เล่าเรื่องเมืองอุตรดิษฐ์ ตอน “ตักบาตรหาบจังหัน” ประเพณีท้องถิ่นแห่งเดียวในไทย


ชาวบ้านหาดสองแคว...กำลังหาบจังหันไปวัด

ที่ “บ้านหาดสองแคว” อ.ตรอน  จ.อุตรดิตถ์ ก็คล้ายคลึงกับหมู่บ้านในต่างจังหวัดอื่นๆ  ที่บ้านและวัดยังคงผูกพันกันเหนียวแน่น  แต่การใส่บาตรยามเช้าของคนหาดสองแควไม่ธรรมดาเหมือนที่อื่นๆ เพราะเป็นการ “ตักบาตรหาบจังหัน” ที่มีความพิเศษแตกต่างจากที่อื่น

หมู่บ้านแห่งนี้มีความเป็นมายาวนาน บริเวณที่ตั้งชุมชนมีแม่น้ำสองสายไหลมาบรรจบกัน คือแม่น้ำน่าน และคลองตรอน  ทำให้เกิดหาดสันทรายเป็นแนวยาวจนกลายเป็นชื่อเรียกของหมู่บ้าน  นอกจากนั้น ชาวบ้านหาดสองแควยังมีเชื้อสาย “ลาวเวียง” หรือเชื้อสายของชาวลาวจากเมืองเวียงจันท์ประเทศลาว ที่ถูกกวาดต้อนมาในสมัยรัชกาลที่ 3 เข้ามาตั้งถิ่นฐานจำนวน 2 แห่งด้วยกัน คือ ที่บ้านกองโค ต.คอรุม อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์  และที่บ้านหาดสองแคว      ต.หาดสองแคว อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์  ทำให้ชาวบ้านหาดสองแควกว่า 90% ยังคงพูดคุยกันด้วยภาษาลาวเวียง กินอาหาร และมีวัฒนธรรมแบบชาวลาวเวียงอยู่จนปัจจุบัน


ชาวบ้านหาดสองแคว...กำลังหาบจังหันไปวัด


ชาวบ้านหาดสองแคว...กำลังหาบจังหันไปวัด

ส่วนการตักบาตรยามเช้าของคนบ้านหาดสองแควที่กล่าวไปแล้วว่าเป็นการตักบาตรธรรมดาที่ไม่ธรรมดานั้น เรียกว่า “การตักบาตรหาบจังหัน” หรือ"ประเพณีการการหาบสาแหรก" ซึ่งเป็นประเพณีท้องถิ่นที่กระทำสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ  คำว่า “จังหัน” เป็นภาษาโบราณ แปลง่ายๆ ได้ความว่า  ภัตตาหารที่ใช้ถวายพระสงฆ์   ส่วน “สาแหรก” แปลว่า เครื่องใส่ของสำหรับหิ้วหรือหาบ   



ชาวบ้านหาดสองแคว...กำลังหาบจังหันไปวัด


ชาวบ้านหาดสองแคว...กำลังหาบจังหันไปวัด


ชาวบ้านหาดสองแคว...กำลังหาบจังหันไปวัด


ชาวบ้านหาดสองแคว...กำลังหาบจังหันไปวัด

ในยามเช้า พระสงฆ์จากวัดหาดสองแควจะแบ่งสายกันออกเดินบิณฑบาตไปตามหมู่บ้าน เดินไปจนสุดเส้นทางแล้วก็จะเดินกลับโดยยังไม่มีชาวบ้านคนใดออกมาใส่บาตร  ขณะที่พระเริ่มเดินกลับนี่เอง ชาวบ้านที่อยู่ท้ายบ้านจะตีเกราะเป็นสัญญาณให้ทุกบ้านรู้ เพื่อจะได้ออกมายืนรอตักบาตร  และชาวบ้านที่มารอตักบาตรก็จะใส่บาตรเฉพาะข้าวสุก (ข้าวเจ้า) เท่านั้น โดยไม่มีกับข้าวใส่บาตร แต่จะนำกับข้าวคาวหวานอื่นๆ ตามไปถวายพระที่วัดภายหลัง ซึ่งการตักบาตรเฉพาะข้าวเปล่าแล้วค่อยนำอาหารไปถวายที่วัดนี้มักพบเห็นในประเทศลาว หรือจังหวัดในภาคอีสานของไทย เช่นที่ อ.เชียงคาน จ.เลย เป็นต้น ต่างกันตรงที่เป็นการตักบาตรข้าวเหนียวแทนข้าวสวย



ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะออกมาตักบาตร


ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะออกมาตักบาตร


หาบจังหันหลังจากพระบิณฑบาตไปแล้ว  


อาหารที่วางบนแป้นรอสาแหรกหาบไปวัด

ความพิเศษที่น่ารักของการตักบาตรหาบจังหันอยู่ตรงการนำกับข้าวไปถวายพระที่วัดนั่นเอง โดยเมื่อพระสงฆ์เดินกลับวัดไปแล้ว แต่ละบ้านก็จะนำสำรับอาหารหรือปิ่นโตมาวางบนแป้นไม้หน้าบ้าน จากนั้นก็จะมีคนหาบสาแหรกไม้คานสายละ 3-4 คน นำสำรับอาหารของแต่ละบ้านที่วางบนแป้นไม้เหล่านั้นหาบไปถวายพระสงฆ์ที่วัด  คนที่ทำหน้าที่หาบสาแหรกนั้นจะเป็นใครชายหรือหญิงก็ได้ ไม่ได้กำหนดตายตัว ไม่ได้เป็นหน้าที่ประจำ ใครว่างก็หาบไป แต่ก็มีคนหาบทุกวันไม่เคยขาด จะรู้กันว่าวันนี้ใครอยู่ไม่อยู่ ใครติดธุระ ใครจะหาบแทน จะทำอย่างนี้ทุกวัน ยกเว้นวันพระที่ทุกคนจะหาบข้าวปลาอาหารไปที่วัดกันเอง โดยพระไม่ได้ออกบิณฑบาต



เตรียมนำอาหารไปถวายพระ


เตรียมนำอาหารไปถวายพระ


เตรียมนำอาหารไปถวายพระ

และหลังจากที่คนหาบจังหันไปยังวัดแล้วก็จะจัดเรียงอาหารลงถาดโดยไม่ต้องถ่ายถ้วยชาม ผู้ชายจะทำหน้าที่ประเคนอาหารพระ แล้วนั่งรอจนพระฉันเสร็จ เมื่อพระให้ศีลให้พรแล้วก็จะนำอาหารมากินกัน ส่วนที่เหลือก็ส่งกลับเจ้าของเดิม ถ้าถ้วยอาหารของใครหมด คนหาบก็จะตักข้าวสุกใส่ให้จนเต็มถ้วย จากนั้นจะหาบถ้วยอาหารไปวางคืนไว้ตามแป้นไม้หน้าบ้านตามเดิมโดยไม่ผิดชามผิดบ้าน

“การหาบจังหันเป็นกุศโลบายที่เชื่อว่า ยิ่งหาบหนักยิ่งได้บุญมาก”

นับเป็นอีกหนึ่งประเพณีเล็กๆ แต่เปี่ยมไปด้วยความน่ารักจากความช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในชุมชน ซึ่งหากใครอยากมีโอกาสใส่บาตร ได้เห็น หรือได้หาบ ก็สามารถมาเยือนกันได้ที่บ้านหาดสองแคว โดยวิธีหนึ่งที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการมาสัมผัสวิถีชีวิตอย่างใกล้ชิดก็คือ การมาพักที่ “โฮมสเตย์บ้านหาดสองแคว” โฮมสเตย์ที่ได้รับมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย มีบ้านพักรองรับนักท่องเที่ยว และผู้ที่มาศึกษาดูงานถึง 20 หลัง


