เรื่องการปลูกข้าว : เยาวชนไทยต้องเรียนรู้ให้เก่ง



ทุกครั้งที่ได้ยินข่าวและได้เห็นภาพการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ และปลูกจิตสำนึกอาชีพการเกษตร  โดยเฉพาะการทำนาปลูกข้าวด้วยแล้ว  ขอบอกว่า..โดนใจถูกใจเป็นที่สุดเลยครับ  และขอเอาใจช่วยเชียร์ทุก ๆ ท่านที่เกี่ยวข้อง อาทิ  หน่วยงานด้านการเกษตร  องค์การส่งเสริมต่าง ๆ  ปราชญ์ท้องถิ่น  สถานศึกษา และชุมชน  ที่ได้ร่วมมือกันพาเยาวชนของเราในหลายพื้นที่...สู่การเรียนรู้เรื่องการปลูกข้าว  ซึ่งมีความสำคัญในอันดับต้นๆที่เยาวชนไทยควรได้เรียนรู้ และลงมือปฏิบัติจริงอย่างตั้งใจ  ประสบการณ์ที่ดีจะฝังแน่นอยู่ในใจและกายของพวกเขาเหล่านั้นอย่างยั่งยืนและภาคภูมิใจ ช่วยให้เกิดวิสัยทัศน์ มีความคิดกว้างไกลในการสืบทอดอาชีพการปลูกข้าวที่เป็นเลิศได้ต่อไป 

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เรื่อง “การปลูกข้าว”  ที่อยากให้มีและเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ที่สามารถทำได้  ซึ่งไม่จำเป็นต้องลอกเรียนแบบให้เหมือนกัน  แตกต่างกันได้ในรูปแบบ...แต่เป้าหมายเดียวกันครับ


1. เรียนรู้ข้าว-ฟังเรื่องเล่าจากชาวนา ปลูกสำนึกเยาวชน

    'รักษ์บ้านเกิด'




นาแปลงหนึ่งที่บ้านกลาง ต.โพนแพง อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร ในวันนี้กำลังงามได้ที่ ดอกข้าวเพิ่งผลิบาน อีกไม่กี่วันนับจากนี้จะกลายเป็นรวงรอวันเก็บเกี่ยว

ข้างในนาแปลงนี้ เป็นผลงานของเด็กและเยาวชนชาย-หญิงกว่า 50 คน ที่ขะมักเขม้นช่วยกันปลูกด้วยความรู้สึกสนุกสนานและตื่นเต้น เพราะนี่คือการลงมือดำนาครั้งแรกในชีวิตของหลายๆ คน แม้บางคนพ่อแม่จะมีอาชีพทำนา แต่พวกเขาก็ไม่เคยที่จะทำเลยสักครั้ง

การทำนานี้เป็นหนึ่งในกิจกรรม ค่ายเรียนรู้จิตวิญญาณชาวนากับคนรุ่นใหม่ ของโครงการ “ฮักบ้านเกิด (ความสุขอยู่ที่บ้านเรา)” ซึ่งอยู่ในชุดโครงการสุขภาวะทางปัญญาของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.

ค่ายเรียนรู้จิตวิญญาณชาวนากับคนรุ่นใหม่ เป็นโครงการย่อยที่สนับสนุนกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ได้รับทุนโครงการฮักบ้านเกิด (ความสุขอยู่ที่บ้านเรา) ได้เข้าร่วมกิจกรรมในการเปิดบ้านดิน ศูนย์เรียนรู้ชุมชนคนหนุ่มสาว ให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวนา และลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง มุ่งหวังให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ทัศนคติ ได้เห็นคุณค่าของข้าว และความสำคัญของชาวนาว่าเกี่ยวข้องต่อการดำรงชีวิตประจำวันอย่างไร เพราะกว่าจะได้ข้าวแต่ละเมล็ดให้ทุกคนได้กินอิ่มท้องนั้น ชาวนาต้องลำบากเพียงใด

