กฤษณา ราชาเครื่องหอม สมุนไพร (1)


กฤษณา


Aquilaria crassna Pierre L. Lec.


ชื่อพื้นเมือง กฤษณา(ภาคตะวันออก) กายูการู กายูกาฮู (มาเลเซีย ปัตตานี) ไม้หอม (ภาคตะวันออก ภาคใต้)
(บาลี) อครุ, ตคร (จีน) ติ่มเฮียง (ไม้หอมที่จมน้ำ) (อังกฤษ) Eagle Wood , Lignum Aloes , Agarwood, Aloe Wood, Calambac, Aglia, Akyaw. ชื่อวิทยาศาสตร์ ในประเทศไทย มี 3 ชนิด คือ Aquilaria crassna Pierre, A.malaccensis Lamk. (ชื่อพฤกษศาสตร์พ้อง A. agallocha Roxb.) และชนิดใหม่ที่เพิ่งค้นพบ โดย Dr. Ding Hau คือ A. subintegra Ding Hau
ชื่อวงศ์ Thymelaeaceae

การกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติ

ไม้สกุล Aquilaria มีอยู่ประมาณ 15 ชนิด กระจายอยู่แถบเอเชียเขตร้อน ในประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงฟิลิปปินส์ และเอเชียใต้แถบประเทศอินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา ภูฐาน เบงกอล รัฐอัสสัม รวมทั้งกระจายไปทางเอเชียเหนือจนถึงประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่วนการกระจายพันธุ์ของไม้กฤษณาในประเทศไทย มีรายละเอียดดังนี้

1. A. crassna พบในป่าดิบชื้นและป่าดิบแล้งทางภาคเหนือ (เชียงราย แพร่ น่าน) ภาคกลาง (กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ โดยเฉพาะพบมากที่สุดที่บ้านห้วยตะหวัก อำเภอน้ำหนาว บริเวณเขาค้อ) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ นครนายก ปราจีนบุรี กบินทร์บุรี โดยเฉพาะพบมากที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ บริเวณดงพญาไฟ)

2. A. malaccensis พบเฉพาะภาคใต้ที่มีความชุ่มชื้น (เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง กระบี่ ตรัง พัทลุง ยะลา โดยเฉพาะที่เขาช่อง จังหวัดตรัง) มักพบกฤษณาต้นใหญ่ที่สุดถูกโค่นเหลือแต่ตอทิ้งไว้เป็นจำนวนมาก 

3. A. subintegra พบเฉพาะทางภาคตะวันออก (ระยอง จันทบุรี ตราด โดยเฉพาะที่เขาสอยดาว)
 
กฤษณา ชอบขึ้นในที่ชุ่มชื้น จึงมักพบตามป่าดงดิบทั้งชื้นและแล้ง หรือที่ราบใกล้กับแม่น้ำ ลำธาร สามารถขึ้นได้สูงถึง 1,100 เมตร หรือมากกว่าจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เช่น พบที่ยอดเขาเขียวบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยทั่วไปมักพบกฤษณาปนกับพรรณไม้อื่น เช่น ยาง ยมหอม ยมหิน หว้า ก่อเดือย และก่อชนิดอื่น ๆ สีเสียดเทศ กระโดงแดง และอื่น ๆ ที่บริเวณป่าเขาช่อง จังหวัดตรัง น่าจะเป็นถิ่นที่ดีของกฤษณา พบกฤษณามีเส้นขนาดผ่าศูนย์กลางมากกว่า 100 เซนติเมตร ซึ่งต่างกับที่พบบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางจะเล็กกว่า 50 เซนติเมตร (สมคิด, 2525)
 
 
ความเป็นมา     
 
ไม้กฤษณาชนิดที่ดีที่สุดในโลกนั้น พบหลักฐานในสมัยอยุธยา ในจดหมายของบริษัทอินเดียตะวันออก พ.ศ. 2222 ระบุว่า คือไม้หอมกฤษณาจากบ้านนา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในจังหวัดนครนายก หรือแต่เดิมก็คือป่าแถบดงพญาไฟเทือกเขาใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตไม้หอมเพื่อการส่งออกมาแต่อดีต ไม้กฤษณา หรือไม้หอมบนเขาใหญ่ เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยและยังมีการเก็บหามาถึงปัจจุบัน เพราะเป็นที่ต้องการกลิ่นดั้งเดิมที่คุ้นชิน แม้ว่าจะมีสวนป่ากฤษณาปลูกขึ้นมากมายแต่คุณภาพไม่ดีเท่าจากป่าธรรมชาติ การลักลอบทำผิดกฎหมายจึงยังมีอยู่ คดีการจับไม้กฤษณาบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ของทั้งทางจังหวัดนครนายกและจังหวัดปราจีนบุรีจึงยังมีอย่างต่อเนื่อง
 