บรรยากาศของ 1 ในบ้านพักโฮมสเตย์


มุมนั่งเล่นผ่อนคลายของโฮมสเตย์หลังหนึ่ง


บรรยากาศห้องนอนของบ้านพักโฮมสเตย์

ผู้ที่มาพักโฮมสเตย์นอกจากจะได้มาชมวิถีชีวิตของคนที่นี่แล้ว ก็ยังจะได้มาชิมอาหารพื้นบ้านตามแบบของชาวลาวเวียง   ได้ทำบุญไหว้พระที่วัดหาดสองแคว ซึ่งชาวบ้านยังคงมีความผูกพันกับวัด เห็นได้จากในทุกๆ วันพระหรือวันสำคัญทางศาสนาจะมีพุทธศาสนิกชนมาร่วมทำบุญกันจนเต็มศาลาวัด อีกทั้งที่วัดหาดสองแควยังมีพระเครื่องที่ขึ้นว่าเป็นของดีของขลังให้คนได้เช่าบูชา ได้ปั่นจักรยานเที่ยวชมบรรยากาศในหมู่บ้าน ใช้ชีวิตช้าๆ สบายๆ แบบไม่เร่งรีบ และยังจะได้ชมบรรยากาศของแม่น้ำน่าน ได้ขึ้นแพท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ริมน่าน

งานเทศกาลท่องเที่ยวที่สำคัญของบ้านหาดสองแควอีกงานหนึ่งก็คือ “งานย้อนรำลึกเส้นทางประวัติศาสตร์รัชกาลที่ 5 เสด็จเมืองตรอนตรีสินธุ์”  ซึ่งจัดขึ้นทุกวันที่ 22 ตุลาคม ของทุกปี ณ วัดหาดสองแคว เพื่อย้อนรำลึกวันที่พระพุทธเจ้าหลวงได้เสด็จประพาสมายังเมืองตรอน (ชื่อเดิมคือตรอนตรีสินธุ์) ผู้คนที่มาร่วมงานจะแต่งกายย้อนยุคสมัย ร.5 มาร่วมย้อนอดีตวิถีชีวิตชุมชน โดยมีอาหารและขนมท้องถิ่น (กาดมั่ว) ให้ชิมกันฟรีๆ อีกด้วย

4 เมนูเด็ดสไตล์ลาวเวียง...แห่งโฮมสเตย์บ้านหาดสองแคว



4 เมนูเด็ด *น้ำพริกปลาร้า *แกงหยวก *พริกอั่วหรือพริกยัดไส้ *แกงโอ๊ะเอ๊ะ

เสน่ห์อย่างหนึ่งของการไปพักผ่อนแบบโฮมสเตย์ก็คือการได้ชิมอาหารท้องถิ่นพื้นบ้าน ซึ่งเป็นวิธีเข้าถึงวิถีชีวิตของชุมชนนั้นๆ ได้ดียิ่งขึ้น  และด้วยความที่ชาวบ้านหาดสองแควมีเชื้อสาย "ลาวเวียง" หรือชาวลาวจากเมืองเวียงจันท์ ซึ่งนิยมกินข้าวสวยมากกว่าข้าวเหนียว จึงทำให้เมนูอาหารหลายๆ อย่างมีส่วนผสมของปลาร้า อีกทั้งที่ตั้งของบ้านหาดสองแควยังมีสายน้ำสองสายไหลมาบรรจบ คือแม่น้ำน่านและคลองตรอน ทำให้มีปลามากมายหลายชนิดกินเป็นอาหารหลัก เมื่อปลาเยอะจนกินไม่ทันขายไม่หมด ก็จะนำมาถนอมอาหารด้วยการทำปลาร้า  ดังนั้นอาหารหลายๆ อย่างจึงใส่น้ำปลาร้าเพื่อเป็นเครื่องปรุงรส ชูรสชาติให้อร่อยยิ่งขึ้น 



