ปูนา 2


                                                   
                                                    สวัสดีครับ....ก่อนที่จะไปต่อ.... ผู้เขียนขอพูดคุยบางอย่างเล็กน้อยครับ   ทุกท่านรู้หรือไม่ว่า การเลี้ยงปูนา  เคยเป็นความคิดของผมในช่วงเวลาหนึ่งที่ได้ร่วมงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์   ซึ่งคิดจะเสนอให้ผู้สนใจหลายท่านลองทำดู  เพราะมองเห็นว่า..." ปูนาดูจะหายากขึ้น ...ราคาก็แพงกว่าอดีตมาก   นำไปประกอบอาหารได้หลายอย่าง   รวมทั้งแปรรูปเป็นน้ำปูที่มีคุณภาพ   เก็บได้นาน ๆ ...ก็น่าจะพอสร้างรายได้ให้ตามสมควร..."  เศรษฐกิจพอเพียง ...ครับ



เลี้ยงปูนา
ปลอดสารพิษ
เพื่อการบริโภค
                                                                                                          ปูนาเลี้ยงได้เช่นเดียวกันกับปูทะเลหรือปูม้า เทคนิคการเลี้ยงก็เรียบง่ายใช้เทคโนโลยีชาวบ้านเป็นพื้นฐาน บ่อที่ใช้เลี้ยงปูนา จะเป็นบ่อบ่อดิน หรือบ่อซีเมนต์ ก็ได้ ถ้าเป็นบ่อดินควรมีอวนมุ้งตาถี่ล้อมรอบบ่อเพื่อป้องกันปูหนี ถ้าเป็นบ่อซีเมนต์ก็สะดวกต่อการดูแล รักษาและการจัดการ บ่อเลี้ยงปูนาไม่ต้องสูงมาก เพื่อความสะดวกในการทำงานควรสูงไม่เกิน 60 ซม. ส่วนความกว้างยาวนั้นแล้วแต่ความเหมาะสม ข้อสำคัญของบ่อเลี้ยงปูนาคือ ประมาณ 3/4 ของพื้นที่บ่อควรเป็นดินสูงประมาณ 30 ซม. เพื่อให้ปูได้ขุดรูอยู่อาศัย ส่วนที่เป็นดินนี้จะลาดเข้าหา อีกส่วนหนึ่งที่เป็นน้ำ   .....การเพาะพันธุ์ปูนาสามารถนำมาเพาะในโรงเพาะฟักเพื่อผลิตลูกปูวัยอ่อนได้เช่นเดียวกับปูม้า หรือปูทะเล บ่อที่ใช้จะเป็นบ่อซีเมนต์ ถังพลาสติก หรือ ตู้กระจก ก็ได้ ขนาดของบ่อก็ไม่จำกัด ขึ้นอยู่กับความสะดวกในการจัดการของแต่ละท่าน 

พ่อแม่พันธุ์
พ่อแม่พันธุ์ ในระยะแรกก็คงต้องรวบรวมจากธรรมชาติ จะเริ่มเพาะจากพ่อแม่พันธุ์ก็ได้ หรือจะใช้แม่ปูที่มีไข่ที่จับปิ้งและมีลูกปูวัยอ่อนที่ติดกระดองอยู่แล้วมา อนุบาล ก็จะประหยัดเวลาและต้นทุนในการผลิตได้มาก





การอนุบาลลูกปู
ในช่วง15วันแรก ควรให้ ไรแดง หนอนแดง เทา หรือไข่ตุ๋น กินเป็นอาหาร หลังจากนั้นควรให้ปลาหรือกุ้งสับอาหารเม็ดที่ใช้เลี้ยงลูกปลาดุกก็ใช้ได้ เมื่อมีอายุประมาณ30วันก็สามารถนำไปปล่อยเลี้ยงในบ่อดินหรือบ่อซีเมนต์เพื่อ ให้มีขนาดโตเต็มวัยได้ความหนาแน่นที่ปล่อยเลี้ยง ลูกปูในระยะนี้ควรปล่อยเลี้ยงในปริมาณ 10,000 ตัว/เนื้อที่1 ตารางเมตร  การเจริญเติบโตปูนามีการเจริญเติบโตโดยการลอกคราบเช่นเดียวกับปูชนิดอื่น ๆ หลังจากฟักเป็นตัวแล้วปูนาจะลอกคราบประมาณ 13-15 ครั้งก็จะโตเป็นปูเต็มวัย ได้ขนาดตามที่ตลาดการ ต้องใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือน

การลอกคราบ
ปูที่จะลอกคราบสังเกตได้จากรอยต่อทางส่วนท้ายของกระดองจะกว้างมากกว่าปกติ เมื่อใกล้จะลอกคราบปูจะนิ่งและเหยียดขาออกไปทั้งสองข้าง จากนั้นรอยต่อทางส่วนท้ายของกระดองก็จะเปิดออก ส่วนท้ายพร้อมกับขาเดินคู่สุดท้ายจะออกมาก่อน ขาคู่ถัดมาจะค่อย ๆ โผล่ออกมาตามลำดับ ส่วนก้ามคู่แรกจะโผล่ออกมาเป็นอันดับสุดท้าย ระยะเวลาที่ใช้เวลาลอกคราบทั้งหมดประมาณ 1 ชั่วโมง 

ทำปูนาให้เป็นปูนิ่ม
เพื่อเพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์   มีผู้อ่านหลายท่านได้โทรมาถามผู้เขียนบ่อยครั้งว่า ปูนาทำปูนิ่มได้ไหม? คำตอบก็คือ ปูนาสามารถนำมาผลิตเป็นปูนิ่มได้เช่นเดียวกับปูทะเลและปูม้า ปูนานิ่มเป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ และสามารถเพิ่มคุณค่าปูนาให้สูงขึ้น ปกติปูนาจะซื้อ-ขายกันกิโลกรัมละ 40 บาท แต่ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ปูนิ่ม ราคาก็จะสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 100-200 บาทเป็นต้น ปูนานิ่มมีข้อดีที่ว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่สะอาด สามารถบริโภคได้ทั้งตัว มีปริมาณแคลเซียมและไคตีนต่อน้ำหนัก1 กรัมสูง เมื่อเปรียบเทียบกับปูนาทั้งตัวที่ยังไม่ลอกคราบ เหมาะสำหรับสตรี หรือผู้สูงอายุที่ต้องการแคลเซียม ไคตินและไคโตซานไปช่วยเสริมกระดูก สะดวกต่อการนำไปปรุงอาหาร ที่นิยมมากได้แก่นำไปชุบแป้งทอดกรอบ รับประทานทั้งตัว


ปูนาทำอาหารได้หลากหลาย
ปูนามีรสชาติดี มีเอกลักษณ์ กลมกลืนกับวิถีการกินของคนอีสานและคนเหนือได้อย่างแนบแน่น ปูนาจึงจัดได้ว่าเป็นแหล่งอาหารโปรตีนราคาถูก ที่คนอีสานสามารถจับหรือแสวงหาจากธรรมชาติ ไม่ต้องซื้อหา ปูนาสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด นอกจากนำไปเผา ต้ม นึ่ง ทอด แกงส้ม แกงป่า อ่อมปูนา ยำ และอุกะปู อาหารพื้นบ้านของอีสาน ก็ยังสามารถนำไปประกอบได้อีกหลายชนิด เช่น นำตำให้ละเอียดใส่แป้งและไข่ทอดเป็นแผ่นแบบทอดมัน จิ้มกับน้ำจิ้ม ถ้าเป็นปูขนาดเล็กก็ชุบแป้งทอดทั้งตัว ทางจังหวัดนครพนมนำไปปรุงเป็นลาบปู ผัดปู ส่วนจังหวัดอุดรธานี นำไปทำน้ำยาปูกินกับขนมจีน ปูนายังนำไปดองเค็ม เพื่อนำไปปรุงเป็นส่วนประกอบของส้มตำ ที่เป็นอาหารหลักของคนอีสานและคนในภาคอื่น ด้วย 