คนไทยรู้จักใช้ไม้กฤษณามานาน ดังที่ปรากฏในตำรายาพระโอสถสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ.2202 กล่าวถึงตำรายาที่เข้ากับกฤษณาหลายชนิด เช่น 
 
"มโหสถธิจันทน์นั้นเอาสมุลแว้ง ดอกมะลิ สารภี พิกุล บุนนาค เกสรบัวหลวง เกสรสัตบงกช จันทน์ทั้ง 2 กฤษณา กระลำพัก ขอนดอก แฝกหอม ตะนาว เปราะหอม โกฐหัวบัว เสมอภาค น้ำดอกไม้เป็นกระสาย บดทำแท่งละลายน้ำซาวข้าว น้ำดอกไม้ ก็ได้ รำหัดพิมเสนชโลม ถ้ากินแรกขัณฑสกรลงด้วย แก้พิษไข้สันนิบาต อาการตัวร้อนหนัก สรรพไข้ทั้งปวงหายสิ้นแลฯ" เป็นต้น
 
โดยตำรายาไทยยังระบุอีกว่า กฤษณารสขมหอม สุขุม คุมธาตุ บำรุงโลหิตในหัวใจ (อาการหน้าเขียว) บำรุงหัวใจ บำรุงตับปอดให้เป็นปกติ แก้ลมวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด แก้ลมซาง แก้ไข้ อาเจียน ท้องร่วง บำบัดโรคปวดตามข้อ ตำรับยาที่เข้ากฤษณามีหลายชนิด โดยเฉพาะในตำรับยาหอม ยากฤษณากลั่นตรากิเลน สรรพคุณส่วนใหญ่ใช้บำบัดอาการปวดท้อง ท้องเสีย จุกเสียด แน่น แก้ลม วิงเวียน หน้ามืดตาลาย คลื่นเหียน อ่อนเพลีย บำรุงหัวใจ ขับลมในกระเพาะลำไส้ บำบัดโรคปวดท้อง 
 
ในตำรายาไทยถือว่ากฤษณาเป็นราชาของเครื่องหอมไทย หมอพื้นบ้านใช้ปรุงเป็นยาหอมแก้ลมหน้ามืดวิงเวียน ผสมในเครื่องหอมทุกชนิด ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหอม เช่น ธูปหอม น้ำอบไทย ใช้สุมศีรษะแก้ลมทรางสำหรับเด็ก รับประทานให้ชุ่มชื่นหัวใจ น้ำมันกฤษณามีคุณสมบัติที่ทำให้กลิ่นหอมติดทนนาน ทำให้กลิ่นหอมต่างๆ มีความหวานละมุนละม่อมขึ้น จึงนิยมใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอมที่มีราคาแพง  ในแถบตะวันออกกลาง และบางประเทศในทวีปยุโรป นิยมนำเอาแก่นกฤษณา มาเผาในเตาขนาดย่อม ที่ออกแบบสวยงามเป็นพิเศษ สำหรับการเผาไม้กฤษณาโดยเฉพาะเพื่อให้ควันและกลิ่นหอมของกฤษณาติดผิวหนัง หรือสูดดมควันเพื่อเป็นยารักษาโรคหัวใจ และกลิ่นนั้นสามารถป้องกันแมลงหรือไรทะเลทรายที่จะมากัดจนเกิดแผลพุพองได้ ชาวมุสลิมที่มีฐานะดี นิยมปรุงแต่งผิวกายด้วยน้ำหอมจากไม้กฤษณาให้หอมติดทน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร รวมถึงยังมีการใช้ไม้กฤษณาต้อนรับแขกผู้มาเยือน ซึ่งถือว่าเป็นการให้เกียรติแขกอย่างสูง อันเป็นวัฒนธรรมของชนชาวมุสลิมแถบตะวันออกกลาง
 

