ข้อควรรู้เพิ่มเติม...ก่อนไปเที่ยวลาว

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือเรียกสั้นๆ แบบคุ้นปากว่า ลาว  ประเทศเพื่อนบ้าน อันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งได้รับความนิยมไม่น้อยในหมู่คนไทยอย่างพวกเรา แม้ภาษาและวัฒนธรรมบ้านเราบ้านเขาจะใกล้เคียงกัน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราสามารถเดินเข้าออกประเทศเขาได้อย่างย่ามใจ บางอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์อาจได้เข้าไปนอนเล่นในคุกลาวแบบฟรี ๆ  ศึกษาไว้บ้างก็ดี ข้อควรรู้เพิ่มเติม...ก่อนไปเที่ยวลาว

ข้อควรรู้ก่อนไป เที่ยวลาว


*ประเทศไทยเราสามารถเดินทางเข้า สปป.ลาว ได้ที่ด่านพรมแดน  6  จังหวัด  ดังนี้
1. จังหวัดเชียงราย       (เชียงของ – ห้วยทราย)
2. จังหวัดหนองคาย     (สะพานมิตรภาพไทย-ลาว – นครหลวงเวียงจันทน์)
3. จังหวัดนครพนม – ท่าแขก
4. จังหวัดมุกดาหาร – สะหวันนะเขต
5. จังหวัดอุบลราชธานี (ด่านช่องเม็ก – วังเต่า)

6. จังหวัดอุตรดิตถ์       (ด่านภูดู่ - หลวงพระบาง)

* ฮีต 12 ครอง 14 ของคนลาว
ประเทศลาวเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยวัฒนธรรมที่หลากหลายของชนเผ่าต่างๆ  ซึ่งในแต่ละชนเผ่าก็มีความเชื่อ และประเพณีที่แตกต่างกัน สำหรับ “ฮีต 12 ครอง 14” นี้ถือเป็นความเชื่อและขนบธรรมเนียมประเพณีของชนเผ่าลาวลุ่ม ที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่บรรพบุรุษ

“ฮีตสิบสอง” คำว่า “ฮีต” มาจากคำว่า “จารีตประเพณี” หรือสิ่งที่ยึดถือประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน ส่วนคำว่า “สิบสอง” หมายถึง เดือนทั้ง 12 เดือนในรอบหนึ่งปี ดังนั้นความหมายโดยรวมๆ จึงหมายถึง งานบุญประเพณีในแต่ละเดือนของชาวลาวลุ่ม ซึ่งยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่ครั้งโบราณ จุดมุ่งหมายเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับ ตอบแทนบุญคุณของธรรมชาติ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ช่วยดลบันดาลให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ในแต่ละเดือนจะจัดให้มีงานบุญที่แตกต่างกันดังนี้ 


บุญเข้ากรรม, ประเทศลาว   

เดือนเจียง  บุญเข้ากรรม  ช่วงที่จัด   เดือนธันวาคม

ลักษณะงาน   จุดประสงค์ของงานนี้เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ ผู้ต้องอาบัติขั้นสังฆาทิเสส (มีความรุนแรงรองลงมาจากอาบัติขั้นปาราชิก) เข้าพิธีกรรมปลงอาบัติด้วยการอยู่ในเขตที่จำกัด เพื่อชำระจิตใจให้สะอาด
บุญข้าวหลาม, ประเทศลาว

เดือนยี่  บุญคูนลาน (บางท้องถิ่นเรียก “บุญกองข้าว”)  ช่วงที่จัด  หลังฤดูเก็บเกี่ยว

ลักษณะงาน   ก่อนที่จะนำข้าวที่นวดแล้วไปเก็บในยุ้งฉาง จะมีการทำบุญขวัญข้าว มีการนิมนต์พระภิกษุมาสวดเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล และเป็นนิมิตหมายที่ดีให้ปีต่อๆ ไปทำนาเกิดผลดียิ่งๆ ขึ้น

บุญข้าวจี่, ประเทศลาว

เดือนสาม   บุญข้าวจี่   ช่วงที่จัด  หลังงานมาฆบูชา

ลักษณะงาน    ชาวนาจะนำข้าวจี่ (ข้าวเหนียว) นึ่งสุก ปั้นเป็นก้อนเท่าไข่เป็ดทาเกลือ นำไปเสียบไม้ย่าง จากนั้นตีไข่ทาให้ทั่วแล้วย่างจนไข่สุก และถอดไม้ออกนำน้ำตาลอ้อยยัดใส่ตรงกลางเป็นไส้ นำไปถวายพระสงฆ์ในช่วงที่หมดฤดูทำนาแล้ว เพื่อเป็นการทำบุญ

