เล่าเรื่องเมืองอุตรดิษฐ์ ตอน สงครามปราบฮ่อ ครั้งที่ ๓

ธงชัยเฉลิมพล  ธงชัยอันวิเศษสำคัญ (ภายหลังเปลี่ยนเป็นธงจุฑาธุชธิปไตย) 


สงครามปราบฮ่อ ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๒๘ (ค.ศ. 1885) 

พ.ศ.๒๔๒๘  เมืองหลวงพระบางมีใบบอกลงมาว่า   ได้เกิดมีพวกฮ่อธงเหลืองก่อการกำเริบ    คุมสมัครพรรคพวกเข้ามาตั้งอยู่ปลายเขตแดนพระราชอาณาจักร  และยกกองทัพเข้ามาตีหัวเมืองต่างๆ  ปลายเขตแดน    เจ้าเมืองหลวงพระบางได้เกณฑ์เพี้ยพระยาลาวให้คุมพลขึ้นไปปราบปราม  ๑,๔๐๐  คน    ให้แบ่งเป็น  ๒  กอง  ยกแยกไปทางแม่น้ำอู  และทางแม่น้ำเซือง  .  .  .  ฯลฯ 

รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้กองทหารที่ได้รับการฝึกหัดตามแบบยุโรปขึ้นไปปราบฮ่อ โดยจัดเป็นสองกองทัพคือ กองทัพฝ่ายใต้ และกองทัพฝ่ายเหนือ โยมีพระราชดำริ และพระบรมราโชบาย “..... จะขอจัดกองทัพเป็นอย่างใหม่  ให้ยกขึ้นไปทันในแล้งนี้  เพื่อปราบปรามพวกฮ่อให้สำเร็จจนได้  จัดกองทัพเป็น  ๒  กอง  คือกองทัพฝ่ายเหนือ  และกองทัพฝ่ายใต้   กองทัพฝ่ายเหนือ  จะให้พระนายไวยฯ เป็นแม่ทัพ  เพราะเป็นผู้ที่ชำนาญการทหารและการอาวุธ  เห็นแก่ราชการไม่ละทิ้งหน้าที่  และมีความซื่อตรงจงรักภักดี  เสียแต่เป็นคนดุ และใจเร็ว     ส่วนแม่ทัพใหญ่ฝ่ายใต้นั้น    จะให้กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม  เป็นแม่ทัพ   และนายพันตรี  พระอมรวิไสยสรเดช  ผู้บังคับกองปืนใหญ่  กับนายทหารปืนใหญ่อีกหลายคนเป็นทัพหน้า…… กะให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถทำการแต่ในเขตเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก  จนถึงเมืองสิบสองจุไทย   แต่พวกฮ่อซึ่งตั้งอยู่ที่สบแอดเชียงค้อมีกำลังมากกว่าแห่งอื่น   ได้ตั้งค่ายเป็นรกเป็นรากใหญ่โต     ส่วนกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมนั้นให้ทำการแต่ในเขตเมืองพวนตลอดไปทางตะวันออก    พวกฮ่อตั้งมั่นอยู่ที่ทุ่งเชียงคำ.....


ภาพแสดงค่ายของฮ่อธงเหลืองที่ทุ่งเชียงคำ

พระราชทานธงชัยเฉลิมพล 


พระราชทานธงชัยอันวิเศษสำคัญ  ณ สนามหน้าศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง

วันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๒๘   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานธงชัยอันวิเศษสำคัญให้แก่กองทัพ  และธงชัยอันวิเศษสำคัญนี้ได้บรรจุพระเหล็กไหลนภากาศองค์ ๑   และพระลำพูนดำองค์ ๑   และเครื่องปลุกเศกแล้ว    ได้ประสิทธิ์ประกอบกันบรรจุลงไว้ที่ในยอด  สำหับคุ้มครองป้องกันผู้ถือธงชัยนี้ให้มีสง่า และอำนาจ  ให้แคล้วคลาดศัตราวุธปัจจามิตรอันจะมาทั่วทิศานุทิศ  รวมทั้งพระบรมราโชวาท พระราชทานแก่  พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นประจักรศิลปาคม  เจ้าหมื่นไวยวรนารถ  แม่ทัพนายกอง  ซึ่งขึ้นไปปราบปรามพวกฮ่อข้าศึก  ทั้งทางฝ่ายที่ขึ้นทางเมืองหนองคายเรียกว่าฝ่ายใต้    ที่ขึ้นทางเมืองหลวงพระบางเรียกว่าฝ่ายเหนือ    รวมทั้งสิ้น ๑๖ ข้อ เพื่อจะให้ทราบพระราชประสงค์เป็นเลาการ  ที่จะได้จัดการทั้งปวงตลอดไป

