ลูกไม้...หล่นไกลต้น 6


เรื่องราวของ “ลูกไม้..หล่นไกลต้น”  จะโฟกัสไปที่ลูกไม้ที่มีปีก  4  แบบ  คือ แบบใบพัดเดียว  ปีกแบบใบพัดสองใบ หรือหลายใบ  ปีกแบบครีบ  และปีกแบบใบเรือ  มากที่สุด  ทั้งนี้สืบเนื่องจากมีความแปลกตา  น่าสนใจ และมีความสวยงามมากกว่าลูกไม้แบบอื่น ๆ  อนึ่ง ลูกไม้..หล่นไกลต้น”  มีปริมาณสาระต่าง ๆ โดยรวมเป็นจำนวนมาก  จำเป็นต้องจัดแบ่งการนำเสนอเป็นชุด ๆ และในครั้งนี้นับเป็นชุดที่ 6  ประกอบด้วยลูกไม้มีปีก 3 ลูกไม้ ได้แก่  ขี้หนอน  รกฟ้า  และปออีเก้ง


***************************************


ชื่อ (Thai Name)   ขี้หนอน
 
ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific Name)   Zollingeria dongnaiensis Pierre

ชื่อวงศ์ (Family)  SAPINDACEAE

ชื่อเรียกอื่น (Other Name)   ขี้มอด (ขอนแก่น, นครราชสีมา)

ลักษณะ (Characteristics) 



ต้นขี้หนอน

ลำต้น

ต้นขี้หนอน จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 20 เมตร เรือนยอดเป็นรูปไข่หรือเป็นพุ่มกลม โปร่ง เปลือกต้นด้านนอกเป็นสีเทาดำ เรียบ แตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ มีรูระบายอากาศสีน้ำตาลทั่วไป ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีขาว ตามลำต้นหรือกิ่งไม้จะมีหนามยาวๆ อยู่ประปราย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด มีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วไปในป่าผลัดใบ ชายป่า ที่รกร้างและด้านหลังชายหาด ที่ความสูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลปานกลางถึง 375 มิลลิเมตร



ใบขี้หนอน

ใบ

ใบขี้หนอน ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ออกเรียงเวียนสลับ มีประมาณ 5-8 คู่ ใบย่อยออกเรียงตรงข้ามกัน หรือเยื้องกันเล็กน้อย ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปขอบขนาน ปลายใบมนหรือสอบ โคนใบเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-6.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-16 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียวเป็นมัน ส่วนท้องใบมีขนสั้นนุ่ม แผ่นใบห่อเข้าเล็กน้อย เส้นแขนงใบมีข้างละประมาณ 7-9 เส้น ส่วนก้านใบย่อยยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร



รูปขี้หนอน

ช่อดอก

ดอกขี้หนอน ออกดอกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงตามซอกใบค่อนไปทางปลายกิ่ง ช่อดอกยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ดอกเป็นสีขาวหรือสีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อนๆ และเป็นแบบแยกเพศ กลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียวมี 5 กลีบ เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร ออกดอกในช่วงประมาณพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม ดอกมีพิษถ้ากินเข้าไปจะทำให้ตายได้


ขี้หนอน

ผลสด


ผลสด


ผลแห้ง

ผลขี้หนอน ผลเป็นแห้งมีปีกยาว 3 ปีก เรียงตามยาว ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลอ่อน เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร ผลจะแก่ในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม

การกระจายพันธุ์ (Distribution) 

ในประเทศพบได้ในป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้ง  ส่วนในต่างประเทศ พบในพม่า กัมพูชา เวียดนาม และลาว

ประโยชน์ (Utilization)   


  1. ยอดอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก
  2. ฟองที่ได้จากเปลือกนั้นสามารถนำมาล้างเครื่องเพชรได้เช่นเดียวกับมะคำดีควาย และยังสามารถนำมาใช้ซักผ้าได้อีกด้วย
  3. ผลใช้ทำเป็นเครื่องประดับ
  4. ในด้านการเป็นไม้ประดับ ต้นขี้หนอนจัดเป็นไม้ยืนต้นที่มีพุ่มใบหนา เรือนยอดค่อนข้างกลม สามารถปลูกเพื่อให้ร่มเงาได้ดี เมื่อผลัดใบแล้วจะออกดอกขาวบานสะพรั่ง ปลูกได้ง่ายและโตเร็ว ใช้พื้นที่ปลูกเพียง 3×3 เมตร
  5. ในด้านการเป็นไม้ฟืนหรือถ่านไม้ เป็นฟืนที่ให้ความร้อน 4,543 แคลอรี/กรัม เป็นถ่านไม้ที่ให้ความร้อนถึง 6,989 แคลอรี/กรัม


