ต่อหัวเสือ...ไม่ร้ายอย่างเสือ






เมื่อเอ่ยถึง "ต่อหัวเสือ"  หลายคนอาจรู้จักดี และเคยเห็นตัวจริง ๆ ของเจ้าต่อพันธุ์นี้กันแล้ว โดยเฉพาะความโด่งดังของพิษร้ายของมัน  แต่ก็ยังมีอีกหลายท่านที่ยังไม่ค่อยรู้จักต่อหัวเสือ  ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากต่อหัวเสือได้  ดังนั้นการทำความรู้จักกับ  "ต่อหัวเสือ" จึงยังประโยชน์ต่อตัวเองและคนรอบข้างอีกด้วย.....นะครับ


      ต่อหัวเสือ

ชื่อสามัญ  :  Wasp, Oriental  hornet
ชื่อวิทยาศาสตร์  :  Vespa  oriental ( Linnaeus , 1711 )
Class    :   Insecta
Order   :   Hymenoptera
Family  :   Vespidae

ข้อมูลทั่วไป
เป็นแมลงที่อยู่ในอันดับ Hymenoptera  ต่อเป็นแมลงที่มีพิษจัดเป็นสัตว์ประเภท Omnivorous คือ เป็นแมลงที่กินสัตว์ เช่น ตัวอ่อนแมลงอื่น ซากสัตว์ เป็นอาหาร และยังจัดเป็นแมลงตัวห้ำ (Predator) อีกทั้งเป็นแมลงที่ดูดน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ ต่อหัวเสือมีหลายชนิด ทั้งชนิดที่อยู่ลำพัง หรืออยู่เป็นรวมกันเป็นแมลงสังคม (Social wasp) ส่วนต่อที่สร้างรังขนาดใหญ่มีหลายชนิด ส่วนใหญ่เป็นรูปทรงกลมใหญ่ มักอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ เช่น ต่อหัวเสือ ต่อรัง ต่อขวด และต่อหลวง ต่อเป็นแมลงพบได้ทุกภาคของประเทศไทย ในประเทศไทย พบ 18 ชนิด

ต่อ ชนิดที่อยู่รวมกันเป็นแมลงสังคม มีการแบ่งวรรณะ ประกอบด้วยเพศผู้ ซึ่งต่อราชินีและต่องาน เป็นเพศเมีย  นักวิทยาศาสตร์พบว่า  ไข่ที่ได้รับการผสมจะเจริญเติบโตเป็นเพศเมีย ส่วนไข่ที่ไม่ได้รับการผสมเจริญเติบโตเป็นเพศผู้ต่องาน มีหน้าที่หาอาหาร ป้องกันรัง ดูแลราชินี และตัวอ่อนภายในรัง

ต่อราชินีเป็นเพศเมียที่สามารถสืบพันธุ์ได้ ในรังต่อจะมีต่อราชินีที่เป็นแม่ 1 ตัว  จะพบต่อราชินีที่เป็นลูกอีกหลายตัว ส่วนใหญ่แล้วจะพบในช่วงฤดูกาลการผสมพันธุ์เพื่อสร้างรังใหม่

การป้องกันรัง ของ ต่อหัวเสือพวกมันจะต่อยพร้อมกับการฉีดพิษ ต่อตัวที่ต่อยได้ ทุกตัวเป็นต่อเพศเมียเท่านั้นเพราะมีเหล็กใน ที่ถูกพัฒนามาจากอวัยวะในการวางไข่ การต่อยนอกจากเป็นการป้องกันตัว ป้องกันรังแล้วต่อบางชนิดยังสามารถใช้ในการล่าเหยื่อโดยการต่อยให้เหยื่อสลบก่อนจะคาบเหยื่อไปกินเป็นอาหารที่รังต่อไป


วงจรชีวิต
การเจริญเติบโตของ ต่อ ตั้งแต่ตัวอ่อนซึ่งเป็นมีสภาพเป็นตัวหนอน (larva) ฟักออกมาจากไข่ ต้องผ่านระยะตัวหนอน หลายระยะ โดยตัวหนอนมีปากเป็นแบบกัด หนอนในระยะ สุดท้ายจะเริ่ม หยุดกินอาหารและเคลื่อนไหวน้อยลงเรียกหนอนในระยะนี้ว่า ระยะเตรียมเข้าดักแด้ (prepupa or pharate pupa)   จากนั้นจะเข้าดักแด้ (pupation) จนเป็นตัวเต็มวัยมีปีกบินได้นั้น จัดอยู่ในประเภทการลอกคราบ หรือการถอดรูปสมบูรณ์แบบ (holometabolous or complete metamorphosis)  การถอดรูปในลักษณะนี้มักพบได้ในกลุ่มแมลงที่มีวิวัฒนาการสูงวงจรชีวิตมีการพัฒนาการในระยะต่างๆ ที่สำคัญรวม 4 ระยะ คือ 1) ระยะไข่  2) ระยะตัวอ่อน หรือ หนอน  3) ระยะดักแด้  4) ระยะตัวเต็มวัย 

