เล่าเรื่องเมืองอุตรดิษฐ์ ตอน สงครามปราบฮ่อ ครั้งที่ ๑


พระบรมฉายาลักษณ์พระบาสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

สมัยโบราณ นับตั้งแต่สมัยสุโขทัยมาจนถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ สยามประเทศมีการศึกสงครามกับประเทศใกล้เคียงมาโดยตลอด นอกจากนั้น ในบางครั้งยังถูกรุกรานจากกลุ่มกองกำลังต่างชาติที่เข้ามาปล้นในอาณาเขตหัวเมืองหัวต่างๆ  โดยเฉพาะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้มีพวกจีนฮ่อเข้ามาปล้นในอาณาเขตหัวเมืองทางตอนเหนือหลายครั้ง พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ส่งกองทัพเข้าปราบปรามหลายคราวด้วยกัน ซึ่งเรียกศึกครั้งนั้นว่า “สงครามปราบฮ่อ” 

ฮ่อ เป็นชื่อเรียกของชาวจีนที่เดินทางเข้ามาทางภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งเป็นกลุ่มกองกำลังที่แตกแยกมาจากการล่มสลายของกบฏไท่ผิง ที่เคยเข้าร่วมอุดมการณ์ต่อต้านอำนาจการปกครองของราชวงศ์ชิง ซึ่งหลังจากสิ้นสุดสงครามฝิ่น (พ.ศ ๒๓๘๕)  รัฐบาลจีนได้พ่ายแพ้สงครามให้กับประเทศอังกฤษ   ทำให้ต้องชำระค่าปฏิกรณ์สงครามเป็นมูลค่ามหาศาล จึงเกิดภาวะเงินคงคลังขาดแคลน เป็นเหตุให้เศรษฐกิจถดถอย บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย ประชาชนมีการรวมตัวเพื่อต่อต้านอำนาจของรัฐบาลจีน เรียกว่า “กบฏไท่ผิง” ซึ่งต่อมาภายหลังได้ถูกรัฐบาลจีนร่วมมือกับอังกฤษปราบปราม จนสลายตัวเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๖ (ค.ศ. ๑๘๖๓) พวกกบฏที่เหลือต้องหนีตายลงมาทางใต้ของประเทศ ดังคำกล่าวของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ความว่า “พวกฮ่อที่มารบกับไทยนั้นที่จริงเป็นจีนแท้ทีเดียว เดิมจีนพวกนั้นเป็นกบฏ เรียกพวกของตนว่า    “ไต้เผง” หมายจะชิงเมืองจีนจากอำนาจพวกเม่งจู เกิดรบพุ่งกันในเมืองจีนเป็นการใหญ่หลวง ในที่สุดพวกไต้เผงสู้ไม่ได้ ต้องหลบหนีแยกย้ายกันไปเที่ยวซุ่มซ่อนอยู่ตามป่าและภูเขาในมณฑลต่างๆ..”  มณฑลที่อยู่ใกล้ไทยมากที่สุดคือยูนนาน ดังนั้นชาวจีนส่วนใหญ่จึงมาจากยูนนาน และเนื่องจากในอดีตมณฑลนี้ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม จีนฮ่อที่เข้ามาในไทย ส่วนใหญ่จึงเป็นมุสลิม คนไทยจึงเรียกคนจีนกลุ่มนี้ว่า “ฮ่อ” 

ฮ่อที่เข้ารบกับสยาม



ภาพวาด “หงซิ่วฉวน”

สำหรับฮ่อที่เข้ารบกันสยามนั้น มีประวัติว่าเป็นชาวจีนที่เข้าพวกร่วมอุดมการณ์เข้าต่อต้านอำนาจจากราชวงศ์ชิง ซึ่งกินเวลาทำสงครามกว่า ๒๐ ปี ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลังสิ้นสุดสงครามฝิ่น ในรัชสมัยจักรพรรดิ์เสียนเฟิง ทำให้รัฐบาลต้องชำระค่าปฏิกรณ์สงคราม และภาวะเงินคงคลังขาดแคลน ทำให้ต้องรีดภาษีจากประชาชน สังคมวุ่นวายไร้ความสงบสุข จึงได้มีประชาชนเริ่มต่อต้านอำนาจรัฐซึ่งได้กลายเป็น “กบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว” เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔  (ค.ศ. 1851) นำโดย “หงซิ่วฉวน” ซึ่งเป็นคนจีนเชื้อสายจีนแคะ อาศัยอยู่บริเวณมณฑลกวางตุ้ง และได้มีผู้คนเข้าร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก ซึ่งต่อมาได้บุกยึดเมืองนานกิงได้สำเร็จ  ใน พ.ศ. ๒๓๙๖ (ค.ศ. 1853) และสถาปนาอาณาจักรไท่ผิงเทียนกั๋ว และยกตนขึ้นเป็นองค์จักรพรรดิ์ขึ้นเองด้วย  ภายหลังรัฐบาลชิงได้ขอร้องให้อังกฤษเข้าปราบปราม จนสลายตัวเมื่อพ.ศ. ๒๔๐๖ (ค.ศ. 1863)



