนิดและเลี้ยงดูข้าพเจ้า จนเติบใหญ่ นับว่าข้าพเจ้าเป็นหนี้ท่าน จึงสมควรเอาไปใช้หนี้   รวงที่สองเอาไปให้เขา คือ เอาไปให้ลูกน้อยทั้งหลายที่ยังเล็กอยู่ ไม่สามารถหากินเองได้ เมื่อข้าพเจ้าเลี้ยงเขาในตอนนี้ ต่อไปยามข้าพเจ้าแก่เฒ่า เขาก็จะเลี้ยงตอบแทน จัดเป็นการให้เขา รวงที่สามเอาไปฝังไว้ คือ เอาไปทำบุญด้วยการให้ทานกับนกที่แก่ชรา นกที่พิการหรือเจ็บป่วยไม่สามารถหากินได้ เท่ากับเอาไปฝังไว้ เพราะบัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า การทำบุญเป็นการฝังขุมทรัพย์ไว้  ชาวนาฟังแล้วเกิดความเลื่อมใสว่า นกนี้เป็นนกกตัญญูต่อพ่อแม่ เป็นนกมีความเมตตาต่อลูกน้อย และเป็นนกใจบุญ มีปัญญา รอบคอบ มองการณ์ไกล   พญานกได้อธิบายต่อไปว่า ข้าวสาลีที่ข้าพเจ้ากินเข้าไปนั้น ก็เปรียบเหมือนเอาทิ้งลงไปในเหว ที่ไม่รู้จักเต็ม เพราะ ข้าพเจ้าต้องมากินทุกวัน วันนี้กินแล้ว พรุ่งนี้ก็ต้องมา กินอีก กินเท่าไหร่ ก็ไม่รู้จักเต็ม จะไม่กินก็ไม่ได้ เพราะถ้าท้องหิวก็เป็นทุกข์   ชาวนาฟังแล้วจึงกล่าวว่า พญานกผู้มีปัญญา ทีแรกข้าพเจ้าคิดว่า ท่านเป็นนกที่โลภมาก เพราะนกตัวอื่นเขาหากินเสร็จเรียบร้อยแล้ว เขาก็ไม่คาบอะไรไป ส่วนท่านบินมาหากินแล้วก็ยังคาบรวงข้าวกลับไปอีก แต่พอฟังท่านแล้ว จึงรู้ว่าท่านไม่ได้คาบไปเพราะความโลภแต่คาบไปเพราะความดี คือเอาไปเลี้ยงพ่อแม่ เอาไปเลี้ยงลูกน้อย และเอาไปทำบุญ ท่านทำดีจริงๆ   ชาวนามีจิตเลื่อมใสในคุณธรรมของพญานกมาก จึงแก้เครื่องผูกออกจากเท้าพญานก ปล่อยให้เป็นอิสระ แล้วมอบนาข้าวสาลีให้ พญานกรับนาข้าวสาลีไว้เพียงส่วนหนึ่ง ซึ่งกะคะเนแล้วว่าเพียงพอแก่บริวาร จากนั้นจึงให้โอวาท แก่ชาวนาว่า   ขอให้ท่านเป็นผู้ไม่ประมาท หมั่นสั่งสมกุศลด้วยการทำทานและเลี้ยงดูพ่อแม่ผู้แก่เฒ่าด้วยเถิด  ชาวนาได้คติจากข้อปฏิบัติของพญานกจึงตั้งใจทำบุญกุศลตั้ง แต่นั้นมาจนตลอดชีวิต   นกแขกเต้า ผู้มีปัญญา รู้ว่าควรบริหารจัดการทรัพย์สินอย่างไร จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งต่อตนเอง ต่อครอบครัว และต่อสังคม นับเป็นการใช้ทรัพย์อย่างชาญฉลาด ที่ยิ่งใช้ก็ยิ่งมีความสุขความเจริญ สุขทั้งกาย สุขทั้งใจ สุขทั้งในปัจจุบัน และอนาคต   เราทุกคนเมื่อรู้จักเก็บ รู้จักหาทรัพย์แล้ว ก็ควรจะรู้จักหาความสุขจากการใช้ทรัพย์อย่างถูกต้องด้วย เพราะการแสวงหา  หรือครอบครองทรัพย์สินที่มี ไม่อาจสร้างความสุขใจ ไม่อาจทำให้เกิดบุญกุศลได้ เทียบเท่ากับการใช้ทรัพย์นั้นให้เกิดคุณค่าอย่างแท้จริงต่อชีวิต