                                  

                                                  Life Cycle

ลักษณะตัวเต็มวัย
ต่อหัวเสือ ลำตัวมีสีดำแต้มด้วยสีเหลือง หรืออาจมีสีน้ำตาล ท้องมีแถบสีส้มปนเหลืองเห็นได้ชัดเจน มีขนาดลำตัว 2.7 -3.50  เซนติเมตร มีปีกสีน้ำตาลบางใส 2 คู่ ปีกคู่หลังมีขนาดเล็กกว่าปีกคู่หน้ามาก มีเขี้ยวที่กางออกทางข้าง 2 ข้าง ต่อหัวเสือ เป็นแมลงนักล่าที่น่าเกรงขาม สีเหลืองของมันบ่งบอกถึงภัยอันตราย สีดำแทนความแข็งแกร่งอดทนต่อหัวเสือ

รังต่อหัวเสือ จะร้างราวช่วงเดือน ตุลาคม ถึง ธันวาคม เนื่องจากเมื่อนางพญาหมดอายุขัย และนางพญาใหม่ที่เกิดขึ้น จะออกหาคู่ และไปสร้างอาณาจักรของพวกมันเอง ทิ้งพี่ๆน้องๆของมันให้ผจญชะตากรรม จากสภาพที่ไร้ผู้ปกครอง ที่รอแต่จะแตกสลายไปในเวลาไม่นาน
 
ญาติของมัน ต่อหัวเสือหลุม (V.tropica) มีพฤติกรรมนักล่าที่ดุดันกว่าต่อหัวเสือมาก  มักเข้าจู่โจมรังต่อหัวเสือบ้าน และ รังของแตน เพื่อล่าเอาตัวอ่อนไปเป็นอาหาร จนทำให้ต่อหัวเสือบ้าน และแตน แตกรัง ต้องทิ้งรังไปสร้างที่อยู่ใหม่  
เราจึงมักพบต่อหลุมบินอยู่บริเวณบ้านด้วยเช่นกัน

สามารถแบ่งการเป็นพิษจากตัวต่อได้เป็น 3 ลักษณะ ตามกลไกการเกิดพิษ คือ

1. การเป็นพิษโดยตรง (direct toxicity) ของพิษต่อเนื้อเยื่อต่างๆทั้งที่เป็นเฉพาะที่ (local) และทั่วร่างกาย (systemic)
2. ปฏิกิริยาภูมิต้านทาน (immunological reaction) เกิดจากการกระตุ้น mast cell , การสร้าง IgG , IgE ทำให้เกิด serum sickness และ anaphylaxis
3. กลไกที่ยังไม่ทราบ เช่น การทำอันตรายต่อระบบ ประสาท , หลอดเลือดและไต 

การรักษาอาการพิษจากแมลงใน Order Hymenoptera (ผึ้ง  ต่อ  แตน)  เมื่อได้รับพิษให้ประคบด้วยน้ำแข็ง หรือให้ยาระงับอาการปวด ให้รับประทานยาแก้แพ้(Antihistamine) และ corticosteroid เพื่อลดอาการอักเสบและอาจให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนด้วยก็ได้ ในบางรายที่มีอาการรุนแรงให้รีบนำส่งโรงพยาบาลความรุนแรงของพิษนั้น จะผันแปรตามจำนวนแผลที่ถูกต่อย ปริมาณพิษที่ได้รับต่อน้ำหนักตัว อายุ และประวัติการแพ้

คำสัมภาษณ์ของผู้เชี่ยวชาญ (เพิ่มเติม)
คุณศิริณี  พูนไชยศรี  ที่ปรึกษากรมวิชาการเกษตร ทางด้านนิเวศวิทยาแมลง ให้ข้อมูล มติชนออนไลน์ว่า  เหล็กไนของผึ้งและต่อหัวเสือดัดแปลงมาจากอวัยวะที่ใช้วางไข่ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการต่อย พร้อมกับปล่อยน้ำพิษ แต่เหล็กไนของผึ้งมีลักษณะแหลมและมีรอยบากเหมือนฟันเลื่อย  เมื่อต่อยแล้วจึงดึงกลับไปไม่ได้  อีกทั้งยังมีอวัยวะภายในบางส่วนหลุดออกมาด้วย  ผึ้งจึงได้รับขนานนามว่า สัตว์พลีชีพ คือ ต่อยแล้วยอมตัวตาย

