104 ปี สะพานปรมินทร์
เมื่อเอ่ยถึงสะพานปรมินทร์ อาจจะเป็นที่รู้จักของคนในจังหวัดอุตรดิตถ์เป็นบางส่วนเท่านั้น ดังนั้นการที่เราจะมาทำความรู้จักกับที่มาและความสำคัญของสะพานปรมินทร์ให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าของสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดอุตรดิตถ์ สำหรับผู้สนใจทั่วไปถือได้ว่ามีประโยชน์โดยตรงกับการรับรู้เรื่องราวในอดีตของชาติไทยเรา ผู้เขียน/ผู้เรียบเรียงได้ศึกษาข้อมูลจาก 4 แหล่งด้วยกัน คือ 1) จากนายเจษฎา พัตระปาล สารวัตรบำรุงทางบ้านดารา กองบำรุงทางและสถานที่ ฝ่ายการช่างโยธา
กรมรถไฟ 2) หนังสือ ครบรอบ 60 ปี และ ครบรอบ 72 ปี ของการรถไฟแห่งประเทศไทย 3) หนังสือพิมพ์บ้านเมือง ฉบับวันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์
2553 ณัฏยาหารบุตร อุตรดิตถ์ และ 4) หนังสือ ตำนานเมืองอุตรดิษฐ์ ของคุณวิบูลย์
บูรณารมย์ ที่ได้รับเรื่องมาจากการค้นคว้าข้อมูลและสอบถามจากผู้เฒ่าผู้แก่เมืองอุตรดิตถ์ ของคุณอนันต์ เอี่ยมสรรพางค์ (ทั้ง 2 ท่านถึงแก่กรรมแล้ว) ฉะนั้น การนำเสนอเรื่องราวต่อไปนี้จึงเป็นแบบผสมผสานเข้าด้วยกัน คือ
ที่มา : สะพานปรมินทร์ อยู่ห่างจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ระยะทางประมาณ
32 กิโลเมตร ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ต.บ้านดารา อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ เป็นสะพานรถไฟใหญ่ที่สุดของทางรถไฟสายเหนือสร้างในสมัยรัชกาลที่
5 ซึ่ง เป็นสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำน่านก่อนถึงสถานีรถไฟชุมทางบ้านดาราเชื่อมโยงการคมนาคมและเชื่อมความเป็นราชอาณาจักรให้เป็นปึกแผ่นระหว่างล้านนากับราชอาณาจักรสยาม
ภาพโครงสร้างของสะพานปรมินทร์ (ตัวสะพานเดิม) |
เมื่อครั้งการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายเหนือมุ่งขึ้นสู่เชียงใหม่
มีแม่น้ำสายใหญ่ที่สุดที่ทางรถไฟจะต้องตัดข้ามอยู่ 1 แห่ง คือ แม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน่านตอนที่ทางรถไฟจะต้องข้ามนี้
กว้างประมาณ 250 เมตร อยู่ใกล้กับตำบลบ้านดารา แขวงเมืองไชย
มณฑลพิษณุโลก จึงได้ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำขึ้นที่บริเวณแห่งนี้ เมื่อปี พ.ศ.2449 ลักษณะสะพานเป็นสะพานแบบ คานยื่น (Cantilever) ประกอบด้วยสะพานเหล็ก
3 ช่วง และมีสะพานช่วงธรรมดา แขวนห้อยอยู่ที่ตรงกลางของช่วงกลาง
ในส่วนของสะพานช่วงริมฝั่งทั้งสองข้าง ยาวช่วงละ 80.60 เมตร
ช่วงกลางยาว 121.20 เมตร รวมความยาวทั้งสิ้น 262.40 เมตร บนสะพานมีทางรถไฟ 1 เส้นทาง ขนาดกว้าง 1.435