5. เรื่อง นกกระจาบกับชาวนา

นางนกกระจาบตัวหนึ่งฟักไข่อยู่ในรังซึ่งเป็นเขตนาข้าวของชาวนา เมื่อลูกๆของนางฟักออกเป็นตัวรวงข้าวในนาก็เริ่มสุกก่อนออกไปหาอาหารในเวลาเช้านางนกกระจาบสั่งลูกๆไว้ว่า หากได้ยินชาวนาพูดอะไรให้จำไว้แล้วบอกกับแม่    แม่จ๋า..วันนี้หนูได้ยินชาวนาพูดกับลูกชายของเขาว่าข้าวในนาเริ่มสุกแล้วจะไปขอแรงเพื่อนบ้านมาช่วยเกี่ยวในวันพรุ่งนี้ เรารีบอพยพไปอยู่ที่อื่นกันเถอะนะแม่ ลูกนกรีบบอกเมื่อแม่นกกลับมาที่รัง รอไปก่อนเถอะลูก ถ้ามนุษย์คิดขอแรงให้คนอื่นมาช่วยเขาก็ยังไม่ได้ลงมือเกี่ยวข้าวหรอก  แม่นกตอบพร้อมกับสั่งว่าหากได้ยินชาวนาพูดอะไรอีกก็ให้จำไว้ วันต่อมาเมื่อแม่นกกลับจากหาอาหารลูกนกก็เล่าให้ฟังว่า  แม่จ๋า..วันนี้หนูได้ยินชาวนาพูดกับลูกชายของเขาว่าข้าวในนาสุกได้ที่แล้วรอช้าต่อไปไม่ได้ เขาจึงสั่งลูกชายให้ไปขอแรงญาติๆมาช่วยเกี่ยวในวันพรุ่งนี้ เรารีบอพยพไปอยู่ที่อื่นกันเถอะนะแม่  รอไปก่อนเถอะลูก แม่นกตอบลูกเหมือนวันก่อน ถ้ามนุษย์คิดขอแรงให้ญาติๆมาช่วย เขายังคงไม่ได้ลงมือเกี่ยวข้าวหรอก เพราะคนอื่นๆเขาก็มีงานต้องทำเหมือนกัน เช้าวันที่สามเมื่อแม่นกกลับจากหาอาหาร ลูกนกก็รีบเล่าให้ฟังว่า  แม่จ๋า..วันนี้ได้ยินชาวนาพูดว่าข้าวสุกเต็มที่แล้วรอเพื่อนบ้านหรือญาติพี่น้องต่อไปไม่ได้ จะต้องลงมือเก็บเกี่ยวด้วยตัวเอง ให้ลูกชายของเขาไปจ้างคนมาช่วยในวันพรุ่งนี้ เรารีบอพยพไปอยู่ที่อื่นกันเถอะนะแม่ตกลงจ๊ะลูก แม่นกรับคำ  เพราะเมื่อใดทีมนุษย์เลิกหวังพึ่งพาอาศัยผู้อื่น เขาก็จะเริ่มลงมือทำด้วยตนเองทันที
คติ : หากต้องการประสบความสำเร็จ จงเริ่มลงมือทำงานเดี๋ยวนี้และทันที อย่าหวังพึ่งพิงผู้อื่นหรือผัดวันประกันพรุ่ง