กองทัพฝ่ายใต้


พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม

นายพันเอก พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นแม่ทัพ  นายพันตรี พระอมรวิไสยสรเดช (โต  บุนนาค)  ผู้บังคับกองปืนใหญ่  กับนายทหารปืนใหญ่อีกหลายคนเป็นทัพหน้า   ยกไปปราบฮ่อในแคว้นเมืองพวน  ยกกำลังออกจากกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม  ๒๔๒๘   ใช้เวลาเดินทางสามเดือนถึงเมืองหนองคายและได้ตั้งกองบัญชาการกองทัพอยู่ที่เมืองหนองคาย แล้วให้นายพันตรี  พระอมรวิไสยสรเดช   ยกทัพหน้าไปตีค่ายฮ่อที่ทุ่งเชียงคำ  พวกฮ่อได้หนีไปในเขตญวน  กองทัพไทยจึงรื้อค่ายฮ่อที่ทุ่งเชียงคำเสีย

กองทัพฝ่ายเหนือ


เจ้าหมื่นไวยวรนารถ  
  
นายพันเอก  เจ้าหมื่นไวยวรนารถ  ผู้บังคับการทหารหน้าเป็นแม่ทัพ วันที่ ๓ พฤศจิกายน  พ.ศ.๒๔๒๘ ยาตรากองทัพออกจาก กรุงเทพฯ   ถึง เมืองพิชัย  วันที่  ๒๓  พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๒๘   รวมเวลาเดินทาง  ๒๑  วัน


ที่หน้าเมืองพิชัยและลำน้ำน่าน เรือกองทัพพักจอดเตรียมการเพื่อยกกองทัพขึ้นไปเมืองหลวงพระบาง


ตั้งพักอยู่ที่เมืองพิชัย  แม่ทัพและนายทหาร  ๔๔  นายได้นำธงชัยเฉลิมพลมาตั้งที่หน้าทำเนียบ

ระหว่างที่กองทัพตั้งอยู่ ณ เมืองพิชัย    ท่านแม่ทัพได้พัฒนาแหย่งขึ้นใหม่มีเบาะรองหลังช้างให้ใช้บรรทุกของได้มากขึ้น โดยช้างไม่บาดเจ็บ และประดิษฐ์เบาะหลังช้างเพื่อใช้บรรทุกปืนใหญ่ ได้  ๑  กระบอก ต่อ ช้าง  ๑  เชือก ซึ่งเดิมต้องใช้ช้างมากกว่า  ๑  เชือก   และเลื่อนบรรทุกของให้ช้างลากด้วย     เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ช้างให้สูงขึ้น

วันที่  ๑  มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๘   เวลา  ๓ โมงเช้า  เจ้าหมื่นไวยวรนารถ ได้ยกกองทหารกรุงเทพฯ และหัวเมืองออกจากเมืองพิชัย กรมการได้ทำประตูป่า พระสงฆ์สวดชยันโต  และประพรมน้ำพระพุทธมนต์  ราษฎรตั้งเครื่องบูชา  แม่ทัพได้จัดกระบวนทัพเป็นกองหน้ากองหนุน ปีกซ้าย - ขวา  และกองหลัง

 

ช้างธงชัย ช้างปืนใหญ่ และช้างเลื่อนบรรทุกของ  กำลังจะเดินกองทัพออกจากเมืองพิชัย
  

ช้างบรรทุกปืนใหญ่ซึ่งแม่ทัพคิดขึ้นใหม่   เดินทัพไปทางเมืองน่าน และเมืองหลวงพระบาง

เส้นทางการเดินทัพของกองทัพฝ่ายเหนือ  จากเมืองพิชัย > บ้านนาคะนึง > บ้านน้ำอ่าง  (ต.น้ำอ่าง  อ.ตรอน  จ.อุตรดิตถ์) > บ้านน้ำพี้ > บ้านพระฝาง > บ้านผาเต่า > บ้านผาเลือก > บ้านท่าแฝก > บ้านศาลารี  > ศาลาป่าสัก > ห้วยปากนาย > เมืองเวียงสา  (อ.เวียงสา จ.น่าน) > ทุ่งนาแขม > ทุ่งแม่สาคร > ห้วยแก้ว > บ้านนาไผ่ > สบสมุน  พักแรม และเตรียมจัดขบวนทัพเข้านครน่าน

วันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๒๘  เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้านครน่าน  แต่งแสนท้าวพระยาลาวคุมช้างพลายผูกจำลองเขียนทองออกมารับ ๓ เชือก เชิญกองทัพเข้านครน่าน  ระหว่างที่กองทัพพักอยู่ที่นครน่าน    เจ้าหมื่นไวยวรนารถได้แสดงให้เจ้านครน่าน และ เจ้านายบุตรหลานเห็นแสนยานุภาพของกองทัพฝ่ายเหนือ  ว่ากองทัพเป็นอย่างใหม่ให้เกิดความมั่นใจในประสิทธิภาพของกองทัพ  จนเจ้านครน่านพูดกับท่านแม่ทัพว่า  "จะจัดเจ้านายที่เป็นบุตรหลานคุมกำลังมอบให้ไปช่วยแม่ทัพด้วย" และได้จัดการปลูกฝีดาษให้ราษฎรในเมืองน่าน  ซึ่งเจ้านครน่านยินดีเป็นอันมาก และเลือกคนมาฝึกหัดปลูกฝีไว้ด้วย  