เมตร ระดับสันรางสูงกว่าระดับน้ำทะเล 98.51 เมตร
((สมัยนั้นความกว้างของรางสายเหนือ และสายนครราชสีมา ยังใช้ขนาดมาตรฐานยุโรปอยู่ พอก่อสร้างแล้วเสร็จได้ประกอบพระราชพิธีเปิดสะพาน เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2452 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสะพานแห่งนี้ว่า สะพานปรมินทร์
สถานีรถไฟชุมทางบ้านดารา |
สะพานปรมินทร์ เป็นสะพานเหล็กข้ามแม่น้ำน่านที่บ้านดารา สำหรับรถไฟที่วิ่งผ่านข้ามไปมาของทางรถไฟ ซึ่งเป็นสะพานที่เชื่อมกันระหว่างฝั่งด้านใต้และด้านเหนือ รถไฟวิ่งผ่านข้ามไปมาได้ตลอดสายตั้งแต่กรุงเทพฯ ไปถึงเชียงใหม่ โดยช่างชาวเยอรมันเป็นผู้ทำการก่อสร้าง เป็นสะพานเหล็กแข็งแรง เริ่มสร้างเมื่อรถไฟได้ทำทางไปถึงอุตรดิตถ์ ซึ่งเรียกกันว่า สะพานบ้านดารา
แผนผังแสดงจุดสำคัญ 2 จุด ที่ถูกทิ้งระเบิดได้รับความเสียหายมาก |
สะพาน ปรมินทร์ บ้านดารา พังยุบ เฉพาะการมาทิ้งระเบิดและกราดด้วยปืนกล ที่สะพานบ้านดารา ในวันที่ ๒๕ ธํนวาคม พ.ศ.๒๔๘๘ คราวนี้มาทิ้งบอมบ์ในเวลาเย็น โดยลูกบอมบ์ขนาดใหญ่ร้อยโซ่เป็นพวงเหวี่ยงลงกลางสะพาน หวังทำลายเป็นครั้งสุดท้ายอย่างสุดฤทธิ์ และก็ได้ผลไม่ผิดหวัง ลูกบอมบ์ขนาดใหญ่ที่ร้อยโซ่เป็นพวงหย่อนลงมานั้น ลงมาโดนเสาสะพานเต็มแรง สะพานเหล็กได้ยุบฮวบลงทันที สะพานพังลงไปในแม่น้ำเป็นบางส่วน ใช้ข้ามไปมาไม่ได้เลย การแผลงฤทธิ์โจมตีของฝ่ายอังกฤษ – อเมริกา ครั้งนั้น ทำให้อุตรดิตถ์ต้องสูญเสียสิ่งก่อสร้างสำคัญๆ คือ สถานีรถไฟอุตรดิตถ์ โรงไฟฟ้าอุตรดิตถ์ โรงซ่อมรถจักรอุตรดิตถ์ สะพาน ปรมินทร์ และชีวิตของประชาชนไม่น้อย
ภายหลังเมื่อการสงครามผ่านพ้นไป สถานการณ์ของประเทศกลับคืนเข้าสู่สันติภาพแล้ว การเลือกแนวศูนย์กลางที่จะสร้างสะพานชั่วคราวในครั้งหลังสุดนี้ ตกลงเลือกใช้ที่ที่ห่างจากศูนย์กลางเก่าไปทางเหนือ 8 เมตร โดยประสงค์ให้ไกลจากซากสะพานชั่วคราวเดิมที่พังเกะกะกีดขวางอยู่ ทั้งนี้ เพื่อให้การก่อสร้างดำเนินไปโดยรวดเร็ว การสร้างสะพานชั่วคราวได้ลงมือกระทำเป็นชั้นๆ คือ ขั้นแรกต้องทำนั่งร้านก่อนเพื่อไว้สำหรับเดินเครื่องปั้นจั่นตอกเข็มไอน้ำ ปั้นจั่นนี้หนักไม่เกิน 30 ตัน ใช้เข็มชนิดสั้นที่มีอยู่แล้วตอกด้วยเครื่องตอกเข็มขนาดเบาบรรทุกลงในเรือ ตอกเป็นระยะติดต่อกันไปตลอดท้องแม่น้ำตามแนวสะพานที่จะสร้าง ตับหนึ่งใช้เข็ม 3 ต้น ตัดหัวเข็มให้ได้ระดับแล้วใส่ขื่อ ระยะต้นห่างกัน 4 เมตร ขื่อนั้นใช้เสาเข็มชนิดเดียวกันยาว 6 เมตรเศษ แต่งหน้าวางรับเสาเข็มแล้วยึดด้วยเหล็กก้ามปู บนขื่อใช้ลูกบวบรางเหล็กพาดเป็นตงรองรับเครื่องปั้นจั่นอีกที เวลาทำงานเลื่อนปั้นจั่นไปบน
