10 พืชสมุนไพรไทยตระกูล "มะ"

คำว่า สมุนไพร ตามพระราชบัญญัติยา หมายถึง "ยาที่ได้จากพืช สัตว์ หรือแร่ ซึ่งยังไม่ได้ผสม ปรุง หรือเปลี่ยนสภาพ" เช่น พืชก็ยังเป็นส่วนของ ราก ลำต้น ใบ ดอก ผล ฯลฯ ซึ่งยังไม่ได้ผ่านขั้นตอนการแปรรูปใด ๆ แต่ในทางการค้าสมุนไพรมักจะถูกดัดแปลงในรูปต่าง ๆ เข่น ถูกหั่นให้เป็นชิ้นเล็กลง บดเป็นผงละเอียด หรืออัดเป็นแท่ง อย่างไรก็ตามในความรู้สึกของคนทั่ว ๆ ไป เมื่อกล่าวถึงสมุนไพร มักจะนึกถึงเฉพาะต้นไม้ที่นำมาใช้เป็นยาเท่านั้น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าสัตว์ หรือแร่ มีการนำมาใช้น้อย และใช้ในโรคบางชนิดเท่านั้น

พืชสมุนไพร  หมายถึงพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้ปรุงหรือประกอบเป็นยารักษา โรคต่าง ๆ ใช้ในการส่งเสริมสุขภาพร่างกายได้  ซึ่งครั้งนี้เราจะได้กล่าวถึง 10 พืชสมุนไพรไทยตระกูล "มะ" จะประกอบด้วย "มะ" อะไรบ้างมาดูกัน


1. มะกล่ำต้น


ผลมะกล่ำต้น


มะกล่ำต้น 

จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เป็นไม้ผลัดใบระยะสั้น มีความสูงของต้นได้ถึง 20 เมตร เรือนยอดแผ่กิ่งกว้าง ต้นเป็นทรงโปร่ง เปลือกลำต้นหนาเป็นสีน้ำตาลอ่อน ส่วนเปลือกชั้นในนุ่มเป็นสีครีมอ่อน ๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี ชอบแสงแดดจัด พบขึ้นได้ตามป่าเต็งรังและป่าดิบแล้ง ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 50-400 เมตร


เมล็ดมะกล่ำต้น


สรรพคุณ

ตำรายาไทย ใบ รสฝาดเฝื่อน ต้มกินแก้ปวดข้อ แก้ลมเข้าข้อ แก้บิด แก้ท้องร่วง เป็นยาสมาน บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้ท้องร่วงและบิด เมล็ดและใบ รสเฝื่อนเมา แก้ริดสีดวงทวาร เมล็ด รสเฝื่อนเมา บดผสมน้ำผึ้ง ปั้นเม็ด กินแก้จุกเสียด แก้หนองใน เมล็ดบดพอกดับพิษฝี บดเป็นผงโรยแผลฝีหนอง ดับพิษบาดแผล ฝนกับน้ำทาแก้อักเสบ แก้ปวดศีรษะ เมล็ดใน รสเมาเบื่อ บดเป็นผง ปั้นเม็ด กินขับพยาธิไส้เดือน พยาธิเส้นด้าย เมล็ดคั่วไฟเอาเปลือกหุ้มสีแดงออก บดเป็นผงผสมกับยาระบายใช้เป็นยาขับพยาธิ เบื่อพยาธิไส้เดือน หรือพยาธิตัวตืด เนื้อไม้ รสเฝื่อน ฝนกับน้ำทาขมับแก้ปวดศีรษะ กินกับน้ำอุ่นทำให้อาเจียน ราก รสเปรี้ยวขื่นเย็น ใช้ขับเสมหะ แก้หืดไอ แก้เสียงแหบแห้ง แก้สะอึก แก้ลมในท้อง แก้ร้อนใน แก้อาเจียน ถอนพิษฝี