กองทัพยกจากเมืองน่านไปเมืองหลวงพระบาง 

วันที่  ๑  กุมภาพันธ์  พ.ศ.๒๔๒๘    กองทัพออกจากเมืองน่าน   ถึงบ้านน้ำแด่น > ข้ามห้วยนาเหลือง  >โป่งช้าง  วันที่  ๑๓  กุมภาพันธ์  พ.ศ.๒๔๒๘  ถึงเมืองไชยบุรีศรีน้ำฮุง  เขตเมืองหลวงพระบาง    เจ้าราชภาคินัย  (บุญคง)  เมืองหลวงพระบางมาคอยรับกองทัพ  พักแรม  ๑ คืน  วันรุ่งขึ้นจึงเข้าเมืองหลวงพระบาง

วันที่  ๙  มีนาคม  พ.ศ.๒๔๒๘  กองทัพออกจากเมืองหลวงพระบาง  ข้ามแม่น้ำคาน > บ้านนาหลวงปากบาก  ใกล้ฝั่งแม่น้ำอู > แท่นแบ๊ > เมืองงอย  ระหว่างทางไปเมืองงอยกองทัพได้พบท้าวพลพ่อตาของกวานกอยี่ นายฮ่อใหญ่    ทำให้ได้ข่าวสารเกี่ยวกับภูมิประเทศ และการวางกำลังของพวกฮ่อชัดเจนขึ้น ดังนี้  “...ค่ายฮ่อตั้งอยู่ที่สบแอดเชียงค้อ  ๗  ค่าย  มีน้ำล้อมรอบ  (มีน้ำแยกเป็นสองทาง  คือน้ำสบ และน้ำแอด)    มีข้าวสารประมาณ  ๕๐  เกวียน  และมีที่ทำกระสุนดินดำและกระสุนปืนด้วย   ขณะนี้พวกฮ่อแบ่งกำลังไปตีเมืองโสย  เมืองแวน  เมืองพูนในเขตเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหกหลายร้อยคน  เหลืออยู่รักษาค่าย  ประมาณ  ๒๐๐  คน  พร้อมครอบครัวอีกเป็นจำนวนมาก  และพวกฮ่อยังไม่ทราบข่าวว่ามีกองทัพจากกรุงเทพฯ ยกขึ้นมา...”  เมื่อได้ข่าวสารในสนามชัดเจน  แม่ทัพจึงวางแผนดังนี้

๑. ให้หลวงดัษกรปลาศนำกำลัง  ๑  กองร้อย  ปลดเครื่องหลัง   รับกระสุนคนละ  ๒๐๐  นัด  พร้อมเสบียง พอถึงเมืองซ่อน  และรับเสบียงเพิ่มเติมที่เมืองซ่อนให้พอถึง สบแอด และเชียงค้อ 
๒. เจ้าราชภาคิไนยนำกำลังเมืองหลวงพระบาง  สมทบหลวงดัษกรปลาศ  ตามไปในวันรุ่งขึ้น
๓. นายร้อยเอก  หลวงจำนงยุทธกิจนำกำลัง  ๑  กองร้อย  ยกไปทางตะวันออกเฉียงใต้  ไป ตีพวกฮ่อที่เมืองโสย  เมืองแวน  เมืองพูน 
๔. เจ้าราชวงศ์ เมืองหลวงพระบางนำกำลังเมืองหลวงพระบาง  สมทบหลวงจำนงยุทธกิจ  แต่ให้พักพลที่บ้านสบซางเพื่อรับช่วงส่งเสบียงไปเมืองซ่อนก่อน   แล้วจึงยกตามกองร้อยหลวงจำนงยุทธกิจ ต่อไป
๕. พระยาสุโขทัยกับพระพหลฯ  (กิ่ม)  ตั้งรักษาเสบียงที่เมืองงอยกองหนึ่ง  และจัดส่งเสบียงไปที่บ้านสบซาง  (ให้ เจ้าราชวงศ์ ตามข้อ ๔.)    เมื่อส่งเสบียงเสร็จแล้วให้คุมกองทหารหัวเมืองตามไปอีกกองหนึ่ง
๖. แม่ทัพ และนายจ่ายวด  นำกองทหารกรุงเทพฯ ที่เหลือยกไปจัดราชการ  และเป็นกองหนุนที่เมืองซ่อน  นำปืนใหญ่อาร์มสตรอง (ปืนภูเขา ขนาด  ๓  นิ้ว)  ๒  กระบอกไปด้วย   ส่วนปืนใหญ่ที่เหลือไม่สะดวกในการเคลื่อนย้าย  เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นที่คับขันมีแต่เขาสูงชันและห้วย  ช้างบรรทุกปืนใหญ่  และโคต่างบรรทุกของก็ไปไม่ได้  ต้องใช้พวกข่าแจะเป้เสบียงจึงจะไปได้     จึงให้เก็บปืนใหญ่ส่วนที่เหลือไว้ที่เมืองงอย