“เราจะพาน้องๆ ได้เรียนรู้และเข้าใจตนเอง สิ่งที่เขาอยู่และใช้ชีวิตร่วมกับข้าว มีอะไรที่เขาหลงลืมไปบ้าง สอนให้เขาได้รู้ถึงจิตวิญญาณของชาวนาผู้เป็นกระดูกสันหลังของชาติ เราคาดหวังให้เด็กรู้คุณค่า ไม่คาดหวังให้ทุกคนกลับไปทำนา แต่เขาจะได้เข้าใจความเหนื่อย ความลำบากเป็นมันเป็นยังไง บางคนพ่อแม่ทำอยู่ แต่ตัวเองไม่เคยทำเลยก็มี”  ธนภัทร แสงหิรัญ หรือ “ตั้ม” ผู้รับผิดชอบโครงการ เน้นย้ำวัตถุประสงค์ของค่ายกิจกรรมครั้งนี้

นอกจากจะให้น้องๆ ได้ลงมือดำนาด้วยสองมือตัวเองแล้ว ยังมีกิจกรรมพ่อฮักแม่ฮักร่วมด้วย ซึ่ง ตั้ม บอกถึงกิจกรรมนี้ ว่า “พ่อฮักแม่ฮัก” จะเป็นกิจกรรมที่ให้น้องๆ ไปใช้ชีวิตอยู่กับบ้านของชาวนา เสมือนไปเป็นลูกของบ้านนั้นๆ ที่เข้าร่วมโครงการ น้องๆ จะได้รู้ว่าในหนึ่งวันคนที่เป็นชาวนาจะต้องทำอะไรบ้าง และต้องทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับครอบครัวพ่อฮักแม่ฮักด้วย ชาวนาที่เป็นพ่อเป็นแม่ก็จะต้องสอนลูกตัวเองด้วยเช่นกัน ท้ายสุดแล้วก็จะมาร่วมสรุปกันว่า ได้เรียนรู้อะไรกันบ้างจากมุมมองของชาวบ้าน และความคาดหวังกับอาชีพการทำนาต่อลูกหลานอย่างไรในอนาคต

ปัจจุบันอาชีพเกษตรกรรมถูกละเลยจากคนหนุ่มสาวที่มุ่งหน้าสู่ภาคอุตสาหกรรม เพราะไม่อยากเหนื่อยกับการทำไร่ ทำนา หรือทำสวน จนทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดและปล่อยให้ผู้เฒ่าผู้แก่อาศัยอยู่เพียงลำพัง

พ่อเล็ก กุดวงศ์แก้ว ปราชญ์แห่งเทือกเขาภูพาน อ.อากาศอำนวย บอกว่า ในวิถีชีวิตคนชนบทอาศัยอยู่กับดินกับน้ำมาตลอด คนมองว่าอาชีพทำนาลำบาก แต่ความจริงแล้วเป็นอาชีพที่ดี ถ้าไม่มีทำนา คนทั้งโลกก็อยู่ไม่ได้ เพราะไม่มีข้าวกิน ชาวนามีอิสระ ไม่มีอะไรหรือใครมากำหนดเช่นขายแรงงาน หากเราไม่ทำลายธรรมชาติ ฝนฟ้าอากาศก็ปกติ แต่ถ้าเราทำลายป่าก็จะทำให้มีปัญหาความแล้ง เกิดความแปรปรวน เกษตรกรต้องปลูกพืชหลากหลายเพื่อลดความเสี่ยง และปลูกทุกอย่าง ทำให้เกษตรกรไม่รวย ไม่จน ไม่มีหนี้ เพราะปลูกเพื่อกิน ถ้าเหลือจึงจะเอามาขาย

“เราต้องสอนให้เด็กเห็นคุณค่า เอาที่ดินเป็นกระดาน เอาจอบเป็นเสียมเป็นปากกา เอาน้ำฝนน้ำบ่อเป็นน้ำหมึก เอาพืชพันธุ์มาเป็นตัวพยัญชนะ ชาตินี้ทั้งชาติก็ไม่มีคำว่าจน และร่วมกันอนุรักษ์ท้องถิ่น ดิน น้ำป่า มีความสำคัญของทุกชีวิตบนโลก หากใครทำลายเท่ากับทำลายชีวิตตัวเอง หรือผู้อื่นด้วย” พ่อเล็ก กล่าว