ส่วนต่อหัวเสือต่างออกไป  เหล็กไนของต่อหัวเสือไม่มีรอยบาก  เมื่อต่อยแล้วต่อยได้อีก และต่อยได้อีก พร้อมกับปล่อยน้ำพิษ และสารเคมีออกมา เรียกต่อหัวเสือตัวอื่น ๆ มาช่วยรุมกันต่อย เหตุนี้เองที่ทำให้ มีคนเสียชีวิตจากการถูกต่อหัวเสือต่อยอยู่บ่อยครั้ง


ต่อหัวเสือเริ่มสร้างรังจากต่อนางพญาเพียงแค่ตัวเดียว  รังมีลักษณะเหมือนคนโทน้ำคว่ำเล็ก ๆ หากจะกำจัดต่อหัวเสือ กำจัดตั้งแต่ระยะนี้จะง่ายที่สุด หากไม่ถูกกำหนดไป นางพญาจะวางไข่และขยายรังใหญ่ขึ้น ๆ จนมีขนาดความกว้างนับ 100 เซนติเมตร และมีประชากรต่อหัวเสือนับหมื่นตัว 

รังของต่อหัวเสือมีทางเข้าออกเพียงทางเดียว ปากทางมีต่อหัวเสือทหารเฝ้าอยู่เต็มไปหมด  บางครั้งที่มีอากาศร้อนมาก ต่อหัวเสือจะช่วยกันบินไปดูดน้ำมาพ่นที่รัง แล้วต่างกระพือปีกระบายความร้อน เป็นภาพที่น่าประทับใจของผู้ที่ได้พบเห็น (ผู้พบเห็นในที่นี้คงต้องรู้จักและเฝ้ามองพฤติกรรมต่อหัวเสืออยู่นานทีเดียว)  

ต่อหัวเสือเป็นแมลงผู้ล่า หมายถึง ล่าแมลงอื่นเป็นอาหาร  ส่วนใหญ่จะไปต่อยหนอนให้เป็นอัมพาต แล้วคาบมาไว้ที่รัง ให้ตัวอ่อนกิน ตัวอ่อนของต่อหัวเสือ ต้องกินหนอนสด ๆ เสมอ

ต่อหัวเสือเป็นแมลงที่มีทั้งประโยชน์ในแง่ที่ช่วยกำจัดศัตรูพืช แต่ในขณะเดียวกันก็มีโทษคือต่อยทำร้ายคนให้เสียชีวิตได้

การเลี้ยงต่อหัวเสือ เพื่อการค้า
การเลี้ยงต่อหัวเสือ อาจเพื่อขายตัวอ่อน ซึ่งมีลักษณะเป็นตัวหนอน และดักแด้ ซึ่งอุดมด้วยโปรตีนคุณภาพ หรือ บางรายอาจเลี้ยงเพื่อขายรังให้ผู้นิยมนำไปตกแต่งบ้านและสวน ซึ่งอดีตมีการเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมในหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดลำปาง นครพนม โดยราวเดือนพฤษภาคม ต่อหัวเสื้อเริ่มสร้างรังใหม่ มีขนาดเล็ก และมีปริมาณต่องานน้อย ผู้เลี้ยงจะออกหารังต่อหัวเสือตามป่าใกล้ๆ หมู่บ้านในตอนกลางวันหรืออาจใช้เศษเนื้อ วางล่อ แล้วเฝ้าและติดตามตัวต่องานที่ออกมาหาอาหาร และนำอาหารบินกลับรัง  หลังจากนั้นช่วงเวลากลางคืนตัวต่อเข้าไปในรังทุกตัว จึงนำเศษผ้าอุดรูทางเข้าออก แล้วนำถุงผ้าหุ้มอีกชั้นหนึ่ง เพื่อนำกลับมาเลี้ยง โดยผูกหรือนำไปติดตามต้นไม้ในที่ที่กำหนดต่อไป....ปัจจุบันได้กลายเป็นอาชีพหนึ่งที่สร้างรายค่อนข้างดีให้กับผู้เลี้ยงจำนวนมาก และมีการพัฒนาเทคนิคการเลี้ยงให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้นอีกด้วย





ที่มา  :   1)   http://www.myfirstbrain.com
           2)   http://www.dnp.go.th
             3)  http://www.matichon.co.th
           4)   http://www.youtube.com



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์