กฤษณา ราชาเครื่องหอม สมุนไพร (3)



สถานการณ์ของไม้กฤษณา

ด้วยไม้กฤษณาเป็นไม้มงคลตามความเชื่อทางศาสนา และมีคุณสมบัติสกัดเป็นยาสมุนไพรที่หลากสรรพคุณ  แถมยังสามารถกลั่นเป็นน้ำมันหอมระเหย ใช้ทำหัวน้ำหอมคุณภาพสูง เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศทั้งตะวันออกกลางและยุโรป  โดยซื้อขายกันด้วยราคาแพง 3 แสนบาท/กิโลกรัม   ก่อให้เกิดบริษัทลงทุนปลูกไม้กฤษณาเกิดขึ้นอย่างมากมาย ทั้งการระดมทุน ขายกล้าพันธุ์ นำเสนอผลตอบแทนอันน่าพอใจ  สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)  ได้ออกโรงเตือนเกษตรกรให้มีความรอบครอบในการตัดสินใจทั้งที่เป็นการลงทุนเอง หรือเข้าร่วมทุนกับบริษัทไม้กฤษณาที่กระจายตัวอยู่แถบภาคอีสานตอนล่าง  ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนล่าง  เป็นต้น 

แต่จากความต้องการเครื่องหอมที่มีส่วนผสมของน้ำมันกฤษณาในกลุ่มชาวมุสลิม  เช่น ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือบาร์เรน และชาวมุสลิมทั่วโลกที่มีอยู่ราว 2.1 พันล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 3 พันล้านคนในปี 2563  ส่งผลให้น้ำมันกฤษณาในตลาดโลกมีมูลค่ากว่า 1 พันล้านบาท ขณะเดียวกันน้ำมันกฤษณาซึ่งเป็นส่วนผสมของน้ำหอมยังเป็นตัวช่วยผลักดันให้ตลาดน้ำหอมมีมูลค่ากว่า 3.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าในปี 2560 จะเพิ่มเป็น 3.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

ข้อมูลสถิติการส่งออกผลิตภัณฑ์จากไม้กฤษณา ปี 2555 พบว่า มีการส่งออกเป็นชิ้นไม้กฤษณามากกว่า 3 พันกิโลกรัม ส่วนที่สกัดเป็นน้ำมันแล้วมีมากกว่า 1,500 กิโลกรัม  ส่งออกเป็นกล้าไม้ราว ๆ 1 แสนต้น และเป็นขี้เลื่อยมากกว่า 1 แสนกิโลกรัม  คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้นราว 42 ล้านบาท

ดังนั้น  หากมองอนาคตของไม้กฤษณาในเชิงเศรษฐกิจแล้ว  จะเห็นได้ว่ามีความน่าสนใจและสามารถพัฒนาผลผลิต และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของไม้กฤษณาให้ได้มาตรฐาน และรักษาการตลาดให้คงที่อยู่เสมอ



แนวโน้มไม้กฤษณาในปัจจุบัน
ในรอบหลายปีที่ผ่านมามีการทำไม้กฤษณาอยู่  2  รูปแบบใหญ่ ๆ  คือ  การทำไม้กฤษณาของกลุ่มเกษตรกรเอง  และการทำไม้กฤษณาร่วมกับบริษัท  ตัวอย่างอาทิ เช่น

** นายอับดุลเลาะ แวกาจิ โต๊ะอิหม่าม มัสยิดบ้านหลักเขต หมู่ที่ 9 ตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ในฐานะประธานบริษัทยะลาอการ์วูด เทรดดิง จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทยะลาอการ์วูด เทรดดิง จำกัด ที่ตนร่วมหุ้นกับญาติอีก 4 คน สามารถผลิตหัวน้ำหอมจากไม้กฤษณาส่งออกต่างประเทศได้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2553 เป็นต้นมา หลังจากปลูกไม้กฤษณามา 7 ปี โดยเริ่มปลูกต้นกฤษณามาตั้งแต่ปี 2547 ในเนื้อที่ 50 กว่าไร่ โดยนำสายพันธุ์เอควิลาเรีย สับอินทิกร้า ซึ่งเป็น 1 ใน 16 สายพันธุ์มาจากจังหวัดตราด เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่ผลิตหัวน้ำหอมได้ดีกว่าสายพันธุ์อื่น

