เล่าเรื่องเมืองอุตรดิษฐ์ ตอน...ศึกเงี้ยวจะเข้ายึดหาดท่าอิด


พระยาพิศาลคีรี (ทัพ)

"เงี้ยว" เป็นชนเผ่าไทชนเผ่าหนึ่งอาศัยอยู่ตามพื้นที่สูงบนเขา บางส่วนย้ายรกรากมาตั้งถิ่นฐานทางภาคตะวันออกของพม่า ดินแดนทางใต้มีพื้นที่ติดต่อกับล้านนาของไทย ปี 2428 อังกฤษเข้ายึดพม่าและรวมเอาดินแดนเงี้ยวไว้กับอินเดีย ตามประวัติศาสตร์เงี้ยวจึงถูกควบคุมโดยชาติใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็น จีน พม่า หรืออังกฤษ

ตลอดระยะเวลากว่าศตวรรษเงี้ยวจึงต้องกรำศึกสงครามไม่ว่างเว้น  ทั้งศึกน้อยศึกใหญ่   ทั้งคะฉิ่น กะเหรี่ยง ตลอดจนรบแย่งชิงอำนาจกันเอง สถานการณ์เริ่มสงบหลังอังกฤษเข้ายึดครอง ขณะเดียวกันก็เริ่มเข้ามาค้าขายกับไทยผ่านพม่าเข้ามาทางภาคเหนือ   กระทั่งมีเงี้ยวบางส่วนตกค้างทำมาหากินอยู่ในประเทศไทย   เวลานั้นภาคเหนือของไทยยังสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้ บริษัทต่างชาติจากอังกฤษเข้ามาทำธุรกิจค้าไม้ โดยจ้างเงี้ยวเป็นผู้แผ้วถางป่า ต่อมาผู้ครองแคว้นต่างๆ ได้ยุยงให้เงี้ยวแข็งข้อขึ้นเรื่อยๆ

ในปี พ.ศ. 2445  เกิดความไม่สงบขึ้นในเมืองแพร่   ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับอุตรดิษฐ์ทางทิศเหนือ ประชาชนชาวพื้นเมืองแพร่เป็นพวกไทยเหนือ แต่มีพวกเงี้ยวเข้ามาอาศัยทำมาหากินและตั้งหลักฐานอยู่มาก ในจำพวกเงี้ยวทั้งหมดเหล่านี้ มีเงี้ยวคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้มีหลักฐานมั่นคง มีทรัพย์สินมาก เป็นผู้มีสติปัญญาเฉียบแหลมยิ่งกว่าบรรดาพวกเงี้ยวทั้งหลาย ได้ตั้งตนเป็นหัวหน้าเงี้ยวในเมืองแพร่นั้นด้วย 

 

ปะกาหม่อง  หรือ พะก่าหม่อง


เงี้ยวผู้นี้มีชื่อเรียกกันว่า “ปะกาหม่อง” หรือ พะก่าหม่อง เป็นที่เคารพนับถือและรักใคร่ของพวกเงี้ยวทั้งหมด ใช่เฉพาะแต่พวกเงี้ยวเท่านั้น ที่รักใคร่นับถือปะกาหม่องหัวหน้าพวกเงี้ยวคนนี้ แม้แต่คนพื้นเมืองในเมืองแพร่ก็นับถือเขาด้วยเป็นส่วนมาก เจ้าผู้ครองนครคือ เจ้าพิริยเทพวงศ์  ก็ยังหลงใหลนับถือปะกาหม่องคนนี้อยู่มากไปมาหาสู่กันอยู่มิได้ขาด  จากการที่ถูกยกย่องเทิดทูนกันอย่างมากมายดังกล่าว เป็นเหตุให้ปะกาหม่องหลงลืมตัวคิดว่าตนเองดีวิเศษเหนือกว่าคนอื่นๆ ทั้งหมดไปเลย บรรดาข้าราชการทุกแผนกในเมืองแพร่ ไม่ว่าจะเป็นชั้นใหญ่ ชั้นเล็กอย่างไรก็ตาม ปะกาหม่องก็ไม่ชอบใจไปเสียทั้งหมด 


พระยาไชยบูรณ์ (ทองอยู่ สุวรรณบาตร)

