เล่าเรื่องเมืองอุตรดิษฐ์ ตอน สงครามปราบฮ่อ ครั้งที่ ๒


สภาพทุ่งเชียงคำ  ปัจจุบันอยู่ใน สปป.ลาว

สงครามปราบฮ่อ ครั้งที่ ๒  พ.ศ. ๒๔๒๖ (ค.ศ. 1883)

เมื่อพวกฮ่อธงเหลืองแตกหนีทัพแล้วไปจากเมืองพวน และเมืองหัวพันทั้งห้าหก กลับไปตั้งรวมกันที่เมืองซันเทียน  ซึ่งได้เคยอาศัยมาแต่ก่อน แล้วเที่ยวปล้นสดมภ์เมืองน้อยตามชายแดนจีน แดนญวน จีนกับญวนจึงนัดกันให้กองทัพออกไปปราบฮ่อธงเหลือง คราวนี้พากันระดมตีเมืองซันเทียนและฆ่าปวงนันซี ผู้เป็นหัวหน้าฮ่อธงเหลืองตายในที่รบ

พวกฮ่อที่หลบหนีได้ไม่มีคนสำคัญเป็นหัวหน้า ก็แยกกันออกไปหลายพวกหลายเหล่า ต่างพวกต่างใช้ธงสีอันหนึ่งเป็นเครื่องหมายของตน  จึงเกิดพวกฮ่อธงแดง และสือื่นๆอีกต่อไป เมื่อฮ่อแยกออกเป็นหลายพวกเช่นนี้ ต่างพวกย่อมมีกำลังอ่อนและแข็งต่างกัน  เป็นเหตุให้ประพฤติหาเลี้ยงชีพโดยวิธีต่างกัน อาทิ เช่น 

(๑)  บางพวกที่มีกำลังมาก ก็ใช้กำลังเที่ยวเบียดเบียนผู้อื่นเอาไว้ในอำนาจอย่างที่เคยกระทำ 

(๒)  พวกที่กำลังน้อยก็เลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างเป็นกำลังรบพุ่งให้ผู้อื่น 

(๓)  บางพวกก็อ่อนน้อมเข้ากับเจ้าเมือง ขอตั้งภูมิลำเนาประกอบการหาเลี้ยงชีพอย่างชาวเมือง เป็นต้น  

การที่ฮ่อกระจัดกระจายเป็นดังนี้ทำให้ท้าวขุนเจ้าเมืองใหญ่น้อยในแดนสิบสองจุไทยและแดนพวน ต่างก็พากันจ้างฮ่อเข้าเกลี้ยกล่อมเลี้ยงไว้ หากมีอริวิวาทต่อกันก็ให้พวกฮ่อไปปล้นสะดมภ์พวกที่เป็นศัตรู  ประกอบกับพวกญวนก็ไม่มารบพุ่งในดินแดนแถบนี้แล้ว



แผนภาพแสดงบริเวณสิบสองจุไทยและแดนพวน 


หลวงพระบางหลัง พ.ศ. ๒๔๑๘

เมืองหลวงพระบางหลังจากเสร็จศึกฮ่อแล้ว  บัดนี้ผ่านมาเป็นเวลา ๙ ปี ก็มิได้จัดการปกครองเมืองพวนและเมืองหัวพันห้าทั้งหกให้มั่นคงขึ้น เคยเป็นอยู่แต่ก่อนอย่างไรก็เป็นอยู่อย่างนั้น จึงมีฮ่อธงเหลืองพวก ๑ ตัวนายชื่อ อาจึง และ ไกวซึง ๑ คุมกำลังมาตั้งค่ายอยู่ที่ทุ่งเชียงคำในแขวงเมืองพวนประมาณ ๘ ปี



แผนภาพแสดงค่ายฮ่อที่ทุ่งเชียงคำ 

ครั้นถึงพ.ศ. ๒๔๒๖ (ค.ศ. 1883)  ฮ่อพวกนี้ยกกองทัพไปตีเมืองเมืองในแดนหัวพันห้าทั้งหก ซึ่งขึ้นอยู่กับหลวงพระบาง  เจ้านครหลวงพระบางบอกลงมายังกรุงเทพฯ  จึงโปรดฯให้เกณฑ์กำลังมณฑลพิษณุโลกเข้ากองทัพ ให้พระยาพิไชย (มิ่ง) กับพระยาศุโขไทย (ครุธ) คุมขึ้นไปช่วยเมืองหลวงพระบางก่อน  แล้วให้พระยาราชวรานุกูล (เวก บุณยรัตพันธ์) ซึ่งเคยคุมกองพัพไปปราบฮ่อเมื่อยังเป็นพระสุริยภักดี ตามขึ้นไปเป็นแม่ทัพใหญ่ปราบฮ่อที่ยกไปทางเมืองหลวงพระบาง