แผนที่แสดงมณฑลยูนนาน บริเวณทะเลสาบเอ๋อไห่ เมืองต้าลี่ บริเวณที่กลุ่มฮ่ออาศัยอยู่

เมื่อฝ่ายกบฏไท่ผิงเทียนกั๋วได้สลายลงแล้ว แต่บรรดาเหล่านักรบและผู้คนที่เข้าร่วมก็กระจัดกระจายหนีการไล่ล่าลงมายังแถวลุ่นแม่น้ำแดง ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ของมณฑลยูนนานและกวางสี ซึ่งมีหัวหน้าชื่อ “ง่ออาจง” นำพรรคพวกอพยพมาอยู่บริเวณเมืองฮานอย ซึ่งตั้งอยู่อ่าวตังเกี๋ย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๘ (ค.ศ. 1865) ซึ่งนำพาผู้คนประมาณ ๔,๐๐๐ คน จนพวกญวนเกรงว่าพวกฮ่อจะก่อการกำเริบ  จึงได้ขอกำลังจากเมืองจีนเมือง     ฮุนหนำ นำทหาร ๑๐,๐๐๐ คนมาเข้าตีพวกฮ่อจนง่ออาจงตายในสนามรบ พรรคพวกที่เหลือก็พากันหนีตายและหนีไปตั้งหลักแหล่งที่เมืองซันเทียน อันเป็นเมืองของพวกแม้ว ตั้งอิสระอยู่บนภูเขาที่ชายแดนจีนต่อกับแดนสิบสองจุไทย เมื่อตั้งมั่นที่เมืองซันเทียนแล้วก็พากันยกย่องน้องชายง่ออาจง ที่ชื่อ “ปวงนันซี”และซ่องสุมรี้พลไว้  ครั้นถึงปีขาล พ.ศ. ๒๔๐๙ (ค.ศ. 1866) ปวงนันซี ก็นำทัพฮ่อเข้ายกตีเมืองเลากายในแดนญวน และต่อสู้กับทหารจีนและญวนจนชนะได้เมืองเลากายได้ใน พ.ศ. ๒๔๑๐ (ค.ศ. 1867)


แผนที่ตั้งเมืองเลากาย (Lao-Cai) และระวางแผนที่ในสมัยใกล้เคียงกัน  จะเห็นพื้นที่พระราชอาณาจักรสยามและดินแดนประเทศราช และดินแดนโตคิน (เวียดนามเหนือ) และ ชนเผ่าอิสระ (พื้นที่สีเขียว ลุ่มแม่น้ำแดง) ซึ่งบริเวณ        สีเขียวนี้คลอบคลุมดินแดนสิบสองจุไทย


สงครามปราบฮ่อ ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๑๘ (ค.ศ.1875)


ภาพเจ้าขันติ (เจ้าเมืองเชียงขวาง) พร้อมขุนนาง ยืนถ่ายภาพ  จากหนังสือ Exploring and Surveying of Siam

เมื่อลิวตายัน (ฮ่อธงดำ) และปวงนันซี (ฮ่อธงเหลือง) ได้เกิดเป็นอริกันแล้ว ปวงนันซี ก็ทำตัวเยี่ยงโจร ไล่ปล้นสดมภ์และปล้นเมืองในดินแดนสิบสองจุไทยและเมืองพวน  ปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ (ค.ศ. 1873) ท้าวขันติเจ้าเมืองเชียงขวางได้ขอกำลังฝ่ายญวน เข้าร่วมต้านทัพฮ่อที่ตีเมืองพวน แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ไป ทำให้ฮ่อได้เมืองเชียงขวาง และได้ตั้งมั่นกองทัพไว้ที่ทุ่งเชียงคำ  ปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ (ค.ศ. 1874) อันเป็นปีที่ ๗ ในรัชกาลที่ ๕ ฮ่อเตรียมทัพจากทุ่งเชียงคำ ๒ ทัพ คือ ทัพแรกจะยกมาทางเมืองเวียนจันทน์ มาตีเมืองหนองคาย  ส่วนทัพที่สองจะมาทางเมืองหัวพันห้าทั้งหก มาตีเมืองหลวงพระบาง


กองทหารของฮ่อธงดำ


                       แผนที่แสดงเมืองและสถานที่ประกอบการรุกคืบเข้ามาของกองทัพฮ่อ จากเมืองเลากาย                     เข้ามาสิบสองจุไทย และมาตั้งฐานทัพที่ ทุ่งเชียงคำ

