กฤษณา ราชาเครื่องหอม สมุนไพร (5)

ตัวอย่างชิ้นไม้กฤษณาเกรดซุปเปอร์หลังการกระตุ้น 4 ปี


ชุดความรู้จากชมรมไม้กฤษณา(ไม้หอม) แห่งประเทศไทย




การทำสารไม้หอมกับต้นที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ควรปฏิบัติดังนี้

1. ตรวจดูสายพันธุ์ดีหรือไม่ดี ถ้าเป็นสายพันธุ์แท้ของพันธุ์เอควิลาเรีย สับดินทิกร้า (Aquilaria Subintegra) ของจังหวัดตราด จะมีเส้นใยใบบริเวณโคนใบเป็นคู่ขนานประมาณ 2-3 คู่ขึ้นไป เป็นการสังเกตที่ง่ายที่สุด ซึ่งสายพันธ์อื่นจะไม่มี

2. ตัดแต่งกิ่งแขนงต่างๆ ออก พยามยามแต่งให้ลำต้นสูงชะลูด และมีกิ่งที่ปะทะน้อยที่สุด เพื่อป้องกันลำต้นโค่นล้ม หลังจากทำสาร






3. วัดความสูงจากโคนต้นขึ้นมาประมาณ 50 ซ.ม. แล้วเริ่มเจาะโดยใช้ดอกสว่าน ตั้งแต่ 3 – 5 หุน โดยบริเวณโคนต้น หรือลำต้นที่มีขนาดใหญ่ ให้ใช้สว่านขนาด 5 หุนเจาะก่อน แล้วเรียงลดหลั่นไปตามขนาดของลำต้นโดยเจาะเอียงขึ้น 30 องศา ขึ้นไปตามลำต้นห่างกันช่องละประมาณ 4 นิ้ว จนเกือบถึงยอดของต้นไม้หอม เจาะจนรอบต้น แล้วใช้สารตามสูตร (ขอสงวนสูตร) ดัดใส่เข้าไปจนเต็มออกมาถึงปากรูที่เจาะหลังจากนั้นประมาณ 5 วัน จะเห็นปฏิกิริยาของไม้หอมเปลี่ยนแปลงไป ต้นจะเริ่มเร่งหลั่งสารเรซิน หรือน้ำมันกฤษณาออกมาเพื่อต่อต้านสารที่อุดเข้าไป ถ้าทำตามหลักการและใช้สารตามสูตรที่ถูกต้องแล้ว ถ้าไม้อายุตั้งแต่ 8 ปีขึ้นไปมีลำต้นสูงชะลูดก็จะให้ผลตอบแทนประมาณ 10,000 – 30,000 บาท

ถ้าลำต้นไม่สวย เตี้ย มีกิ่งมากก็จะให้ผลตอบแทนประมาณ 5,000 – 10,000 บาท ถ้าไม้ยิ่งอายุมากและลำต้นใหญ่ สูงชะลูด ก็จะให้ผลตอบแทนมากตามลำดับ หลังจากทำสารแล้วประมาณ 6 เดือน ก็จะเริ่มใช้สิ่วเจาะสำรวจดู ถ้าต้นไหนไม้ลงตะเคียนแล้ว และคำนวณว่าคุ้มกับการตัดโค่นก็ตัดตามหลักการได้เลย แต่ถ้าจะให้ผลคุ้มค่าหรือให้ผลตอบแทนสูง ควรทิ้งไว้อย่างน้อย 1 ปี เมื่อตัดแล้วส่วนที่เหลือคือ ตอที่สูงประมาณ 50 ซ.ม. อีกประมาณ 10 วัน ก็จะมีแขนงงอกออกมา ส่วนนี้ควรเว้นแขนงไว้ไม่เกิน 2 แขนง และเมื่อแขนงลัดออกมายาว 50 ซ.ม. แล้วก็เริ่มทำสารที่ตอ เพื่อให้เกิดไม้แก่นต่อไป ซึ่งเวลาอีกประมาณ 3 ปี จะให้ผลตอบแทนต่อ 1 ตอ ประมาณ 3,000 – 20,000 บาท