นายอับดุลเลาะ เปิดเผยว่า หัวเชื้อน้ำหอมและแก่นไม้กฤษณามีราคาแพง เนื่องจากการตัดไม้กฤษณาในธรรมชาติเป็นสิ่งผิดกฎหมาย จึงต้องตั้งบริษัททำแปลงปลูกต้นกฤษณาเอง เพื่อให้ถูกกฎหมาย และมีความสะดวกในการซื้อขายกับต่างประเทศ ในส่วนของการผลิตกว่าจะได้หัวเชื้อน้ำหอมและแก่นไม้ ต้องรอให้ต้นกฤษณามีอายุ 7 ปีขึ้นไป จากนั้นนำเปลือกไม้ออกนำเนื้อไม้มาสับนำไปตากแห้ง แล้วนำมาปั่นให้ละเอียด จากนั้นนำไปหมักในตุ่มใช้เวลา 10 วัน แล้วนำมาต้มต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ เพื่อกลั่นให้ได้หัวเชื้อน้ำหอม สำหรับผลผลิตที่ได้ จะมี 2 อย่างคือ หัวเชื้อน้ำหอม และแก่นไม้กฤษณา

นายอับดุลเลาะ เปิดเผยว่า หัวเชื้อน้ำหอมหนึ่งโตรา เท่ากับ 12 ซีซี มีราคาถึง 4,500บาท ถึง 5,000 บาท มีปริมาณการส่งออกขายต่างประเทศประมาณ 50 โตราต่อ 3–4 เดือน ราคาอยู่ที่ 250,000 บาท ส่วนแก่นไม้ที่คนอาหรับใช้จุดไฟให้ได้กลิ่นหอมจากควัน แบ่งราคาตามเกรด แยกเป็น เกรด A มีราคา 400,000 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนเกรด B มีราคา 100,000 บาทต่อกิโลกรัม แต่บริษัท ยะลาอการ์วูด เทรดดิง จำกัด ยังไม่ได้ส่งแก่นไม้กฤษณาออกขาย

“ตลาดส่งออกหัวเชื้อน้ำหอมและแก่นไม้กฤษณาคือ ประเทศแถบตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดิอาระเบีย โอมาน เลบานอน และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น” นายอับดุลเลาะ กล่าว

นายอับดุลเลาะ เปิดเผยด้วยว่า นอกจากนี้บริษัท ยะลาอการ์วูด เทรดิง จำกัด ยังผลิตน้ำยาเร่งผลิตแก่นไม้ฉีกลำต้น ส่งออกต่างประเทศในราคาลิตรละ 25,000 บาท น้ำยาเร่งผสมสำเร็จรูปราคาลิตรละ 1,000 บาท ขณะนี้มีผู้มาทัศนะศึกษาดูงานจำนวนมาก โดยเฉพาะจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่บริษัทฯ ได้เข้าแข่งขันการฉีดน้ำยาเร่งผลิตแก่นไม้กฤษณา และกำลังรอผลการตัดสิน

สำหรับบริษัท ยะลาอการ์วูด เทรดดิง จำกัด ได้จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 มีนางสาวกัญจน์พร ถาวรสุข เป็นนายทะเบียน ทะเบียนเลขที่ 0288 
   



** นายสุวรรณ ยงกระสัน   ลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คือหนึ่งในเกษตรกรที่เห็นโอกาส และเห็นช่องทางในการสร้างรายได้จากไม้หอมกฤษณา ศึกษาทดลองและลงมือทำ จนสามารถเพาะพันธุ์ ผลิตสารกระตุ้นน้ำมันหอม กลั่นน้ำมันจากไม้กฤษณาประสบความสำเร็จในอาชีพทำสวนไม้กฤษณาสร้างรายได้กว่า 300,000 บาทต่อเดือน

