เล่าเรื่องเมืองอุตรดิษฐ์ ตอน สงครามปราบฮ่อ ครั้งที่ ๔

ธงช้างแห่งสยามประเทศ

สงครามปราบฮ่อ ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๓๐ (ค.ศ. 1887)

เมื่อนายพันเอก เจ้าหมื่นไวยวรนารถ  แม่ทัพฝ่ายเหนือปราบปรามพวกฮ่อ  กับตรวจตราจัดการให้รักษาด่านทางตามเขตแขวงเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหกตลอดขึ้นไปจนถึงเมืองแถง  (ปัจจุบันคือ เดียน เบียน ฟู)  เมืองสิบสองจุไทย    เสร็จเรียบร้อย  และได้นำกองทัพกลับถึงกรุงเทพพระมหานครฯ  ตามกระแสพระบรมราชโองการเมื่อ  วันที่  ๗  มิถุนายน  ๒๔๓๐  แล้วนั้น  และได้รับโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เป็น นายพลตรี พระยาสุรศักดิ์มนตรี

เมืองนครหลวงพระบาง  พ.ศ.๒๔๓๐


เจ้ามหินทรเทพนิภาธร(เจ้าอุ่นคำ) เจ้านครหลวงพระบาง (อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง) พ.ศ.๒๔๑๕ - ๒๔๓๑                    ประทับบนราชบัลลังก์ ในพระราชวังหลวงเมืองนครหลวงพระบาง


ศุภอักษรของเจ้ามหินทรเทพนิภาธร  เจ้านครหลวงพระบาง  และใบบอกของหลวงพิศณุเทพข้าหลวง ความว่า     “..เจ้านครหลวงพระบางแต่งให้พระยาเชียงเหนือ พระยาหมื่นน่า และพระยานาใต้  คุมไพร่ท่านละ  ๑๐๐  ไปรักษาเมืองงอย  เมืองขวา  และบ้านเพี้ยพันธุระโกไสย ในลำน้ำนัว  ตามลำดับ  พระยาเชียงเหนือ  และพระยานาใต้ รายงานว่า ไปถึงเมืองงอยเมื่อวันที่  ๑๙  พฤษภาคม  ๒๔๓๐  ให้คนถือหนังสือไปถึง พระยาเมืองขวาริมน้ำอู  เหนือปากน้ำนัว  แต่เมื่อไปถึงบ้านหาดสาพบพวกฮ่อ และพวกไทยไล  ล่องเรือมา  ๔  ลำ  มีคนราว  ๖๐ - ๗๐  เข้ามาทำร้ายไล่ฟันราษฎร  ชาวบ้านแตกตื่นไปบ้าง  ล่องเรือหนีมาตามลำน้ำอูบ้าง    ชาวบ้านตามลำน้ำอู   พอทราบข่าวก็ตกใจตื่นแตกลงมาถึงเมืองงอย    ราษฎรในเมืองงอยก็แตกตื่นทั้งไพร่พลที่ไปรักษาเมืองก็ระส่ำระสายทิ้งพระยาเชียงเหนือ และพระยานาใต้  ไม่ฟังคำห้ามปราม

วันที่ ๒๗  พฤษภาคม  ๒๔๓๐ เจ้านครหลวงพระบาง  และ หลวงพิศณุเทพ  จัดให้พระยาเชียงใต้  และพระยาเมืองแพนคุมพล  ๘๐  จากเมืองหลวงพระบาง  และให้เจ้าอุปราชคุมพลอีก  ๑๐๐ ยกตามไป วันที่ ๓๑  พฤษภาคม ๒๔๓๐ ให้พระพิทักษ์บุรทิศ  เจ้าราชสัมพันธวงศ์  เจ้ากรมตำรวจ  และพระยาเหนือขึ้นไปกวาดผู้คนตามลำน้ำเซือง  น้ำแซงอีกกองหนึ่งไปบรรจบกับเจ้าอุปราช

วันรุ่งขึ้นได้รับหนังสือพระพิทักษ์บุรทิศ ความว่า   ยกไปถึงบ้านปากอู  พบพระยานาใต้ถือหนังสือพระยาเชียงเหนือ  พระยาเชียงใต้  พระยาหมื่นน่า  พระยาเมืองแพน  ว่าพวกเมืองไล  กับฮ่อประมาณ  ๑,๐๐๐  เศษ  ยกมาถึงบ้านสบวันใต้เมืองงอย  พระยานาใต้  พระยาหมื่นน่า จะสู้รบ  แต่ไพร่พลระส่ำระสาย  จึงส่งคนไปเจรจากับคำฮุมบุตรท้าวไลที่คุมคนมานั้นว่า  ถ้ามาดีให้พักอยู่ที่บ้านสบวันนั้น  แต่คำฮุมไม่ยอม (หมายความว่ามาไม่ดี)    พระยานาใต้เห็นเหลือกำลังที่จะต้านทาน    ไพร่พลเมืองหลวงพระบางของหลวงพิศณุเทพก็แตกตื่น  จึงมีหนังสือถึงเจ้าอนันตวรฤทธิเดช  เจ้าเมืองน่าน และเจ้านครหลวงพระบางก็มีไปอีกฉบับหนึ่ง  ขอกำลังมาช่วย  ๑,๐๐๐  คน 