2. มะเกลือ


ผลมะเกลือ


มะเกลือ 

มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พม่า และไทย จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 10-30 เมตร มีเรือนยอดเป็นพุ่ม ลำต้นเปลา ที่โคนต้นมักขึ้นเป็นพูพอน ที่ผิวเปลือกเป็นรอยแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ ตามยาว สีดำ เปลือกด้านในมีสีเหลือง ส่วนกระพี้มีสีขาว แก่นมีสีดำสนิท เนื้อมีความละเอียดมันสวยงาม ที่กิ่งอ่อนมีขนนุ่มขึ้นอยู่ประปราย โดยทุกส่วนของมะเกลือเมื้อแห้งแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำ และต้นมะเกลือจะขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด สามารถพบต้นมะเกลือได้ทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย ยกเว้นภาคใต้ โดยต้นไม้ชนิดนี้จะพบได้มากในจังหวัดลพบุรี ราชบุรี สระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น ชัยภูมิ สกลนคร และอุดรธานี 

สรรพคุณ    

ตำรายาไทย  ใช้  ผลสดสีเขียว รสขื่นเฝื่อนเบื่อฝาด ขับพยาธิในไส้เดือน พยาธิปากขอ พยาธิเส้นด้าย ถ่ายตานซาง ถ่ายกระษัย ให้นำ ผลดิบ สด ไม้ช้ำ ไม่ดำ กรณีใช้ถ่ายพยาธิ ใช้เท่าจำนวนอายุแต่ไม่เกิน 25 ผล โดยนำผลมะเกลือมะโขลกพอแหลก คั้นเอาน้ำมาผสมกับหัวกะทิสด ดื่มก่อนอาหารเช้าทันที เตรียมใหม่ๆดื่ม ห้ามเก็บไว้จะเกิดพิษ  หาก 3 ชั่วโมง ยังไม่ถ่าย ให้ใช้ยาถ่ายตาม (แต่ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี, สตรีตั้งครรภ์, ผู้ป่วย, อย่าใช้มากเกินขนาด, คนที่มีอาการแพ้อาจทำให้ท้องเสีย, มีอาการตามัว ถ้ารุนแรงทำให้ตาบอดได้ ควรนำส่งแพทย์ทันที)  


ผลสุกสีดำ ใช้ย้อมผ้า ย้อมแห ไม่นำมารับประทาน เพราะมีพิษ ทำให้ตาบอดได้ 

ราก รสเมาเบื่อ ฝนกับน้ำซาวข้าว รับประทานแก้อาเจียน แก้ลม แก้กระษัย แก้ริดสีดวงทวาร แก้พิษตานซาง ขับพยาธิ ลำต้น แก้ซางตานขโมย แก้กระษัย ถ่ายพยาธิไส้เดือน ต้มน้ำอาบรักษาโรคดีซ่าน 

เมล็ด รสเมามัน ขับพยาธิในท้อง 

เปลือกต้น รสฝาดเมา เป็นยากันบูด แก้กระษัย ขับพยาธิ แก้พิษตานซาง แก้เบื่ออาหาร ขับเสมหะ แก้พิษ ทั้งต้น รสฝาดเมา ขับพยาธิ แก้ตานซาง แก้กระษัย แก่น รสฝาดเค็มขม เมา ขับพยาธิ แก้ตานซาง แก้ลม แก้ฝีในท้อง แก้ซางตานขโมย


3. มะขวิด



ใบมะขวิด


มะขวิด 

มีแหล่งกำเนิดในประเทศอินเดีย พม่า ศรีลังกา และอินโดจีน ปลูกทั่วไปในบริเวณหมู่บ้านและสวน แล้วแพร่กระจายไปตามธรรมชาติ ในประเทศมาเลเซียและเกาะชวากับเกาะบาลี อินโดนีเซีย และมีการนำไปปลูกในแคลิฟอร์เนียและฟลอริดาเพื่อใช้ในการศึกษา โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 15-25 เซนติเมตร เป็นไม้ผลัดใบแต่ผลิใบไว รูปทรงของต้นสวยงาม ลักษณะเป็นทรงเรือดยอดพุ่มกลม เปลือกลำต้นภายนอกมีสีเทา ส่วนภายในมีสีขาว เป็นต้นไม้ที่มีความทนต่อสภาพดินและภูมิอากาศต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ชอบขึ้นในเจตมรสุมหรือในเขตร้อนที่มีอากาศแห้งแล้งเป็นบางช่วง