ลูกบวบรางเหล็ก จนตรงจุดศูนย์กลางของเสาเข็มใหม่ที่กะไว้ จึงตอกเข็มได้ตามความต้องการ การเลื่อนเครื่องปั้นจั่นจากตลิ่งสูงลงไปสู่ระดับนั่งร้านนั้น ใช้ก่อคอกหมูรับ และถอดลดหลั่นลงไปจนถึง
ระดับที่จะเดินเข้าบนนั่งร้านได้ เข็มต้นแรกตอกเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2489 เข็มหมู่หนึ่งๆ หมายถึงตะม่อกลางน้ำตะม่อหนึ่ง มีทั้งหมด 11 ตะม่อด้วยกัน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของเข็มต้นหนึ่ง 30 ซม. ใช้ 18 ต้น แบ่งออกเป็นต้น ห่างกัน 1.50 เมตร หมู่ละ 3 ตับๆ ละ 6 ต้น ระยะตะม่อห่างกัน 17.55 เมตร ทั้งนี้ เพื่อใช้กับสะพานแบบวอเร็นทรัส ช่วงยาว 17.40 เมตร เข็มต้นหนึ่งๆ ยาวตั้งแต่ 12 ถึง 18 เมตร (เข็มต่อ) ตอกด้วยเครื่องปั้นจั่นไอน้ำ โดยคำนวณให้รับความต้านทานต้นละอย่างน้อย 10 ตัน ส่วนที่เป็นดินอ่อน คือ ทางฝั่งตลิ่งด้านที่กระแสน้ำกัดเข้าไปใหม่ เข็มจมลงในดินได้ถึง 16 เมตร แต่ส่วนที่เป็นดินแข็งตรงกลางลำน้ำ เข็มจมลงในดินได้ 8 เมตร ตอกเข็มเสร็จแล้ว ตัดหัวเข็มส่วนที่ซ้ำออกเสียในระดับเดียวกัน แต่งเป็นเดือยเพื่อวางธรณี บนธรณีแต่งเป็นที่ใส่เดือยให้ตรงกับเสาเข็ม เพื่อใส่เสาตั้งต่อตะม่อให้สูงขึ้นอีกทอดหนึ่ง ที่ปลายเสาทุกต้นทำเดือยแล้วใส่เหล็กประกับเพื่อยึดหัวเข็มธรณีและเสาให้อยู่ในเส้นแรงเดียวกัน ที่ปลายเสาก็ทำเดือยเพื่อวางขื่อและยึดด้วยเหล็กประกับดุจกัน บนขื่อของหมู่ตะม่อหนึ่งซึ่งมีขื่อทำหน้าที่เป็นคาน ก่อคอกหมูด้วยไม้เหลี่ยมขนาดหน้า 30 x 30 x 400 ซ.ม. อีกต่อหนึ่งเพื่อให้มีการเฉลี่ยน้ำหนักลงบนตะม่อให้สม่ำเสมอกัน ทุกๆ ชั้นยึดด้วยเหล็กประกับ คั่นสุดท้ายก็คือประกอบโครงเหล็กเข้ารูปวอเร็นทรัสเพื่อนำเข้าวางบนตะม่อ วอเร็นทรัสประกอบรอไว้บนบกแล้วแผงหนึ่งยาว 17.40 เมตร เคลื่อนเข้านั่งบนตะม่อได้โดยก่อคอกหมูบนรางลูกบวบของนั่งร้านขึ้นมารองรับรางซึ่งใช้เป็นสะพานเคลื่อนแผงของคู่ตะม่อนั้น และตั้งเสาชิงช้าคร่อมขึ้นทั้งสองตะม่อ เสาชิงช้านี้ต้องโยงยึดด้วยเชือกลวดให้มั่นคง คานของเสาชิงช้าใช้รางเหล็กเป็นคานเพื่อรับน้ำหนักมากๆ ได้ ติดรอกแม่แรงไว้ตรงกลางคานเพื่อ
คล้องปลายทั้งสองของแผงหย่อนลงบนที่รองรับบนตะม่อ เมื่อเคลื่อนแผงแรกเข้าที่ได้แล้ว การทำแผงต่อๆ ไปของช่วงนั้นก็สะดวกและเร็วขึ้นโดยยึดอาศัยแผงแรกเป็นกำลัง ช่วงหนึ่งๆ ใช้ 6 แผง สำหรับช่วง 17 เมตร ถ้าช่วงแคบเช่น 9 เมตร หรือต่ำกว่านี้ อาจจะใช้ 4 แผง หรือต่ำกว่าตามลำดับ การปฏิบัติงานในการทำแผงสั้นเข้าวางบนตะม่อนั้นง่ายกว่าทำแผงยาววาง เมื่อได้ใส่แผงสะพานครบทุกช่วงแล้ว