6. เรื่อง เศรษฐีเจ้าเล่ห์กับลูกสาวชาวนา
เศรษฐีคนหนึ่งชอบใจลูกสาวชาวนายากไร้ผู้หนึ่ง เขาเชิญชาวนากับลูกสาวไปที่สวน ในคฤหาสน์ของเขา เป็นสวนกรวดกว้างใหญ่ที่มีแต่กรวดสีดำกับสีขาว เศรษฐีบอกชาวนาว่า .. ท่านเป็นหนี้สินข้าจำนวนหนึ่ง แต่หากท่านยกลูกสาวให้ข้า ข้าจะยกเลิกหนี้สินทั้งหมดให้ ชาวนาไม่ตกลง เศรษฐีบอกว่า ถ้าเช่นนั้นเรามาพนันกันดีไหม ข้าจะหยิบกรวดสองก้อนขึ้นมาจากสวนกรวดใส่ในถุงผ้านี้   ก้อนหนึ่งสีดำ ก้อนหนึ่งสีขาว ให้ลูกสาวของท่านหยิบก้อนกรวดจากถุงนี้ หากนางหยิบได้ก้อนสีขาว ข้าจะยกหนี้สินให้ท่าน และนางไม่ต้องแต่งงานกับข้า แต่หากนางหยิบได้ก้อนสีดำ นางต้องแต่งงานกับข้า  และแน่นอน ข้าจะยกหนี้ให้ท่านด้วย   ชาวนาตกลง เศรษฐีหยิบกรวดสองก้อนใส่ในถุงผ้า หญิงสาวเหลือบไปเห็นว่ากรวดทั้งสองก้อนนั้นเป็นสีดำ เธอจะทำอย่างไร? หากเธอไม่เปิดโปงความจริง ก็ต้องแต่งงานกับเศรษฐีขี้โกง หากเธอเปิดโปงความจริง   เศรษฐีย่อมเสียหน้า และยกเลิกเกมนี้ แต่บิดาของเธอก็ยังคงเป็นหนี้เศรษฐีต่อไปอีกนาน ลูกสาวชาวนาเอื้อมมือลงไปในถุงผ้า หยิบกรวดขึ้นมาหนึ่งก้อน พลันเธอปล่อยกรวดในมือร่วงลงสู่พื้น กลืนหายไปในสีดำและขาวของสวนกรวด เธอมองหน้าเศรษฐี เอ่ยว่า ขออภัยที่ข้าพลั้งเผลอปล่อยหินร่วงหล่น แต่ไม่เป็นไร ในเมื่อท่านใส่กรวด สีขาวกับสีดำอย่างละหนึ่งก้อนลงไปในถุงนี้ ดังนั้นเมื่อเราเปิดถุงออกดูสีกรวดก้อนที่เหลือ ก็ย่อมรู้ทันทีว่า กรวดที่ข้าหยิบไปเมื่อครู่เป็นสีอะไร ที่ก้นถุงเป็นกรวดสีดำ    ดังนั้นกรวดก้อนที่ข้าทำตกย่อมเป็นสีขาว ชาวนาพ้นสภาพลูกหนี้และลูกสาวไม่ต้องแต่งงานกับเศรษฐีขี้โกงคนนั้น