ปะกาหม่องลืมตัวไปมาก ในเมื่อมีคนนับถือยกย่องก็เลยสำคัญตัวว่าตนเป็นใหญ่เป็นโต เป็นคนสำคัญของเมืองแพร่ยิ่งกว่าคนทั้งหลาย  หาได้คิดบ้างว่าเมืองแพร่เป็นอาณาจักรของคนไทย คนไทยเป็นผู้ปกครอง  ตัวเองนั้นเพียงแค่เข้ามาพึ่งพาอาศัยทำมาหากินในประเทศไทย ดังนั้น เมื่อการหลงลืมตัวเช่นนั้น  ทำให้ปะกาหม่องหลงอำนาจ เมื่อเขาไม่ชอบใจข้าราชการซึ่งเป็นคนไทย  ซึ่งมีพระยาราชฤทธานนท์พหลภักดี (ทองอยู่ สุวรรณบาตร) ครั้งยังดำรงตำแหน่งพระยาไชยบูรณ์ ข้าหลวงประจำจังหวัดเป็นหัวหน้า รวมทั้งข้าราชการคนไทยทุกแผนกงานซึ่งเขาไม่พอใจเป็นทุนอยู่แล้วแต่เดิม  เขาจึงคิดก่อการเป็นกบฎต่อราชอาณาจักรไทยขึ้น  โดยเข้าพบกับเจ้าพิริยเทพวงศ์ ทำการยุแหย่ด้วยเหตุผลนานาประการ พูดจาหว่านล้อมเพื่อให้เกลียดชังข้าราชการไทย ให้ทำการรบขับไล่คนไทยเพื่อเอาเมืองคืน จะได้มีอำนาจเก็บภาษีอากรบำรุงบ้านเมืองของเราได้เอง พวกราษฎรซึ่งเป็นเชื้อสายของพวกเราจะได้มีความสุขความเจริญ ไม่ต้องตกอยู่ใต้อำนาจของไทยอีกต่อไป



เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ เจ้านครแพร่องค์สุดท้าย

เจ้าพิริยเทพวงศ์ก็พลอยหลงเชื่อตามคำพูดยุแหย่ของปะกาหม่อง เห็นดีเห็นชอบตามไปทุกอย่าง มองเห็นแต่ประโยชน์ที่จะได้ฝ่ายเดียว  ดังนั้น การกบฎเมืองแพร่จึงได้เกิดขึ้น  ปะกาหม่องตัวหัวโจกใหญ่ก็วางแผนการณ์โดยจัดให้มีสายลับออกไปแนะนำประชาชนตามอำเภอและตามหมู่บ้าน กับทั้งมีการประชุมลับ จัดตั้งหัวหน้าเป็นกองรบหรือหัวหน้ากบฎนั่นเอง มีการจัดหาอาวุธต่างๆ และเสบียงอาหารไว้ให้มีอย่างพร้อมเพียงพอที่จะใช้ได้นานไปจนถึงการบุกยึดท่าอิดอุตรดิษฐ์ด้วย   การเตรียมการของปะกาหม่อง  ร่วมกับ เจ้าพิริยเทพวงศ์เป็นที่เรียบร้อยดีแล้ว ก็นัดหมายกำหนดการจู่โจมเข้าจับข้าราชการไทย โดยพวกกบฎได้แบ่งกำลังกันแยกออกเป็นกองๆ เพื่อเข้ายึดสถานที่ราชการทุกแห่งไม่ให้ทันต่อสู้ได้

เช้าวันที่  25  กรกฎาคม  พ.ศ. 2445   กองกบฎของปะกาหม่องก็เข้ายึดสถานีตำรวจแบบสายฟ้าแลบ ยึดที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข ตัดสายโทรเลขไม่ให้มีการติดต่อกันได้ พร้อมกับเข้าจับกุมบรรดาพนักงานข้าราชการทุกแผนก รวมทั้งจับพระยาราชฤทธานนท์พหลภักดี ไว้ด้วยรวม 32 คน และให้ฆ่าเสียทั้งหมด 32 คน  อาวุธปืนที่เข้าปล้นยึดสถานีตำรวจได้รวมหลายสิบกระบอก กับทั้งได้เข้าทำการยึดคลังเงินจากผลประโยชน์รายได้ของทางราชการไว้ทั้งหมด

ข้าราชการการบางคนที่พยายามหลบหนีมาได้ ก็รีบเดินลัดป่าดงลงมายังเมืองอุตรดิษฐ์ แจ้งให้ทางราชการอุตรดิษฐ์ได้ทราบ ทางอุตรดิษฐ์เมื่อได้ทราบแล้วก็โทรเลขแจ้งไปยังมณฑลพิษณุโลก ทางพิษณุโลกก็บอกไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อกราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบเป็นการด่วน   พร้อมกันนั้นทางมณฑลพิษณุโลก ได้มีโทรเลขด่วนมายัง พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร์ (โพ เนติโพธิ์) ให้รีบเกณฑ์ราษฎรเมืองอุตรดิษฐ์ ออกไปขัดตาทัพรักษาเขตไว้เพื่อต้านทานทัพเงี้ยวซึ่งอาจจะยกเข้ามาถึงอุตรดิษฐ์ก็ได้


พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร์ (โพ เนติโพธิ์)

