ลูกไม้..หล่นไกลต้น 5


เรื่องราวของ “ลูกไม้..หล่นไกลต้น”  จะโฟกัสไปที่ลูกไม้ที่มีปีก  4  แบบ  คือ แบบใบพัดเดียว  ปีกแบบใบพัดสองใบ หรือหลายใบ  ปีกแบบครีบ  และปีกแบบใบเรือ  มากที่สุด  ทั้งนี้สืบเนื่องจากมีความแปลกตา  น่าสนใจ และมีความสวยงามมากกว่าลูกไม้แบบอื่น ๆ  อนึ่ง ลูกไม้..หล่นไกลต้น”  มีปริมาณสาระต่าง ๆ โดยรวมเป็นจำนวนมาก  จำเป็นต้องจัดแบ่งการนำเสนอเป็นชุด ๆ และในครั้งนี้นับเป็นชุดที่ 5  ประกอบด้วยลูกไม้มีปีก  4 ลูกไม้ ได้แก่  ชิงชัน  ประดู่ป่า  ประดู่แดง และสกุณี


********************************

ชื่อ (Thai Name)   ชิงชัน
 
ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific Name)   Dalbergia oliveri Gamble

ชื่อวงศ์ (Family)  FABACEAE (LEGUMINOSAE-PAPILIONOIDEAE)

ชื่อเรียกอื่น (Other Name)  ประดู่ชิงชัน ดู่สะแดน เก็ดแดง อีเม็ง พยุงแกลบ กะซิก กะซิบ หมากพลูตั๊กแตน
  
ลักษณะ (Characteristics)



ลำต้น

ไม้ชิงชันจัด เป็นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงถึง 25 เมตร เปลือกหนามีสีน้ำตาลเทา กะเทาะล่อนเป็นแว่นหรือแผ่นขนาดเล็ก เปลือกในสีเหลือง เนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อนอมเหลือง แก่นสีม่วง ถึงน้ำตาลอมม่วงมีเส้นแทรกดำและมีเสี้ยนสน 


ใบ

ยอดอ่อน ใบอ่อนออกสีแดงเกลี้ยง หรือมีขนเบาบาง ใบเป็นช่อ ก้านช่อยาว 5-30 เซนติเมตร ส่วนมากจะมีใบประกอบย่อย 11-17 ใบ เมื่อยังเล็ก จะมีลักษณะค่อนข้างกลมและมีลักษณะยาวรีหรือเรียวเป็นรูปขอบขนานแกมรูปหอก เมื่อต้นไม้มีอายุมากขึ้น ใบกว้าง 1-4 เซนติเมตร ยาว 4-8 เซนติเมตร ฐานใบกลมหรือเป็นรูปลิ่มกว้างๆ ปลายใบมนทู่หรือ ยักเว้าเล็กน้อยทางกด้านท้องใบจะมีสีจางกว่าหลังใบ 


ดอก

ดอกมีสีขาวอมม่วง เกิดบนช่อดอกเชิงประกอบตามปลายกิ่ง ดอกจะเกิดพร้อมกับการผลิใบใหม่ในราวเดือน มีนาคม-พฤษภาคม เกสรผู้แยกออกเป็นสองกลุ่มๆ ละ 5 อัน 


ฝัก

ฝักมีลักษณะแบนแผ่เป็นปีกยาวรี หรือรูปขอบขนาน ผิวเรียบ ส่วนที่หุ้มเมล็ดหนาแข็ง มีลักษณะเป็นกระเปาะกลมหรือแกมรีเล็กน้อย กว้าง 3-3.5 เซนติเมตร นาว 8-17 เซนติเมตร ส่วนที่หุ้มเมล็ดหนาแข็ง มีลักษณะเป็นกระเปาะผิวเรียบบางไม่เห็นเส้นแขนง ตัวของกระเปาะกลมหรือแกรมรีเล็กน้อยนูนเด่นออกมาเห็นได้ชัด รอบๆ กระเปาะจะมีลักษณะคล้ายปีกแผ่กว้างออกไปเห็นได้ชัด 