*************************************


ชื่อ (Thai Name)   รกฟ้า

ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific Name)    Terminalia alata Heyne ex Roth

ชื่อวงศ์ (Family)   COMBRETACEAE

ชื่อเรียกอื่น (Other Name)  เซือก เซียก (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ฮกฟ้า (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), เชือก (สุโขทัย), กอง (สุโขทัย, พิษณุโลก, อุตรดิตถ์, สงขลา), สพิแคล่ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), ชะลีก (เขมร-บุรีรัมย์, เขมร-พระตะบอง), จะลีก (เขมร-บุรีรัมย์), คลี้ (ส่วย-สุรินทร์), ไฮ่หุ้นกร่ะ เคาะหนังควาย (ปะหล่อง), หกฟ้า
   
ลักษณะ (Characteristics)


เปลือกต้นรกฟ้า

ลำต้น

ต้นรกฟ้า จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดใหญ่ ลำต้นมีความสูงประมาณ 10-30 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาตรงเรือนยอดของต้น แน่นทึบ เปลือกต้นเป็นสีเทาค่อนข้างดำและแตกเป็นร่องลึก และเป็นสะเก็ดทั่วไป ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด 

ใบรกฟ้า

ใบ

ใบรกฟ้า ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย ใบเป็นสีเขียว ใบอ่อนมีขนสีน้ำตาลทั้งสองด้าน ปกคลุมอยู่ประปราย เมื่อใบแก่ขึ้นขนนี้จะหลุดร่วงไป ลักษณะของใบรกฟ้าเป็นรูปมนรี รูปขอบขนาน หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายใบมนเป็นติ่งทู่ๆ ยาวออกมาเล็กน้อย โคนใบมนหรือเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ด้านหลังใบจะมีต่อมคล้ายหูดประมาณ 1-2 ต่อม เส้นผ่านศูนย์กลางของต่อมมีขนาด 1.5-2.5 มิลลิเมตร ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-12 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-25 เซนติเมตร ก้านใบผิวเรียบ กิ่งอ่อนมีขนนุ่มปกคลุม โดยจะทิ้งใบในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน และจะผลิใบใหม่ในช่วงเดือนมิถุนายนพร้อมกับตาดอก


 ดอกรกฟ้า

ช่อดอก

ดอกรกฟ้า ก่อนจะออกดอก ต้นรกฟ้าจะผลัดใบออกหมดก่อนแล้วดอกจะแตกออกเป็นสีขาวสะพรั่งเต็มต้น โดยจะออกดอกเป็นช่อๆ และมีขนาดเล็ก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 7-15 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 1-2.5 มิลลิเมตร ดอกย่อยเป็นสีขาวหรือสีขาวอมเหลือง เมื่อดอกย่อยบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตร เป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบรองกลีบดอก โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย มีขนทั้งสองด้าน กลีบรองกลีบดอกมี 5 กลีบ สีเขียวแกมขาว ปลายแยกเป็น 5 พู กลีบมีขนาดกว้างประมาณ 0.7-1 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1-2 มิลิเมตร กลีบเลี้ยงไม่ร่วงติดไปพร้อมกับผล ไม่มีกลีบดอก ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน ขนาดเล็กแยกกัน ก้านชูอับเรณูเป็นสีขาวยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร อับเรณูเป็นสีเหลือง ส่วนเกสรเพศเมียมี 1 อัน รังไข่ inferior ovary สีเขียว ยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร มีขนเล็กสีขาวปกคลุม ก้านเกสร 1 อัน สีขาวยาว 2-3 มิลลิเมตร ยอดเกสรเป็นตุ่ม สีเขียวอ่อน




ผลรกฟ้าสด


ผลรกฟ้าแห้ง

ผลรกฟ้า ผลเป็นแบบผลแห้งและแข็ง ผลมีลักษณะเป็นรูปรี มีขนาดกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร มีปีกหนาและเป็นมันกว้างกว่าผลประมาณ 5 เซนติเมตร มีเส้นปีกลากจากแกนกลางไปยังขอบปีกในแนวราบเป็นจำนวนมาก ภายในผลมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด


การกระจายพันธุ์ (Distribution) 

มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และทุกภาคของประเทศไทย โดยพบได้ทั่วไปตามป่าผลัดใบและป่าเต็งรัง ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 100-1,000 เมตร


ประโยชน์ (Utilization)   