เมื่อพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร์ ได้ทราบคำสั่งเช่นนั้น จึงสั่งการไปยังอำเภอต่างๆ ให้รีบเกณฑ์คนมาเข้าแนวรบโดยด่วน พร้อมทั้งให้เกณฑ์เสบียงอาหารให้พร้อมไว้ด้วย ส่วนอาวุธนั้น ใครมีปืนหรือมีอาวุธอย่างไร ก็ให้นำเอาไปอย่างนั้นตามที่มีฝ่ายพวกราษฎรชาวเมืองอุตรดิษฐ์ เมื่อได้ทราบข่าวว่าศึกเงี้ยวจะยกมาตีเมืองอุตรดิษฐ์ในเร็ววันนี้ และทั้งได้ข่าวการเกณฑ์พวกผู้ชายออกไปป้องกันทัพข้าศึกเงี้ยวทั้งชาวอุตรดิษฐ์และชาวลับแลต่างวิตกกลัวตามกัน บ้างก็เตรียมตัวจะอพยพหนี บางครอบครัวก็เตรียมตากข้าวตาก ตำน้ำพริกใส่กระบอกไม้ไผ่ บ้างก็เตรียมฝังข้าวของทรัพย์สมบัติ ปรับทุกข์กันถึงเรื่องจะหนีศึกเงี้ยว บางคนที่เป็นแม่ค้าพ่อค้าก็เตรียมของบรรทุกเรือจะหนีล่องลงไปทางใต้ แต่ทางการได้ห้ามไม่ให้มีการล่องเรือพวกผู้ชายรุ่นหนุ่มบางคนพอรู้ข่าวจะถูกเกณฑ์ไปรบกับเงี้ยว ก็หาทางหลบหลีกไปบวชเป็นสามเณรเสียก็มาก

ฝ่ายปะกาหม่อง เมื่อได้ยึดเมืองแพร่ไว้ได้เรียบร้อยแล้ว ก็มีใจกำเริบ เตรียมยกกองลงมาหมายจะยึดหาดท่าอิดเมืองอุตรดิษฐ์อีกต่อไปทางอุตรดิษฐ์ได้เกณฑ์ราษฎรยกขึ้นไปตั้งรับไว้แล้ว ที่บริเวณปางอ้อเหนือเขาพลึง พระยาสุริยราชวรานุวัติ เป็นผู้บัญชาการทัพ และให้พระยาพิศาลคีรี (ทัพ สุขะเนนย์) ต้นตระกูลเอี่ยมสรรพางค์ เป็นแม่กองคุมเสบียงไปส่งโดยใช้ช้างบรรทุกข้าวปลาอาหารสำหรับ พระยาพิศาลคีรี ผู้นี้ ท่านได้ออกจากราชการไปแล้วเนื่องจากอายุท่านมาก แต่ท่านก็เห็นแก่บ้านเมืองจึงอุตส่าห์เข้ารับใช้บ้านเมืองยามเข้ายุคเข็ญ


 เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต)

ทางกรุงเทพฯ ได้ทรงโปรดให้ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) ยกกองทัพจากเมืองหลวงขึ้นไปสมทบช่วยปราบเงี้ยว ทหารที่ร่วมไปกับกองทัพเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีครั้งนั้น มีทั้งทหารบกและทหารเรือโรงหล่อ   ทัพของอุตรดิษฐ์เมื่อไปถึงปางอ้อแล้ว ก็หาที่มั่นพักอยู่เชิงเขาพลึง  ตกเวลาเย็นทัพเงี้ยวจากเมืองแพร่ก็ยกมาถึง มาตั้งมั่นอยู่คนละฟากเขา ได้เกิดยิงต่อสู้กันได้ยินเสียงปืนถนัด เพราะเขานั้นไม่สูงมากนักทัพเงี้ยวเตรียมจะบุกโจมตีทัพอุตรดิษฐ์ในเวลาเช้ามืด โดยที่พวกเขามั่นใจว่าจะลงมาเอาปลาเค็มที่ตลาดหาดท่าอิดกินกับข้าวนึ่งให้จงได้ในตอนเช้า ตอนหัวค่ำนี้ขอนอนพักเอาแรงไว้ก่อน

ทัพเงี้ยวยกมาถึงตอนบ่ายและตั้งมั่นอยู่ทางเชิงเขาด้านเหนือ วันเดียวกับทัพทางฝ่ายอุตรดิตถ์ก็ยกไปถึงตำบลปางอ้อ ตั้งมั่นอยู่ทางตอนใต้เขาพลึง กองทัพทั้งสองฝ่ายต่างก็ออกตระเวนหาข่าวที่ตั้งมั่นของกันและกัน ทัพเงี้ยวยิงปืนขู่ขวัญทัพอุตรดิษฐ์ พร้อมทั้งตีฆ้องกลองแกล้งทำประหนึ่งว่าจะยกข้ามเขามาโจมตีในตอนเย็นวันนั้น