บุญพระเวส, ประเทศลาว

เดือนสี่    บุญพระเวส   ช่วงที่จัด   เดือนมีนาคม ข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ได้

ลักษณะงาน   งานบุญพระเวส หรืองานบุญมหาชาติ เช่นเดียวกับงานฟังเทศน์เวสสันดรชาดก ซึ่งถือว่าเป็นชาดกที่ยิ่งใหญ่ ชาวบ้านจะช่วยกันตกแต่งประดับประดาโรงธรรมด้วยดอกไม้ ของหอม ใช้ดอกบัวประดับธรรมมาสน์ มีการจัดรูปขบวนแห่พระเวส และนางมัทรีออกจากป่าเข้าในเมืองไปสิ้นสุดที่พระอุโบสถ และมีการเทศน์มหาพระเวสตลอดวัน

บุญปีใหม่ลาว

เดือนห้า   บุญสงกรานต์   ช่วงที่จัด  ตรุษสงกรานต์

ลักษณะงาน   นับเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของคนลาว โดยมีการจัดงานติดต่อกันหลายวัน บางแขวงเช่น หลวงพระบางจะมีการจัดงานบุญสงกรานต์ติดต่อกันเป็นสัปดาห์ มีประกวด และขบวนแห่นางสังขาร (นางสงกรานต์) จึงได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมากที่สุด นอกจากนั้นยังถือเป็นวันปีใหม่ลาวเช่นเดียวกับของไทยอีกด้วย

บุญบั้งไฟ, ประเทศลาว

เดือนหก   บุญบั้งไฟ  ช่วงที่จัด  เดือนหกก่อนฤดูการทำนาจะมาถึง ย่างเข้าฤดูฝน

ลักษณะงาน    คล้ายกับงานบุญบั้งไฟในภาคอีสานของไทย จุดประสงค์เพื่อบูชาหลักเมือง และขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ปีใดที่ไม่มีการทำบุญบั้งไฟเชื่อว่าปีนั้นจะเกิดเภทภัยต่างๆ และถือเป็นสัญญาณว่าฤดูทำนากำลังจะเริ่มต้นแล้ว นับเป็นงานที่สืบทอดมาแต่ครั้งโบราณกาล

บุญซำฮะ, ประเทศลาว

เดือนเจ็ด  บุญซำฮะ   ช่วงที่จัด   เดือนมิถุนายน

ลักษณะงาน   งานเล็กๆ แต่มีความสำคัญ จุดประสงค์เพื่อเป็นการล้างเสนียดจัญไรที่เกิดกับบ้านเมือง เพื่อให้บ้านเมืองมีแต่ความสงบสุข

บุญเข้าพรรษา, ประเทศลาว

เดือนแปด   บุญเข้าพรรษา   ช่วงที่จัด   วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8

ลักษณะงาน    เป็นการเริ่มต้นฤดูเข้าพรรษาเหมือนชาวไทย พระสงฆ์จะออกบิณบาตรเป็นเวลา 3 เดือน ตามพุทธบัญญัติ นับแต่วันเข้าพรรษาเป็นต้นไป ในวันแรกนี้จะมีการทำบุญตักบาตรตามวัดต่างๆ


บุญห่อข้าวประดับดิน, ประเทศลาว

เดือนเก้า   บุญห่อข้าวประดับดิน   ช่วงที่จัด   เดือนสิงหาคม

ลักษณะงาน     บุญห่อข้าวประดับดินเป็นการทำพิธีกรรมอุทิศส่วนกุศลให้กับวิญญาณบรรพบุรุษ และวิญญาณไร้ญาติให้ออกมารับส่วนบุญ ชาวบ้านจะนำอาหารคาว หวาน บุหรี่ หมาก พลู ใส่ลงในกรวยใบตอง นำไปวางตามพื้นดิน หรือใต้ต้นไม้บริเวณรั้วบ้าน รั้ววัด ในช่วงเวลาดังกล่าวที่แขวงหลวงพระบางมีการซ่วงเฮือ (แข่งเรือพาย), ออกร้านตลาดนัดขายสินค้าของชาวบ้าน จึงเป็นอีกงานที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งภายใน และต่างประเทศเป้นจำนวนมาก

บุญห่อข้าวสลาก, ประเทศลาว

เดือนสิบ   บุญข้าวสลาก  ช่วงที่จัด   วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10

ลักษณะงาน     จุดประสงค์ของการจัดงานเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้คนตาย หรือเปรต ห่างจากงานวันห่อข้าวประดับดิน 15 วัน อันเป็นเวลาที่เปรตต้องกลับไปยังที่อยู่ของตน