ปูอาหารรสแซบของเมืองขอนแก่น 
เพื่อประโยชน์ของท่านผู้อ่านที่ไม่คุ้นเคยกับอุกะปู ผู้เขียนจึงขออนุญาตนำวิธีทำอุกะปู ตำหรับของศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรชุมชน ตำบลบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น มาเล่าสู่กันฟัง ส่วนท่านผู้อ่านที่มีฝีมือ มีตำหรับในการปรุง หรือมีลูกเล่นในการทำอุกะปู ที่มีรสชาติ อร่อยลิ้นกว่า ก็ช่วยกรุณาบอกผู้เขียนเพื่อเป็นวิทยาทานด้วยก็แล้วกัน การทำอุกะปูนั้นที่ขาดไม่ได้ก็คือปูนาสด (ประมาณ 20-30 ตัว) แกะเปลือก เอานมปูออก นำปูและกระดองที่ล้างสะอาดแล้ว มาโขลกให้ละเอียด เติมน้ำเล็กน้อย แล้วกรองเอาส่วนที่เป็นน้ำใส่ในหม้อหรือกะทะ คนไปเรื่อ ย ๆ พอเดือด ใส่น้ำพริกที่เตรียมไว้ (พริก หอมแดง และข่าที่โขลกละเอียด) ลงไปผสม ใส่ผักชีหั่นฝอย ต้นหอมหั่นเป็นท่อน ใบชะพลูอ่อนหั่นฝอย ใบแมงลัก พริกขี้หนูสดทุบพอแตก คนให้เข้ากัน ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า เกลือป่นและน้ำปลาดี รับประทานในขณะที่ร้อน ๆ




น้ำปู ผลิตภัณฑ์พื้นเมืองของคนเมือง 
คนเหนือก็รู้จักปูนาและนิยมนำปูนามาปรุงอาหารได้อร่อยไม่แพ้คนอีสาน ผลิตภัณฑ์เด่นของคนเหนือได้แก่ผลิตภัณฑ์ที่ชื่อ "น้ำปู" น้ำปูเป็นผลิตภัณฑ์มีชื่อที่จัดอยู่ในระดับหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลในกลุ่ม สินค้าโอทอบของภาคเนือ เนื่องจากปูที่ชาวนาในภาคเหนือ              นิยมจับมาทำน้ำปูนั้นเป็นปูที่เข้ามาหากินใน นาข้าวช่วงที่เข้ากำลังแตกกอ ปูที่จับได้ในช่วงนี้จึงมีความสมบูรณ์เต็มที่ ปูเพศผู้มีมันเต็มอก ปูเพศเมียมีไข่อ่อนเต็มท้อง ผลิตภัณฑ์น้ำปูของคนเหนือจึงมีคุณภาพทางโภชนาสูง รสชาติดี วิธีการผลิตก็ไม่ยุ่งยาก เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้าน ที่ได้สืบทอดส่งต่อกันมาจากบรรพบุรุษเป็นทอด ๆ  เริ่มจากนำปูสดมาตำให้ละเอียด แล้วกรอง นำมันปูและน้ำที่กรองได้ไปปรุงด้วยเครื่องปรุง เพื่อช่วยชูรสชาติ จากนั้นนำไปต้ม เคี่ยวจนน้ำงวดแห้ง เหลือแต่มันปูสีดำ ข้นและเหนียว คน เหมาะสำหรับนำไปใช้ปรุงแต่งหรือใช้เพื่อเพิ่มรสชาติของอาหารพื้นเมืองหลาย ชนิดเช่น ยำหน่อไม้ น้ำพริกปู แกงหน่อไม้ หรือผสมเป็นน้ำจิ้มกับผักเปรี้ยวได้ในลักษณะเดียวกันกับปลาร้าในภาคตะวันออก หรือกะปิของคนในภาคกลาง