ฝักแก่

ฝักจะแก่ประมาณสองเดือนหลังจากออกดอก เมล็ด ส่วนมากจะมีเมล็ดเดียวแต่อาจพบบ้างที่มีจำนวน 2-3 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะ คล้ายรูปไตสีน้ำตาล กว้าง 0.6 เซนติเมตร ยาว 1 เซนติเมตร ระบบราก เท่าที่มีการศึกษาระบบรากของกล้าไม้พบว่าจะมีรากแก้วยาวมาก มีรากฝอยที่เกิดจากรากแขนงจำนวนปานกลาง และมักจะพบปมรากถั่วเกิดอยู่เสมอ 
 
การกระจายพันธุ์ (Distribution) 

พบขึ้นอยู่ใน ประเทศพม่า, ลาว และไทยกระจายทั่วไปในป่าเบญจพรรณ ที่มีสภาพแห้งแล้ง (dry type) มักพบเกิดอยู่ร่วมกับไม้สักและไม้ไผ่และบ่อยครั้งก็พบในป่าเต็งรังที่เป็น ดินลูกรัง ที่พบในประเทศไทย มีขึ้นอยู่ทุกภาค ยกเว้นภาคใต้


ประโยชน์ (Utilization)  

เนื่องจากเนื้อ ไม้สวยงาม มีความหนาแน่นสูง ( 905-1140 kg/cu.m ) มีอายุการ ใช้งานมากกว่า 25 ปี จึงมีการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง เช่น ใช้เป็นไม้โครงสร้างในการก่อสร้าง เป็นไม้ฟื้น ตัวถังรถ เฟอร์นิเจอร์ ด้ามเครื่องมือ เครื่องกีฬา เครื่องมือเกษตร ตกแต่งภายใน เป็นไม้ข้อต่อ ใช้ทำเสา แกะสลัก ของเล่น ไม้หนอนรถไฟ ฯลฯ

แก่น ผสมยาบำรุงโลหิตสตรี เปลือก ใช้ต้มชำระล้างและสมานบาดแผลเรื้อรัง

นอกจากประโยชน์ที่ได้รับจากเนื้อไม้โดยตรงแล้ว ไม้ชนิดนี้ยังอาจเป็นไม้ที่ปลูกเพื่อ การปรับปรุงพื้นที่ได้ เนื่องจากเป็นไม้ในตระกูลถั่ว สามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ และจากการที่มีระบบรากลึกจึงทำให้สามารถทนแล้ง และสามารถใช้ประโยชน์ จากน้ำและธาตุอาหารพืชในระดับต่ำกว่า พืชชนิดอื่นได้ ซึ่งเป็นข้อดีในการปลูกร่วมกับพืชที่มีระบบรากตื้น

**************************

ชื่อ (Thai Name)  ประดู่ป่า

ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific Name)    Pterocarpus macrocarpus Kurz

ชื่อวงศ์ (Family)   FABACEAE (LEGUMINOSAE-PAPILIONOIDEAE)

ชื่อเรียกอื่น (Other Name)   จิต๊อก ฉะนอง ดู่ ดู่ป่า ตะเลอ เตอะเลอ ประดู่ ประดู่เสน

ลักษณะ (Characteristics) 

รูปต้นประดู่

ลำต้น

ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 15-30 เมตร ลำต้นเปลาตรง โคนต้นอาจเป็นพูเล็กๆ บ้าง เปลือกสีน้ำตาลดำแตกเป็นระแหงทั่วไป เปลือกในมีน้ำเลี้ยงสีแดง ตามกิ่งและก้านอ่อนมีขนนุมทั่วไป กิ่งแก่เกลี้ยง เรือนยอดเป็นพุ่มกลมหรือเป็นรูปร่ม ปลายกิ่งห้อยลู่ลง 

ใบประดู่ป่า

ใบ

ใบ เป็นช่อยาว 12-20 ซม. เรียงสลับกัน ช่อหนึ่งๆ มีใบย่อยติดเยื้องๆ กันอยู่ 4-10 ใบ ใบย่อยรูปป้อมมน รูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปหอก กว้าง 2.5-5.0 ซม. ยาว 5-15 ซม. โคนใบมนกว้างๆ หรือป้าน ค่อยๆ สอบไปทางปลายใบ ปลายสุดเป็นติ่งแหลม หลังใบเกลี้ยงเป็นมัน ส่วนท้องใบมีขนประปราย ขอบใบเรียบ เส้นแขนงใบถี่โค้งไปตามรูปใบเป็นระเบียบ ก้านใบย่อยยาวไม่เกิน 1 ซม. ก้านใบย่อยและก้านช่อใบบวมและมีขนประปราย จะผลัดใบก่อนออกดอก แล้วผลิใบใหม่ในเวลาอันรวดเร็ว 