สุวรรณ เล่าว่า ตนเองและครอบครัวมีอาชีพทำสวนผัก ผลไม้ ก่อนหน้าที่จะมาปลูกไม้กฤษณาแบบจริงจัง แต่ประสบกับปัญหาสุขภาพเพราะผักต้องใช้สารเคมีเยอะ ประมาณปี 2540 จึงได้ศึกษาเรื่องไม้หอม สอบถามจากคนที่เคยปลูก แต่ได้รับคำตอบจากคนรู้จักว่าพื้นที่วังน้ำเขียวปลูกไม้กฤษณาไม่ได้ผล แต่ก็ไม่ยอมลดความพยายาม ลองผิดลองถูก โดยเริ่มเก็บเมล็ดพันธุ์ไม้กฤษณาจากพื้นที่เขาใหญ่มาเพาะพันธุ์ และนำไปปลูกในสวนผลไม้ แซมกับต้นกระท้อน และต้นมะไฟ ระหว่างนั้นก็ยังปลูกผัก ปลูกผลไม้ ซึ่งเป็นรายได้หลักไปด้วย

"จากการที่ได้ศึกษาจากแหล่งความรู้ต่างๆจึงได้เริ่มลงมือปลูกและเพาะเมล็ดพันธุ์ด้วยตนเอง ซึ่งในส่วนของการปลูกไม้กฤษณานั้นควรปลูกประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนกล้ากฤษณาที่นำมาปลูกควรสูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร  เพื่อช่วยให้กฤษณาเจริญเติบโตในช่วงแรกได้ดี สำหรับการปลูกในที่โล่งต้องปลูกพืชพี่เลี้ยงเพื่อให้ร่มเงาแก่กล้ากฤษณา ส่วนการดูแลไม้กฤษณาไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ย สามารถปล่อยให้เติบโตเองตามธรรมชาติ เมื่อต้นกฤษณาที่ปลูกมีอายุได้ประมาณ 8 ปี จึงเริ่มทำสาร เพื่อให้ไม้กฤษณาผลิตน้ำมันหอม"

การกระตุ้นให้เกิดสารกฤษณาในเนื้อไม้ จะเริ่มทำตั้งแต่ 6-8 ปี หรือมีขนาดความโตประมาณ 10-15 เซนติเมตร โดยการกระตุ้นเพื่อชักนำให้เกิดสารในเนื้อไม้ โดยที่สวนจะใช้วิธีการเจาะรู โดยใช้สว่าน และการถากเนื้อไม้ให้เป็นทางยาว เพราะการตอกตะปูที่คนอื่นๆนิยมใช้นั้นมันสกัด หลังจากเจาะรูแล้ว จึงเอาน้ำสารกระตุ้นไปกรอกใส่รูที่เจาะหรอืราดเนื้อไม้ที่ถากเป็นทางยาวปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 8 เดือน ถึง 1 ปี จะเก็บเอาส่วนของเนื้อไม้ที่เกิดสารกฤษณาซึ่งจะเป็นเส้นเนื้อไม้สีดำ นำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย

"ราดเนื้อไม้ที่มีสารกฤษณาตอนนี้จะตกอยู่ประมาณ 5,000-7,000 บาทต่อกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับคุณภาพของชิ้นไม้ว่ามีสารอยู่มากน้อยเพียงใด ส่วนราคาน้ำมันหอมระเหยกฤษณาจะขายเป็นโตร่า (โตร่าละประมาณ 12.5 ซีซี หรือ 1,200 กรัม) ขายกรัมละ 230 บาทขึ้นอยู่กับคุณภาพของน้ำมันกฤษณา ซึ่งทำให้มีรายได้จากการขายน้ำมันกฤษณาอยู่ที่ประมาณ 270,000 บาท ซึ่งน้ำมันหอมจากไม้กฤษณามีตลาดรองรับชัดเจน นอกจากนี้แก่นไม้กฤษณาตากแห้ง ยังสามารถจำหน่ายได้ในราคากิโลกรัมละ 5,000-7,000 บาท ส่วนกากไม้ที่เหลือจากการสกัดน้ำมันก็จะนำเข้าไปขายให้บริษัทผู้ผลิตธูปหอมในราคา กิโลกรัมละ 10 บาท และยังจำหน่ายกล้าพันธุ์กฤษณา ในราคาต้นละ 10-15 บาทอีกด้วย  

