เล่าเรื่องเมืองอุตรดิษฐ์ ตอน...ประเพณีแห่น้ำขึ้นโฮง


อนุสาวรีย์เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร ปฐมกษัตริย์ผู้ครองเมืองลับแล  ตั้งอยู่ที่ม่อนอารักษ์ ตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล


การจัดให้มีประเพณีแห่น้ำขึ้นโฮงของชาวลับแลที่สืบทอดกันมาเป็นเวลาอันยาวนาน  แม้จะพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนไปบ้างตามกาลสมัยก็ตาม แต่ก็ยังคงรักษาคุณธรรมตามวิถีชีวิตตั้งเดิม ด้วยการแสดงความเคารพนับถือผู้ที่มีพระคุณ  ที่ประกอบคุณงามความดีแม้ล่วงลับไปแล้วก็ตาม นอกจากนี้ยังแสดงออกถึงความสามัคคีกลมเกลียว  ความขยันขันแข็งร่วมกันจัดกิจกรรมรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของชาวลับแลสืบมา  ซึ่งเยาวชนชาวลับแลจะได้ช่วยกันสืบทอดต่อไป 

ตำนานตอนหนึ่งเล่าว่า “...เจ้าแคว้นและเจ้าหลักได้นำบุตรสาวสองคนไปเข้าเฝ้าพระเจ้าเรืองธิราช  พร้อมกับถวายผ้าซิ่นตีนจก และสิ่งประดิษฐ์ทั้งหลาย  พระเจ้าเรืองธิราชพอพระทัยยิ่งนักออกปากชมมิได้หยุด  พระองค์พิเคราะห์ดูแล้วเห็นว่าหญิงสาวทั้งสองคนนี้ มีลักษณะรูปทรงผิวพรรณ และกิริยามารยาท ผิดแผกจากสามัญชนทั่วไป มีคุณสมบัติครบถ้วนทุกประการจึงเอ่ยปากขอบุตรทั้งสองต่อเจ้าแคว้นและเจ้าหลัก เพื่ออภิเษกให้เป็นชายาของเจ่าฟ้าฮ่ามกุมารราชบุตรของพระองค์  เจ้าฟ้าฮ่ามกุมารได้อภิเษกสมรสตามพระราชประเพณี  พร้อมกับตั้งให้นางสุมาลีและนางสุมาลาเป็นพระชายา ขวา-ซ้าย  ได้ครองเมืองลับแลอยู่เป็นเวลาอันยาวนาน  ราษฎรออยู่ด้วยกันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข จนชราภาพและถึงแก่ทิวงคต  อาณาประชาราษฎร์จึงได้พร้อมใจกันนำอัฐิของพระองค์ฝังไว้ ณ ม่อนอารักษ์ เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของประชาชนทั่วไป และเกิดประเพณีแห่น้ำขึ้นโฮงสืบทอดมาจนทุกวันนี้ 

ชาวบ้านและองค์กรท้องถิ่นจะจัดประเพณีแห่น้ำขึ้นโฮงในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี ประเพณีแห่น้ำขึ้นโฮง (โฮง หรือโรงในที่นี้หมายถึงโรงพิธี) เป็นประเพณีที่ชาวอำเภอลับแลจัดขึ้นเพื่อเป็นการบวงสรวงสักการะดวงวิญญาณของเจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร ปฐมกษัตริย์ของเมืองลับแล ที่เป็นผู้นำพาบรรพบุรุษของชาวอำเภอลับแล อพยพมาจากอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มาตั้งรกรากทำมาหากินอยู่ที่บริเวณอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.1530 จวบจนถึงปัจจุบัน  

พิธีกรรมสำคัญ เริ่มจากการมีขบวนแห่เครื่องสักการะเจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร อันตระการตา ประกอบไปด้วย ขบวนตุง ขบวนคานหาบ ขบวนวัฒนธรรมพื้นบ้านที่แสดงออกถึงวิถีชีวิตท้องถิ่นทั้ง 13 หมู่บ้าน  นำน้ำศักดิ์สิทธิ์ ประพรมด้วยน้ำอบ น้ำหอม ขึ้นไปถวายสักการะดวงวิญญาณของเจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร พร้อมเครื่องถวาย  เพื่อเป็นการขอพรให้ประชาชนชาวอำเภอลับแล มีการกินดีอยู่ดี ร่มเย็นเป็นสุข ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ไม้ผลอุดมสมบูรณ์ตลอดปี จากนั้นขบวนแห่จะนำน้ำศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว ไปทรงน้ำตามศาลเจ้า ซึ่งเป็นที่นับถือของคนในหมู่บ้าน เช่น ศาลเจ้าประจำหมู่บ้าน เรียกว่า ศาลปูเจ้า (ตามด้วยชื่อของเจ้าประจำศาล)  หรือเรียกเป็นศาลปู่เจ้าปู่เชื้อเจ้าบ้านนั้น ๆ  เป็นความเชื่อของชาวบ้านที่จะได้แสดงความเคารพนับถือบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว


ขบวนแห่น้ำขึ้นโฮง ปี 2556 

ประชาชนตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมใจแต่งชุดผ้าทอพื้นเมือง สะพายย่ามเล็กๆ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวลับแลโดยแท้จริง เข้าร่วมขบวนแห่น้ำศักดิ์สิทธิ์จากบ่อน้ำเวียงเจ้าเงาะ และเครื่องบวงสรวงดวงวิญญาณเจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร ความยาวกว่า 2 กิโลเมตร ไปยังอนุสาวรีย์เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร ปฐมกษัตริย์ผู้ครองเมืองลับแล คนแรก ตั้งอยู่ที่ตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล โดยมีนายชัยศิริ ศุภรักษ์จินดา นายก อบจ.อุตรดิตถ์ และนายชูชาติ จันทร์วัฒนพงษ์ นายก อบต.ฝายหลวง ผูกผ้าแพร 7 สี ถวายพวงมาลัยปฐมกษัตริย์ผู้ครองเมืองลับแลคนแรก เพื่อดลบันดาลความร่มเย็นเป็นสุขของชาวลับแล เป็นการขอพรให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดีมีความสุข ฝนตกต้องตามฤดูกาล มีน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก ไม่ประสบภัยธรรมชาติ พืชผลทางการเกษตรสมบูรณ์ ขายได้ราคาดี  ปีนี้ตรงกันวันที่ 22 พฤษภาคม 2556  ซึ่งชาวลับแลถือว่าเข้าสู่ฤดูฝนอย่างแท้จริง

  

   

  

  

  


ขบวนแห่น้ำขึ้นโฮง ปี 2557 

11 พฤษภาคม 2557  นายชูชาติ จันทร์วัฒนพงษ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลฝายหลวง พร้อมด้วยผู้นำชุมชน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลฝายหลวง พนักงานเจ้าที่และชาวบ้านตำบลฝายหลวง ร่วมจัดงานประเพณีแห่น้ำขึ้นโฮง  สักการะเจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร โดยมีนายชัยศิริ  ศุภรักษ์จินดา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นประธานเปิดงานประเพณีแห่น้ำขึ้นโฮง ประจำปี 2557  ณ บริเวณด้านหน้าอนุสาวรีย์เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร ตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์

  

  

  

  


ข้อสังเกตที่น่าเป็นห่วงจากการที่ได้พบและพูดคุยกับผู้อาวุโสชาวลับแล  เช่น ประการแรก ชื่อของประเพณีแห่น้ำขึ้นโฮง (โรง)  มีคนรุ่นใหม่มองว่าชื่อไม่เป็นมงคล  จะขอเปลี่ยนเรียกประเพณีนี้ว่า “ ประเพณีแห่น้ำ ”  ประการที่สอง ทราบว่าได้ละเลยกิจกรรมสำคัญที่เคยปฏิบัติสืบทอดกันมาไปบ้างบางอย่าง  ด้วยการละเลยไม่ไปสรงน้ำตามศาลต่าง ๆ ในหมู่บ้านที่เคยเคารพนับถือ  บ้านญาติ  บ้านพี่ ป้า น้า อา  ที่ตั้งไว้ให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับได้อาศัย  หาทราบไม่ว่าเป็นภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษสร้างไว้ให้ญาติพี่น้องได้ไปมาหาสู่กันอย่างน้อยปีละครั้ง  เพื่อเยี่ยมเยียนกราบไหว้ รดน้ำดำหัว ขอศีลขอพรเพื่อเป็นศิริมงคลแก่ตัวเอง กับทั้งจะได้ทราบความทุกข์สุขของแต่ละคน และหาโอกาสช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน




ขอบคุณ  :  1) หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์  เอกลักษณ์และภูมิปัญญา
                    จังหวัดอุตรดิตถ์  2542

                2) http://www.failuang.go.th  &  https://www.facebook.com/failuang

                3) http://www.dhammahome.com

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์