ดอกประดู่ป่า

ช่อดอก

ดอก ออกเป็นช่อตามง่ามใบ ตอนปลายๆ กิ่ง ช่อหนึ่งๆ ยาว 10-20 ซม. เป็นดอกสมบูรณ์เพศโคนกลีบรองกลีบดอกติดกันเป็นกรวยโค้งเล็กน้อย ด้านนอกมีขนนุ่ม ปลายแยกเป็นแฉกทู่ๆ 5 แฉก ใหญ่ 2 แฉก เล็ก 3 แฉก กลีบดอกเป็นรูปช้อนเล็กๆ ปลายกลีบกว้างและเป็นคลื่น โคนกลีบเรียวสอบเป็นก้านกลีบปกและกลีบปลีก 2 กลีบ เป็นลอนขยุกขยิก ส่วนกลีบหุ้ม 2 กลีบรูปมน เกสรผู้มี 10 อัน รังไข่มีก้านชูรังไข่ ภายในมีไข่อ่อน 2 หน่วย หลอดท่อรังไข่โค้งและจะกลายเป็นจะงอยติดอยู่ที่ขอบครีบของผลในเวลาต่อมา   ออกดอกเดือน มีนาคม - เมษายน 

ผลประดู่ป่า

ผล

ผล เป็นแผ่นกลมคล้ายจานบิน ตรงกลางนูนแล้วลาดออกเป็นครีบบางๆ โดยรอบ กว้างประมาณ 5-7 ซม.         

การกระจายพันธุ์ (Distribution) 

พบในประเทศพม่า กัมพูชา ไทย และเวียดนาม ในปร้เทศไทยพบได้ทุกภาคยกเว้นภาคใต้บริเวณป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรังและป่าดิบแล้ง

ประโยชน์ (Utilization)  

*** เนื้อไม้ สีแดงอมเหลืองถึงสีแดงอย่างสีอิฐแก่ มีเส้นแก่กว่าสีพื้น บางทีมีลวดลายสวยงาม เสี้ยนสนเป็นริ้ว เนื้อละเอียดปานกลาง แข็ง แข็งแรงและทนทาน ไสกบตบแต่งและชักเงาได้ดี ใช้ทำบ้านเรือน พื้น เสา รอด และสิ่งที่รองรับน้ำหนักมากๆ ทำกระบะรถ เกวียน ลูกกลิ้ง ด้ามเครื่องมือ ปุ่มของไม้ ประดู่มีลวดลายสวยงามและมีราคาสูง ใช้ทำเครื่องเรือน 

*** เปลือก ให้สีน้ำตาล แก่น ให้สีแดงคล้ำ ใช้ย้อมผ้า 

*** แก่นมีรสขมหวาน แก้คุดทะราด แก้เสมหะ โลหิตกำเดา แก้ไข้ ใช้ปุ่มต้มเอาควันรมทวารให้หัวริดสีดวงฝ่อแห้ง


**************************


ชื่อ (Thai Name)   ประดู่แดง

ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific Name)   Phyllocarpus septentrionalls Donn. Sm.

ชื่อวงศ์ (Family)   FABACEAE (LEGUMINOSAE-CAESALPINIOIDEAE)

ชื่อเรียกอื่น (Other Name)   วาสุเทพ Monkey flower tree, Fire of Pakistan

ลักษณะ (Characteristics)  



ลำต้น

ต้นประดู่แดง นั้นเป็นต้นไม้ที่มีสีสันสะดุดตาเมื่อเห็นแต่ไกล และส่วนมากแล้วคนจัดสวนจะจัดให้ต้นประดู่แดงเป็นต้นไม้รับแขกจะตั้งอยู่ด้านหน้าทางเสมอเพื่อให้เป็นจุดสังเกตได้ง่ายว่าได้เดินทางมาถึงสถานที่นั้น ๆเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

ต้นประดู่มีชื่อพื้นเมืองที่เรียกกันอยู่ประมาณ 2 ชื่อด้วยกันคือ ประดู่แดง กับ วสุเทพ  และประดู่แดงเป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ถือขนาดกลาง ความสูงประมาณ 10 ถึง 15 เมตร ในสภาพทั่วไป ลำต้นจะมีผิวเปลือกสีน้ำตาลอ่อน ทรงพุ่มแผ่กว้าง รูปทรงของกิ่งมักลู่ลงมาด้านล่างดูแปลกตา

