เมืองโบราณพิชัย : อีกสถานที่หนึ่งที่ใครอาจไม่เคยรู้ !!!


การนำเรื่องราวของเมืองโบราณพิชัย มาบอกกล่าวกันครั้งนี้  เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ และเชิงโบราณคดี ไปพร้อม ๆ กัน  แม้สถานที่แห่งนี้จะไม่ยิ่งใหญ่ หรือมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วไปก็ตาม  แต่ก็นับว่ายิ่งใหญ่ในใจของผู้คน โดยเฉพาะชาวเมืองพิชัย และชาวอุตรดิตถ์  ที่ได้มีโอกาสมองเห็นภาพเรื่องราว หรือเหตุการณ์ที่บังเกิดขึ้นของผู้คนในอดีต ...... ทำให้รู้จักรากเหง้าและตัวตน "รู้เรา" มากยิ่งขึ้น ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยศิลปากร และคุณภัคธร ชาญฤทธิเสน  นักศึกษาหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์  ภาควิชาโบราณคดี  มหาวิทยาลัยศิลปากร  ปีการศึกษา 2554 สำหรับข้อมูลการศึกษาวิจัยเมืองโบราณพิชัยล่าสุด ไว้ ณ ที่นี้ด้วย

เมืองโบราณพิชัย ตั้งอยู่ที่หมู่ 2 บ้านหน้าพระธาตุ ตำบลในเมือง อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ มีอาณาเขตติดต่อดังนี้

                     ทิศเหนือ        :   ติดกับบ้านดินแดง ตำบลไร่อ้อย อำเภอพิชัย

                     ทิศตะวันออก  :   ติดกับหมู่ 7 บ้านคลองกะชี ตำบลในเมือง อำเภอพิชัย   
            
                     ทิศใต้            :  ติดกับหมู่ 3  ตำบลในเมือง อำเภอพิชัย

                     ทิศตะวันตก     :  ติดกับแม่น้ำน่าน 





เมืองโบราณพิชัย ตั้งอยู่ริมที่ราบลุ่มทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน  โดยกำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันตกอยู่ติดกับแม่น้ำ  ลักษณะของตัวเมืองโบราณพิชัยเป็นผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดประมาณ 1,000 x 600 – 720  เมตร   ตัวเมืองโบราณพิชัยในปัจจุบันได้มีถนนหมายเลข 1204 (พิชัย-ตรอน)  แบ่งเมืองออกเป็น 2 ฝั่ง  เมืองฝั่งตะวันตกได้ถูกชาวบ้านจับจองออกโฉนดสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย   ส่วนทางทิศตะวันออกเป็นเขตพื้นที่ที่ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เล่มที่ 52  ตอนที่ 75  วันที่  8  มีนาคม  2478  ให้เป็นโบราณสถานประเภท " ชุมชนโบราณ "   ดังนั้นเมืองพิชัยทางด้านตะวันออกจึงไม่สามารถออกโฉนดที่ดินได้  แต่ปัจจุบันชาวบ้านได้ขอเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์เพื่อใช้ในการทำการเกษตรจนเต็มพื้นที่เมือง 




ผลของการศึกษาวิจัย เมืองโบราณพิชัย  ประกอบด้วยประเด็นสำคัญ ๆ ได้แก่  พัฒนาการของเมืองโบราณพิชัย  กำแพงเมือง และคูเมือง  และความสัมพันธ์กับชุมชนภายนอก


พัฒนาการของเมืองโบราณพิชัย
  
เมืองพิชัยระยะที่ 1 (รายพุทธศตวรรษที่ 19 - 20)

หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเมืองโบราณพิชัยมีอายุร่วมสมัยกับอาณาจักรสุโขทัย  แม้ว่ายังไม่ปรากฎเป็นที่ชัดเจนนัก  แต่จากหลักฐานที่พบในหลุมขุดค้นที่ 2 (TP2)  เช่น เครื่องถ้วยเคลือบแบบเชลียง  เครื่องถ้วยจีนเคลือบเขียวสมัยราชวงศ์หยวน  ซึ่งเป็นเครื่องถ้วยที่มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17-19  ก็แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ในบริเวณด้านทิศตะวันตกของเมืองริมฝั่งแม่น้ำน่าน    ได้มีการอยู่อาศัยมาอย่างน้อยตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 19-20มาแล้ว  ซึ่งลักษณะของชุมชนคงจะเป็นชุมชนในระดับหมู่บ้าน โดยยังไม่มีกำแพงเมือง และคูเมืองล้อมรอบ