 

ปืนใหญ่อาร์มสตรองปืนภูเขา ขนาด ๓ นิ้ว บรรจุทางปากลำกล้อง สั่งเข้ามาใช้ราชการเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๕

ระหว่างกองทัพตั้งที่เมืองงอยได้ทดลองยิงปืนใหญ่  ให้ทราบกำลังของดินปืน  และฝึกซ้อมทหารปืนใหญ่วังหน้าที่มาด้วยให้ฝึกหัดยิงจนชำนาญ  และได้ประดิษฐ์ "ลูกแตก"  (คือ ลูกระเบิด)  ขึ้นใช้  มีวิธีวาง และวิธีจุดระเบิดหลายรูปแบบ  (ปัจจุบันเรียก  ทุ่นระเบิด  กับระเบิด)

วันที่  ๓๐  มีนาคม  พ.ศ.๒๔๒๘  กองทัพใหญ่ยกออกจากเมืองงอย  ถึงบ้านนาต้องหยุดพักแรม  เพราะฝนตกหนัก  วันรุ่งขึ้นออกจากบ้านนา > ภูกุด > เขากิ่วเหี้ย > ป่าเมี่ยง > เขาภูฟ้า > ห้วยน้ำมี  > กาสุม > ข้ามลำน้ำทราง > บ้านสบทราง  เป็นที่พักเสบียงด้วย > เดินเลียบห้วยแซง > กิ่วมะม่วง > ห้วยหวาย  ออกจากที่พักแรมห้วยหวาย  ไปพักแรมสบสอคืนหนี่ง  ออกจากสบสอ เดินขึ้นเขาสูง เดินข้ามไปถึงหาดท้าว > ออกจากที่พักแรมหาดท้าว  ขึ้นเขาสูงฝนตกหนักทางเดินยากเป็นที่สุด   คน และม้าช้างโคต่างล้มลุกไปตามกัน  วันที่  ๑๐  เมษายน  พ.ศ.๒๔๒๙  กองทัพยกไปถึงเมืองซ่อน  การเดินทางตั้งแต่เมืองงอยถึงเมืองซ่อน   ทหารป่วยเป็นไข้มาตามทางกว่าค่อน  ครั้นถึงแล้ว  ก็ต้องรักษาโดยกวดขัน  โรคที่เกิดขึ้นในกองทัพครั้งนั้น  คือ ไข้มาเลเรีย และโรคระบบทางเดินอาหาร    ทหารที่เมืองงอยก็ป่วยมากถึง ๓ ใน ๔ ส่วน  ทั้งกองทัพหมอก็ป่วยหมด  มีนายทหารเสียชีวิต ๒ นาย  พลทหารหลายนาย   กองร้อยหลวงดัสกรที่ยกไปเมืองสบแอดก็รายงานว่าทหารป่วยมาก   ยาที่จัดมาจากเมืองพิชัยก็หมดลง 

การสู้รบที่สำคัญ ๆ

**ค่ายฮ่อบ้านใด :  กองร้อยของนายร้อยเอก  หลวงดัษกรปลาศ   และกำลังเมืองหลวงพระบางของเจ้าราชภาคิไนย ซึ่งยกขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ตรงไปยังค่ายฮ่อบ้านใด  บ้านนาปา  แขวงเมืองสบแอด  วันที่  ๑๒  เมษายน  พ.ศ.๒๔๒๙    กองทัพได้เข้าโจมตีค่ายฮ่อที่ตำบลบ้านใด  แขวงเมืองสบแอดพร้อมกัน   พวกฮ่อมีปืนใหญ่  กระสุนโตเท่าผลส้มเกลี้ยง  นำออกมาตั้งยิงหน้าค่าย  แต่ใส่ดินระเบิดมากเกินไปจนลำกล้องปืนระเบิดแตกทำลายลง    พวกฮ่อก็เสียขวัญกลับเข้าค่าย  กองทัพไทยจึงตามตีไล่รุกกระชั้นชิดชักปีกกาโอบค่ายพวกฮ่อ  ดังนี้
๑. นายร้อยโท  ดวง  ชูโต    คุมทหารตอนหนึ่งเข้าตี พังประตูด้านใต้
๒. นายร้อยโท  เอื้อน  ชูโต    คุมทหารตอนหนึ่งเข้าตี พังประตูด้านตะวันตก
๓. นายร้อยเอก  หลวงดัษกรปลาศ  เจ้าราชภาคิไนย  และ นายร้อยโท  เจ๊ก  คุมกองหนุน
๔. พระพิพิธณรงค์กรมการเมืองลับแล  กับพระเจริญจตุรงค์กรมการเมืองพิชัย  คุมไพร่พลหัวเมืองเข้าตีด้านใต้  ตีหักพังประตูเข้าไปในค่ายฮ่อได้    พวกฮ่อแตกกระจัดกระจายออกทางหลังค่าย  (ด้านทิศตะวันออก) 