หลวงพิศณุเทพกับเจ้าราชสัมพันธวงศ์ รวบรวมคนได้  ๑๕๐    คำฮุมให้คนมาหาพระสงฆ์ ๆ พาไปหาเสนาบดี  แจ้งว่า  มาดีไม่คิดทำอันตรายแก่เจ้านายแต่อย่างใด  จะมาขอบุตรท้าวไล  และจะขอเข้ามาในเมืองวันพรุ่งนี้  ๖  มิถุนายน  ๒๔๓๐  พวกฮ่อล่องเรือมาขึ้นที่ท่าวัดแสน  วัดเชียงทอง  ริมเมืองนครหลวงพระบาง  ขอเข้าเฝ้าเจ้านครหลวงพระบาง แต่ได้รับการปฏิเสธไม่ให้เฝ้า

๘  มิถุนายน  ๒๔๓๐  ประมาณ  ๕  โมงเศษ    พวกฮ่อพากันถืออาวุธเข้าไปที่คุ้มเจ้านครหลวงพระบาง    ขณะนั้นฮ่อที่อยู่ในคุ้มและนอกคุ้มก็เป่าเขาควายและยิงปืนขึ้นพร้อมกัน    พวกลาวหลวงพระบางและพวกตองสู่กับเงี้ยวที่เป็นพ่อค้าก็ได้ยิงต่อสู้พวกฮ่อ  ปรากฏว่าตายไปฝ่ายละประมาณ  ๒๐  คนเศษ  วันที่ ๒๘  มิถุนายน  ๒๔๓๐    เจ้าเมืองไลเข้ายึดเมืองนครหลวงพระบาง  เจ้านครหลวงพระบางต้องล่องเรือลงมาพักที่เมืองน่านคืนหนึ่ง  แล้วล่องต่อไปอีก  ๒  คืน  ถึงบ้านปากลาย (ปาก-ลาย)  ซึ่งบุตรภรรยาเจ้านครหลวงพระบางและครอบครัวเจ้านายท้าวพระยาราษฎรมาพักอยู่ก่อนแล้ว   หลวงพิศณุเทพและ มองซิเออร์ปาวีก็อยู่ด้วย  แต่ไม่ปรากฏเจ้าอุปราช   เจ้านครหลวงพระบางจึงแต่งคนไปสืบความที่เมืองหลวงพระบาง…..”

เมื่อรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้วได้มีกระแสพระราชดำรัสแก่นายพลตรี  พระยาสุรศักดิ์มนตรี  ว่า  "เจ้าต้องเป็นแม่ทัพขึ้นไปปราบฮ่ออีกครั้ง  ๑    ส่วนการเสบียงอาหารนั้น  ข้าจะให้กรมหมื่นสรรพประสิทธิประสงค์ ยกขึ้นไปเป็นกองเสบียงจัดการกำลังพาหนะอยู่  ณ เมืองพิชัย  เตรียมไว้ส่งกองทัพเจ้า    ส่วนตัวเจ้าต้องเตรียมตัวจัดกองทัพบกไปโดยเร็ว"

การจัดการสงคราม

๑.  ให้กรมมหาดไทยมีตราถึง  ๑.๑  พระภิรมย์ราชาข้าหลวง  ไปราชการเมืองพิชัย  รวมเสบียงอาหารเหลือจ่ายกองทัพตกค้างที่เมืองพิชัย  เมืองพิษณุโลก  และ ๑.๒  พระยาศรีธรรมศุภราช  ผู้ว่าราชการเมืองสุโขทัย    เป็นข้าหลวงสำเร็จราชการเมืองพิชัย  จัดการลำเลียงเสบียงอาหารซึ่งจะจ่ายกองทัพ   ตั้งแต่เมืองพิชัยไปถึงบ้านปากลาย และรวบรวมช้าง  ม้า  โคต่าง  ในเมืองพิชัย  เมืองขึ้น  และเมืองใกล้เคียง

๒. โปรดให้มีศุภอักษรถึงเจ้านครเมืองน่าน  ให้แต่งกำลังพลมาเมืองนครหลวงพระบางตามที่เจ้าเมืองนครหลวงพระบางขอไป   ถ้ากองทัพฮ่อยังอยู่ในเมือนครหลวงพระบางพอที่จะตีได้ก็ให้ตีแตกไป   ถ้ายังตีไม่ได้  ให้รอกองทัพจากกรุงเทพฯ    ถ้าฮ่อถอนไปจากเมืองนครหลวงพระบางแล้ว  ให้กองทัพเมืองน่านตั้งมั่นรักษาเมืองนครหลวงพระบางจนกองทัพกรุงเทพฯ จะขึ้นไปถึง    และให้เกณฑ์ช้างลงมารับกองทัพพระยาสุรศักดิ์มนตรีที่เมืองพิชัย ให้ทันเดือน  ๑๐  ปีกุน  และคิดส่งลำเลียงเสบียงอาหารลงมารับกองทัพทางเมืองฮุง  บ้านนาดินดำทางหนึ่ง  ทางปากแบ่งทางหนึ่ง  ให้มากพอที่จะเลี้ยงกองทัพ

๓. โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นสรรพประสิทธิประสงค์เสด็จไปตรวจการลำเลียงเสบียงอาหาร  และส่งกองทัพ  ณ  เมืองพิชัย

๔.  โปรดให้  พระยานนทบุรีศรีเกษตราราม  เป็นข้าหลวงใหญ่สำหรับเมืองนครหลวงพระบางราชธานี    ให้ขึ้นไปพร้อมกองทัพหน้า  ตั้งรักษาราชการเกลี้ยกล่อมอาณาประชาราษฎร์ให้เข้ามาอยู่  ณ  เมืองนครหลวงพระบาง

๕.  โปรดเกล้าฯ ให้หลวงดัษกรปลาศ  คุมทหารกองทัพกรุงเทพฯ  พร้อมเจ้าราชบุตรว่าที่เจ้าราชวงศ์  เจ้าราชภาคิไนย  เมืองหลวงพระบาง  รวมทหารและไพร่พล  ๒๕๐   ยกไปเมืองนครหลวงพระบาง    ถ้าฮ่อยังอยู่ในเมืองนครหลวงพระบาง  เห็นพอกำลังจะตีได้ก็ให้ตีแตกได้   แล้วตั้งมั่นรอกองทัพใหญ่ไปถึง

๖.  โปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรศักดิ์มนตรี  คุมทหารไพร่พล  ๓,๐๐๐  คน   ยกขึ้นไปเมืองนครหลวงพระบาง    เมื่อจัดการเสบียงอาหารเรียบร้อยแล้ว  ให้ยกไปปราบปรามพวกฮ่อข้าศึกจนตลอดพระราชอาณาเขต  ให้ทันฤดูแล้ง  ปีกุน พ.ศ.๒๔๓๐ นี้

เจ้าเมืองนครหลวงพระบางราชธานีเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท 


 เจ้ามหินทรเทพนิภาธร(เจ้าอุ่นคำ) เจ้านครหลวงพระบาง (อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง) พ.ศ.๒๔๑๕ – ๒๔๓๑

๓  ตุลาคม  ๒๔๓๐  เจ้ามหินทรเทพนิภาธร  เจ้านครหลวงพระบาง กับเจ้าลาวบุตรหลานชายหญิง  ๒๗  คน  ลงมาจากเมืองพิชัยถึงกรุงเทพฯ    วันที่  ๒๑  ตุลาคม  ๒๔๓๐    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เสด็จออกประทับบนพระที่นั่งพุดตาลทองคำภายใต้พระมหาเศวตฉัตรในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท    ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้  เจ้ามหินทรเทพนิภาธร  เจ้าศรีสุพรรณ์ว่าที่ราชบุตร  เจ้านายบุตรหลานชาย  ๑๓  หญิง  ๑๒  รวม  ๒๗   ไพร่ชายหญิง  ๕๐   รวม  ๗๗    เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท   แล้วมีพระราชดำรัสปฏิสัณฐาน  มีเนื้อความดังต่อไปนี้

๑.  "เจ้านครหลวงพระบางลงมาอยู่กรุงเทพฯ  ไม่เจ็บไข้อันใดฤๅ" ….. "ขอเดชะ  พระบารมีปกเกล้าฯ  เจ้านครหลวงพระบางและบุตรหลานมีความสุขสบาย"

๒.  "เรามีความสงสารที่เสียเมืองนี้  ต้องเสียทรัพย์สมบัติ  และพลัดพรากจากถิ่นฐานบ้านเรือน   การที่เสียเมืองหลวงพระบางครั้งนี้  ก็เป็นการเสียเกียรติยศกรุงเทพฯ ด้วยเหมือนกัน  แต่เจ้านครหลวงพระบางได้อุตสาหรักษาเมืองนครหลวงพระบางอยู่จนถึงเวลาอับจนนั้น  ก็เป็นความชอบอยู่แล้ว   อย่ามีความกลัวว่าจะมีความผิดเลย" …."ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่เจ้านครหลวงพระบางทั้งนี้พระเดชพระคุณเป็นล้นเกล้าฯ    การที่ต้องเสียเมืองครั้งนี้  ขอพระบารมีเป็นที่พึ่งสืบไป"

๓.  "การเมืองหลวงพระบางคงจะขึ้นไปจัดให้เรียบร้อย  ตัวเจ้านครหลวงพระบางก็จะให้ขึ้นไปด้วยกับกองทัพใหญ่    แต่การรักษาบ้านเมืองแต่ก่อนมาเป็นการหละหลวมไม่เป็นหลักฐาน  ต้องให้เจ้านครหลวงพระบางคิดปรึกษาหารือกับแม่ทัพ  และข้าหลวงจัดการรักษาบ้านเมืองจะได้ไม่เป็นการลำบากเสียบ้านเมืองต่อไป" …. "การที่ทรงพระกรุณาดังนี้  เจ้านครหลวงพระบางจะคิดปรึกษาหารือกับแม่ทัพและข้าหลวงรักษาราชการ  ฉลองพระเดชพระคุณเต็มสติกำลัง" 