  1. ไม้รกฟ้า เป็นเนื้อแข็ง ขัดชักเงาได้ดี สามารถนำมาใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ ด้ามเครื่องมือต่างๆ เครื่องกลึงและแกะสลัก หรือใช้ทำพื้นบ้าน ฝาบ้าน รอด ตง คาน เสา ไม้บุผนัง ฯลฯ
  2. เปลือกต้นให้น้ำฝาด คนเก่าแก่ดั้งเดิมของไทยนิยมนำมาใช้สำหรับฟอกหนังสัตว์
  3. เปลือกต้น ใช้ย้อมสีผ้าได้ โดยจะให้สีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ การย้อมสีจากเปลือกต้นรกฟ้า ทำได้ด้วยการแช่เปลือกต้นรกฟ้าในปริมาณพอสมควร ทิ้งไว้ประมาณ 3 วัน แล้วตั้งไฟต้มให้เดือดจนเห็นว่าสีออกหมดดีแล้ว หลังจากนั้นให้เทน้ำย้อมใส่ลงในอ่างย้อมหมักแช่ไว้ 1 คืน นำเปลือกไม้ไปผึ่งแดดให้แห้ง เก็บไว้ใช้ต่อไป โดยสีเปลือกไม้รกฟ้านี้ถ้าถูกต้มจะกลายเป็นสีดำ



***************************************


ชื่อ (Thai Name)    ปออีเก้ง

ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific Name)  Pterocymbium tinctorium (Blanco) Merr.

ชื่อวงศ์ (Family)   MALVACEAE (วงศ์ย่อย STERCULIACEAE)

ชื่อเรียกอื่น (Other Name)  กระพงใหญ่ปอขี้แฮด ปอกระด้าง ปอขี้ไก่ ปอขี้ลิ้น หมีคำราม
   
ลักษณะ (Characteristics)


ลำต้น

ไม้ยืนต้นผลัดใบ สูงได้ถึง 35 เมตร โคนต้นมักเป็นพูพอนต่ำ เปลือกเรียบ มีรูระบายอากาศคล้ายแผลเป็นกระจักกระจายตลอดลำต้น


ใบ

ใบ เป็นใบเดี่ยว ขึ้นสลับกัน ตัวแผ่นใบบางคล้ายแผ่นกระดาษ รูปไข่ขนาด 8-11 x 5-8 ซม. โคนใบเว้าคล้ายรูปหัวใจ ปลายใบแหลมเป็นติ่ง เส้นแขนงใบ 5-7 เส้น แยกออกจากจุดเดียวกันที่โคนใบ 


ดอก

ดอก เกิดบนช่อ มีกิ่งก้านสาขาสั้น ๆ กลีบรองกลีบดอกติดกัน คล้ายรูประฆัง เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 ซม. เกสรผู้และเกสรเมีย แยกอยู่คนละดอก ดอกเพศผู้มีเกสรผู้ที่ไม่มีก้าน 8-10 อัน ติดอยู่บนแกนยาว ดอกเพศเมียมีเกสรเมีย 5 อัน ติดอยู่บนก้านส่งสั้น ๆ 


ผลสด


ผลแห้ง

ผล ค่อนข้างกลมรี ผิวเรียบ ติดอยู่บนแกนซึ่งรองรับด้วยกลีบรองกลีบดอก ลักษณะคล้ายรูปเรือมีกระพุ้งยื่นยาวออกไปประมาณ 9 ซม. เป็นแผ่นบางคล้ายแผ่นกระดาษ มีเพียงเมล็ดเดียว


การกระจายพันธุ์ (Distribution) 

พบขึ้นกระจายทั่วไปในป่าดิบแล้ง  ป่าเบญจพรรณชื้น และป่าดงดิบตามบริเวณใกล้ๆ ลำห้วยทั่วไปออกดอกเดือน กุมภาพันธ์-มีนาคม

ประโยชน์ (Utilization)   

เนื้อไม้ใช้ทำหีบใส่ของ กระดานบ้านเรือนราคาถูกๆ หลักเข็ม รองเท้าไม้ แบบรองเท้า ไม้ขีดไฟ ไม้จิ้มฟัน ไม้บาง ไม้อัด เปลือกใช้ทำเชือกหยาบๆ





ขอบคุณ :  1) http://t-fern.forest.ku.ac.th      2) http://thaimisc.pukpik.com

             3) http://frynn.com                   4) http://www.samunpri.com

             5) http://thongthailand.igetweb.com    6) http://www.qsbg.org

             7) http://www.pharmacy.mahidol.ac.th   8) http://www.biogang.net

             9) http://www.goldenjubilee-king50.com  10) http://www.kasetporpeang.com

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์