ชุดความรู้จาก http://xn--12c0bwcua0c.blogspot.com

“การกระตุ้นไม้กฤษณาอายุน้อย

เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจจะปลูกไม้กฤษณา แต่มีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด มักจะมองว่า การปลูกต้นกฤษณาเพื่อเชิงพาณิชย์นั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลานาน เพราะต้องรอให้ต้นโตได้ที่ ประมาณ 8-12 ปี จึงจะมีขนาดที่จะสามารถทำสารได้  แต่ในความเป็นจริงแล้วต้นกฤษณาอายุน้อยๆก็สามารถสร้างสารกฤษณาได้ดีไม่แพ้กัน อีกทั้งต้นกฤษณานั้นเป็นไม้ที่มักจะมีอัตราการยืนต้นตายเมื่อเริ่มเข้าสู่ วัยรุ่น หรือประมาณ ปีที่ 3-5 ค่อนข้างสูง จึงเป็นการดีหากสามารถสร้างสารกฤษณาได้ในต้นที่อายุน้อยเช่นนี้   เราได้ทดลองปลูกต้นกฤษณาเอาไว้ที่บ้านที่บุรีรัมย์และเชียงราย เพื่อเป็นแปลงทดลอง





แปลงทดลองดังกล่าวนั้น  ปลูกกฤษณาเอาไว้ในระยะ 1x1 เมตร โดยทำการเจาะกระตุ้นเอาไว้ทุกต้นเมื่อเข้าปีที่ 3 และทำการตัดแปรรูปเป็นไม้ชิ้น โดยทำการตัดแบบต้นเว้นต้นเมื่อเข้าปีที่ 4 และตัดให้สูงจากพื้นประมาณ 80 เซนติเมตร เพื่อให้ต้นไม้ได้แตกกิ่งใหม่โดยไม่ต้องปลูกทดแทน ผลปรากฏว่า ต้นกฤษณาที่ตัดออกมานั้นให้ผลผลิตอยู่ที่ประมาณ 600 กรัม ถึง 1 กิโลกรัมต่อต้น ส่วนต้นที่เว้นระยะเอาไว้ก็สามารถเติบโตต่อไปได้โดยปกติ

จากแนวคิดนี้ สามารถนำมาเพิ่มผลผลิตและหมุนเวียนรายได้รอบเร็วให้กับผู้ปลูกไม้กฤษณาโดย การกระชับระยะปลูกให้ใกล้ขึ้น และทำการกระตุ้นและแปรรูปออกไปขายเป็นรุ่นๆไป ดังตัวอย่างเช่น

พื้นที่ 1 ไร่ จากเดิม หาก ปลูกระยะ 4x4 เมตร จะได้ต้นไม้ไม่กี่ต้น และต้องรอหลายปีกว่าไม้จะโตจนเริ่มทำการกระตุ้นได้  แต่แนวคิดใหม่คือ 

- 1 ไร่ ปลูก 1x1 เมตร = 1,600 ต้น

- เจาะกระตุ้นไว้ทุกต้นด้วยวิธีการสอดแท่งไม้แช่น้ำยาในปีที่ 3 (ลงทุนไม่มากนัก เพราะไม้ต้นเล็ก)




- ตัดแปรรูปหลังจากนั้นอีก 1 ปี โดยการตัดต้นเว้นต้น เพื่อให้ต้นไม้ในแนวอื่นๆได้เติบโตขึ้นมา

- เจาะกระตุ้นไม้ที่เหลือโดยทำการเจาะในบริเวณเนื้อขาวที่สร้างมาใหม่ ส่วนรอยกระตุ้นเดิมนั้นจะสามารถสะสมเป็นไม้กฤษณาเกรดดีๆได้เมื่อเก็บบ่มไว้ นานขึ้น

- ทำการตัดแปรรูปได้ทุกปีเรือยๆ โดยที่ต้นเดิมที่เคยเก็บเกี่ยวไปก่อนหน้านั้นก็จะกลับมาเติบโตขึ้นและหมุนเวียนทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ

ข้อเสนอแนะ 

ควรใช้ดอกสว่านขนาด 5-6 มม. และต้องไม่เจาะดิ่งลง ควรเจาะแบบขนานจะให้เนื้อไม้ที่หนามากและแทบไม่ผุเลย แต่วิธีที่ดีที่สุดกับสารตัวนี้ คือการแช่ไม้ไผ่แล้วตอกเข้าไปในรูเจาะ

เมื่อได้ทราบถึงข้อเสียต่างๆแล้ว เราได้ใช้วิธีการที่จะทำให้มีการผุเสียหายน้อยที่สุดและสามารถผลิตกฤษณา ได้มากที่สุด เมื่อทดลองแล้วพบว่าการใช้สารกระตุ้นประเภทสารประกอบอินทรีย์แช่ด้วยตะเกียบไม้ไผ่แล้วตอกเข้าไป ในรูเจาะนั้นให้ผลผลิตคุ้มค่าที่สุด อีกทั้งยังมีรูปทรงเหมือนกับไม้กฤษณาจากธรรมชาติ และน้ำหนักต่อชิ้นก็ดีมากอีกด้วย คือ ประมาณ 20-30 กรัมต่อ 1 รูเจาะ  เมื่อบ่มเอาไว้ 2 ปีหลังการกระตุ้น น้ำหนักของผลผลิตที่ได้จะค่อนข้างดี เพราะการผุนั้นน้อยมากในขณะที่มีการสร้างสารกฤษณาในปริมาณที่สูงแทบจะออกมา เป็นไม้ลูกตันและทีเดียว ที่สำคัญ หากสามารถทิ้งเอาไว้ได้นานๆหลังการกระตุ้นโดยไม่ตัดมาแปรรูป คาดว่าน่าจะเป็นได้ถึงไม้ซุปเปอร์จมน้ำ

