ปลูกไม้ยางนาเพื่อการอนุรักษ์



สวัสดีครับ....ก่อนอื่นต้องออกตัวก่อนนะว่าการนำเสนอข้อมูลการปลูกไม้ยางนาครังนี้  อยากจะเริ่มต้นที่การได้เรียนรู้และร่วมมือกันอนุรักษ์พันธุ์ไม้ยางนา  ซึ่งกำลังสูญหายไปจากระบบป่าของบ้านเรา  โดยปลูกบริเวณพื้นที่ว่างของสวน  และที่สาธารณะใกล้บ้านท่านทั้งหลาย....แล้วคอยแอบชื่นชมเมื่อมันโตขึ้นนะครับ  ( แต่ถ้าใครที่มีความพร้อมจะปลูกไม้ยางนาเพื่อการค้า..ก็ไม่ขัดข้องอะไรเช่นกัน  ) นอกจากไม้ยางนาแล้ว....ยังมีพันธุ์ไม้ที่น่าสนใจอีกหลายพันธุ์ เช่น  ไม้ตะเคียนทอง  ไม้แดง   ไม้ประดู่  ไม้มะค่า  และไม้พะยูง  เป็นต้น  

มารู้จักไม้ยางนากันก่อน
เมล็ดหรือผลของยางนา
ชื่อพันธุ์ไม้ ยางนา
ชื่อสามัญ Yang
ชื่อวิทยาศาสตร์ Dipterocarpus alatus Roxb.
วงศ์ DIPTEROCARPACEAE
ชื่ออื่น กาตีล (เขมร-ปราจีนบุรี), ขะยาง (ชาวบน-นครราชสีมา), เคาะ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), จะเตียล (เขมร), ชันนา ยางตัง (ชุมพร), ทองหลัก (ละว้า), ยาง ยางขาว ยางแม่น้ำ ยางหยวก ยางนา (ทั่วไป),       ยางกุง (ลาว), ยางควาย (หนองคาย), ยางเนิน (จันทบุรี), ราลอย (ส่วยสุรินทร์), ลอยด์ (โซ่-นครพนม)
ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่สูงถึง 40 เมตร ไม่ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรง เปลือกเรียบหนาสีเทา โคนต้นมีพูพอน เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ใบเป็นใบเดี่ยวรูปไข่แกมรูปหอกกว้าง ปลายใบสอบเรียว เนื้อใบหนา ดอกสีชมพู ออกเป็นช่อสั้น ๆ สีน้ำตาล กลีบดอกมี 5 กลีบ โคนกลีบประสานเหลื่อมกัน ปลายกลีบบิดเวียนตามกันแบบกังหัน เกสรเพศผู้มี 25 อัน รังไข่มี 3 ช่อง ออกดอกระหว่างเดือนมีนาคม - เดือนพฤษภาคม ผลเป็นผลแห้งทรงกลม มีครีบตามยาว 5 ครีบ ปีกยาว 2 ปีก
ขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด
สภาพที่เหมาะสม เจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินแทบทุกชนิด เป็นไม้กลางแจ้ง
ถิ่นกำเนิด ป่าดงดิบ และตามที่ต่ำชุ่มชื้นใกล้แม่น้ำลำธารทั่วไป