ปฏิบัติการร่วม - จัดพนักงานไปกับกองทัพข้างละ  ๒  นาย  

ในการยกกองทัพขึ้นไปปราบฮ่อ และจัดราชการครั้งนี้    ฝ่ายฝรั่งเศสก็จัดทหารขึ้นไปสำรวจพระราชอาณาเขต  ณ  เมืองหลวงพระบางด้วย   รัฐบาลฝรั่งเศสและรัฐบาลสยามได้ตกลงกันว่า   กองทัพสยามจะยกขึ้นไปปราบฮ่อในพระราชอาณาเขตสยามครั้งนี้   รัฐบาลฝรั่งเศสก็จะยกกองทัพขึ้นไปปราบปรามทางเขตแดนของฝรั่งเศสด้วย    ทั้งสองฝ่ายจัดพนักงานไปกับกองทัพข้างละ  ๒  นาย   เพื่อให้เป็นการสะดวกทั้งสองฝ่าย    ข้าหลวงฝรั่งเศสที่ไปกับกองทัพไทยคือ  กัปตัน  กือเป  (Cupet)  และเลฟเตแนนท์  นิโคล็อง   (Nicolon)    ฝ่ายไทยที่ไปกับกองทัพฝรั่งเศส  คือ  พระไพรัชพากย์ภักดี  และหลวงคำนวณคัคคนาน 

ท่าเตียน - เมืองพิชัย 

วันที่  ๒๐  พฤศจิกายน  ๒๔๓๐  กองทัพเคลื่อนออกจากท่าเตียนโดยทางเรือ    สมเด็จกรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช  กรมหมื่นดำรงราชานุภาพพระองค์เจ้าสาย  ตามไปส่งจนถึงปากคลองบางลำพู    กระบวนเรือถึงวัดเฉลิมพระเกียรติ  นนทบุรี  พักนอน  ๑  คืน    วันรุ่งขึ้น  พระองค์เจ้าปฤษฎางค์กับหม่อมตลับตามส่งต่อไปถึงวัดเกษไชโย   กองทัพได้เดินทางรอนแรมตามลำน้ำอยู่เกือบเดือน  จนวันที่  ๑๗  ธันวาคม  ๒๔๓๐   กองทัพก็ถึงเมืองพิชัย 

กองทัพใหญ่ 

วันที่ ๑๙  มกราคม  ๒๔๓๑  กองทัพใหญ่ยกออกจากเมืองพิชัย  ถึงเมืองปากลาย ในวันที่ ๑  กุมภาพันธ์  ๒๔๓๑   จัดให้พระพลัษฎานุรักษ์  ปลัดทัพ  แบ่งกำลังล่วงหน้ายกไปเมืองนครหลวงพระบางก่อน  พร้อมพนักงานเซอร์เวย์   ออกจากปากลาย  ในวันที่  ๑๙  กุมภาพันธ์  ๒๔๓๑  ส่วนกัปตัน  กือเป  และเลฟเตแนนท์  นิโคล็อง ออกจากปากลาย  ในวันที่  ๒๕ – ๒๖   กุมภาพันธ์  ๒๔๓๑   พระพลัษฎานุรักษ์  ปลัดทัพ  ก็นำกำลังล่วงหน้าของกองทัพใหญ่ยกไปเมืองนครหลวงพระบาง


           พระบาง : พระพุทธรูปหล่อด้วยสำริด (ทองคำ ๙๐ เปอร์เซนต์)  ปางห้ามสมุทร  สูง ๒ ศอก ๗ นิ้ว (๑.๔๔ เมตร)                      ศิลปะแบบบายนตอนปลาย  พระเศียรเกลี้ยงสำหรับประดับเครื่องทรง   


วันที่ ๑  มีนาคม  ๒๔๓๑   กองทัพใหญ่ยกจากบ้านปากลายทางเรือ    ครั้นมาถึงบ้านท่าเลื่อน  ทราบว่า  เมื่อพวกฮ่อเข้าเมืองนครหลวงพระบางนั้น  ท้าวพระยาและราษฎรเมืองนครหลวงพระบางได้นำพระบางหนีข้าศึกมาซ่อนไว้ที่ถ้ำบ้านน้ำพูน   ท่านแม่ทัพพิจารณาเห็นว่า   พระบางเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง  ประชาชนเลื่อมใสศรัทธามาก  จึงได้รับอัญเชิญพระบางไปกับกองทัพด้วย   เมื่อถึงเวลาสมควรจะได้จัดการฉลองให้ต่อไป   ทวยราษฎรเมืองนครหลวงพระบางได้ทราบข่าวเรื่องพระบางพากันมาต้อนรับ  และแห่แหนอย่างล้นหลาม  ระหว่างที่กองทัพใหญ่เข้าเมืองนครหลวงพระบาง นั้น   วันที่  ๒  มีนาคม  ๒๔๓๑  พระพลัษฎานุรักษ์ก็นำกำลังล่วงหน้าของกองทัพใหญ่ถึงเมืองนครหลวงพระบางเช่นกัน  ส่วน  กัปตัน  เจริญ  พระยาเชียงเหนือ  พระยานาใต้  ยกออกจากเมืองนครหลวงพระบาง  ในวันที่ ๔ มีนาคม  ๒๔๓๑  เพื่อไปเมืองซ่อนแขวงเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก

องบา  เมืองสิบสองจุไทย  -  ชักธงช้างไว้ยอดเสา

จากเมืองสบแอด  นายร้อยเอก  หลวงดัสกรปลาศ  และ มองซิเออร์  ปาวี เดินทางต่อไปจนถึงเมืองเชียงทราย  แขวงเมืองสิบสองจุไทย   องบา  นายฮ่อท่าขวา  (ธงดำ)  มาคอยรับ    องบาได้ทำเสาธงสูงและชักธงช้างไว้ยอดเสาด้วย   นายร้อยเอก หลวงดัสกรปลาศได้แนะนำองบากับ มองซิเออร์  ปาวีให้รู้จักกัน    และในโอกาสต่อมา   มองซิเออร์  ปาวี  ได้พูดจาเอาใจองบาว่า  ถ้าองบามีธุระเดือดร้อนประการใดแล้ว  มองซิเออร์  ปาวีจะช่วยเป็นธุระให้ทั้งสิ้น  และชวนให้ไปฮานอยด้วยกัแต่องบาไม่ไปอ้างว่าเป็นห่วงพี่น้อง   มองซิเออร์  ปาวีว่าถ้าไปด้วยกันจะชุบเลี้ยงตั้งให้เป็นขุนนางมียศยิ่งใหญ่กว่าท้าวจัน  ท้าวขวา    องบาก็นิ่งอยู่มิได้ตอบประการใด
ท่านแม่ทัพเห็นว่าราชการระยะนี้ไม่ฉุกเฉินแล้ว    จึงดำริให้เจ้านครหลวงพระบางขึ้นมาอยู่เสียยังเมืองนครหลวงพระบาง  และได้เชิญให้ขึ้นมาจากเมืองพิชัย   วันที่ ๒  พฤษภาคม  ๒๔๓๑   ได้จัดกระบวนแห่ลงไปรับเจ้านครหลวงพระบางจากบ้านปากลาย  จนถึงท่าหน้าเมืองนครหลวงพระบาง    แล้วจัดให้อยู่ตามสมควรแก่เกียรติยศเป็นที่เรียบร้อย

มองซิเออร์  ปาวี  โกงหน้าด้านๆ

วันที่  ๒๓  พฤศจิกายน  ๒๔๓๑  ได้รับรายงานจาก นายเจริญ กัปตันที่เมืองแอด  ส่งคำให้การฮ่อมาให้มีใจความว่า   มองซิเออร์  ปาวีเอาเรือมาถึงแก่งซอง  พ่วงเรือไฟมาจมลงที่แก่ง  ให้ราษฎรลงไปลากเรือไฟที่จมน้ำ  เรือก็หาขึ้นไม่  แล้วว่าองบาตาย   และมองซิเออร์  ปาวี สั่งว่า  เมืองหลวงพระบาง  และเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหกเป็นของฝรั่งเศสแล้วอย่าให้พวกฮ่อไปหาไทยเลย    ถ้าพวกฮ่อมีทุกข์ร้อนอย่างใดให้ไปบอก  จะช่วยเหลือให้เป็นกำลัง  และนายเจริญกัปตันได้ร้องทุกข์มาว่า  อ้ายพวกฮ่อกำเริบมากถึงกับจะต้องรบกัน  (กรณีองบาตาย นี้  สันนิษฐานได้ว่า อาจจะเป็นเพราะมองซิเออร์  ปาวีเกลี้ยกล่อมให้เข้าด้วยแต่องบาไม่ยอมจึงแกล้งให้เกิดอุบัติเหตุก็เป็นได้ )
วันที่ ๑๔  ธันวาคม  ๒๔๓๑   เรือกองทัพถึงเมืองแถง    นายร้อยเอก  หลวงดัษกรปลาศจัดทหารลงมารับแม่ทัพที่ที่เรือจอด  มองซิเออร์  ปาวีกับออฟฟิเซอร์ฝรั่งเศส  ๓  นาย  และทหารญวน  ๖๐    มาคอยรับกองทัพอยู่ที่ค่ายเชียงแล    แม่ทัพและมองซิเออร์  ปาวีได้หารือข้อราชการ  ซึ่งท่านแม่ทัพแจ้งว่ามีความประสงค์อยากจะให้ทำแผนที่ในเขตสิบสองจุไทยตลอดหัวพันทั้งห้าทั้งหกเสียชั้นหนึ่งก่อนและให้ทำโดยเร็ว    มองซิเออร์  ปาวีตอบว่า  “...ส่วนหัวพันทั้งห้าทั้งหกที่ทหารไทยเข้าไปตั้งอยู่แล้วนั้น  ฝ่ายฝรั่งเศสมิได้ล่วงล้ำเข้าไป    แต่เมืองสิบสองจุไทยนั้น  ฝรั่งเศสได้เข้าไปตั้งอยู่แล้ว  ครั้นจะขึ้นไปทำการ  เกรงจะเป็นที่บาดหมางกันขึ้น  ด้วยการแผนที่ฝ่ายฝรั่งเศสได้ทำไว้โดยเรียบร้อยพอที่จะตัดสินเขตแดนได้แล้ว    เห็นว่าไม่ต้องทำอีก   และว่า  ข้าหลวงทั้งสองฝ่ายที่อยู่ในกองทัพของแต่ละฝ่ายก็ได้กลับไปแล้ว    เห็นว่าเป็นการสิ้นคราวทำแผนที่แล้ว….”    แม่ทัพยืนยันว่า    “....ส่วนสิบสองจุไทยนี้นับว่าเป็นพระราชอาณาเขต  ตามที่มองซิเออร์  ปาวีได้กล่าวนั้นหาสมควรไม่  เพราะได้ตัดสินด้วยเขตแดนตกลงกันแล้วหรือ   ซึ่งมองซิเออร์  ปาวีจะถือเป็นเขตส่วนฝรั่งเศสนั้นยังไม่ควรก่อน    คำสั่งของเกาเวอนแมนต์สำหรับกองทัพยังไม่ได้เปลี่ยนแปลง  ข้าพเจ้าจะต้องทำตามเดิม....."   