นอกจากหลักฐานประเภทเครื่องถ้วยแล้ว  ยังพบพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยหมวดใหญ่ ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 19- 20  ก็อาจจะเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นการนับถือพุทธศาสนามาตั้งแต่ยังเป็นชุมชนขนาดเล็ก  ซึ่งหลักฐานทางโบราณคดีก็สอดคล้องกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์     ที่ได้บันทึกว่าเมืองพิชัยเป็น 1ใน 16หัวเมือง ตั้งแต่ครั้ง สถาปนากรุงศรีอยุธยา  ก็แสดงว่าเมืองพิชัยจะต้องมีชุมชนอยู่ตั้งแต่ก่อนสร้างกำแพงเมืองในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 






เมืองพิชัยระยะที่ 2 (ราวพุทธศตวรรษที่ 21-24)

เมืองพิชัยมีการอยู่อาศัยต่อเนื่องกันมาจนเกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบของชุมชนจากหมู่บ้านเป็นชุมชนเมือง และได้ขยายตัวเมืองออกไปทางทิศตะวันออก และได้เริ่มมีการก่อกำแพงเมืองขึ้น  หลักฐานที่พบจากหลุ่มขุดค้นที่ 1 ที่พบเครื่องถ้วยสังคโลกจากแหล่งเตาป่ายางอยู่ในชั้นล่างสุดของชั้นวัฒนธรรมที่ 1 แสดงให้เห็นว่าเมืองพิชัยได้มีการขยายตัวเมืองไปทางทิศตะวันออก  นอกจากนี้ยังพบเครื่องถ้วยสังคโลกจากแหล่งเตาเกาะน้อย - ป่ายาง  แหลางเตาสุโขทัย และแหล่งเตาตาปะขาวหาย  อีกทั้งพบเครื่องถ้วยจีนลายครามสมัยราชวงศ์หมิง-ชิง  แสดงว่าในสมัยที่ 2 นี้เมืองพิชัยมีคนอยู่อาศัยมากขึ้น








ถึงแม้ว่าหลักฐานที่เป็นโบราณสถานในตัวเมืองจะไม่สามารถสันนิษฐานรูปแบบได้อย่างแน่ชัด  แต่ก็ยังมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงรูปแบบศิลปะของอยุธยาที่แผ่อิทธิพลมาที่เมืองพิชัย  เช่น เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองที่วัดมหาธาตุ  พระพิมพ์ดุนทองที่พบที่วัดหน้าพระธาตุ  ที่แสดงให้เห็นถึงศิลปะอู่ทองรุ่น 2 






หลักฐานทางประวัติศาสตร์ในช่วงนี้  แสดงให้เห็นว่าเมืองพิชัยเป็นเมืองที่มีความสำคัญ เช่น ในพระอัยการเก่าตำแหน่งนาหัวเมือง  เมืองพิชัยเป็นถึงหัวเมืองชั้นตรี และมีออกญาเป็นผู้ครองเมือง รวมทั้งในบันทึกจดหมายเหตุของโยส  สเคาเต็น  ก็ได้กล่าวว่าเมืองพิชัยเป็นหนึ่งในเมืองที่มีความสำคัญ


กำแพงเมือง และคูเมือง

การขุดตรวจแนวกำแพงเมืองพิชัยทำให้ทราบว่า ลักษณะกำแพงเมืองพิชัยเป็นกำแพงดิน 2 ชั้น สูงประมาณ 5 เมตร จากชั้นดินเดิม กว้างประมาณ  20 เมตร  มีคูน้ำภายนอกอีก 2 ชั้น    จากการขุดตรวจจากบริเวณจุดที่สูงที่สุดของกำแพงถึงชายลาดของกำแพงพบว่า ฐานกำแพงด้านในเมืองจะมีความลาดชันน้อยกว่าทางด้านนอกของเมือง  ความลาดชันด้านในเมืองจะยาวเกินกว่า 10 เมตร  ไม่ปรากฎร่องรอยคูน้ำด้านในเมือง