ข่าวนี้ได้ทราบจากท้าวขุนเมืองพวนที่หนีภัยสงครามมาอยู่ที่หนองคาย จึงบอกเข้ามายังกรุงเทพฯ พร้อมกับใบบอกเจ้านครหลวงพระบาง  ในเวลาเดียวกัน พระยามหาอำมาตย์ (ชื่น กัลยาณมิตร) กำลังทำการสักเลขที่มณฑลอุบล จึงได้โปรดเกล้าฯให้เกณฑ์กำลังมณฑลอุดร+มณฑลร้อยเอ็ด + มณฑลอุบล รวมขึ้นเป็นกองทัพที่หนึ่ง    พระยานครราชสีมา (เมฆ) เกณฑ์กำลังนครราชสีมาเป็นกองทัพที่สอง  พระยาพิไชย (ดิศ) เกณฑ์กำลังมณฑลพิษณุโลกเป็นกองทัพที่สาม  เพื่อขึ้นไปป้องกันเมืองหลวงพระบาง



ภาพแสดงการเส้นทางการเดินทัพของไทยไปปราบฮ่อครั้งที่ ๑

ฝ่ายทางกรุงเทพ ฯ  พระยาภูธราภัย (สมุหนายก) เกณฑ์พล ๑ กองทัพ  ยกทัพขึ้นไปร่วมปราบฮ่อที่เมืองหลวงพระบาง  ออกเดินทางเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ไปตั้งประชุมพลที่เมืองพิไชย (***มีข้อมูลเพิ่มเติมจาก http://www.iseehistory.com  ในช่วงท้าย ๆ*** )

เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง เป็นแม่ทัพอีก ๑ กองทัพ  ยกไปทางเมืองหนองคาย ออกเดินทางโดยทางเรือ เมือวันพุธ เดือน ๑๐ แรม ๘ ค่ำ พ.ศ. ๒๔๑๘ (ค.ศ. 1875) เสด็จส่งกองทัพที่ท่าราชวรดิษฐ์ กองทัพขึ้นไปรวมพลที่สระบุรี ตำบลหาดพระยา แล้วจึงยกทัพไปยังนครราชสีมาทางดงพระยาไฟ

ขณะที่ พระยามหาอำมาตย์ (ชื่น กัลยาณมิตร) ได้นำทัพยกไปถึงเมืองหนองคาย พวกฝ่ายฮ่อก็ได้ยกทัพลงมายังเมืองเวียงจันทน์เช่นกัน  ฮ่อตั้งค่ายอยู่ที่วัดจันทน์ ในเมือง ๑ แห่ง, ที่บ้านสีฐาน ๑ แห่ง, ที่บ้านโพนทานาเลา ๑ แห่ง  แล้วข้ามฟากมาตีเมืองปากเหืองจนแตก  พระยามหาอำมาตย์กับพระยานครราชสีมา (เมฆ) พระพรหมภักดี (กาจ สิงห์เสนี) ยกกระบัตรเมืองนครราชสีมา ได้เข้ารบพุ่งกับพวกฮ่อ ต่อสู้กันอยู่ ๑ วัน ทัพฮ่อก็แตกหนีไปหมดและจับตัวได้เป็นอันมาก  (เมืองปากเหือง คือเมืองอยู่ตรงข้ามเมืองเชียงคาน ปากแม่น้ำเหือง)  หลังจากมีชัยต่อทัพฮ่อแล้ว  ทางกรุงเทพฯ ก็มีใบบอกให้เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง ที่กำลังอยู่ที่เมืองผไทยสงฆ์  เดินทางกลับ

ฝ่ายกองทัพพระยาพิไชย (ดิศ) ซึ่งได้ยกกองทัพไปหลวงพระบางล่วงหน้า เมื่อไปถึงพบว่าทัพฮ่อมาตั้งค่ายที่เมืองเวียงกัด ในแขวงหัวพันห้าทั้งหก และรีบยกพลไปจากเมืองหลวงพระบางไปพบทัพฮ่อและเข้ารบกันในเดือน ๑๒ ปีกุน แต่กำลังของพระยาพิไชย (ดิศ) กำลังไม่พอ จึงได้ตั้งทัพรักษาที่มั่นไว้  เมื่อทัพของเจ้าพระยาภูธราภัยขึ้นไปถึงเมืองพิไชยทราบว่า กำลังมีการรบที่อยู่  จึงได้จัดกองทัพให้พระสุริยภักดี (เวก บุณยรัตพันธุ์) เจ้ากรมพระตำรวจรีบยกทัพไปหลวงพระบางเพื่อช่วยพระยาพิไชยทันที   ทัพของพระสุริยภักดี และทัพของพระยามหาอำมาตย์ ตามตีฮ่อไปจนถึงทุ่งเชียงคำ พวกฮ่อก็พากันอพยพหนีไปจากเมืองพวน เป็นอันเสร็จศึกปราบฮ่อ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๘  ส่วนกองทัพของเจ้าพระยาภูธราภัย ตั้งมั่นที่เมืองปากลาย จนมีใบบอกให้เดินทางกลับเช่นกัน