สรรพคุณ

มะขวิด เป็นยาบำรุงกำลัง ทำให้สดชื่น เจริญอาหาร แก้อาการท้องเสีย และรักษาโรคทางเดินอาหาร โรคลักปิดลักเปิด แก้ฝีเปื่อยบวม ตกโลหิต และแก้พยาธิ ใบและดอก แก้ท้องร่วง แก้บวมและฟกช้ำ ตกโลหิต ขับลม เป็นยาฝาดสมาน และแก้พยาธิ ยาง แก้ทองเสีย สมานแผล และเจริญไฟธาตุ เปลือก แก้ฝีเปื่อย แก้บวม แก้อาการลงท้อง ตกโลหิด และแก้พยาธิ



4. มะขามป้อม



มะขามป้อม


มะขามป้อม 

จัดเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพและเป็นสมุนไพรพื้นบ้านอีกชนิดหนึ่งเพราะมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระอย่างวิตามินซีสูงมาก โดยประโยชน์มะขามป้อมหรือสรรพคุณมะขามป้อมนั้นมีมากมาย และยังใช้ เป็นยารักษาโรคบางชนิดได้อีกด้วย เพราะมะข้ามป้อมนั้นอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดที่ประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามินเอ วิตามินบี3 วิตามินซี ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก และยังประกอบไปด้วย คาร์โบไฮเดรต ใยอาหาร เป็นต้น และคุณรู้หรือไม่ว่าวิตามินซีในน้ำคั้นจากผลของมะข้ามป้อมนั้นมีมากกว่าน้ำส้มคั้นประมาณ 20 เท่า ซึ่งมะขามป้อมลูกเล็ก ๆ 1 ผล จะมีปริมาณวิตามินซี เท่ากับส้ม 1-2 ผลเลยทีเดียว

สรรพคุณ

ใช้รับประทานเพื่อบรรเทาหวัด แก้ไอ และละลายเสมหะได้   มีแทนนินซึ่งมีฤทธิ์ในการต้านออกซิเดชัน ต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ยับยั้งการสร้างเมลานิน และสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase) ได้


5. มะดูก


มะดูก


มะดูก 

จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 20-35 เมตร แตกกิ่งก้านทึบ เรือนยอดมีลักษณะกลมทึบ เปลือกต้นเป็นสีเทาอมดำแตกเป็นร่องตามยาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และการปักชำกิ่ง จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกสภาพ ชอบดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี มีแสงแดดเต็มวัน เป็นพรรณไม้ที่มักพบขึ้นตามบริเวณป่าราบ ป่าโปร่งที่ค่อนข้างชื้น โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคกลางของประเทศไทย ที่ระดับความสูงไม่เกิน 800 เมตร จากระดับน้ำทะเล

สรรพคุณ


  1. รากมีรสมันเมา ใช้รับประทานเป็นยาบำรุงกระดูก ดับพิษในกระดูก (ราก)
  2. ลำต้นมะดูก นำมาตากแห้งผสมกับลำต้นฮ่อสะพานควาย, ข้าวหลามดง, ตานเหลือง, มะตันขอ, ม้ากระทืบโรง, หัวยาข้าวเย็น, แก่นฝาง, โด่ไม่รู้ล้ม และเปลือกลำต้นนางพญาเสือโคร่ง นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง แก้อาการปวดเมื่อย (ลำต้น)
  3. รากนำมาต้มผสมกับขันทองพยาบาท ใช้กินเป็นยารักษาโรคมะเร็ง (ราก)
  4. รากใช้กินเป็นยาแก้พิษฝีภายใน ฝีในตับ ฝีในปอด ฝีในกระดูก (ราก)
  5. รากใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน แก้ประดง น้ำเหลืองเสีย เข้าข้อออกดอก (ราก)
  6. ใช้เป็นยาแก้อาการปวดแสบปวดร้อน (ราก)
  7. รากใช้เป็นยาแก้เส้นเอ็นพิการ (ราก)
  8. รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดกระดูกและข้อ (ราก)


