ชาว อ.ท่าปลาเรียกร้องให้รัฐบาล..เร่งรัดโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี



โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 

นํ้าเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อสรรพชีวิต สิ่งมีชีวิตทุกชนิดต้องการนํ้าที่มีความสำคัญต่อการใช้สอยในชีวิตประจำวันอย่างมาก ราษฎรในพื้นที่อำเภอท่าปลา เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับความเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ และ เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่ ต.จริม ต.หาดล้า ต.ท่าแฝก และ ต.ท่าปลา อพยพหนีน้ำเพื่อการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ ด้วยการเสียสละที่ดินของตนเองมาอยู่บนที่ดินรัฐจัดสรรให้ แต่ไม่สามารถประกอบอาชีพทางการเกษตรได้ ต้องอาศัยพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่อุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช ปลูกบ้านอยู่อาศัย และ ทำการเกษตร 




นายบัญชา นันชม ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 13 บ้านท่าใหม่ ต.จริม อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า ชาวท่าปลา ถือว่าเป็นผู้เสียสละอันยิ่งใหญ่เพื่อประโยชน์ของคนทั้งประเทศที่ได้มีกระแสไฟฟ้าใช้มีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างอุดมสมบูรณ์ แต่ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวท่าปลาที่ยกพื้นที่อยู่อาศัยเดิมให้กับการสร้างเขื่อนสิริกิติ์กลับเป็นไปอย่างแร้นแค้น ต้องเผชิญกับปัญหานานัปการ ทั้ง ภัยพิบัติภัยแล้งและเอกสารสิทธิ์ครอบครองที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่ชาวบ้านยังไม่ได้รับจำนวนมาก หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องก็ไม่ค่อยดูแลเอาใจใส่คุณภาพชีวิตของประชาชนเท่าที่ควร 



บริเวณจุดชมวิวของโครงการ


บริเวณจุดชมวิวของโครงการ

“ปัญหาที่ชาวบ้านเจอกันบ่อยแทบจะทุกปี คือ ปัญหาภัยพิบัติภัยแล้ง ด้านการเกษตรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือนแทบจะไม่มีใช้และราษฎรต่างรอคอยความหวังจากกรมชลประทาน เร่งดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีให้แล้วเสร็จ  ปี 2554 กรมชลประทานมีโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่บ้านกิ่วเคียน หมู่ 12 ต.จริม อ.ท่าปลา ขึ้น โครงการอนุมัติเรียบร้อยมีการใช้งบประมาณมากกว่า 4,000 ล้านบาท บริษัทรับเหมาเริ่มเข้ามาดำเนินการก่อสร้างสำนักงาน มีการขุดเจาะอุโมงค์น้ำผ่านแล้วเสร็จไปกว่าครึ่ง ส่วนการก่อสร้างสันอ่างสำหรับกักเก็บน้ำกลับไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงักไป เนื่องจากติดขัดปัญหาที่มีนายทุนบุกรุกที่ป่าสงวนแห่งชาติ และ นักการเมืองระดับชาติไม่พอใจเรื่องเงินค่าชดเชยพื้นที่ และได้มีการร้องเรียนศาลปกครอง มีการคัดค้านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนมีการตรวจสอบทำให้การก่อสร้างล่าช้า”


พื้นที่การเกษตรบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ


พื้นที่การเกษตรบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

นางนงนุช ทะกา ราษฎรบ้านท่าใหม่ หมู่ 13 ต.จริม อ.ท่าปลา กล่าวว่า ทุกวันนี้ชาวบ้านแทบทุกหลังคาเรือนต้องซื้อน้ำกิน น้ำใช้ เพื่ออุปโภค-บริโภค เพราะราษฎรมีฐานะยากจน ปีนี้ต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งยาวนานกว่าทุกครั้ง แถมยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลรับผิดชอบมาให้ความช่วยเหลือเรื่องภัยแล้งแต่อย่างใด ส่วนผลผลิตเม็ดมะม่วงหิมพานต์ปีนี้ก็ลดลง แถมราคารับซื้อตกต่ำลงอย่างมากทำให้ราษฎรเดือดร้อนหนัก จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาล ได้เข้ามาช่วยเร่งรัดดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพราะเป็นโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  หากโครงการก่อสร้างเสร็จก็จะเกิดประโยชน์แก่ราษฎรชาว อ.ท่าปลา และ อ.เมืองอุตรดิตถ์ ที่จะมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างสมบูรณ์ น้ำที่จะนำมาใช้เพื่อการเกษตรก็มีเพียงพอ จะทำให้ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นกลับมาให้ราษฎรชาวท่าปลามีแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และ สามารถใช้ชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นตลอดไป

12teera issarakun    
 นายธีระ อิสระกุล ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้าง 12