*** อนึ่งมีข้อมูลเพิ่มเติมจาก http://www.iseehistory.com   เกี่ยวกับกองทัพของ พระยาภูธราภัย (สมุหนายก)  ที่มีการรวบรวมพลกัน ณ เมืองพิไชย และบทเรียนจากสงครามปราบฮ่อ ครั้งที่ ๑   ด้วยว่า  “....กองทัพที่ยกไปคราวนี้เป็นกองทัพอย่างโบราณกาล   คือพลรบนั้นเกณฑ์ราษฎรที่เป็นเลขทางฝ่ายเหนือทุกๆ เมือง    เกณฑ์ทหารหน้าเป็นกองรักษาแม่ทัพไปประมาณ  กองละ  ๒๐๐ - ๓๐๐  คน  มีนายทหารหน้ากำกับไปด้วย  แรม  ๑๒  ค่ำ  เดือน ๑๑  ตรงกับวันอังคาร  วันที่   ๒๖  ตุลาคม พ.ศ.๒๔๑๘   กองทัพยกจากเมืองพิษณุโลกไปเมืองพิชัย...."

"....เจ้าพระยาภูธราภัย ไปตั้งรวบรวมพลอยู่ที่หาดเมืองพิชัยริมฝั่งแม่น้ำน่าน.....เนื่องจาก เจ้าพระยาภูธราภัยต้องตั้งรวบรวมพลอยู่ที่หาดเมืองพิชัยเป็นเวลานานหลายเดือน  และพื้นที่เป็นป่าดง   ยังไม่มีการจัดเรื่องสุขาภิบาล  ไม่มีมดหมอ หยูกยา  ไม่ช้าก็เกิดอหิวาตกโรคระบาด      เจ้าพระยาภูธราภัยจึงรีบเดินทัพไปท่าปากลาย  ทั้งๆที่ยังได้คนไม่ครบ  และกองทัพที่เดินไปนี้ก็เป็นโรคล้มตายไปตลอดทาง.... เจ้าพระยาภูธราภัยจึงให้พระสุริยภักดี  (เวก  บุญยรัตพันธุ์)  เป็นแม่ทัพหน้ายกไปเมืองหลวงพระบางก่อน แล้วให้ เลยขึ้นไปปราบฮ่อที่เมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก  และตำบลทุ่งเชียงคำ แขวงเมืองพวนด้วย    อหิวาตกโรคก็ระบาดไปถึงเมืองหลวงพระบาง    พลเมืองเมืองหลวงพระบางล้มตายลงเป็นหลายพัน...."



ภาพการจัดกระบวนทัพอย่างโบราณ ม้ากั้นสัปทน และกองทหาร และขบวนช้างกั้นสัปทนและกองทหาร


กองกำลังทหารช้างบรรทุกปืนใหญ่จากมณฑลพิษณุโลกเพื่อไปปราบฮ่อที่หลวงพระบางเป็นครั้งแรก 


อาวุธโบราณที่ใช้ร่วมด้วย  เช่น หอก ง้าว และ ตรี


บทเรียนจากสงครามปราบฮ่อ ครั้งที่ ๑ 

๑. กองทัพที่ยกไปคราวนี้เป็นกองทัพอย่างโบราณ  เพราะกองทัพไทยอยู่ในระหว่างการปรับปรุงกองทัพ  เริ่มรับการฝึกแบบยุโรป  คือกองทหารหน้า  ซึ่งได้ใช้ในราชการศึกครั้งนี้ด้วย  คือใช้เป็นกองรักษาแม่ทัพไปประมาณ  กองละ  ๒๐๐ - ๓๐๐  คน  มีนายทหารหน้ากำกับไปด้วย    นับว่าเป็นการปฏิบัติราชการสนามครั้งแรกของกองทหารหน้า

๒. เนื่องจากไม่มีการจัดการเรื่องสุขาภิบาลสนามที่หาดเมืองพิชัย   จนเกิดโรคระบาด   และกองทัพก็นำโรคไปถึงเมืองหลวงพระบาง  




ขอบคุณ :  1)  http://emuseum.treasury.go.th

               2)  http://www.reurnthai.com

               3)  http://teakdoor.com

               4)  http://www.thaifighterclub.org

               5)  http://www.iseehistory.com








ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์