อย่าให้รถจักรไอน้ำ..เป็นเพียงแค่ตำนาน


อย่าให้รถจักรไอน้ำ..เป็นเพียงแค่ตำนาน

ประเทศไทยมีและเริ่มใช้รถจักรไอน้ำเพื่อการเดินทางติดต่อกันในที่ต่าง ๆ  นับแต่ปี พ.ศ. 2436 – ปัจจุบัน ก็เป็นระยะเวลาร่วม 120 กว่าปีมาแล้ว  จากการติดตามข่าวคราวของหัวรถจักรไอน้ำที่ยังสามารถใช้การได้ดี  ซึ่งถือเป็นรถจักรไอน้ำประวัติศาสตร์ของไทยนั้น  ปัจจุบันอยู่ที่โรงรถจักรธนบุรี เขตบางกอกน้อย  โดยมีรถจักรไอน้ำที่ยังใช้งานได้ประจำการอยู่เพียง 5 คันเท่านั้น  ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจที่ช่างฝีมือของชาวไทย ยังสามารถซ่อมแซม และบำรุงรักษาไว้ได้   ในบางคันช่างฝีมือได้ทำการดัดแปลงแก้ไข ให้เปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงเป็นน้ำมันเตา  ทดแทนการใช้ท่อนฟืนไม้   เพื่อใช้ลากจูงขบวนรถพิเศษโดยสารในวันสำคัญ ต่างๆ  หรืออาจยกระดับให้เป็นการท่องเที่ยวได้ด้วย  ต้องช่วยกันขอบคุณ “การรถไฟแห่งประเทศไทย”  ที่มองเห็นความสำคัญในเชิงอนุรักษ์   ด้วยการซ่อมแซมและบำรุงรักษาหัวรถจักรไอน้ำข้างต้นเป็นอย่างดี  เพื่อให้สามารถประจำการรถจักรไอน้ำประวัติศาสตร์นี้ให้อยู่นานที่สุดเท่าที่จะทำได้  เป็นมรดกสืบทอดแก่คนรุ่นหลังได้เห็น ได้เรียนรู้ ชื่นชมและภาคภูมิใจกันต่อ ๆไป…ถึงแม้จะเหลืออยู่เป็นจำนวนน้อยก็ตาม

จุดเริ่มของรถจักรไอน้ำ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปิดการเดินรถไฟสายแรกของเมืองไทยจาก กรุงเทพ ถึง สมุทรปราการ หรือ "รถไฟสายปากน้ำ" ที่ปากน้ำสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2436   ทางรถไฟสายนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้บริษัทเอกชนเดนมาร์คเริ่มก่อสร้าง ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2434  เส้นทางรถไฟสายปากน้ำ-หัวลำโพง ตลอดระยะทางมี 10 สถานี จากสถานีหัวลำโพง รถจะหยุดรับส่งผู้โดยสารที่ศาลาแดง บ้านกล้วย พระโขนง  บางนา  สำโรง  ศีรษะจระเข้  บางนางเกรง  มหาวงษ์  แล้วก็ไปสิ้นสุดปลายทางเป็นโรงสังกะสีขนาดใหญ่ที่ปากน้ำ  คิดค่าบริการสถานีละ 1 เฟื้อง หรือเท่ากับ 12.5 สตางค์ และมีหัวรถจักรใช้งานทั้งสิ้น 4 หัว ได้แก่ หัวแรก ชื่อ กรุงเทพฯ  หัวที่สองชื่อ ปากน้ำ หัวที่สามชื่อ บางจาก หัวที่สี่ชื่อ สำโรง   ทางรถไฟสายปากน้ำ-หัวลำโพง เปิดให้บริการเพียง 50 ปี จนถึงปี พ.ศ. 2479  ปัจจุบันเส้นทางรถไฟสายดังกล่าว ได้สูญสลายไปตามกาลเวลาและความเจริญก้าวหน้าของประเทศ คงเหลือไว้แต่เพียงบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์เท่านั้น 


ภาพหัวรถจักรสายปากน้ำ ชื่อ "ปากน้ำ"


หัวรถจักรสายปากน้ำ ชื่อ "สำโรง" หัวเดียวที่ยังเหลืออยู่ที่โรงงานน้ำตาลอุตรดิตถ์ ต.วังกะพี้ (ปิดกิจการแล้ว)