กองทัพก็เข้าค่ายได้  พวกฮ่อทิ้งค่ายหนีไป การยึดค่ายฮ่อคราวนี้ จับได้ภรรยาหัวหน้าฮ่อ และครอบครัว  ๓๓  คน   ทั้งยังยึดได้อาวุธต่างๆ  เช่น  ปืนคามศิลา  ดาบและมีดต่างๆ  ดินดำ   ตะกั่ว  (ใช้ในการทำลูกกระสุนปืน)  เสบียงอาหารจำนวนหนึ่ง  กองทัพจึงได้ควบคุมครอบครัวพวกฮ่อ  ยกเข้าตั้งในค่ายบ้านใด

**ห้วยก๊วง :  พระเจริญจตุรงค์ กรมการเมืองพิชัย  ซึ่งคุมไพร่พลหัวเมืองอยู่ที่บ้านใดด้วย    แต่นำกำลังส่วนหนึ่งแยกออกไปตั้งรักษาการ  เห็นพวกฮ่อมีกำลังมากไม่สามารถต้านทานได้ก็ถอนตัว  พวกฮ่อตามมาทันกันที่ห้วยก๊วง  ได้รบปะทะกัน ผลปรากฏว่า  พวกฮ่อ เสียชีวิต  ๒๖  คน  รวมทั้ง  ซันตาเล่าแย้  นายใหญ่พวกฮ่อด้วย...พอดีนายร้อยโท  เอื้อน  กับทหาร  ๖  นาย จะไปเมืองสบแอดเดินทางมาถึง จึงเข้าร่วมสู้รบด้วย   หลังจากสู้รบกันแล้ว  ๔  ชั่วโมง   พระเจริญจตุรงค์ ถูกกระสุนเสียชีวิต    นายร้อยโทเอื้อน พยายามเล็ดลอดกลับมาค่ายบ้านใด  แต่ถูกยิงที่โคนขา  จึงให้นายสิบโทท้วม  พาทหารหนีไป  ตนเองหลบลงไปซุ่มกอไม้ที่ชายน้ำ   พวกฮ่อตามนายสิบโทท้วมไม่ทัน  จึงกลับมาที่นายร้อยโท  เอื้อน  เห็นไม่มีอาวุธจึงคิดจะจับเป็น   นายร้อยโทเอื้อน  ใช้ปืนพกยิงตายถึง  ๓  คน  แต่ยิงคนที่  ๔  พลาดไป  จึงถูกฮ่อใช้ดาบฟันเสียชีวิต  และตัดศีรษะไป   เป็นที่เปิดเผยภายหลังว่า    ผู้ที่ถูก นายร้อยโทเอื้อน  สังหารทั้ง  ๓ นายนั้น  เป็นฮ่อชั้นหัวหน้า   และไม่พบศพ นายร้อยโทเอื้อน  พบแต่ข้อมือซึ่งมีเสื้อยันต์ครึ่งยศอยู่จึงเป็นการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลได้  

**ข่าแจะ :  วันที่  ๒๙  มิถุนายน  พ.ศ.๒๔๒๙    พระยาว่าน หัวหน้าข่าแจะ(แต่เป็นข่าเจือง)  รวมกับพวกฮ่อได้ประมาณ  ๑๕๐  คน  ยกมาที่ห้วยห้อม  แขวงเมืองซ่อน  เที่ยวตีปล้นกวาดครัวราษฎรเอาไปเป็นเชลยไว้เป็นกำลัง   พวกฮ่อ และข่าแจะ ประกาศว่า  “..กองทัพใหญ่ที่เมืองซ่อนหมดกำลังแล้ว  เพราะไพร่พลเจ็บป่วยล้มตายกันมาก   พวกฮ่อ และข่าแจะจึงสมทบกันจะตีค่ายแม่ทัพให้แตกไปจงได้…” แม่ทัพได้ข่าวสารดังนี้แล้วจึงสำรวจกำลังพล  ได้ความว่า  "คนที่ยังดีอยู่นั้น  ตั้งแต่แม่ทัพถึงพลทหาร  เหลืออยู่เพียง  ๑๑  คน"    แม้แต่พลแตร ซึ่งมีอยู่ในค่ายประมาณ  ๘  นายก็ป่วยล้มตาย  จนไม่ได้มีการเป่าแตรเป็นเวลาเกือบเดือนแล้ว    ต้องใช้ฆ้องโหม่ง  แขวนที่ป้อมยาม   และเมื่อทหารป่วยมากขึ้นไม่พออยู่ยาม  ก็ต้องให้พลยามเดินตีฆ้องแทน