ฝ่ายทางทัพอุตรดิตถ์ เมื่อได้ยินเสียงดังสนั่นเช่นนั้น ก็สำคัญว่าทัพเงี้ยวจะยกเข้ามาโจมตี ต่างคนต่างก็วิ่งเข้าหาที่กำบังกันอุตลุต พวกนายทัพนายกองก็หาที่กำบังเช่นเดียวกัน ถ้าเห็นหนักหนาจริงก็เตรียมหนีที่เป็นกันเช่นนั้น ก็เพราะว่าพวกเขาเหล่านั้นไม่ใช่เป็นทหาร หากแต่เป็นพวกราษฎรที่ถูกเกณฑ์ไปรวมกัน ไม่เคยออกสนามรบมาก่อน จึงทำให้เกิดเสียขวัญดังกล่าว ปืนที่นำมาใช้ก็เป็นปืนประจำตัวของแต่ละคนซึ่งเป็นปืนคาบศิลาบ้าง ปืนแก๊ปบ้าง การแต่งตัวก็แต่งมาตามความพอใจ นุ่งผ้าโจงกระเบนบ้าง นุ่งกางเกงบ้าง โสร่งบ้าง สะพายปืนบ้าง กระบอกน้ำบ้าง ว่ากันตามถนัดของแต่ละคน บางคนก็มีแค่ดาบและมีดขณะที่ที่พวกทัพอุตรดิษฐ์กำลังตื่นเต้นเสียขวัญกันอลเวงอยู่นั้น พอดีกับที่กองเสบียงของพระยาพิศาลคีรีเดินทางไปถึง พระยาพิศาลคีรีได้เห็นเหตุการณ์ชุลมุนวุ่นวายเช่นนั้น ท่านจึงเดินเข้าไปร้องบอกว่า “อย่าเสียขวัญ อย่าหนี เราต้องสู้ ทุกคนสู้เพื่อเมืองอุตรดิษฐ์ของเรา เราหนีเราก็ต้องตายกันหมด แม้แต่ญาติพี่น้องลูกเมียของเราก็ต้องตาย เราหนีเขาไปไม่พ้นหรอก”

ที่ท่านพูดปลอบขวัญเช่นนี้ เพราะท่านเชื่อว่าเป็นการขู่ขวัญ และทั้งเป็นเวลาจะมืดค่ำแล้ว ทัพเงี้ยวคงจะไม่กล้ายกเข้าโจมตี จะเข้าจริงๆ ก็ต่อเมื่อรุ่งขึ้นเช้าตรู่เท่านั้น ที่ท่านคาดการณ์เช่นนี้ก็เนื่องจากท่านเคยไปรบกับพวกฮ่อที่เมืองหลวงพระบางมาแล้ว จึงรู้ถึงกลศึกได้เป็นอย่างดี  นอกจากนี้พระยาพิศาลคีรี ท่านยังได้เห็นความบกพร่องในการทัพของพระยาสุริราชวรานุวัติและพวกนายทัพนายกองอีกหลายอย่าง เช่น ไม่ได้มีการสร้างค่ายไว้รับศึก ซึ่งคาดว่าเงี้ยวอาจจะยกเข้าโจมตีในวันรุ่งขึ้นก็ได้ จึงได้ถามพระยาสุริราชวรานุวัติ ซึ่งเป็นแม่ทัพคุมพลและเป็นผู้บัญชาการรบ ถึงเรื่องการสร้างค่ายกำบังลูกปืนจากฝ่ายเงี้ยว ก็ได้รับคำตอบจากพระยาสุริราชวรานุวัติว่า “ไม่ต้องสร้างก็ได้..เราใช้คนทำค่ายแทนก็ได้”

พระยาพิศาลคีรีจึงอธิบายว่า “การที่จะเอาคนทำค่ายนั้น ไม่เห็นด้วย คนจะไปสู้รบกับลูกปืนได้อย่างไร ถึงแม้จะมีคุณพระคุ้มครอง ก็ป้องกันลูกปืนไม่ได้ จิตใจจะตั้งมั่นภาวนาได้อย่างไร ร้อยคนก็ต้องตายหมดทั้งร้อยคน”  กับทั้งยังกล่าวชี้แจงถึงเรื่องการที่เคยไปรบกับพวกฮ่อที่หลวงพระบางให้ฟังอย่างละเอียดอีกด้วย  พระยาสุริราชวรานุวัติซึ่งไม่เคยได้ไปในการทัพศึกที่สำคัญมาก่อนยอมรับเหตุผล และตัดสินใจยกหน้าที่แม่ทัพให้พระยาพิศาลคีรีผู้สูงอายุเป็นผู้บัญชาการต่อต้านทัพเงี้ยวทั้งหมดทุกประการ  พระยาพิศาลคีรีก็ยอมรับหน้าที่ด้วยความเต็มใจ เพราะเห็นแก่บ้านเมืองและประชาชนซึ่งถูกเกณฑ์มาทำหน้าที่พลรบจำเป็นเหล่านั้น