ก้ามปูนาอินทร์บุรี 
ที่อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี มีการนำก้ามปูนาเพศผู้ที่มีขนาดใหญ่ เนื้อมากมาแกะเปลือกออกให้เหลือเฉพาะฟันหนีบข้างหนึ่ง เพื่อสะดวกในการจับเข้าปากหลังจากปรุงเสร็จ ก้ามปูนาแกะเนื้อซื้อขายกันในราคากิโลกรัมละ 80-100 บาท สำหรับก้ามปูสดที่ยังไม่แกะเปลือกจะขายในราคากิโลกรัมละ 20-25 บาท   ปูนาอาหารโปรตีนของราคาถูก คนกรุงเทพ ฯ ก็ยังแสวงหามาบริโภค   ในตลาดกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่ ๆ หลายแห่งจะพบปูนาใส่ถุงวางขาย ถุงละ 4-5 ตัว ผู้เขียนได้สอบถามด้วยความอยากรู้ว่เอาไปทำอะไรทานได้บ้าง แม่ค้าวัยกลางคนรีบบอกด้วยใบหน้ายิ้มแย้มว่า นำทำ น้ำพริก หรือหลน จิ้มกับผักสด อร่อยนะค่ะ ถุงละ 5 บาทเท่านั้น ช่วยอุดหนุนหน่อยนะค่ะ แกงเผ็ดปูนา อาหารจานเด็ดของคนใต้ คนใต้ก็นิยมกินปูนาเหมือนกัน แกงเผ็ดปูนาถือว่าเป็นอาหารจานเด็ดของคนใต้รองลงมาจากแก่เหลืองและแกงไตปลา วิธีทำก็ง่าย คือหลังจากล้างปูนาสะอาดแล้ว เด็ดก้ามออก แล้วก็ตำให้ละเอียด ปรุงด้วยเครื่องแกงเผ็ดตามปกติ นำปูที่ตำละเอียดพร้อมกับก้ามใส่ลงไป เพื่อให้มีรสเข้มข้น เติมกะทิเล็กน้อย ปรุงรสตามชอบ ที่จังหวัดนครศรีธรรมชาติ นิยมใส่ยอดชะมวงอ่อนลงไปด้วย เพื่อเพิ่มรสชาติ เปรี้ยวและมัน   

การจับปูนาเพื่อการบริโภค
การจับปูนาสำหรับนำมาบริโภคนั้นมีหลายวิธี วิธีหนึ่งที่นิยมก็คือใช้ลอบหรือเครื่องมือจับปลาชนิดใดชนิดหนึ่งดักในที่ ๆ น้ำไหล หรือใช้วิธีขุดดินฝังปีบ หรือไห หรือภาชนะที่มีผิวเรียบภายใน ที่มีความลึกประมาณ 30 ซม. ข้างคันนาที่เป็นโคลนตม ให้ขอบภาชนะอยู่ระดับเดียวกับดิน จากนั้นใช้ปลาร้า กะปิ หรือปลากำลังเน่า ที่มีกลิ่นแรง ๆ เป็นเหยื่อล่อ ปูเมื่อได้กลิ่นอาหารก็เดินหาและตกลงไปในไห ขึ้นมาไม่ได้ วิธีนี้สามารถจับปูได้ครั้งละมาก ๆ การใช้แร้วดักจากรู ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง นิยมใช้เหมือนกัน เพราะเป็นวิธีที่สามารถจับปูได้เป็น ๆ โดยปูไม่ช้ำ

ใช้สารเคมีจับปูนาเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
ต้องขออนุญาตบอกนักจับปูนาอาชีพ หรือสมัครเล่นก็ตามไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า การจับปูนาเพื่อนำไปขายเพื่อการบริโภคนั้นไม่ควรใช้สารเคมีผสมน้ำไปยอดลงไป ในรูเป็นอันขาด นอกจากเป็นการทำลายระบบนิเวศน์ที่ปูอยู่อาศัยแล้วอย่างถอนรากถอนโคนแล้ว ปูที่จับได้ยังมีสารพิษปนเปื้อน ในตัวปูด้วย ทำให้ผู้บริโภคปูมีโอกาสเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ถ้าสารเคมีที่ใช้เป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์รุนแรงและมีปริมาณมาก แต่ถ้าเป็นสารพิษที่ไม่มีรุนแรงหรือรุนแรงแต่ปริมาณที่ได้รับน้อย ก็อาจจะมีโอกาสตกค้างและสะสมในร่างกาย ทำให้เกิดระบบการตายผ่อนส่งได้เหมือนกัน จึงไม่ควรใช้สารเคมีจับปูนาเพื่อการบริโภคเป็นอันขาด