ต้นประดู่แดง นั้นก็ไม่ใช่พันธุ์ไม้ที่มีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศไทยเหมือนกัน โดยต้นกำเนิดนั้นอยู่ที่อเมริกากลาง แถบประเทศกัวเตมาลา ซึ่งเดินทางข้างทวีปกันเลย ส่วนมากแล้วเราจะเห็นต้นประดู่แดงได้ตามเรือกสวนไร่นา หรือปลูกประดับไว้ในบ้านเรือน  ซึ่งต้นไม้ประดู่แดงนี้ถือได้ว่าเป็นไม้ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอย่างมากเลยทีเดียว


ใบ

ใบเป็นประกอบรูปขนนก แผ่นใบเรียบมนรี ปลายใบแหลม ออกเป็นคู่สลับกันไป ใบคู่ที่อยู่ด้านปลายสุดของใบประกอบจะมีขนาดใหญ่ที่สุดอดของประดู่แดงจะออกเป็นช่อตั้งแต่โคนช่อจนถึงปลายช่อ สีแดงอมส้ม มีเกสรยาวโผล่ออกมาจากลางดอกที่บานเต็มที่แล้ว มีกลิ่นหอมอ่อน ๆออกดอกในช่วงเดือนมกราคม ถึงมีนาคม เมื่อดอกร่วงโรยลงจนหมดแล้ว ประดู่แดง จะติดฝักแบน ๆรูปขอบขนานมีเมล็ดแบน ๆอยู่ภายใน



ดอก


ดอก

ประดู่แดง มักจะผลัดใบของมันทั้งหมดลงในยามที่ผลิดอก ความงดงามสีแดงส้มจึงเป็นสิ่งที่โดดเด่นและตราตรึงใจกับผู้ที่มาพบเห็น ประดู่แดงจะขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เป็นพันธุ์พืชที่มีอัตราการเจริญเติบโตที่ค่อนข้างเร็ว ชอบอยู่ในดินร่วนปบนทรายและอยู่ในที่มีแสงแดดตลอดทั้งวัน



ผล

ผล: ผลเป็นฝักแบน รูปขอบขนานและโค้งเล็กน้อย เมล็ดอยู่ตรงกลางมีปีกแบบครีบออกไปทางซ้ายและขวา

การกระจายพันธุ์ (Distribution) 

การกระจายพันธุ์ พบในประเทศกัวเตมาลา อเมริกาใต้ อเมริกากลาง ประเทศไทยพบได้ทั่วไป

ประโยชน์ (Utilization)  

ใช้เป็นไม้ดอกไม้ประดับ


**************************


ชื่อ (Thai Name)  สกุณี

ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific Name)  Terminalia calamansanai (Blanco) Rolfe
   
ชื่อวงศ์ (Family)   COMBRETACEAE

ชื่อเรียกอื่น (Other Name)    แฮ้น (นครสวรรค์, ชุมพร), ตีนนก (จันทบุรี, ตราด), สัตคุณี (ราชบุรี), ขี้มอด (นครปฐม), ตาโหลน (สตูล), แหนแดง (ภาคเหนือ), ประคำขี้ควาย (ภาคใต้), เปียแคร้ (เขมร-จันทบุรี) 

ลักษณะ (Characteristics) 



ต้นสกุณี

ทรงต้น

ต้นสกุณี จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ ต้นมีความสูงได้ประมาณ 8-30 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาที่เรือนยอดของต้น ซึ่งจะแผ่กว้างแบนและมักมีพูพอนขนาดเล็กที่โคนต้น เปลือกต้นแตกเป็นร่องตื้นๆ ตามยาว สีน้ำตาลอมเทา เปลือกในเป็นสีน้ำตาล ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนขึ้นปกคลุมหรืออาจเกลี้ยง ทิ้งใบในช่วงสั้นๆ ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนและใช้เมล็ด จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย พบขึ้นทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนถึงฟิลิปปินส์และนิวกินี ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณในระดับต่ำที่ความสูงไม่เกิน 200 เมตร จากระดับน้ำทะเล