เมื่อได้รับมอบหน้าที่ดังนั้นแล้ว พระยาพิศาลคีรีก็เริ่มสั่งงานตามแผน โดยให้พวกพลรบกินอาหารโดยแจกข้าวนึ่งให้คนละห่อพร้อมปลาเค็มและน้ำพริก สั่งให้กินกันโดยไม่ให้มีแสงไฟ และจัดเวรยามตรวจระวังเหตุการณ์  หลังจากกินอาหารกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็เรียกมารวมกันทั้งหมด โดยบอกให้ทราบว่า “พรุ่งนี้เช้ามืด เงี้ยวมันจะต้องยกกำลังเข้ามาบุกเราเป็นแน่ เราจะต้องพร้อมกันเตรียมตั้งรับไว้ก่อน ถ่วงเวลาไว้คอยกำลังซึ่งจะยกมาจากเมืองหลวงบางกอก เมื่อมาถึงแล้ว เราจะได้รวมกำลังกันยกเข้าตีขนาบพวกเงี้ยวทันที คราวนี้เป็นคราวสำคัญ และเป็นโอกาสอันดียิ่งของพวกเราบางคนเกิดมาแล้วตายไปโดยไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้แก่ชาติบ้านเมืองเลย แต่เมื่อพวกเราได้มารวมกันอย่างนี้ เราตายก็ต้องตายด้วยกัน อย่าคิดหนีเอาตัวรอดคนเดียว ใครหนีหรือละทิ้งหน้าที่จะมีโทษหนัก อาจถึงถูกประหาร  และอีกอย่างหนึ่งที่เราจำเป็นจะต้องทำ คือการสร้างค่ายไว้ป้องกันชีวิต ทั้งจะต้องช่วยกันทำให้เสร็จในคืนวันนี้โดยไม่ต้องนอนกัน ให้ออกไปช่วยกันตัดต้นไม้เอามาฝังเป็นแถว แต่ละท่อนฝังให้ติดกันล้อมรอบเป็นรูปปีกกาหรือรูปเขาควาย ขนาดภายในกว้างพอจุพวกเราเข้าอยู่ได้ทั้งหมด ขอให้พวกเราจงไปดำเนินการกันเดี๋ยวนี้ เพราะเป็นงานเร่งด่วนมาก เพื่อเป็นการป้องกันลูกปืนของพวกเงี้ยว และป้องกันชีวิตของพวกเราเองด้วย"   เมื่อพระยาพิศาลคีรีสั่งแล้ว ทุกคนต่างก็พากันไปตัดไม้มา ช่วยกันสร้างค่ายภายใต้การควบคุมกางรูปแบบจนเสร็จเรียบร้อยในคืนนั้น 

นการสร้างค่ายดังกล่าว  พระยาพิศาลคีรีได้สั่งให้คนคุมช้างหลายเชือกเดินทางมายังบ้านด่านบ้านน้ำริด  เพื่อเกณฑ์เอาจอบ เสียม เลื่อย ขวาน และให้รีบกลับในคืนวันนั้นโดยเร็วที่สุด  เมื่อพวกนำขบวนช้างได้เครื่องมือครบแล้วก็รีบกลับ พระยาพิศาลคีรีได้เห็นก็ดีใจมาก จึงจัดแบ่งกำลังคนออกเป็น  3  พวก คือ พวกขุดหลุมเพื่อปักเสาพวกหนึ่ง พวกออกไปตัดต้นไม้พวกหนึ่ง และอีกพวกหนึ่งเป็นพวกแบกหามขนไม้   พอใกล้สว่างค่ายก็เสร็จ ทั้งๆ ที่ไม่ใช้แสงไฟเลย คืออาศัยแสงพระจันทร์ดังกล่าวเพียงอย่างเดียว เมื่อค่ายเสร็จแล้วจึงสั่งให้เหล่าพลรบเตรียมตัวเข้าประจำหน้าที่พร้อมอาวุธปืน และดาบ  และสั่งกำชับห้ามไม่ให้โผล่หัวหรือปีนขึ้นไปพ้นที่กำบังค่ายซึ่งปักไม้ปักล้อมไว้นั้น ถ้าจะยิงก็ให้ยิงลอดไปตามช่องของไม้ที่ปักไว้ 