เกร็ดความรู้ : หัวรถจักร ชื่อ สำโรง หมายเลข 4

มาถึงตรงนี้เพื่อให้ผู้อ่านรู้จักหัวรถจักร ชื่อ สำโรง หมายเลข 4  มากยิ่งขึ้น  จึงขอเสริมเกร็ดความรู้เจ้าสำโรงจอมทรหด...จากข้อมูลของ http://www.prakannews.com/2013  ดังนี้

.....ปี พ.ศ. 2483 มีผู้วางโครงการก่อตั้งโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ คณะสำรวจพื้นที่เป็นทีมงานทั้งหมด 5 คน เดินทางโดยรถไฟไปทางภาคเหนือ แล้วมีบทสรุปที่จะทำการก่อสร้างโรงงานในเขตตำบลวังกะพี้ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ แต่ด้วยเหตุที่การเดินทางเข้าพื้นที่ไม่สะดวก จึงต้องทำการก่อสร้างทางรถไฟที่จะใช้เฉพาะของโรงงาน ทำเป็นรางขนาดกว้าง 100 เซนติเมตร เพื่อให้เท่ากับรางของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นการรองรับการขนส่งวัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรที่ขนส่งมาทางรถไฟจากกรุงเทพฯ และเตรียมไว้ขนส่งอ้อยหลังโรงงานน้ำตาลเปิดทำการ เมื่อทราบข่าวประกาศขายหัวจักรไอน้ำของบริษัทรถไฟปากน้ำ ทางโรงงานน้ำตาลจึงตัดสินใจซื้อหัวจักรมาหนึ่งเครื่อง คุณตาจำรัส สืบเผ่าดี (ปัจจุบันอายุ 96 ปี) หนึ่งในทีมสำรวจครั้งนั้น ได้เล่าถึงการเคลื่อนย้ายหัวจักรรถไฟหัวแรกที่ทางโรงงานซื้อมาจากกิจการบริษัทรถไฟปากน้ำ พนักงานในโรงงานต่างเรียกกันติดปากว่า “สำโรง” โดยคุณตาจำรัสอธิบายที่มาของชื่อเรียกเอาไว้ว่า “ ที่เรียกกันว่าสำโรงนั้น ก็เพราะว่าที่ด้านข้างห้องคนขับ มีป้ายชื่อภาษาไทย ติดเด่นเป็นสง่าอยู่ทั้งสองด้านว่า สำโรง มีประวัติความเป็นมาที่สำคัญ คือ เป็นหนึ่งในหัวรถจักรไอน้ำสายกรุงเทพฯ – สมุทรปราการ ทางรถไฟสายแรกของประเทศสยามนั่นเอง ”


จากข้อมูลของคุณ R. Ramaer วิศวกรซ่อมบำรุงหัวจักรไอน้ำที่เคยเข้ามาทำงานในเมืองไทยช่วงปี 2500 ได้เขียนหนังสือชื่อ  “The Railways of Thailand”  โดยให้ข้อมูลไว้ว่า บริษัทรถไฟปากน้ำ มีหัวจักรไอน้ำที่ค่อยๆ นำเข้ามาเสริมไว้ใช้งานรวม 4 หัวจักร ทั้งหมดสร้างโดยบริษัท เคล๊าส์ (ตามสำเนียงเยอรมัน) แอน คอมปะนี จากเมืองมิวนิค ประเทศเยอรมัน แต่ละหัวจักรมีการตั้งชื่อพร้อมกำหนดหมายเลข ทำเป็นป้ายติดไว้บริเวณด้านข้างคนขับ หัวจักรที่หนึ่งมีชื่อว่า “กรุงเทพ” เป็นหัวจักรที่ลากขบวนรถไฟพระที่นั่งในวันเปิดกิจการ หัวจักรที่สองมีชื่อว่า “ปากน้ำ” เป็นหัวจักรเดียวที่ปรากฏหลักฐานเป็นรูปภาพอยู่ในหนังสือ ทั้งสองหัวจักรเป็นรุ่น  0-4-OTs  (ผลิตในปี 2435) หัวจักรที่สามเป็นรุ่น 2-4-0T  (ผลิตในปี พ.ศ.2439) มีชื่อว่า“บางจาก”  และหัวจักรที่สี่  เป็นรุ่น 2-4-0T (ผลิตในปี 2451) มีชื่อว่า “สำโรง”  หัวจักรทั้งหมดเป็นชนิดที่ต้องมีพนักงานคอยโยนฟืนเข้าไปในเตา เป็นเชื้อเพลิงในการต้มน้ำให้เกิดเป็นไอ ด้านบนที่เป็นถังบรรจุน้ำ มีท่อเปิดปิดเพื่อใช้เป็นที่เติมน้ำจากงวงที่ตั้งอยู่ข้างสถานีต้นทางและสถานีปลายทาง แต่จากข้อมูลเท่าที่มีการสืบค้น ณ ปัจจุบัน ปรากฏว่า หัวจักรที่ 1 ถึง 3 ไม่ปรากฏหลักฐานว่ายังมีซากเหลืออยู่