ลักษณะทั่วไป


   ภาพกฤษณา ไม้กฤษณา

       ต้นกฤษณา

* ต้นกฤษณา เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 18-30 เมตร วัดขนาดรอบลำต้นได้ความยาวประมาณ 1.5-1.8 เมตร ลักษณะของต้นเป็นทรงพุ่มเจดีย์ต่ำๆ หรือเป็นรูปกรวย ลำต้นเปลาตรง เปลือกต้นเรียบมีสีเทาอมขาว เปลือกมีความหนาประมาณ 5-10 มิลลิเมตร เมื่ออายุมากๆเปลือกนอกจะแตกเป็นร่องยาวตื้นๆ ส่วนเปลือกด้านในจะมีสีขาวอมเหลือง ต้นมีรูระบายอากาศสีน้ำตาลอ่อนอยู่ทั่วไป ตามกิ่งอ่อนจะมีขนสีขาวปกคลุมอยู่ มักมีพูพอนที่โคนต้นเมื่อมีอายุมาก ต้นกฤษณาชอบขึ้นในที่ชุ่มชื้น จึงมักพบได้ทั่วไปตามป่าดงดิบทั้งชื้นและแล้ง หรือที่ราบใกล้กับแม่น้ำลำธาร โดยธรรมชาติต้นกฤษณาจะขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด 


   ใบกฤษณา

* ใบกฤษณา  ต้นกฤษณมีใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี มีความกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-11 เซนติเมตร ปลายใบเป็นติ่งแหลม ส่วนโคนใบมน ใบเป็นสีเขียว ขอบใบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา เรียบและเกลี้ยง มีขนขึ้นประปรายอยู่ตามเส้นใบด้านล่าง ส่วนก้านใบยาวประมาณ 0.2-0.7 เซนติเมตร


        ดอกต้นกฤษณา ดอกกฤษณา

*ดอกกฤษณา  ออกดอกเป็นช่อบริเวณซอกใบ ดอกมีสีเหลืองอมสีเหลือง กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นหลอดสั้นๆ มีปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก ติดทน ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้อยู่ 10 อัน


  ผลกฤษณา ลูกกฤษณา

*ผลกฤษณา ลักษณะของผลเป็นรูปกลมรี ผลยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร มีเส้นแคบตามยาวของผล ผิวของผลมีลักษณะขรุขระเป็นลายสีเขียว และมีขนละเอียดสั้นๆ คล้ายกำมะหยี่ขึ้น ผลเมื่อแก่จะแตกและอ้าออก ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด เมล็ดมีสีน้ำตาลเข้ม ลักษณะกลมรี ขนาดประมาณ 5-6 มิลลิเมตร มีหางเมล็ดสีส้มหรือสีแดง ปกคลุมไปด้วยขนสั้นนิ่มสีแดงอมน้ำตาล โดยผลจะเริ่มแก่และแตกอ้าออกในช่วงเดือนสิงหาคม

      น้ำมันที่ได้ น้ํามันกฤษณา

*น้ำมันกฤษณา องค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยจากกฤษณาจะประกอบไปด้วยสารที่เป็นยางเหนียวหรือเรซิน (Resin) อยู่มาก ส่วนสารที่ทำให้เกิดกลิ่นหอม คือ Sesquiterpene alcohol ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด คือ Agarospirol, -Agarofuran, Agaro, และ Dihydroagarofuran