สนใจศึกษาเรียนรู้การปลูกไม้กฤษณาติดต่อได้ที่ นายสุวรรณ ยงกระสัน เลขที่ 94 ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เบอร์โทรศัพท์ 086-055-2723   



** นายแอนดรูล  สตีล  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเดอะทรีด้อม กรุ๊ป ผู้ผลิตน้ำมันกฤษณารายใหญ่ในไทย โดยมีแหล่งปลูกอยู่ที่ จ.ตราด ประมาณ 500 ไร่  มีโรงงานที่ประกอบด้วยหม้อต้มกลั่น 120 หม้อ  ผลิตน้ำมันกฤษณาบริสุทธิ์ได้ประมาณ 150 กิโลกรัม/ปี   ราคาขายส่งอยู่ที่ 3 แสนบาท/กิโลกรัม 

ภายในปี 2558  บริษัทจะขยายพื้นที่ปลูกใน จ.ตราดเป็น 1,100 ไร่  โดยยังใช้รูปแบบการรับซื้อไม้กฤษณาจากชาวบ้าน หรือ คอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง (Contract  Farming)  ประมาณ 40 แปลงปลูก  ซึ่งจะต้องเป็นแปลงปลูกที่ตรงตามมาตรฐานของบริษัท  เนื่องจากไม้กฤษณาโดยทั่วไปจะใช้เวลาปลูก 20-30 ปี  จึงจะมีกลิ่นหอมตามมาตรฐาน แต่บริษัทจะมีทีมคัดเลือกไม้กฤษณา พร้อมเทคนิคพิเศษในการฉีดสารเร่งความหอมที่เหมาะกับการทำน้ำหอม โดยใช้เวลาปลูกเพื่อใช้งานได้ภายใน 6-8 ปี 

** บริษัท ทัชวู๊ด ฟอร์เรสตรี้ ได้จัดการปลูกป่าที่มีค่าทางเศรษฐกิจ เช่นมะฮอกกานี วานิลลา ไม้ จันทน์หอมในแปลงปลูกประเทศศรีลังกา และเลือกประเทศไทยปลูกไม้กฤษณา ในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี และในอนาคตจะมีการปลูกไผ่เพื่อส่งออก โดยใช้รูปแบบเดียวกับไม้กฤษณาด้วย

กิตติภพ จารุสิงห์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดบริษัททัชวู๊ด ฟอร์เรส ตรี้ กล่าวว่าบริษัทได้ลงทุนปลูกไม้กฤษณา บนเนื้อที่ 2,000 ไร่ ในเขต อ.กบินทร์บุรี โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน BOI บริษัทเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมด และเป็นที่ดินมีโฉนด

ผู้จัดการฝ่ายการตลาดบริษัททัชวู๊ด ฟอร์เรสตรี้ บอกว่าการปลูกไม้กฤษณาที่ประเทศไทยเลือกใช้ชนิดพันธุ์ไม้กฤษณาที่ให้น้ำมัน ดีที่สุดในพื้นที่เขาใหญ่ วิธีการปลูกกฤษณาของที่นี่อยู่ภายใต้งานวิจัยของ ศาสตราจารย์ โรเบิร์ด เอ พลันเซตต์ และ โจเอล เจอร์เกนท์ จากมหาวิทยาลัยมินิโซตา ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกและชักนำสารในต้นกฤษณาประสบการณ์กว่า 10 ปี เข้าร่วมวิจัยการชักนำสารกฤษณาในแปลงปลูก ที่ จ.ปราจีนบุรี โดยงานวิจัยดังกล่าวได้มีการจดลิขสิทธิ์เป็นแห่งแรกในโลกเมื่อปี 2544




ขอบคุณ  :  1)  http://xn--12c0bwcua0c.blogspot.com
                2)  http://www.deepsouthwatch.org
                3)  http://www.thaikrisana.com
                4) http://money.sanook.com

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์