วันที่ 26 กรกฎาคม 2445 พอฟ้าสางสว่างวันรุ่งขึ้น  ก็ได้ยินเสียงฆ้องของพวกเงี้ยวดังมาจาก บนเขา “ม็อง ม็อง ม็อง วัดแล่ ม็อง ม็อง ม็อง วัดแล่” สิ้นเสียงฆ้องก็มีเสียงปืนดัง ปัง ปัง ปัง ลูกปืนวิ่งมากระทบรั้วค่ายของทัพอุตรดิษฐ์ และยิงถี่หนักใกล้เข้ามาทุกที  พระยาพิศาลคีรีจึงสั่งว่า “ให้เฉยไว้ก่อน อย่ายิงตอบ ให้พวกมันลงมาใกล้เราอีกหน่อย เวลานี้มันอยู่ในระยะไกล ยิงไปก็เสียลูกปืนเปล่าๆ”  เสียงปืนจากพวกเงี้ยวดังถี่และใกล้เข้ามา ลูกปืนปลิวผ่านเหนือค่ายเสียงดังหวูหวิว ถูกกิ่งไม้และต้นไม้หลังค่ายปลิวร่วงไม่ขาดสาย เสียง ม็อง ม็อง  ม็อง ม็อง วัดแล่ ใกล้เข้ามาจนมองเห็นตัวกันแล้ว ลูกปืนกระทบรั้วค่ายดังกราวๆ แทบไม่เว้นจังหวะ ฝ่ายอุตรดิษฐ์ก็ยังคงนิ่งเงียบอยู่   เงี้ยวเห็นฝ่ายอุตรดิษฐ์นิ่งเงียบอยู่เช่นนั้นก็สำคัญว่าไทยไม่กล้าสู้หรือถอยหนีไปแล้ว ตัวหัวหน้าพวกเงี้ยวมีผ้าแดงพันหัวถือดาบนำหน้าวิ่งตรงเข้ามา พร้อมกับเสียง ม็อง ม็อง ม็อง และเสียงปืนดังสนั่น

พระยาพิศาลคีรีเห็นเป็นโอกาสดี และอยู่ในระยะใกล้ จึงตีฆ้องให้สัญญาณยิงต่อสู้ทันที เสียงปืนจากค่ายของอุตรดิษฐ์ดังสนั่นขึ้น ส่วนตัวพระยาพิศาลคีรีถือดาบวิ่งไปทางโน้นทางนี้ภายในค่าย พูดปลอบขวัญพลรบว่า “สู้เขาลูก สู้เขา พ่ออยู่นี่ลูก พ่ออยู่นี่ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องกลัว ยิงหนักเข้าไปลูก ยิงหนักเข้าไป คุณพระช่วยลูก คุณพระช่วยลูก”  เหล่าพลรบชาวอุตรดิษฐ์ได้ฟังคำปลอบใจเช่นนั้น ทำให้เกิดมีกำลังใจเข้มแข็งขึ้น ยิงปืนเข้าใส่พวกเงี้ยวอย่างไม่ยอมถอย แม้จะต้องอดนอนจากการช่วยกันสร้างค่ายมาตลอดคืน ทุกคนก็ยังยอมสู้กับพวกเงี้ยวอย่างเต็มที่ เพราะมีพระยาพิศาลคีรี แม่ทัพคอยสนับสนุนอยู่ด้วยตลอดเวลา เกิดตาแจ้งหายงัวเงียตามกัน ไม่รู้สึกอ่อนเพลียแต่ประการใด   “ไอ้พวกหัวแดงล้มกลิ้งแล้ว” พลรบในค่ายตะโกนบอกกัน “ล้มกลิ้งหลายคนแล้วโว้ย” พระยาพิศาลคีรีก็ตะโกนบอกว่า “เราเป็นต่อแล้วลูก เราเป็นต่อแล้ว ยิงหนักเข้าไป ยิงเข้าไปเลยลูก เราเป็นต่อแล้ว”  เสียงปืนยิงต่อสู้ระหว่างเงี้ยวกับฝ่ายอุตรดิตถ์ยังดังอยู่ไม่ขาดระยะ กระสุนปืนดังแหวกอากาศโดนค่ายและโดนต้นไม้ขาดปลิว โค่นล้มระเนระนาดเกลื่อนกลาด ดังหูดับตับไหม้ตลอดเวลา

“กันอยากเห็นพวกเงี้ยวมันล้มกลิ้งเพราะฝีมือไทยจังเลยโว้ย” เสียงหนุ่มพลรบในค่ายตะโกนบอกพร้อมกับเตรียมปีนค่ายขึ้นไปดู  พวกเพื่อนพากันร้องห้ามก็ไม่ยอมฟัง  เป็นคราวเคราะห์ของเขาแท้ๆ ทำให้กล้าฝ่าฝืนคำสั่งของแม่ทัพ เขาปีนโผล่หัวพ้นรั้วค่ายขึ้นไปเพื่อชะเง้อดู พอดีจังหวะกระสุนปืนของพวกเงี้ยววิ่งเข้ามาถูกหน้าผากทะลุออกท้ายทอยหงายร่วงตกลงมาตายคาที่เลย  พระยาพิศาลคีรีได้ทราบก็รีบมาดู เมื่อสอบถามได้ความว่า พวกเพื่อนช่วยกันห้ามแล้ว แต่เขาไม่ยอมฟัง ปีนขึ้นไปหาความตายจนได้ พระยาพิศาลคีรีถึงกับพูดออกมา “พุทโธ่ ! อุตส่าห์ทำค่ายไว้ป้องกันลูกปืน ยังดันขึ้นไปโผล่หัวให้เขายิงตายจนได้ ไอ้ลูกหัวดื้อ”