บัดนี้  พวกฮ่อ และข่าแจะจะเข้าตีค่าย    แม่ทัพจึง  ให้หมอควานช้าง  และคนในกองโคต่าง  แต่งกายเป็นทหารรักษาค่าย  และให้นำปืนจากทหารเจ็บป่วยมาให้ใช้  แต่เหล่าทหารเจ็บป่วย  ร้องขออาวุธไว้กับตัว  เมื่อพวกฮ่อมาเข้าตีค่ายใหญ่  จะยิงพวกฮ่อเสียจนหมดกระสุนก็จะยอมตาย    แม่ทัพจึงยอมให้เพียงแต่นำปืนจากผู้ที่เสียชีวิตมาให้พวกหมอควานและกองโคต่าง    และชี้แจงทหารที่ป่วยให้ทราบทั่วกันว่า  "แม่ทัพจะไม่ถอยหนีจนก้าวเดียว  จะต่อสู้จนโลหิตหยาดที่สุด   และจะยอมตายไปกับทหารพร้อมกันด้วย"  ทำให้กำลังพลมีขวัญและกำลังใจดีขึ้นมาก  แม่ทัพจึงสั่งให้        
         > คนในกองช้าง  และกองโคต่าง    รักษารอบค่าย  (ใช้อาวุธปืนจากทหารที่เสียชีวิตแล้ว)
         > คะเด็ต  ไปจัดการลูกระเบิดไว้ตามทางที่พวกฮ่อจะเข้ามา  
         > ให้เจ้าก่ำ  บุตรเจ้าอุปราช   นำกำลังท้าวขุนกรมการเมืองหลวงพระบาง  ประมาณ  ๑๐๐  เศษ    ใช้ปืนหามแล่น  ยกขึ้นไปยังห้วยห้อม  ตั้งสกัดทาง  เจ้าก่ำ  ยกไปตั้งบนเนินลูกหนึ่งตรงกันข้ามค่ายพวกฮ่อ  ห้วยห้อมขวางกลางอยู่    ทั้งสองฝ่ายยิงโต้ตอบกันจนกระสุนดินดำหมด    จึงรายงานแม่ทัพขอกระสุนเพิ่ม  แม่ทัพจึงเรียกหัวหน้าควานช้าง  กับพวกกองโคต่างมาแบ่งคนให้รีบยกไปช่วยเจ้าก่ำ    พวกควานช้าง กับพวกกองโคต่างมีความยินดีรับอาสาออกไปปราบศัตรูด้วย   แม่ทัพจึงให้เอาเครื่องแบบทหารที่ป่วยตายมาให้แต่ง   และให้นายร้อยโทแจ  นำปืนใหญ่อาร์มสตรองบรรทุกหลังช้างไปพร้อมกำลังพลอีก  ๒๐๐  เศษ  สั่งมอบภารกิจให้ทำลายค่ายฮ่อ และจับตัวพวกข่าเจือง และพวกฮ่อ   มาให้จงได้  วันที่  ๔  กรกฎาคม  พ.ศ.๒๔๒๙   นายร้อยโทแจ  นำกองทหารไปถึง  ใช้ปืนใหญ่ยิงค่ายฮ่อเพียง  ๓  นัด  พวกฮ่อล้มตายกันมาก  นัดต่อๆไปได้ยิงเลยค่ายไปถูกภูเขาหลังค่าย  เมื่อระเบิดเกิดเสียงสะท้อนสนั่นหวั่นไหว  พวกข่าเจือง และพวกฮ่อเข้าใจว่ามีกองทัพตีกระหนาบ  เร่งลงซ่อนตัวในหลุมและคูสนามเพลาะ  พวกทหารก็พร้อมกันหักพังเข้าค่ายพวกฮ่อได้  แม่ทัพสั่งประหารชีวิต  พระยาว่าน  และพวกหัวหน้าข่าแจะ  แล้วตัดศีรษะเสียบประจานไว้  ณ ทุ่งนาเมืองซ่อน    ส่วนชายหญิง   ๓๖  คน   นั้น  แม่ทัพให้กลับคืนไปอยู่ตามภูมิลำเนาเดิมทั้งสิ้น  ตั้งแต่นั้นมาก็สงบเป็นปรกติราบคาบตลอดมา

ระหว่างที่กองทัพอยู่ที่เมืองซ่อนนี้  แม่ทัพได้แก้ปัญหาทหารป่วยไข้ป่าด้วยการขอยาที่เมืองหลวงพระบางใช้อยู่  เจ้านครเมืองหลวงพระบางส่งยากระดูก  เขี้ยวงา และรากไม้กิ่งไม้ให้หลายกระสอบ  เวลาใช้ต้องนำมาฝนกับหินละลายน้ำกิน   วันที่  ๒  สิงหาคม  พ.ศ.๒๔๒๙   ก็ได้รับของที่เมืองพิชัยส่งขึ้นไป  ได้แก่  ยาควินิน  และเครื่องเสบียงอาหารที่ตกค้างอยู่  พร้อมทั้งผ้าห่ม และเสื้อชั้นในสักหลาดซึ่งพระราชทานให้กองทัพเนื่องจากเป็นฤดูหนาวจัดแล้ว  เมื่อกองทัพกลับมีกำลังวังชาเป็นปรกติแล้ว  แม่ทัพจึง   สั่งการให้พระพหลพลพยุหเสนา  (กิ่ม)  นำกำลัง  ๑๐๐  ไปสมทบเจ้าราชภาคิไนย ณ เมืองสบแอด    ให้องบา (ผู้นำฮ่อ) พาพรรคพวกมากระทำสัตย์สาบานตนที่ค่ายบ้านใด   แล้วให้องบาขึ้นไปฟังแม่ทัพจัดราชการที่เมืองแถงด้วย   

จัดระเบียบแขวงเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก

เมื่อได้ปราบฮ่อในแขวงเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหกระงับราบคาบแล้ว   แม่ทัพได้จัดระเบียบราษฎร  ดังนี้  ให้กวานกอยี่และพรรคพวกลงมาทำมาหากินที่กรุงเทพฯ  เพื่อราษฎรในแขวงจะได้สิ้นความหวาดกลัว  กลับเข้าคืนภูมิลำเนาเดิมเป็นปรกติต่อไป   แต่ผู้ทีมีบุตรภรรยาเป็นคนลาวให้อยู่กับบุตรภรรยาที่เมืองแถงเช่นประชาชนทั่วไป  ไม่ให้เข้าอยู่ในแขวงเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก     ส่วนพวกฮ่อธงดำขององบานั้น ไม่ได้ย่ำยีตีปล้นราษฎร  และมีส่วนช่วยเหลือกองทัพด้วย  สมควรให้รวบรวมกันอยู่ในแขวงเมืองสิบสองจุไทยตามเดิมก่อน   หากมีโจรผู้ร้ายเกิดขึ้นต้องปราบปรามอีก  จะได้สนับสนุนกำลังขององบานี้ให้ช่วยระงับปราบปรามต่อไป และได้หาตัวท้าวขุนและพวกหัวพันตามเมืองต่างๆ มาประชุม ณ เมืองซ่อน  เพื่อปันส่วนอาณาเขตและแขวงบ้านเมืองต่างๆ ให้ถูกต้องตามโบราณกาล  เมื่อจัดท้าวขุนและพวกหัวพันรักษาพระราชอาณาเขตเรียบร้อยทุกประการแล้ว    แม่ทัพก็ดำริที่จะยกกองทัพใหญ่จากเมืองซ่อนตัดตรงไปเมืองแถง  กำหนดระยะทางเดินกองทัพ ๑๒ วัน

เมืองแถง   

คำสาม  คำล่า  บางเบียน  บุตรท้าวไล คุมกำลังพวกเมืองไล  และจีนฮ่อ  รวมประมาณ  ๑๕๐ คน  ตั้งค่ายที่บ้านเชียงจันทร์  แขวงเมืองแถง  ทำหอรบ  ๓  แห่ง และขุดคูสนามเพลาะ   แต่ตัวคำสาม  คำล่า  บางเบียน  ไปมาหาสู่กองทัพดีอยู่    แม่ทัพจีงให้กองหน้าเร่งยกไปสมทบกับกองพระอินทรแสนแสงในเมืองแถง  และเรียกบุตรท้าวไลทั้ง ๓  คน  มาพูดจาเกลี้ยกล่อม และ  ระวังอย่าให้สะดุ้งสะเทือนหลบหนีไปได้  รอให้กองทัพใหญ่ไปถึงเสียก่อน

วันที่  ๒๔  มกราคม  พ.ศ.๒๔๒๙   นายจีนฮ่อเล่าเต๊งเชง  และพรรคพวกก็มาขอเข้าสวามิภักดิ์ต่อแม่ทัพที่เมืองแถง    แม่ทัพจึงให้กระทำสัตย์สาบานตัวตามธรรมเนียมจีนฮ่อ    แล้วจัดประชุมจัดการให้เรียบร้อยเป็นปรกติ    โดยจัดให้ท้าวพระยาลาวในเมืองนครหลวงพระบางเกณฑ์กำลังไพร่พล  ๒๐๐  พร้อมอาวุธ  และกระสุนดินดำ  ตั้งประจำกำกับรักษาการ  ณ เมืองแถง  นับว่าเจ้าหมื่นไวยวรนารถได้จัดการปราบปรามโจรผู้ร้าย  และจัดการวางด่านทางในเขตแขวงเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหกและเมืองสิบสองจุไทย เป็นที่เรียบร้อยทุกประการ

แม่ทัพได้รับตราพระราชสีห์ ที่ ๒๑๘ ลงวันเสาร์ เดือน  ๑๒  แรม  ๓  ค่ำ  ปีจอ  (วันที่  ๑๓  พฤศจิกายน  ๒๔๒๙)   ดำเนินกระแสพระบรมราชโองการว่า “...ถ้าแม่ทัพได้ปราบปรามพวกฮ่อ  กับตรวจตราจัดการให้รักษาด่านทางตามเขตแขวงเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหกตลอดขึ้นไปจนถึงเมืองแถงเมืองสิบสองจุไทย  เสร็จราชการแล้ว    ก็ให้แม่ทัพเลิกกองทัพมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท  ณ  กรุงเทพพระมหานคร  ก่อนหน้าฤดูฝนในปีกุนนพศก  จุลศักราช  ๑๒๔๙  พ.ศ.๒๔๓๐...”