ขณะที่ อนณ ชูประสูติ หรือ แบงค์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวหลังร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ว่า รู้สึกตื่นเต้น ดีใจที่ได้มาลงมือทำนา ทำให้ได้รู้ว่า ชาวนาที่ปลูกข้าวให้เรากินต้องลำบากเหนื่อยยากขนาดไหน พ่อแม่เขามีอาชีพทำสวนยางพารา จึงไม่รู้ว่าทำนากันอย่างไร วันนี้ได้ประสบการณ์ได้ลงพื้นที่จริง ได้รู้คุณค่าข้าวแต่ละเมล็ด

การทำนาหรืออาชีพเกษตรกร เป็นงานอิสระ เป็นนายตัวเอง หลังจากนี้แล้ว แบงก์อยากไปทำค่ายเยาวชนเกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวนาที่นครศรีธรรมราช เพราะอยากให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสเห็นว่า การทำนา หรือเกษตรกร มันเหนื่อยยังไงและจะช่วยเหลืออย่างไร ถึงแม้จะเป็นอาชีพที่เหนื่อย แต่ก็เป็นอาชีพที่มีข้อดีด้วยเช่นกัน
ส่วน กฤษติกาล ฮาบพนม หรือ น้องจุ๊บแจง นักเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 4 โรงเรียนอากาศอำนวยศึกษา บอกว่า จะสานต่อและร่วมกิจกรรมบ่อยๆ จะไปบอกให้น้องๆ มาช่วยกิจกรรมแบบนี้ตลอดไปได้ เพราะตัวเองก็ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ เพราะได้ทำนาเป็นครั้งแรก แม้ว่าพ่อแม่จะมีอาชีพทำนา เมื่อได้ลองทำดูก็อยากทำอีก เพราะมันเป็นวิถีชีวิต และอยากให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ตระหนัก และช่วยกันพัฒนาบ้านเกิดของตัวเอง

การเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เห็น ได้เรียนรู้ ได้ลงมือทำ ย่อมทำให้พวกเขาซึมซับวิถีชีวิตชุมชนได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะกระตุ้นให้เกิดการสำนึกรักษ์และหวงแหนถิ่นเกิดของตัวเองได้ในอนาคต  (แหล่งข้อมูล : http://www.komchadluek.net , 27 ตุลาคม 2557) 


2. นักเรียนกว่า 500 คน เข้าเรียนรู้การปลูกข้าว หวั่นกลายเป็น

     นาร้าง




วันที่ 14 พ.ย. 57  ที่บริเวณทุ่งนาบ้านใหญ่ ม.3  ต.พร่อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส นายณัฐพงศ์  ศิริชนะ ผวจ.นราธิวาส ได้เป็นประธานเปิดกิจกรรมห้องเรียนรู้ปลูกจิตสำนึกอาชีพชาวนา ตามโครงการนาดีหนูดีเรียนรู้วิถีชีวิตชาวนา  ที่ทางนางรอสนานี สันหมุด สหกรณ์ จ.นราธิวาส จัดขึ้น 

ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนของประชาชน เด็กและเยาวชนที่เรียนหนังอยู่ในโรงเรียนพื้นที่ อ.ตากใบ จำนวน 10 โรง รวมกว่า 500 คน สนองพระราชดำริฯสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเป็นห่วงพื้นที่นาจำนวน 8,000 ไร่ ในพื้นที่ 4 ตำบล ของ อำเภอตากใบ จะกลายสภาพเป็นนาร้าง ซึ่งเป็นผลพวงมาจากค่านิยมทำให้เยาวชนที่เติบโตขึ้น หันหลังให้กับอาชีพชาวนา ทั้งที่บางคนเติบโตขึ้นมาได้ เพราะบิดาและมารดายึดอาชีพชาวนา สามารถส่งเสียบุตรหลานเรียนหนังสือจนจบ 