ใบสกุณี

ใบ

ใบสกุณี ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับไปตามข้อต้นอัดกันแน่นใกล้ปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบแคบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 9-18 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง มีขนนุ่มขึ้นปกคลุมทั้งสองด้าน หลังใบด้านบนมักเป็นมันเงาและมีตุ่มเล็กๆ บนผิวใบ ส่วนท้องใบด้านล่างมีนวลสีน้ำตาลเทา เส้นกลางใบนูนด้านบน มีเส้นแขนงใบข้างละ 6-8 เส้น โค้งจรดกันก่อนถึงขอบใบ ส่วนเส้นใบย่อยเป็นแบบขั้นบันได ก้านใบเรียว ยาวประมาณ 1-4 เซนติเมตร และมักมีต่อมหนึ่งคู่อยู่บริเวณกึ่งกลางก้านใบหรือใกล้โคนใบ ขนาดประมาณ 0.1-0.3 มิลลิเมตร ใบก่อนร่วงจะเป็นสีเหลือง


ดอกสกุณี

ดอก

ดอกสกุณี ออกดอกเป็นแกนช่อตามซอกใบและที่ปลายยอด ช่อดอกเป็นแบบช่อเชิงลด ยาวประมาณ 8-16 เซนติเมตร มีขนนุ่มขึ้นปกคลุมอยู่ด้วย ดอกเป็นสีเหลืองอ่อนหรือสีขาวแกมเหลือง มีกลิ่นเหม็น ไม่มีกลีบดอก กลีบเลี้ยงที่โคนเชื่อมติดกัน ส่วนปลายแยกเป็น 5 กลีบ เป็นรูปถ้วยตื้นๆ ลักษณะของกลีบเป็นรูปสามเหลี่ยม ขนาดยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร ด้านในมีขนยาวประปราย ปลายกลีบโค้งเข้า หลอดกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 0.5-0.8 มิลลิเมตร ไม่มีสันตามยาว ดอกเพศผู้จะอยู่ส่วนปลายช่อ ใบประดับรูปเส้นด้าย ยาวประมาณ 0.8-1 มิลลิเมตร ร่วงง่าย ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน ยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร อับเรณูติดไหวได้ ขานฐานดอกเป็นแฉก จานฐานรองดอกรวมรังไข่ ยาวประมาณ 2-5 มิลลิเมตร รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปพีระมิด มี 1 ช่อง มีออวุล 2-3 เม็ด ส่วนก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 3.5-4 มิลลิเมตร มีขนขึ้นปกคลุม เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร โดยจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนสิงหาคมถึงเดือนธันวาคม


ผลสกุณี

ผลสด



ผลแห้ง

ผลสกุณี ลักษณะของผลเป็นรูปสามเหลี่ยม มีปีกหนา 2 ปีก อยู่ปีกละข้างของผล มีขนสีน้ำตาลอ่อย รูปร่างและขนาดของผลนั้นจะต่างกัน โดยผลจะมีขนาดประมาณ 2-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร ผลแห้งจะไม่แตก ภายในผลมีเมล็ดเดี่ยว จะติดผลในช่วงประมาณเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน

การกระจายพันธุ์ (Distribution) 


พบทั่วไปในเอเชียตะว้นออกเฉียงใต้ จนถึงฟิลิปปินส์และนิวกินี ในประเทศไทยพบตามป่าเบญจพรรณในระดับต่ำที่ความสูงไม่เกิน 200 เมตร จากระดับน้ำทะเล ออกดอกเดือนสิงหาคม-ธันวาคม ติดผลเดือนธันวาคม-เมษายน ทิ้งใบช่วงสั้นๆ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน

ประโยชน์ (Utilization)  

เนื้อไม้ไม่ค่อยทนทาน แต่ยังสามารถนำมาใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องเรือน ใช้ในการก่อสร้างภายในตัวอาคารหรือในร่มที่ไม่ต้องการความแข็งแรงมากนัก

เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจ  ใช้ผสมกับรากต้นรักดอกขาว นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ตานซางในเด็ก  ตำรายาไทยจะใช้เป็นยาแก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ และใช้เป็นยาแก้ตกเลือด 




ขอบคุณ  :  1)  http://www.qsbg.org    2)  http://mit.pbru.ac.th

               3)  http://www.biogang.net    4)  http://siamknife.com

               5)  http://www.rspg.org    6)  http://frynn.com

               7)  http://www.thaiarcheep.com   8) http://thaimisc.pukpik.com               

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์