เมื่อได้รับพระบรมราชโองการตามตราพระราชสีห์แล้ว    แม่ทัพจึงสั่งการกำหนดเวลาให้ท้าวขุน  และฝ่ายพวกหัวพันทั้งห้าทั้งหก  และเมืองสิบสองจุไทยให้ลงมาพร้อมกัน  ณ  เมืองหลวงพระบางก่อน   เพื่อจะได้ชี้แจงข้อราชการ    ทั้งจะได้ให้เจ้าเมืองนครหลวงพระบางจัดราชการทางเมืองฝ่ายหัวพันทั้งห้าทั้งหก  เลือกสรรท้าวขุนและเพี้ยกรมการที่มีสติปัญญาสามารถตั้งแต่งขึ้นให้ เป็นหัวพันผู้รักษาเมืองทั้งปวงให้เรียบร้อย      กำหนดให้ลงมาถึงเมืองนครหลวงพระบาง  ณ  วันพุธ  เดือน  ๓  ขึ้น  ๓  ค่ำ  ปีจอ   (ตรงกับ  วันที่  ๒๖  มกราคม  พ.ศ.๒๔๒๙)

๙ มีนาคม  ๒๔๒๙  เวลาบ่าย  ๑  โมง  กองทัพก็ยกลงมาถึงท่าหน้าเมืองนครหลวงพระบาง    เจ้านายผู้ใหญ่ฝ่ายลาวพร้อมด้วยท้าวเพี้ยกรมการและตาแสงมาคอยต้อนรับ อยู่ที่ท่านั้น    เจ้านครหลวงพระบางให้ทำซุ้มประตูและตบแต่งประตับประดาด้วยธงทิวและเครื่อง ศัสตราวุธซึ่งกองทัพได้ไปรบมีชัยชนะและริบเอามานั้น ขนานนามว่า  ประตูสิทธิไชยทวาร  มีปะรำตบแต่งประตับประดาด้วยมาลามาลี  และมีพระสงฆ์คอยสวดไชยยันโตในขณะที่กองทัพเดินผ่านลอดซุ้มประตู    พวกประชาชนพลเมืองถือดอกไม้ธูปเทียนมาคอยบูชารับกองทัพอยู่ทั้งสองข้างทาง  ตลอดไปจนถึงทำเนียบที่พักชองแม่ทัพและกองทัพนั้น

จากบ้านบ่อเบี้ย > มะม่วง  ๗  ต้น  > บ้านสองห้อง  พระสงครามภักดี และชาวเมืองน้ำปาดได้ออกมาคอยรับ  มีคนเชิญดาบ  ๑  คู่  มีฆ้องกระแตและกลองแห่นำหน้ามา กองทัพมาถึงเมืองน้ำปาด(อ.น้ำปาด  จ.อุตรดิตถ์) จากเมืองน้ำปาด > บ้านน้ำพี้ > นาคะนึง และ ๑๔  พฤษภาคม  ๒๔๓๐   เวลา  ๔  โมงเช้า  ก็ได้บรรลุถึงเมืองพิชัย 

กรมการเมืองพิชัยได้จัดการ  ทำซุ้มทวารและทำเนียบที่พัก  มีเสาธงอยู่น่าทำเนียบชักธงบริวารรับรองด้วย  ครั้นกองทัพยกมาถึงซุ้มทวาร  พระสงฆ์สวดไชยยันโต พวกราษฎรก็ได้ตั้งโต๊ะจุดธูปเทียนบูชากองทัพตลอดสองข้างทางจนถึงทำเนียบที่พักซึ่งอยู่ริมน้ำ  ในวันนั้น แม่ทัพได้ทำบุญนิมนต์พระมาสวดมนตร์ทำขวัญธงชัยด้วย  วันรุ่งขึ้น พระมาฉัน  และมีการมหรสพฉลอง  ๓  วัน  ๓  คืน  กลางวันมีละครและหุ่นจีน  กลางคืนมีหนังจีนด้วย

๒๘  พฤษภาคม  ๒๔๓๐  กองทัพก็ยกออกจากเมืองพิชัย  ถึงเมืองพิษณุโลก  แม่ทัพและพวกนายทัพนายกองได้นมัสการพระพุทธชินราช    แม่ทัพได้ปลดเครื่องแต่งตัวซึ่งแต่งไปในคราวรบทัพ  กับ  สัปทน  สักหลาดแดงถวายพระพุทธชินราช เป็นปูชนียการตามจารีตโบราณกาล  ๔  มิถุนายน  ๒๔๓๐   ถึงเมืองพรม   พบพระชลยุทธโยธินกับพระวรเดช  คุมเรือกลไฟ  ๗  ลำ  และเรือโบตปิกนิคมารับกองทัพ แจ้งว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มารับกองทัพด้วย  ๗  มิถุนายน  ๒๔๓๐  กองทัพก็ได้ยกถึงกรุงเทพพระมหานคร


ขอบคุณ :  1)  http://emuseum.treasury.go.th
               2)  http://www.reurnthai.com
               3)  http://teakdoor.com
               4)  http://www.thaifighterclub.org
               5)  http://www.iseehistory.com

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์