ลูกไม้...หล่นไกลต้น 7

เรื่องราวของ “ลูกไม้..หล่นไกลต้น”  จะโฟกัสไปที่ลูกไม้ที่มีปีก  4  แบบ  คือ แบบใบพัดเดียว  ปีกแบบใบพัดสองใบ หรือหลายใบ  ปีกแบบครีบ  และปีกแบบใบเรือ  มากที่สุด  ทั้งนี้สืบเนื่องจากมีความแปลกตา  น่าสนใจ และมีความสวยงามมากกว่าลูกไม้แบบอื่น ๆ  อนึ่ง “ลูกไม้..หล่นไกลต้น”  มีปริมาณสาระต่าง ๆ โดยรวมเป็นจำนวนมาก  จำเป็นต้องจัดแบ่งการนำเสนอเป็นชุด ๆ และในครั้งนี้นับเป็นชุดที่ 7  ซึ่งเป็นชุดสุดท้ายเท่าที่จะพอมีข้อมูลให้สืบค้นกันได้บ้างตามสมควร (หากผู้รู้ท่านใดที่พอจะมีข้อมูลเอกสารและภาพถ่ายที่ดีกว่า...ขอได้กรุณาร่วมแชร์กับเราด้วย...ขอบคุณครับ  เพราะถือได้ว่ามีส่วนร่วมในการให้ความรู้..นับเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่)  ประกอบด้วยลูกไม้มีปีก  4  ลูกไม้ ได้แก่  กระบาก  กระบกกรัง   กระเจา  และแพ่งเครือ 
                                                                                                                    
********************************


ชื่อ (Thai Name)   กระบาก

ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific Name)  Anisoptera  costata

ชื่อวงศ์ (Family)  DIPTEROCARPACEAE

ชื่อเรียกอื่น (Other Name)   ตะบาก, กระบากขาว, กระบากโคก, กระบากช่อ, กระบากด้าง, กระบากดำ, กระบากแดง, ชอวาตาผ่อ, บาก, ประดิก, พนอง, หมีดังว่า

ลักษณะ (Characteristics) 



ลำต้น

ต้น เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ ผลัดใบปกติ สูง 20-30 เมตร แต่อาจพบสูงถึง 40 เมตร ลำต้นเปลาตรง เปลือกหนาสีน้ำตาลเทา แตกร่อนและเป็นสะเก็ด เปลือกในเรียงซ้อนกันเป็นชั้นสลับกันระหว่างสีน้ำตาลแดง และสีเหลือง โคนต้นมักเป็นพูพอน



ใบ

ใบ เป็นชนิดใบเดี่ยวติดเรียงสลับ ทรงใบรูปรีแกมรูปขอบขนาน และรูปไข่กลับ กว้าง 3-8 ซม. ยาง 6-16 ซม. หลังใบเกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง ท้องใบมีสีน้ำตาลอมเหลือง เส้นแขนงใบมี 12-16 คู่ ขอบใบเรียบ

 กระบาก Anisoptera costata Korth. วงศ์ DIPTEROCARPACEAE

ดอก

ดอก ขนาดเล็ก  ออกรวมกันเป็นช่อตามปลายกิ่งและง่ามใบตอนปลายๆ กิ่ง  กลีบดอกมี  5  กลีบ สีขาวปนเหลืองอ่อน


ผล

ฝัก/ผล  กลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. ผิวเรียบ มีปีกยาว 2 ปีก

การกระจายพันธุ์ (Distribution) 

มีถิ่นกำเนิดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย  เป็นพรรณไม้หลักของป่าดิบแล้ง  และป่าเบญจพรรณทั่วประเทศที่สูงจากระดับน้ำทะเล  10 - 400  เมตร    

ประโยชน์ (Utilization)   

- ใช้ประโยชน์ในการทำแบบหล่อคอนกรีต พื้น รอด ตง เรือมาด แจว พาย กรรเชียง ตัวถังเกวียนและรถ สันแปรง หีบใส่ของและหีบศพ 

- ชันใช้ผสมน้ำมันทาไม้ น้ำมันชักเงา ยาแนวไม้และเรือ

- ปลูกเป็นแนวกันลม ควบคุมความชื้น รักษาระบบนิเวศของป่าดินและน้ำ

- ไม้ประดับ



********************************



ชื่อ (Thai Name)   กระบกกรัง

ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific Name)  Hopea helferi (Dyer) Brandis