บริโภคปูนาต้องระวัง ถ้าไม่อยากได้ของแถม
เป็นสัจธรรมอย่างหนึ่งที่ว่า อะไรก็ตามที่มีคุณอนันต์ก็ย่อมมีโทษมหันต์ ปูนาก็เช่นเดียวกันคงหนีสัจธรรมอันนี้ไม่พ้น นอกจากเป็นศัตรูที่คอยกัดกินต้นข้าวสร้างความเสียหายให้แก่ชาวนาในบางโอกาส แล้ว ปูนาบางตัวยังเป็นพาหะของตัวอ่อนพยาธิใบไม้ปอด พยาธิตัวนี้ตัวเต็มวัยจะอาศัยอยู่ในปอดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เช่น แมว หนู สุนัก และคน การนำปูนามาบริโภคก็ต้องเข้าใจ ถ้ารู้จักวิธีปรุงและทำด้วยความระมัดระวัง เพราะปูนาบางตัวที่เราบริโภคอาจจะมีตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ปอด ชนิดพาราโกนิมัส ไซเนนซิส (Paragonimus sianensis) ปนเปื้อนอยู่ ที่ผู้บริโภคปูนั้นอาจเป็นโรคพยาธิใบไม้ปอดได้ ดังนั้นเมื่อต้องการบริโภคปูนา ถ้าไม่อยากได้ของแถมที่ไม่พึ่งประสงค์ดังกล่าวก็ควรบริโภคปูนาในสภาพที่สุก ด้วยความร้อน หรือดองเค็มก็คงปลอดภัย


ปูนามีไคตินสูง
ปูนามีไคตินที่สามารถนำไปเป็นสารตั้งต้นในการผลิตไคโตซานได้เช่นเดียวกับ เปลือกกุ้ง เปลือกปูม้าและเปลือกปูทะเล ปูนาตัวหนึ่งมีปริมาณไคตินสูงถึงร้อยละ 19.27 (น้ำหนักแห้ง) ในขณะที่ปูทะเลมีปริมาณของไคตินเพียงร้อยละ 14.14 เท่านั้น


ทำปุ๋ยอินทรีย์ก็ดี
เนื่องจากปูนามีสารไคตีนสูง การนำปูนามาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ก็จะได้ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีไคติน-ไคโตซาน และจุลินทรีย์ ที่ช่วยกระตุ้นการแตกรากฝอย เพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซับธาตุอาหาร ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรคและแมลง ช่วยเพิ่มการแตกยอดและใบอ่อนของพืชผัก ไม้ผล ไม้ดอกและไม้ประดับ ทุกชนิด ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของพืชและร่นอายุการเก็บเกี่ยว ช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดิน และเพิ่มปริมาณสารไนโตรเจน และสารอาหารอื่น ๆ ในดินที่พืชต้องการ

ปราชญ์ชาวบ้านสนใจ
ด้วยปูนามีประโยชน์มากมายมหาศาลอย่างที่กล่าวข้างต้น ปราชญ์ชาวบ้านและเครือข่ายในภาคอีสาน โครงการวิจัยชุมชน ของชุมชน เพื่อชุมชน   และโดยชุมชนในภาคอีสานของนายแพทย์อภิสิทธิ์       ธำรงวรางกูร   ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนสนับสนุนการวิจัย จึงได้ให้ความสำคัญของปูนาในความคิดที่ว่า ปูนาน่าจะมีประโยชน์มากกว่าโทษ ถ้ารู้จักปูตัวนี้ดีพอ ปูนาก็น่าจะเป็นสัตว์เศรษฐกิจอีกตัวหนึ่ง ของภาคอีสาน คิดว่าอีกไม่นานเกินรอ ด้วยภูมิปัญญาของปราชญ์ชาวบ้านเหล่าก็คงจะทราบคำตอบ ว่าควรจะเลี้ยงปูนาอย่างไร จึงจะได้ผลตอบแทนคุ้มกับการลงทุน

ที่มา :  http://nanasarakaset.blogspot.com



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

ต่อหัวเสือ...ไม่ร้ายอย่างเสือ