ท่านแม่ทัพได้ชี้แจง ว่า “....การที่ท่านจะให้ข้าพเจ้าถอนทหารจากเมืองเหล่านี้นั้น  ข้าพเจ้าทำไม่ได้  ถ้าขืนทำไปก็จะได้รับความผิด  เพราะผิดจากคำสั่งของรัฐบาลของข้าพเจ้า...”    มองซิเออร์  ปาวีว่าเรื่องการลงโทษรับรองไม่ให้รัฐบาลไทยลงโทษได้   ท่านแม่ทัพตอบว่า  “....ถ้ายอมทำตามว่า  ก็ต้องเป็นคนไม่รักชาติ  ไม่สมกับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระแสงอาญาสิทธิ์ให้เป็นแม่ทัพ  เมื่อท่านจะหักหาญเอาโดยอำนาจ  ข้าพเจ้ายอมตายในเมืองแถงนี้ ....”

มองซิเออร์  ปาวี ตอบว่า  ไม่เป็นเช่นนั้น  ท่านเยเนอราลต้องการอย่างไรขอให้บอกให้ทราบ    ท่านแม่ทัพจึงว่า  กองทัพสยามตั้งรักษาเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหกอยู่แล้ว    ส่วนเมืองสิบสองจุไทยนั้นกองทัพฝรั่งเศสก็ได้ตั้งอยู่   และเมืองแถงทหารไทยได้ตั้งรักษาการอยู่ก่อนแล้ว    บัดนี้  ฝรั่งเศสได้ยกเข้ามาตั้งในค่ายเชียงแลด้วยกัน    โดยเหตุนี้  ทหารไทยและทหารฝรั่งเศสรักษาความสงบอยู่ด้วยกันจนกว่ารัฐบาลจะตัดสินเขตแดนตกลงกัน  ซึ่งมองซิเออร์  ปาวีก็รับรอง  และได้ทำหนังสือไว้ต่อกัน  (รายละเอียดหนังสือสัญญา  ๙  ข้อ   อ่านเพิ่มเติมจาก http://www.iseehistory.com )

วันที่  ๗  มีนาคม  ๒๔๓๒    แม่ทัพได้รับตราพระราชสีห์ที่  ๒๕๑   มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ  ให้  พระยานนทบุรี  (พระยาไกรโกษา ทัด สิงหเสนี)  ไปเป็นข้าหลวง  ๕  หัวเมือง  อยู่  ณ  เชียงใหม่  ให้มอบการงานในหน้าที่ข้าหลวงประจำนครหลวงพระบางให้ท่านแม่ทัพโดยสิ้นเชิง  และวันที่  ๒๒  มีนาคม  ๒๔๓๒   ได้รับตราพระราชสีห์  ทรงพระกรุณาให้ พระยาสุรศักดิ์มนตรี เป็นแม่ทัพและเป็นข้าหลวงจัดราชการบ้านเมืองปราบปรามโจรผู้ร้ายในเขตเมืองหลวงพระบางเต็มอำนาจสิทธิเด็ดขาด    ทั้งเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยต่างพระเนตรพระกรรณแล้ว   เมื่อเห็นสมควรจะจัดการอย่างไรซึ่งชอบด้วยราชการแล้วก็โปรดเกล้าฯ  ให้จัดการได้ทีเดียว

“.....ข้าพเจ้าจะขอรบกับฝรั่งเศส "