วิธีการนี้ทำให้เกษตรกรสามารถคำนวณรายได้จากการทำไม้กฤษณาได้ง่าย เพราะสามารถทราบน้ำหนักหรือปริมาณเฉลี่ยของไม้กฤษณาที่ได้ต่อต้น โดยคำนวณได้จากจำนวนรูเจาะ คูณเข้าไปด้วยราคาต่อกิโลกรัม สุดท้ายแล้วเอาไปลบกับต้นทุนก็จะรู้ถึงกำไรหรือขาดทุนสุทธิจากการทำไม้กฤษณา จะได้ไม่ต้องคอยกล่าวหาว่าใครหลอกอีกต่อไป เช่น  ต้นไม้อายุประมาณ 8-10 ปี หากเจาะด้วยดอกสว่านขนาด 6 มม. แล้วตอกแท่งไม้ไผ่แช่สารกระตุ้น ระยะเจาะจะอยู่ที่ประมาณ 15 ซม. โดยเฉลี่ย ทำให้สามารถเจาะได้ประมาณ 350 - 400 รูเจาะต่อต้น ซึ่งไม่ถือว่ามากจนเกินไป เพราะไม่ใช่การฉีดสารเข้าไปโดยตรง 

ไม้กฤษณา ไม่ถูกกำหนดเป็นไม้หวงห้ามตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ แต่ถูกกำหนดให้เป็นของป่าหวงห้ามตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ซึ่งเป็นของป่าหวงห้ามเฉพาะในเขตป่าเท่านั้น ในที่ดินที่มิใช่ป่าก็ไม่ใช่ของป่าและก็ไม่ใช่ของป่าหวงห้าม  การเพาะชำกล้าไม้กฤษณา ไม่มีความผิดตามกฎหมายแต่อย่างใด
การปลูกกฤษณาในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามกฎหมาย รวมถึงการตัดไม้กฤษณาขาย ไม่มีความผิดตามกฎหมายเช่นกัน เพราะไม้กฤษณา ชิ้นไม้กฤษณาที่ได้จากการปลูกขึ้นในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตาม กฎหมาย ไม่ใช่ไม้หวงห้ามหรือของป่าหวงห้าม 

ที่ดินกรรมสิทธิ์หรือสิทธิ ครองตามกฎหมาย คือ ที่ดินที่มีเอกสารของทางราชการที่กรมที่ดินออกให้ ได้แก่ โฉนดที่ดิน ,โฉนดแผนที่ ,โฉนดตราจอง ,ตราจองที่ตราว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว” ,น.ส.3 ,น.ส.3ก ,น.ส.3ข ,แบบหมายเลข 3 ,น.ส.2 และ ส.ค.1 เป็นต้น  


 ***********

***สาระความรู้เกี่ยวกับไม้กฤษณาที่รวบรวมมาเผยแพร่ครั้งนี้ รวมทั้งสิ้น 5 ชุดด้วยกัน      แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีแง่มุมและข้อปลีกย่อยอีกมาก..ครับ  ที่ไม่ได้กล่าวถึง  หากผู้ที่สนใจเรื่องไม้กฤษณาในเชิงพาณิชย์ควรศึกษาเพิ่มเติมจากผู้มีประสบการณ์+ ความสำเร็จ ทั้งภาคเอกชน และภาคประชาน ***




ขอบคุณ :  1)  http://xn--12c0bwcua0c.blogspot.com
               2)  http://thailandonly8-ningtor.blogspot.com
               3)  http://www.thaikrisana.com
               4)  http://agarwoodstimulation.blogspot.com

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลวงพ่อฮวบ วัดสามัคยาราม ต.บ้านด่าน อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์

หลวงพ่อกล่อม พรมสโร วัดป่ากะพี้ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

พระครูธรรมฐิติวงศ์คีรีเขตร (บุญใหญ่ อินทปญโญ) วัดเจดีย์คีรีวิหาร อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์