ต่อไปก็คือวางไม้หมอนเหล็กทับบนแผงเพื่อวางราง ไม้หมอนเหล็กใช้กับสะพานเช่นนี้ได้ประโยชน์ในการเฉลี่ยน้ำหนักลงบนแผงเหล็กได้ดี มีสลักเกลียวรูปตัว U เป็นสาแหรกรัดไม้หมอนให้ติดกับแผงและยึดแผงทั้ง 6 ไม่ให้แตกออกด้วย วางรางเสร็จแล้วก็เริ่มถอนเสาเข็ม รื้อนั่งร้านออกเสียได้โดยใช้รอกแม่แรงผูกติดกับแผงแล้วหย่อนโซ่ลงไปถอนเสาเข็มที่หมดหน้าที่แล้วลากเก็บขึ้นไว้บนบก เพื่อมิให้เกะกะกีดขวางกระแสน้ำใต้สะพาน โครงสะพานเหล็กชั่วคราวแบบญี่ปุ่นชนิดนี้เป็นโครงแบบง่าย ประกอบก็ง่ายคล้ายของเด็กเล่น ญี่ปุ่นได้เตรียมไว้ใช้ในงานสงคราม มีโครงเป็นรูปสามเหลี่ยมหลายๆ อันถอดได้ และประกอบให้ใช้กับความกว้างของช่วงสั้นหรือยาวขนาดใด ทำได้ง่ายและรวดเร็ว มีสลักรูปหัวกระสุนปืนใช้ใส่ตามข้อต่อระหว่างโครงหนึ่งต่ออีกโครงหนึ่ง เมื่อจะประกอบขึ้นใช้กับช่วงที่กว้างมากๆ ก็ซ้อนเพิ่มขึ้นข้างบนอีกชั้นหนึ่งสุดแท้แต่จะใช้งานอะไร สะพานรถไฟหรือสะพานทางหลวงขนาดหนักเบาแค่ไหน และสะพานวอเร็นทรัสนี้ เมื่อประกอบยิ่งยาวออกไปจะไม่ตกท้องช้าง เพราะได้แก้การตกท้องช้างไว้แล้วขนาด 1 ใน 600 สะพานแบบนี้กินเนื้อที่ใต้ท้องสะพานมาก
สะพานเบลีซึ่งฝ่ายสหประชาชาติได้นำเข้ามาใช้ในเมืองไทย เช่น
ซ่อมที่สะพานพุทธยอดฟ้า และสะพานจุฬาลงกรณ์ ที่ราชบุรี
ก็มีหลักและกฎเกณฑ์อันเดียวกัน คือเป็นโครงแบบ "วอเร็น" เหมือนกัน
ทางราชการได้ขอซื้อสะพานแบบนี้จากสหประชาชาติเพื่อไว้ใช้เป็นสะพานชั่วคราว
และใช้กับงานฉุกเฉินต่างๆ หรือเกี่ยวกับการก่อสร้างสะพานใหญ่ๆ ต่อไป
โดยเฉพาะที่สะพานปรมินทร์ต้องใช้เป็นจำนวนมาก เพราะลำแม่น้ำกว้าง
ทางการได้พยายามเลือกทำเลที่แคบที่สุดแล้ว ใช้สะพานวอเร็นทรัส 10 ช่วงยังไม่พอ ต้องสร้างสะพานไม้ออกไปรับอีกทั้งสองฝั่ง
รวมยาวทั้งหมด 203.50 เมตร สันรางสูงจากระดับน้ำทะเล 93.89
เมตร เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2489 ได้ทดลองใช้รถจักรตั้งแต่ขนาดเบา (รถสับเปลี่ยน)
จนขนาดหนัก เช่น รถสวิส มิกาโด และ รถจักรแมคอาเธอร์ข้ามแล้วได้ผลเป็นที่พอใจ
และเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2489 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
(นายสะพรั่ง เทพหัสดินทร์ ณ อยุธยา ได้ไปเป็นประธานประกอบพิธีเปิดให้ขบวนรถผ่านบนสะพานเป็นปฐมฤกษ์ ภายหลังต่อมา กรมรถไฟ ได้จัดดำเนินการบูรณะซ่อมสร้างสะพานปรมินทร์ โดยจัดทำสัญญาลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2493 กับ บริษัท คลีฟแลนด์ บริดจ์ แอนด์ เอนจิเนียริง จำกัด เป็นผู้รับเหมา และ บริษัท ดอร์แมนลอง แห่งประเทศอังกฤษ ร่วมกับ บริษัท คริสเตียนี แอนด์ นีลเสน ไทย จำกัด เป็นผู้รับเหมาช่วง สำหรับค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เริ่มดำเนินการจนแล้วเสร็จ ( จ่ายเป็นเงินปอนด์สเตอร์ลิง ส่วนหนึ่ง นอกนั้นจ่ายเป็นเงินบาท )ของสะพานปรมินทร์ คิดเป็นเงิน 110,887 ปอนด์สเตอร์ลิง + 7,205,872 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 11,091, 791 บาท ( ใช้อัตราแลกเปลี่ยนทางราชการในขณะนั้น 1 ปอนด์สเตอร์ลิง เท่ากับ 40 บาท ) การบูรณะซ่อมสร้างสะพานปรมินทร์ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2496 และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ไปประกอบพิธีเปิดสะพาน เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2496
สำหรับสะพานปรมินทร์ ที่บูรณะซ่อมแซมขึ้นใหม่ จากสะพานเดิมที่ถูกทิ้งระเบิดทำลายในสงครามโลกครั้งที่สอง มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับตัวสะพาน ดังนี้ สะพานปรมินทร์เดิม รับน้ำหนักบรรทุกได้เพียง 8 ตันต่อ 1 เพลาเท่านั้น ในการสร้างสะพานให้สามารถรับน้ำหนักบรรทุกเป็น 15 ตันต่อเพลา ซึ่งเป็นน้ำหนักบรรทุกมาตรฐานใหม่ของรถไฟ โดยใช้ฐานรากคือ ตอม่อเดิม จำเป็นต้องหาวิธีที่จะทำให้น้ำหนักของตัวสะพานเหล็กน้อยลง โดยการใช้ เหล็กชนิดแรงดึงสูง ( High Tensile Steel ) มาประกอบเป็นตัวสะพานส่วนบนและหมุดย้ำเหล็กชนิดนี้ มีความเค้นสูงกว่าเหล็กเหนียวธรรมดา ประมาณว่าเหล็กชนิดแรงดึงสูง มีความเค้นมากกว่าเหล็กเหนียวธรรมดาถึง 65 ส่วนในร้อย จึงทำให้น้ำหนักของตัวสะพานน้อยกว่าการใช้เหล็กเหนียวธรรมดา โดยจะเห็นได้จากน้ำหนักเปรียบเทียบของตัวสะพานเดิม กับสะพานที่สร้างใหม่ สะพานปรมินทร์ ( สะพานเดิม) หนัก 615 เมตริกตัน ( สะพานที่สร้างใหม่ ) หนัก 762 เมตริกตัน เหตุที่สะพานสร้างใหม่มีน้ำหนักมากกว่าสะพานเดิมถึง 147เมตริกตัน เพราะการออกแบบให้รับน้ำหนักได้มากเป็น 2 เท่าของสะพานเดิม และรับน้ำหนักบรรทุกตามเกณฑ์ที่กำหนด
สำหรับโครงสร้างตัวสะพาน ที่บูรณะซ่อมสร้างขึ้นใหม่ ประกอบด้วยสะพานเหล็ก 3 ช่วง โดยช่วงริมฝั่งทั้งสองข้าง ยาวช่วงละ 80.60 เมตร ช่วงกลางสะพาน ยาว 101.20 เมตร ซึ่งประกอบด้วยคานช่วงยื่น ( Anchor arm ) ซึ่งต่อยื่นออกมาจากสะพานช่วงริมฝั่งทั้งสองข้าง มารองรับ สะพานช่วงแขวน ซึ่งมีความยาว 60.90 เมตร ที่อยู่กึ่งกลาง รวมความยาวทั้งสิ้น 262.40 เมตร บนสะพานมีทางรถไฟ 1 ทาง ขนาดกว้าง 1.00 เมตร มีทางเดินเท้าข้างสะพานกว้าง 1.50 เมตร อยู่ด้านขวามือตามเส้นทางมาจากกรุงเทพ
|
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น