7. เรื่อง ก้อนศิลา กับ พันธุ์ข้าว

มีกุมารคนหนึ่ง ชื่อ กุรุวงศา เป็นลูกกำพร้า อยู่ในป่าแต่ลำพังผู้เดียว รูปร่างของเขากำยำล่ำสันและมีกำลังวังชาเกินวัยเด็ก เมื่ออายุ 12 ปี กุรุวงศาได้ไปขนเอาก้อนศิลามาก่อเป็นรั้วล้อมรอบที่อยู่อาศัยในป่า  กลายเป็นปราสาทหินและปราการศิลาที่แข็งแกร่ง ทำให้ผู้คนอาศัยภายในเวียงปราการได้อย่างมั่นคงปลอดภัย  เรื่องราวความเก่งกล้าสามารถของกุรุวงศาแพร่สะพัดไปถึงชาวเมืองโพธิสารหลวง เจ้าเมืองโพธิสารหลวงสั่งให้เสนาอำมาตย์ยกรี้พลไปแวดล้อมที่อยู่ของกุรุวงศา แล้วยิงปืนไฟเข้าไป กุรุวงศากุมารกระโดข้ามปรากการศิลาสูง 12 ศอก ออกมาชิงเอากองหน้าไพร่พลและอาวุธหอกดาบไว้ได้ แล้วหักทำลายเสียสิ้น จากนั้นก็กระโดดข้ามกลับเข้าไปภายในรั้วปราการและปราสาทหินตามเดิม พระยาโพธิสารหลวงเกรงกลัวบุญญาภินิหารของกุรุวงศา จึงยกเมืองโพธิสารหลวงให้กุรุวงศาปกครองต่อไป  ตั้งแต่นั้นมา ผู้คนชาวป่าบริเวณปราสาทหินจึงกลายเป็นชาวเมือง และได้ชื่อว่า ชาวกรอม โดยเหตุที่กุรุวงศากุมารได้คิดค้นนำเอาศิลามาล้อมกรอมเป็นปราสาทหิน และใช้เป็นที่อยู่อาศัยจนเกิดเป็นบ้านเป็นเมือง 
ต่อมา มีนางคนหนึ่งขวนขวายหาพันธุ์ข้าวได้เล็กน้อย แล้วเผอิญหลงเข้าไปในป่าดงใหญ่ใกล้กับปราสาทหิน ไปพบปลักหนองน้อยแห่งหนึ่ง นางทดลองเอาพันธุ์ข้าวที่หามาได้ปลูกไว้ตามขอบหนอง หลังจากนั้นไม่นานเมล็ดพันธุ์ข้าวก็เกิดเป็นต้นเป็นรวงขึ้นมากมาย ครั้นข้าวสุกคารวงแล้ว นางก็รูดเอาเมล็ดข้าวนั้นมาคั่วกิน กลิ่นหอมของข้าวต้องจมูกของผีเสื้อ ทั้งหลายในป่าใหญ่ ต่างพากันมาขอข้าวนางกิน นางได้ให้ข้าวแก่ผีเสื้อกินทุกตัว ผีเสื้อมีความปีติยินดีพากันไปขนเอาศิลา มาก่อล้อมเป็นที่อยู่ให้ อยู่มาวันหนึ่งกุรุวงศาเดินทางไปพบนางเข้า เขาชื่นชมยินดีในความปรีชาสามารถของนาง ที่เพาะปลูกข้าวในหนองน้ำได้สำเร็จ ก็เลยเกิดความรักใคร่นางและเชิญนางมาเป็นเทวีของพระองค์ นางมีชื่อว่า นางอินทปัฏฐาน โดยเหตุนั้น ต่อมาเมืองโพธิสารหลวง จึงได้ชื่อว่า อินทปัฏฐานนคร
ตำนานเรื่องนี้ บอกเล่าความเป็นมาของเด็กชายชาวป่าที่เก่งกล้าสามารถ เมื่อเติบโตขึ้นรู้จักคิดค้นนำเอาศิลามาก่อล้อมเป็นแนวกำแพงหินเพื่อป้องกันภัยจากศัตรูภายนอก และสร้างปราสาทหินเป็นที่อยู่ที่มั่นคงปลอดภัย ครั้นเมื่อสร้างเมืองสำเร็จแล้วก็มาพบรักกับผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ขยันขันแข็งและชาญฉลาด นางกล้าต่อสู้กับชีวิตและยังรู้จักคิดค้นการเพาะปลูก ข้าว ด้วยวิธีทำนา จนมีผลผลิตข้าวใช้เลี้ยงผู้คนจำนวนมากบ้านเมืองของนางจึงวิวัฒนาการกลายเป็นชุมชนเกษตรกรรม มีวัฒนธรรมข้าวเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตชุมชน  เมืองไทยของเรามีการทำนาเป็นเกษตรกรรมหลักของประเทศ จัดว่าอยู่ในขอบข่ายของวิถีวัฒนธรรมข้าวเช่นกัน