วันที่  ๑๓  เมษายน  ๒๔๓๒   ดอกเตอร์มาเซ มาพบท่านแม่ทัพแจ้งว่า   กองทัพฝรั่งเศสที่เมืองแถงได้รับคำสั่งจากเยเนอราลแต่เมืองฮานอย  ให้ไล่ทหารไทยที่ตั้งรักษาการที่บ้านสามหมื่น  เมืองแถงออกไป    ทหารไทยตอบว่า  ไม่ไปเพราะไม่ใช่คำสั่งท่านแม่ทัพ  และท่านแม่ทัพตอบดอกเตอร์มาเซว่า ได้ปฏิบัติข้อตกลงตามที่ได้สัญญากันไว้ต่อกัน (สัญญา  ๙  ข้อ)   เมื่อมีคำสั่งเกาเวอนแมนต์  ๒  ฝ่ายตกลงกันประการใดแล้ว  จะได้ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นทุกประการ  และตัดความว่า  “….ที่จะให้ข้าพเจ้าสั่งถอนทหารไทยเสียในเวลานี้นั้น  ข้าพเจ้ายังทำตามไม่ได้...”    ดอกเตอร์มาเซ  จึงว่า  ถ้าเช่นนั้นจะมีหนังสือบอกไปเมืองฮานอย  แล้วก็ลากลับไป  (ดอกเตอร์มาเซ ผู้นี้  มีกิริยาวาจาหยาบคาย   เป็นผู้อยู่ประจำนครหลวงพระบางแทนมองซิเออร์  ปาวี)

วันที่  ๒๓  พฤษภาคม  ๒๔๓๒    กัปตันนิโคล็อง  (ได้เลื่อนยศจากเลฟเตแนนท์)  และดอกเตอร์มาเซได้เข้าพบท่านแม่ทัพและพูดจาหว่านล้อมให้สั่งถอนทหารไทยจากเมืองแถง    ท่านจึงตอบห้วนๆ  ว่า “...ข้าพเจ้าไม่รับเข้าใจอะไรทั้งหมด    นอกจากเข้าใจว่าเมืองแถงนี้เป็นเมืองกลางตั้งรักษาอยู่ด้วยกันทั้งสองฝ่าย    ถ้าฝรั่งเศสเอาอาวุธเข้ามาในเขตแขวงที่เมืองไทยรักษาอยู่โดยไม่บอกกล่าวแล้ว  ต้องรบกัน  จะไม่ยอมให้เดินลอยนวนเล่นเป็นอันขาด ข้าพเจ้าจนใจว่า เวลานี้เกาเวอนแมนต์สั่งให้รักษาการสงบอยู่  มิฉะนั้นข้าพเจ้าจะขอรบกับฝรั่งเศส....”    

วันที่  ๑๘  มกราคม  ๒๔๓๒  แม่ทัพก็ได้รับท้องตราพระราชสีห์ใจความเหมือนอย่างลายพระหัตถ์พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมขุนสมมตอมรพันธ์   วันที่  ๒๓  มกราคม  ๒๔๓๒    ท่านแม่ทัพได้ออกเรือจากท่าดงหอยล่องมาตามลำแม่น้ำโขง   วันที่  ๒๘  มกราคม  ๒๔๓๒   ถึงบ้านปากลาย  วันรุ่งขึ้น เปลี่ยนเรือ  แบ่งคนเดินทางบกไปถึงเมืองพิชัย
วันที่  ๓๐  มกราคม  ๒๔๓๒   ออกจากปากลายล่องเรือมาตามลำน้ำโขง   ลงมาถึงเมืองเชียงคาน... ต้องบอกว่าที่ดินอุดมเป็นที่สุด   ถ้าบำรุงการค้าขายให้สินค้าออกได้สะดวกแล้ว  ลำน้ำเจ้าพระยาสู้ไม่ได้เลย    เพราะเหตุดังนี้ฝรั่งเศสจึงได้สรรเสริญเป็นที่สุด .....ได้ขึ้นไปดูเมืองเวียงจันทน์  ได้เห็นบ้านเมืองก็เป็นที่เข้าใจได้ว่า  แต่ก่อนเมืองเวียงจันทน์เป็นเมืองใหญ่เมืองหนึ่ง   ภูมิบ้านเมืองดีกว่าเมืองหลวงพระบางเป็นอันมาก.....จากเมืองเวียงจันทน์ล่องเรือมาถึงเมืองหนองคาย  พักอยู่  ๖  ราตรี  เพื่อเตรียมการและรอพาหนะที่จะขึ้นเดินทางบกตัดทางมาลงที่เมืองสระบุรี   เป็นอันสิ้นสุดระยะทางที่เดินบก  รัชกาลที่ ๕  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้ พระวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ คุมเรือหลวงชนิดต่างๆ  หลายสิบลำขึ้นไปรับกองทัพถึงเมืองสระบุรี   มาถึงกรุงเทพพระมหานครในเดือนมีนาคม  