สำหรับกิจกรรมดังกล่าว ได้ดึงนักเรียนมาสัมผัสการทำนาด้วยวิถีชีวิตชาวนาจริง ในการสอนโยนกล้าและดำนา โดยใช้พันธุ์ข้าวหอมกระดังงาท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงที่โด่งดัง และปลูกแห่งเดียวที่ อ.ตากใบ โดยใช้แปลงนาข้าวซึ่งมีเนื้อที่ 50 ไร่ ให้เยาวชนได้เรียนรู้ อย่างไรก็ตามกิจกรรมในครั้งนี้ ทางสหกรณ์ จ.นราธิวาส  มีโครงการต่อยอดที่จะนำพันธุ์ข้าวหอมกระดังงาพันธุ์ดี ที่ได้รับการรับรองจากกรมการข้าว จำนวน 5 ตัน มาแจกจ่ายให้กับชาวนากระจายปลูกครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบล คือ ต.ศาลาใหม่ พร่อน ไพรวันและโฆษิต ในปี 2558 เพื่อให้ที่นา จำนวน 8,000 ไร่ ที่จะกลายสภาพเป็นนาร้าง ได้กลับมาเขียวขจีอีกครั้งนี้  ซึ่งเชื่อว่าเยาวชนที่เข้ากิจกรรมในครั้งนี้จะสามารถเป็นตัวกระตุ้น ให้ชาวบ้านที่เคยประกอบอาชีพชาวนา หันกลับมาทำนาอีกครั้งหนึ่ง (แหล่งข้อมูล : http://www.nationtv.tv , 14 พฤศจิกายน 2557)


3. นร.ขอนแก่นระดมแรงนวดข้าว ช่วยผู้ปกครอง

นักเรียนชั้น ประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านหินลาด วังตอ ต.บ้านค้อ อ.เมือง จ.ขอนแก่น กว่า 20 ชีวิต ระดมแรงช่วยผู้ปกครองของเพื่อนร่วมชั้น ทำการนวดข้าวภายในทุ่งนา หลังจากเลิกเรียนเสร็จแล้ว โดยนักเรียนชายจะขึ้นไปอยู่บนกองข้าวเพื่อลำเลียงมัดข้าวให้เพื่อนๆที่อยู่ใกล้เครื่องนวดข้าวโยนเข้าเครื่อง เป็นบรรยากาศที่สนุกสนาน นักเรียนหญิงเป็นฝ่ายบริการเสิร์ฟน้ำอยู่ด้านล่าง บางคนขอจับถุงที่รองข้าวสารจากเครื่องนวดข้าว

โดย นางรัตนา เรืองแหล้ ครูประจำชั้นของเด็กๆ กล่าวว่า การที่ให้เด็กๆได้ออกมาร่วมแรงร่วมใจกัน แบบนี้ เป็นการให้เด็กได้รู้จักถึงวัฒนธรรม การเกี่ยวข้าว นวดข้าว ที่ผู้ปกครองได้ทำมาแต่บรรพบุรุษ ซึ่งปกติผู้ปกครองของเด็กๆเหล่านี้ก็ทำนาอยู่แล้ว การให้เด็กได้ออกมากิจกรรมช่วยเหลือผู้ปกครอง ถือเป็นเรื่องที่ควรส่งเสริม เด็กๆที่มาทำกิจกรรมเป็นเด็กที่มีจิตอาสา ไม่ได้มีการบังคับ

ส่วนนักเรียนก็ดีใจที่ได้มาช่วยเพื่อนๆ ซึ่งถือเป็นประเพณีที่ต้องมีการมาช่วยกันทั้งในช่วงการเกี่ยวข้าว จนขั้นตอนของการนวดข้าว เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ถือว่าเป็นวัฒนธรรมแห่งความเอื้อเฟื้อของคนในสังคมในอดีตของชาวอีสาน (แหล่งข้อมูล : http://www.nationtv.tv , 22 พฤศจิกายน 2557) 


4. ร.ร.ผาเต่าพัฒนา ดึงชุมชน-เด็ก ร่วมปลูกข้าว-เลี้ยงสัตว์
    
    ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง 




วันที่ 26 พฤศจิกายน 2557  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นับเป็นภาพที่หาดูได้ยากและน่าชื่นชม ถึงการมีส่วนร่วมของคุณครู ผู้ปกครองและนักเรียน ที่โรงเรียนผาเต่าพัฒนา หมู่ 3 ต.ผาเลือด อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ โรงเรียนระดับประถมศึกษาขนาดเล็กซึ่งมีนักเรียนเพียง 24 คน คุณครู 3 คน มีนายอโณทัย ทิพย์คำ รักษาราชการแทน ผอ.โรงเรียนผาเต่าพัฒนา