8. เรื่อง กำเนิดต้นข้าว
ในสมัยก่อนเมล็ดข้าวเกิดขึ้นเองไม่ต้องปลูก และมีขนาดใหญ่มาก ใหญ่กว่ากำปั้นของมนุษย์ 5 เท่า  เมล็ดข้าวมีสีเงินและมีกลิ่นหอม มนุษย์ก็ได้ใช้หุงกิน ต่อมามีหญิงหม้ายคนหนึ่ง สร้างยุ้งฉางให้ข้าวมาเกิดในยุ้งฉาง แม่หม้ายเป็นคนหยาบช้า ตีข้าวเมล็ดใหญ่ด้วยไม้ เมล็ดข้าวแตกหักและปลิวไป ที่ปลิวไปตกในป่ากลายเป็นข้าวดอย ที่ปลิวไปตกในน้ำเป็นข้าวนาดำมีชื่อว่านางพระโพสพ นางพระโพสพอาศัยอยู่กับปลาในหนองน้ำ นางพระโพสพโกรธมนุษย์จึงไม่กลับไปอีก มนุษย์ก็อดอยากไม่มีข้าวกินไปถึงพันปี
ต่อมามีลูกชายเศรษฐีไปเที่ยวป่าแล้วหลงทางมาถึงหนองน้ำก็นั่งร้องไห้ ปลากั้งสงสารจึงขอให้นางพระโพสพบอกทางให้และกลับไปอยู่กับมนุษย์ นางพระโพสพเล่าถึงความใจร้ายของแม่หม้าย ลูกชายเศรษฐีอ้อนวอนให้นางพระโพสพกลับไป แต่นางก็ไม่ยอม เทวดาจึงแปลงตัวเป็นปลากับนกแก้วมาอ้อนวอนให้นางไปดูแลมนุษย์และพระศาสนา เพราะพระพุทธเจ้าจะไปเกิดอีก นางพระโพสพจึงยอมกลับไปแต่ข้าวจะเล็กลง และต้องทำการเพาะปลูก ถ้าจะตำข้าวจะต้องทำพิธีขออนุญาตนางพระโพสพ และเมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วต้องทำพิธีสู่ขวัญข้าว

9. เรื่อง ต้นข้าวหนีไป
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว นานจนนับไม่ได้ ตั้งแต่สมัยที่คนเรายังไม่รู้จักต้นข้าว กินแต่น้ำ พืชผักใบไม้ และล่าสัตว์เป็นอาหาร วันหนึ่งต้นหญ้าเล็กๆ มีใบแหลมและยาวมาก ค่อยๆ งอกโผล่พ้นผืนดินขึ้นมาหลายต้น และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนสูงแปลกกว่าต้นหญ้าอื่นๆ เมฆลอยผ่านมา อยากรู้ว่าหญ้าต้นนี้ โตขึ้นจะเป็นอย่างไรจึงกลายเป็นฝนหยดลงมาให้วันละหลายหยดจนแผ่นดินชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์ สายลมก็แปลกใจเหมือนกัน จึงพาลมอ่อน ๆ มาเยี่ยมเยียนเป็นประจำ แสงแดดก็ช่วยพาความสดใสมาให้ทุกวันเช่นกัน ไม่นานต้นหญ้าก็มีดอกสีขาวเล็กๆ เต็มต้น แล้วค่อยๆ กลายเป็นเมล็ดเล็กๆ สีขาว มีกลิ่นหอมน่ากิน ใครอยากกินข้าวก็หยิบกระบุงตะกร้าไปเก็บเท่าที่อยากจะกินแล้วนำกลับเข้าบ้าน วันไหนเมล็ดข้าวใกล้หมดจากต้น ก็มีเมล็ดข้าวใหม่งอกขึ้นมาแทนทันที ผู้คนมีข้าวแบ่งปันกันกินไม่เดือดร้อน ต่อมามีคนคนหนึ่ง เป็นคนขี้เกียจและโลภ ไม่อยากออกไปเก็บข้าวนอกบ้านทุกวัน จึงเกี่ยวข้าวเกือบทั้งหมดมาไว้ในบ้าน ต้นข้าวทั้งหมดผิดหวังและเสียใจจึงบินหนีขึ้นไปบนท้องฟ้าและไม่กลับมาอีกเลย เมล็ดข้าวสีขาวหอมทุกเมล็ดที่คนเก็บไว้ก็กลับมีเปลือกหุ้มห่อ หากจะกินต้องตำหรือสีกะเทาะเปลือกออก และก่อไฟหุงข้าวกินเอง 
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คนจึงต้องทำนา นำข้าวเปลือกไปปลูก ดูแลจนต้นข้าวมีดอกออกรวง ต้องเกี่ยวข้าว ตำหรือสีเอาเปลือกออก จึงจะได้ข้าวเมล็ดสีขาว และต้องก่อไฟหุงข้าวกินเอง ถ้าทำนาไม่เป็นก็ต้องไปซื้อข้าวสารจากในตลาด จากห้างร้านอย่างเช่นทุกวันนี้