นายธีระ อิสระกุล ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้าง 12 สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ จ.อุตรดิตถ์ เป็นโครงการจัดหาแหล่งน้ำด้านการอุปโภคบริโภค และ เกษตรกร เพื่อพื้นที่อพยพจากการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำ และฝายขนาดเล็ก พร้อมระบบท่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ ครอบคลุมพื้นที่ 50,000 ไร่ เป็นการพัฒนาแหล่งน้ำซึ่งผลประโยชน์ของโครงการพื้นที่ชลประทานฤดูฝน 53,500 ไร่ ฤดูแล้ง 39,920 ไร่ รวมพื้นที่ได้รับประโยชน์ 91,080 ไร่ ครอบคลุม 60 หมู่บ้าน โดยใช้น้ำทำการเกษตร 61.60 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี รวมถึงประโยชน์ทั้งด้านการประมง การท่องเที่ยว และ การเลี้ยงสัตว์ ระยะเวลาก่อสร้างโครงการ 8 ปี (พ.ศ.2554-2561) วงเงินงบประมาณ 4,800 ล้านบาท หลังการก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยให้ราษฎรในเขต อ.ท่าปลา และ อ.เมืองอุตรดิตถ์ มีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอและทั่วถึง โดยครอบคลุมในเขตพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติภัยแล้ง รวม 9 ตำบล ประกอบด้วย ต.จริม ต.หาดล้า ต.ท่าปลา ต.ร่วมจิต ต.น้ำหมัน อ.ท่าปลา และ ต.วังดิน ต.หาดงิ้ว ต.บ้านด่าน ต.แสนตอ อ.เมืองอุตรดิตถ์ จำนวน 6,856 ครอบครัว 

นายธีระ กล่าวต่ออีกว่า โครงการงานก่อสร้างได้ดำเนินการไปแล้ว ร้อยละ 3.67% ตามแผนงาน 69.07 % ช้ากว่าแผน -65.47% สัญญาก่อสร้าง เริ่ม 1 พฤษภาคม 2555 เสียเวลาไป 2 ปี เนื่องจากปัญหาการจ่ายค่าทดแทนทรัพย์สินให้กับราษฎรที่ถูกเขตก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีฯ ใช้ที่ดินเพื่อการก่อสร้าง 3,325 ไร่ เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช ด้านการจ่ายค่าทดแทนทรัพย์สิน ได้ดำเนินตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2532 เนื่องจากเป็นที่ดินที่ราษฎรครอบครองโดยไม่มีเอกสารสิทธิ์ ซึ่งมีราษฎรแจ้งการครอบครอง 458 แปลง 2,727 ไร่ เขต จ.แพร่ 154 แปลง 737 ไร่ และ เขต จ.อุตรดิตถ์ 304 แปลง 1,990 ไร่ ได้รับสิทธิ์ 105 แปลง 667 ไร่ ไม่ได้รับสิทธิ์ 147 แปลง 919 ไร่ อยู่ระหว่างการพิจารณา 52 แปลง 404 ไร่ จ่ายค่าทดแทนทรัพย์สินไปแล้วทั้งสิ้น 46 แปลง 214 ไร่ และราษฎรที่ไม่ได้รับสิทธิ์อยู่ระหว่างยื่นฟ้องศาลปกครอง ล่าสุดคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติเห็นชอบเพิกถอนพื้นที่ออกจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา ซึ่งรอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในหลักการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ โดยเพิกถอนออกจากเขตอุทยานฯ และ เขตป่าสงวนแห่งชาติ 1,560 ไร่ อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมป่าไม้

เมื่อวันพุธที่ 26 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี และคณะสำนักราชเลขาธิการ ได้เดินทางมาติดตามความก้าวหน้างานก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์  และ พลอากาศเอก ชลิต  พุกผาสุข องคมนตรี ได้เป็นประธานในพิธีเปิดฝายชะลอน้ำบ้านกิ่วเคียน (ที่ตั้งฝายอยู่ห่างจากด้านท้ายของเขื่อนหัวงาน ระยะทาง 400 เมตร)


   DSC_5398

องคมนตรีเดินทางมาติดตามความก้าวหน้าโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

1DSC_5178

องคมนตรีเดินทางมาติดตามความก้าวหน้าโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ


1DSC_5164

เยี่ยมชมภายนอกและภายใน..การขุดเจาะอุโมงค์น้ำผ่าน

1DSC_5144

เยี่ยมชมภายนอกและภายใน..การขุดเจาะอุโมงค์น้ำผ่าน

DSC_5192

เยี่ยมชมจุดชมวิวโครงการ

1DSC_5277

เป็นประธานในพิธีเปิดฝายชะลอน้ำบ้านกิ่วเคียน 




ขอบคุณ :  1) http://www.banmuang.co.th/2014/06  

                 2) http://www.rdpb.go.th/rdpb/visit2

                  3) http://kromchol.rid.go.th/lproject

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

ต่อหัวเสือ...ไม่ร้ายอย่างเสือ