พระยาราชวรานุกูล (เวก บุณยรัตพันธ์) 


แผนภาพแสดงกองทัพของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระบำราบปรปักษ์


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระบำราบปรปักษ์


แล้วโปรดฯ ให้เกณฑ์ทัพใหญ่เตรียมไว้อีกทัพ ๑ เผื่อมีกองทัพฮ่อยกลงมาหัวเมืองริมน้ำโขงเหมือนอย่างคราวก่อน จึงโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระบำราบปรปักษ์ ซึ่งได้ทรงบัญชาการมหาดไทยต่อเจ้าพระยาภูธราภัยเสด็จไปเป็นจอมพล

โปรดฯให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ซึ่งทรงบังคับการกรมทหารมหาเล็กและกรมแผนที่ โดยเสด็จไปอำนวยการทำแผนที่พระราชอาณาเขตข้างฝ่ายเหนือด้วย

ต่อมาได้ข่าวแน่นอนว่าฮ่อมีกำลังไม่มากนัก และยกไปแต่ทางเมืองหลวงพระบางทางเดียว จึงโปรดฯให้เลิกกองทัพใหญ่ที่ได้ตระเตรียมเสีย เป็นแต่ให้พระวิภาคภูวดล (แมกคาธี) คุมพนักงานขึ้นไปทำแผนที่ตามที่ได้ทรงพระราชดำริห์ไว้


ฮ่อรู้ตัว

เมื่อกองทัพไทยยกขึ้นไปถึงหลวงพระบาง  พวกฮ่อทราบความก็พากันถอยหนีจากเมืองหัวพันห้าทั้งหก กลับไปตั้งค่ายใหญ่ที่ทุ่งเชียงคำ

พระยาราชวรานุกูล, พระยาพิไชย, และพระยาศุโขทัย  ยกกองกำลังติดตามไปถึงทุ่งเชียงคำ เข้าล้อมค่ายไว้  แต่ฮ่อคราวนี้ตั้งมาช้านานได้ปลูกกอไผ่บังแทนพะเนียดล้อมรอบ  ปืนใหญ่ที่ไทยเตรียมมีกำลังไม่พอจะยิงล้างกอไผ่ได้  กองทัพไทยยกเข้าตีค่ายหลายครั้งก็เข้าไม่ได้  ด้วยพวกฮ่ออาศัยกอไผ่กำบังยิงปืนกราดออกมา



ภาพวาดลายเส้นแสดงกองทัพฮ่อในค่าย

ครั้งหนึ่งพระยาราชวรานุกูลยกเข้าตีค่ายเอง ได้ถูกปืนข้าศึกที่ขาเจ็บป่วยแต่ยังบัญชาการศึกได้ จึงสั่งให้ล้อมค่ายฮ่อไว้ ในระหว่างที่รักษาบาดแผล  ฝ่ายฮ่อถูกล้อมในค่ายก็ขัดสนเสบียงอาหาร เห็นว่าจะรบไม่ไหว  นายทัพฮ่อจึงออกมาว่ากับพระยาราชวรานุกูลว่าจะยอมทู้ จะขอกระทำสัตย์เป็นข้าขอบขัณฑสีมากรุงเทพต่อไป ขออย่าให้ไทยทำอันตราย  ฝ่ายพระยาราชวรานุกูล กล่าวว่า ให้ฮ่อส่งเครื่องสาตราวุธบรรดามีมาให้เสียก่อน  แล้วให้ตัวออกมาหาจะไม่ทำอันตราย แต่พวกฮ่อไม่ไว้ใจ เกรงว่าไทยจะฆ่าฟันเสีย จีงไม่ออกมา  กองทัพล้อมค่ายฮ่ออยู่ ๒ เดือน  ผู้คนเกิดป่วยเจ็บด้วยขัดสนเสบียงอาหารส่งไม่ทัน  พระยาราชวรานุกูลต้องเลิกทัพกลับมาเมืองหนองคาย  เป็นอันเสร็จสิ้นการปราบฮ่อครั้งที่ ๒




ขอบคุณ :  1)  http://emuseum.treasury.go.th

               2)  http://www.reurnthai.com

               3)  http://teakdoor.com

               4)  http://www.thaifighterclub.org

               5)  http://www.iseehistory.com 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์