ชื่อวงศ์ (Family)  DIPTEROCARPACEAE

ชื่อเรียกอื่น (Other Name)   พะนองแดง, พะนองหิน (ภาคตะวันออกเฉียงใต้); ตะเคียนหนู (นครนายก); ใบหลังขาว, บากดำ, ตะเคียนหมี, หงอนไก่ (ภาคใต้) 

ลักษณะ (Characteristics) 

ไม้ต้น สูง 15-40 ม. โคนต้นมีพูพอน เปลือกเรียบ ลอกเป็นแผ่น มีขนเป็นกระจุกสั้นๆ ที่ตา กิ่งอ่อน หูใบ และช่อดอก กิ่งมีช่องอากาศ หูใบขนาดเล็ก รูปไข่แกมรูปใบหอก 

ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 6-18 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบรูปลิ่มกว้างหรือคล้ายรูปหัวใจ แผ่นใบด้านล่างมีเกล็ดสีเงิน เส้นแขนงใบข้างละ 12-20 เส้น เส้นแขนงใบย่อยแบบขั้นบันได ก้านใบยาว 0.7-1.5 ซม. 


ช่อดอก

ช่อดอกแบบแยกแขนง ยาว 5-15 ซม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีจำนวนอย่างละ 5 กลีบ กลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยม ยาว 1-2 ซม. กลีบดอกสีเหลืองครีม กลีบรูปไข่แกมรูปใบหอก ยาว 3-4 มม. เกสรเพศผู้ 15 อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 0.4 มม. แผ่กว้างช่วงล่าง อับเรณูรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 0.2 มม. ปลายมีรยางค์รูปเส้นด้าย ยาวประมาณ 0.6 มม. รังไข่และโคนก้านเกสรเพศเมีย (stylopodium) รูปกรวย เว้า ยาวประมาณ 1.5 มม. ปลายตัด ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 0.5 มม. ยอดเกสรหยัก 3 พู ไม่ชัดเจน 


ผล

ผลแข็งเมล็ดเดียว รูปไข่ ยาวประมาณ 8 มม. ปลายมีติ่งแหลม โคนกลีบเลี้ยงหนา มีขนสั้นนุ่มด้านนอก ปีกยาว 2 ปีก รูปใบพาย ยาว 5-6 ซม. เรียวแคบด้านล่าง เส้นกลีบมีประมาณ 7-9 เส้น  ปีกสั้น 3 ปีก รูปไข่ ยาวประมาณ 3 มม.  

การกระจายพันธุ์ (Distribution) 

กระบกกรังเป็นพรรณไม้ภูมิภาคอินโดจีน-พม่า มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย (หมู่เกาะอันดามัน) พม่า กัมพูชาและคาบสมุทรมลายู ในไทยพบกระจายห่างๆ ในภาคกลาง (เขาใหญ่) ภาคตะวันออก ตะวันออกฉียงใต้ ตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบชื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ระดับความสูงจนถึงประมาณ 400 เมตร

ประโยชน์ (Utilization)   

เนื้อไม้ละเอียดปานกลาง แข็ง เหนียว เสี้ยนหยาบ ไสกบตกแต่งค่อนข้างยาก ขัดเงาได้ดีพอสมควร นิยมใช้ในการก่อสร้างที่อยู่ในร่ม เช่น เสา คาน รอด ตง



********************************


ชื่อ (Thai Name)  กระเจา

ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific Name)  Holoptelea integrifolia
Planch.


ชื่อวงศ์ (Family)  Ulmaceae

ชื่อเรียกอื่น (Other Name)   กระเจ้า กระเจาะ กระเช้า กระเซาะ กาซาว
ขะจาว  ขะจาวแจง   ตะสี่แค  พูคาว มหาเหนียว ฮังคาว
ฮ้างค้าว


ลักษณะ (Characteristics) 



ลำต้น

ม้ต้นขนาดกลาง สูง  15-30 เมตร  ผลัดใบ เรือนยอดรูปไข่ค่อนข้างทึบ  ลำต้น  เปลาตรง   เปลือกสีน้ำตาลปนเทา แตกเป็นร่องตามยาว ลำต้นมีต่อมระบายอากาศเป็นจุดกลมเล็กขาว