ตั้งแต่เช้าทุกคนอยู่ในชุดเกษตรกรเต็มขั้น ผู้ใหญ่จูงมือเด็ก พี่จูงมือน้อง ลงไปยังแปลงนา เพื่อลงแขกเกี่ยวข้าวหอมมะลิ เป็นข้าวปลอดสาร เนื้อที่ 3 ไร่ โดยบรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่น คุณครู ผู้ปกครอง สอนเด็กๆจับเคียว ทำการเกี่ยวข้าว ขณะที่หนูๆน้องๆมีความตั้งใจที่จะเรียนรู้ โดยไม่รู้จักคำว่า "เหน็ดเหนื่อย" สนุกสนานกับการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่เป็นชีวิตจริง


นายอโณทัย กล่าวว่า โรงเรียนได้ จัดพื้นที่ว่าง 6 ไร่ จัดสรรตามเกษตรทฤษฏีใหม่ คือ 3 ไร่ปลูกข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมนิล เป็นนาโยน และปลอดสารตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา วันนี้จึงพร้อมใจลงแขกเกี่ยวข้าว เพื่อนำวิถีชีวิตของคนไทยแบบดั่งเดิมมาให้นักเรียนได้เรียนรู้ โดยเฉพาะอาชีพเกษตรกรรม เรียนรู้คำว่า "กระดูกสันหลังของชาติ" หรือชาวนา  ซึ่งก็คืออาชีพหลักของพ่อแม่ และดึง ชุมนมเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้เกิดความรัก ความสาสามัคคี เป็นแบบอย่างที่ ทำให้เด็กรักและหวงแหนบ้านเกิดเมืองนอน

ส่วนอีก 3 ไร่ได้จัดสรรสร้างยุ้งฉางเก็บข้าวเปลือก ขุดสระน้ำ เก็บกักน้ำไว้ใช้ เพราะ ตำบลผาเลือดอยู่นอกเขตชลประทาน แล้งซ้ำซาก แต่แปลงผัก ผลไม้ ปลูกได้ ตลอด ทั้งปี นอกจากนี้เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงปลา จัดศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตเกษตรกรไทย ที่สำคัญพื้นที่ว่างของโรงเรียน เพียงเล็กน้อยก็จะปลูกพืชผักสวนครัว โดยเด็กๆทุกคนจะมีหน้าที่ของตัวเองในการดูแล เก็บผลผลิต และยังเป็นพ่อค้าแม่ค้า นำผลผลิตไปขายอีกด้วย




"ข้าว ผัก ไก่ ปลา นำมาเป็นอาหารกลางวันของนักเรียน โดยเฉพาะข้าวจะทำในช่วงนาปี ที่มีฝนตก ได้ข้าวประมาณ 2 ตัน ถือว่ามากพอสำหรับนักเรียน และคุณครู 27 คนต่อปี ดังนั้นผลผลิตทุกอย่าง จะแบ่งปันให้กับหมู่บ้าน และวัด เมื่อจัดงานเทศกาล งานบุญ งานศพ และต้อนรับผู้มาเยือน ชุมชนสามารถนำผลผลิตต่างๆไปใช้ได้ ส่วนที่เหลือจะนำไปขายเพื่อเป็นทุนต่อยอดโครงการ"  นายอโณทัยกล่าว

นายอโณทัย กล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าวดำเนินการแบบยั่งยืน ทำมาตั้งแต่ปี 2553 นอกจากเด็กๆจะเรียนรู้วิถีชีวิตที่แท้จริงของชนบทแล้ว ยังเป็นการตอกย้ำและ พิสูจน์ให้เห็นว่าหากคนไทย เกษตรกรไทย นำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต รับรองไม่อดตาย อยู่ได้ ไม่ว่าฤดูกาลใดก็ตาม หากสนใจโรงเรียนหรือประชาชนสนใจ เด็กๆนักเรียนโรงเรียนผาเต่าพัฒนาทุกคนยินดีต้อนรับและแลกเปลี่ยนเรียนรู้  (แหล่งข้อมูล : http://www.nationtv.tv , 26 พฤศจิกายน 2557)





ขอบคุณ  :  1)  http://www.nationtv.tv

                2)  http://www.komchadluek.net

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์