ทำไม...ผมหงอก ?? (ผมเป็นสีเทา-ขาว)
ผมหงอกเกิดขึ้นได้อย่างไร??
เป็นที่รู้กันดีว่าสีเทาของเส้นผมนั้นเป็นผลมาจากการลดลงของเม็ดสี ในขณะที่ผมขาวไม่มีเม็ดสีเลย
สมมติฐานหนึ่งของการเกิดผมสีขาว-เทา ก็คือมาจากกรรมพันธ์ุ หรือพ่อแม่เรานั่นเอง แต่นักวิทยาศาสตร์จะต้องสืบค้นให้ลึกลงไปอีกว่าทำไม และทำไม?? เพราะเมื่อแก่ตัวลงเส้นผมของทุกคนก็ต้องเปลี่ยนสีเหมือนๆกัน ซึ่งโอกาสที่ผมจะหงอกนั้นเพิ่มขึ้นถึง 10-20% เมื่อเข้าสู่วัย 30 ปีแล้ว !!
แรกเริ่มนั้นเส้นผมก็มีสีขาวนี่แหละ แต่เส้นผมของแต่ละคนได้สีธรรมชาติมาจากเม็ดสี (pigment) ที่เรียกว่า “เมลานิน (melanin)” เมลานินในคนนั้นถูกสร้างมาตั้งแต่ก่อนเกิดเสียอีก สีตามธรรมชาติของเส้นผมนั้นจึงขึ้นอยู่กับ การกระจายตัว ชนิด และปริมาณเม็ดสีเมลานินในชั้นกลางของตัวเส้นผมหรือเรียกชั้นนี้ว่า คอร์เทกซ์ (cortex)
เม็ดสีผมนั้นมี 2 ชนิด คือ เม็ดสีเข้ม เรียกว่า ยูเมลานิน (eumelanin) และเม็ดสีอ่อน เรียกว่า ฟีโอเมลานิน (pheomelanin) ซึ่งเม็ดสีทั้ง 2 ชนิดเมื่อผสมกันแล้วจะได้เฉดสีผมที่หลากหลาย
เม็ดสีเมลานินนั้นถูกสร้างมาจากเซลล์เม็ดสีที่มีชื่อเฉพาะว่า เมลาโนไซต์ (melanocyte) เซลล์เมลาโนไซต์นี้อยู่บริเวณชั้นผิวหนังด้านบนที่เส้นผมหรือขนนั้นงอกขึ้นมา โดยเส้นผมแต่ละเส้นจะงอกขึ้นมาจากปุ่มรากผม (hair follicle) อันเดียวเท่านั้น
ขนในแต่ละระยะมีอายุไม่เท่ากัน ตลอดจนขนในแต่ละส่วนของผิวก็มีอายุไม่เท่ากัน เช่น บนศีรษะก็จะมีอายุประมาณ 3-4 ปี ใต้วงแขน ก็ประมาณ 1-3 เดือน นอกจากนี้ยังขึ้นกับเชื้อชาติอีกด้วย โดยวงจรชีวิตของขน มี 3 ระยะ ดังต่อไปนี้
1. ระยะ Anagen เป็นระยะที่เส้นผมมีการเจริญมากที่สุด (active growth) ถึง 2-7 ปี ในระยะนี้ต่อมขนอยู่ลึกในชั้น dermis มีเส้นเลือดมาเลี้ยง มีลักษณะเป็นกระเปาะ เป็นระยะที่ประกอบด้วยเซลล์เม็ดสี และมีรากที่พร้อมจะสร้างขนใหม่ พอครบอายุของมันแล้ว เส้นขนจะไม่โตขึ้นอีก ซึ่งส่วนใหญ่เส้นผมบนหนังศีรษะประมาณ 80-85% จะอยู่ในระยะนี้
2. ระยะ Catagen บางที่เรียกว่าระยะที่มีการเปลี่ยนแปลง (transition phase) ระยะนี้ต่อมขนจะเลื่อนสูงขึ้น สีเริ่มจางลง แยกตัวจากเส้นเลือดที่มาเลี้ยง และหลุดไปในที่สุด ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 10-20 วัน
3. ระยะ Telogen เส้นผมเข้าสู่ระยะนี้เมื่อการเจริญของเส้นผมนั้นสมบูรณ์แล้ว คืองอกและหลุดร่วงไป ส่วนใหญ่เส้นผมบนหนังศีรษะจะอยู่ในระยะนี้ประมาณ 10-15% ซึ่งเป็น ระยะที่ไม่มีเส้นผม หลังจากนั้นร่างกายก็จะสร้างขนระยะ Anagen ให้เกิดขึ้นมาใหม่แทนที่ วนเช่นนี้ไปเรื่อยๆ
ปัจจัยอื่นๆที่สามารถเปลี่ยนสีของเส้นผม แบ่งเป็นปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ดังนี้
1. ปัจจัยภายใน (Intrinsic factor) เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรม ฮอร์โมน อายุ การกระจายตัวของสารต่างๆในร่างกาย เป็นต้น
2. ปัจจัยภายนอก (Intrinsic factor) เช่น สภาพภูมิอากาศ มลภาวะ สารพิษ การสัมผัสกับสารเคมี เป็นต้น
และยังพบว่าปุ่มรากผมนั้นสามารถสร้างไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide: H2O2) ที่ทำให้สีเส้นผมหายไปได้ โดยไปเป็นตัวทำให้เกิด oxidative stress ที่มีผลต่อสีของเส้นผมอีกด้วย
ความจริงของการงอกของเส้นผม !!!