บุญออกพรรษา, ประเทศลาว

เดือนสิบเอ็ด   บุญออกพรรษา    ช่วงที่จัด   วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11

ลักษณะงาน    เป็นการตักบาตรเทโว มีการจัดอาหารไปถวายพระภิกษุสงฆ์ สามเณร มีการกวนข้าวทิพย์ (กระสาสารท) ถวาย มีการถวายผ้าจำพรรษา และปราสาทผึ้ง โดยนำไม้ไผ่มาสานเป็นรูปปราสาท ตกแต่งสวยงามจัดขบวนแห่ปราสาทผึ้งไปถวายพระในตอนค่ำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ ที่หลวงพระบาง จะมีไหลเรือไฟ และลอยกระทง ส่วนที่นครหลวงเวียงจันทน์ จะมีการส่วงเฮือ (แข่งเรือพาย)

บุญกฐิน, ประเทศลาว

เดือนสิบสอง   บุญกฐิน   ช่วงที่จัด   วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 – วันเพ็ญเดือน 12

ลักษณะงาน   เป็นการถวายผ้าแด่พระสงฆ์ที่จำพรรษาตลอดช่วงเข้าพรรษา นับเป็นงานบุญที่กระทำมาแต่โบราณ


“ครอง 14” คำว่า “ครอง” หมายถึง ข้อกำหนดหรือ ข้อควรปฏิบัติ 14 ข้อของพุทธศาสนิกชนคนลาวในการครองตนเป็นคนดี ซึ่งในปัจจุบันก็ยังยึดถือสืบต่อกันมา “ครอง 14” ประกอบด้วย

1.     อย่าเดินเหยียบเงาพระสงฆ์

2.     อย่านำอาหารเหลือไปถวายแก่พระ

3.     อย่ามีเพศสัมพันธ์ในวันพระ, วันเข้าพรรษา, วันมาฆบูชา, วันวิสาขบูชาและ วันบุญสงกรานต์      โดยเด็ดขาด

4.     เมื่อพระสงฆ์เดินผ่านหน้าต้องนั่งลงพร้อมพนมมือไหว้

5.     เมื่อไปวัดให้เตรียมดอกไม้ ธูป เทียน พร้อมเครื่องอัตถบริขารไปถวายพระสงฆ์

6.     ก่อนเข้านอนต้องอาบน้ำและ ล้างเท้าก่อน

7.     ในวันพระ (ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม) ให้ทำบุญตักบาตร หรือนิมนต์พระมาสวดที่บ้านเพื่อความ เป็นสิริมงคล

8.     ในวันพระ (ข้างขึ้น) ให้จัดพานดอกไม้ ธูป เทียน ขอขมาแก่สามีตน

9.     เมื่อพระสงฆ์หรือสามเณรมาบิณบาตร ต้องมารอก่อนหน้าที่ท่านจะมาถึง การตักบาตรระวังอย่าให้มือโดนบาตร ห้ามถืออาวุธ ใส่รองเท้า หรือใส่หมวก เอาผ้าคลุมหัว ในเวลาตักบาตร 

10.  ในวันพระ (ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม) ให้ขอขมาแก่เตาไฟ ขั้นบันได และประตูเรือนที่อยู่อาศัย
11.  ก่อนเข้าบ้านหรือขึ้นเรือนต้องล้างเท้าเสียก่อน

12.  วัดใดไม่มีรั้วรอบขอบชิด ก็ให้ช่วยกันกั้นรั้วให้แก่วัดนั้นๆ รวมทั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของตัวเอง

13.  เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว ผลผลิตที่ได้ในครั้งแรกของปี ให้นำไปถวายพระก่อน

14.  อย่าลัก วิ่ง ชิง ปล้น หรือพูดจาหยาบคาย ต้องประพฤติตนเป็นคนดีของสังคม



* สกุลเงิน

เที่ยวลาว เงินกีบ

สกุลเงินลาว เรียกว่า “กีบ” ธนบัตรที่พิมพ์ออกใช้ในปัจจุบันนี้มีฉบับละ 500 กีบ, 1,000 กีบ, 2,000 กีบ, 5,000 กีบ, 10,000 กีบ, 20,000 กีบ, และ 50,000 กีบ ปกติแล้วรัฐบาลห้ามใช้เงินสกุลอื่นในการซื้อขายสินค้าและบริการ แต่โดยทั่วไป บริษัทห้างร้านต่างๆ ทั้งหลาย ยินดีรับเงินเหรียญสหรัฐ และเงินบาทของไทยเรา แต่รับเป็นแบงค์เท่านั้นนะ เหรียญเก็บไว้ยอดกระปุกได้เลย เพราะประเทศลาวยกเลิกการใช้เหรียญไปแล้ว  นักท่องเที่ยวสามารถแลกเงินกีบได้ที่ธนาคาร หรือตามร้านค้าทั่วไป ในกรณีที่ท่านต้องการใช้บัตรเครดิต สามารถใช้ได้ตามโรงแรมใหญ่ๆ ทั้งในเวียงจันทน์และหลวงพระบาง