ใบ

ใบเดี่ยว  เรียงสลับระนาบเดียว ใบรูปไข่ รูปรีป้อม กว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 8-14 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม   โคนใบมนหรือป้าน แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ใบเกลี้ยง ชอบใบเรียบ เส้นแขนงใบข้างละ 5-8 เส้น ก้านใบยาว 1 เซนติเมตร


ดอก

ดอก (Flower) : สีม่วงเข้ม ดอกมีขนาดเล็ก ออกรวมเป็นช่อแบบช่อกระจุกตามซอกใบ ช่อดอกยาว 5-15 มิลลิ เมตร  มีขนละเอียดสีขาว กลีบเลี้ยงสีเหลืองอ่อน 3-5 กลีบ  ไม่มีกลีบดอก ดอกแยกเพศ  บางครั้งมีดอกสมบูรณ์ เพศอยู่ในช่อเดียวกัน ดอกบานเต็มที่กว้าง3-4 มิลลิเมตร



ผล


ผล

ผล (Fruit) :   ผลแห้งแบบมีปีกล้อมรอบ ทรงกลมและแบน ปลายแยก 2 แฉก ขนาด 2-3 เซนติเมตร สีเขียวอ่อน  ผลแห้งสีน้ำตาล เมล็ดรูปรี มีเส้นนูนล้อมรอบเมล็ด 

การกระจายพันธุ์ (Distribution)    พบได้ในป่าเบญจพรรณแล้งและชื้น

ประโยชน์ (Utilization)   

ปลูกให้ร่มเงาริมถนนหลวงเพราะพุ่มทึบ ผลสวย เป็นไม้โตเร็วและ ทนไฟป่าได้ดี  
ใบและเปลือกปรุงเป็นยาแก้ปวดข้อ โรคเรื้อน กำจัดเห็บ หมัดและกันตัวไร เส้นใยจากเปลือกเหนียว ทำเชือก ผ้าและกระสอบได้



********************************


ชื่อ (Thai Name)   แพ่งเครือ
 
ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific Name)    Sphenodesme mollis Craib

ชื่อวงศ์ (Family)    Verbenaceae

ชื่อเรียกอื่น (Other Name)    พูหีบ,สะแกใบดำ

ลักษณะ (Characteristics) 

ไม้เลื้อยเนื้อแข็ง ลำต้นและกิ่งอ่อนมีขนปกคลุม เมื่อแก่ค่อนข้างเกลี้ยง ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง 1.5-7.5 ซม. ยาว 4-12 ซม. แผ่นใบมีขนทั้งสองด้าน 


ดอกเป็นช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ช่อดอกมีขนปกคลุม ดอกย่อยออกรวมกันเป็นช่อกระจุกกลม มีใบประดับลักษณะคล้ายปีกรองรับ กลีบดอกสีม่วงอ่อน โคนกลีบเชื่อมติดกันปลายแยกเป็น 5 แฉก มีขนที่ขอบและด้านในของกลีบ ผลแบบแก่แล้วแตก และมีใบประดับรองรับ

การกระจายพันธุ์ (Distribution)     -


ประโยชน์ (Utilization)   ปลูกเป็นซุ้มไม้เลื้อยประดับบ้านเรือน



********************************



นอกจากนี้  กลุ่มงานวิชาการ  สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 (สุราษฎร์ธานี)  กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช  ยังได้จัดทำโปสเตอร์แสดงพรรณไม้ "วงศ์ยาง"  เพื่อเป็นข้อมูลพรรณไม้สำหรับผู้ที่ชื่นชอบความสวยงาม น่าสนใจ และการแต่งเติมของธรรมชาติ ก่อเกิดลูกไม้มีปีกอย่างหลากหลาย  ซึ่งไม้บางชื่อยังไม่เป็นที่คุ้นเคยเท่าใดนัก  แบ่งได้เป็น 6 กลุ่ม  ดังภาพ



เข้าดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่...http://www.npic-surat.com




ขอบคุณ  :   1) http://www.nanagarden.com    2)  www.biogang.net

               3) http://www.dnp.go.th             4)  http://www.rspg.or.th

               5) http://kasetintree.com         6)  http://www.npic-surat.com

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์