6. มะตูม






มะตูม

ไม้ต้น สูง 10 - 15 เมตร เปลือกต้นสีเทา แตกเป็นร่องตามยาว ใบ เป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ ออกเรียงสลับ มีใบย่อย 3 ใบ ใบย่อยใบปลาย รูปไข่ กว้าง 2-6 ซม. ยาว 5-14 ซม. ปลายใบแหลม แผ่นใบบางเรียบเกลี้ยงเป็นมัน ก้านใบย่อยใบปลายจะยาวกว่าใบที่คู่กัน ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง กลีบดอกมี 4 กลีบ โคนติดกัน ปลายแยกเป็น 4 แฉก รูปไข่กลับยาว ด้านนอกสีเขียวอ่อน ด้านในสีขาวนวล มีน้ำเมือก มีกลิ่นหอม ผล รูปรีกลมหรือยาว ผิวเรียบเกลี้ยง เปลือกหนา แข็ง ผลอ่อนสีเขียว ผลสุกเป็นสีเขียวอมเหลือง เนื้อในสีส้มปนเหลือง นิ่ม เมล็ดมีจำนวนมาก


สรรพคุณ

ตำรายาไทย ผล รสฝาด หวานชุ่ม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อกระเพาะและลำไส้ ใช้เป็นยาแก้ท้องเดิน ท้องเสียเรื้อรัง แก้บิดมูกเลือด บิดเรื้อรัง บำรุงธาตุ เจริญอาหาร แก้เจ็บคอ คออักเสบ ร้อนใน ปากเปื่อย ขับเสมหะ ขับลม ผลมะตูมยังมีสรรพคุณพิเศษคือมีฤทธิ์ลดความกำหนัด คลายกังวล และช่วยให้สมาธิดีขึ้น ชาวพุทธจึงนิยมใช้ทำเป็น น้ำปานะ ถวายพระสงฆ์  

ผลดิบแห้ง ชงน้ำดื่ม แก้ท้องเสีย แก้บิด ผลสุก รสหวานเย็น เป็นยาระบาย ช่วยย่อยอาหาร บำรุงไฟธาตุ แก้ลมในท้อง แก้มูกเลือด ผลอ่อน รสฝาดร้อนปร่าขื่น บดเป็นผง ต้มกินแก้ธาตุพิการ แก้ท้องเสีย แก้บิด แก้โรคกระเพาะอาหาร ทำให้เจริญอาหาร ขับลม บำรุงกำลัง 

ผลแก่ รสฝาดหวาน ต้มดื่มแก้เสมหะและลม บำรุงไฟธาตุ ช่วยย่อยอาหาร ใบสด รสฝาดมัน คั้นน้ำกินแก้หลอดลมอักเสบ แก้บวม แก้หวัด แก้ผดผื่นคัน แก้ตาบวม แก้ตาอักเสบ เปลือกรากและต้น รักษาไข้มาลาเรีย ขับลมในลำไส้  ราก รสฝาด ซ่า ใช้เป็นยาแก้ปากเปื่อย ขับเสมหะ แก้พิษฝี พิษไข้ แก้สติเผลอ ขับน้ำดี ขับลม เปลือกรากและลำต้น แก้ไข้จับสั่น ขับลมในลำไส้ 



7. มะพูด



มะพูด


มะพูด

เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียเขตร้อน  จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 7-10 เมตร (บ้างว่ามีความสูงประมาณ 15 เมตร) เรือนยอดเป็นกลมกลมหรือเป็นรูปไข่ เป็นทรงพุ่มแน่นทึบ ลำต้นตั้งตรง และอาจมีร่องรอยของแผลเป็น มีลักษณะเป็นปุ่มปมตะปุ่มตะป่ำ ซึ่งเกิดจากการหลุดร่วงของกิ่งก้านทั่วไป โดยจะแตกกิ่งก้านต่ำเป็นพุ่มโปร่ง ก้านจะแตกออกจากลำต้นค่อนข้างถี่ และเปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลเข้ม เรียบ และแตกเป็นร่องตื้น ๆ ตามยาวของลำต้น เมื่อเปลือกต้นเกิดบาดแผลจะมียางสีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองไหลซึมออกมา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด และการใช้กล้าปักชำ มีเขตการกระจายพันธุ์ในป่าดิบชื้น และตามชายห้วยหรือพื้นที่ริมน้ำในป่าเบญจพรรณ โดยจะพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ และในพื้นที่แถบชายแดนจังหวัดสุรินทร์และศรีษะเกษ ส่วนในต่างประเทศสามารถพบได้ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ชวา ลาว กัมพูชา และบอร์เนียว