10. เรื่อง ไม่มีเศษข้าวให้หมู
มีหญิงหม้ายผู้หนึ่ง มีอาชีพทำเหล้าขาย โดยหมักข้าวให้เป็นเหล้า มีชายชราผู้หนึ่งผ่านมา และพักอยู่ในหมู่บ้านนั้นเป็นเวลาหลายเดือน ชายชราผู้นี้จะมาดื่มเหล้าของหญิงหม้ายทุกวัน โดยมิได จ่ายเงินให้ แต่หญิงหม้ายก็ไม่ติดใจก็ยังคงตักเหล้าให้ทุกวัน วันหนึ่งชายชรามาบอกกับหญิงหม้ายว่า เราจะเดินทางต่อไปแล้ว เราขอบใจท่านมากที่ท่านให้เหล้าเราทุกวัน ต่อจากนี้ไปท่านไม่ต้อง  เสียเวลาหมักข้าวทำเหล้า เราจะทำบ่อน้ำให้ท่าน บ่อนี้จะเป็นเหล้าอย่างดี ว่าแล้วชายชราก็เดินจากไป  วันรุ่งขึ้นหญิงหม้ายก็เห็นบ่อน้ำเกิดขึ้นทีในบริเวณบ้าน และเมื่อตักน้ำในบ่ออกมาก็ปรากฏว่าเป็น เหล้ารสดีมาก ผู้คนก็มาซื้อเหล้าของหญิงหม้ายเป็นจำนวนมาก ทำให้หญิงหม้ายร่ำรวยมีความสุขสบายมากขึ้น  สามปีผ่านไป ชายชราผู้นั้นได้เดินทางผ่านมาที่หมู่บ้านนั้นและได้แวะที่ร้านเหล้าของหญิงหม้าย  หญิงหม้ายเห็นชายชราก็ดีใจรีบขอบคุณชายชรา ที่ช่วยทำให้ร่ำรวยมีความสุข ชายชราจึงถามว่า  เหล้าจากบ่อรสเป็นอย่างไรบ้าง หญิงหม้ายตอบว่า รสดีมากค่ะ เสียแต่ไม่มีเศษข้าวหมักให้หมูเท่านั้นเอง   ชายชราหัวเราะแล้วบอกว่า ถ้าอย่างนั้นก็ให้มีเศษข้าวหมักให้หมูก็แล้วกัน ว่าแล้วบ่อเหล้านั้นก็หายไป หญิงหม้ายก็ต้องกลับไปทำเหล้าด้วยการหมักข้าวต่อไป


ที่มา :  thairicebuu.wordpress.com


(4) สรีรวิทยาของข้าว

     ต้นข้าวเจริญเติบโตทั้งทางลำต้นและทางการสืบพันธุ์ โดยมีระยะเวลาของการเจริญเติบโต  ทั้ง 2 ระยะแยกจากกัน การเจริญเติบโตและส่วนประกอบต่างๆ สามารถแสดงตามรูปภาพให้เข้าใจเบื้องต้น ดังนี้

1. การเจริญเติบโตทางลำต้น
- ส่วนประกอบของรวงข้าว (panicle)
- การสร้างดอกอ่อนเป็นรวงอ่อน
- ส่วนประกอบของดอกข้าว (spikelet)
2. การเจริญเติบโตทางการสืบพันธุ์
- พัฒนาการของเมล็ดข้าว

- ส่วนประกอบของข้าวเปลือก (whole grain rice)
- ส่วนประกอบของข้าวกล้อง ( brown rice) และข้าวสาร (milled rice) 

                         การแตกกอครั้งแรก            30 วัน          50 วัน             ระยะออกรวง
                                      
                                               รูปแสดงการเจริญเติบโตทางลำต้นข้าว 

รูปแสดงส่วนประกอบของรวงข้าว (panicle) 



รูปแสดงการสร้างดอกอ่อนเป็นรวงอ่อน


รูปแสดงส่วนประกอบของดอกข้าว (spikelet)


รูปแสดงพัฒนาการของเมล็ดข้าว



รูปแสดงส่วนประกอบของข้าวเปลือก (whole grain rice)



รูปแสดงส่วนประกอบของข้าวกล้อง ( brown rice) และข้าวสาร (milled rice)



ที่มา :  http://www.brrd.in.th  : สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์