คุณค่าของไม้ยางนา
ไม้ยางนา เป็นเสมือนพญาไม้แห่งเอเชียอาคเนย์ เพราะมีขนาดสูงใหญ่ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย อาจมีความสูงถึง 50 เมตร และมีเส้นรอบวงที่ระดับอกถึง 7 เมตรเศษ ในประเทศไทยพบอยู่ทั่วไป   ยางนาเป็นไม้อเนกประสงค์ แทบทุกส่วนสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม  เป็นแหล่งอาหารป่า แหล่งนันทนาการ ใช้น้ำมันยางเป็นสมุนไพรและเนื้อไม้เหมาะสำหรับใช้สอยทั่วไป จนพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2454 ได้ให้ความสำคัญของไม้ยางนา เท่าเทียมกับไม้สัก โดยการกำหนดว่า ทั้งไม้สักและไม้ยางทั่วไปในราชอาณาจักร ไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ใด (รวมทั้งในที่เอกชน) เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ซึ่งการทำไม้จะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ผลจากการที่ไม้ยางนามีประโยชน์ สามารถใช้งานได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม จากอดีตที่ผ่านมา จึงมีการตัดไม้ยางนาเพื่อใช้งานกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชปรารภเมื่อปี พ.ศ. 2504 ด้วยทรงห่วงใยในสถานการณ์ของไม้ยางนาเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้วว่า   ” ไม้ยางนาในประเทศไทยได้ถูกตัดฟันไปใช้สอย และทำเป็นสินค้ากันเป็นจำนวนมากขึ้นทุกปี เป็นที่น่าวิตกว่าหากมิได้ทำการบำรุงส่งเสริม และดำเนินการปลูกไม้ยางนาขึ้นแล้วปริมาณไม้ยางนา ก็จะลดน้อยลงไปทุกที จึงควรที่จะได้มีการดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับการปลูกไม้ยางนาเพื่อจะได้นำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติ  "  ความห่วงใยจากพระราชปรารภของพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องยางนานี้ เป็นเสมือนจุดเริ่มต้นให้คนไทยต้องหันมาคำนึงถึงการรักษาพันธุ์ไม้ในวงศ์ยางทั้งหลายให้เติบโตแพร่พันธุ์มากขึ้น และอำนวยคุณ ประโยชน์เคียงข้างกับวิถีชีวิตของมนุษย์ ในแบบที่ไม่ทำร้ายกันและกัน (ที่มา : 
http://gs.rmu.ac.th  :  ทัศนคติของประชาชนต่อการปลูกไม้ยางนาในจังหวัดมหาสารคาม )



การขออนุญาตปลูก
เนื่องจากกฎหมายป่าไม้ พ.ศ 2484 กำหนดไว้ว่า  " ไม้สัก ไม้ยาง ไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ใดก็เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. เจ้าของที่ดินที่มีหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองในที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมายจะตัดไม้ในที่ดินของตนเองได้ทุกชนิดโดยไม่ต้องขออนุญาต ยกเว้น ไม้สัก ไม้ยาง เพียง 2 ชนิดเท่านั้นที่ต้องขออนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน " (ถ้ากระทำผิดเกี่ยวกับไม้สัก ไม้ยาง หรือไม้หวงห้ามประเภท ข. หรือไม้อื่นรวมกันเกิน 20 ต้นหรือท่อน หรือรวมปริมาตรไม้เกิน 4 ลูกบาศก์เมตร หรือไม้ที่ได้แปรรูปแล้วรวมปริมาตรไม้เกิน 2 ลูกบาศก์เมตร โทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี  ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 200,000 บาท )  ดังนั้นเมื่อท่านปลูกเสร็จ หรือก่อนปลูกไม้ใด ๆ ก็ตาม ขอให้ไปขึ้นทะเบียนสวนป่า ที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประจำจังหวัด (ป่าไม้จังหวัดเดิม)  จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะมาสำรวจว่าเหมาะสมตามที่เราร้องขอหรือไม่ (ส่วนมากจะผ่านเพื่อส่งเสริมการปลูกป่า) จากนั้นเราก็จะได้ทะเบียนสวนป่า พร้อมฆ้อนประจำสวน เมื่อเราจะตัดเราก็ไปแจ้งว่าจะตัด โดยกฎหมายแล้ว แค่แจ้งก็ตัดได้เลยไม่ต้องรอหนังสือตอบรับ ข้อดีของการขึ้นทะเบียนสวนป่าคือ ง่ายในการขออนุญาตตัดในกรณี ไม้สักและยางนา (ไม้ป่าสงวน) ง่ายในการขนของห้ามเขตอำเภอ  ง่ายในการขอแปรรูป (แปรรูปด้วยเครื่องยนต์) ง่ายในการที่จะขายให้พ่อค้า เพราะพ่อค้าจะถามหาทะเบียนสวนป่าเสมอในกรณีไม้ยางนาและไม้สัก  (ที่มา  :  http://www.tanai-korat.com  และ  http://kdindex.freeforums.org )