หนังศีรษะของคนเรามีเส้นผมเฉลี่ย 100,000-150,000 เส้น
เส้นผมแข็งแรงมาก แต่ละเส้นสามารถทนต่อความเครียด (strain) ได้ถึง 100 กรัม รวมแล้วเส้นผมบนศีรษะของคน 1 คน สามารถทนได้ถึง 10-15 ตัน (ถ้าหนังศีรษะก็แข็งแรงพออ่ะนะ :P)
เส้นผมแต่ละเส้นนั้นงอกได้เอง โดยมีวงจรชีวิตแตกต่างกันไป เพราะถ้าเส้นผมเรามีวงจรเหมือนกันหมด เราก็คงมีช่วงที่ต้องหัวล้านกันอย่างไม่ต้องสงสัย!!!
เส้นผมมีอัตราการแบ่งตัวแบบไมโตซิส (mitosis) มากที่สุด เฉลี่ยแล้ว 0.3 มิลิเมตร ต่อวัน และ 1 เซนติเมตร ภายใน 1 เดือน !!!
ผมหงอกที่มักพบในคนสูงอายุเมื่อเกิดแล้วจะอยู่ถาวร ส่วนผมหงอกที่กลับดำได้นั้นเป็นผมหงอกที่เกิดจากโรคภายในร่างกาย ถ้ารักษาโรคหายผมจึงกลับดำได้ โรคที่ทำให้เกิดผมหงอกได้ เช่น เบาหวาน โรคโลหิตจาง โรคต่อมไทรอยด์ การบาดเจ็บและโรคของระบบประสาท ด่างขาว ผมร่วงเป็นหย่อม การล้มป่วยบางอย่างเช่น มาลาเรีย และเป็นไข้หวัดใหญ่ อายุที่เริ่มผมหงอกขึ้นกับกรรมพันธุ์ ในฝรั่งผิวขาวผมเริ่มหงอกครั้งแรกตั้งแต่อายุ 24 - 44 ปี ในคนผิวดำเริ่มหงอกเมื่ออายุ 34 - 54 ปี ส่วนชาวเอเชีย เช่น ญี่ปุ่นผมจะเริ่มหงอกตั้งแต่อายุ 30 - 40 ปี ผมที่เริ่มหงอกตามวัยนี้ไม่สามารถกลับมาดำได้อีกเลย ส่วน “ผมที่หงอกก่อนวัย” นั้น ในฝรั่งถือว่าถ้าผมเริ่มหงอกก่อนอายุ 20 ปี ในคนผิวดำ (คนนิโกร) ส่วนคนไทยถ้าผมเริ่มหงอกก่อนอายุ 30 ปี ก็จัดว่าเป็น “ผมหงอกก่อนวัย” ซึ่งเป็นเรื่องตามธรรมชาติ คือเป็นกรรมพันธุ์เป็นส่วนใหญ่
การขาดสารอาหารบางตัว เช่น วิตามิน บี12 อาจทำให้มีผมหงอกได้ ในบางกรณีความเครียดอาจทำให้ผมหงอกได้ บางคนเชื่อว่าความเครียดทำให้ร่างกายขาดวิตามินบี ถ้ากินวิตามินบีขนาดสูงอาจทำให้ผมหงอกกลับดำได้ การกินยาบางตัว เช่น คลอโรควิน อาจทำให้คนที่มีผมสีอ่อนหรือผมน้ำตาลแดงกลายเป็นสีขาวได้ มีการทดลองในหนูพบว่าถ้าขาดสาร pantothenic ทำให้ขนกลายเป็นสีขาวได้ วิธีแก้ปัญหาผมหงอกนั้นมีหลายอย่าง อย่างแรกคือไม่ต้องทำอะไรปล่อยให้หงอกขาวอยู่นั่นแหละ หรือถ้าผมหงอกเฉพาะส่วนปลายผม คือหงอกปลายผมไม่เกิน 1 ใน 10 ก็อาจใช้การตัดซอยเอาเฉพาะส่วนปลายที่หงอกทิ้งไป วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ผมเริ่มหงอกในช่วง 1 - 2 ปีแรก เพราะผมจะเริ่มหงอกเฉพาะส่วนปลายเท่านั้น อีกวิธีหนึ่งก็คือย้อมผม ไม่มีวิธีรักษาผมหงอกที่เกิดตามวัยให้หายขาดได้
ขอบคุณ : http://www.scimath.org/chemistryarticle/item/4431
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น