กฤษณา ราชาเครื่องหอม สมุนไพร (2)


ไม้กฤษณาจากป่าธรรมชาติมีปริมาณลดลง เนื่องจากการตัดฟันโดยขาดมาตรการป้องกันและจัดการที่ถูกต้อง รวมทั้งการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติของไม้สกุลนี้มีอัตราค่อนข้างต่ำอีกด้วย จึงทำให้จำนวนประชากรในธรรมชาติลดลงอย่างรวดเร็ว การปลูกไม้กฤษณาในเชิงสวนป่าจึงมีมากขึ้น และเกษตรกรให้ความสนใจมาก เนื่องจากราคาของสารกฤษณาที่เป็นสิ่งจูงใจ จึงทำให้พื้นที่ปลูกไม้ชนิดนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างเช่นการสำรวจของ Lam (2003) พบว่าในปี 2002 มีพื้นที่ปลูกไม้กฤษณา ( Aquilaria crassna) ทั่วประเทศเวียดนามจำนวนทั้งสิ้นถึง 25,000 ไร่ สำหรับประเทศไทย เฉพาะในภาคตะวันออก จากการศึกษาของ Osoguchi (2002) สำรวจการปลูกไม้กฤษณาในจังหวัดตราดซึ่งเป็นจังหวัดที่มีการปลูกสร้างสวนป่าไม้กฤษณากันอย่างแพร่หลาย อาจจะถือว่ามากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศเลยก็ว่าได้ เฉพาะในปี พ.ศ. 2545 พบว่ามีพื้นที่ปลูกไม้กฤษณาถึง 2,083ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกร่วมในแปลงยางพาราและไม้ผล โดยร้อยละ 85 ของต้นไม้มีอายุไม่เกิน 3 ปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามกระแสของการส่งเสริมทั้งภาครัฐและภาคเอกชน แต่ข้อมูลหรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการปลูกไม้กฤษณาเป็นสวนป่าในปัจจุบันยังมีน้อยมาก 

รูปแบบการปลูกสวนป่าไม้กฤษณา( Aquilaria crassna)

การปลูกไม้กฤษณาในปัจจุบันนิยมใช้ระยะปลูกที่ 2 x 2 เมตร (400 ต้นต่อไร่) หรือหากต้องการให้เครื่องจักรกลสามารถเข้าไปทำงานได้ อาจจะใช้ระยะปลูก 2 x 3 เมตร (267 ต้นต่อไร่) การปลูกไม้กฤษณาส่วนใหญ่จะใช้กล้าไม้ที่มีอายุประมาณ 1 ปี โดยกล้าไม้จะมีความสูงอยู่ระหว่าง 70 – 100 เซนติเมตร การขุดหลุมปลูกก็เหมือนกับการปลูกไม้ป่ายืนต้นทั่วไป อาจจะใช้หลุมขนาดกว้าง 30 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร และลึก 50 เซนติเมตร ช่วงฤดูการปลูกควรจะเป็นช่วงหน้าฝนที่กล้าไม้สามารถใช้น้ำฝนจากธรรมชาติเพื่อการตั้งตัวได้ ซึ่งเป็นช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม โดยที่อาจจะไม่ต้องให้น้ำกับกล้าไม้ที่ปลูกเลย อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนในปีนั้น ๆ ด้วย ซึ่งหากมีการจัดการที่ค่อนข้างประณีตอาจจะมีการใส่โพลีเมอร ์(polymer) รองก้นหลุมก่อนปลูก ซึ่งโพลีเมอร์เป็นสารที่มีความสามารถในการอุ้มน้ำ เพื่อป้องกันการขาดน้ำของกล้าไม้ อย่างไรก็ตาม ราคาของโพลีเมอร์ในปัจจุบันค่อนข้างแพง จึงขึ้นอยู่งบประมาณของเกษตรกรเป็นสำคัญ นอกจากนี้ หากดินในพื้นที่มีอินทรียสารในปริมาณที่น้อย ซึ่งมีความสำคัญต่อคุณสมบัติของดินด้านกายภาพ ได้แก่ ความพรุนหรือความร่วนซุยของดิน ที่มีความสำคัญต่อการกักเก็บน้ำและอากาศ และการที่กล้าไม้จะนำธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ในดินมาใช้ได้อย่างเต็มที่ อาจจะมีการใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยอินทรีย์ ลงไปในหลุมเพื่อให้ดินมีคุณสมบัติด้านกายภาพดีขึ้น


                                                   
  หลุมปลูกขนาด 50x50x50 ซม. รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก 

  
                                                        ระยะปลูกไม้กฤษณาขนาด 2 x 2.5 ม.