  


ผลการขุดตรวจกำแพงเมืองไม่พบหลักฐานโบราณวัตถุทั้งจากชั้นดินธรรมชาติ และชั้นดินตัวกำแพงเมือง  จึงสันนิษฐานว่าพื้นที่ในบริเวณนี้ไม่มีการอยู่อาศัยมาก่อนการสร้างกำแพงเมือง  กำแพงเมืองพิชัยอาจจะเริ่มใช้งานพร้อมกับการเริ่มอยู่อาศัย



การติดต่อกับชุมชนภายนอก

เมืองพิชัยถือว่าสมีลักษณะทางกายภาพของเมืองที่ตั้งอยู่ริมแมน้ำสายใหญ่ คือ แม่น้ำน่าน  รวมทั้งยังมีคลองหลายสายที่สามารถติดต่อกับชุมชนอื่น ๆ โดยรอบได้สะดวก เช่น ทางด้านทิศเหนือติดต่อกับเมืองบางโพ-ท่าอิฐ (อุตรดิตถ์)  และเมืองทุ่งยั้ง  ทางด้านทิศตะวันตกติดต่อกับเมืองเชลียง (ศรีสัชนาลัย)  และทางทิศใต้ติดต่อกับเมืองพิษณุโลก    




ตรงจุดนี้ผู้เขียนขอแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมครับ " คลองคอรุม หรืออีกหลายชื่อตามแต่พื้นที่นั้นจะเรียกคานกัน เช่นคลองละมูง  คลองมะพลับ  เป็นต้น  ปัจจุบันลำคลองนี้ได้รับการพัฒนาไปบ้างแล้วโดยเน้นการแก้ปัญหาอุทกภัยเท่านั้น  ความจริงไหน ๆ จะพัฒนาแล้วก็น่าจะพัฒนาให้ได้รอบด้านเสียเลย อาทิ เพื่อการเกษตรกรรม (แก้มลิงเก็บน้ำ)  เพื่อการคมนาคมทางน้ำ  เพื่อการประมง และเพื่อการท่องเที่ยว เป็นต้น   คนและชุมชนในทุกลุ่มน้ำลำคลองต้องหันมาร่วมมือกันพัฒนาแหล่งน้ำให้คงสภาพที่ดีเสมอ  เพราะน้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญมากต่อมนุษย์ สัตว์ และพืช "



การศึกษาวิจัยโบราณคดีเมืองพิชัยข้างต้น  เป็นการศึกษาทางด้านโบราณคดีในเมืองพิชัยเป็นครั้งแรก และเนื่องจากงบประมาณและระยะเวลาอันจำกัด  ทำให้ต้องสุ่มเลือกพื้นที่ในการศึกษา  และข้อมูลที่ได้ยังเป็นส่วนน้อยต่อการสรุปเป็นข้อยุติเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และโบราณคดีเมืองพิชัยได้  ซึ่งผู้วิจัยได้เสนอไว้ในตอนท้ายว่า

1. ควรมีการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณทางตอนใต้ของเมือง  เพื่อให้ได้ข้อมูลเรื่องการใช้พื้นที่ภายในตัวเมืองเพิ่มขึ้น

2. ควรมีการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณภายนอกกำแพงเมืองพิชัยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะทางด้านทิศใต้บริเวณวัดกุฎีทอง  เนื่องจากพบพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย  ซึ่งอาจจะทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกกับการตั้งชุมชนแรกเริ่ม

3. ควรมีการขุดค้นกำแพงเมืองเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างกำแพงเมืองมากขึ้น

                                 

ภาพบางส่วนที่น่าสนใจของบริเวณเมืองโบราณพิชัย


















ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์