คุณภาพของไม้กฤษณา

            ชิ้นไม้สวยๆ ไม้ปลูก ไม่ใช่ไม้ป่า ไม้ที่พร้อมจำหน่าย

ชาวบ้านอาจเรียกชื่อของไม้กฤษณาแตกต่างกันออกไปได้ตามคุณภาพของไม้หอม เช่น “ไม้ลูกแก่น” (เกิดจากการเจาะไชของแมลงจนเกิดเป็นแก่นไม้เนื้อแข็งสีดำเป็นมัน) จัดเป็นไม้หอมชั้นยอดและมีราคาแพงมาก ส่วนไม้หอมที่มีราคาสูงรองลงมาก็คือ “ไม้พุดซ้อน” (เกิดจากแมลงเจาะไชราก), “ไม้ลำเสา” (เกิดจากแมลงเจาะไชยอดถึงโคนต้น), “ไม้มะเฟือง” (เกิดจากแมลงเจาะไชขวางลำต้น), “ไม้เสี้ยนตาล” (มีเสี้ยนสีดำกับสีขาวผสมกันอยู่) ชนิดนี้ก็มีราคาสูงเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกว่าตามลักษณะการเกิดอีกด้วย เช่น “ไม้ปากกระโถน” (เกิดจากเซลล์ของปุ่มไม้ตามลำต้น ซึ่งเสื่อมสภาพกลายเป็นแอ่งขังน้ำฝน), “ไม้ปากขวาง” (เกิดจากการใช้ขวานฟันแล้วทิ้งแผลไว้ 3 ปี จนมีสีเข้มมากรอบรอยฟัน หากทิ้งไว้นานถึง 100 ปี จะมีสีดำสนิทแล้ถือเป็นไม้เกรดหนึ่ง), “ไม้ขนาบน้ำ” (เกิดจากการฉีดขาดของง่ามไม้)
ไม้กฤษณา ชนิดที่ดีที่สุดในโลก คือ “กฤษณาจากบ้านนา” (Agillah Bannah) ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในจังหวัดนครนายก และพบมากในเขตกัมพูชา แต่ในปัจจุบันกฤษณาที่มีคุณภาพดีที่สุดจะได้จากเขาใหญ่
ส่วนไม้กฤษณาที่คุณภาพต่ำ ได้แก่ “ไม้ตกหิน” (เนื้อเหลืองอ่อนคล้ายไม้ผุ), “ไม้ตกตะเคียน” (เนื้อเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือน้ำตาลใต้รอยฟัน หากทิ้งไว้ประมาณ 6-7 เดือน จะมีสีเหมือนไม้ตะเคียน), “ไม้กระทิด” (ลักษณะเหมือนไม้ตกตะเคียน แต่สีของไม้จะเหมือนไม้กระทิด), “ไม้ตกฟาก” (ถูกไม้อื่นล้มทับจนเกิดแผลภายนอก) เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้สามารถนำไปต้มกลั่นทำเป็นน้ำหอมได้


สรรพคุณของกฤษณา
  1. ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ (เนื้อไม้)
  2. ช่วยบำรุงกำลัง (เนื้อไม้)
  3. ไม้ลูกแก่น เมื่อนำมาใช้เผาจนเกิดกลิ่นหอม ใช้สูดดมจะช่วยทำให้เกิดกำลังวังชา (ไม้ลูกแก่น)
  4. ช่วยบำรุงธาตุ คุมธาตุในร่างกาย (เนื้อไม้)
  5. ช่วยบำรุงโลหิต (เนื้อไม้)
  6. เนื้อไม้มีรสขม หอม ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ (อาการหน้าเขียวตาเขียว) (เนื้อไม้,น้ํามันกฤษณา)บำรุงโลหิตในหัวใจ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  7. ช่วยบำรุงสมอง ใช้ระงับอารมณ์โมโหดูร้าย ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด ทำให้มีอารมณ์สุนทรีย์ (ชิ้นไม้)
  8. ใช้รับประทานช่วยทำให้หัวใจชุ่มชื่น (เนื้อไม้)
  9. ใบกฤษณา สรรพคุณของน้ำจากใบสามารถนำมาใช้เพื่อรักษาโรคเบาหวานได้ (ใบ)
  10. ช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศ (ตำรายาจีน)
  11. ช่วยแก้ลมวิงเวียนศีรษะหน้ามืด ใช้ปรุงเป็นยาหอมแก้อาการหน้ามืดวิงเวียน (เนื้อไม้)
  12. ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน (ตำรายาจีน)
  13. ช่วยแก้หอบหืด (ตำรายาจีน)
  14. ช่วยแก้ไข้ต่างๆ (เนื้อไม้)
  15. ช่วยแก้ไข้เพื่อเสมหะและลม (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  16. ช่วยรักษาโรคมาลาเรีย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  17. ใช้ต้มดื่มแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้เสมหะ ด้วยการนำมาผสมกับยาหอมใช้รับประทาน หรือนำมาต้มเป็นน้ำดื่ม ในกรณีที่มีอาการกระหายน้ำมาก (เนื้อไม้)
  18. ช่วยแก้ลมซาง ใช้สุมศีรษะแก้ลมซางในเด็ก (เนื้อไม้)
  19. น้ำจากใบใช้เป็นยารักษาโรคภูมิแพ้ (ใบ)
  20. เชื่อว่ากลิ่นหอมของควันที่ได้จากการนำชิ้นไม้กฤษณามาจุดจะช่วยรักษาโรคบางอย่างได้ (ชิ้นไม้)
  21. ฯลฯ