สวนป่าไม้กฤษณาเชิงเดี่ยวอายุ 1 ปี  

สวนป่าไม้กฤษณาเชิงเดี่ยวอายุ 10 ปี 

นอกจากไม้กฤษณาจะมีการปลูกในรูปสวนป่าเชิงเดี่ยว (monocultural plantation) แล้ว การปลูกไม้กฤษณาร่วมกับไม้ชนิดอื่นในรูปสวนป่าผสม (mixed plantation) ยังได้รับความนิยมเช่นกัน โดยเฉพาะในภาคตะวันออกของประเทศไทย มีการปลูกไม้กฤษณาแซมระหว่างแถวในสวนยางพาราและสวนผลไม้ เช่น ในจังหวัดตราดที่มีพื้นที่ปลูกไม้กฤษณาเป็นจำนวนมาก 

การปลูกไม้กฤษณาในรูปสวนป่าผสมร่วมกับไม้สัก 

การปลูกไม้กฤษณาในรูปสวนป่าผสมร่วมกับไม้ยางพารา 


โรคและแมลงของไม้กฤษณา (Aquilaria crassna)

การทำลายใบของแมลงชนิด Heortia vitessoides 

การปลูกไม้กฤษณาร่วมกับไม้ชนิดอื่นในรูปสวนป่าผสม ได้แก่ ไม้กฤษณากับยางพาราและไม้กฤษณาในแปลงไม้ผล พบว่ามีปัญหาเรื่องการทำลายใบของแมลงที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Heortia vitessoides โดยลักษณะการทำลาย คือ ตัวหนอนจะกัดกินใบกฤษณา มักจะเกิดในต้นกฤษณาที่มีขนาดเล็กอายุ 2-3 ปี ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ไม่มีการกำจัด ตัวหนอนก็จะกัดกินใบจนหมดต้น จนทำให้ต้นกฤษณายืนต้นตาย ช่วงการระบาดจะอยู่ระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม การป้องกันอาจจะใช้วิธีสำรวจอย่างสม่ำเสมอหากพบให้เก็บทิ้งทำลาย หากเกิดระบาดมากอาจใช้สารเคมีฉีดพ่นใบโดยตรง ป้องกันการกัดกินของหนอน


 
หนอนกินใบกฤษณาชนิด Heortia vitessoides 


 
กฤษณายืนต้นตายปลูกร่วมกับยางพาราเนื่องจากถูกหนอนกินใบทั้งต้น


โรคในกล้าไม้กฤษณา

จากรายงานพบว่าโรคที่เกิดกับกล้าไม้กฤษณา ได้แก่ โรคเน่าคอดิน (damping off) ซึ่งจากรายงานของกรมป่าไม้ พบว่าเชื้อราที่เป็นสาเหตุคือ Peronophythora sp. 

สรุป

การปลูกสร้าง สวนป่าไม้กฤษณาเพื่อหวังผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ถึงแม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีสวนป่าของเกษตรกรรายใดประสบความสำเร็จได้ผลตอบ แทนที่ชัดเจน แต่ก็ได้มีการศึกษาและพัฒนากันมาอย่างต่อเนื่องทั้งจากความรู้และประสบการณ์ ของเกษตรกรผู้ปลูกและจากงานทดลองและการค้นคว้าวิจัยของนักวิชาการที่เกี่ยว ข้อง ทำให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับไม้กฤษณามีเพิ่มมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับไม้กฤษณาที่เผยแพร่ในปัจจุบันยังมีความสับสนกัน อยู่บ้าง เนื่องจากมีแหล่งที่มาของข้อมูลจากหลายองค์กร ทั้งจากนักวิชาการและผู้ที่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์จากไม้กฤษณา ทำให้ข้อมูลบางอย่างคลาดเคลื่อนและเกินความเป็นจริงอยู่บ้าง ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐหรือภาคการศึกษาควรมีการส่งเสริมให้จัดทำข้อมูลโดย เฉพาะเอกสารเผยแพร่เกี่ยวกับไม้ชนิดนี้ทางด้านวิชาการที่ถูกต้องต่อไป 



ขอบคุณ  :  1)  http://thailandonly8-ningtor.blogspot.com
                2)  http://xn--12c0bwcua0c.blogspot.com 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์