....แต่พอจะมีข้อมูลหัวจักรเครื่องที่  4 ที่ชื่อว่า “สำโรง” ที่ถูกใช้งานในช่วงเปลี่ยนถ่ายจากรถไฟพลังงานไอน้ำมาเป็นรถรางพลังงานไฟฟ้า (ช่วงปี 2474-2479)  มีข้อมูลว่าหลังการเปลี่ยนระบบเป็นรถรางไฟฟ้า หัวจักร “สำโรง” ได้ถูกนำไปใช้ในกิจการรถไฟสายมหาชัย แต่สุดท้ายก็ถูกขายให้กับเอกชน คือ บริษัท ฮิปเส็ง  (Heip  Seng)  ซึ่งเป็นเจ้าของโรงเลื่อยทางภาคเหนือเพื่อใช้ขนซุง  หัวจักร “สำโรง”  ถูกใช้งานอย่างหนัก จากที่เคยขนส่งผู้โดยสารวันละ 4 เที่ยว  ต้องมาขนส่งท่อนซุง และไม้ต่างๆ จนเกือบหมดป่า กิจการลากซุงและขนซุงถูกยกเลิกไป สำโรงจึงถูกโละขายต่อให้กับโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาล  ที่จังหวัดอุตรดิตถ์  หากจะรวมระยะเวลาที่ “สำโรง” ถูกลากออกจากโรงเก็บ ณ สถานีปลายทางที่ปากน้ำ เฉพาะช่วงที่มาอยู่ที่ตำบลวังกะพี้ อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ก็เป็นเวลาล่วงมาแล้ว 73 ปีพอดี ในบันทึกของคุณตาจำรัส สืบเผ่าดีได้เล่าเพิ่มเติมไว้ว่า การตั้งชื่อหัวจักรมีความหมายกับพนักงานมาก ทำให้เกิดความผูกพันเหมือนเป็นสิ่งมีชีวิตหรือเป็นเพื่อนร่วมงาน ทันทีที่หัวจักรรถไฟสายปากน้ำมาถึงโรงงานพร้อมป้ายชื่อสำโรงติดด้านข้าง  ชื่อ “สำโรง” ก็ถูกใช้เป็นตัวแทนหัวจักรไอน้ำประจำโรงงานตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา สำโรงถูกใช้งานอย่างสมบุกสมบันอีกครั้ง คราวนี้ถูกทางโรงงานน้ำตาลใช้นำไปขนอ้อย เป็นการทำงานต่อเนื่องอยู่เกือบ 50 ปี จึงได้รับการปลดระวาง ปัจจุบัน “สำโรง” ได้รับการดูแลจากเจ้าของโรงงานให้ตั้งไว้บริเวณหน้าทางเข้าบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลอุตรดิตถ์ (...โรงงานได้หยุดกิจการไปแล้ว)

...ล่าสุด 14/10/57 เราได้ขอเข้าไปบันทึกภาพรถจักร "สำโรง" จากที่ตั้งบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลอุตรดิตถ์จำกัด พบว่า ยังอยู่ในสภาพที่ดีพอสมควร แต่ไม่พบป้ายชื่อ "สำโรง" และหมายเลข 4 ด้านข้างแต่อย่างใด คาดว่ามีการปลดออกไปนานแล้ว และได้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า รถจักรสำโรงมีหน้าที่ในการชักลากตู้ที่บรรทุกน้ำตาลทรายจากโรงงาน ไปส่งต่อให้กับรถสินค้าในสมัยนั้นที่สถานีรถไฟวังกะพี้  ส่วนการลากจูงรถอ้อยเข้าโรงงงานเป็นหน้าที่ของหัวรถจักรคันเล็ก ซึ่งรางรถไฟอ้อยจะกว้างไม่ถึง 1 เมตร 


  

                          ป้ายโรงงานน้ำตาลอุตรดิตถ์                      แผ่นข้อมูลของหังรถจักรที่เหลืออยู่เพียงแผ่นเดียว  