สรรพคุณ


  1. น้ำคั้นจากผลมีรสเปรี้ยวอมหวาน มีสรรพคุณช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน (ผล,น้ำคั้นจากผล)
  2. รากมีรสจืด มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ (ราก)
  3. มะพูด สรรพคุณช่วยแก้อาการร้อนใน (ราก)
  4. ช่วยแก้อาการไอ (ผล,น้ำคั้นจากผล)
  5. ช่วยแก้อาการเจ็บคอ (ผล,น้ำคั้นจากผล)
  6. ช่วยขับเสมหะ กัดเสมหะ (ผล,น้ำคั้นจากผล)
  7. ผลมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ (ผล)
  8. ช่วยถอนพิษผิดสำแดง (ราก)
  9. ช่วยขับถ่ายโลหิตเสียให้ตก (ผล)
  10. เปลือกต้นมีรสฝาด นำไปต้มกรองเอาแต่น้ำ ใช้ชำระล้างบาดแผล (เปลือกต้น)
  11. ช่วยแก้อาการช้ำใน (ผล)
  12. เมล็ดนำมาบดผสมกับน้ำส้มหรือเกลือ ใช้ทาแก้อาการบวม (เมล็ด)


8. มะแว้ง


มะแว้งต้น


มะแว้ง

ไม้พุ่ม สูง 1-1.5 เมตร เปลือกต้นเรียบสีน้ำตาล ยอดอ่อนและต้นอ่อนมีขนสีขาว ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปไข่หรือขอบขนาน กว้าง 4-10 ซม. ยาว 6-12 ซม. ปลายใบและโคนใบมน ขอบใบหยักเว้า แผ่นใบสีเขียว มีขนนุ่ม ก้านใบยาว ดอก ออกเป็นช่อตามกิ่งหรือซอกใบ ดอกย่อยมี 5-10 ดอก ดอกสีม่วง กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉกแหลม ด้านนอกมีขน กลีบดอกมี 5 กลีบ รูปไข่ ปลายแหลม เกสรเพศผู้สีเหลือง ติดกันเป็นรูปกรวย ผล รูปทรงกลม ขนาด 1 ซม. ผิวเรียบ ผลดิบสีเขียวไม่มีลาย ผลสุกสีส้ม เมล็ดแบนจำนวนมาก

สรรพคุณ 
  • ราก -  แก้เสมหะ น้ำลายเหนียว แก้ไอ แก้ไข้สันนิบาต แก้โลหิตออกทางทวารหนัก ทวารเบา
  • ทั้งต้น - แก้โลหิตออกทางทวารหนัก ทวารเบา
  • ใบ - บำรุงธาตุ แก้วัณโรค แก้ไอ
  • ผล - บำรุงน้ำดี รักษาโรคเบาหวาน แก้ไอ แก้เสมหะ แก้น้ำลายเหนียว แก้คอแห้ง ขับปัสสาวะ รักษาโรคทางไต และกระเพาะปัสสาวะ แก้โลหิตออกทางทวารหนัก ทวารเบา


9. มะหวด





มะหวด

เป็นไม้พุ่มผลัดใบหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร และสูงได้ถึง 15 เมตร ทรงพุ่มกลมหรือเป็นรูปไข่ เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาล แตกเป็นร่องตามยาว กิ่งแขนงเป็นรูปทรงกระบอกเป็นร่อง ที่กิ่งก้านมีขนละเอียด เมื่อยังอ่อนอยู่จะมีขนสั้น ๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด และวิธีการทำกิ่งตอน เจริญเติบโตได้ดีในดินแทบทุกชนิด ชอบดินทุกชนิดที่ระบายน้ำได้ดี ชอบแสงแดดจัด มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศอินเดีย จีนตอนใต้ ออสเตรเลีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในประเทศไทยพบได้ทุกภาค ตามป่าผลัดใบ ริมลำธาร ชายป่าชื้น ชายป่าดิบ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และพื้นที่โล่งแจ้ง ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 300-1,200 เมตร