* แหล่งชอปปิ้ง

Laos-tips
ตลาดเช้า เปิดขายตั้งแต่ 07.00 น. – 16.00 น. ที่ชื่อตลาดเช้าเพราะเมื่อก่อนเปิดขายเฉพาะช่วงเช้าเท่านั้น มีสินค้าให้เลือกซื้อมากมายหลากหลายชนิด ทั้งสินค้าพื้นเมือง และจากต่างประเทศ อาทิ ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าซิ่น เครื่องเงิน ไม้แกะสลัก เครื่องจักสาน งานฝีมือต่างๆ
ตลาดจีน หรือ ตลาดแลง ตลาดหนองด้วงก็นิยมเรียกกัน เป็นจำหน่ายสินค้าจากประเทศจีน อาทิ กระเป๋าแบนด์เนม ของดียี่ห้อดัง เครื่องใช้ไฟฟ้า ของที่ระลึก เสื้อผ้าสำเร็จรูป รวมไปทั้งอาหารและเครื่องเทศที่นำเข้าจาก ประเทศจีนโดยตรง
ตลาดขัวดิน เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าของสดที่ใหญ่ที่สุดในนครหลวงเวียงจันทน์ เช่นเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ กุ้งหอย ปู ปลา และสินค้าอื่น ๆ ที่ชาวบ้านสามารถสรรหาได้ มาวางจำหน่าย

* ข้อควรทราบและปฏิบัติเกี่ยวกับ สปป.ลาว

Do Not Symbol Clip Art
1. ควรระมัดระวังหัวข้อสนทนา ควรหลีกเลี่ยงหัวข้อที่เกี่ยวกับการหมิ่นเหม่ต่อการกระทบกระเทือนความรู้สึกของผู้ฟัง เช่น การนำความแตกต่างทางภาษา วิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมมาเปรียบเทียบหรือล้อเลียนในเชิงตลกขบขัน (มีหลายกรณีที่คนได้ได้รับข้อมูลที่ผิดพลาดจากสื่อบันเทิงเกี่ยวกับคำศัพท์ภาษาลาวหรือชื่อภาพยนตร์) รวมทั้งงดเว้นการแสดงความคิดเห็นแบบชาตินิยมที่อาจนำไปสู่การโต้เถียงในประเด็นละเอียดอ่อน เช่น ประวัติศาสตร์ การเมือง การปกครอง
2. ควรเข้าใจว่า สปป.ลาว มีมาตรฐานการดำเนินชีวิต วัฒนธรรมประเพณีในแบบฉบับของชาวลาว การได้มาเยือนถือเป็นโอกาสอันดี จึงควรทราบและปฏิบัติตามกฏหมายและวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาวลาว เช่น ควรแต่งกายให้เหมาะกับกาลเทศะ โดยเฉพาะเมื่อไปสถานที่ทางศาสนาและสถานที่ราชการ ควรแสดงความเคารพและกล่าวถึงบุคคลสำคัญของลาวที่ชาวลาวเคารพยกย่องอย่างเหมาะสม
3. ห้ามพักค้างคืนที่บ้านคนลาวโดยไม่แจ้งต่อนายบ้าน (ผู้ใหญ่บ้าน) ก่อน และการมีเพศสัมพันธ์กับคนลาวที่ไม่ใช่คู่สมรสเป็นเรื่องผิดกฎหมาย หากละเมิดจะถูกกักตัวจนกว่าจะนำเงินมาจ่ายค่าปรับขั้นต่ำ ๕๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ และถูกส่งกลับประเทศ จึงต้องระวังและหลีกเลี่ยงหากมีการชักชวนให้ไปท่องเที่ยวและซื้อบริการที่ผิดกฏหมายและศีลธรรมอันดี
4. กิจกรรมที่ห้ามทำ ได้แก่ ห้ามถ่ายภาพสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เช่น ค่ายทหาร สถานีเรดาร์ หากฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดีโดยมีโทษทั้งจำและปรับ คนไทยมักถูกจับกรณีถ่ายรูปสถานที่ที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐบาลลาวมาแล้ว ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์



ขอบคุณ  :  1)  http://www.louangprabang.net

               2)  http://travel.mthai.com

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์