  

หัวรถจักรสำโรง  (ขวามือของทางเข้า) 

   

         ห้องเครื่อง                                     ด้านท้ายมีสลักไว้ต่อขบวน  

  

ด้านข้าง                                                                      ด้านหน้า 

  

หัวรถไฟเล็กลากอ้อยตัวจริง..จอดอยู่ถัดเข้าไปด้านใน


หัวรถจักรสายมหาชัย รุ่นเดียวกับสายปากน้ำ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ ณ อุทยานการเรียนรู้และหอชมเมืองสมุทรปราการ จาก http://pantip.com


พัฒนาการที่ยิ่งใหญ่ของการรถไฟ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปิดการเดินรถไฟสายแรกจากกรุงเทพฯ ไปอยุธยา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปิดการเดินรถไฟสายแรกจากกรุงเทพฯ ไปอยุธยา


 โฟร์  วีลเลอร์ (ดับส์ - Dubs)  2-4-0   นำเข้าจากอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2438 - 2439  เป็นรถจักรไอน้ำที่ใช้ทำขบวนรถไฟพระที่นั่งเป็นปฐมฤกษ์   เมื่อ วันที่  26  มีนาคม  2439


ในปี พ.ศ. 2430  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เซอร์แอนดรู คลาก และบริษัทปันชาร์ด แมกทักการ์ด โลเธอร์ ดำเนินการสำรวจเพื่อ สร้างทางรถไฟจาก กรุงเทพฯ ไปยังหัวเมืองต่าง ๆ  ทรมอบหมายให้กระทรวงโยธาธิการว่าจ้าง มิสเตอร์ จี. มูเร แคมป์เบลล์  สร้างทางรถไฟหลวงจากกรุงเทพฯถึงนครราชสีมา เป็นสายแรก เป็นทางขนาดกว้าง 1.435 เมตร   ในปี พ.ศ.2439  การก่อสร้างทางรถไฟสาย กรุงเทพฯ - นครราชสีมา สำเร็จบางส่วนพอที่จะเปิดการเดินรถได้  ดังนั้น ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2439พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  จึงเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟ ระหว่าง สถานีกรุงเทพ – อยุธยา  ระยะทาง 71 กิโลเมตร และเปิดให้ประชาชนเดินทางไปมาระหว่าง กรุงเทพ - อยุธยา ได้ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2439   ในระยะแรกเดินขบวนรถขึ้นล่องวันละ 4 ขบวน มีสถานีรวม 9 สถานี คือ สถานีกรุงเทพ บางซื่อ หลักสี่ หลักหก คลองรังสิต เชียงราก เชียงรากน้อย บางปะอิน และกรุงเก่า ซึ่งการรถไฟฯ ได้ถือเอา " วันที่ 26 มีนาคม " เป็นวันสถาปนากิจการรถไฟ สืบมาจนถึงปัจจุบัน


รู้จัก 5 รถจักรไอน้ำประวัติศาสตร์ 




โรงจอดเก็บรักษา ตลอดจนสถานที่ซ่อมบำรุง ของรถจักรไอน้ำประวัติศาสตร์ของไทยนี้ จะอยู่ที่โรงรถจักรธนบุรี เขตบางกอกน้อย ใกล้กับโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งอยู่ฝั่งธนบุรีนี้เอง โดยมีรถจักรไอน้ำที่ยังใช้งานได้ ประจำการอยู่เพียง 5 คันเท่านั้น แต่ละคันมีอายุการใช้งาน มายาวนาน ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจ เป็นอย่างยิ่ง ที่ช่างฝีมือของชาวไทย ยังสามารถซ่อมแซม และบำรุงรักษาไว้ได้ ในบางคัน ช่างฝีมือได้ทำการดัดแปลงแก้ไข ให้เปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงเป็นน้ำมันเตา จากเดิมซึ่งใช้ท่อนฟืนไม้ เป็นเชื้อเพลิง เพื่อใช้ลากจูงขบวนรถพิเศษโดยสาร ในวันสำคัญ ต่างๆ ได้ โดยทางผู้บังคับบัญชาของโรงรถจักรธนบุรี ในตำแหน่งสารวัตรโรงรถจักรธนบุรี จะเป็นผู้ควบคุมดูแล การซ่อมแซมและบำรุงรักษา พร้อมทั้งได้มีคำสั่ง ให้ช่างฝีมือทุกคน เอาใจใส่ใจดูแลและรักษาเป็นอย่างดี เพื่อที่จะได้ประจำการ รถจักรไอน้ำประวัติศาสตร์นี้ ไว้ได้อีกนาน เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็น และเป็นมรดกสืบทอดกันอีกต่อไป 
ณ ปัจจุบันในบางประเทศ ที่เคยใช้งานรถจักรไอน้ำ ก็ไม่สามารถนำออกมาวิ่งใช้การได้อีก ชาวต่างชาติ เช่น ฝรั่งเศสและชาวญี่ปุ่นเอง ยังเคยนั่งเครื่องบิน ข้ามน้ำข้ามทะเล เพื่อมาเยี่ยมชม รถจักรไอน้ำ โดยเนื่องมาจาก ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 รถจักรไอน้ำ จำนวนสองคัน จากในห้าคันนี้ ยังใช้ทำในการทำสงครามโลก เช่น ขนเสบียง ขนอาวุธสงคราม และขนเชลย ฯลฯ สถานที่ใช้วิ่งธรรมดาสำหรับรางทั่วไปในประเทศ แต่ตอนนี้ที่ใช้วิ่งประจำอยู่ที่จังหวัด กาญจนบุรี และอยุธยา ส่วนจำนวนหัวรถจักรไอน้ำไทยโบราณทั้ง 5 คันนี้ มีประวัติความเป็นมา ดังต่อไปนี้