ฝ่ายอุตรดิษฐ์กับฝ่ายเงี้ยวยิงต่อสู้กันจนสาย เกือบถึงครึ่งวัน เงี้ยวก็ไม่อาจบุกเข้ามาได้ เพราะฝ่ายอุตรดิษฐ์ต้านทานอย่างเหนียวแน่น กับทั้งมีค่ายป้องกันอย่างแข็งแรง ฝ่ายเงี้ยวเสียเปรียบไม่มีที่ป้องกัน จึงตกเป็นเป้ากระสุนปืนของฝ่ายอุตรดิษฐ์ล้มกลิ้งเป็นศพไปไม่น้อย ตัวหัวหน้าโพกผ้าแดงก็เป็นเหยื่อกระสุนปืนของฝ่ายอุตรดิษฐ์ตายไปแล้วเช่นกัน พวกเงี้ยวเห็นว่าไม่สามารถจะบุกยึดค่ายได้ พวกตนก็ล้มตายกันมาก กระสุนปืนก็เหลือน้อยลง ยิ่งสายยิ่งหิวอาหาร จึงตีฆ้อง ม็อง ม็อง ม็อง เป็นสัญญาณให้ถอยทัพกลับไปเมืองแพร่ อันเป็นที่ตั้งฐานทัพใหญ่   พระยาพิศาลคีรีเห็นการยิงของพวกเงี้ยวสงบลง ทั้งได้ยินเสียงฆ้องสัญญาณให้ถอยทัพเช่นนั้น  จึงมีคำสั่งให้พลรบออกจากค่าย ขยายแนวออกสกัดที่เชิงเขาพลึงทั้งสองด้านโดยเร็วที่สุด  

พวกเงี้ยวไม่ทันรู้ตัว เมื่อลงมาจากเขา จึงถูกกระสุนปืนของฝ่ายอุตรดิตถ์ล้มตายเป็นใบไม้ร่วง บ้างก็บาดเจ็บไปตายในเวลาต่อมา บ้างก็แขนขาหัก ทิ้งอาวุธหนีเอาตัวรอด  ข้าวนึ่งที่พวกเงี้ยวเตรียมนำมาเพื่อจะกินกับปลาแห้งที่ตลาดหาดท่าอิดอุตรดิษฐ์ในตอนเช้านั้นยังร้อนอยู่ พวกเงี้ยวทิ้งไว้เพราะตายไปมาก   
ฝ่ายอุตรดิษฐ์ตามไล่ขยี้พวกเงี้ยวจนแตกทัพไปแล้ว  ก็พากันกลับเข้าค่ายโดยปลอดภัย  มีการเสียชีวิตเพียงรายเดียวเท่านั้น  เมื่อเข้าค่ายแล้วก็กินอาหารกันอย่างสบาย

เวลาเที่ยงวันเดียวกัน กองทัพซึ่งเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเป็นผู้ควบคุมเดินทางจากเมืองหลวง มาสมทบกับทัพอุตรดิษฐ์ของพระยาพิศาลคีรีที่หมู่บ้านปางอ้อ เมื่อเจรจารู้เรื่องกันดีแล้ว เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี  จึงเคลื่อนทัพออกติดตามบุกไล่พวกเงี้ยวไปทางเมืองแพร่ทันที  ฝ่ายปะกาหม่องหัวหน้าใหญ่ของพวกเงี้ยวซึ่งฟังข่าวอยู่ในเมืองแพร่ เมื่อรู้ข่าวการพ่ายแพ้อย่างยับเยินของพวกตน ทั้งยังมีกองทัพใหญ่ของไทยกำลังบุกไล่ทะลวงตามมายังเมืองแพร่อีกด้วยเช่นนั้น  จึงพร้อมกับเจ้าพิริยเทพวงศ์พากันหนีออกจากเมืองแพร่ไปอย่างรีบด่วน  ทัพเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรียกเข้าเมืองแพร่ได้  จึงสั่งทหารออกไล่กวาดจับพวกเงี้ยวที่ตกค้างอยู่มาสอบสวน  ตลอดทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านชาวพื้นเมืองแพร่ เมื่อเห็นผู้ใดมีพิรุธและท่าทางจะร่วมกับพวกเงี้ยวกบฎ ก็ให้ลงโทษและจับขังตามแต่กรณี  และเมื่อเสร็จจากการปราบกบฎเงี้ยวที่เมืองแพร่พร้อมทั้งแต่งตั้งข้าราชการประจำหน้าที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงนำทัพกลับมาพักที่อุตรดิษฐ์  ถึงอุตรดิษฐ์ก็พากันออกเดินเที่ยวและซื้อของใช้ที่ตลาดหาดท่าอิด บางคนก็เข้าโรงบ่อน เล่นชนไก่ กัดปลา กันอย่างสนุก บ้างเล่นแทงหวย เล่นถั่ว โป ตามความพอใจ ปรากฎมีทหารเดินกันเต็มถนนหนทางและเต็มตลาดยั้วเยี้ยไปหมด พลรบของอุตรดิษฐ์ก็ได้กลับบ้านกันอย่างดีอกดีใจ  หลังจากนั้น กองทัพของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีก็ลงเรือที่หาดท่าอิด ล่องกลับเมืองหลวงต่อไป