 

ประโยชน์ของกฤษณา

  1. ใช้ส่งขายเพื่อนำไปใช้ผสมเข้าเครื่องหอมทุกชนิด หรือนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหอม เช่น น้ำอบไทย น้ำมันหอมระเหย ธูปหอม ยาหอม เป็นต้น
  2. ส่วนกากกฤษณาที่เหลือจากการกลั่นสามารถนำมาใช้ทำเป็นเครื่องปั่นต่างๆ หรือจะใช้ทำเป็นผงธูปหอมก็ได้ ส่วนในประเทศไต้หวันจะนำไปใช้ทำเป็นไวน์ และมีการนำมาปั้นเป็นก้อนโดยผสมกับน้ำมันกฤษณาและส่วนผสมอื่นๆ ที่ให้กลิ่นหอม หรือที่เรียกว่า “Marmool” ซึ่งชาวอาหรับจะนิยมนำมาใช้จุกเพื่อให้มีกลิ่นหอม
  3. ชาวปาร์ซี (Parsee) และชาวอาหรับ นิยมใช้ไม้หอมของต้นกฤษณามาเผาไฟเพื่อใช้อบห้องให้มีกลิ่นหอม  ส่วนชาวฮินดูจะนิยมนำมาใช้จุดไฟ เพื่อให้กลิ่นหอมในโบสถ์
  4. เนื้อไม้กฤษณาเกรดคุณภาพระดับกลาง เช่น ไม้ตกตะเคียน ไม้ปากขวาง นำมาใช้กลั่นทำเป็นหัวน้ำหอมกฤษณาได้
  5. น้ำมันหอมระเหยจากกฤษณา สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตน้ำหอมและเครื่องสำอางได้ ซึ่งทางยุโรปนิยมนำมาปรุงเป็นน้ำหอมกฤษณาชนิดคุณภาพดี ที่ใช้แล้วติดผิวกายได้นานยิ่งขึ้น
  6. ส่วนน้ำกลั่นกฤษณาสามารถนำมาใช้ทำเป็นสบู่เหลว สบู่หอม ทำเป็นยาสระผม เครื่องประทินผิว หรือใช้สำหรับทำสปาเพื่อระงับความเครียด
  7. ชาวอาหรับนิยมใช้น้ำหอมกฤษณามาทาตัว เพื่อเป็นเครื่องประทินผิว ติดทนผิวหนังได้นาน และยังสามารถช่วยป้องกันแมลงต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
  8. ผงไม้กฤษณา เมื่อนำมาใช้โรยลงบนเสื้อผ้าหรือบนร่างกายจะช่วยฆ่าหมัดและเหา ช่วยป้องกันตัวเรือด ตัวไรได้
  9. ไม้กฤษณาสามารถนำมาใช้ทำเป็นลูกประคำ ทำหีบสำหรับใส่เครื่องเพชร ส่วนเนื้อไม้ปกติก็สามารถนำมาใช้ในงานแกะสลัก ทำหน้าไม้ คันธนู ทำเรือ และใช้ทำเครื่องกลึง
  10. เนื้อไม้มีน้ำหนักเบา ชาวกระเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนจึงนิยมนำมาใช้สำหรับแบกข้าว
  11. ฯลฯ

เรื่องของไม้กฤษณายังมีสาระความรู้ที่น่าสนใจอีกมาก อาทิเช่น  เทคนิควิธีการทำไม้กฤษณา และตัวอย่างเกษตรกรที่ลงมือปฏิบัติจริง  ซึ่งจะได้สืบค้นและรวบรวมมาเผยแพร่กันอีกในครั้งต่อไป..ครับ



ขอบคุณ :   1)  http://frynn.com  
                2)  http://xn--12c0bwcua0c.blogspot.com 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์