สรรพคุณ
             
ตำรายาไทย ราก รสเมาเบื่อสุขุม รักษาอาการไข้ ตำพอกศีรษะแก้อาการไข้ปวดศีรษะ ตำพอกรักษาผิวหนังผื่นคัน แก้พิษฝีภายใน ขับพยาธิ วัณโรค แก้พิษร้อน แก้กระษัยเส้นเอ็น ต้มน้ำดื่ม แก้เบื่อเมา รากผสมกับสมุนไพรอื่น ต้มน้ำดื่ม แก้ซาง (โรคของเด็กเล็ก มีอาการเบื่ออาหาร ซึม มีเม็ดขึ้นในปากและคอ ลิ้นเป็นฝ้า) เปลือกต้น บำรุงธาตุ แก้ธาตุพิการ แก้บิด สมานแผล ใบ แก้ไข้ ผสมกับสมุนไพรอื่น ต้มน้าดื่มแก้ซาง ใบอ่อน รับประทานเป็นผักได้ ชาวบ้านใช้ใบรองพื้นและคลุมข้าวที่จะใช้ทำขนมจีนเพื่อกันบูด  ผล บำรุงกำลัง แก้ท้องร่วง ผลสุก มีรสจืดฝาด ถึงหวาน รับประทานเป็นผลไม้ แก้ท้องร่วง เมล็ด รสฝาด ต้มดื่มแก้ไข้ซาง แก้ไอกรน แก้ไอหอบในเด็ก แก้ไอเรื้อรัง  บำรุงเส้นเอ็น


10. มะอึก




มะอึก 

สันนิษฐานว่าน่าจะมีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมไปถึงประเทศไทยด้วย โดยจัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดกลาง มีความสูงราว 1-2 เมตร ทุกส่วนของต้นจะมีขนละเอียดสีน้ำตาลอ่อนปกคลุมอยู่ ลำต้นและใบจะคล้ายคลึงกับมะเขือพวง ต่างกันที่ลำต้นและใบของมะอึกนั้นจะมีหนามและมีขนอ่อนปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการการเพาะเมล็ด ชอบดินร่วนซุย น้ำปานกลาง แข็งแรงทนทานต่อโรคแมลงและดินฟ้าอากาศ

สรรพคุณ

  1. รากมะอึก มีรสเย็นและเปรี้ยวเล็กน้อย ช่วยดับพิษร้อนในร่างกาย (ราก)
  2. สรรพคุณของผลมะอึก ช่วยกัดเสมหะ ขับฟอกเสมหะในลำคอ (ผล)
  3. รากมะอึก สรรพคุณช่วยลดไข้ แก้ไข้ แก้ไข้เพื่อดี แก้ไข้สันนิบาต (ราก)
  4. มะอึก สรรพคุณช่วยแก้อาการไอ (ผล)
  5. ช่วยแก้น้ำลายเหนียว (ราก)
  6. ช่วยแก้ปอดบวม (ใบ)
  7. ช่วยแก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้เมล็ด นำมาเผาแล้วสูดดมควันเข้าไป (เมล็ด)
  8. ขนของผลมะอึก สามารถนำมาทอดกับไข่เพื่อช่วยขับพยาธิได้ (ขน)
  9. สรรพคุณมะอึก รากช่วยแก้ปวด (ราก)
  10. ช่วยแก้ดีพิการ แก้โทษเพื่อน้ำดี (ผล)
  11. สรรพคุณของมะอึก รากแก้น้ำดีพิการ (ราก)
  12. ช่วยแก้ดีฝ่อ ดีกระตุก หรืออาการนอนสะดุ้ง ผวา เพ้อ ชนิดหลับ ๆ ตื่น ๆ ซึ่งสาเหตุมาจากโทษน้ำดีกระทำ (ราก)
  13. ใบใช้เป็นยาพอก แก้อาการคัน ผดผื่นคัน หรือจะใช้ดอกนำมาตำแล้วพอกก็ได้เช่นกัน (ใบ,ราก,ดอก)
  14. ใบใช้ตำแก้พิษฝี (ใบ)
  15. ช่วยกระทุ้งพิษไข้หัวทุกชนิด หรืออาการของไข้ที่มีตุ่มออกเป็นผื่นตามผิวหนัง เช่น เหือด หิด หัด อีสุกอีใส เป็นต้น (ราก)




ขอบคุณ  :  1)  http://www.npic-surat.com     2) http://frynn.com

               3)  http://www.phargarden.com   4) https://th.wikipedia.org

               5)  http://www.rspg.or.th        

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์