ประวัติโดยย่อ “ พระยาพิศาลคีรี (ทัพ) ”

พระยาพิศาลคีรี (ทัพ) เกิดวันอาทิตย์ ขึ้น 11 ค่ำ เดือนหนึ่ง ปีชวด พ.ศ.2394 ที่อำเภอพิชัย บิดาชื่อ พระอุตรดิตถ์ภิบาล (เนนท์) มารดาชื่อ ริง  ได้เข้าศึกษากับพระสมุห์ซางวัดกลางในเมืองพิชัย จนมีความรู้แตกฉาน อายุได้ 18  ปี เข้ารับราชการเสมียนเมืองพิชัย ได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความขยันหมั่นเพียร เอาใจใส่ซื่อสัตย์สุจริต  จนมีตำแหน่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ  เป็นขุนจินดา และหลวงจินดา ตามลำดับ  พ.ศ.2427 ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงอินทรรักษา และย้ายไปเป็นนายอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสวรรคโลก ต่อมาได้ย้ายมาเป็นนายอำเภอลับแล ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระพิศาลคีรี  ในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายอำเภอลับแลอยู่นั้น  ท่านได้ร่วมไปกับกองทัพเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต)  ไปปราบกบฏฮ่อที่หลวงพระบาง สิบสองปันนา สิงสองจุไทถึง 2 ครั้ง 

ในช่วงของเหตุการณ์ที่กองทัพเงี้ยวจากเมืองแพร่บุกเข้าเมืองอุตรดิตถ์นั้น ท่านพระพิศาลคีรียังได้รับหน้าที่เป็นผู้นำทัพชาวเมืองอุตรดิษฐ์ต่อสู้กับทัพเงี้ยวจากเมืองแพร่ ณ ปางอ้อ  เชิงเขาพลึง และสามารถต่อสู้จนกระทั่งได้รับชัยชนะ  หลังจากการศึกครั้งนั้น ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้เป็น พระยาพิศาลคีรี ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองลับแล

วันที่ 25  ตุลาคม 2445 เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ได้แต่งตั้งพระยาพิศาลคีรีให้เป็นนายอำเภอเมืองสอง (แพร่) เพราะเห็นว่าสถานการณ์ยังไม่สู้จะสงบดี  เมื่อคุณหญิงศรีเมืองภรรยาของพระยาพิศาลคีรีได้ถึงแก่กรรม  ท่านรู้สึกตัวชราภาพมากแล้ว จึงกราบถวายบังคมลาออกจากราชการในเดือนเมษายน 2450  รวมเวลารับราชการได้ 37 ปี  ในปั้นปลายชีวิตท่านเป็นข้าราชการบำนาญ และค้าขายส่วนตัวบ้างเล็กน้อย ท่านเป็นคนใจบุญสุนทานมาก ได้สร้างธรรมาสน์ให้วัดไผ่ล้อม ท่าอิฐล่าง  สร้างอุโบสถวัดทุ่งสร้าง  สร้างกำแพงล้อมวิหารวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ทั้ง 4 ด้าน  ได้จัดการทดน้ำจากหนองหินพะลุ เพื่อให้ราษฎรใช้ในการเกษตร  สร้างสะพาน  สร้างถนน  เป็นต้น  ท่านได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคอหิวาตกโรคที่ปากน้ำโพ นครสวรรค์ บุตรหลานของท่านได้นำศพมาบำเพ็ญกุศลที่วัดไผล้อม ท่าอิฐล่าง ซึ่งใกล้กับบ้านของท่าน  ทางราชการได้เสนอเรื่องราวกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเพลิงศพอย่างสมเกียรติ 



ขอบคุณ  :  1)  หนังสือตำนานเมืองอุตรดิตถ์ โดย คุณอนันต์ เอี่ยวสรรพางค์  คุณวิบูลย์ บูรณารมย์   
                     และ คุณโสภณ บูรณารมย์ 

                2)  หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัด
                     อุตรดิตถ์ 

                3)  www.komchadluek.net 

                4)  http://www.phraeobserver.com 

                5)  http://topicstock.pantip.com 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

ต่อหัวเสือ...ไม่ร้ายอย่างเสือ