ผลของยางนากับไม้อื่นที่ใกล้เคียงกัน

การขยายพันธ์และการผลิตกล้าไม้ยางนา
ปกติไม้ยางนาจะให้เมล็ดต่อต้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะให้เมล็ดที่สมบูรณ์ ประมาณ   70-80 % ของเมล็ดทั้งหมด   การขยายพันธุ์เพื่อการปลูกสร้างสวนป่านิยมใช้เมล็ดเพื่อการขยายพันธุ์ เพราะสามารถเตรียมกล้าไม้  ได้เป็นจำนวนมาก และงานในการดูแลรักษา

การเพาะเมล็ดไม้ยางนา 

กรณีที่ 1 การเพาะไม้ยางนาเพื่อการวิจัยในห้องเพาะเมล็ด พบว่าเมื่อทำการเพาะเมล็ดที่เก็บในสภาพธรรมชาติ  โดยเด็ดปีกก่อนจะเริ่มงอกหลังจากเพาะ 4 วันและหลังจากที่เก็บไว้ในห้องเก็บเมล็ดไม้ที่อุณหภูมิ 15 องศา เมล็ดจะเริ่มงอกหลับจากเพาะ 6 ½ วัน และจะทยอยงอกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึง 30 วัน   ในการเพาะเมล็ดเพื่อปลูกสร้างสวนป่าหรือเพื่อต้องการกล้าไม้จำนวนมาก ๆ จะทำการเพาะในกระบะหรือในหลุมดินโดย  เด็ดปีกออกเสียก่อน แล้วนำเมล็ดกองรวมกัน ใช้กระสอบหรือฟางหรือใยมะพร้าวคลุมเมล็ดแล้วรดน้ำ     เช้า- เย็น ทุกวัน  หลังจากเพาะได้ประมาณ 1 สัปดาห์ เมล็ดก็จะเริ่มงอกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนถึงประมาณ 1 เดือนหลังจากเพาะ   (ที่มา  :  http://www.bungtaluo.com )

กรณีที่ 2  เตรียมวัสดุ / อุปกรณ์  ไดแก่  ถุงดำ   ปุ๋ยคอก    แกลบดำ    แกลบดิบ    ดินร่วนซุย และ เมล็ดพันธุ์ที่เราต้องการเพาะปลูก
อัตราส่วนในการผสมดิน
                             ดินร่วนซุย             1              ส่วน
                              ปุ๋ยคอก                1              ส่วน
                              แกลบดำ              1              ส่วน
                             แกลบดิบ              1              ส่วน
ฤดูการเก็บเมล็ดพันธุ์   จะอยู่ในช่วง เดือน เมษายน ถึง เดือน พฤษภาคม ของทุกปี
วิธีทำ
นำอัตราส่วนในการผสมดินที่เตรียมไว้มาคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วรดน้ำให้ชุ่ม  หมักทิ้งไว้ประมาณ  7-10  วัน  แล้วนำมากรอกใส่ถุงดำ  ขณะที่กรอกใส่ถุงดำไม่ต้องอัดดินให้แน่นจนเกินไป  ให้จับปากถุงกระแทกเบา ๆ แล้วใส่ดินให้เต็มพอดีถุง  แล้วนำเมล็ดที่เตรียมไว้ (เมล็ดยางนา) มาเสียบลงดินประมาณครึ่งเมล็ด  ทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์  เมล็ดยางนาจะงอก ให้รดน้ำทุกวันพอชุ่มไม่ต้องเปียกจนน้ำขัง  เก็บไว้ในที่ร่มมีแดดรำไร  ต้นกล้าที่งอกได้ประมาณ 1-2 เดือน  สามารถนำไปปลูกได้แต่จะอ่อนแอเพราะรากจะไม่ค่อยแข็งแรง ถ้าต้นกล้ายางนาปลูกได้ผลดี คือต้นกล้าที่มีอายุตั้งแต่ 1-2 ปีขึ้นไป
 