แกงหยวก

เมนูที่ชาวบ้านหาดสองแควนำมาต้อนรับผู้ที่มาเยือนก็คือมีอยู่ 4 อย่างหลักๆ ได้แก่ อาหารหลัก คือ "น้ำพริกปลาร้า" เป็นอาหารที่ทำกินกันทุกบ้าน จะจิ้มกับผักสดหรือผักนึ่งก็อร่อยได้ไม่รู้เบื่อ นอกจากนั้น เมื่อมีแขกมาเยือน ชาวบ้านหาดสองแควจะลงมือทำอาหารตามความเชื่อ คือ "แกงหยวก"เพราะหยวกกล้วยซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักในแกงนั้นมีเยื่อมีใยมาก เชื่อว่าถ้าใครได้กินก็จะมีเยื่อมีใย จากไปแล้วก็จะได้หวนกลับมาเยี่ยมเยือนกันอีก 


พริกอั่ว หรือ พริกยัดไส้

จานที่สามเป็นอาหารเด่นคู่ครัว คือ "พริกอั่ว" หรือ "พริกยัดไส้" เป็นพริกเขียวเม็ดใหญ่ควักไส้ออก แทนที่ด้วยหมูสับผสมกับพระเอกคือ "ข้าวโพด" ปรุงรสด้วยเครื่องเทศต่างๆ กินคู่กับข้าวสวยร้อนๆ หรือจะกินเป็นของกินเล่นก็อร่อยได้เหมือนกัน 


แกงโอ๊ะเอ๊ะ

ส่วนอาหารจานสุดท้ายเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ คือ "แกงโอ๊ะเอ๊ะ" ชื่อเมนูดูน่ารักซึ่งที่จริงแล้วก็คือแกงผักพื้นบ้านทั้งหลายแหล่ตามแต่จะหาได้ ไม่ว่าจะเป็นยอดฟักทอง ยอดบวบ มะเขือ ใบแมงลัก ฯลฯ ผักหลายๆ อย่างมาแกงรวมกัน ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า คาดว่าชื่อแกงจะมาจากการที่หยิบๆ จับๆ ใส่ผักนู่นนิดนี่หน่อย โอ๊ะ...ใส่ใบแมงลักหรือยัง เอ๊ะ...ใส่บวบหรือยัง กลายเป็นชื่อแกงโอ๊ะเอ๊ะซดน้ำแกงร้อนๆ คล่องคอ แถมยังอุดมไปด้วยคุณประโยชน์จากผักพื้นบ้านปลอดสารพิษ

และทั้งหมดนี่ก็คืออาหารหลักๆ ที่นักท่องเที่ยวที่มาเยือนยังโฮมสเตย์บ้านหาดสองแควจะได้ลองชิม แต่ถ้าอยากรู้ว่าอาหารเด็ดๆ ของที่นี่จะมีอะไรอร่อยๆ อีกบ้าง คงต้องลองมาเยือนมาเที่ยวที่นี่ดูเองเสียแล้ว
ค่าใช้จ่ายที่พักโฮมสเตย์บ้านหาดสองแคว ราคา 350 คน/คืน ราคานี้รวมค่าที่พัก อาหารเย็น/เช้า และอาหารใส่บาตร ติดต่อสอบถามที่พักโฮมสเตย์ได้ที่ คุณสนิท  ดีเพ็ชร ประธานกลุ่มโฮมสเตย์ โทร.08 4505 4672 หรือ อบต.หาดสองแคว โทร.0 5549 6098 หรือสอบถามข้อมูลการเดินทาง และการท่องเที่ยวจังหวัดแพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ได้ที่ ททท.สำนักงานแพร่ โทร.0-5452-1118,0-5452-1127 




ขอบคุณ  :  1)  http://www.nairobroo.com

                2)  http://www.banmuang.co.th

                3)  http://www.manager.co.th

                4)  หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดอุตรดิตถ์

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์