รถจักรไอน้ำ C56 หมายเลข 715

1. รถจักรไอน้ำ ซี56 (C56) การรถไฟฯ สั่งมาใช้การจำนวน 46 คัน ตั้งแต่ หมายเลข 701-746 ซึ่งปัจจุบันเหลือใช้เพียง 2 คัน คือ หมายเลข 713, 715 โดยใช้เชื้อเพลิงเป็นฟืน แบบล้อ 2-6-0 (ล้อนำ 2 ล้อกำลัง 6 ล้อตาม 0) ถุกสร้างขึ้นในประเทศญี่ปุ่น นำเข้ามาใช้การเมื่อ พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) เป็นเวลาล่วงเลยมาหลายสิบปีแล้ว แต่ก็ยังสร้างความทรงจำที่ดี ของการคมนาคมขนส่ง ของคนในชาติ ไว้อย่างไม่รู้ลืม อาทิ คนที่ใช้รถไฟ เดินทางเป็นพาหนะประจำ ปัจจุบัน รถจักรไอน้ำ C56 ทั้งสองคัน จะใช้วิ่งแสดง ในงานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแคว จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งจะจัดงานประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน ถึงต้นเดือนธันวาคม ของทุก ๆ ปี



 รถจักรไอน้ำแปซิฟิค หมายเลข 850

2. รถจักรไอน้ำแปซิฟิค (Pacific) การรถไฟฯ สั่งมาใช้การจำนวน 30 คัน รุ่น หมายเลข 821-850 ปัจจุบันมีเหลือใช้การ 2 คัน หมายเลข 824 และ 850 เดิมใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงภายหลัง การรถไฟฯ ดัดแปลงมาใช้ น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิง แบบล้อ 4-6-2(ล้อนำ 4 ล้อ กำลัง 6 ล้อตาม 2) สร้างโดย สมาคมอุตสาหกรรมรถไฟแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Association of Railway Industry) นำมาใช้การเมื่อปี พ.ศ. 2492-2494 (ค.ศ. 1949-1951)



รถจักรไอน้ำมิกาโด หมายเลข 953

3. รถจักรไอน้ำมิกาโด (Mikado) การรถไฟฯ สั่งมาใช้การจำนวน 70 คัน หมายเลข 901-970 ปัจจุบันมีเหลือใช้การ 1 คันหมายเลข 953 เดิมใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงภายหลัง การรถไฟฯ ดัดแปลงมาใช้ น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิง แบบล้อ 2-8-2 (ล้อนำ 2 ล้อ กำลัง 8 ล้อตาม 2) สร้างโดย สมาคมอุตสาหกรรมรถไฟแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Association of Railway Industry) นำมาใช้การเมื่อปี พ.ศ. 2492-2494 (ค.ศ. 1949-1951)




ขอบคุณ  :  1)  http://www.thonburidepot.com/loco/5_locos.html

                2) http://pantip.com


                4) http://www.iseehistory.com

                5) http://kanchanapisek.or.th

                6) http://www.prakannews.com

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

ต่อหัวเสือ...ไม่ร้ายอย่างเสือ