(เคล็ดลับ)
เมล็ดยางนาก่อนนำมาเพาะต้องนำไปแช่น้ำ  2  คืน  แล้วนำเมล็ดยางนามาใส่ไว้ในกระสอบป่านรดน้ำให้ชุ่มทิ้งไว้ประมาณ 3 คืนแล้วเปิดดู  รากจะงอกเป็นสีขาว  แล้วนำมาปักชำลงในถุงดำที่เราเตรียมไว้หลังจากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์ ต้นยางนาก็จะงอกแล้วดูแลรดน้ำพอชุ่มทุกวัน  ต้นกล้าจะตายยาก  ที่มา  : นายสมบูรณ์  สาลาด (ดื้อ)  โทร. 08-5417-7702   ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านโนนรัง-บูรพา ,  พ่อจันทร์ที  ประทุมภา
หมายเหตุ   หากไม่สะดวกในการเพาะพันธุ์เอง  แนะนำให้ซื้อต้นกล้าอายุ  1  ปีขึ้นไปมาทำการปลูก



การปลูกไม้ยางนา 
 วิธีการปลูกและระยะปลููกที่เหมาะสม    ควรทำในช่วงฤดูฝนประมาณเดือนมิถุนายนระยะปลูกที่เหมาะสมควรใช้  ระยะห่าง 4x4 เมตร  อัตราการรอดตายสูงมากและเจริญเติบโตได้ดี  หลุมปลูกควรมี ขนาด 30x30x30 ซม. ก้นหลุมควรมีผิดดินที่ร่วนซุยหรืออาจใช้ปุ๋ยอินทรีย์
รองก้นหลุมเมื่อปลูกแล้วควรกลบหลุมให้ระดับผิวดินอย่าให้น้ำขัง
ที่มา :  http://www.kasetporpeang.com

***รายละเอียดของการปลูกไม้ยางนา....ยังมีอีกหลายประการด้วยกัน  หากท่านสนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้นะครับ  และคงจะทิ้งท้ายด้วยคำพูดดี ๆ ที่ท้าทายของคุณณรงค์ สังขะโห  ผู้มีประสบการณ์ตรง   คือ

ยางนามีค่าดังทองคำ
ยางนาได้ถูกเปรียบเทียบค่าเทียบทองคำ โดยยางนา 1 ต้น อายุ 20 ปีจะมีมูลค่า 15,000 - 20,000 บาท   เท่ากับทองคำหนัก 1 บาท  ยางนาเป็นไม้ให้เนื้อไม้มาก  ยิ่งอายุมากยิ่งให้มูลค่าเนื้อมากเสมือนเป็นไม้มรดกให้แก่ลูกหลานในอนาคต ( ถ้าลูกหลานปลูกยางนาไว้คนละหลายต้น.....ก็เหมือนกับการออมทรัพย์ไว้ใช้เมื่อวัยหนุ่มสาว)

ปลูกไม้ใช้หนี้
ยางนาให้มูลค่าทางเศรษฐกิจมาก  เมื่ออายุ 20 ปี จะมีมูลค่า 15,000 - 20,000 บาท  เท่ากับมีมูลค่าเฉลี่ย   วันละ 8 บาท  หากปลูกยางนาไว้หัวไร่ปลายนา 100 ต้นจะมีรายได้วันละ 800 บาท  เดือนละ 24,000 บาท เฉลี่ยปีละ 288,000 บาท เป็นทางรอดของการแก้หนี้แก้จน

ที่มา :   www.yangnathailand.com  , คุณณรงค์ สังขะโห  ศูนย์ศึกษายางนาแก้หนี้แก้จน   
           โทร. 08-9612-4007




ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

ต่อหัวเสือ...ไม่ร้ายอย่างเสือ