พ.ศ.๒๔๓๔ ทรงจัดระเบียบหัวเมืองฝ่ายเหนือ

เนื่องจากทางการไทยทราบดีถึงเจตนาที่แท้จริงของฝรั่งเศส  ที่ต้องการครอบครองลาวและเขมร  ซึ่งจะเห็นได้ว่าไทยต้องพยายามโอนอ่อนผ่อนให้เสมอ  เพราะหากแข็งขืน  ก็เป็นที่แน่นอนว่าฝรั่งเศสจะต้องใช้พลังอำนาจทางทหารซึ่งมีศักยภาพสูงกว่ากองทัพไทย  และมีตัวอย่างที่ฝรั่งเศสปฏิบัติกับญวน  และอังกฤษปฏิบัติกับพม่ามาแล้ว ใน พ.ศ.๒๔๓๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้จัดระเบียบหัวเมืองฝ่ายเหนือเพื่อความสะดวกและประสิทธิภาพในการปกครอง  โดยมีข้าหลวงใหญ่ประจำเป็นภาค ๆ   ดังนี้

ภาคลาวกาว :  ประกอบด้วย เมืองอุบล  เมืองจำปาศักดิ์  เมืองเชียงแตง  เมืองแสนปาง  เมืองสีทันดร  เมืองอัตบือ  เมืองสาละวัน  เมืองคำทองใหญ่  เมืองสุรินทร์  เมืองสังขะ  เมืองขุขันธ์  เมืองเดชอุดม  เมืองศรีษะเกษ  เมืองยโสธร  เมืองเขมราฐ  เมืองกมลาศัย  เมืองกาฬสินธุ์  เมืองภูแล่นช้าง  เมืองสุวรรณภูมิ เมืองร้อยเอ็ด  เมืองมหาสารคาม   รวมเมืองใหญ่ ๒๑  เมือง เมืองขึ้นอีก ๔๓ เมือง   กรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นข้าหลวงใหญ่  
   
ภาคลาวพวน  ประกอบด้วย เมืองหนองคาย  เมืองเชียงขวาง  เมืองบริคัณหนิคม  เมืองโพนพิสัย  เมืองนครพนม  เมืองท่าอุเทน  เมืองไชยบุรี  เมืองสกลนคร  เมืองมุกดาหาร  เมืองขอนแก่น  เมืองหล่มศักดิ์            รวมเมืองใหญ่  ๑๑ เมือง เมืองขึ้นอีก ๓๖ เมือง  กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นข้าหลวงใหญ่   พ.ศ.๒๔๓๖  ได้ทรงตั้งกองบัญชาการมณฑลลาวพวนที่บ้านหมากแข้ง  ทรงสร้างความเจริญ จากหมู่บ้านชนบทจนเป็นเมืองอุดร   และต่อมาได้ยกฐานะเป็นจังหวัดอุดรธานี

ภาคลาวเฉียง :  ประกอบด้วย เมืองเชียงใหม่  เมืองลำปาง  เมืองลำพูน  เมืองน่าน  เมืองแพร่  เมืองเถิน  เมืองเชียงราย และเมืองขึ้นของหัวเมืองเหล่านั้น   พระยาไกรโกษา เป็นข้าหลวงใหญ่

ภาคลาวพุงขาว :  ประกอบด้วย เมืองหลวงพระบาง  สิบสองปันนา  สิบสองจุไท  หัวพันทั้งห้าทั้งหก  ซึ่งเป็นหัวเมืองขึ้นในพระราชอาณาเขต   กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ เป็นข้าหลวงใหญ่  แต่ให้ พระยาฤทธิรงค์รณเฉท (ศุข) รักษาราชการแทน  


     

กรมหลวงพิชิตปรีชากร - กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม - กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ - พระยาฤทธิรงค์รณเฉท (ศุข)

การสร้างเหรียญปราบฮ่อ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญราชอิสริยาภรณ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ เพื่อเป็นบำเหน็จความกล้าหาญแก่ผู้ที่ไปรบในสงครามปราบฮ่อที่รุกล้ำอาณาเขตทางเหนือ  หรือบริเวณประเทศลาวในปัจจุบัน  ซึ่งขณะนั้นยังเป็นเมืองประเทศราชของสยาม เหรียญดังกล่าว มีชื่อว่า “เหรียญปราบฮ่อ” โดยโปรดให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้ออกแบบ และเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้ว่าจ้างให้บริษัทบีกริมแอนด์โกผลิตเหรียญปราบฮ่อ ณ ประเทศเยอรมนี โดยมีจำนวนผลิตเพียง ๕๐๐ เหรียญ และได้จัดส่งมายังประเทศสยามในปี พ.ศ. ๒๔๓๗

  


ทิ้งท้าย.....

จากเหตุการณ์สงครามปราบฮ่อทั้ง  ๔  ครั้ง  คาดหวังว่าทุกท่านคงจะมีความรู้สึกภาคภูมิใจที่คล้ายคลึงกัน คือ...รู้สึกและภาคภูมิใจ ถึงความสมัครสมานสามัคคี  ความอุตสาหะเพียรพยายามและความเสียสละของบรรพบุรุษไทย ที่มีต่อประเทศชาติและพระมหากษัตริย์อย่างเป็นที่สุด..ในอีกครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทย




ขอบคุณ :  1)  http://emuseum.treasury.go.th    

                2)  http://www.reurnthai.com

                3)  http://teakdoor.com

                4)  http://www.thaifighterclub.org

                5)  http://www.iseehistory.com

                6)   http://www.udclick.com 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์